ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: พฤศจิกายน 03, 2019, 04:30:23 pm »พระอจลนาถวิทยราชา
ปัจจุบันมีการสร้างเทวรูปมากมาย ที่แตกแยกออกไปจากต้นตอค่อนข้างมาก..จากรูปลักษณ์เดิม แต่ไม่ได้เข้าใจพื้นฐานที่มีมาแต่ก่อน และส่วนใหญ่ก็สักแต่ทำเพื่อความสวยงาม... โดยไม่อิงปรัชญาใดๆ
สิ่งที่รวบรวมนี้ได้จากความรู้หลายแหล่ง ในเรื่องวิทยราช เพื่อให้เห็นภาพทั้งหมดของวิทยราช ในแง่มุมที่คนไทยรู้จักน้อย...ในความเชื่อของประเทศต่างๆ
ข้อมูลต่างๆ ที่เขียนนี้ได้จากการอ่าน.. และรวบรวมสรุปขึ้นมาอีกที ไม่ใช่ความรู้ทั้งหมดของผู้เขียน...แต่จะสรุปให้อ่านเพื่อความบันเทิงและธรรมทาน
วิทยราช... คำนี้อาจไม่คุ้นหูสำหรับคนไทย และส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จัก เพราะท่านเป็นเทพธรรมบาลในพุทธมหายาน..ปนชินโต ปนพุทธ ปนวัชรยาน...พบได้ใน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และธิเบต คือจะพบในประเทศที่นับถือพุทธศาสนามหายาน หรือพุทธวัชรยาน...ที่เป็นแนวรหัสธรรม...
วิทยราชา หรือธรรมบาล หรือเรียกแบบญี่ปุ่นก็เรียกว่า เมียวโอ...หน้าที่ท่านคือ...คุ้มครองพระพุทธศาสนา
ชื่อในภาษาสันสกฤตแปลว่า "จ้าวแห่งความรู้" ภาษาจีนแปลชื่อดังกล่าวด้วยคำว่า 明 (หมิง) ซึ่งมีความหมายได้ทั้งแสงสว่าง และความรอบรู้ ศาสนาพุทธแบบทิเบตเรียกว่า "เหรุกะ"
ปฏิมากรรมเทพเจ้ากลุ่มนี้ มักมีเปลวเพลิงอยู่ด้านหลัง .....มีนัยยะถึง ไฟแห่งกิเลส และไฟที่เผากิเลส ที่วิทยราชมีหน้าที่ใช้ วิทยา (วิชชา) ขจัดอวิชชา คือความไม่รู้
เมื่อกล่าวถึง วิทยราช...ก็จะต้องกล่าวถึงเทพเจ้าทั้ง ๕ ที่เป็นตัวแทนเทพผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา หรือพิทักษ์พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ แท้จริงแล้วก็มีมากกว่า ๕ แต่ส่วนใหญ่จะนึกถึง ๕ เพราะโยงถึงพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ โคตร หรือตระกูล
บางที่กล่าวว่าเทพเจ้ากลุ่มนี้ เป็นนิรมาณกายของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ หรือ "พระธยานิพุทธ" ที่แสดงปางพิโรธเพื่อปราบพวกมิจฉาทิฏฐิ และจัดท่านว่าเป็นธรรมาธิษฐาน..
พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ มีรายพระนามดังนี้
พระพุทธไวโรจนตถาคตเจ้า
พระพุทธอักโษภยตถาคตเจ้า
พระพุทธรัตนสัมภวตถาคตเจ้า
พระพุทธอโมฆสิทธิตถาคตเจ้า
พระพุทธอมิตาภตถาคตเจ้า ....
ซึ่งจะพบว่ามีความต่างกับไทย ที่เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ จะคิดถึง พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้ากัสสโป พระพุทธเจ้าโกนาคม พระพุทธเจ้าโคตม และ พระพุทธศรีอริยเมตไตรย
มีทฤษฎีวงล้อทั้ง ๓ ในลัทธิพุทธตันตระ กล่าวว่า..
๑. พระพุทธเจ้าเป็นตัวแทนของมโนทัศน์ แห่งธรรมอันบริสุทธิ์
๒. พระโพธิสัตตว์เป็นผู้นำมโนทัศน์เหล่านั้น มาสั่งสอนด้วยความกรุณา
๓. วิทยราช เป็นการแปลงรูปของวงล้อแห่งอาณัติ และสั่งสอนธรรมด้วยความน่าสะพรึงกลัว เพื่อกระตุ้นให้บรรดาผู้ไม่ศรัทธาทั้งหลาย กลับใจเชื่อถือในพุทธศาสนา
และแนวคิดที่เขานับถือทางมหายานนั้นเอง
เขานับถือธาตุทั้ง ๕ ก็เลยกำเนิดเป็น ๕ เมียวโอ
(ปัญจมหาวิทยราช)... ได้แก่
๑. วัชรยักษ์ (ทิศเหนือ)
๒. ยมานตกะ (ทิศตะวันตก)
๓. อาจละ (ศูนย์กลาง)
๔. ไตรโลกยวิชยะ (ทิศตะวันออก)
๕. กุณฑลี (ทิศใต้)
กล่าวถึงวิทยราช ฟุโดเมียวโอ....วิทยราชที่อยู่ในภาพ ...ท่านมีนามอันไพเราะว่า...อาจละ
อาจละ (สันสกฤต: अचल; อ่านว่า /อา - จะ - ละ/, จีน : 不動明王 ; Bùdòng Míngwáng,
ญี่ปุ่น : 不動明王 ; Fudō myō-ō ...ฟุโดเมียวโอ )....
ในภาษาจีนกลางจะเรียกว่า “ปู้ต้งหมิงหวาง” ส่วนภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ปุกต๋งเม้งอ๊วง” ที่แปลว่า ราชาผู้มีปัญญาอันแจ่มแจ้ง และไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่ตกกระทบ เป็นวิทยราชองค์หนึ่งในลัทธิพุทธตันตระวัชรยาน หรือในศาสนาพุทธนิกายชินงอน เป็นสัญลักษณ์ของผู้ทำลายสิ่งลวงตา และปกป้องพุทธศาสนา
. อจล (不動 ,अचल - Acala ) แปลว่า ไม่เคลื่อนไหว ไม่หวั่นไหว หมายถึง ตั้งอยู่อย่างมั่นคงแล้ว
วิทยราช (明王) แปลว่าราชาแห่งปัญญา
มีพระนามเต็มอีกว่า “อจลนาถ (अचलनाथ - Acalanatha)” ที่แปลว่า ผู้ควบคุมมิให้หวั่นไหวจากอารมณ์ที่ตกกระทบ
รูปลักษณ์ของ อาจละ แสดงถึงการอยู่นิ่ง การไม่เคลื่อนที่ ในขณะที่เกิดอารมณ์โกรธ แต่นำความโกรธนั้นมาช่วยเหลือเหล่ามนุษย์ และใช้เป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมตนเอง ...ตามนัยของคำว่า "อาจละ" ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า "ไม่เคลื่อนไหว"
โคตรหรือตระกูลของ วิทยราชองค์นี้คือ "ไวโรจนะ"
อาจละ...นับเป็นวิทยราชที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางที่สุดในบรรดาวิทยราชทั้ง ๕ ผู้สถิตในครรภ์โกษธาตุ นามอื่นๆ ของอาจละในภาษาสันสกฤตได้แก่
"อาจลวิทยราช", "อาจลนาถ", "อารยาจลนาถ" และ "จัณฑมหาโรศนะ"
รูปลักษณ์ของ "อาจละ" ในภาพวาดหรือเทวรูป มีลักษณะเป็นรูปเทพเจ้าถือดาบ ซึ่งมีด้ามที่จับเป็นรูปวัชระในหัตถ์ขวา...วัชระนี้แทนปัญญา ใช้ในการปราบสิ่งชั่วร้าย หรืออวิชชา
ทางนิกายชินงอน เรียกดาบวัชระนี้ว่า ดาบคุริกะระ (倶利加羅 / Kurikara) หรือมังกรพันดาบนี้ มังกรที่พันเป็นมังกรดำชื่อ "คุริการะ" ที่สร้างไฟรอบๆ ดาบของ อจละ ใช้ในการกำจัดสิ่งที่ชั่วร้าย ๓ สิ่งของมนุษย์อันได้แก่ ความโง่เขลา การผูกติด และความเกลียดชัง
ส่วนหัตถ์ซ้ายถือเชือก เพื่อการจับมัดสิ่งชั่วร้าย
ด้านหลังล้อมรอบด้วยรัศมีเปลวเพลิง เป็นประภามณฑล และท่าทางที่ปรากฏ มักอยู่ในท่ายืน หรือนั่งบนหินแสดงถึงการไม่เคลื่อนไหว
ทรงผมมัดเป็นเปียและพาดบนบ่าด้านซ้าย โดยมัดเป็นปม ๗ ปม และวางปลายผมบนไหล่ซ้าย แทนสัญลักษณ์ของผู้รับใช้ของพระพุทธเจ้า
ที่มุมโอษฐ์ (ปาก) มีเขี้ยว ๒ เขี้ยว... ด้านหนึ่งชี้ลงแสดงถึงการปฏิบัติตัวบนโลก (หน้าที่) และเขี้ยวอีกข้างชี้ขึ้นแสดงถึงการค้นหาความจริง
เราจะเห็นรูปลักษณ์ของ ฟุโดเมียวโอได้ ๓ แบบคือ
๑. แบบที่เป็นฟุโดองค์เดียว
๒. แบบที่มีเทพบริวาร ๒ ตน ซ้ายขวา
๓. แบบสัญลักษณ์ตัวแทน เช่น คุริการะ ..ดาบพันมังกร
อจละ หรือ ฟุโดเมียวโอ ในแบบมีเทพบริวารนั้น..จะเห็นเด็ก ๒ คน อยู่ขนาบข้างซ้ายและขวา มีนามว่า
คงงาระ (矜羯羅 / Kongara) และ เซทากะ (制た迦 / Seitaka)
.
คงงาระ รูปร่างสันทัด ผิวกายขาวสว่าง สวมเสื้อผ้าคล้ายพระซ้อนกันหลายชิ้น มือมักอยู่ด้านหน้าประกบในท่าไหว้ เปรียบได้กับตัวแทนด้านสว่างของฟุโด ...ส่วนเซทากะ ผิวกายสีแดง มือซ้ายถือวัชระ มือขวาถือไม้เท้า ท่าทางดูกร่างๆ เปรียบได้กับด้านมืดของ ฟุโด
ฟุโดเมียวโอ ถูกจัดเป็นเทพเจ้าประจำองค์ พระไวโรจนพุทธเจ้า (๑ ใน ๕ พระธยานิพุทธเจ้า) ของพุทธตันตระวัชรยาน ประทับอยู่ในครรภ์โกษธาตุ ตรงทิศศูนย์กลางแห่งมลฑล
พระธรรมาจารย์อันเน็น (安然) บูรพาจารย์นิกายเทนได เมื่อศตวรรษที่ ๙ ได้บรรยายคุณลักษณะเป็นอุปมาธรรมที่โบราณาจารย์พรรณนาไว้ เรียกว่า "ลักษณะทั้ง ๑๙ แห่งอจลวิทยราช"
(不動明王の十九観) มีดังนี้
๑. คือนิรมาณกายของพระไวโรจนพุทธเจ้า
๒. มีมนต์ ๔ อักขระคือ ▪阿路喚蔓▪
๓. สถิตในเปลวเพลิงเป็นนิตย์
๔. มีรูปร่างดั่งกุมารพุงท้วม
๕. มีมวยผม ๗ มวย มวยบนมีบัวบาน
๖. ทิ้งมัดผมไว้ที่อังสา (ไหล่ซ้าย)
๗. รอยย่นที่ นลาฏ (หน้าผาก) ดั่งระลอกคลื่น
๘. เนตรซ้ายปิด เนตรขวาเบิกโพลง
๑๐. ฟันล่างขบริมฝีปากขวาด้านบน ด้านซ้ายอ้า
๑๑. หัตถ์ขวาถือพระขรรค์วัชระ
๑๒. หัตถ์ซ้ายถือบ่วงบาศ
๑๓. เสวยภัตตาหารเหลือเดนของภิกษุ
๑๔. ยืน และนั่งบนบัลลังก์ศิลา
๑๕. สีวรกายดำเหลือบครามดั่งนีลุบล
๑๖. ดวงพักต์พิโรธโกรธเคือง
๑๗. ประภามณฑลคือเพลิงครุฑ
๑๘. พญากุลิกนาคราช พันพระขรรค์
๑๙. มี ๒ กุมารคอยรับใช้
บางความเชื่อก็ว่า ฟุโด คือความลักลั่นอย่างหนึ่ง เพราะมีคุณลักษณ์ตรงข้ามมาอยู่ด้วยกัน ..เหมือนมีทั้งดีและชั่วในคนเดียวกัน เหมือน ‘จักรวาล’ ที่มีทั้่งดีและชั่วในหนึ่งเดียว
บ้างก็เปรียบ ฟุโดเมียวโอว่า ท่านคือเงาแห่งพระพุทธมหาไวโรจนตถาคตเจ้า ท่านกับพระมหาไวโรจนพุทธว่า เป็นสิ่งเดียวกัน แต่แสดงออกตรงกันข้าม เหมือนท้องฟ้าในยามกลางวัน (พระมหาไวโรจนพุทธ) และ กลางคืน (ฟุโดเมียวโอ)
บ้างก็เรียกท่านว่า.. ยูไลดำ
บ้างก็ว่า ตาถมึงทึง เขี้ยว รัศมีเปลวเพลิง วรกายสีเข้ม แสดงให้เห็นด้านความแข็งแกร่ง และกระด้าง
อันหมายถึงอวิชชา (Fundamental ignorance) และร่างกายที่อวบและดูเยาว์วัย แสดงให้เห็นด้านที่เหมือนมนุษย์ ที่พร้อมจะพัฒนาเข้าสู่การตรัสรู้ (Enlightenment) สะท้อนถึง ๒ สิ่งที่ตรงกันข้ามสุดขั้ว
บางความเชื่อของญี่ปุ่น ฟุโดเมียวโอ ได้รับการนับรวมเข้าไปอยู่ในกลุ่ม ๑๓ พระพุทธเจ้า ที่อยู่ในการประกอบพิธีศพ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ deities ในลำดับพระพุทธเจ้า
บ้างก็ว่า ฟุโดเป็น Seitaka ที่แปลว่า ทาส เป็นคำพ้องเสียงกับสันสกฤต เพราะท่านก็เป็นเทพบริวารของพระไวโรจนพุทธ..แต่มีฐานะที่สูงกว่าคือมี seitaka หรือทาสติดตามของตัวเอง
บ้างก็ถือว่าท่านเป็นเทพเจ้า ผู้ดูแลคนปีระกา
อจลวิทยราช : 不動明王. มนตรา กล่าวดังนี้
"นมฺห์ สมนฺตวชฺรา ณํ จณฺฑ มหาโรษณ โส ผฏฺ ย หู (ฮ) ม ตรฏฺ ห (ฮ) าม มาม"
เป็นมนตราที่ปรากฎอยู่ใน พระคัมภีร์
มหาไวโรจน อภิสัมฺโพธิตันตระ เป็นมนตราที่มีอานุภาพ ใช้ขจัดอุปสรรค ภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง
ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นภาพรวมทั้งหมดของ ฟูโอ และเห็นรหัสธรรมที่ซ่อนไว้อย่างแนบเนียน
ธรรมชาติล้วนมี ๒ สิ่ง ใน ๑ เดียว แต่จริงแล้วมักมีหลายสิ่ง มากกว่า ๒ สิ่งที่เราเห็น และในเวลาเดียวกัน คำว่า ๒ สิ่ง และหลายๆ สิ่ง .....จริงแล้วก็คือสิ่งเดียวเดียวกัน.
ขอบคุณข้อมูลเพื่อการเผยแพร่ : Chiba Kumiko.
มหากรุณาพุทธาลัย โรงเจวัดสว่างอารมณ์ แคเเถว นครปฐม 。 佛統三王阿隆大佛禪寺。大悲佛殿