ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: ธันวาคม 16, 2023, 06:11:22 pm »“คนขาว” ฆ่า ” ชาว โอเซจ ” กว่า 60 ราย หวังฮุบสมบัติ เมื่อ 100 ปีที่แล้ว
เหตุฆาตกรรมปริศนาที่คร่าชีวิตชนพื้นเมือง ชาว โอเซจ ในรัฐโอคลาโฮมาไปกว่า 60 ราย คือ เรื่องจริง ในเหตุการณ์หลักใน Killers of the Flower Moon ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของมาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับระดับตำนานในวงการฮอลลีวูด
Killers of the Flower Moon เรื่องจริง ของความริษยา ความทะเยอทะยาน คดีฆาตกรรม และยาพิษ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากผู้กำกับมากฝีมืออย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ที่ดูเหมือนว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในขณะที่ผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาวพยายามจะฉกฉวยทรัพย์สมบัติของชาวพื้นเมือง ชาว โอเซจ (Osage) ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐโอคลาโฮมา โดยใช้ความรุนแรงให้ผู้ชมชาวอเมริกาได้รับรู้
อย่างไรก็ดี เรื่องราวในภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากสารคดีกึ่งนวนิยายเรื่อง Killers of the Flower Moon หรือคดีฆาตกรรมเมื่อดอกไม้ร่วงโรยในคืนจันทร์เต็มดวง หนังสือขายดีประจำปี 2017 โดยเดวิด แกรนน์ (David Grann) นั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นทั้งหมด
นโยบายของรัฐบาลกลางที่เอื้อให้ชาวโอเซจถูกเอารัดเอาเปรียบ และแรงกระตุ้นจากความต้องการอันแรงกล้าของผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาวที่จะกอบโกยผลประโยชน์จากผืนดินของชนพื้นเมืองอเมริกันซึ่งทำเงินได้มหาศาล เป็นเหตุทำให้เศรษฐีชาวโอเซจอย่างน้อย 60 คน หรืออาจมากกว่านี้เสียชีวิตลงอย่างปริศนา
แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นในรัฐโอคลาโฮมา เหตุใดคดีฆาตกรรมอีกหลายเรื่องจึงถูกเพิกเฉยทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย และอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโอเซจผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายสมัยใหม่ในสหรัฐอเมริกาได้อย่างไร สามารถติดตามได้ในเนื้อหาต่อไปนี้
ความร่ำรวยของชาว โอเซจ
ชาวพื้นเมืองโอเซจกลายเป็นกลุ่มคนที่ “ร่ำรวยมหาศาล” หลังการค้นพบน้ำมันใต้ผืนดินบริเวณเขตสงวนโอเซจ อินเดียน (Osage Indian) หรือโอเซจ เคาน์ตี (Osage County) ในช่วงทศวรรษที่ 1890 ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1920 รายได้จากน้ำมันที่มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,309 ล้านบาทต่อปีก็ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวโอเซจ และทำให้คนกลุ่มนี้ก้าวขึ้นเป็นชนพื้นเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในโลก
ทว่า ในเวลานั้น การมองว่าชนพื้นเมืองอเมริกันเป็นกลุ่มคนที่ไร้อารยธรรม ล้าหลัง และจำเป็นต้องได้รับการดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้ผลาญทรัพย์สมบัติของตนจนหมด เป็นทัศนคติที่แพร่หลายในหมู่ชาวตะวันตก รวมไปถึงชาวผิวขาวที่เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่ของชาวโอเซจ
นอกจากนี้ ในอดีต รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเชื่อว่าชนพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ เป็นกลุ่มคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ดังนั้นคนเหล่านี้จึงต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลกลาง ทัศนคติเหล่านี้เป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมายใหม่ขึ้นเพื่อ “ปกป้อง” การเงินชนพื้นเมืองแทนการสนับสนุนให้ใช้เงิน
ภาพแหล่งน้ำมันในชุมชนชาวโอเซจ ราวปี 1918-1919 ภาพโดย HUM Images, Universal Images Group/Getty Images
กฎหมายส่วนมากที่รัฐบาลประกาศใช้ไม่ใช่เครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ของชาวพื้นเมือง แต่กลับเป็นช่องทางที่เอื้อให้คนผิวขาวสามารถยึดและผูกขาดอำนาจจากชนพื้นเมืองรวมไปถึงดินแดนที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษได้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1887 กฎหมายจัดสรรที่ดิน หรือ Dawes Act of 1887 มีผลให้ที่ดินเดิมของชนพื้นเมืองถูกจัดสรรเป็นส่วน ๆ ซึ่งชาวพื้นเมืองจะอาศัยในที่ดินเหล่านั้นและเป็นเจ้าของได้ก็ต่อเมื่อยินยอมที่จะละทิ้งอัตลักษณ์เดิมของตน เพื่อปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมของชาวอเมริกัน ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายฉบับนี้ยังระบุไว้ว่าคนผิวขาวสามารถซื้อที่ดิน “ส่วนเกิน” สำหรับชนพื้นเมืองได้ การออกกฎหมายเช่นนี้ทำให้จำนวนที่ดินซึ่งถือครองโดยชาวพื้นเมืองลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ระบบ “การจัดสรรที่ดิน” ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อชาวโอเซจ เนื่องจากชาวพื้นเมืองกลุ่มนี้ได้ทำการซื้อที่ดินกว่า 6,070 ตารางกิโลเมตรในรัฐโอคลาโฮมาโดยตรงจากรัฐบาลกลาง หลังถูกขับไล่ออกจากรัฐแคนซัสเมื่อปี 1872 และได้จัดสรรที่ดินให้แก่สมาชิกทุกคน
โดยชาวโอเซจแต่ละคนได้รับที่ดินประมาณ 2.7 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ชาวโอเซจยังมีสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติตามที่ดินของตน และสิทธิที่จะสืบทอดทรัพย์สินเหล่านั้น โดยแต่ละคนจะได้รับ “สิทธิในการได้รับส่วนแบ่งโดยกำเนิด” จากธุรกิจน้ำมันซึ่งเป็นวิธีกระจายรายได้ให้สมาชิกทุกคน เมื่อน้ำมันทำเงินให้ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวโอเซจแต่ละคนจะมีสิทธิได้เงินในจำนวนที่สูงขึ้น สิทธิในส่วนแบ่งนี้คือสิ่งที่ดึงดูดให้คนนอกสนใจและเข้าไปแทรกแซงการดำเนินชีวิตของผู้คนในพื้นที่นี้
ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของชาวโอเซจนำมาซึ่งการตรวจสอบการบริหารจัดการเงินของสมาชิกแต่ละคนโดยละเอียด การที่หนังสือพิมพ์รายงานข่าวเกี่ยวกับการนั่งรถยนต์ยี่ห้อดังพร้อมคนขับ การสร้างคฤหาสน์ และการสวมเสื้อผ้าที่หรูหราสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มคนที่คิดว่า ชาวโอเซจควรใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดมากกว่านี้
ต่อมาใน ค.ศ. 1908 สภาคองเกรส (Congress) มอบอำนาจตามกฎหมายให้ศาลโพรเบท (Probate Court) ของรัฐโอคลาโฮมา จากนั้นจึงให้ศาลมีอำนาจเหนือที่ดินซึ่งถือครองโดยชาวพื้นเมืองอเมริกันที่ผู้พิพากษาตัดสินให้ถือเสมือนว่าเป็น “ผู้เยาว์และผู้ไร้ซึ่งความสามารถ” หากบุคคลใดบุคคลหนึ่งถูกตัดสินว่าไร้ความสามารถ ศาลโพรเบทจะสามารถแต่งตั้งคนผิวขาวเป็นผู้ดูแลการเงินและทรัพย์สินให้ได้ นอกจากจะสามารถควบคุมการใช้เงินของชาวโอเซจได้แล้ว ผู้ดูแลซึ่งเป็นคนผิวขาวยังสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับที่ดินของบุคคลนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเช่า หรือขายในนามของตนได้
ต่อมา ในปี 1921 สภาคองเกรสได้เพิ่มข้อกำหนดให้บุคคลที่มีเชื้อสายโอเซจซึ่งมีอายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่ว่าจะเป็นลูกครึ่งหรือชาวโอเซจโดยกำเนิด ต้องพิสูจน์ความสามารถทางการเงินของตนเอง หรือต้องมีผู้ดูแลที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลมาทำหน้าที่จัดการด้านการเงินให้
ต่อมา ในปี 1921 สภาคองเกรสได้เพิ่มข้อกำหนดให้บุคคลที่มีเชื้อสายโอเซจซึ่งมีอายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่ว่าจะเป็นลูกครึ่งหรือชาวโอเซจโดยกำเนิด ต้องพิสูจน์ความสามารถทางการเงินของตนเอง หรือต้องมีผู้ดูแลที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลมาทำหน้าที่จัดการด้านการเงินให้ ข้อสงสัยว่าชาวโอเซจไม่มีความรับผิดชอบในการบริหารเงินยังก็เพียงพอต่อศาลในการแต่งตั้งผู้ดูแลซึ่งเป็นคนผิวขาวให้แก่บุคคลนั้น ผู้ดูแลจะมีอำนาจในการแจกจ่ายเงินของชาวโอเซจ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินจริง และเก็บเงินค่าบริการต่าง ๆ เกินได้อย่างน้อย 1,000 ดอลลาร์ต่อไตรมาส ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์ เดนนิส แม็คออลิฟ (Dennis McAuliffe) จึงได้บันทึกไว้ว่า ผู้ดูแลด้านการเงิน 600 คนได้รับเงินส่วนเกินมูลค่า 8 ล้านเหรียญไปโดยที่ไม่ได้ควบคุมดูแลการเงินของชาวโอเซจ และไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ใดๆ ตลอดระยะเวลาสามปี
Anna Kyle Brown ถูกฆาตกรรมเมื่ออายุ 35 ปี ในเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องมากกว่า 60 ครั้งในชุมชนของเธอ ภาพโดย Vince Dillion, Oklahoma Historical Society/Getty Images
William K. Hale วางแผนการฆาตกรรมชาวพื้นเมืองโอเซจที่ร่ำรวยหลายคนเพื่อควบคุมการถือครองน้ำมันอันมีค่าของพวกเขา ภาพถ่ายโดย Bettmann Archive, Getty Images
จุดเริ่มต้นคดีฆาตกรรมชาวโอเซจ
สถานการณ์ของชาวโอเซจถูกจัดไว้เพื่อการทารุณกรรมทางการเงิน และหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการฆาตกรรมขึ้น การเสียชีวิตอย่างปริศนาในเมืองโอเซจเคาน์ตี (Osage County) เริ่มต้นในปี 1921
ในเดือนพฤษภาคม ปี 1921 ร่างไร้วิญญาณของแอนนา บราวน์ และชาลส์ ไวท์ฮอร์น ลูกพี่ลูกน้องของเธอถูกพบที่คนละส่วนของเมืองในวันเดียวกัน สองเดือนถัดมา ลิซซี ไคล์ แม่ของบราวน์ผู้ถือสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งจากธุรกิจน้ำมันกลับเสียชีวิตเนื่องจากถูกวางยาพิษ ต่อมา หลานของลิซซีถูกฆ่าในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1923 และวันที่ 10 เดือนมีนาคมในปีเดียวกัน ลูกสาวและลูกเขยของลิซซีพร้อมคนงานในบ้านเสียชีวิตลงจากการระเบิดปริศนาที่เกิดขึ้นในบ้านของพวกเขา
การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วทั้งโอเซจเคาน์ตี จนในเวลาต่อมา ช่วงที่เกิดเหตุสลดดังกล่าวขึ้นถูกเรียกว่า “ยุคแห่งความหวาดกลัว” ในช่วงระยะเวลานั้น ความมั่งคั่งมหาศาลของครอบครัวไคล์ถูกสืบทอดไปยัง มอลลี ไคล์ ลูกสาวชาวโอเซจโดยกำเนิดคนเดียวของลิซซีที่ยังมีชีวิตรอด และ เออร์เนสต์ เบิร์กฮาร์ต สามีคนผิวขาวของเธอ
สมาชิกครอบครัวไคล์ไม่ได้เป็นชาวโอเซจกลุ่มเดียวที่เสียชีวิตลงในช่วงเวลานั้น ผู้โชคร้ายทุกคนต่างก็เสียชีวิตในสถานการณ์ที่น่าแคลงใจ ยกตัวอย่างเช่น การสันนิษฐานว่าถูกวางยาพิษ การสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย หรือแม้กระทั่งการถูกโยนลงจากรถไฟ ระหว่างปี 1921 ถึงปี 1925 พบว่าจำนวนชาวโอเซจที่ถูกฆาตกรรมหรือสูญหายมีอย่างน้อย 60 คน ทุกรายต่างก็เป็นผู้ถือสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งที่ร่ำรวย และในเวลานั้นสภาชนพื้นเมืองโอเซจก็สงสัยว่า วิลเลียม เค เฮล ( William K. Hale) จ้าของฟาร์มปศุสัตว์ซึ่งเป็นชาวผิวขาวอาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมนี้
เฮล ซึ่งแต่เดิมอาศัยอยู่ในเท็กซัส เป็นที่รู้จักด้านการทำธุรกิจทางการเงินที่แสวงหาผลประโยชน์กับชาวโอเซจ นอกจากนี้เฮลยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในเมืองโอเซจเคาน์ตี เขาเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมบางส่วนของกิจการเช่น ธนาคาร ร้านขายของในเมือง ร้านขายหีบศพ และทำหน้าที่เป็นรองนายอำเภอของเมือง ส่วนเบิร์กฮาร์ตซึ่งเป็นหลานชายของเฮลได้แต่งงานกับมอลลี ไคล์ ผู้สืบทอดทรัพย์สมบัติหลายล้านเหรียญของครอบครัว แม้การฆาตกรรมยังดำเนินต่อไป แต่การสืบสวนในพื้นที่เกิดเหตุและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวกลับล้มเหลว
สภาชนพื้นเมืองโอเซจจึงต้องหันไปพึ่งรัฐบาลกลาง เพื่อให้เข้ามาช่วยไขคดีฆาตกรรมปริศนาที่เกิดขึ้น สำนักงานสอบสวน ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ เอฟบีไอ หรือสำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation: FBI) ได้ตอบรับคำขอนั้นและเริ่มเข้ามาทำการสืบสวนสอบสวนในพื้นที่ด้วยวิธีการแฝงตัว
Rita Smith ชาวพื้นเมืองโอเสจ และ William E. Smith สามีของเธอเสียชีวิตเมื่อบ้านของพวกเขาเกิดระเบิดในเดือนมีนาคม 1923 ชาวโอเสจมากกว่า 60 คนถูกฆาตกรรมเพื่อเอาทรัพย์สินของพวกเขาในช่วงเวลานี้ ภาพโดย Bettmann Archive, Getty Images
ในขณะที่การสืบสวนเผยให้เห็นเบาะแสที่ชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า เฮลมีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตปริศนาหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ในเมืองกลับเกิดเหตุฆาตกรรมมากขึ้น เมื่อมอลลี ไคล์สารภาพบาปกับบาทหลวง เธอคิดว่าเธออาจจะถูกวางยาพิษ และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่จากเอฟบีไอไขคดีได้สำเร็จ ผลปรากฎว่า เฮลเป็นผู้ที่กดดันให้หลานชายของตัวเองแต่งงานเข้าบ้านไคล์ จากนั้นจึงทำการจ้างนักฆ่าให้ลงมือปลิดชีวิตครอบครัวทุกคนของมอลลี ส่วนเบิร์กฮาร์ตที่อยู่ภายใต้ความกดดันจากลุงนั้นได้นำวิสกี้ผสมยาพิษไปให้ภรรยาดื่ม
หลังการตัดสินคดีโดยศาลในรัฐและศาลรัฐบาลกลางที่ทำให้ทั้งประเทศตกตะลึงไปกับการพิจารณาคดีที่จบลงอย่างรวดเร็ว ผลของคดีฆาตกรรมปริศนาที่เกิดขึ้นสรุปได้ว่า เฮลและผู้สมรู้ร่วมคิดอีกสองคนคืออาชญากรที่อยู่เบื้องหลังการสังหารพยานหลายคนที่อาจจะทราบข้อมูลสำคัญ ทั้งสามคนถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีฆาตกรรมชาวโอเซจรูปแบบนี้อีกจำนวนมากที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย
“คดีฆาตกรรมเมื่อดอกไม้ร่วงโรยในคืนจันทร์เต็มดวง”
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีความมั่งคั่งของชาวโอเซจเป็นชนวนนั้นไม่ได้จบลงพร้อมกับการพิพากษาลงโทษฆาตกรทั้งสาม ในปี 1925 สภาคองเกรสได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่ใช่ชาวโอเซจเป็นผู้สืบทอดสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งโดยกำเนิดจากธุรกิจน้ำมันซึ่งเป็นของชาวโอเซจหรือชาวเมืองที่มีเชื้อสายพื้นเมืองอเมริกันอื่น ๆ ถึงกระนั้น ความไม่พอใจต่อการจัดการสินทรัพย์ชาวโอเซจของรัฐบาลกลางยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ในปี 2011 หลังการต่อสู้แย่งชิงทางกฎหมายมาหลายทศวรรษ ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้มอบเงินจำนวน 380 ล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของชาวโอเสจให้กับชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ นอกจากนั้นแล้วทางรัฐบาลยังเห็นชอบกับมาตรการต่างๆ ที่ออกแบบให้สามารถจัดการทรัพย์สินของชาวโอเซจได้ดียิ่งขึ้น
ทุกวันนี้ ผู้คนต่างเชื่อว่าการฆาตกรรมชาวโอเซจคือจุดกำเนิดของเอฟบีไอและการบังคับใช้กฎหมายสมัยใหม่ที่ต้องอาศัยการสืบสวนอย่างละเอียด การปฏิบัติการอำพราง และการรับข้อมูลจากผู้รู้เพื่อไขคดีอาชญากรรมที่ซับซ้อน และถึงแม้ว่าเหตุฆาตกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว คดีเหล่านั้นยังสามารถสะท้อนการดำเนินชีวิตและการเงินของชาวโอเซจได้จนถึงทุกวันนี้
ในปัจจุบัน ชาวโอเซจได้ระบุลงในเว็บไซต์ Osage Nation ไว้ว่าสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งโดยกำเนิดประมาณ 26 เปอร์เซ็นต์ยังอยู่ในมือของผู้ที่ไม่มีเชื้อสายโอเซจอยู่ และสิทธิเหล่านั้นสามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชนพื้นเมืองได้ตามต้องการ
แม้ว่าหนังสือเรื่อง คดีฆาตกรรมเมื่อดอกไม้ร่วงโรยในคืนจันทร์เต็มดวง และภาพยนตร์เรื่อง Killers of the Flower Moon จะบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมานานแล้ว แต่ชาวโอเซจกลับเขียนโต้ตอบว่า “พวกเราไม่ใช่คนโบราณที่ล้าหลัง” เพราะชาวโอเซจเจริญรุ่งเรืองอยู่ในเขตสงวนซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐโอคลาโฮมา ผู้คนที่เข้มแข็ง เต็มไปด้วยความหวังและแรงผลักดันเหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ในขณะเดียวกันพวกเขาก็กำลังสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้ตนเองและชาวโอเซจคนอื่น ๆ
เรื่อง เอริน เบลกมอร์
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ
จาก https://ngthai.com/history/52507/osage-murders-killers-of-the-flower-moon/