ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มกราคม 10, 2024, 08:26:45 am »ตัวอย่างหัวข้อที่อภิปราย
หัวข้ออภิปรายที่ 1 พระสัพพัญญุตญาณไม่มีจริง
บาทหลวงตัวแทนวาติกัน ได้ยกประเด็นว่า พระสัพพัญญุตญาณไม่มีจริง และพระพุทธเจ้าไม่มีทิพยญาณ โดยยกหลักฐานจากพระไตรปิฎก ที่ปรากฎในคัมภีร์มหาวรรคว่า หลังจากตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรม เนื่องจากธรรมะเป็นเรื่องลึกซึ้ง ยากที่ใครๆจะเข้าใจตามได้ จนกระทั่งพรหมมากราบอาราธนาว่า คนที่สามารถฟังธรรมของพระองค์แล้วตรองตามได้นั้นมีอยู่ จึงทำให้พระองค์มีกำลังใจที่จะแสดงธรรม
ต่อมาเทวดามากราบทูลพระองค์ว่า ท่านอาฬารดาบสและอุทกดาบส ได้สิ้นบุญไปแล้วทั้งคู่ ทั้งหมดนี้หมายความว่า พระองค์ไม่มีทิพยญาณแต่อย่างใด และแม้ว่าพระสัพพัญญุตญาณที่พระองค์ทรงมีนั้น มีสภาพตื้นเขินเพียงเท่านี้ไซร้ ใครๆก็มีสัพพัญญุตญาณกันได้ทุกคน
ท่านคุณานันทะได้กล่าวโต้ประเด็นนี้กลับไปว่า เรื่องนี้ท่านเคยชี้แจงและได้ตีพิมพ์ในเอกสารไปแล้ว ท่านจึงทบทวนขึ้นอีกครั้งหนึ่งว่า คำว่า “พระสัพพัญญุตญาณ” นั้น ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงมีญาณหยั่งรู้ทุกสิ่งอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าจะเป็นไปตามพุทธประสงค์ หมายความว่า หากพระองค์ทรงสอดข่ายพุทธญาณ เพื่อหยั่งทราบเรื่องราวแล้ว พระองค์ก็จะทรงทราบสิ่งที่ทรงมุ่งประสงค์ได้ เปรียบเสมือนคนเราที่มีดวงตาอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ลืมตาขึ้นดู ก็ย่อมมองไม่เห็นสิ่งต่างๆเป็นธรรมดา ในกรณีนี้เราไม่อาจจะตำหนิเขาได้ว่า เขาไม่มีตา หรือว่าตามองไม่เห็น ดวงตานั้นมีอยู่ เมื่อเราอยากดูก็ลืมตาดูจึงจะเห็น แล้วก็เห็นได้ทีละอย่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า พระองค์ไม่ได้เป็นพระสัพพัญญูตลอดเวลา แต่ว่าเมื่อปรารถนาอยากจะดูตอนไหนก็จะเห็นตอนนั้น ขณะนั้นพระองค์กำลังอยู่ในขั้นรำพึงเท่านั้น มิได้ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมจนพรหมต้องมากราบอาราธนา แต่เป็นธรรมเนียมว่า พรหมจะต้องมาอาราธนา พรหมก็ปฏิบัติตามธรรมเนียม และไม่ว่าพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ลงมาตรัสรู้ก็ตาม ท่านก็จะดำริอย่างนี้ แล้วพรหมก็มาตามธรรมเนียมอย่างนี้
หัวข้ออภิปรายที่ 2 : การเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง เป็นสิ่งโง่เขลา
ประเด็นนี้ ผู้บรรยายฝ่ายตรงข้ามของท่านคุณานันทะได้กล่าวว่า พระรัตนตรัยไม่มีความพิเศษอะไรเลย การเข้าถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งนั้น เป็นสิ่งโง่เขลา
การถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้วว่าเป็นที่พึ่งถือเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ แสงอาทิตย์ย่อมปรากฏไม่ได้หากปราศจากดวงอาทิตย์ ฉันใด พระพุทธองค์เมื่อปรินิพพานพระองค์ได้สูญสิ้นไปแล้ว ที่พึงคือพระพุทธเจ้าจะมีได้อย่างไร ฉันนั้น
พระธรรม คือ หนังสือที่มีผู้เขียน เขียนกันขึ้นมา หนังสือเหล่านั้นต่างหากที่ต้องมี ท่านเป็นที่พึ่ง พวกท่านต้องดูแลรักษา เก็บเอาไว้ไม่ให้สูญหายหรือถูกทำลาย ท่านจะพึ่งพิงหนังสือได้อย่างไร มีแต่หนังสือต่างหากต้องพึ่งมนุษย์เพื่อให้ดูแลรักษา
ส่วนการยึดถือพระสงฆ์นั้น พระสงฆ์ผู้เป็นคนบาปหนาแน่นไปด้วยกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง และยังถือตัวว่าเป็นสรณะที่พึ่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความโง่เขลา งมงาย นับเป็นการยึดถือคนตาบอดให้เป็นผู้นำทางโดยแท้
ท่านคุณานันทะได้ชี้แจงเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามอ้างว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ท่านได้แสดงเรื่องนิพพาน ๓ ประเภท ได้แก่
๑. กิเลสนิพพาน คือ การดับกิเลสตัณหาของพระองค์ในวันตรัสรู้ ถือเป็นนิพพานอย่างหนึ่ง
๒. ขันธนิพพาน คือ การดับเบญจขันธ์สู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ณ เมืองกุสินารา
๓. ธาตุนิพพาน คือ พระบรมสารีริกธาตุสูญสิ้นไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่ก็เป็นการดับของกิเลสและขันธ์ ส่วนพระบรมสารีริกธาตุนั้นยังทรงดำรงอยู่ เสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ ถ้าหากว่า ศาสดาของศาสนาใดได้ถึงแก่กรรมลง ศาสนานั้นหมดคุณค่า พึ่งพามิได้ ก็หมายความว่า ทุกๆศาสนาขณะนี้ มีศาสดาที่ไร้ความหมาย ไม่ควรระลึกถึงเลยอย่างนั้นหรือ
ในส่วนพระธรรม ในเบื้องต้น พระธรรมอาจจะเป็นหนังสือตามที่ผู้พูดต่างศาสนาเข้าใจ แต่พระธรรมสำหรับชาวพุทธแล้ว หมายถึง คำสอนที่มีเอาไว้ให้ปฏิบัติ บุคคลที่ปฏิบัติตามพระธรรมคือ ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมนั้น สามารถเป็นที่พึ่งอันแท้จริง อีกประการหนึ่ง การถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งนั้น หมายเอาโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) เป็นที่สุด มิได้มีความหมายตื้นเขินดังที่ผู้พูดจากศาสนาอื่นเข้าใจ พระธรรมไม่ใช่เป็นแค่หนังสือหรือตัวหนังสือ แต่เป็นความรู้ในนั้นที่ทำให้ผู้ที่ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติ เกิดประสบการณ์ภายใน ได้เข้าถึงธรรมอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเข้าถึงนั่นเอง พระธรรมจึงเป็นที่พึ่งภายในที่แท้จริงของบุคคลนั้น
ส่วนพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มีองค์ประกอบสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว กล่าวคือ มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงค้นพบพระธรรม และมีพระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดพระธรรมอย่างไม่ขาดสาย แต่ผู้พูดจากศาสนาอื่น นอกจากเป็นผู้ที่มองโลกผิดไปจากความเป็นจริงแล้ว ยังมองโลกในแง่ร้ายอีกด้วย ท่านคุณานันทะยังกล่าวเสริมอีกว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มี ๒ ประเภท คือ อริยสงฆ์(ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป) และสมมุติสงฆ์(สงฆ์ทั่วไป)
การเห็นสมณะ คือ พระสงฆ์นั้น มุ่งหมายเอาพระอริยสงฆ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญที่แท้จริง คำว่า เนื้อนาบุญเป็นสิ่งที่ไม่มีในศาสนาของผู้พูดและแม้ศาสนาอื่น ในขณะที่สมมุติสงฆ์แม้ยังไม่หมดกิเลส ก็กำลังทำกิเลสให้เบาบางลง เพราะฉะนั้น พระสงฆ์จึงเป็นที่พึ่งในฐานะที่เป็นทั้งเนื้อนาบุญ และเป็นแหล่งแห่งความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
หัวข้ออภิปรายที่ 3: การปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฝ่ายตรงข้ามท่านคุณานันทะ ได้อภิปรายโจมตีว่า พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานเยี่ยงคนอนาถา โดยมีเนื้อหาการบรรยายว่า การปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงอาพาธเป็นโรคท้องร่วงอย่างหนัก หลังจากเสวยเนื้อสุกรอ่อนที่ดาบสจุนทะทำมาถวาย บังเกิดทุกขเวทนาอย่างรุนแรง ในระหว่างทางไปเมืองกุสินารา ทรงเป็นลมและล้มลงหลายครั้ง แล้วต้องทรงดื่มน้ำจากแม่น้ำสายเล็กๆสายหนึ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ปรากฏเลยว่า พระองค์ได้ทรงใช้อิทธิฤทธิ์ใดๆ ทั้งไม่ปรากฏเลยว่า มีเหล่าพรหมหรือเทวดาลงมาถวายการดูแลแต่อย่างใด จึงเห็นได้ชัดว่า เรื่องพุทธานุภาพเป็นถ้อยคำที่เชื่อถือไม่ได้ จะหลอกลวงได้ก็แต่คนโง่เขลาเท่านั้น ในที่สุดก็ทรงปรินิพพานเช่นเดียวกันกับคนอนาถาคนหนึ่งเท่านั้น นี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวโจมตี
ท่านคุณานันทะ ชี้แจงว่า พระพุทธองค์ทรงปรินิพพานตามที่พระองค์ทรงกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าว่า อีก ๓ เดือน เราจะปรินิพพานที่เมืองกุสินารา คือ ทรงรู้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ใช่อาพาธอย่างกะทันหัน
ท่านคุณานันทะกล่าวแก้ไขรายละเอียดที่ไม่รอบคอบของฝ่ายศาสนาอื่นว่า นายจุนทะไม่ใช่ดาบส ตามที่ฝ่ายตรงข้ามได้กล่าวว่า พระองค์ได้เสวยเนื่อสุกรอ่อนที่ดาบสจุนทะนำมาถวาย แต่ความจริงทางประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า นายจุนทะเป็นบุตรของนายช่างทอง ส่วนสูกรมัทวะ หรือเนื้อสุกรอ่อนนั้น ท่านกล่าวว่า อาจจะเป็นเห็ดชนิดหนึ่งก็ได้
การที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพานในวันนั้น ก็เป็นไปตามพระพุทธกำหนด เมื่อทรงปลงอายุสังขารแล้ว คือ ทรงมีพระประสงค์ที่จะปรินิพพานในวันนั้นอยู่แล้ว วัน เวลา สถานที่ ที่จะเสด็จปรินิพพานนั้น พระองค์ได้ทรงประกาศล่วงหน้าไว้แล้วถึง ๓ เดือน ดังนั้น ไม่ว่าจะทรงเสวยอะไรก็ตาม หรือจะแสดงฤทธิ์หรือไม่ก็ตาม ก็จะต้องเสด็จดับขันธ์ในวันนั้นนั่นเอง
เมื่อวันนั้นพระองค์ต้องเสด็จดับขันธ์อยู่แล้ว จะทรงแสดงอิทธิฤทธิ์เพื่ออะไร หรือใครจะมาช่วยเหลืออย่างไรก็ต้องเสด็จดับขันธ์อยู่นั่นเอง ดังนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่ได้ทรงปรินิพพานเพราะเสวยสูกรมัทวะ ที่ถูกควรจะพูดเสียใหม่ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยสูกรมัทวะในวันปรินิพพาน
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ในชั่วโมงสุดท้ายก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์นั้น พระองค์ยังได้ตรัสถามเหล่าพระสาวกว่า ใครสงสัยธรรมะข้อใดใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ให้ถามได้ทั้งหมด เราจะตอบทุกข้อ แต่ก็ไม่มีใครสงสัย ไม่ใช่ว่าเกรงใจพระองค์ แต่เพราะว่าพระองค์ได้ทรงสั่งสอนจนกระทั่งเข้าใจธรรมะทั้งหมดอย่างแจ่มแจ้งแล้ว
....จนกระทั่งในช่วงสุดท้าย มีผู้เข้าไปกราบทูลถาม คือ ท่านสุภัททะ พระองค์ก็ยังทรงมีพระมหากรุณา ตรัสสอนท่านสุภัททะจนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นศิษย์คนสุดท้ายก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ทรงเป็นบรมครูที่สง่างาม ยากที่จะมีครูคนใดในโลก ที่สอนให้ศิษย์ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
......เมื่อตรัสสอนท่านสุภัททะแล้ว พระองค์ยังให้โอวาทสุดท้ายแก่เหล่าพุทธบริษัท ให้ดำรงประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เป็นปัจฉิมโอวาทอันทรงคุณค่ามาถึงปัจจุบันนี้ทีเดียว
.......ในขณะสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระอนุรุทธะผู้มีตาทิพย์ ยังสอดส่องด้วยทิพยจักษุของท่าน ถึงการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ อยู่ในสายตาของผู้ที่เป็นเลิศในทางทิพยจักษุ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า ขณะนี้พระองค์ทรงเข้าฌานต่างๆ เข้าสมาบัติไม่ซ้ำสมาบัติไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถูกส่วนตกศูนย์เข้าสู่อายตนนิพพาน
ผลกระทบต่อพุทธศาสนาหลังการโต้วาทะครั้งสุดท้าย
หลังจากจบการโต้วาทะครั้งที่ ๕ ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๑๖ มีผลต่อเนื่องที่ยิ่งใหญ่คือ
๑. มีการตีพิมพ์ และแปลบทโต้วาทะเป็นภาษาอังกฤษโดยหนังสือพิมพ์รายวัน Time of Ceylon และภาษาอื่นๆอีกหลายภาษา
๒. ชาวอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อ เฮนรี สตีล โอลกอตต์ ได้ไปอ่านพบเข้า และต่อมาได้มีบทบาทในการผลักดันการแก้กฎหมายต่างๆ เช่น ให้อังกฤษยกเลิกกฎหมาย ห้ามชาวพุทธประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนาของตน ดังนั้น ชาวพุทธจึงกลับมาทำพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ หลังจากว่างเว้นมายาวนาน
๓. ศาสนิกอื่นที่มาร่วมฟังการโต้วาทะในครั้งนั้น บางคนถึงกับเสื่อมศรัทธาจากศาสนาของตน แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนาด้วยความสมัครใจ
๔. การข่มเหง เบียดเบียน ทำลายชาวพุทธก็หมดไป
ตลอดชีวิตของพระคุณานันทเถระ เป็นไปเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของความอยุติธรรมจากศาสนาอื่น จนถึงกับมีผู้เขียนพรรณนาโวหารไว้เป็นภาษาสิงหลว่า
“ท่านคุณานันทะ ทำให้พวกศาสนาอื่นหวาดผวา”
เพิ่มเติม อีกLink ที่ เคยลงไว้ http://www.tairomdham.net/index.php?topic=11239.0