ตอบ

ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
ระหว่างความดีกับความไม่ดี เราจะเลือกทำสิ่งใดจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้จริง ( เลือกตอบแค่ ความดี กับ ความไม่ดี ครับผม):
ถ้าเราโกรธใคร ธรรมะจะเป็นหนทางผ่อนคลายความโกรธนั้นลงได้ใช่ไหม ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม ):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
คุณเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดีใช่หรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า แสงธรรมนำใจ:
^^ ขอความกรุณาพิมพ์คำว่า ใต้ร่มธรรม:
การแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ นิยมใช้คำว่า (อนุโมทนา) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ อนุโมทนา:
เปล่งวาจาว่าสาธุ เป็นการอนุโมทนาต่อพระสงฆ์ที่วัด หรือมีใครทำบุญแล้วมาบอกให้ทราบ ทราบแล้วยกมือขึ้น (สาธุ) กรุณาพิมพ์คำนี้ครับ  สาธุ:
ท่านจะปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อตกลงของเว็บใต้ร่มธรรมทุกประการหรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
คุณพ่อคุณแม่เปรียบดั่งพระอรหันต์ในบ้าน พิมพ์คำว่า "คุณพ่อคุณแม่ฉันรักและเคารพท่านดุจพระอรหันต์":
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ขอโทษนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
เคยนวดฝ่าเท้าให้ คุณพ่อคุณแม่บ้างไหม ถ้ามีโอกาส เราควรทำหรือไม่ (ควรกระทำอย่างยิ่ง หรือ ไม่ควรทำ):
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ใต้ร่มธรรมเองก็จะเป็นไปตามวัฐจักรนี้ ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น (เป็นจริง) หรือ (ไม่จริง):
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่มีเกียรติคือผู้ที่ให้เกียรติผู้อื่น ฉะนั้นสมาชิกใต้ร่มธรรมควรให้เกียรติกันและกัน พิมพ์คำว่า (ฉันจะให้เกียรติสมาชิกทุกๆท่านในใต้ร่มธรรมเสมอด้วยวาจาสุภาพอ่อนน้อม):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มกราคม 15, 2024, 07:27:30 am »

23 มีนาคม 2566 |  ศาสนา ประเพณี พิธีกรรม

อนันต์ สมมูล


พิธีสวดภาณยักษ์ : ความหมายและการเปลี่ยนแปลง




รูปที่ 1 ปกหนังสือ พิธีสวดภาณยักษ์ : ความหมายและการเปลี่ยนแปลง
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาพระพุทธศาสนาในสังคมไทยแบ่งรูปแบบพุทธศาสนาออกเป็นสองรูปแบบ คือ พระพุทธศาสนาในอุดมคติ ที่ยึดเอาพระธรรมคำสอนตามคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นหลัก เน้นเรื่องการดับทุกข์ การปฏิบัติธรรมเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการพ้นทุกข์ และ พระพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน ที่ผสมผสานพุทธศาสนากับลัทธิความเชื่อของพื้นบ้านเข้าด้วยกัน ให้ความสำคัญกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย - เกิด เรื่องอดีตชาติ ชาติภพหน้า รวมทั้งเรื่องนรก สวรรค์ ผี เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล และยักษ์ พิธีสวดภาณยักษ์ จัดอยู่ในรูปแบบพระพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน ซึ่งเดิมตำนานการสวดภาณยักษ์มีจุดประสงค์หลักคือการสวดเพื่อปกป้องคุ้มครองพุทธบริษัทให้ได้ปฏิบัติธรรมอย่างสงบสุข แต่ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในเชิงไสยศาสตร์ สวดเพื่อไล่ภูตผีปีศาจ แก้คุณไสยมนต์ดำ ไล่สิ่งอัปมงคล และเสริมสิริมงคล
แก่ผู้ร่วมพิธี

           หนังสือ “พิธีสวดภาณยักษ์ : ความหมายและการเปลี่ยนแปลง” เป็นผลงานที่นักมานุษยวิทยาทั้งสามท่านได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ  รองศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ สายพันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริพร สมบูรณ์บูรณะได้ร่วมกันเข้าไปวิจัยและเก็บข้อมูลพิธีสวดภาณยักษ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๓ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมที่สะท้อนผ่านพิธีกรรมสวดภาณยักษ์ เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์และปฏิบัติการทางสังคมและวัฒนธรรมขณะที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน หรือที่รับทราบโดยทั่วกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” คณะนักวิจัยใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่เรียกว่า “การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (Participant Observation)” เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมของกลุ่มชนอื่นที่แตกต่าง โดยไม่วินิจฉัย แต่พยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของบุคคลในบริบทของวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่นอย่างรอบด้าน ขณะเดียวกันก็ได้ทบทวนพัฒนาการการศึกษาความเชื่อ พิธีกรรม ในมุมมองมานุษยวิทยาเพื่อทำความเข้าใจความเชื่อและพิธีกรรมสวดภาณยักษ์ การเก็บข้อมูลครั้งนี้คณะวิจัยมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จัดงานที่เปลี่ยนไปตามวัดวาอารามต่าง ๆ แบบไม่ซ้ำพื้นที่ คณะผู้วิจัยพยายามรักษาหลักการพื้นฐานของการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม เช่น เข้าร่วมพิธีกรรมเสมือนเป็นคนใน การพูดคุยซักถาม สังเกตผู้เข้าร่วมพิธี ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในพิธีตั้งแต่ต้นจนจบ ให้ความสำคัญกับทุกประเด็นทั้ง จำนวนพิธีกรรม ช่วงเวลาประกอบพิธี จำนวนคนเข้าร่วมพิธี ภูมิหลังของผู้ให้ข้อมูล ฯลฯ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจที่มาของข้อมูล และข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเก็บข้อมูล

           คำว่า ภาณยักษ์ (อ่านว่า พา นะ ยัก) มาจากคำว่า ภาณ แปลว่า การบอก การกล่าว ดังนั้นคำว่า ภาณยักษ์ จึงแปลว่า คำบอกของยักษ์ หรือ คำกล่าวของยักษ์ การสวดภาณยักษ์ คือ การสวด อาฏานาฏิยสูตร ซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์ทีฆนิยาย ปาฏิกวรรค ด้วยมีเรื่องเล่าถึงพระสูตรนี้ว่า ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่บนเขาคิชฌกูฏ ในเมืองราชคฤห์ เวลากลางคืน ท้าวเวสวัณ (ท้าวกุเวร) ได้นำท้าวจตุโลกบาล ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีท้าวธตรัฏฐะ ท้าววิรุฬหกะ ท้าววิรูปักขะ พร้อมด้วยบริวาร ได้เข้าเผ้าพระพุทธเจ้า เพื่อถวายคำประพันธ์ “อาฏานาฏิยา รกฺขา” ที่พวกตนร่วมกันประพันธ์ขึ้น และกราบทูลว่า
“มียักษ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้นกลาง ชั้นต่ำ และบริวารไม่พอใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ - ห้ามดื่มสุราเมรัย เกรงว่ายักษ์และบริวารจะมาทำร้ายพุทธบริษัท ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จึงขอถวาย อาฏานาฏิยสูตร ไว้ให้พระภิกษุ ภิกษุณีใช้สวดเพื่อป้องกันภัย คุ้มครองรักษา ไม่ให้ถูกเบียดเบียน และให้เหล่ายักษ์และบริวารเกิดความเลื่อมใสในพระศาสนา การสวดภาณยักษ์หรืออาฏานาฏิยปริตรตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมีจุดประสงค์หลักคือการคุ้มครองพุทธบริษัทให้ได้ปฏิบัติธรรมอย่างสงบสุข

           คณะผู้วิจัยยังได้ศึกษารวบรวมประวัติความเป็นมา ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของการสวดพระปริตร หรือ การสวดภาณยักษ์ จากเอกสารและตำราต่าง ๆ เพื่อสืบที่มาที่ไปของพิธีกรรมดังกล่าว และทราบว่า ประเพณีการสวดแบบนี้เกิดขึ้นในลังกาทวีป ๕๐๐ ปีหลังพุทธกาล ต่อมาพระพุทธศาสนาสายลังกาวงศ์ ได้เผยแพร่มายังนครศรีธรรมราชและสุโขทัย และรัฐสยามรับเอาแบบอย่างพิธีตรุษจากลังกามาปรับใช้ในพิธีหลวง ดังได้พบหนังสือภาณวารฉบับฝีมือเขียนสมัยอยุธยาตอนปลายที่หอพระสมุดวชิรญาณ จึงเป็นไปได้ว่ามีการสวดภาณวารตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยใช้สวดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (ในส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร) ดังปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง) ว่า พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาได้นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์สัตวารและภาณวารและสมัยรัตนโกสินทร์ จารีตการสวดพระปริตรตามแบบแผนที่ปฏิบัติสืบกันมาเรียกว่า  “ราชปริตฺต” ที่พระมหากษัตริย์มีรับสั่งให้พระสงฆ์สวดในงานพิธีหลวง และปฏิบัติสืบต่อกันมาตามจารีตปฏิบัติในราชประเพณีโบราณของไทยปรากฏชัดเจนในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ผ่านพระราชพิธีสองพระราชพิธี คือ  พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินทร์ เป็นพิธีวัง (กรมวังรับผิดชอบ) และพระราชพิธีอาพาธพินาศ  เป็นพิธีเมือง (กรมเมืองรับผิดชอบ) เพื่อทำบุญประจำปี มีเป้าหมายที่จะแผ่ส่วนบุญ ส่วนกุศลให้เทพยดา ยักษ์ และอมนุษย์ทุกตน และขอให้ระงับภัยที่จะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร  ต่อมาพระราชพิธีนี้ถูกยกเลิกจัดในวัง แต่มีการสืบทอดโดยวัดที่เคยสวดในงานพระราชพิธี
และได้กลายเป็น “สวดภาณยักษ์” ในปัจจุบัน มีการจัดพิธีสวดภาณยักษ์ตามวัดต่าง ๆ
เมื่อชุมชน หมู่บ้านเกิดเภทภัย เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ภูตผีปีศาจให้ออกไปจากชุมชน รวมทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล และอยู่เย็นเป็นสุขของผู้เข้าร่วมพิธี

ลักษณะการสวดภาณยักษ์แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ปุพพภาค กับ ปัจฉิมภาค

           ปุพพภาค คือ ช่วงแรกที่เป็นคำของยักษ์กราบทูลถวายอาฏานาฏิยารักษ์ เรียกว่า ยักขภาณวาร หรือ ภาณยักษ์ เป็นการสวดที่มีน้ำเสียงกระแทกกระทั้นดุดันเกรี้ยวกราด และน่ากลัว ขณะที่สวด มีการกระหน่ำยิงปืนอาฎานาด้วย ใช้สวดเพื่อขับไล่ยักษ์ ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ

           ปัจฉิมภาค คือ ช่วงหลังที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องให้พระภิกษุฟัง เรียกว่า พุทธภารณวาร หรือ ภาณพระ เป็นการสวดแบบมีทำนอง มีเสียงหนักเบา ใช้น้ำเสียงสวดที่ไพเราะ น่าฟัง ไม่กระแทกกระทั้นดุดันเหมือนการสวดภาณยักษ์

           การจัดการพิธีสวดภาณยักษ์ มีลักษณะเป็นเครือข่ายและดำเนินการแบบธุรกิจ มีเครือข่ายบุคลากรซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในงานที่หลากหลาย มีการกำหนดภาระหน้าที่และบทบาทไว้ชัดเจน เช่น ผู้จัด (วัด หรือ กลุ่มตัวแทนวัด และกลุ่มบุคคล หรือ Agency) ที่ทำหน้าที่ในการดำเนินงานให้เสร็จตั้งแต่ต้นจนจบ พระเกจิอาจารย์ หรือพระ “นั่งปรก ทำหน้าที่แผ่เมตตา ปกป้องคุ้มครอง ขับไล่ผีที่เข้ามาสิ่งผู้เข้าร่วมพิธี บัณฑิตโหร หรือพราหมณ์ ทำหน้าที่โฆษก นำพิธีการสวดภาณยักษ์ แต่งกายด้วยชุดขาวเหมือนการแต่งกายของเหล่าพราหมณ์  มีการจัดการเรื่องต้นทุน รายรับ รายจ่าย มีการจัดสรรรายได้และผลประโยชน์ เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ

           คณะนักวิจัยพยายามนำเสนอกระบวนพิธีสวดภาณยักษ์และความหมายจากมุมมองของ “คนใน” ที่รู้จัก และเกี่ยวข้องกับพิธีสวดภาณยักษ์ทั้งในฐานะผู้จัด ผู้ประกอบพิธีและผู้เข้าร่วมพิธี คนในมองว่า เป็นพิธีทางพุทธศาสนา มีตำนานสวดภาณยักษ์ซึ่งมีรากฐานจากอาฏานาฏิยปริตร ที่ปรากฏในพระสูตรบันทึกว่ามีการสวดอาฏานาฏิยปริตรครั้งแรกที่เมืองไพศาลีเพื่อกำจัดการระบาดของอหิวาตกโรค เป็นหลักฐานชี้ว่า พิธีสวดภาณยักษ์มีความเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ในฐานะผู้จัดและผู้ประกอบพิธีต่างเห็นคุณค่าของพิธีสวดภาณยักษ์ มองว่า เป็นการช่วยเหลือชาวบ้านที่มีปัญหา ช่วยให้พ้นทุกข์ ช่วยหารายได้เข้าวัด วัดจะได้มีปัจจัยในการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน ถือว่าเป็นการทำบุญวิธีหนึ่ง ในฐานะผู้เข้าร่วมพิธี มองว่า พิธีมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความขลัง มีพลังอำนาจที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมพิธีพ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นเคราะห์ พ้นภัย และเสริมดวงชะตา บารมี เสริมโชคลาภและสร้างขวัญกำลังใจให้กับพวกเขาได้

           การสวดภาณยักษ์ ในมุมมองของพุทธศาสนาในอุดมคติ (คนนอก/ใน) จะมองแบบขั้วตรงข้ามว่า เป็นพิธีกรรมที่ให้ความสำคัญกับไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขัดกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักธรรม คำสอนความพยายามต่อสู้เพื่อลดกิเลส และหลุดพ้นจากความทุกข์ การจัดพิธีสวดภาณยักษ์ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เป็นพุทธพาณิชย์ หลอกลวงประชาชนผู้ไม่รู้ให้เข้าร่วมพิธี จากนั้นเชิญชวนให้เช่าบูชาพระเครื่อง พระบูชา เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล และเชิญชวนเข้าร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีแก้ปีชง พิธีเสริมดวง แก้กรรม ปัดรังควาน พิธีสวดนพเคราะห์ พิธีบังสุกุลเป็น ทำบุญต่ออายุ สืบชะตา ฯลฯ โดยเน้นการสร้างรายได้และแสวงหากำไรจากความไม่รู้ของผู้เข้าร่วมพิธี

           แม้นว่าการสวดภาณยักษ์ที่ปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้ จะไม่ตรงตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่ควร แต่ที่มาที่ไปของพิธีสวดภาณยักษ์ก็มีที่มาจากพระสุตตันตปิฎก (ตามตำนานอาฏานาฏิยสูตร) ที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ถือว่ามีความเกี่ยวพันกับพุทธศาสนา พระสงฆ์เคยใช้บทสวดนี้ในการกำจัดโรคอหิวาต์ ที่เมืองไพศาลี ในสมัยพุทธกาล แม้นว่าพิธีสวดภาณยักษ์ในปัจจุบัน จะผิดเพี้ยนจากเดิมไปมาก และไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสงบของจิต หรือนิพพาน แต่ก็มุ่งให้ผู้เข้าร่วมพิธีมีความสุขใจ สุขกาย ที่รู้สึกว่าตนได้รับการปกป้องภัยจากสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งชั่วร้ายที่มองไม่เห็น ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมพิธีก็มีความเชื่อว่า การได้ทำบุญในรูปแบบต่าง ๆ ในการเข้าร่วมพิธีสวดภาณยักษ์ตั้งแต่ต้นจนจบไม่ว่าจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ เสริมดวง แก้กรรม พิธีบังสุกุลเป็น ทำบุญต่ออายุ สืบชะตา จะทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีมีชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งได้สะสมบุญ เพื่อเป็นทุนให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีเมื่อเขาได้ตายจากโลกนี้ไป อนึ่งการรับเอาความเชื่อและประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมมาผสมผสานและผนวกรวมกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของพุทธศาสนาในอุษาคเนย์ หรือประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอื่น ๆ มักมีลักษณะไม่แย้งกับวัฒนธรรมและความเชื่อดั้งเดิมที่ไม่เป็นปฏิปักษ์กับพุทธศาสนาโดยตรง เป็นพุทธศาสนาแบบบ้าน ๆ

           หนังสือ พิธีสวดภาณยักษ์ ความหมายและการเปลี่ยนแปลงเล่มนี้ เปิดมุมมองและโลกทัศน์ของผู้อ่านที่มีต่อพิธีกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมท้องถิ่น บอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไป ความหมาย และมุมมองต่อพิธีสวดภาณยักษ์ แบบรอบด้าน เก็บรายละเอียดได้ดีทุกแง่ทุกมุม สามารถตอบคำถามทุกคำถามของคนในและคนนอก (คนที่เข้าร่วม เห็นดีเห็นชอบ กับคนที่ไม่เข้าร่วมและคัดค้าน) และฉายภาพพัฒนาการ และบริบทของพิธีสวดภาณยักษ์ในสังคมไทยช่วงก่อนและระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๓ ได้แบบไม่เคยปรากฏงานวิชาการในลักษณะนี้มาก่อน หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่สนใจและอยากเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้วยมุมมองของนักมานุษยวิทยา อยากทราบวิธีการทำงานของนักมานุษยวิทยาขณะปฏิบัติการเก็บข้อมูล และเฝ้าสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่วิจัย เหมาะสำหรับนักสร้างคอนเทนต์ (Content Creator) ที่ต้องการสร้างสรรค์และผลิตเนื้อหาด้วยมุมมองที่แตกต่าง เน้นสร้างความเข้าใจเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ตัดสินใคร และเหมาะสำหรับทุกคนที่สนใจเรื่องประเพณีและพิธีกรรมในสังคมไทย

           ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้จาก กิจกรรมเล่าสู่กันฟังเรื่องหนังสือ EP.31 สวดภาณยักษ์ ทาง SAC Channel : http://channel.sac.or.th หรือ https://www.youtube.com/watch?v=KcbNUJ2Ewew

 จาก https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/447