ข้อความโดย: มดเอ๊กซ
« เมื่อ: มกราคม 16, 2024, 09:40:56 am »มหัศจรรย์การ์ตูน : การพยายามเข้าใจและการพยายามไม่เข้าใจ
วันที่ 24 กรกฎาคม 2559 - 22:56 น.
ที่มาคอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูนผู้เขียนวินิทรา นวลละออง
เด็กหนุ่มคนหนึ่งมากับคุณแม่พร้อมจดหมายจากคณะ เขาสอบผ่านข้อเขียนเข้าคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยแต่อยู่ระหว่างพิจารณาผลการสอบสัมภาษณ์ กรรมการต้องการให้จิตแพทย์ลงความเห็นว่าหนุ่มน้อยคนนี้ “เรียนได้หรือไม่” ซึ่งดูเป็นความเห็นกว้างๆ และตอบยากสำหรับจิตแพทย์ที่ประกอบอาชีพรักษาผู้ป่วยมากกว่าประเมินว่าใครเรียนหนังสือได้หรือไม่
“หมอขอถามคำถามทั่วไปที่ถามทุกคนเป็นปกตินะคะ สมัยเรียนมัธยมปลายมีเพื่อนสนิทกันเยอะไหมคะ กลางวันกินข้าวกับเพื่อนไหมคะ”
“ก็สนิทกับทั้งห้อง กินข้าวก็ขึ้นกับว่าเจอใครก็กินกับคนนั้น”
“ส่วนใหญ่เพื่อนบอกว่าคุณเป็นคนนิสัยใจคอยังไงคะ”
“ก็ร่าเริง ตลก”
“ขอเสียมารยาทถามสักนิดนะคะ เคยได้ยินชื่อโรคออทิสติกไหมคะ”
คราวนี้หนุ่มน้อยตาขวางอย่างน่ากลัวจนต้องถามว่า “หมอพูดอะไรที่ทำให้โกรธหรือเปล่าคะ” เขาจึงรู้ตัวและสงบลง พอเชิญคุณแม่เข้ามาคุยบ้าง คุณแม่ก็บอกว่าลูกชายขยัน เป็นเด็กดี เพื่อนเยอะ และไม่เคยรู้จักโรคชื่อออทิสติกมาก่อน แม้จิตแพทย์ผู้ใหญ่จะไม่คุ้นเคยกับโรคทางพัฒนาการเด็กแบบนี้เท่าไรแต่ก็พอจะสังเกตได้ว่าหนุ่มน้อยคนนี้มีบางอย่างน่าค้นหาค่ะ
เล่าเรื่องนี้ไม่ได้คิดว่าหนุ่มน้อยหรือคุณแม่ไม่พูดความจริงนะคะ แต่รู้สึกฉุกใจคิดขึ้นมาเมื่อได้ดูแอนิเมชั่น “Mob Psycho 100” การ์ตูนแนวกวนประสาทนิดๆ ที่ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วถึง 12 เล่มในญี่ปุ่น ส่วนแอนิเมชั่นเพิ่งฉายทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นตอนแรกเมื่อ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา กล่าวถึง “คาเกยามะ ชิเกโอะ” ชื่อเล่น “ม็อบ” เด็กหนุ่มมัธยมต้นที่มีพลังปราบวิญญาณมหาศาล เขาช่วยหมอผีเก๊คนหนึ่งปราบวิญญาณร้ายโดยได้ค่าแรงแค่ชั่วโมงละ 300 เยน ซึ่งถือว่ากดขี่มาก ในการ์ตูนอธิบายบุคลิกภาพของม็อบว่าเขารู้ตัวว่าอารมณ์ด้านลบของเขาจะทำให้พลังวิญญาณในตัวทำร้ายผู้อื่นจึงพยายามเก็บอารมณ์ไว้จนสีหน้านิ่งเฉย เขาอ่านบรรยากาศเวลาเข้าสังคมไม่ออกทำให้พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมและคบเพื่อน ในแอนิเมชั่นตอนที่ 1 จะเห็นว่าม็อบมีทักษะการใช้ร่างกายอย่างการเล่นกีฬาไม่ดีนัก เรื่องที่ชอบคือการนั่งมองมดเดินเป็นแถวซึ่งดูจะนั่งมองได้เป็นวันเลยด้วยถ้าไม่มีใครเตือน ม็อบมีคนที่น่าจะเรียกเพื่อนได้คนเดียวคือ “อาราตากะ ไรเก็น” หมอผีเก๊ที่ดูจะหลอกใช้ม็อบให้ปราบวิญญาณให้บ่อยๆ ค่ะ ไม่แน่ใจว่าม็อบรู้ตัวว่าโดนเอาเปรียบหรือไม่แต่อย่างน้อยเขาก็คุยกับไรเก็นรู้เรื่อง
จุดที่น่าสนใจคือ “คำอธิบายบุคลิกภาพของม็อบ” ค่ะ ทุกคนแม้แต่ผู้เขียนต่างหาคำอธิบายให้กับความคิดความอ่านทุกอย่างของม็อบโดยมีฐานความคิดจากสายตาคนทั่วไป ในการ์ตูนเป็นคำอธิบายที่ดูเหนือจินตนาการคือเนื้อในของม็อบเป็นคนใจดีแต่มีพลังบางอย่างที่ยิ่งใหญ่และพลังทำลายล้างสูงในตัวซึ่งต้องแลกกันกับทักษะทางกีฬาที่ไม่ดีนัก ต้องเก็บอารมณ์ไม่ให้พลังระเบิดออกมาและหนีหน้าจากสังคมจนไร้เพื่อน มีงานอดิเรกแบบเด็กแนวเท่ๆ คือดูมดเดิน ความพยายามอธิบายให้ดูธรรมดาสามัญที่สุดมีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ ข้อดีคือทำให้รู้สึกสบายใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของผู้มีพลังวิญญาณ (ในการ์ตูน) หรือเด็กแนวที่คิดอ่านไม่เหมือนใคร (ในชีวิตจริง) แต่ข้อเสียคือบางครั้งทำให้พลาดการมองปัญหาและลงไปแก้ไขให้ถูกจุด ที่เชื่อว่าคุณแม่และหนุ่มน้อยไม่ได้ปิดบังความจริงเพราะอาจจะพยายามหาคำอธิบายมาลบล้างความรู้สึกไม่สบายใจก็ได้เพราะทันทีที่พูดคำว่าออทิสติกออกมา ทั้งคุณแม่และหนุ่มน้อยก็มีปฏิกิริยารุนแรงไปคนละแบบ หนุ่มน้อยโกรธ ส่วนคุณแม่ร้องไห้
เราจะข้ามความรู้เรื่องออทิซึ่มซึ่งหาอ่านได้ทั่วไปตามเว็บไซต์และไปที่นวัตกรรมน่าสนใจของ รศ.ครินติน โซห์ล ผู้พัฒนาโปรแกรมดูแลผู้ป่วยออทิซึ่มจากมหาวิทยาลัยแห่งมิสซูรี โปรแกรมนี้ชื่อ Extension for Community Healthcare Outcomes (ECHO) Autism มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ (เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลหรืออำเภอ) สามารถให้การดูแลผู้ป่วยในกลุ่มออทิซึ่มได้อย่างเหมาะสมแทนที่จะพึ่งแพทย์เฉพาะทางที่มีจำนวนไม่มาก นอกจากนั้น ยังเพิ่มความมั่นใจให้บุคลากรเหล่านี้สามารถคัดกรองและดูแลเบื้องต้นก่อนพบแพทย์เฉพาะทางต่อไปซึ่งมักใช้เวลานานกว่าจะนัดได้ รศ.โซห์ลอธิบายว่า อาการออทิซึ่มเห็นได้ตั้งแต่อายุ 12 เดือน แต่พบว่าหลายรายไม่ได้รับการวินิจฉัยจนกระทั่งอายุ 5 ขวบ ทั้งที่หากวินิจฉัยและได้รับการฝึกกระตุ้นเร็วจะช่วยให้อาการดีกว่าการเริ่มฝึกเมื่ออายุมากแล้ว
แต่ชีวิตไม่มีเรื่องสายเกินแก้ค่ะ ทั้งม็อบและหนุ่มน้อยมีหมอผีเก๊และคุณแม่คอยช่วยอยู่ ม็อบเริ่มเข้าสังคมโดยอยู่กับไรเก็นและเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ส่วนคุณแม่ก็เริ่มถามวิธีช่วยลูกชายซึ่งปัญหาหนักที่สุดขณะนี้คือหนุ่มน้อยควบคุมอารมณ์หงุดหงิดได้ยากและหาคำพูดนุ่มนวลมาพูดกับเพื่อนไม่ค่อยได้
แม้คุณแม่จะเริ่มยอมรับเมื่ออธิบายลักษณะของออทิซึ่มให้ฟังแต่คำนี้ก็ทำให้ปวดใจจนร้องไห้ทุกครั้งที่ได้ยิน การพยายามเข้าใจอาจทำให้ทุกข์ในเวลานี้ แต่การพยายามไม่เข้าใจก็อาจจะทำให้ทุกข์ในอีกสิบกว่าปีต่อมาได้เหมือนกันค่ะ
จาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_222757
https://youtu.be/uP2hY4ouejE?si=t2L6m_kqFNb87aoU