9. อนุโลมตามหมู่สัตว์ 九者恒順眾生
ปณิธานข้อ 1-8 เป็นไปเพื่อปรารถนาพุทธภูมิ ข้อ 9-10 เพื่อประโยชน์ของหมู่สัตว์ พระพุทธเจ้าทั้งปวงทรงมีพระคุณธรรมเสมือนกัน แต่สรรพสัตว์มีทั้งดีและเลวต่างกัน เมื่อโปรดสัตว์จนสิ้นแล้วจึงจะได้พบพระตถาคต อ้างตามคำกล่าวของท่านเว่ยหล่างว่า “เมื่อรู้จักความเป็นสรรพสัตว์ จึงว่างจากสรรพสัตว์แล้วได้พบพระตถาคต เมื่อไม่รู้จักความเป็นสรรพสัตว์ ย่อมถูกความลุ่มหลงของความเป็นสรรพสัตว์ผูกมัด หมื่นกัลป์ก็ไม่เจอภาวะเดิมแท้” ดังนั้นเมื่อต้องการสำเร็จพุทธ จึงต้องรู้จักสรรพสัตว์เสียก่อน
วิมลเกียรตินิทเทศสูตร กล่าวว่า “วิมุตติของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ก็เนื่องด้วยความปรารถนาของสรรพสัตว์” ความหมายคือเมื่อโปรดสัตว์น้อยก็รู้แจ้งน้อย โปรดสัตว์ได้ครึ่งเดียวก็รู้แจ้งครึ่งเดียว เมื่อโปรดสัตว์จนหมดสิ้นจึงรู้แจ้งโดยสมบูรณ์ เพราะได้มีและเข้าใจความเป็นสรรพสัตว์ จึงรู้แจ้งธรรมที่ไม่เกิด เพราะมองไม่เห็นสมมุติบัญญัติว่าเป็นสรรพสัตว์ แล้วจึงได้ชื่อว่า พุทธะ เทียบได้กับการรู้จักทุกข์อย่างถ่องแท้จึงละทุกข์เป็นสมุทัย
พระโพธิสัตว์เพราะมีปัญญาเช่นนี้ จึงไม่ย่อท้อเบื่อหน่ายในการโปรดสัตว์และการเวียนว่ายในสังสารวัฏเพื่อบำเพ็ญบารมีและโปรดสัตว์ไม่ว่าจะนานเพียงใด เพราะแม้แต่กาลเวลาในโลกใบนี้ของเรา ในแต่ละทวีปก็ยังมีช่วงของเวลาไม่เท่ากัน ในโลกธาตุต่างๆก็มีห้วงเวลาไม่เท่ากัน 1 วันคืนของสุขาวตีโลกธาตุนั้นเท่ากับ 1 กัลป์ของโลกนี้ แต่ 1 กัลป์ของสุขาวตีเป็น 1 วันคืนของกษายเกตุโลกธาตุของพระวัชระพุทธเจ้า และใน 1 กัลป์ของกษายะเกตุก็เท่ากับ 1 วันคืนของอนิวรรตจักรโลกธาตุ
สมันตภัทรมหาปณิธานข้อที่ว่าด้วยการอนุโลมตามสรรพสัตว์นี้ คือการช่วยหมู่สัตว์ให้บรรลุเป็นพระพุทธะ คือการอนุโลมตามพุทธภาวะของสรรพสัตว์ คือพยายามทำให้หมู่สัตว์บรรลุพุทธภาวะ ซึ่งแต่ละจำพวกก็ต้องมีวิธีการหรืออุปายะที่ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่การอนุโลมตามนิสัยของสรรพสัตว์ เช่นไม่อนุโลมส่งเสริมการทำบาป โดยเมื่อทำให้เขาอิ่มใจพอใจเป็นสุขใจแล้ว ก็ปลูกฝังเหตุปัจจัยแห่งโพธิให้เจริญงอกงาม ด้วยการดูแลเอาใจใส่เหมือนทำกับพระพุทธเจ้า บิดามารดาซึ่งที่แท้แล้วสัตว์ทั้งหลายก็เคยเป็นพ่อแม่ของเรามาก่อนทั้งสิ้น เราจึงต้องช่วยให้พวกเขาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าให้ได้
เมื่ออาศัยกำลังปณิธานของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ทำให้สามารถทัศนาโลกธาตุต่างๆในธรรมธาตุทั่วทศทิศ มองเห็นสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีความแตกต่างกันนานัปการ ประดุจมหาสมุทรเดียวแต่มีเกลียวคลื่นนับหมื่นพัน ที่หากลมแห่งอวิชชาหยุดพัดพา มหาสมุทรย่อมสงบนิ่ง วิญญาณคือสิ่งที่ไปรับรู้อารมณ์ที่ส่งผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้ง 6 เสมือนมหาสมุทร คือมหาสมุทรแห่งสภาวะของการปรุงแต่ง
พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ล้วนมีอุปายะในการโปรดสัตว์ต่างๆมากมาย แต่อย่างไรก็คือการอนุโลมตามพุทธภาวะของสัตว์ทั้งสิ้น คือส่งเสริมให้ได้บรรลุพุทธผล เช่นพระกษิติครรภ์ช่วยสัตว์ในอบายภูมิ พระอวโลกิเตศวรโปรดสัตว์ด้วยความกรุณา พระมัญชุศรีเน้นด้านโลกุตระปัญญา พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าเน้นด้านโรคทางกายและทางใจ พระอักโษภยะพุทธเจ้าเน้นเรื่องความไม่โกรธ เป็นต้น หากสามารถอนุโลมตามสรรพสัตว์ได้ก็เพราะเรามองสรรพสัตว์ว่าประดุจพระพุทธะ เพราเห็นว่า สรรพสัตว์มีพุทธภาวะเหมือนเรา จะได้สำเร็จพุทธผลในอนาคตทั้งสิ้น ทวิบัญญัติ ทวิภาวะจึงหมดไปด้วยการมองแบบนี้ ได้อีกทางหนึ่ง
ดังนั้น เมื่ออาศัยกำลังแห่งสมันตภัทรปณิธาน เพื่อเข้าใจล่วงรู้จิตวิญญาณของหมู่สัตว์ก่อน จากนั้นจึงค่อยอนุโลมตามได้อย่างถูกต้อง เข้าใจว่าหมู่สัตว์นั้นมีเกิดโดยไข่ โดยครรภ์ โดยเถ้าไคล โดยผุดขึ้นเอง ซึ่งอาศัยดิน น้ำ ไฟ ลมในการก่อตั้งขึ้น บ้างก็อาศัยความว่างคืออากาศเกิดขึ้น เกิดตามขอนไม้คือเชื้อโรค เป็นสัตว์ที่อาศัยบนบก ในน้ำ ใต้ดิน บนอากาศ เป็นต้น
ศูรางคมสูตร(楞嚴經)กล่าวว่ามีถึง 12 จำพวก ซึ่งล้วนแต่มีรูปกายไม่เหมือนกัน มีลักษณะแข็งบ้าง นุ่มบ้าง น่ารักบ้าง น่าเกียจบ้าง อายุขัยก็มียาวนานและสั้น มีหลากหลายสีสัน และมีชื่อเรียกสายพันธุ์มากมายต่างกัน จิตภาวะก็มีความดีชั่ว กระด้างอ่อนโยน มีทั้งความเห็นชอบและเห็นผิด ชอบเคลื่อนไหว ชอบอยู่นิ่ง มีสัญชาตญาณดุร้ายหรือเป็นมิตร ล้วนแต่มีพฤติกรรมต่างกัน เป็นต้น บางประเภทก็มีอาภรณ์เป็นปีก ขน กระดอง เป็นต้น อาหารก็มีความต่างกัน แม้แต่มนุษย์เราเองก็ยังมีชาติกำเนิด ภูมิลำเนา วัฒนธรรมประเพณีต่างกัน สัตว์ทั้งหลายอันมี เทพ นาค อสูร คนธรรพ์ ครุฑ ก็ย่อมมีความต่างเช่นกัน บ้างก็มี 2 เท้า 4 เท้า หรือหลายเท้า
และยังแบ่งเป็นมีรูป ไร้รูป มีสัญญา ไร้สัญญา มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่เชิง แต่บรรดาสัตว์เหล่านี้ยังไม่อาจหลุดพ้นจากภูมิทั้ง 3 คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ซึ่งเราก็จะช่วยเหลือโดยการอนุโลมตามสัตว์จำพวกต่างๆเหล่านี้ จะนำอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคมาดูแล ประดุจการอุปัฏฐากดูแลบิดามารดาครูอาจารย์ ไม่กล้าดูแคลนสรรพสัตว์ เพราะว่าสรรพสัตว์ล้วนจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ปณิธานข้อนี้ดูเหมือนใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์มากที่สุด เพราะมนุษย์ทั้งหลายไม่อยากเป็นทุกข์ หากมองกลับกันสรรพสัตว์ทั้งหลายนอกจากมนุษย์ก็อยากเป็นสุขเช่นกัน
หากพบผู้ป่วยไข้ก็จะเป็นโอสถ หากพบคนหลงทางก็จะชี้หนทางที่ถูกต้อง หากเข้าไปในสังสารวัฏที่มืดมิด ก็จะเป็นแสงสว่างแห่งนิพพาน หากขาดแคลนทรัพย์และธรรมก็จะเป็นจินดามณี เพราะอาศัยปณิธานของพระสมันตภัทรที่ยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์ได้โดยเสมอภาคทำให้เข้าสู่ธรรมธาตุ และช่วยให้สามารถโปรดสรรพสัตว์จนหมดสิ้น
การอนุโลมตามสรรพสัตว์นี้ อุปมาน้ำที่อนุโลมตามภาชนะ ดั่งเงาที่อนุโลมตามวัตถุ ซึ่งการอนุโลมตามเพื่อช่วยให้หมู่สัตว์รู้แจ้งธรรมคือการสักการะพระพุทธเจ้าทั้งปวง การเคารพสรรพสัตว์ก็คือการเคารพพระพุทธเจ้าทั้งปวง ยิ่งสามารถทำให้สรรพสัตว์บำเพ็ญธรรมด้วยสภาวะเดิมแท้จนเกิดธรรมปีติ ก็คือการทำให้พระพุทธเจ้าทั้งปวงยินดี
นั่นเป็นเพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายปราศจากภาวะ หากพบว่ามีภาวะแห่งตนแล้ว ย่อมถือว่ามีการเข้าถึงและการไม่เข้าถึงเกิดขึ้น ความเห็นหรือทิฐิทั้งปวงย่อมเกิดตามขึ้น อัตตาและมานะก็จะยิ่งทวีขึ้นเช่นกัน ดังนั้นพระพุทธเจ้าทั้งปวงจึงปราศจากสังขารภาวะคือการปรุงแต่งทั้งปวง ได้แต่อาศัยมหากรุณาจิตเป็นสังขาร ตามที่สัทธรรมปุณฑริกสูตร ตอนอวโลกิเตศวรสมันตมุขปริวรรค ก็กล่าวว่า “พระอวโลกิเตศวรมีความกรุณาเป็นสังขาร มีศีลาจารวัตรดุจฟ้าร้อง มีจิตเมตตาดุจเมฆกลุ่มใหญ่ ที่เมื่อรวมกันแล้วเป็นฝนอมฤต ดับสิ้นเพลิงแห่งกิเลส” 悲體戒雷震,慈意妙大雲,澍甘露法雨,滅除煩惱焰。แสดงให้เห็นว่าทั้งความเมตตาและกรุณาของพระอวโลกิเตศวรผู้เป็นเลิศแห่งกรุณานี้ ก็ปราศจากสภาวะ เมื่อเมตตากรุณาและศีลาจารประกอบกันเป็นเมฆกลุ่มใหญ่ จึงกลั่นเป็นน้ำอมฤต ดับไฟกิเลสได้
ในข้อที่เป็นเมฆนี้ ก็ยังเป็นปริศนาธรรมที่ว่า ปกติเวลาฝนตกจากฟ้านั้นไม่ได้เลือกเลยว่าที่ใต้ฟ้าแห่งนั้นคือที่ใด ไม่เลือกชนชั้น บุคคลใดๆ เมื่อเหตุปัจจัยถึงพร้อมก็โปรยปรายฝนเท่าเทียมกัน เหมือนกับความเมตตากรุณาที่ไม่เลือกชนชั้นเช่นกัน เมื่อเราเมตตากรุณาใครโดยไม่แบ่งแยกว่าเขาเป็นญาติ เป็นมิตร หรือเป็นศัตรู เราและผู้นั้นย่อมจะมีใจอิ่มเอิบด้วยน้ำอมฤตนี้
เมื่อมหากรุณาจิตนั้นก็ปราศจากสังขาร เหตุเพราะสรรพสัตว์เป็นทุกข์จึงเกิดมหากรุณา มีกรุณายิ่งใหญ่จะปลดเปลื้องทุกข์ เมื่อไม่มีภาวะแห่งความรู้แจ้งหรือโพธิภาวะ ก็ย่อมไม่คิดจะเปลื้องทุกข์ให้หมู่สัตว์ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะการคิดจะเปลื้องทุกข์ให้สรรพสัตว์เป็นเหตุให้เกิดโพธิจิต เหตุเพราะเกิดโพธิจิตจึงประพฤติโพธิจริยาแล้วได้สำเร็จพุทธผลในที่สุด
อุปมาสังสารวัฏเป็นป่ารกชัฏ ท่ามกลางเศษกระเบื้องกรวดทรายคือกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ยังมีต้นโพธิ์เป็นราชาแห่งรุกขชาติ บรรดาสรรพสัตว์ล้วนสมบูรณ์ในพุทธภาวะอยู่แล้ว ก็คือเป็นส่วนรากของต้นโพธิ์ พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายล้วนบำเพ็ญจริยานับประมาณมิได้จึงบรรลุคุณธรรมนับประมาณมิได้ถือเป็นดอกผลของต้นโพธิ์ พระโพธิสัตว์ใช้น้ำแห่งมหากรุณาประพรมรากโพธิ์คือสรรพสัตว์ จึงทำให้ต้นโพธิ์เจริญงอกงามออกดอกผล คือสรรพสัตว์ได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าและโพธิสัตว์ทั้งปวง
เป็นเพราะพระโพธิสัตว์ทั้งหลายใช้น้ำแห่งมหากรุณาช่วยเหลือสรรพสัตว์ จึงทำให้เกิดโพธิจิต และจากโพธิจิตจึงก่อเกิดจริยาวัตรนานัปการอันเป็นไปเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ของสรรพสัตว์อื่นๆ เมื่อสมบูรณ์ในกุศลทั้งปวงแล้วจึงได้สำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ดั่งคำที่ว่า “หากปราศจากความลุ่มหลงของสรรพสัตว์แล้วไซร้ โพธิญาณจะมาแต่ที่ไหน?”
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีความเห็นว่า เพราะมีเธอจึงมีฉัน เมื่อเธอไม่มีฉันจึงไม่มี ซึ่งเป็นแนวคิดแบบหวนหลับสู่วัฏสงสารด้วยมหากรุณา แต่เมื่อพระโพธิสัตว์จะทำกิเลสนิพพานแล้วก็จะเห็นว่า เพราะมีฉันจึงมีเธอ เมื่อไม่มีฉันจึงไม่มีเธอ เป็นคุณลักษณะด้านมหาปัญญา ซึ่งในคัมภีร์อวตังสกสูตร()ก็กล่าวเช่นนี้ ในการคิดที่ทำให้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวไปในส่วนของโลกียะและโลกุตระได้โดยไม่ตกสู่สังสารวัฏและไม่ด่วนนิพพาน จึงเรียกว่า การนำมหาอุปายะ มาจัดแจงมหากรุณาและมหาปัญญาให้มีปริมาณที่เหมาะสม
อุบายในการประพฤติปณิธานข้อนี้คือ 1.กำหนดจิตว่า จิตเราไปอยู่ในจิตของสัตว์ทั้งปวง และ 2.สัตว์ทั้งปวงนั้นได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า จะช่วยให้เราลดความยึดมั่นในตนและทวิภาวะ เกิดความเสมอภาค มองสรรพสัตว์ทั้งหลายจากพุทธภาวะภายใน
ด้วยเหตุนี้ โพธิญาณและสรรพสัตว์จึงเกี่ยวเนื่องกัน หากปราศจากทุกข์ของสรรพสัตว์ บรรดาโพธิสัตว์ก็ปราศจากที่กำเนิดแห่งโพธิจิต สุดท้ายก็ไม่อาจสำเร็จพระอนุตรสัมโพธิ เหตุที่บำเพ็ญจริยาและปณิธานของพระสมันตภัทร จึงสามารถทำให้ดวงจิตเข้าสู่ธรรมธาตุ ล่วงรู้ว่าสรรพสัตว์ล้วนมีพุทธภาวะจึงช่วยเหลือด้วยความเสมอภาค ทั้งไม่แบ่งแยกว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นมิตรหรือศัตรู ไม่แบ่งแยกว่าเป็นเขาและเป็นเราจึงเรียกว่าสมบูรณ์พร้อมในมหากรุณา เมื่อใช้มหากรุณาจิตในการช่วยเหลือสัตว์โลกจึงสำเร็จคุณธรรมนานัปการ จึงถือเป็นการสักการะพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เพราะอากาศธาตุ สัตวธาตุ กรรมและกิเลสของสัตว์ไม่สิ้นสุด การอนุโลมตามสรรพสัตว์ของเราเฃ่นนี้ก็ไม่สิ้นสุด ซึ่งเราจะประพฤติตามจริยาวัตรข้อนี้ด้วยกาย วาจา ใจที่บริสุทธิ์ สืบเนื่องไปไม่หยุดพัก และไม่เบื่อหน่ายเลย