ในสมัยพุทธกาล มีศาสนาและลัทธิคำสอนที่ทำให้คนเห็นผิดในความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งพระพุทธองค์กล่าวว่า มีลัทธิเห็นผิดอยู่ ๓ ประการ ที่เชื่อว่าความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี หรือสภาวะที่ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี เป็นผลมาจาก
๑. พวกหนึ่งเชื่อว่า เกิดจากกรรมเก่าที่ได้ทำไว้ในอดีตชาติ ลัทธินี้เรียกว่า ปุพเพกตวาท
๒. พวกหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากเทพผู้เป็นใหญ่หรือพระเจ้าเป็นผู้บรรดาล ลัทธินี้เรียกว่า อิศวรนิรมิตวาท
๓. พวกหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากโชคชะตาบรรดาล หาใช่เกิดจากเหตุปัจจัยไม่ ลัทธินี้เรียกว่า อเหตุกวาท
ความเชื่อทั้ง ๓ ประการดังกล่าว แม้ในยุคปัจจุบันก็มีอยู่โดยทั่วไป ไม่เพียงแต่ผู้ที่มิได้นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น แม้ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักพุทธธรรมอย่างแท้จริง ก็มีความเชื่อเช่นนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดพิธีกรรมและวิถีชีวิตผิดไปจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
๑. พวกที่เชื่อว่าความสุข ความทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ในชีวิต เกิดจากกรรมเก่าที่ทำไว้ในชาติก่อน (ปุพเพกตวาท) พวกที่เชื่อเช่นนี้จะมีผลต่อความคิดจิตใจและการดำเนินชีวิตอยู่ ๒ ด้าน ด้านหนึ่งทำใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนได้เร็ว ทำให้ใจไม่ทุกข์ร้อนมาก และยอมรับเหตุผลของกรรมที่ทำไว้แต่ชาติก่อน อีกด้านหนึ่งหากเชื่อเรื่องนี้อย่างฝังใจ จะเป็นผู้ยอมจำนนต่อชีวิต ยอมจำนนต่อสภาวะทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่คิดจะดิ้นรน ขวนขวาย ต่อสู้ แก้ไข ขาดแรงบันดาลใจให้กล้าหาญ เข้มแข็ง ที่จะต่อสู้ แก้ไข เอาชนะต่อปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่ หรือจะมีมาในชีวิต แท้จริงแล้วกรรมที่เราทำไว้ทุกอย่าง เมื่อทำไปแล้วย่อมเป็นกรรมเก่าที่มีกระทบผลต่อชีวิตเรา แต่กรรมเก่าของทุกคนหาได้มีเพียงแต่อดีตชาติเท่านั้น กรรมที่ทำไว้ในชาตินี้มีมากมาย ล้วนส่งผลทั้งที่สนับสนุนและเป็นปฏิปักษ์ขัดขวางต่อกรรมในอดีตชาติ เราไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงการกระทำที่ผ่านไปแล้วทั้งปัจจุบันชาติและอดีตชาติได้ แต่เราเลือกที่จะสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับชีวิตในวันนี้และในวันหน้า เพื่อวิถีชีวิตที่ดีของเราได้.........พระพุทธศาสนาสอนให้เรายอมรับตามความเป็นจริงในผลของกรรม ขณะเดียวกันก็สอนให้มีสติปัญญา ที่จะไม่กระทำกรรมชั่ว ให้ทำแต่กรรมดี เพื่อจะได้รับผลดีตอบสนอง
๒. พวกที่เชื่อว่า ความสุข ความทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นผลมาจากเทพผู้เป็นใหญ่หรือพระเจ้าเป็นผู้บันดาล (อิศวรนิรมิตวาท) ผู้ที่มีความเชื่อเช่นนี้จะหวังพึ่งเทพเจ้า ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยการบนบานศาลกล่าว อ้อนวอน ร้องขอต่อสิ่งต่าง ๆ ยึดเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่ง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ดูหมิ่นดูแคลนในศักยภาพและความเป็นมนุษย์ของตน ความเชื่อดังกล่าวมีให้เห็นมากมายในวิถีชีวิตของคนไทย พุทธศาสนาสอนให้เอาตัวเองเป็นที่พึ่ง ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน...อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ผู้ที่หวังพึ่งคนอื่นคือผู้ที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอ่อนแอทางด้านจิตใจ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง พระพุทธองค์ให้เราพึ่งตนเอง ให้เห็นคุณค่าของตนเอง รู้จักฝึกฝนพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี มีศีลธรรม มีคุณธรรม มีความสามารถ มีสติปัญญาที่จะเรียนรู้และเข้าใจสิ่งทั้งหลายที่เราสัมผัสสัมพันธ์อยู่ในวิถีชีวิต ทั้งที่เป็นบุคคล สรรพชีวิตทั้งหลาย ตลอดจนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ ให้เข้าใจสภาพของปัญหา เหตุที่ทำให้เกิดปัญหา วิธีที่จะแก้ไขปัญหา และดำเนินการแก้ไขจนปัญหานั้นหมดไป นี่คือวิถีทางของชาวพุทธ
๓. พวกที่เชื่อว่าความสุข ความทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดจากโชคชะตาบันดาล มิใช่เกิดจากเหตุปัจจัย (อเหตุกวาท) มีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าชีวิตของตนขึ้นอยู่กับโชคชะตาราศี หากโชคดีหรือโชคช่วยอาจจะดลบันดาลให้ได้รับสิ่งดี หากโชคร้ายอาจจะประสบสิ่งที่ไม่ดี ผู้ที่เชื่อเช่นนี้จะเป็นคนชอบเสี่ยงโชค รอให้โชคชะตาช่วย หวังพึ่งโชคชะตา แท้จริงแล้วเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ได้มาจากการสร้างคุณงามความดี เป็นคุณค่าที่เป็นที่ชื่นชมของคนในสังคมอย่างแท้จริง ส่วนความสุขจะเกิดขึ้นก็โดยการมีปัญญา รู้จักวางใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบในชีวิตไม่ให้เป็นทุกข์ พุทธศาสนาสอนให้คนมีปัญญารู้จักคิด พิจารณาถึงเหตุ ผล สิ่งใดมีสาระ สิ่งใดไม่มีสาระ ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ หรือเกิดขึ้นเพราะโชคช่วย พระพุทธองค์ทรงสอนให้เห็นความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งเกิดจากเหตุปัจจัย... เหตุ – ก็คือต้นเรื่องหรือสิ่งที่จะทำให้เกิดผล ปัจจัย – คือองค์ประกอบหรือสิ่งที่เกื้อหนุน ช่วยเสริม มีส่วนร่วม หรือเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น เจริญขึ้น หรือดำเนินต่อไป คำว่าเหตุปัจจัยมักจะใช้ได้ร่วมกัน
(เรียบเรียง คัดย่อ จากหนังสือกรรมใดใครก่อ ...พระชาญชัย อธิปญฺโญ)