วิเคราะห์คำว่า เกิด-ดับ หรือ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราย่อมเห็นได้ว่า
สิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปจากผิวน้ำนั้น ก็คือ ลูกคลื่น
และ สิ่งที่วุ่นวายกระสับกระส่าย เพราะมีอารมณ์มากระทบนั้น คือ อาการของจิต
แต่ น้ำ และ จิต ซึ่งเป็นของเดิมนั้น
ยังคงยืนตัวรองรับความเป็นไปของอาการเคลื่อนไหวทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม ไม่เคยดับตายสูญหายไปไหน
ดังนั้นคำว่า เกิด-ดับ หรือ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป
จึงไม่สามารถใช้ควบคู่กับน้ำในมหาสมุทร หรือ จิตซึ่งมีอยู่เดิมได้เลย
แต่สามารถใช้กับลูกคลื่น
และความวุ่นวายกระสับกระส่ายของจิตได้โดยเฉพาะเท่านั้น.
กล่าวให้ชัดก็คือ
อาการของจิต(ซึ่งเป็นนามขันธ์)เกิดขึ้นที่จิต แล้วก็ดับไปจากจิตตามลำดับ
แต่จิตยังคงยืนตัวรู้อยู่ตลอดทุกกาลสมัย
ไม่ได้พลอยเกิดดับตามอารมณ์ทั้งหลายไปด้วย.
หมายความว่า
อารมณ์อันใดเกิดขึ้นก็รู้ อารมณ์อันใดตั้งอยู่ก็รู้ อารมณ์อันใดดับไปก็รู้
เพราะผู้ปฏิบัติได้นำความรู้ไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างมั่นคง วางเฉย
ไม่ยินดียินร้ายกับอารมณ์ทั้งหลายเสียอย่างสิ้นเชิงแล้ว.
เพราะฉะนั้น การเกิด-ดับ จึงเป็น อาการของจิต ที่เข้ามาปรุงแต่งจิต แล้วก็ดับไป
ซึ่งท่านเรียกว่า พระไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
ถ้าจิตรู้เท่าทันอาการของจิตที่เกิดขึ้น โดยการปล่อยวางเสีย
อำนาจพระไตรลักษณ์ย่อมเข้าครอบงำจิตไม่ได้ จึงไม่เป็นทุกข์.
แต่ถ้าจิตไม่รู้เท่าทันอาการของจิต คือพลอยหวั่นไหวยินดี-ยินร้ายตามไปด้วย
ก็ย่อมถูกอำนาจพระไตรลักษณ์ครอบงำเป็นธรรมดา จึงต้องเป็นทุกข์.
และจิตชนิดหลังนี้ ก็จัดเป็นโลกียจิต หรือยังเป็น วิญญาณขันธ์
ซึ่งเป็น จิตของปุถุชน ( ผู้หนาไปด้วยกิเลส ) อยู่นั่นเอง.