สติ เหนือกรรม (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)
ทุก คนชอบบุญ ทุกคนไม่ชอบบาป แต่ปัจจุบันก็น้อยคนนักที่ปฏิเสธคำยั่วยุต่างๆ นานาของบาป หรือของกรรมนั่นเอง มีน้อยคนนักที่เข้มแข็งปฏิเสธคำยั่วยุของบาปกรรมได้สำเร็จ การทำบาปทำไม่ดีจึงไม่เบาบางจากโลก ทั้งยิ่งวันก็ยิ่งมากขึ้นทุกที
ที่รู้ได้ดังนี้ก็ด้วยเราพากันสารภาพเอง บอกเองว่า โลกทุกวันนี้มืดแล้ว ไม่มีแสงแห่งความดีงามเพียงพอจะสู่กับอำนาจเลวร้ายของกรรม
ที่จริงเราพากันแพ้กรรม ยอมตกอยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของกรรม ยอมคิดร้าย พูดร้าย ทำร้าย ได้ต่างๆ นานาไม่ ใช่เพราะเราอยากทำเช่นนั้น ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี ไม่มีใครอยากเป็นคนชั่ว แต่ที่พากันเป็นคนชั่วคนไม่ดีก็เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของกรรม โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกกรรมบัญชา ถูกกรรมสั่งให้ยอมเป็นคนไม่ดี
ความยินยอมพร้อมใจไปกับกรรมก็เพราะขาดสติอย่างสิ้นเชิง จนไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่ว ไม่รู้ความควร ไม่รู้ความไม่ควร
สติจึงสำคัญนัก สำคัญที่สุด สติ จะ ทำให้ผู้มีสติรู้ผิดรู้ชอบดังกล่าวแล้วไม่มีใครอยากทำผิด ถ้ามีสติรู้ตัวรู้ผิดชอบ จะรู้เมื่อกรรมเข้ามาบัญชา จะไม่ยอมแพ้กรรม นั่นก็คือจะสามารถรักษาตัวให้พ้นจากการเป็นคนคิดชั่ว คนพูดชั่ว คนทำชั่วได้
จงเห็นความสำคัญที่สุดของสติ พยายามมีสติไว้ให้เสมอ คือพยายามอย่าให้ขาดสติ อะไร เกิดขึ้นได้จะได้ไม่ยอมเป็นผู้แพ้กรรม จะรู้ถูกรู้ผิด รู้ดีรู้ชั่ว รู้ผิดรู้ชอบ อะไรจะพาไปถูกก็รู้ อะไรจะพาไปผิดก็รู้ อะไรจะพาไปดีก็รู้ อะไรจะพาไปชั่วก็รู้
ความมีสติรู้เช่นนี้สำคัญนัก ให้มีสติจริง ให้รู้จริง จะไม่ตกอยู่ใต้บังคับบัญชาที่เลวร้ายรุนแรงของกรรม กรรมที่ทุกคนได้ทำไว้มากมายด้วยกันทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน
อกุศลกรรมคือกรรมไม่ ดี ตามทันเมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละที่จะบังคับบัญชาผู้ที่ได้ทำกรรมไม่ดีไว้ ให้ทำบาปทำชั่วต่างๆ นานา อันจะฉุดกระชากลากถูไปสู่ห้วงเหวแห่งความชั่วร้าย ที่จะให้โทษทุกข์รุนแรงทั้งสิ้น
: แสงส่องใจ ๑ มกราคม ๒๕๔๙
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกขอบคุณบทความจาก
ธรรมจักร