เคยมีอาจารย์องค์หนึ่ง มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ วันหนึ่งตอนเทศน์อบรมศิษย์ ท่านสอนว่า การปฏิบัติเหมือนเทน้ำใส่กระชอนให้เต็ม ท่านพูดแค่นั้นแล้วจบการแสดงธรรม โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ เลย ผู้ฟังก็งงทั้งนั้น ว่าจะเทน้ำใส่กระชอนให้มันเต็มอย่างไร น้ำที่เทเข้าไปต้องรั่วไหลออกมาตามรู คฤหัสถ์บางคนคิดว่าอาจารย์คงล้อเล่นโยมกระมัง หาว่าฆราวาสเราปฏิบัติอย่างไม่ค่อยได้ผล พอเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมานิดหน่อย ก็ปล่อยให้มันไหลออกไปด้วยความประมาท บรรลุธรรมชั้นสูงไม่ได้ บางคนก็ท้อใจ
แต่คนหนึ่งเขาคิดว่า พระพุทธองค์ เคยตรัสสอนว่า ถ้าเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น เราต้องปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คำพูดของอาจารย์คงไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรอก เพียงแต่ว่าเรายังไม่เข้าใจความหมายของท่านต่างหาก เดี๋ยวนี้เราไม่มีเวลาที่จะไปปฏิบัติธรรม ไม่มีเวลาที่จะพักผ่อน ไม่มีเวลาที่จะขี้เกียจ เราทำไปเรื่อยๆ ถือเป็นหน้าที่ของเรา เราจะได้ผลน้อย ได้ผลมากก็ไม่เป็นไร เราจะไม่คาดหวังอะไร เราจะทำไป จากนั้น เขาเลยลงมือปฏิบัติ อาจารย์เห็นแล้วชมเชย พาไปชายทะเลอธิบายความหมายของคำสอนของท่าน
ท่านไปยืนอยู่บนหินก้อนใหญ่ที่ยื่นออกไปในน้ำ แล้วเอากระชอนนั้นลงไปในทะเล ยกขึ้นมา น้ำก็ไหลออก ทำสองสามครั้งให้เห็นว่าทุกครั้งที่ยกกระชอนขึ้นมา น้ำไหลออกไป มันไม่อยู่ ท่านบอกว่า การปฏิบัติของปุถุชนมักจะเป็นอย่างนี้ เอาธรรมะน้อมมาใส่ใจของตน แล้วมันก็อยู่ไม่นาน มันไหลออกไป แต่ว่าอันนี้ก็เพราะปุถุชนยืนอยู่บนก้อนหินแข็ง คือ อัตตา การปฏิบัติยึดอัตตาเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติของฉัน ความก้าวหน้าของฉัน ความสุขของฉัน ความทุกข์ของฉัน การปฏิบัติที่ยืนบนอัตตาเป็นหลักตายตัวแล้ว ไม่สามารถที่จะเข้าถึงความลึกซึ้งของพระพุทธธรรมได้
อธิบายจบแล้วท่านโยนกระชอนทิ้งไว้ในทะเล กระชอนนั้นเต็มไปด้วยน้ำ แล้วก็จมไปในน้ำ
“เห็นไหมล่ะ?” อาจารย์ถาม “กระชอนมันเต็มไปด้วยน้ำแล้ว”
คือ แทนที่จะเอาธรรมะน้อมเข้าสู่ใจของเรา เราต้องเอาใจของเราน้อมไปหาธรรมะ เหมือนกับว่าเราเอาความยึดมั่นถือมั่นของเราไปทิ้งในทะเล คือ ความจริงหรือสัจธรรม ทิ้งความหวงแหนทั้งหลายเอาไว้ในความจริง ยอมรับความจริง จงปล่อยวางความคิดแล้วจิตใจของเรามันก็จะค่อยเต็มไปด้วยธรรมะ จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมะ แล้วเราก็เป็นธรรมะ เมื่อเรามีสัมมาทิฐิอย่างเต็มที่แล้ว เราจะทำอะไรจะพูดอะไร จะคิดอะไร มันก็จะเป็นธรรมะหมด ชีวิตของเรากับธรรมะจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกับกระชอนที่เต็มไปด้วยน้ำ แล้วค่อยจมลงในน้ำ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทะเล
ที่มาสาระจากเรือนธรรม