คัมภีร์กาลจักรยังบอกต่อไปด้วยว่าแม้ว่าจักรวาลนี้เองก็มีความกว้างใหญ่ไพศาลอย่างยิ่งโดยใช้คำว่าพันล้านเท่าของจำนวนโลก หรือจำนวนของโลกที่คาดคิดไม่ได้ยกกำลังสอง (square untold) ในมัชฌิมจักรวาล (กาแล็กซี)ของเราเองก็มีระบบดาวที่เกิดใหม่และระบบดาวที่ตายไปตลอดเวลาและระบบสุริยะของเราก็เกิดมาด้วยกระบวนการนั้นดาวทั้งหมดรวมทั้งดาวเคราะห์หรือโลกล้วนมีลักษณะทรงกลมแขวนโคจรอยู่ในที่ว่างของอวกาศ (empty space) ฉะนั้น จากคัมภีร์ที่มีในช่วงแรกๆของพุทธศาสนาจึงไม่เพียงแต่กล่าวถึงระบบโลกที่มีมากมาย (multiple world systems) หรือมีมากยิ่งกว่าเม็ดทรายที่เรียงรายอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเท่านั้นหากยังระบุว่าระบบดาวแต่ละระบบมีการเกิดใหม่และมีการดับสลายตลอดเวลา โดยผ่านวัฏจักร (a cycle of an aeon) สี่ช่วงระยะ หรือสี่ยุค (era)
ว่าไปแล้วโดยหลักการรวมทั้งบางครั้งแม้ในรายละเอียดจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาโดยเฉพาะที่บันทึกไว้ในกาลจักราตันตระนั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากจักรวาลวิทยาที่ตั้งบนฟิสิกส์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์ใหม่ในปัจจุบันเลยก็ว่าได้นั่นคือจักรวาลทั้งหลายทั้งปวงนั้น ไม่มีการเกิดและการดับอย่างสิ้นสูญไปจริงมีแต่การไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ นักฟิสิกส์ยุคใหม่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มักเชื่อในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างที่มิชิโอะ กากุที่อ้างอิงถึงข้างท้ายของบทความนี้ว่า จักรวาลมีความเป็นอนันต์ (multiverses) - เกิดใหม่และดับสลายไป - แบบไม่มีความจบสิ้นโดยมีจักรวาลของเราเฉพาะจักรวาลที่มนุษย์เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้เป็นหนึ่งในนั้นยิ่งไปกว่านั้น มิชิโอะ กากุยังกล่าวต่อไปว่าพุทธศาสนาบอกว่าจักรวาลไม่มีเกิดไม่มีดับเป็นวัฏจักรของวิวัตตาและสังวิวัตตา - มีบิ๊กแบงที่ไม่มีการจบสิ้น - นั้น ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะพุทธศาสนาหมายถึงจักรวาลที่เป็นทั้งหมด (multiverses) จึงไม่มีความจบสิ้นส่วนศาสนาอื่น เช่น คริสต์ศาสนาที่บอกว่ามีการสร้างจักรวาลนั้นก็เป็นเรื่องถูกต้องอีกเหมือนกัน เพราะเป็นการกล่าวถึงเฉพาะจักรวาลนี้หรือจักรวาลของมนุษย์ที่มีการสร้างขึ้นหลังจากที่มีการระเบิดบิ๊กแบงเพียงครั้งเดียว
อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากจักรวาลแห่งรูปกายและปรากฏการณ์ที่ดูจะตรงกันระหว่างข้อมูลของกาลจักราตันตระกับข้อมูลจักรวาลวิทยาใหม่ในทางวิทยาศาสตร์แต่เนื่องจากหลักการและวิธีการของวิทยาศาสตร์ต้องจำกัดตัวเองโดยการพิสูจน์ในห้องทดลองและ/หรือสนับสนุนด้วยสูตรและสมการทางคณิตศาสตร์ผ่านประสาทสัมผัสภายนอกที่รับรู้ด้วยจิตรู้อีกทีดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงต้องทิ้งเรื่องของจิต (consciousness) หรืออย่างดีสามารถแตะได้เพียงบางส่วนบางตอน (ของ mental pathway) ที่เล็กน้อยเท่านั้นทำให้เรื่องของจิตส่วนใหญ่โดยเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณจะดำรงอยู่นอกวิทยาศาสตร์ในขณะที่ศาสนารวมทั้งระบบกาลจักรอธิบายเรื่องของจิตจากประสบการณ์ภายในของผู้ปฏิบัติศาสนาถึงระดับวิมุตติประสบการณ์ที่สาธารณชนคนทั่วไปจะต้องเลือกว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อฉะนั้นเองเรื่องของจิตทั้งกระบิ สติ เวทนา สัญญา - รวมทั้งจิตรู้ ที่ประกอบเป็นความคิดมโนทัศน์ทั้งหลายทั้งปวงที่ส่วนหนึ่งวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาหรืออธิบายดังที่กล่าวมาข้างบน - และเรื่องของจิตไร้สำนึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกหรือเป็นเรื่องจิตเหนือสำนึกที่เป็นธรรมจิต จึงเป็นประสบการณ์ที่ได้จากเส้นทางภายในหรือศาสนา