ตอบ

Warning: this topic has not been posted in for at least 500 days.
Unless you're sure you want to reply, please consider starting a new topic.
ชื่อ:
อีเมล์:
หัวข้อ:
ไอค่อนข้อความ:

Verification:
กัน-ละ-ยา-นะ-มิด เขียนเป็นภาษาไทยที่ถูกต้องว่าอย่างไรครับ:
คิดว่าความดีทำยากไหม( เลือกตอบแค่ ยาก กับ ไม่ยาก ครับผม):
ถ้าเราโกรธใคร ธรรมะจะเป็นหนทางผ่อนคลายความโกรธนั้นลงได้ใช่ไหม ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม ):
ชีวิตบางครั้งก็เหมือนเหรียญสองด้านใช่หรือไม่ครับบางครั้งก็หัวบางครั้งก็ก้อย( เลือกตอบแค่ ใช่ กับไม่ใช่ครับผม):
ท่านจะปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อตกลงของเว็บใต้ร่มธรรมทุกประการหรือไม่ ( เลือกตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ ครับผม):
โดยปกติชน นิ้วมือของคนเรา มีกี่นิ้ว (ตอบเป็นภาษาไทยครับ):
วัฒนธรรมไทยเมื่อเห็นผู้ใหญ่ท่านจะทำความเคารพ ด้วยการไหว้ท่านก่อนเสมอใช่หรือไม่:
ใต้ร่มธรรม เป็น แค่เว็บไซต์และจินตนาการทางจิต การทำดี สำคัญที่ใจเรา เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ พิมพ์คำว่า "เริ่มความดีที่ใจเราก่อนเสมอ":
เมื่อให้ท่านเลือก ระหว่าง (หนังสือเก่าๆเล่มหนึ่งที่เรารัก) กับ (มิตรแท้ที่รักเรา) คุณจะะเลือก:
บุคคลที่ไปหลายๆเว็บไซต์ โดยที่สวมบทบาทเป็นหลายๆคน โดยที่ไม่รู้ว่า แท้จริงใจเราต้องการอะไร เพื่อน หรือ ชัยชนะ:
กล่าวคำดังนี้  "ให้อภัยนะ":
กล่าวคำดังนี้  "ขออโหสิกรรม":
หากมีคน บอกว่า เราไม่ดีเราเลว แต่ใจเรารู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เราจะใช้วิธีใดจัดการกับเรื่องนี้  (โต้เถียงให้แรงกว่าที่เค้าว่ามา) หรือ (เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความดีของเราเองไม่ต้องทำอะไร):
ธรรมะคือ ธรรมชาติ พิมพ์คำว่า (ธรรมะชาติ) ครับ:
พิมพ์คำว่า (แสงธรรมนำทางธรรมะนำใจ) ครับ:
รู้สึกระอายใจไหมที่เราทำร้ายคนอื่นด้วยวาจาหรือสำนวนที่ไม่สุภาพ โดยที่คนคนนั้นเค้าเคยเป็นผู้มีพระคุณต่อเรามา (ไม่ละอายใจ)หรือ(ละอายใจ):
สำนวนไทยที่ว่า แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน  พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ลางเนื้อชอบลางยา):
ขนทรายเข้าวัดคือ พิมพ์สำนวนต่อไปนี้ครับ (ทำบุญทำกุศลโดยวิธีนำหรือหาประโยชน์เพื่อส่วนรวมมิได้ทำเพื่อตนเอง):
ไม่มีอะไรสายสำหรับการเริ่มต้น พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (It is never too late to mend):
ผู้ที่ไม่เคยรับรู้รสของความขมขื่น จะไม่รู้ว่าความหวานชื่นคืออะไร พิมพ์เป็นประโยคภาษาอังกฤษครับ เป็นตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดนะครับ เว้นวรรคคำด้วยครับ (He who has never tasted bitterness does not know what is sweet):

shortcuts: กด alt+s เพื่อตั้งกระทู้ หรือ alt+p แสดงตัวอย่าง


สรุปหัวข้อ

ข้อความโดย: เลดี้เบื๊อก
« เมื่อ: กันยายน 10, 2011, 02:26:36 pm »

      วจีวิจยะ การเลือกเฟ้นในคำพูด ว่าจะพูดอย่างไรที่จะทำให้เกิดประโยชน์ตนและประโยชน์แก่คนอื่น จะพูดอย่างไรที่จะทำให้เกิดความรักต่อกัน และให้เกิดความสามัคคีต่อกัน ต้องเลือกคัดจัดสรรหาคำพูดให้แก่ตัวเองให้เป็น การพูดเท็จพูดส่อเสียดยุยงให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิด จะเป็นคำพูดที่เสียดแทงหัวใจกัน ถ้าคนอื่นพูดให้เราอย่างนี้ เรามีความพอใจในคำพูดนี้หรือไม่ ถ้าเราไม่ชอบใจในคำพูดอย่างนี้ เราก็อย่าใช้คำพูดอย่างนี้ไปพูดกับคนอื่นเขา วิจยะวาจาเป็นวาจาที่เลือกแล้วจึงพูดออกไป มิใช่ว่าจะพูดตามใจอยากจะพูด ประโยคข้อความในการพูดนั้นต้องให้ชัดเจน ผู้ฟังจะเกิดความสบายใจ อย่าพูดให้คนอื่นไปตีความหมาย ถ้าตีความหมายในคำพูดผิดไป จะทำให้เกิดปัญหา ในสังคมมนุษย์นี้ จะใช้คำพูดเป็นสื่อต่อกันมากมาย  คนจะเกิดความรักกันชอบพอกันก็เพราะคำพูด  คนจะเกลียดชังกันไม่ไว้ใจกันก็เพราะคำพูด
   
   คำพูดนี้เป็นใบเบิกทาง คำพูดเป็นหน้าต่างของสังคม คำพูดเป็นตัวแทนให้แก่ใจ คำพูดเป็นตัววัดของคนดีและคนไม่ดี คำพูดเป็นตัววัดใจของคนมีธรรมหรือไม่มีธรรม ดังคำว่า ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี วิชาปัญญาเป็นเลิศ ให้เอาวิชาปัญญาเลิศ มาร่วมงานกันกับปากเป็นเอกดูบ้าง เสียงที่ออกมาจากปากของคนผู้ที่มีความรู้ดี มีความฉลาดรอบรู้ในหลักการที่พูดดีย่อมเป็นเสน่ห์กับสังคม ไปที่ไหนมีแต่สังคมยอมรับให้ความเชื่อถืออย่างสนิทใจทีเดียว ฉะนั้นเราต้องเลือกเฟ้นคำพูดตัวเองเสียแต่บัดนี้ ถึงจะไม่ดีเลิศให้พอใช้ได้ก็ยังดี เมื่อใช้คำพูดที่เป็นธรรมย่อมนำตัวเองไปสู่ความเจริญ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การพูดดีจะมีกระแสธรรมฟุ้งขจรไป จะเป็นที่เคารพแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
   
   กัมมันตวิจยะ เลือกเฟ้นการทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่มีโทษแก่ตัวเองและคนอื่น ไม่ทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมที่นักปราชญ์เจ้าไม่สรรเสริญ เช่น ไปฆ่าสัตว์ ไปลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม และกินเหล้าเมายา หรือการกระทำในสิ่งใดที่จะให้ตนและคนอื่นมีความเดือดร้อนไม่สบายใจ การทำอย่างนั้นให้เลิกละไปเสีย เมื่อเราไม่ชอบ คนอื่นเขาก็ไม่ชอบเหมือนกันกับเรา ต้องเลือกทำในสิ่งที่นักปราชญ์เจ้าชมเชย อย่าทำในสิ่งใดเพื่อการได้เปรียบคนอื่น อย่าทำในทางอคติให้คนอื่นได้รับความทุกข์เดือดร้อน การได้ความสุขบนพื้นฐานแห่งความทุกข์ของคนอื่น ผู้มีคุณธรรมประจำใจจะไม่ทำในลักษณะนี้ ผู้มีสติปัญญาที่ดีจะต้องเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน มีความละอายในการทำชั่วทั้งปวง จะเลือกเฟ้นทำในงานที่ไม่เป็นโทษ เพราะผู้มีธรรมประจำใจจะเชื่อกรรมเป็นหลักใหญ่ ว่าสัตว์โลกจะได้รับผลดีและผลชั่วนั้นจะเกิดขึ้นจากเหตุคือ การกระทำของตัวเอง และเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า สิ่งใดที่กระทำลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะไม่เป็นกรรมไม่มีในโลก นั้นหมายถึงกรรมดีและกรรมไม่ดี ทำกรรมดี ก็เป็นเหตุที่จะให้ได้รับผลดีคือบุญกุศล ทำกรรมชั่วก็จะเป็นเหตุให้ได้รับผลชั่วคือ บาปอกุศล คนผู้มีความหวังดีแก่ตัวเองจะต้องเลือกเฟ้นทำแต่กรรมดี มีเมตตาธรรม ใจมีความรักในคนอื่นสัตว์อื่นเป็นนิสัย กรุณาธรรม ใจมีความสงสารแก่คนอื่นสัตว์อื่นอยู่เป็นนิจ หิริธรรม ใจมีความละอายในการทำชั่วโดยประการทั้งปวง ธรรมสามหมวดนี้ถ้านำมาปฏิบัติได้ ผู้นั้นจะมีความเจริญ ไม่มีเวรมีภัยใดๆ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าตลอดไปชั่วกาลนาน
   
   อาชีววิจยะ การเลือกเฟ้นในการเลี้ยงชีพ เช่น ในเรื่องอาหาร เพราะธาตุขันธ์ของคนมีโรคต่างกัน ถ้าอาหารใดแสลงกับโรคตัวเอง ก็อย่ารับประทานอาหารประเภทนั้น เพราะอาหารนั้นไม่เป็นสัปปายะแก่ธาตุขันธ์ของตนเอง รับประทานแล้วจะก่อให้เกิดทุกข์ จึงหลีกเลี่ยงในอาหารนั้นเสีย ตลอดเครื่องดื่มต่างๆ ก็เช่นกัน เห็นญาติโยมนำมาถวายก็ฉันเอาๆ ไม่เข้าใจไม่สนใจว่าสิ่งนั้นควรฉัน หรือไม่ควรฉัน จะผิดศีล ผิดธรรมอะไรไม่สนใจ ขอให้ข้าพเจ้าได้อิ่มท้องก็เป็นพอ ในกาลิก ๔ เช่น ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก ยาวชีวิก กาลิกสี่นี้สำหรับพระเณร จะเป็นผู้ปฏิบัติตาม เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อให้พระเณรได้เลือกเฟ้นฉันให้ถูกกับพระธรรมวินัย ไม่ให้ฉันตามความอยากของตัวเอง
   
   เมื่อมีญาติโยมนำสิ่งของมาถวาย ก็ให้พิจารณาก่อนว่า ของนี้ควรรับได้ หรือรับไม่ได้ เมื่อรับแล้วก็ต้องรู้จักว่าอะไรควรฉันในกาลไหนอย่างไร ต้องเลือกเฟ้นให้เป็น ต้องศึกษาธรรมวินัยให้เข้าใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ญาติโยมผู้นำปัจจัยสี่มาถวายพระก็ควรจะรู้เอาไว้ว่าสิ่งใดควรถวายในเวลาไหน อย่าเอาความมักง่ายเข้าว่า จึงทำให้พระผิดศีลผิดธรรมไป พระก็มีความด่างพร้อยในศีลในธรรม ไม่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องตามที่เราต้องการ นี้ก็เพราะญาติโยมทำให้พระผิดศีลผิดธรรม มีความเศร้าหมองเองมิใช่หรือ ฆราวาสก็หาเลี้ยงชีวิตในความบริสุทธิ์ ให้ได้มาโดยความชอบธรรม ไม่ไปบังคับขู่เข็ญแย่งชิงฆ่าตีเอาเนื้อเขามาเลี้ยงชีวิตของตัวเอง ไม่ขโมยลักสิ่งของของคนอื่นมาเลี้ยงชีวิตของตัวเอง ผู้มีปัญญาผู้มีหิริธรรมย่อมเลือกเฟ้นทำในสิ่งที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงในสิ่งที่เป็นโทษผิดศีลผิดธรรมเสีย
   
   วายามวิจยะ การเลือกเฟ้นในความเพียรพยายาม ความเพียรนั้นเป็นได้ทั้งดีและไม่ดี เป็นได้ทั้งถูกและผิด ถ้าเป็นความเพียรของคนพาลก็จะเพียรทำในสิ่งที่ชั่วอยู่เรื่อยไป ถ้าความเพียรของหมู่ดาบสฤๅษีชีไพร ก็จะเพียรทำในทางสมาธิ จะให้จิตมีความสงบเยือกเย็น ให้จิตมีความสุขความสบาย ความเพียรแบบฤๅษีนี้ ชาวพุทธก็เลียนแบบวิธีทำความเพียรของพวกดาบสฤๅษีเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและได้รับผลเกิดขึ้นได้ทันอกทันใจ ทำให้เกิดความตื่นเต้นในอาการของจิตที่เกิดขึ้น เห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้ คนที่ไม่เห็นก็อยากจะเห็น วิธีทำความเพียรอย่างนี้กำลังจะกลบกลืนในวิธีความเพียรของพระพุทธเจ้าให้หมดไป จะไม่มีใครเข้าใจในหลักความเพียรเดิมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ คิดว่าคงไม่นานนัก หลักความเพียรเดิมของพระพุทธเจ้าก็สูญสลายไป นี้ก็เพราะความเพียรของพวกดาบสฤๅษีมีบทบาทสูงมากในขณะนี้ ในมุมไหนของประเทศไทย จะให้ความสนใจในความเพียรของพวกดาบสฤๅษีกันทั้งนั้น แม้แต่ในต่างประเทศก็มีความนิยมฝึกความเพียรแบบฤๅษีนี้เช่นกัน ความเพียรเดิมที่เป็นอุบายวิธีที่จะทำให้ปฏิบัติได้ถูกต้องได้เข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลนิพพานนั้นแทบจะไม่มีผู้สอนกันเลย เมื่อไม่มีผู้สอนก็ไม่มีผู้ปฏิบัติ ความเพียรพยายามที่จะข้ามกระแสโลกนี้ให้พ้นไปก็จะหมดความหมาย ในไม่ช้าก็จะไม่มีใครให้ความสนใจในการปฏิบัตินี้เลย
   
   วายามวิจยะ การเลือกเฟ้นความเพียรมาปฏิบัติให้ถูกตามแนวทางของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าได้นั้น  ต้องศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าให้เข้าใจ ความเพียรพยายามทำลายอาสวะกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ  เพียรพยายามฝึกใจให้เกิดเป็นสัมมาวายาโม ให้เกิดเป็นความเพียรชอบนั้น ผู้นั้นต้องฝึกสติปัญญาให้มีความฉลาดรอบรู้ในความเพียรนั้น ๆ ให้ชัดเจน ความเพียรใดเป็นไปในลัทธิของพวกดาบสฤๅษี ความเพียรใดเป็นไปในคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องมีวิจยะ มีสติปัญญาในการเลือกเฟ้น มีเหตุผลในการตัดสินใจได้ ว่าอุบายวิธีนี้เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้สอนพระสาวกได้บรรลุมรรคผลนิพพานมาแล้ว เราต้องเลือกเอาอุบายวิธีนั้นมาเป็นหลักประกอบความเพียรให้แก่ตัวเอง หลักความเพียรที่พระพุทธเจ้าได้เอามาสอนพุทธบริษัทนั้น เป็นหลักของสติปัญญา
   
   ถ้าความเพียรใดไม่มีสติปัญญาเป็นองค์ประกอบแล้ว ความเพียรนั้นไม่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย ไม่เป็นไปในความเพียรชอบแต่อย่างใด ฉะนั้นความเพียรชอบต้องมาจากปัญญาความเห็นชอบ ปัญญาความเห็นชอบกับความเพียรชอบจึงเป็นของคู่กันจะแยกกันไม่ได้ ต้องเพียรพยายามละความเห็นผิด ให้เกิดความเห็นที่ถูก ความคิดผิดให้เกิดความคิดถูก เพียรพยายามละในคำพูดที่ผิดให้เกิดเป็นคำพูดที่ถูก เพียรพยายามละในการทำอะไรที่ผิดๆ ให้เกิดความเข้าใจในการทำถูก เพียรพยายามละในวิธีเลี้ยงชีวิตผิดให้รู้ในวิธีเลี้ยงชีวิตถูก พยายามละในความเพียรที่ผิดๆ ให้ใฝ่ใจในความเพียรที่ถูกให้มากขึ้น เพียรพยายามละในความระลึกในทางที่ผิดๆ ให้ฝึกใจได้ระลึกในทางที่ถูก เพียรพยายามละในวิธีความตั้งใจมั่นที่ผิดๆ ให้มาฝึกในวิธีตั้งใจมั่นให้ถูก ความเพียรนี้จึงเป็นวิธีที่ถูกต้องอย่างแท้จริงของพระพุทธเจ้า
   
   สติวิจยะ การเลือกเฟ้นในความระลึกของใจนั้น ต้องฝึกให้มีความระลึกไปในทางที่ไม่ให้เกิดโทษ ถ้าระลึกไปในกามคุณอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยเอนเอียงไปในความรัก ถ้าฝึกระลึกในสิ่งที่ไม่เที่ยงอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยรู้เห็นตามในสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นๆ ไป ถ้าฝึกใจให้มีความระลึกในเรื่องความทุกข์อยู่บ่อยๆ ใจก็จะเกิดความรู้เห็นความทุกข์ใจ ความทุกข์กายนี้ไป ความระลึกรู้อยู่ว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนของเราอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยปล่อยวางในความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนไปได้ ถ้าระลึกว่าไม่มีอะไรเป็นของของเรา ความโลภในสิ่งนั้นก็จะลดน้อยลงเช่นกัน
   
   ความเห็นว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตนและของของตนอยู่อย่างนี้ ใจก็จะไม่มีความผูกพันในสิ่งใดๆ ไม่มีความกังวลว่า สิ่งนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แม้แต่ความทุกข์กายทุกข์ใจเกิดขึ้น ก็ระลึกได้ว่าสภาพความเป็นจริงมันต้องเป็นอยู่อย่างนี้ มีความระลึกรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สติวิจยะ ต้องมีสติปัญญาเลือกระลึกอยู่ตามหลักความเป็นจริงให้มาก ระลึกถึงความแก่ ระลึกถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย และระลึกถึงความตายอันจะเกิดขึ้นแก่ตัวเอง ระลึกถึงบุญกุศลที่สร้างไว้แล้ว ระลึกในการรักษาศีล ระลึกในการภาวนาปฏิบัติปรารภความเพียรอยู่เสมอ
   
   สติ หมายถึง ความระลึกได้ วิจยะ หมายถึง การเลือกเฟ้น ถ้าพูดรวมกันก็เลือกเฟ้นในสิ่งนั้นๆ มาระลึกรู้นั้นเอง ระลึกรู้ในความเห็นของตัวเองว่า เรามีความเห็นผิดหรือความเห็นถูก  เรามีความคิดผิดหรือความคิดถูก ระลึกรู้ในคำพูดของตัวเอง ก่อนจะพูดก็ระลึกได้ในคำที่จะพูด ในขณะพูดอยู่ก็ระลึกได้ว่าเราพูดในเรื่องอะไร หรือพูดไปแล้วก็ระลึกทบทวนดูคำพูดของตัวเอง และรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง ระลึกในการงานที่ทำว่างานนั้นเป็นประโยชน์ และเป็นโทษให้แก่ตัวเองและคนอื่นอย่างไร ระลึกรู้ในปัจจัยสี่ที่นำมาเลี้ยงชีวิตว่า ผิดศีลผิดธรรมหรือไม่ ระลึกรู้ในความเพียรของตัวเองอยู่เสมอ วันคืนผ่านไปๆ ชีวิตเราก็ผ่านๆ ขณะนี้เรามีความเพียรอะไรที่จะต้องปฏิบัติ ระลึกรู้ใจของตัวเองอยู่เสมอ ว่าใจมีอารมณ์อะไรที่จะต้องละ ใจมีโลภะ ใจมีโทสะ ใจมีโมหะ ใจมีราคะอย่างไร จะแก้ไขด้วยหมวดธรรมอะไร ต้องระลึกรู้ใจตัวเองอยู่เสมอ
   
   สมาธิวิจยะ ผู้ภาวนาปฏิบัติต้องรู้จักการเลือกในความตั้งมั่นของใจให้เป็น ว่าใจตั้งมั่นอย่างไรผิด ใจตั้งมั่นอย่างไรถูก ความสงบของใจอย่างไรผิด ความสงบของใจอย่างไรถูก ต้องเลือกเฟ้นดูให้รู้เห็น ใจตั้งมั่นเป็นสัมมาก็รู้ ใจตั้งมั่นเป็นมิจฉาก็รู้ ใจสงบเป็นสัมมาก็รู้ ใจสงบเป็นมิจฉาก็รู้ วิจยะการเลือกเฟ้นนี้เอง จึงเป็นคู่กับปัญญาความรอบรู้ได้เป็นอย่างดี จึงเรียกว่า ปัญญาวิจยะ เลือกเฟ้นในสิ่งใด ต้องใช้ปัญญารอบรู้ในสิ่งนั้นๆ ให้ชัดเจน
   
   การทำสมาธิอย่างไร ก็ต้องมีปัญญาความรอบรู้เลือกเฟ้นดูในสมาธินั้นๆ เรียกว่าปัญญาความเห็นชอบในวิธีทำสมาธิ พิจารณาให้เข้าใจว่า การทำสมาธิอย่างนี้ถูกต้องแล้วจึงทำ ถ้าเลือกเฟ้นในการทำสมาธิให้ถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดเป็นสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นถูกต้องชอบธรรม ถ้าทำสมาธิที่ไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดเป็นมิจฉาสมาธิไป ที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลสนั้นเอง
   
   วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นจากมิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธิ เกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นต้นเหตุ ฉะนั้นผู้ภาวนาปฏิบัติต้องศึกษาในวิธีทำสมาธิให้ดี ปัญญาวิจยะ มีความรอบรู้ในการเลือกเฟ้นในอุบายให้ถูกต้องตามแนวทางของหลักสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบให้ถูกต้อง ถ้าตั้งหลักความเห็นชอบได้แล้ว ทำสมาธิก็จะเป็นสัมมาสมาธิ เป็นทางตรงเข้าสู่วิปัสสนา และตรงเข้าสู่วิปัสสนาญาณ มรรคผลนิพพานก็จะเปิดรับทันที การภาวนาปฏิบัติถ้าตั้งหลักสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบถูกต้องแล้ว อันดับต่อไปจะไม่มีปัญหาในการปฏิบัติแต่อย่างใด จะเป็นไปในความเห็นชอบนี้ทั้งหมด
   
   สมาธิ ความสงบวิธีหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะอธิบายต่อไปนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านจงอ่านให้สุดวิธี แล้วนำมาพิจารณาดูด้วยเหตุผลว่าจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ ในหลักฐานที่มาก็มีอยู่แต่ไม่ได้นำเอามาตีแผ่ให้กว้างขวาง ผู้ปฏิบัติก็เลยไม่เข้าใจในหลักการและวิธีการของความสงบนี้  ในความหมายคำว่าสงบนั้น คือ จิตไม่กระเพื่อมตามอารมณ์ เพราะมีความรอบรู้ในเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดเป็นอารมณ์อยู่แล้ว นั้นคือ ใช้สติปัญญาอบรมใจสอนใจให้มีความรอบรู้เท่าทันในเหตุการณ์นี้ไว้ล่วงหน้า และรอบรู้ในเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหา และรอบรู้ในวิธีแก้ปัญหาได้ ไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาเรื้อรังฝังใจจนลืมตัว ไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งไปตามกิเลสตัณหา เกิดการปรุงแต่งเป็นสังขารไปตามสมมตินั้นๆ เรียกว่า มีสติระลึกรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เหมือนรู้ว่าไฟกำลังก่อตัวขึ้นในที่นี้ ก็รีบดับเสีย หรือไฟได้ลุกขึ้นแล้วสาดน้ำเข้าใส่ ไฟก็จะดับในทันที นี้ฉันใด เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิดความลุ่มหลง ก็มีสติระลึกรู้ให้เท่าทัน หรือใช้ปัญญาพิจารณาในเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตกระเพื่อมตามอารมณ์อยู่ให้สงบลงได้
   
   ฉะนั้น ใจเมื่อถูกสติปัญญาตัดสายสัมพันธ์ต่อกิเลสตัณหาอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ สงบลงไปได้ สติปัญญาเป็นฉากป้องกันห้ามใจไม่ให้ไปมั่วอยู่กับเหตุที่จะให้เกิดกิเลสตัณหา และไม่สร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นอารมณ์แห่งความรักความใคร่เกิดขึ้น เหมือนกับไฟและเชื้อของไฟ ถ้าแยกออกจากกันคนละที่ไปแล้ว ไฟและเชื้อของไฟก็ไม่มีสื่อโยงหากัน ไฟก็จะดับไปเอง นี้ฉันใด ใจกับเหตุที่จะทำให้เกิดอารมณ์แห่งความรัก ความหลง เมื่อมีสติปัญญารอบรู้อยู่ พิจารณาอยู่ ใจกับเหตุที่จะให้เกิดความรักความใคร่ ก็จะค่อยหมดสภาพไป นี้คืออุบายฝึกใจให้สงบด้วยสติปัญญา วิธีนี้เป็นหลักประกันในระยะสั้นและระยะยาวได้เป็นอย่างดี เป็นวิธีปกป้องใจไม่ให้กระเพื่อมไปตามอารมณ์ของกิเลสตัณหา เรียกว่าใจมีความสงบอยู่ด้วยสติปัญญานั้นเอง
   
   ใจ เมื่อสติปัญญาอบรมดีแล้ว นำความสงบสุขมาให้ ไม่ไปมั่วสุมวุ่นวายอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่พอใจ ถึงตาจะสัมผัสในรูป หูสัมผัสในเสียง ก็รู้อยู่ว่าสัมผัสเท่านั้น  หรือสัมผัสเพียงรู้เรื่องกันในความหมาย การสื่อต่อกันในระหว่างตากับรูป หูกับเสียงนั้นเป็นธรรมชาติที่โลกนี้มีต่อกันมา จะห้ามตากับรูป หูกับเสียง ไม่ให้สัมผัสกันนั้นไม่ได้เลย จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส โผฏฐัพพะจะห้ามไม่ให้สัมผัสกับสิ่งภายนอกนั้นไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นของคู่กัน อยู่กับโลกนี้โดยธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สัมผัสเป็นสื่อในความหมายซึ่งกันและกันไปตามสมมติโลกที่มีต่อกัน
   
   ถ้าอายตนะภายใน อายตนะภายนอกไม่สัมผัสกัน มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้จะไม่รู้ภาษาและความหมายอะไรต่อกันแต่อย่างใด แม้แต่สัตว์ต่อสัตว์ หรือมนุษย์ต่อมนุษย์ ก็ต้องมีสื่อความสัมผัสในอายตนะต่อกัน จึงรู้เรื่องกันและอยู่ร่วมกันได้ การสัมผัสอย่างนี้ ยังไม่เกิดเป็นพิษภัยต่อกันแต่อย่างใด คำว่าสำรวม ผู้ปฏิบัติต้องมีสติปัญญาในการตีความให้ถูกกับความหมาย มิใช่ว่าสำรวม แปลว่าทุกคนจะต้องปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย และปิดใจ ไม่ให้ออกไปสัมผัสต่อสิ่งภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์แต่อย่างใด ถ้าเป็นในลักษณะนี้ การตีความหมายในคำว่าสำรวมย่อมผิดไป
   
   ในคำว่าสำรวม ความหมายคือ ไม่ให้ใจไปเกิดความรัก ความชอบ ไม่ให้ใจไปเกิดความเกลียด ความชังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ให้ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่สัตว์โลกมีความสื่อสารต่อกันเท่านั้น ถ้าสำรวมใจได้อย่างนี้เป็นปกติแล้ว นั้นแลชื่อว่า จิตมีความสงบ ไม่กระเพื่อมไปตามกระแสของโลก ไม่เกิดความหลงรัก หลงชัง หลงโกรธ หลงเกลียดต่อสิ่งใดๆ  นั้นเรียกว่าเป็นผู้รู้เท่าทันตามความเป็นอยู่ของโลก ความเป็นจริงของโลกมีความเป็นอยู่อย่างไร ย่อมมีความรู้ความเข้าใจในเหตุการณ์ของโลกนี้ได้ดี ในโลกนี้มีความเป็นมาอย่างไร มีความเป็นอยู่อย่างไร และมีความเป็นไปอย่างไร สติปัญญามีความรอบรู้โลกนี้ทั้งหมด ดังคำว่า นตฺถิ โลเก รโหนาม ความลับไม่มีในโลก คำว่าความลับ ก็ต้องตีความให้ตรงกับความหมาย  มิใช่ว่าจะตีความหมายเพียงนินทาว่าร้ายต่อกันแล้วความลับนั้นปิดอยู่ไม่ได้ วันหนึ่งข้างหน้า ความลับก็ย่อมเปิดเผยขึ้นมาให้สาธารณชนได้รู้กัน การตีความเพียงเท่านี้ไม่พอ คำว่าความลับหมายถึงความลี้ลับซ่อนเร้น ที่เป็นมายาหลอกใจให้เกิดความลุ่มหลง ปิดบังอำพรางความจริงอยู่ในตัวมันเอง ดูภายนอกสดใสงดงามน่าสัมผัส ดูภายในสกปรกโสโครกเป็นซากผีเน่า ดูภายนอกเหมือนรสหวาน  ดูภายในเจือด้วยยาพิษ โบราณว่า เสือซ่อนเล็บ ดูผิวเผินจะไม่เห็นเล็บเสือ เมื่อโกรธขึ้นมาเมื่อไร เล็บจะออกมาให้เห็นเมื่อนั้น ความลับในโลกนี้ก็เช่นกัน ตามปกติโลกนี้ก็น่าอยู่น่าอาศัย ดูอะไรก็มีแต่ความสดใสสวยงามน่าสัมผัส มีความงามงอนเหมือนราชรถนี้เป็นเพียงแสงเสียงสี เป็นความลับให้คนเขลาแวะข้องอยู่ ผู้มีสติปัญญาที่ฉลาดรอบรู้หาข้องอยู่ไม่ นั้นคือใจมีความสงบดีแล้วจะไม่หลงติดอยู่ในสิ่งใดๆ ในโลกนี้เลย
   
   ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติก็พอจะเข้าใจแล้วว่า ความสงบนั้นมีสองอย่าง ๑. ความสงบเกิดขึ้นจากการนึกคำบริกรรมทำสมาธิ ๒. ความสงบเกิดขึ้นจากสติปัญญาดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว
   
   ส่วนความสงบจากการนึกคำบริกรรมทำสมาธิ เป็นเพียงความสงบฉาบฉวยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเรียกว่าหาวิธีหลบปัญหาได้ชั่วคราว เป็นหลักภาวนาของผู้มีปัญญาอ่อน ไม่กล้าเผชิญต่อปัญหา ไม่กล้าสู้ต่อปัญหาที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ตัวเองสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ยอมแก้ปัญหาของตัวเอง หาที่หลบซ่อนตัวอยู่ในความสงบของสมาธิอยู่เรื่อยไป ออกจากสมาธิแล้วก็มาสร้างปัญหาใหม่เพิ่มเติมต่อไป จะเข้าใจว่าเมื่อทำสมาธิให้จิตมีความสงบได้แล้วจะแก้ปัญหาได้ นี้คือความเข้าใจผิดเป็นอย่างมากทีเดียว เพราะการทำสมาธิให้จิตมีความสงบ มิใช่เป็นวิธีแก้ปัญหาแต่อย่างใด แต่เป็นวิธีที่จะสะสมปัญหาให้เกิดมากขึ้น มีทั้งปัญหาอย่างหยาบ และปัญหาอย่างละเอียดสุดในสมาธินั้นๆ ตลอดไป ถ้าจิตลุล่วงถึงขั้นรูปฌาน อรูปฌานไปแล้ว ในยุคนี้จะไม่มีใครๆ แก้ให้ได้อีกแล้ว  มีแต่จะจมดิ่งปักใจหลงอยู่ในความสุขนั้นๆ จนลืมตัว นี้แลจึงเรียกว่าสร้างปัญหาขั้นละเอียดให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง  ที่ว่าจิตมีความสงบเป็นสมาธิดีแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นนั้น  ข้าพเจ้าก็ขอพูดเลยว่า เป็นเรื่องเพ้อฝัน ที่จริงนั้นจะตรงกันข้าม นั้นคือจิตมีความสงบลึกมากเท่าไร ปัญญาก็จะหมดหดหายไปทันที มีแต่อุเบกขา ใจวางเฉยอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นเอง
   
   ที่ว่าจิตมีความสงบเป็นสมาธิดีแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้นนั้น ให้ท่านได้ศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในสมัยครั้งพุทธกาลดูบ้าง เช่น ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ภัททวัคคีย์ ๓๐ ท่าน ชฎิลสามพี่น้อง พร้อมทั้งบริวารหนึ่งพันท่าน และพระสาวกองค์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แม้องค์สุดท้ายชื่อว่า สุภัททปริพาชกก็ดี ไม่มีองค์ไหนเลยที่ทำสมาธิให้จิตสงบแล้วปัญญาเกิดขึ้นเอง ผู้จะบรรลุธรรมทุกท่านต้องมีปัญญาความเห็นชอบทั้งนั้น แม้จะทำสมาธิก็ต้องศึกษาในวิธีทำสมาธิให้เข้าใจ ถ้าไม่ศึกษาจะทำสมาธิได้อย่างไร ข้าพเจ้าเคยได้ศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในระดับปัญญาวิมุติและเจโตวิมุติมาแล้ว ไม่เห็นองค์ไหนเลยมีปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิแต่อย่างใด หรือจะอ้างถึงพระจุฬปันถกนั้นไม่ได้ เพราะพระจุฬปันถกเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมมาก่อน มีความฉลาดเข้าใจในวิธีจับผ้าขาวจากพระพุทธเจ้าอธิบายให้ฟังแล้วเป็นอย่างดี ฆราวาสผู้ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าก็มีจำนวนมาก เช่น บริวารของพระเจ้าพิมพิสารหนึ่งแสนสองหมื่นคน พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ให้นึกคำบริกรรมทำสมาธิก่อนแต่อย่างใด พระองค์อธิบายธรรมให้ฟัง ท่านเหล่านั้นก็ใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง และมีความรู้จริงมีความเห็นจริงตามหลักความเป็นจริง ก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลไปเท่านั้นเอง  ฉะนั้นผู้ที่ยังเข้าใจว่าปัญญาเกิดขึ้นจากสมาธิอยู่ ให้ไปศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในครั้งพุทธกาลดูบ้าง แม้ผู้จะมาสอนคนอื่น ก็ควรไปศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าในสมัยครั้งพุทธกาลเช่นกัน เพื่อจะได้นำมาสอนคนอื่นให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

ข้อความโดย: เลดี้เบื๊อก
« เมื่อ: กันยายน 10, 2011, 02:07:48 pm »

วิจยะ...การเลือกเฟ้น
   
   ธัมมวิจยะ ผู้มีสติมีความรอบรู้ การเลือกเฟ้นหาหมวดธรรมมาปฏิบัติให้ถูกกับนิสัยตัวเองนั้น เลือกได้ง่าย วิจยะ แปลว่าเลือกหรือเฟ้น หรือว่าเลือกเฟ้นก็ได้ในความหมายอย่างเดียวกัน ฉะนั้นการเลือกเฟ้น จึงเป็นนิสัยของคนที่มีสติปัญญา เป็นนิสัยของผู้มีความคิด จะเชื่อในตัวบุคคล หรือจะเชื่อในธรรมอย่างไร ก็ต้องมีวิจยะมาโยนิโสใคร่ครวญพิจารณาก่อนการตัดสินใจเชื่อ จึงนับว่าเป็น สทฺธา ญาณ สมฺปยุตฺ เป็นผู้เชื่ออะไรอย่างมีเหตุผล และพิจารณาด้วยปัญญาก่อนจึงเชื่อทีหลัง การเชื่อบุคคลก่อนธรรมหรือการเชื่อธรรมก่อนบุคคล อย่างไหนจะมีผลดีกว่ากัน เอาแน่ไม่ได้
   
   ในบางครั้งเราได้อ่านหนังสือธรรมะจากท่านองค์นั้นแล้ว เกิดความเคารพเชื่อถือในธรรม จึงตามหาตัวบุคคลและเชื่อในตัวบุคคลทีหลัง หรือเชื่อในตัวบุคคลก่อน เช่น เห็นเข้าแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จะเห็นเพียงกิริยาหรือลักษณะพอเชื่อถือได้ หรืออาจเป็นเพราะนิสัยตรงกัน จึงได้เกิดความเชื่อในตัวบุคคลก่อน เมื่อได้ฟังธรรมจากท่านแล้วก็เกิดความเคารพเชื่อถือในธรรมทีหลัง ถ้าผู้มีนิสัยในทางปัญญาจะเอาวิจยะมาประกอบในการเลือกเฟ้นนั้นได้ง่าย จะเลือกเฟ้นในตัวบุคคล จะเลือกเฟ้นเอาหมวดธรรมมาปฏิบัติ ก็เป็นของง่ายสำหรับผู้มีสติปัญญาที่ดี ถ้าผู้ไม่มีสติปัญญา ไม่มีวิจยะธรรมภายในใจ จะเชื่ออะไรก็เป็นความเชื่ออย่างงมงาย จะเชื่อธรรมหรือเชื่อบุคคลก็ไม่เป็นไปตามใจที่เราเชื่อ ก็เพราะเชื่อขาดจากปัญญาความรอบรู้นั้นเอง
   
   วิจยะ หมายความว่าการเลือกเฟ้น
   
   ทิฏฐิวิจยะ การเลือกเฟ้นในความเห็น ความเห็นใดที่เป็นไปในความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ถูกต้องเป็นธรรมก็ดี ต้องนำความเห็นนั้นๆ เข้ามาทำการเลือกเฟ้นด้วยสติปัญญาอย่างมีเหตุมีผล เอาไตรลักษณ์มาเป็นตัวตัดสินอ้างอิง ถ้าความเห็นใดไม่เป็นไปในไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเห็นนั้นไม่ถูกต้องใช้ไม่ได้ ละความเห็นประเภทนั้นทิ้งไปเสีย ถ้าความเห็นใดเป็นไปตามไตรลักษณ์ ความเห็นนั้นถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย นั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้องเป็นธรรมที่สุดแล้ว
   
   สังกัปปวิจยะ เลือกเฟ้นในความคิด ตามปกติ ใจจะคิดได้ในทุกอารมณ์ อารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ หรืออารมณ์อย่างอื่นใดก็ตาม ใจจะคิดได้ทั้งหมด ผิดถูกชั่วดีทางโลกทางธรรมคิดได้ทั้งนั้น ถ้าฝึกใจให้คิดไปในทางไหนอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยโน้มเอียงไปในสิ่งนั้นๆ จนกลายเป็นนิสัย ถ้าฝึกใจไปคิดในทางโลกอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เอนเอียงไปในทางโลก ถ้าฝึกใจไปติดอยู่ในเรื่องของกามคุณคือ คิดในรูป คิดในเสียง คิดในกลิ่น คิดในรสของอาหาร คิดในการสัมผัสที่อ่อนนุ่มอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดความยินดีพอใจมีความกำหนัดในกามคุณมากขึ้น ถ้าฝึกใจไปคิดอยู่กับความร่ำรวยในลาภสักการะอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดเป็นความโลภขึ้น
   
   ถ้าฝึกใจไปคิดพิจารณาในเรื่องอนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตาอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ เกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริง ฉะนั้นจงฝึกใจให้คิดให้ดำริในไตรลักษณ์อยู่เนืองๆ อย่าเอาความโง่มาปิดกั้นปัญญาตัวเอง ขณะนี้ต้องการฝึกใจให้มีความรอบรู้ในเหตุและผลด้วยตนเอง เราต้องมีความขยันหมั่นคิดพิจารณาให้รู้เห็นทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจากกามคุณอยู่เสมอ
   
   การฝึกคิดพิจารณาในสิ่งใดก็ตาม ถ้าให้เป็นไปในไตรลักษณ์แล้ว ความคิดนั้นจะไม่ผิดจากธรรมแต่อย่างใด การฝึกใจให้มีการดำริพิจารณา หรือฝึกใจให้คิดในทางธรรมนี้ จึงเป็นวิธีใหม่ของใจ ในอดีตที่ผ่านมายาวนาน ความคิดของใจจะเป็นไปในทางโลกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ใจไปยึดติดในสิ่งที่คิดนั้นๆ อย่างฝังตัวจนกลายเป็นนิสัยความเคยชิน ฉะนั้นจึงมาฝึกใจให้มีความคิดเสียใหม่ เพื่อจะได้ลืมแนวความคิดเก่าๆ นั้นไปเสีย ผู้ที่ยังไม่เคยคิดพิจารณาในทางปัญญา การเริ่มใหม่ก็จะมีความสับสนพอสมควร เมื่อคิดพิจารณาในหลักความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ ใจก็จะค่อยๆ พัฒนาในแนวความคิดไปเองได้
   
   การฝึกคิดพิจารณานี้ อย่าไปใฝ่ใจในการทำสมาธิให้สงบมากนัก เพราะความสงบในสมาธิเป็นตัวปิดกั้นปัญญาอย่างสนิททีเดียว ถ้าจะทำสมาธิก็เพียงนึกคำบริกรรม หรือกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้ใจมีความตั้งมั่นพอประมาณสัก ๑๐ – ๑๕ – ๓๐ นาที แล้วหยุดการนึกคำบริกรรมนั้นเสีย แล้วน้อมใจมาคิดพินิจพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความเป็นจริง เป็นเรื่องของตัวเองบ้าง เรื่องของคนอื่นสัตว์อื่นบ้าง หรือคิดพิจารณาในเรื่องภายนอกแล้ว ก็น้อมเข้ามาหาตัวเองให้พิจารณาลงจุดเดียวกันคือ ไตรลักษณ์ จะอยู่ในที่ไหนไปเที่ยวในที่ใด จะนั่งรถนั่งเรือนั่งเครื่องบิน ก็พิจารณาด้วยปัญญาได้ ไม่ต้องมานึกคำบริกรรมทำสมาธิให้เสียเวลา ให้พิจารณาด้วยปัญญาได้เลย จะรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำล้างหน้าแปรงฟัน ใช้ปัญญาพิจารณาได้ทั้งนั้น จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ใช้ปัญญาพิจารณาได้ไม่จำเป็นต้องนึกคำบริกรรม เว้นเสียแต่หลับไปเท่านั้น