ข้อความโดย: Uzumaki Naruto
« เมื่อ: มิถุนายน 18, 2012, 03:45:49 am »ผู้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา สามารถรักษาศีลให้สำรวมดีแล้ว การทำสมาธิภาวนาก็เป็นไปได้ง่าย
แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สำรวมรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว การทำสมาธิภาวนาก็จะเป็นไปได้ยาก ทำไมท่านจึงพูดไว้เช่นนั้น? ก็เพราะว่าเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นการปราบกิเลสอย่างหยาบได้แล้ว ดังนั้น เมื่อเราทำสมาธิควบคู่กันไป ก็สามารถเป็นไปได้ง่าย
สำหรับการทำสมาธินั้น เราจะกำหนด “พุทโธ” เป็นอารมณ์ หรือเรียกว่าเอา “พุทโธ” เป็นเป้าหมายก็ได้ หรือว่าจะ “กำหนดลมหายใจเข้า-ออก” เป็นอารมณ์หรือเป้าหมายก็ได้ เป็นต้น อันนี้แล้วแต่ว่าเราจะชอบอย่างไหนหรือถูกจริตกับสิ่งใด
เมื่อเรากำหนดสติของเราตั้งมั่นอยู่ที่ไหน จิตของเราก็ให้อยู่ที่นั่น เพราะสติเป็นเครื่องผูกเป็นเครื่องครอบงำเป็นเครื่องบังคับ
นอกจาก “สติและความรู้” แล้ว ไม่มีสิ่งไหนในโลกที่จะสามารถบังคับจิตให้สงบลงได้ เมื่อเราต้องการบำเพ็ญสมถะเราต้องเจริญสติให้มากๆ
การฝึกหัดทำสมาธิภาวนานี้ ในตอนแรกๆ จะทำได้ยาก มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามแข้งตามขาหรือตามเอวตามหลัง ในตอนแรกๆ นี้จะต้องอาศัยความอดทนและต้องอาศัยความฝืนอยู่มากพอสมควร แต่เมื่อกระทำไปประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ ก็จะรู้สึกเคยชิน อาการปวดเมื่อยต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไป
เมื่อเรารู้สึกปวดเมื่อยแล้ว ท่านจึงแนะนำให้เปลี่ยนอิริยาบถ จากนั่งสมาธิไปเป็นการเดินจงกรม ซึ่งการกำหนดใจในขณะเดินจงกรมนั้นก็เหมือนกับเรากำหนดเวลาที่เรานั่งสมาธินั่นเอง เพียงแต่ต่างจากการนั่งเป็นการเดินเท่านั้น
อานิสงส์ของการเดินจงกรม ๕ อย่าง
๑. ทนต่อการเดินทาง คือเดินทางได้ไกล
๒. ทนต่อการทำความเพียร คือทำความเพียรได้มาก
๓. อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้วย่อมจะย่อยได้ง่าย
๔. อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นเวลาเดินจงกรมจะไม่เสื่อมง่าย
๕. การเดินจงกรมนั้นจิตก็สามารถที่จะรวมได้
และเป็นการบริหารร่างกายให้แข็งแรง โรคที่จะมาเบียดเบียนก็น้อยลง
ในบางครั้งเมื่อเราทำสมาธิได้แล้ว เมื่อจิตเริ่มรวมจะเกิดอาการต่างๆ เช่น มีความรู้สึกว่าเบามือทั้งสองข้าง ซาบซ่านตามร่างกาย ขนลุกขนพองคล้ายกับพบสิ่งที่น่ากลัว มีอาการตัวเบาหวิว เป็นต้น
บางคนเมื่อรู้ว่าจิตเริ่มจะรวม จึงคอยดูว่าจิตจะรวมอย่างไร จิตก็รวมไม่ได้ สมาธิก็ไม่เกิด อันนี้เป็นการกระทำที่ผิด
เมื่อเรารู้ว่าจิตของเรากำลังจะรวม ให้เรากำหนดผู้รู้ นิ่งอยู่ สติกับใจอย่าให้เคลื่อนจากกัน อย่าให้สติเคลื่อนไหวไปกับอาการใดๆ เมื่อสติไม่เคลื่อนไหวไปกับอาการใดๆ แล้วจิตก็รวมเอง บางครั้งก็รวมสนิทเลย เปรียบเหมือนเอาไม้ปักลงไปในน้ำที่ไหลเชี่ยว ปักให้นิ่งไว้อย่าให้เคลื่อนไปตามน้ำ อย่าให้จิตเคลื่อนจากผู้รู้
ผู้ที่สามารถทำจิตรวมได้แล้วก็ให้กำหนดจิตตามเดิม กำหนดอย่างไรที่ให้จิตรวมกันได้ก็กำหนดอย่างนั้น ถ้าจิตรวมสนิทก็อย่าเพิ่งออกจากสมาธิเสียทีเดียว
ก่อนออกจากสมาธิก็ให้พิจารณาเสียก่อน เราจะได้ทราบว่าเราบริกรรมอย่างใด ตั้งสติอย่างใด ละวางอารมณ์ สัญญาอย่างใด จิตของเราจึงรวมได้เช่นนี้ ถ้าเราสามารถพิจารณาถึงกรรมวิธีต่างๆ ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติในครั้งต่อไป
ขอย้ำอีกครั้ง กำหนดให้แน่วแน่นิ่งอยู่กับผู้รู้ สติกับผู้รู้อย่าให้เคลื่อนไปตามอาการใดๆ จิตก็จะรวมได้เพราะสติอย่างเดียวเท่านั้น (ถ้าขาดสติก็นั่งหลับ, เกิดอาการฟุ้งซ่าน, จิตไม่รวม เป็นต้น)
พูดตามปริยัติ “สติ” แปลว่าความระลึกได้ในกิจที่ได้กระทำ แม้คำพูดทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ในทางปฏิบัติ “สติ” แปลว่าระลึกอยู่ที่ใจ ไม่ให้รู้ไปตามสิ่งอื่น ถึงจะมีสัญญาอะไรก็ไม่ให้เคลื่อนไหวไปตามอาการนั้น กำหนดรู้นิ่งไว้อย่างนั้น ระลึกอยู่ที่ใจ
ใจก็หมายถึงผู้รู้ เมื่อสติกับใจบังคับกันแนบนิ่งดีแล้ว จิตก็จะรวมสนิท เมื่อเรานั่งกำหนดแล้ว ขณะที่เราเบาเนื้อ เบากาย ก็ให้เรานิ่งไว้อยู่กับผู้รู้ คำบริกรรมต่างๆ ก็ให้เลิกบริกรรม ให้เอาแต่สตินิ่งไว้ ให้ระลึกแต่ผู้รู้เท่านั้น
ตามธรรมดาสติมักจะส่งไปภายนอก ชอบเล่นอารมณ์ สังขารที่ปรุงแต่ง ไม่ว่าจะคิดดี คิดร้าย คิดไม่ดี ไม่ร้าย เราจะต้องพยายามฝึกหัดละวางอารมณ์เหล่านี้ อย่าให้จิตส่งออกไปภายนอก ให้สติอยู่ที่ผู้รู้เท่านั้น
เมื่อเรานั่งสมาธิภาวนา เรากำหนดคำบริกรรมใดๆ ก็ตาม ถ้าเราเผลอจากคำบริกรรมนั้น เมื่อเรารู้สึกว่าเราเผลอไปรับรู้อารมณ์ภายนอก ก็ให้รีบกลับมาบริกรรมอย่างเดิมตามที่เราเคยปฏิบัติมา