พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
เล่ม ๑๘
เล่มที่ ๒๖ ชื่อขุททกนิกาย
วิมานวัตถุ, เปตวัตถุ, เถรคาถา, เถรีคาถา. พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ นี้ มีเรื่องใหญ่ แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ
๑. วิมานวัตถุ เรื่องวิมานแสดงว่า ใครทำความดีอย่างไร ทำให้ได้วิมานอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตร เทพธิดา ถึงอดีตกรรมที่ส่งผลให้ได้ เกิดในวิมานนั้น ๆ มีคำตอบของผู้ถูกถามเป็นราย ๆ ไป รวม ๘๕ ราย.
๒. เปตวัตถุ เรื่องของเปรต คือผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้รับทุกข์ ทรมานในสภาพของเปรต มีลักษณะต่าง ๆกัน ๕๑ เรื่อง
๓. เถรคาถา เป็นภาษิตทางธรรม มีคติเตือนใจของพระเถระต่าง ๆ รวม ๒๖๔ รูป.
๔. เถรีคาถา เป็นภาษิตทางธรรม มีคติเตือนใจของพระเถรี ( นางภิกษุณีผู้เป็นเถรี ) รวม ๗๓ รูป.
๑. วิมานวัตถุ เรื่องการได้วิมาน เรื่องถามตอบระหว่างพระมหาโมคคัลลานเถระ กับเทพบุตร เทพธิดา ผู้ได้วิมานต่าง ๆ กันนั้น แม้จะปรากฏว่ามี มากราย แต่ก็พอจะสรูปได้ว่า เป็นคำตอบแสดงผลดีของการทำความดี เช่น การทำอัญชลีกรรมต่อท่านผู้มีศีลบ้าง, การถวายทานบ้าง, การ รักษาศีลบ้าง, การให้น้ำดื่มบ้าง, การจุดไฟเพื่อประโยชน์แก่คนไปมาในที่มืดบ้าง, การฟังธรรมบ้าง, การรักษาอุโบสถบ้าง, การตั้งอยู่ใน คุณธรรม เช่น ไม่โกรธบ้าง.
มีข้อสังเกตก็คือ มิใช่แต่พระมหาโมคคัลลานะถามอย่างเดียว
บางครั้งเทพบุตรนั้นก็มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูล เล่าความในอดีตก็มี.๒. เปตวัตถุ เรื่องของเปรต ในเรื่องเปตวัตถุ หรือเรื่องของเปรตนี้ บางตอนก็เป็นคำสอนปรารภผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยให้คติว่าควรทำบุญอุทิศไป ให้เปรตเหล่านั้น ( คำว่า เปรต แปลว่า ผู้ล่วงลับไปแล้วทั่ว ๆ ไป กับอีกอย่างหนึ่ง หมายถึงผู้เกิดในสภาพที่ได้รับความทุกข์ทรมานที่เรียก กันว่าเปรต ), บางครั้งพระเถระบางรูปไปพบเปรตอยู่ในลักษณะงดงามดีทุกอย่าง แต่ปากที่หนอนไต่ มีกลิ่นเหม็น เมื่อไต่ถามเปรตนั้นก็เล่าว่า ตนเคยเป็นสมณะพูดชั่วไม่สำรวมปาก แต่มีความเพียรดี จึงมีผลเป็นอย่างนี้, เปรตบางตนกินอุจจาระ ปัสสาวะ เลือด หนอง ( กินอะไรเข้าไป พอถึงปากก็กลายเป็นของโสโครกเหล่านั้น ) เป็นผลของการที่ด่าสมณพราหมณ์ เมื่อสามีเคยให้ทาน แต่ตนไม่เห็นด้วย คำด่านั้นว่า เจ้าจงกิน ของไม่สะอาด คืออุจจาระ ปัสสาวะ เลือด หนอง เป็นต้น.
๓. เถรคาถา ภาษิตของพระเถระ ได้กล่าวแล้วว่า
เถรคาถา ว่าด้วยภาษิต อันเป็นคติสอนใจพระเถระต่าง ๆ
ถึง ๒๖๔ รูป ในที่นี้จักนำมากล่าวเป็น ตัวอย่าง ๑๐ รูป คือ :-๑. ภาษิตของพระสุภูติเถระ
" เรามุงกระท่อมแล้ว ไม่มีลมพัดผ่านเป็นสุข ( มีความหมายว่า ป้องกันจิตใจมิให้กิเลสรั่วรดได้ ), ฝนจงตกตามสบาย เถิด. จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้ว เราอยู่อย่างมีความเพียร. ฝนจงตกเถิด. "
๒. ภาษิตของมหาโกฏฐิตเถระ
" ผู้สงบระงับ, ยินดี ( ในธรรม ), พูดเป็นคติ, ไม่ฟุ้งสร้าน ย่อมกำจัดบาปธรรมเสียได้ เหมือนลมพัด ทำให้ใบไม้ร่วง ฉะนั้น. "
๓. ภาษิตของพระอชิตเถระ
" เราไม่ความกลัวในความตาย, ไม่มีความใคร่ในชีวิต, เราจักมีสติสัมปชัญญะ ทอดทิ้งกายของตนไป ( ตายอย่างมี ความรู้เท่าและมีสติ. "
๔. ภาษิตของพระโสปากเถระ
" บุคคลพึงเป็นผู้ฉลาดในบุตรซึ่งเป็นที่รักคนเดียวฉันใด ก็พึงเป็นผู้ฉลาดในสัตว์มีชีวิตทั้งปวงฉันนั้นเถิด. ( พึงมีความรู้สึกในผู้อื่นเหมือนบุตรที่รักคนเดียวของตน จะได้ไม่คิดเบียดเบียน และจะได้เห็นอกเห็นใจ ). "
๕. ภาษิตของพระปุณณเถระ
" ศีลเป็นสิ่งเลิศในโลกนี้, แต่ผู้มีปัญญา นับเป็นผู้สูงสุด, บุคคลย่อมชนะทั้งในมนุษย์และในเทพทั้งหลาย เพราะศีล และปัญญา. "
๖. ภาษิตของพระนีตเถระ
" หลับตลอดคืน, ยินดีในความคลุกคลีด้วยหมู่ตลอดวัน, ผู้มีปัญญาทรามจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เมื่อไหร่กัน. "
๗. ภาษิตของพระอุตตรเถระ
" ภพ ( ความมีความเป็น ) ใด ๆ ที่เป็นของเที่ยงย่อมไม่มี, แม้สังขาร ( สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ) ใด ๆ ที่เป็นของเที่ยงก็ ไม่มี, ขันธ์เหล่านั้นเกิดขึ้นและเคลื่อน ( แปรปรวน ) ในกาลต่อ ๆ ไป ; เรารู้โทษนี้แล้ว จึงไม่ต้องการภพ แล่นออกจากกามทั้งหลาย บรรลุ ความสิ้นไปแห่งอาสวะ. "
๘. ภาษิตของพระปุณณมาสเถระ
" เราละนิวรณ์ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี ) ๕ ประการแล้ว เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่ง จากกิเลสเครื่อง ผูกมัด จึงจับแว่นธรรมคือญาณทัสสนะของตนส่องดูกายนี้หมดทั้งภายนอกภายใน. กายก็ปรากฏว่างเปล่าทั้งภายในภายนอก. "
๙. ภาษิตของพระหาริตเถระ
" ผู้ใดปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้นย่อมถูกกำจัดจากฐานะอันเป็นสุข และย่อมเดือดร้อนในภาย หลัง. พึงพูดสิ่งที่ทำได้ ไม่พึงพูดสิ่งที่ทำไม่ได้. บัณฑิตย่อมกำหนดรู้ผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด. พระนิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ไม่มี ความเศร้าโศก ไม่มีธุลี ปลอดโปร่ง ไม่มีความทุกข์ เป็นสุขดีหนอ. "
๑๐. ภาษิตของพระนทีกัสสปเถระ
" พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่แม่น้ำเนรัญชราเพื่อประโยชน์แก่เรา, เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วเปลื้องความเห็นผิด ได้. เราได้บูชายัญทั้งสูงทั้งต่ำและบูชาไฟ เป็บนบุถุชนผู้เหมือนมืดบอด สำคัญว่านั่นเป็นความบริสุทธิ์. เราวิ่งไปตามความยึดถือทิฏฐิ หลงไป เพราะความยึดถือ สำคัญความไม่บริสุทธิ์ว่าเป็นความบริสุทธิ์ จึงเป็นคนบอดคนเขลา. เราละมิจฉาทิฏฐิได้แล้ว ทำลายภพทั้งปวงได้แล้ว. เรา บูชาไฟที่ควรแก่ทักษิณา ( บูชาบุคคลผู้มีคุณธรรม ) นมัสการพระตถาคต. เราละความหลงทั้งปวงแล้วทำลายภวตัณหา ( ความทะยานอยากใน ภพ ) ได้แล้ว สิ้นความเวียนเกิดแล้ว ไม่มีการเกิดอีก. "
๔. เถรีคาถา ภาษิตของพระเถรี ได้กล่าวแล้วว่า
เถรีคาถา ว่าด้วยภาษิต อันเป็นคติสอนใจพระเถรี คือนางภิกษุณีต่าง ๆ
จำนวน ๗๓ รูป ในที่นี้ จักนำมากล่าวเป็นตัวอย่าง ๑๐ รูปเช่นกัน :-๑. ภาษิตของพระนางปุณณาเถรี
" ดูก่อนปุณณา
๑ ! เธอจงเต็มไปด้วยธรรมทั้งหลาย เหมือนดวงจันทร์วัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ จงทำลายกองแห่งความมืดด้วยปัญญาอันบริบูรณ์. "
๒. ภาษิตของพระนางติสสาเถรี
" ดูก่อนติสสา ! เธอจงศึกษาตามข้อที่ควรศึกษา กิเลสเครื่องผูกมัดอย่าก้าวล่วง ( เอาชนะ ) เธอได้ เธอจงเปลื้องตน จากเครื่องผูกมัดทั้งปวง ไม่มีอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) เที่ยวไปในโลก. "
๓. ภาษิตของพระนางมิตตาเถรี
" เธอบวชด้วยศรัทธาแล้ว พึงยินดีในมิตรว่าเป็นมิตร จงเจริญกุศลธรรม เพื่อบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากเครื่อง ผูกมัด. "
๔. ภาษิตของพระนางอุปสมาเถรี
" ดูก่อนอุปสมา ! เธอจงข้ามโอฆะอันเป็นที่ตั้งแห่งมาร อันข้ามได้โดยยาก จงชนะมารพร้อมทั้งเสนา ทรงไว้ซึ่ง ร่างกายนี้เป็นร่างกายสุดท้าย ( อย่าเกิดอีก ). "
๕. ภาษิตของพระนางสุมนาเถรี
" เห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์ ก็อย่าให้ความเกิดมาหาอีก คลายความพอใจในภพแล้ว เธอก็จักสงบระงับ เที่ยวไป. "
๖. ภาษิตของพระอุตตราเถรี
" เราสำรวมกาย วาจา ใจ แล้วถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้ จึงเป็นผู้ดับเย็นแล้ว. "
๗. ภาษิตของพระนางธัมมาเถรี
" เราเที่ยวบิณฑบาต ถือไม้เท้า มีกำลังน้อย มีตัวสั่นเทา ล้มลงบนดินในที่นั้น เห็นโทษในกายแล้ว จิตของเราก็ หลุกพ้น. "
๘. ภาษิตของพระนางสังฆาเถรี
" เราละเรือนบวชแล้ว ละบุตร และสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก ละราคะ โทสะ หน่ายอวิชชาแล้ว ถอนตัณหาพร้อมทั้ง รากเสียได้ จึงเป็นผู้สงบระงับดับเย็น. "
๙. ภาษิตของพระนางอภยมาตาเถรี
" แน่ะแม่ ! เธอจงพิจารณาดูกายนี้ อันไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่กระหม่อมผมลง ไป. เมื่อทำอยู่อย่างนี้ ก็จะถอนความกำหนัดยินดีทั้งปวง ถอนความเร่าร้อนได้ ก็จะเป็นผู้ดับเย็น. "
๑๐. ภาษิตของพระนางนันทิกาเถรี
" เราออกจากที่พักกลางวันบนเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นช้างข้ามขึ้นจากน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำ ชาย ( คนหนึ่ง ) ถือขอ พูดว่า ส่งเท้ามา ช้างก็เหยียดเท้าให้ เขาก็ขึ้นสู่ช้าง ครั้นเห็นสัตว์ที่ยังมิได้ฝึก ถูกฝึกแล้ว ไปสู่อำนาจมนุษย์ได้ จากที่นั้นเราจึงไปสู่ป่าทำจิตให้ตั้งมั่น ( ฝึกตนเองดูบ้าง ). "
หมายเหตุ : ในเถรีคาถานี้ ภาษิตบางตอนเป็นพระพุทธภาษิตตรัสสอนก็มี เช่น ที่ตรัสสอนพระนางรูปนันทา.
จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ ขุททกนิบาท
วิมานวัตถุ, เปตวัตถุ, เถรคาถา, เถรีคาถา.
'๑' . เป็นภาษิตสอนใจตนเอง จึงเรียกชื่อตัวเอง. มีหลายรายที่เป็นคำสอนปรารภชื่อแล้วให้มีคุณธรรมสมตามชื่อ
:
http://www.baanjomyut.com/pratripidok/prasudtanpidok/1801.html