ตามนโยบาย "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ในส่วนของการสร้างโอกาสในการขยายตลาดนั้น ในรูปของร้านอาหารไทยในต่างแดน ที่ภาคเอกชนดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีด้วยกัน 2 แนวทาง คือ นักธุรกิจในประเทศไทย สร้าง แบรนด์ และพัฒนาจนเป็นโมเดลธุรกิจร้านอาหารไทย ที่เข้มแข็ง และขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ และอีกแนวทางหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่อยู่ต่างแดน มีศักยภาพและเห็นโอกาส ในการที่รัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุน จึงใช้โอกาสนี้เพื่อการต่อยอดธุรกิจ โดยใช้พื้นฐานและศักยภาพของตัวเองที่ชำนาญพื้นที่ รู้จักตลาด รู้ช่องทางเป็นทุน ต่อยอดธุรกิจ "Thai Go" คือต้นแบบในแนวทางที่ 2 ที่ถูกพัฒนาและสร้างขึ้นโดยคนไทยที่เข้าไปตั้งหลักปักฐานที่อเมริกามานาน และมองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจร้านอาหารไทยในรูปแบบฟาสต์ฟู้ด ปัญญา ทิพยโสติถิ ประธานกรรมการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและแฟรนไชส์ บริษัท ไทยฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ กล่าวว่า ผมต้องการสร้าง "Thai Go" ให้เป็นฟาสต์ฟู้ดร้านอาหารไทย กระจายไปทั่วประเทศอเมริกา ซึ่งมองว่ามีโอกาสทางการตลาดสูงมาก ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทได้มีการลงทุนทำมา 2-3 ปีแล้ว ปัจจุบันมีอยู่ 9 สาขา และสามารถทำรายได้และกำไรเป็นที่น่าพอใจ จึงอยากที่จะฉกฉวยโอกาสนี้ขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไชส์ เพราะที่อเมริกา แฟรนไชส์ร้านอาหารไทยในรูปแบบฟาสต์ฟู้ดยังไม่มีใครทำ ถ้าเริ่มก่อน โอกาสก็มาถึงเราก่อน "ในอเมริกา ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบร้านมีที่นั่งตกแต่งในสไตล์ที่หรูหรา ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีช่องทางหนึ่ง แต่ในรูปแบบของฟาสต์ฟู้ด ก็จะเป็นโอกาสที่ดีอีกช่องทางหนึ่งอีกเช่นกัน เพราะเราจะไปตั้งอยู่ในฟู้ดคอร์ตต่างๆ" ซึ่งรูปลักษณ์จะเป็นเคาน์เตอร์ มีพื้นที่สำหรับทำครัวอยู่ด้านหลัง รูปแบบคล้ายๆ กับฟู้ดคอร์ตในบ้านเรา จะต่างก็ตรงที่ร้านใกล้เคียงเป็นร้านที่ขายอาหารนานาชาติ อาทิ จีน อเมริกัน ฯลฯ เรียกได้ว่าค่อนข้างหลากหลาย
เครดิต:
http://women.sanook.com