...สิ่งที่ชาวบ้านเชื่อและศรัทธากันนั้นเป็นเรื่องที่มีมูล
เราก็ต้องเคารพความเชื่อของเขา
เราไม่ได้ไปศึกษาตรงนั้น ก็คงจะบอกว่ามีหรือไม่มีไม่ได้...
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18873825586504_1.JPG)
วัดจอมนาง
ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
เชื่อกันว่า แม่น้ำโขงหน้าวัดจอมนาง เป็นถิ่นพญานาค
• ประวัติวัดจอมนาง
วัดจอมนาง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๒๑๐ โดยมีหญิงสาวสองนางเป็นเชื้อพระวงศ์ลาว ได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงขึ้นมาอยู่ฝั่งไทย แล้วนางทั้งสองได้ชวนกันมาก่อสร้างวัดขึ้นมาเพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศล นางทั้งสองและชาวบ้านไทยพวน (ไทยพวน คือ กลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวพวนในเมืองพวน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองพวนในปัจจุบันตั้งอยู่ที่เขตเชียงขวาง ทางทิศตะวันออกของหลวงพระบาง ทิศเหนือของเวียงจันทน์ ติดกับประเทศเวียดนาม ชนกลุ่มนี้ถ้าอยู่ในลาวเรียกว่า ลาวพวน เมื่ออยู่ในประเทศไทยเรียกว่า ไทยพวน เมื่อฝรั่งเศสเปิดศึกอินโดจีน ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือประเทศลาวทั้งหมด ชาวลาวพวนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถทนต่อการบังคับบัญชาของฝรั่งเศสได้ จึงดิ้นรนย้ายมาอยู่ในประเทศไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) และก่อนหน้านั้นก็มีชาวลาวพวนมาอยู่ก่อนแล้ว) จึงได้พากันไปขุดดินทางด้านตะวันออกของหมู่บ้าน เพื่อเอาดินมาก่อสร้างอุโบสถ ขุดลึกมากจนเป็นหนองน้ำ ปัจจุบันจึงชื่อว่าหนองจอมนาง ในช่วงที่กำลังก่อสร้างอุโบสถอยู่นั้นก็ได้มีชาวบ้าน หนุ่มชาวไทยที่กำลังก่อสร้างวัดแห่งหนึ่งอยู่ทางด้านตอนเหนือของแม่น้ำโขง ปัจจุบันชื่อว่า วัดหลวง หนุ่มชาวไทย ก็ได้พากันมาเกี้ยวพารานาสีกับแม่นางทั้งสอง จึงได้มาช่วยแม่นางทั้งสองก่อสร้างอุโบสถวัดจอมนางจนเสร็จ แล้วหนุ่มชาวไทยจึงได้กลับไปสร้างวัดหลวงต่อ ความจริงแล้ววัดหลวงลงมือก่อสร้างก่อน แต่ก่อสร้างเสร็จทีหลังวัดจอมนาง เพราะชาวบ้านหนุ่มชาวไทยมัวแต่มาพูดเกี้ยวพารานาสีกับสองนางและช่วยสองนางพร้อมด้วยชาวบ้านไทยพวน สร้างวัดจอมนางจนเสร็จก่อน และได้ชื่อเรียกว่า วัดจอมนาง จนปัจจุบัน
วัดจอมนางตั้งอยู่เลขที่ ๓๓๓ หมู่ที่ ๒ ถนนพิชัยสรเดช ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๐ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดจอมนางมีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๓๘ ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือประมาณ ๑๒๐ เมตร จรดซอย ทิศใต้ประมาณ ๑๒๐ เมตร จรดซอย ทิศตะวันออกประมาณ ๖๐ เมตร จรดถนนพิชัยสรเดช ทิศตะวันตกประมาณ ๖๐ เมตร จรดแม่น้ำโขง ปัจจุบัน พระครูสิริธรรมปคุณ (ดวง ปคุณธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาส
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/19205770144859_Image_1_.jpg)
รอยพญานาคที่ปรากฏริมแม่น้ำโขง บริเวณวัดจอมนาง อ.โพนพิสัย เมื่อวันที่ ๑๖ ก.ย. ๔๘
(ภาพจาก : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)
• นาคในพุทธศาสนา
พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยามคำว่า นาค นากคะ [naga] หมายถึง น. งูใหญ่มีหงอน เป็นสัตว์ในนิยายเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสู่จักรวาลอีกด้วย
ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคน่าจะมาจากอินเดีย ด้วยมีปกรณัมหลายเรื่องเล่าถึงพญานาค โดยเฉพาะในมหากาพย์มหาภารตะ นาคถือเป็นปรปักษ์ของครุฑ ส่วนในตำนานพุทธประวัติ ก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่าพญานาคอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษาโดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่
ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันไป แต่พื้นฐานคือพญานาคนั้นมีลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี ๗ สี เหมือนสีของรุ้ง และที่สำคัญคือนาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก พญาเศษนาคราช (อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียรสมุทร อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศีรษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในน้ำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม (จาก เว็บไซต์วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี)
นาค จัดเป็นสัตว์หิมพานต์ในจินตนาการหรือมโนคติ มีความเกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนา ทั้งพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์
ในพุทธศาสนาย้อนเวลาขึ้นไปถึงเรื่องสมัยพุทธกาล ปรากฏตามพุทธประวัติ ว่า เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธองค์ได้แปรที่ประทับเพื่อเสวยวิมุติสุขยังสถานที่ต่างๆ ในอาณาบริเวณที่ไม่ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยประทับแต่ละที่สัปดาห์ละ ๗ วัน และในสัปดาห์ที่ ๖ ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับ ณ ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้บังเกิดมีฝนและลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย พญานาค นาม มุจลินท์นาคราช ได้ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณเดียวกันนี้ เข้าไปวงขนด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้า มิให้ลมฝนพัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย
เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่จากอินเดียมาสู่ประเทศไทยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทางศิลปกรรม ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวอันเป็นอุดมคติในพุทธศาสนาที่คัมภีร์ระบุไว้ ให้เป็นรูปธรรมด้วยภาษาภาพ กล่าวคือ เล่าเรื่องด้วยภาพ และมีการสร้างพระพุทธรูป สร้างงานประติมากรรมเล่าเรื่องในศาสนา ได้แก่ นิทานพุทธประวัติ ชาดก หรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับสวรรค์ นรก จักรวาล (ไตรภูมิ) โดยสลักลงบนหิน หรือใช้ปูนปั้น เพื่อสื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องราว
ประติมากรรมรูปสัตว์มักจะเป็น “สัตว์หิมพานต์” หรือสัตว์ในวรรณคดีต่างๆ ในนิทานชาดกมักเล่าถึงบาดาลโลก มนุษยโลก และสรวงสวรรค์ โดยละเอียด เป็นเหตุให้ศิลปินคิดค้นรูปลักษณะสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาส ให้มีลักษณะพิเศษสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์และคติความเชื่อ โดยจินตนาการจากรูปร่างลักษณะของสัตว์หลายชนิดมารวมกันอยู่ในตัวเดียว ซึ่งแปลกแตกต่างไปจากสภาพตามธรรมชาติ และในประเภทสัตว์หิมพานต์ มี นาค สัตว์ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่ออย่างสูงสุดของพุทธศาสนิกชนปรากฏรวมอยู่ด้วย (ผู้โพสต์)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/80209820510612_2.JPG)
มีเรื่องเล่าว่า ในยามค่ำคืนพญานาคได้มาสักการะองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่เป็นประจำ
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75305069527692_3.JPG)
โดยตอนรุ่งเช้า ปรากฏร่องรอยงูใหญ่เลื้อยพันผนังรอบองค์เจดีย์
ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41353454771968_4.JPG)
ประติมากรรม พญานาค ทอดตัวยาวที่ราวบันไดอุโบสถ
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/22839406381050_5.JPG)
พระพุทธรูปปางนาคปรก ประดิษฐานใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าวัดจอมนาง จังหวัดหนองคาย
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/51975673685471_10.JPG)
ประติมากรรม "พญานาค"
ที่หอพระแก้ว นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ตำนานพื้นบ้าน พญานาค
“นครเอกชะทีตา” มีพระยาขอมเป็นกษัตริย์ปกครองเมือง มีพระธิดาสาวสวยนามว่า “นางไอ่คำ” ถึงเดือน ๖ เป็นประเพณีแต่โบราณของเมืองเอกชะทีตา จะต้องมีการทำบุญบั้งไฟบูชาพญาแถน พระยาขอมจึงได้ประกาศบอกไปตามหัวเมืองต่างๆ ว่า บุญบั้งไฟปีนี้จะเป็นการหาผู้ที่จะมาเป็นลูกเขยอีกด้วย ขอให้เจ้าชายหัวเมืองต่างๆ จัดทำบั้งไฟมาจุดแข่งขันกัน ผู้ใดชนะก็จะได้อภิเษกกับพระธิดาไอ่คำด้วย ข่าวนี้ได้ร่ำลือไปทั่วสารทิศทุกเมืองในขอบเขตแว่นแคว้น ต่างก็ส่งบั้งไฟเข้ามาแข่งขัน เช่น เมืองฟ้าแดดสูงยาง เมืองเชียงเทียน เชียงทอง
แม้กระทั่งพญานาคใต้เมืองบาดาลก็อดใจไม่ไหว ปลอมตัวเป็นกระรอกเผือกมาดูโฉมงามนางไอ่คำด้วย ท้าวพังคีพญานาคที่ปลอมเป็นกระรอกเผือกมีกระดิ่งผูกคอน่ารักมาไต่เต้นไปมาอยู่บนยอดไม้ข้างปราสาทนางไอ่คำ ก็ปรากฏร่างให้นางไอ่คำเห็น นางจึงคิดอยากได้มาเลี้ยง แต่แล้วก็จับไม่ได้ จึงบอกให้นายพรานยิงเอาตัวตายมา ในที่สุดกระรอกเผือกพังคีก็ถูกยิงด้วยลูกดอกจนตาย ก่อนตายท้าวพังคีได้อธิษฐานไว้ว่า “ขอให้เนื้อของข้าได้แปดพันเกวียน คนทั้งเมืองอย่าได้กินหมดเกลี้ยง” จากนั้นร่างของกระรอกเผือกก็ใหญ่ขึ้น จนผู้คนแตกตื่นมาดูกัน และจัดการแล่เนื้อแบ่งกันไปกินทั่วเมืองด้วยว่าเป็น “อาหารทิพย์” ยกเว้นแต่พวกแม่ม่ายที่ชาวเมืองรังเกียจไม่แบ่งเนื้อกระรอกให้ พญานาคแห่งเมืองบาดาลทราบข่าวท้าวพังคีถูกมนุษย์ฆ่าตาย แล่เนื้อไปกินกันทั้งเมือง จึงโกรธแค้นยิ่งนัก ดึกสงัดของคืนนั้นขณะที่ชาวเมืองชะทีตากำลังหลับใหล เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ท้องฟ้าอื้ออึงไปด้วยพายุฝนฟ้ากระหน่ำลงมาอย่างหนัก ฟ้าแลบอยู่มิได้ขาด แผ่นดินเริ่มถล่มยุบตัวลงไปทีละน้อย ท่ามกลางเสียงหวีดร้องของผู้คนที่วิ่งหนีตาย เหล่าพญานาคผุดขึ้นมานับหมื่นนับแสน ถล่มเมืองชะทีตาจมลงใต้บาดาลทันที คงเหลือไว้เป็นดอน ๓-๔ แห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกแม่ม่ายไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือก จึงรอดตาย ท้าวผาแดงได้พาไอ่คำหนีออกจากเมือง แต่แม้จะเร่งฝีเท้าม้าเท่าใดก็หนีไม่พ้น ทัพพญานาคที่ทำให้แผ่นดินถล่มตามมาติดๆ ในที่สุดก็กลืนท้าวผาแดงและพระธิดาไอ่คำ พร้อมม้าแสนรู้จมหายไปใต้พื้นดิน รุ่งเช้าภาพของเมืองเอกชะทีตาที่เคยรุ่งเรืองโอฬาร ก็อันตรธานหายไปสิ้น คงเห็นพื้นน้ำกว้างยาวสุดตา ทุกชีวิตในเมืองเอกชะทีตาจมสู่ใต้บาดาลจนหมดสิ้น เหลือไว้แต่แม่ม่ายบนเกาะร้าง ๓-๔ แห่ง ในผืนน้ำอันกว้างนี้ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนองหานหลวงดังปรากฏในปัจจุบัน
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/38553839011324_9.JPG)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88060028312934_6.JPG)
อาทิตย์อัศดง ที่ลุ่มน้ำโขง จังหวัดหนองคาย
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/67371830302807_7.JPG)
บรรยายามเย็นในลุ่มน้ำโขง จังหวัดหนองคาย
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97471865804659_8.JPG)
วิถีเรียบง่ายของชาวประมงลุ่มน้ำโขง จังหวัดหนองคาย
จาก เว็บ น้าแม็กกกกกก http://www.sookjai.com/index.php?topic=145825.0 (http://www.sookjai.com/index.php?topic=145825.0)