ใต้ร่มธรรม
คลังธรรมปัญญา => พรรณาอักษร => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊กซ ที่ สิงหาคม 01, 2016, 12:30:03 pm
-
(http://dl.topnaz.com/2012/09/2_Maulana2.jpg)
https://www.youtube.com/v/40B_lMgZgjk
https://www.youtube.com/v/GK5tBEobvCM
รูมี ทางสู่กวีนิพนธ์ ความรักและการรู้แจ้ง
ภูมิช อิสรานนท์
เหตุผลไร้ซึ่งพลังในการแสดงความรัก ความรักเท่านั้นสามารถเปิดเผยสัจธรรมแห่งความรักและการเป็นคนรัก วิถีของศาสดาทั้งหลายเป็นวิถีแห่งสัจธรรม ถ้าเธออยากอยู่ ตายด้วยรัก ตายด้วยรัก ถ้าเธออยากคงมีชีวิต
ครูของเรา
เมาลานา ญะลาลุดดิน รูมี (Maulana Jalaluddin Rumi) เป็นธรรมาจารย์ทางจิตวิญญาณและอัจฉริยภาพทางกวีนิพนธ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของมนุษยชาติ เขามิได้เป็นเพียงกวีและผู้ก่อตั้งกลุ่มทางศาสนาเท่านั้น ยังเป็นผู้มีความคิดด้านในอย่างลึกซึ้งในธรรมชาติของมนุษย์อีกด้วย เขาก่อตั้งนิกายเมาฬาวี อันเป็นลัทธิซูฟีสายหนึ่ง ซึ่งเป็นมุสลิมนอกกระแสหลักของศาสนาอิสลาม และเน้นทางภาวนา เพื่อเข้าถึงรหัสยนัยหรือความเร้นลับในสิ่งมหัศจรรย์ คือ เข้าถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า เขากล่าวว่าแม้นกบินจากโลกไปไม่ถึงสวรรค์ แต่อย่างไรก็ตาม มันได้รับประโยชน์ของการอยู่ห่างไกลจากตาข่าย ฉะนั้น มนุษย์ผู้เป็น ดัรวีช (Dervish: ผู้จาริกแสวงบุญ) แม้มิอาจเข้าถึงความสมบูรณ์พร้อม แต่ก็อยู่เหนือฝูงชนทั่วไป และหลุดพ้นจากความยุ่งยากของโลก
ขนบของรูมีไม่ใช่ ‘ตะวันออก’ และก็มิใช่ ‘ตะวันตก’ แต่อยู่กึ่งกลาง ยิ่งกว่านั้น จารีตของอิสลาม ซึ่งหล่อหลอมเขามา ถือว่ามีเพียงศาสนาเดียวมอบแก่มวลมนุษยชาติ ผ่านศาสดาหรือผู้นำสาสน์มากมาย ซึ่งนำการรู้แจ้งมาสู่ผู้คนบนโลก พระเจ้าเป็นบ่อเกิดอันวิเศษสุดของสรรพชีวิต ซึ่งเนื้อแท้ของพระองค์นั้นมิอาจพรรณนาหรือเปรียบเทียบกับสิ่งใด แต่เป็นที่รับรู้ผ่านเนื้อหาของศาสนาที่แจ่มแจ้งในโลกและในใจมนุษย์ เป็นรหัสยนัยอันลึกซึ้ง ซึ่งเน้นหนักอย่างสำคัญและชัดเจนที่เกียรติภูมิของมนุษย์และความยุติธรรมในสังคม พระศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสดาองค์สุดท้าย ผู้นำมาซึ่งสาสน์แห่งความรักของพระเจ้า
รูมีเป็นกวีที่สร้างสรรค์ผลงานมากมายแต่มิได้เป็นกวีอาชีพ เป็นผู้นำศาสนาที่คงแก่เรียน ครู นักเทศน์ และเหนืออื่นใด เป็นมุนี หรือ อาเรฟ (Aref: ผู้มีความรอบรู้เรื่องจิตวิญญาณอันนำไปสู่ความสุขสงบ) เป็นเวลาหลายศตวรรษ รูมีเป็นที่รู้จักในฐานะเมาลานา (ครูของเรา) ของผู้คนที่พูดภาษาเปอร์เซียในอิหร่านอัฟกานิสถาน ทาจิกีสถาน และหลายส่วนของอินเดียและปากีสถาน นาม รูมี หมายถึง ‘เป็นของรุม หรือ โรม’ คือ อาณาจักร
โรมัน-ไบแซนไทน์ ซึ่งเคยครอบครองอนาโตเลีย ที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ในเอเชียน้อย บนคาบสมุทรสุดตะวันตกของทวีปเอเชีย ตั้งอยู่ระหว่างทะเลดำกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน - ดินแดนอันสับสนวุ่นวายที่รูมีอาศัยอยู่เป็นเวลาส่วนใหญ่ของช่วงชีวิต
วรรณกรรมสำคัญของรูมี ได้แก่ Masnawi Man’nawi (มัษนาวี) Diwan Shams Tabrizi (กวีนิพนธ์แห่งชัมส์ ตับริซี) และ Fih Ma Fih รวมงานร้อยแก้ว ๗๑ ชิ้น รูมีสรุปงานแห่งชีวิตของตัวเองไว้ดังนี้
ผลิตผลแห่งชีวิตของข้ามิได้มากกว่าสามบรรทัดนี้
ข้าเป็นวัตถุดิบ
ข้าถูกปรุงสุก
ข้าลุกไหม้ด้วยความรัก
(http://www.tanznama.com/wp-content/uploads/2014/03/molana2.jpg)
ฉากชีวิต
รูมีได้รับการตั้งชื่อว่า ญะลาลุดดิน (ความรุ่งโรจน์ของศาสนา) มุฮัมมัด นักศ้นคว้าเชื่อกันเป็นส่วนใหญ่ว่า เขาถือกำเนิดวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๒๐๗ ในเมืองบัลค์ (Balkh) ในอัฟกานิสถานสมัยปัจจุบัน แต่มีบางคนแย้งว่าเกิดที่วัคช์ (Wakh’sh) ในทาจิกิสถานสมัยปัจจุบัน ที่แน่ๆ รูมีเติบโตในเมืองบัลค์ ซึ่งในยุคนั้นเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การค้า และปัญญาของอาณาจักรเปอร์เซีย ที่บะฮา วะลัด (Baha Valad) พ่อของเขา ได้รับเกียรติเป็น สุลตานีอูเลมา (Sulan-e Ulema หมายถึง ‘ราชาแห่งผู้คงแก่เรียน’) มีบันทึกจดไว้ว่า แม้แต่พระเจ้าโมฮัมมัด คารัสม์-ชาห์ ก็เคยเสด็จมาสดับการบรรยายของบะฮา วะลัด
พ่อของรูมีแก่กว่าห้าสิบหกปี และเป็นครูคนแรกของเขา บะฮา วะลัดมิได้เป็นเพียงนักเทศน์ แต่ยังเป็นมุนีมุสลิม หรือซูฟี ตามจารีตของอิสลาม พวกซูฟีขัดแย้งกับพวกฟะลาซะเฟะห์ (Falasafeh: นักปรัชญา) ซูฟีเพรียกหาประสบการณ์ทางจิตวิญญาณโดยตรง การภาวนา และความรัก ส่วนฟะลาซะเฟะห์เน้นการคิดอย่างมีเหตุผล ความรู้ทางปัญญาและการโต้แย้งเชิงตรรกะ ความคิดสองสาขานี้ไม่น่าจะขัดแย้งกัน แต่ซูฟีเชื่อว่าปรัชญาไม่สามารถแทนที่การปฏิบัติและประสบการณ์ได้ บนเส้นทางสู่ความรัก รูมีเคยกล่าวว่า “ขาของผู้โต้แย้งเชิงตรรกะนั้นทำด้วยไม้” อีกนัยหนึ่ง เขาพูดได้ แต่เดินไม่ได้ ซูฟียังมีความแตกต่างกับฟุกะฮา (Fuqaha) หรือผู้ชำนาญกฎหมายอิสลาม ซึ่งเกี่ยวข้องกับระเบียบและพิธีกรรม
ในการสนทนาสาธารณะ บะฮา วะลัดจะวิพากษ์วิจารณ์นักปรัชญา เป็นที่ชัดเจนว่าคำพูดและอิทธิพลของเขาต่อประชาชานั้นทำร้ายความรู้สึกของอิหม่ามฟัครุดดิน ราซิ (Fakhruddin Razi) นักเทววิทยามุสลิมคนสำคัญและเป็นอาจารย์ของพระราชา ทั้งหมดนี้ทำให้ชีวิตยากลำบากแก่บะฮา วะลัด ยิ่งกว่านั้น มีความวาดกลัวกันไปก่อนถึงการรุกรานโดยกองทัพอันเหี้ยมโหดของเจงกีส ข่าน (ซึ่งในที่สุดการรุกรานและการโจมตีอันนองเลือดนี้ก็เกิดขึ้น) บะฮา วะลัดอพยพจากเมืองบัลค์และพาครอบครัวไปทางตะวันตก
ระหว่างทางสู่แบกแดด กองคาราวานของบะฮา วะลัดแวะพักที่เมืองนิชาบุร์ (Nishabur) ณ ที่นี้เอง อัตตาร์ (Attar) กวีเปอร์เซียและครูซูฟีผู้ยิ่งใหญ่ ก็ได้พบกับรูมีวัยสิบสองขวบและให้หนังสือว่าด้วยรหัสยลัทธิของตน Asrar Nameh (คัมภีร์สิ่งเร้นลับ) แก่เขาเล่มหนึ่ง และกล่าวกับพ่อของเด็กชายว่า “คำพูดอันแหลมคมของเด็กคนนี้จะจุดประกายแก่จิตวิญญาณของคนรักทั่วโลก”
บะฮา วะลัดและครอบครัวเดินทางไปแสวงบุญที่เมกกะ พักอยู่ในดามัสกัสชั่วคราว และในที่สุดก็เดินทางต่อไปยังอนาโตเลีย ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของราชวงศ์เซลจุก (Seljug) ห่างไกลจากอิทธิพลของมองโกเลีย แม่ของรูมีเสียชีวิตในเมืองลารันดา (ปัจจุบันเรียกว่า คารามาน) หนึ่งปีต่อมารูมีวัยสิบแปดก็แต่งงานกับกูฮาร์ผู้เป็นเพื่อนมาแต่วัยเด็ก ซึ่งครอบครัวของนางติดตามครอบครัววะลัดมาจากบัลค์ สุลต่าน วะลัด ลูกชายของรูมีเกิดที่ลารันดา อยู่มาได้ระยะหนึ่ง ตามคำขอของพระเจ้าอะลาเอดดิน คัยโกบาด แห่งราชวงศ์เซลจุก บะฮา วะลัดกับครอบครัวย้ายไปอยู่เมืองโคเนีย ที่วิทยาลัยถูกสร้างขึ้นสำหรับเขา สองปีต่อมา บะฮา วะลัด วัย ๘๐ ก็ถึงแก่กรรมในปี ๑๒๓๑ และรูมี ตอนนั้นอายุ ๒๔ ก็รับตำแหน่งแทนผู้เป็นพ่อ
หลังจากนั้นไม่นาน บุรฮานุดดิน ติรมัดฮิ (Burhanuddin Tirmadhi)-สาวกของบะฮา วะลัดและครูของรูมีครั้งอยู่เมืองบัลค์ ก็เดินทางมาโคเนีย เพื่อชี้แนะทางจิตวิญญาณและประสิทธิ์ประสาท ‘ศาสตร์แห่งศาสดาและการเทศนา’ อยู่เก้าปี เขาฝึกฝนชายหนุ่มอย่างเป็นระบบและแนะนำให้รูมีอ่าน Ma’aref (คำสอน) ของบะฮา วะลัด ในระหว่างนั้น รูมียังศึกษาแนวคิดทางศาสนาสายสำคัญๆ ของสมัยนั้นเป็นเวลากว่าสี่ปี จากอาจารย์ซูฟีและนักวิชาการมุสลิมผู้ยิ่งใหญ่หลายคนในเมื่องอเลปโปและดามัสกัส (ทั้งสองเมืองอยู่ในซีเรียสมัยปัจจุบัน) ในฐานะนักวิชาการมุสลิม รูมีศึกษาภาษาอาหรับและคัมภีร์อัล กุรอาน ถ้อยคำและการปฏิบัติของพระศาสดามุฮัมมัด พิธีกรรมของอิสลาม กฎหมาย ปรัชญา และประวัติศาสตร์ หนังสือของรูมีแสดงให้เห็นว่าเขามีความรอบรู้ด้านวรรณคดีอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ทั้งภาษาอาหรับและเปอร์เซีย ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เขาชื่นชอบกวีอาหรับอย่างน้อยหนึ่งคน คือ มุตะนับบี (Mutanabbi) และกวีเปอร์เซียสองคน คือ อัตตาร์กับซะนาอี (Sana’’i)
รูมีกลับโคเนียในปี ๑๒๓๒ และบุรฮานุดดินบอกว่าแม้เขาจะเป็นผู้รู้ ‘ศาสตร์ของสิ่งปรากฏ’ แต่ก็ยังหารู้ ‘ศาสตร์ที่ซ่อนเร้น’ ไม่ เขาให้รูมีปลีกวิเวกสี่สิบวัน ถืออดและบำเพ็ญภาวนา จากนั้นรูมีก็เริ่มมีชื่อเสียงในฐานะผู้รอบรู้ทางศาสนาแห่งโคเนีย บุรฮานุดดินถึงแก่กรรมในปี ๑๒๔๑
(http://2.bp.blogspot.com/-xKM58h-3XVU/UeZdF47ptyI/AAAAAAAAyVY/zO6CUaraP60/s1600/%D9%85%D9%88%D9%84%D9%88%DB%8C5.jpg)
เมื่อสองมหาสมุทรพบกัน
การพบกับชัมส์ ตับริซี ดัรวีช พเนจร นับเป็นการเกิดใหม่ของรูมี มีเกร็ดหลายเรื่องกล่าวถึงการพบกันนี้ ญามี (Jami) กวีเปอร์เซียในศตวรรษที่สิบห้า เขียนว่า วันหนึ่ง ตอนปลายฤดูใบไม้ร่วงปี ๑๒๔๔ รูมีกำลังนั่งอยู่ริมสระน้ำกับสาวกและหนังสือ ชัมส์ ซึ่งรูมีไม่รู้จัก ก็เข้ามาทักทายแล้วนั่งลง เขาขัดจังหวะการบรรยายของรูมี ชี้ไปยังหนังสือพลางถามขึ้นว่า “พวกนี้เป็นอะไร” รูมีตอบว่า “นี่เป็นความรู้บางอย่างที่ท่านไม่เข้าใจ” จากนั้นชัมส์โยนหนังสือทั้งหมดลงไปในน้ำแล้วพูดขึ้น “และนี่เป็นความรู้บางอย่างที่เจ้าไม่เข้าใจ”
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีที่สุด ซึ่งผู้คนเล่าลือถึงอิทธิพลของชัมส์ในชีวิตของรูมี ครั้นแล้ว นักเทววิทยาทางตำราอันแห้งแล้วก็หันมาสู่รหัสยลัทธิหลังจากได้พบกับรหัสยเมธีผู้อาวุโส ซึ่งไม่ชอบความรู้ทางตำรา การพบกันของชัมส์กับรูมีเปรียบเสมือนการรวมกันของสองมหาสมุทร การอบรมเลี้ยงดูและการศึกษาที่รูมีได้รับมานั้นได้บ่มเพาะเขามาเพื่อดำรงชีวิตเป็นรหัสยเมธี อีกฝ่ายหนึ่งชัมส์เป็นคนไม่รู้หนังสือ เขาเกิดที่เมืองตับริซทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่านราวหกสิบปีก่อนมาโคเนีย เขาได้ศึกษากับครูบาอาจารย์มากมาย และMaqalat Shams Tabrizi หนังสือคำบรรยายของเขาที่หลงเหลืออยู่ แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้รอบรู้มากคนหนึ่ง ชัมส์ชุบความรู้สึกทางรหัสยและศิลปะของรูมีให้ฟื้นคืนมา หลังจากนั้นรูมีหันมาสู่ดนตรี ระบำและกวีนิพนธ์ และผละจากหนังสือ ชัมส์ไม่ให้รูมีอ่านหนังสือของผู้เป็นพ่อเสียด้วยซ้ำ
ใน กวีนิพนธ์ชัมส์ ตับริซี รูมีได้แสดงออกมากมายซึ่งความรัก ความนับถือ ความชื่นชม และความโหยหาชัมส์ จนมีผู้คิดว่าความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเป็นแบบรักร่วมเพศ ทัศนะเช่นนี้เป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิงทั้งทางวัฒนธรรมและทางจิตวิญญาณ การตีความความสัมพันธ์ของรูมีกับชัมส์ผิดยังทำให้สิ่งแวดล้อมทางจิตวิญญาณที่สองคนนี้อาศัยอยู่คลาดเคลื่อนไปหมดอีกด้วย ตามลัทธิซูฟีมีธรรมเนียมที่เรียกว่า ซอห์บัต (soh’bat) หรือการสนทนาในระหว่างปลีกวิเวก ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างผู้แสวงหาสองคนขณะแบ่งปันความรู้ เรื่อง
ราวและประสบการณ์ เชื่อกันว่าซอห์บัตทำให้จิตและวิญญาณของผู้แสวงหาแก่กล้าขึ้น รูมีเองก็เขียนบทกวีเกี่ยวกับธรรมเนียมนี้
โอ้ ใจของข้า
นั่งกับผู้เข้าถึงใจ
นั่งใต้ต้นไม้
ซึ่งมีดอกสด
ในตลาดของคนขายน้ำหอม
อย่าเร่ร่อนเหมือนเจ้าไร้การงาน
นั่งกับเจ้าของร้าน
ผู้มีน้ำตาลในร้านค้า
มิใช่ทุกดวงตามีแววตา
มิใช่ทุกทะเลมีเพชรพลอย
ราซูล ซอร์คาบี ตีความความสัมพันธ์ของรูมี-ชัมส์เป็นเสมือนการเปรียบเทียบ ซึ่งทั้งชัมส์และรูมีเคยใช้ในการบรรยายของตน-การเปรียบเทียบกับ ‘กระจก’ (Ayeeneh) กระจกสะท้อนสิ่งที่มากระทบโดยไม่ตัดสิน และดังนั้นเราจึงเห็นตัวเองอย่างที่เราเป็นอยู่ ตามสภาวะดีเลวของจิตใจ มิตรทางจิตวิญญาณเปรียบเสมือนกระจก ซึ่งสะท้อนและยังความแก่กล้าแก่ความดีและความงามด้านใน ทั้งยังแสดงความอ่อนแอและด้านมืดในลักษณะอันปราศจากการดึงดื้อถือดี เพื่อว่าเราจะได้เห็นด้วยตัวเองและหาทางแก้ไข
ในปี ๑๒๔๘ ชัมส์หายไปจากโคเนีย และด้วยเหตุนี้จึงหายไปจากประวัติศาสตร์ด้วย นักค้นคว้าบางคนเชื่อว่า เขาถูกฆาตกรรมโดยสาวกผู้ริษยาของรูมี ซึ่งได้สูญเสียผู้เป็นอาจารย์แก่ชายชราแปลกหน้าคนนี้ แต่บางคนก็เชื่อว่าชัมส์ไปจากโคเนียเอง อย่างที่เขาเคยทำมาก่อนครั้งหนึ่งเป็นเวลาช่วงสั้น ๆ เพราะพวกสาวกของรูมีทำให้ชีวิตยุ่งยากแก่เขามากเกินไป ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม การหายไปของชัมส์เป็นเสมือนพายุพัดกระหน่ำรูมีทางจิตใจ เขาไปดามัสกัสสองครั้งเพื่อตามหาผู้เป็นกัลยาณมิตร ครั้นเวลาล่วงไป รูมีได้พบกับมิตรทางจิตวิญญาณอีกสองคน ซะลาฮุดดิน ซาร์กุบ (Salahuddin Zarkub) ผู้เป็นช่างทอง และฮุซามุดดิน เชเลบี (Husamuddin Chelebi) ผู้เป็นสาวกคนสนิท ถ้าชัมส์เป็นพระเอกใน กวีนิพนธ์ ของรูมี ฮุซามุดดินก็เป็นบุคคลที่รูมีท่อง มัษนาวี ให้จดในช่วงเจ็ดปีสุดท้ายของชีวิต
(http://www.ambafrance-af.org/local/cache-vignettes/L505xH499/81c092b13f81cdf8-8272f.jpg)
มัษนาวี
งานชั้นเอกของรูมีคือ มัษนาวี ซึ่งประกอบด้วยหกบรรพหรือเล่ม และสาธยายเนื้อหาอันหลากหลายด้วยความวิจิตรพิสดารยิ่ง ไม่ว่าเรื่องราว นิทาน ตำนาน การเปรียบเทียบและสารัตถะในคัมภีรอัล กุรอาน ซึ่งสอดแทรกด้วยหลักธรรมของลัทธิซูฟีตลอดเรื่อง มีเกร็ดเล่าว่า ขณะท่องเที่ยวกันในไร่องุ่นนอกเมืองโคเนีย ฮุซามุดดินบอกความคิดว่าถ้ารูมีแต่งหนังสือได้อย่างซะนาอีหรืออัตตาร์ก็จะมีคนขับลำนำมากมายนำไปขับขานและแต่งดนตรีประกอบ รูมีพรายยิ้มแล้วหยิบกระดาษชิ้นหนึ่งออกมากจากซอกพับของผ้าโพกหัว ซึ่งเขียนถ้อยคำเปิดเรื่อง มัษนาวี
จงสดับขลุ่ยอ้อที่โหยหวนครวญครางอย่างถวิลหาอาลัย
หายใจระทดระทวย ตั้งแต่เมื่อมันถูกทึ้งจำพราก
จงสดับรับฟังเสียงขลุ่ยอ้อ มันได้อุทธรณ์ทุกข์อย่างไร
กำลังคร่ำครวญถึงการถูกเนรเทศจากบ้านเกิดเมืองนอนของมัน
นับตั้งแต่ที่พวกเขาได้ฉีกทึ้งตัวฉันออกมาจากพงอ้อ
อันเป็นสถานภูมิลำเนาของฉันนั้น
และตั้งแต่นั่นมา เสียงคร่ำครวญโหยหาของฉัน
ก็ได้เร่งเร้าน้ำตาของมนุษย์ทั้งหญิงชายให้ไหลพรากออกมา
(รูมี, มัษนาวี, ไรน่าน อรุณรังสี แปล.)
ฮุซามุดดินร่ำไห้ด้วยความปรีติและขอให้รูมีเขียนอีกเป็นเล่มๆ เขาตอบว่า “ฮุซามุดดิน ถ้าเจ้ายินดี ข้าก็จะท่องให้จด” ดังนี้แล มัษนาวี ผลงานอันเป็นประดุจอนุสาวรีย์ของรูมีก็ถือกำเนิดขึ้นมาบนบรรณพิภพ
อาจถือได้ว่า มัษนาวีเป็นคัมภีร์ทางจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่เขียนโดยมนุษย์ และได้รับการยกย่องอย่างสูงจากชาวอิหร่านว่าเป็นวรรณคดีสำคัญยิ่งในภาษาเปอร์เซีย สารัตถะของงานชั้นเอกนี้บรรจุไว้ซึ่งมวลชีวิตบนโลก กิจกรรมของผู้คน – ไม่ว่าทางศาสนา วัฒนธรรม การเมือง เพศ และครอบครัว นิสัยของมนุษย์ตั้งแต่ผู้หยาบช้าถึงผู้ละเอียดอ่อน ตลอดจนรายละเอียดอันมากมายและชัดเจนของโลกธรรมชาติ ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นหนังสือที่นำเสนอมิติอันเที่ยงตรงของชีวิต - ตั้งแต่โลกแห่งความปรารถนา การงานและสรรพสิ่ง ถึงระดับสูงสุดของอภิปรัชญาและการรู้แจ้งในสิ่งมหัศจรรย์อันอยู่เหนือโลก
(https://i.ytimg.com/vi/igCKbPXdgJE/hqdefault.jpg)
ความรักในกวีนิพนธ์ของรูมี
ความรัก (Ishq) เป็นเสมือนเส้นด้ายที่สอดแทรกบทกวีของรูมีอยู่ทั่วไป ทั้งโดยตรงหรือโดยนัย ความลึกซึ้งของภาษาและจินตภาพอันเร่งเร้าอารมณ์ที่รูมีใช้แสดงออกความรักนั้นมิค่อยได้พบเห็นในกวีอื่นๆ ความรักในบทกวีของรูมีมิใช่ความรักฉันชู้สาว แต่เป็นความรักอันงอกงามมาจากการตระหนักในความรักของพระเจ้าที่แผ่ขยายมาสู่โลกและชีวิตของมนุษย์ รูมีกล่าวว่า
ในอาณาจักรที่มิอาจแลเห็น
ณ ที่นั้นมีไม้จันทน์ ลุกไหม้
ความรักนี้
เป็นควันของธูปหอมนั้น
รูมีมองความรักที่แท้ของมนุษย์นั้นเป็นการสะท้อนความรักอันเป็นสากล มิใช่ความรักที่เป็นแรงดึงดูดระหว่างผู้โดดเดี่ยวสองคน แต่เป็นความรักที่ฝังแฝงอยู่ในทุกสายใยของจักรวาล ตรงนี้ รูมีกล่าวอีกว่า
ถ้าท้องฟ้ามิได้มีความรัก
แผ่นอกของมันก็ไม่น่าอภิรมย์
ถ้าตะวันมิได้มีความรัก
ดวงหน้าของมันก็ไม่แจ่มกระจ่าง
ถ้าผืนดินและภูเขามิได้มีความรัก
พืชพันธุ์ก็มิอาจงอกออกมาจากหัวใจของมัน
ถ้าทะเลมิได้ตระหนักถึงความรัก
มันคงจะเงียบงันอยู่ที่ใดสักแห่ง
ซอร์คาบีคิดว่ามีกระบวนการอันเป็นฐานของความรักอยู่สองประการในกวีนิพนธ์ของรูมี คือ (๑) การแปรเปลี่ยน และ (๒) การอยู่เหนือกว่า
รูมีจัดพลังแห่งการแปรเปลี่ยนของความรักต่างจากสิ่งอื่นๆ ผ่านความรัก เขากล่าว ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางบวก และได้รับผลตอบแทนมากกว่าวิธีการอื่นๆ ในมัษนาวี รูมีเล่าเรื่องของลุกมาน บัณฑิตผู้มีชื่อเสียงในตะวันออกกลางครั้งโบราณ ซึ่งวันหนึ่งกำลังกินแตงโมอยู่เมื่อผู้เป็นอาจารย์เข้ามาร่วมกินด้วย แต่พบว่าแตงโมนั้นขมมาก อาจารย์จึงว่ากล่าวลุกมานว่าทำไมจึงไม่บอกก่อนว่าแตงโมขม ลุกมานตอบว่ามันไม่ได้ขมสำหรับเขา เนื่องจากเขากำลังกินแตงโมด้วยความรักในบ้านของผู้เป็นอาจารย์
ผ่านรัก
ที่ขมก็หวาน
ผ่านรัก
ทองแดงก็กลายเป็นทองคำ
ผ่านรัก
รสชาติของเสียก็เหมือนเหล้าองุ่นบริสุทธิ์
ผ่านรัก
เจ็บก็หาย
บางครั้งเราติดอยู่ในปัญหาหรือความขัดแย้ง และมิอาจหาทางออกอย่างมีเหตุผลได้ด้วยสติปัญญาที่ตรึกตรองถี่ถ้วนแล้ว ในการแปรเปลี่ยนของความรัก ปัญหามิได้ถูกแก้ไข แต่มันสลายไป
เหตุผลว่า
หกทิศทางนี้มีข้อจำกัด
หามีทางออกไม่!
ความรักว่า
มีอยู่ทางหนึ่ง
ข้าไปแล้วหลายครั้ง
เหตุผลเห็นตลาดและเริ่มค้าขาย
ความรักได้เห็นตลาดอื่นๆ นอกเหนือตลาดนี้
คล้ายคลึงกับหลักนิพพานในพุทธศาสนา ซูฟีกล่าวว่า ฟะนา (fana) เป็นการทำลายอัตตาและสลายไปในความรักของพระเจ้า ในสภาวะนั้นของความรัก เราเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน อีกนัยหนึ่ง ผู้แสวงหาไปพ้นจากความเป็นคู่และกลายเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นที่รัก จงสดับรูมีเถิดว่าการอยู่เหนือกว่านี้คืออะไร
โอ้ ชาวมุสลิม จะทำอย่างไรเล่า
เพราะข้ามิอาจแยกแยะตัวเอง
ข้ามิได้เป็นทั้งชาวคริสต์หรือชาวยิว
ทั้งโซโรแอสเตรียนหรือมุสลิม
ข้ามิได้เป็นตะวันออกหรือตะวันตก
ทั้งของแผ่นดินหรือของทะเล
ข้ามิได้มาจากเหมืองของธรรมชาติหรือจากวงล้อมของท้องฟ้า
ข้ามิได้มาจากโลกนี้หรือโลกหน้า ทั้งจากสวรรค์หรือจากนรก
ข้ามิได้มาจากอดัมหรืออีฟ
ที่ของข้าไร้หลักแหล่ง ทางของข้าไร้ร่องรอย
นี้มิใช่ทั้งสังขารหรือวิญญาณ
เพราะข้าเป็นของจิตวิญญาณแห่งผู้เป็นที่รัก
เป็นพลเมืองนอกเหนือโลก
(http://3.bp.blogspot.com/-6ItFfvdNvrI/UJv0CSesTBI/AAAAAAAACtM/qYVumn95ECI/s1600/hay+sokan.jpg)
พลเมืองนอกเหนือโลก
เหตุใดกวีนิพนธ์ของรูมียังมีผู้อ่านแพร่หลายในดินแดนต่างๆ หลังจากเสียชีวิตไปแล้วกว่าร้อยเจ็ดปี บางทีบทกวีชิ้นหนึ่งของเขาเองอาจตอบคำถามนี้ได้
ข้ามิได้แสวงหาโลกนี้หรือโลกหน้า
อย่าแสวงหาข้าในโลกนี้หรือโลกนั้น
มันหายไปทั้งคู่ในโลกที่ข้าอยู่
รูมีเป็นพลเมืองนอกเหนือโลก (out of the world) จริงอยู่ ชีวิตของเขาหยั่งรากในวัฒนธรรมอิสลามและเปอร์เซีย แต่ผู้เลือกเขาเป็นใจของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ บทกวีของเขาจึงยกเราขึ้นจากโลกียวิสัยและเสนอแก่เราซึ่งความผ่องแผ้ว ความแจ่มแจ้งและความงามของวิสัยทัศน์แห่งกวีนิพนธ์ และเมื่อเท้าของเราสัมผัสผืนโลกอีกครั้ง เราไม่ได้รู้สึกผ่อนคลาย แต่โปร่งเบา
รูมีมิได้มองความรักของพระเจ้าเป็นเนื้อหาอันเป็นนามธรรมสำหรับกวีหรือนักปรัชญา แต่เป็นรากฐานสำหรับเราในการดำรงชีวิต กวีนิพนธ์ของรูมียังเป็นจริยธรรมที่มิได้ถูกทำให้เป็นระบบระเบียบและอยู่บนพื้นฐานของความรัก ไม่ใช่กฎหมาย เขามิได้มองพระเจ้าเป็นบิดาบนสวรรค์ลิบโพ้น แต่เป็นดูสต์ (doost) หรือมิตรบนโลกนี้ รูมีร่ายบทกวีที่บังเกิดขึ้นมาเองโดยไม่ได้ปรุงแต่ง – บ่อยครั้งขณะร่ายรำหมุนวนหรือขณะฟังดนตรี และเขาปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเทศนาในกวีนิพนธ์ มีเรื่องราวบันทึกไว้มากมายถึงความอ่อนน้อมและความเมตตาของเขาที่มีต่อผู้คน ไม่ว่าเป็นใครก็ตาม
เมื่อรูมีถึงแก่กรรมวันอาทิตย์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๑๒๗๓ ยามอาทิตย์อัสดงในเมืองโคเนีย ชาวเมือง ไม่ว่ามุสลิม ยิวและคริสเตียน คนจน คนรวย ผู้คงแก่เรียน ผู้ไม่รู้หนังสือ ล้วนมาร่วมงานศพเขาและคร่ำครวญอาลัย อะห์มัด อัฟลากี (Ahmad Aflaki, ? - ๑๓๕๙) ผู้เป็นสาวก จดไว้ว่าผู้คลั่งศาสนาบางคนคัดค้านผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม แต่ชาวยิวและคริสเตียนบอกเขาว่าเพื่อนมุสลิมเข้าถึงพระศาสดามุฮัมมัดผ่านรูมีฉันใด พวกเขาก็เข้าถึงโมเสสและพระเยซูผ่านรูมีฉันนั้น ฉะนั้น บางทีกวีนิพนธ์ของรูมีอาจนับเป็นวิสัยทัศน์แห่งการรู้แจ้งและเป็นเสียงแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันสำหรับโลกที่แบ่งแยกและศตวรรษแห่งความรุนแรงนี้
ข้าเป็นดวงเดือนทุกแห่งหนและมิเป็นของที่ใด
อย่าแสวงหาข้าจากภายนอก ข้าสถิตอยู่ในชีวิตของเจ้าเอง
ใครใครเรียกเจ้าออกไปหาตัวเขา ข้าเชิญเจ้าเข้ามาหาตัวเอง
กวีนิพนธ์เป็นดุจเรือและความหมายของมันเป็นดั่งทะเล
รีบมาลงเรือเถิด ปล่อยให้ข้าแล่นเรือลำนี้!
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/252/28252/images/S-10/rm-b-1.jpg)
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/252/28252/images/S-10/rm-b-2.jpg)
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/252/28252/images/S-10/rmb-4.jpg)
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/252/28252/images/S-10/rm-b-6.jpg)
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/252/28252/images/S-10/rm-b-7.jpg)
หมายเหตุ: บทความนี้ใช้ “Master Rumi: The Path to Poetry, Love and Enlightenment” โดย Rasoul Sorkhabi เป็นหลักในการเรียบเรียง รอซูล ซอร์คาบีเกิดที่เมืองตับริซทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ – อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตาม เขาพกพากวีนิพนธ์ของรูมีไปด้วยเสมอ เขากำลังแปลThe Rubaiyat of Rumi จากต้นฉบับดั้งเดิมเป็นภาษาอังกฤษ และเป็นผู้ประสานงานสโมสรกวีนิพนธ์รูมี
อ้างอิง
๑ Rehatsek, Edward. “Biography of Jellal-al-din Rumi”, The Indian Antiquary, vol. IV, 1875. [www.sacred-texts.com]
๒ Sorkhabi, Rasoul. “Master Rumi: The Path to Poetry, Love and Enlightenment”, Kyoto Journal, 66, 2007.
[www.kyotojournal.org]
๓ เมาลานา ญะลาลุดดีน มุฮัมมัด รูมี. มัษนาวี, ไรน่าน อรุณรังษี แปล, ศูนย์วัฒนธรรมอิสลาม
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ร่วมกับ สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย, ๒๕๔๕.
ที่มา: สานแสงอรุณ ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๔ กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๕๑
*นำไปเผยแพร่ต่อ กรุณาอ้างอิงที่มา*
จาก http://www.oknation.net/blog/sarnsaeng-arun/2008/09/19/entry-2 (http://www.oknation.net/blog/sarnsaeng-arun/2008/09/19/entry-2)
-
(https://pp.vk.me/c625218/v625218592/3b102/6fvJ9IBNzP8.jpg)
ญะลาลุดดีน มุฮัมมัด รูมี นักปราชญ์ผู้สามารถถ่ายทอดความรู้และความศรัทธา...ผ่านบทกวี
ญะลาลุดดีน มุฮัมมัด รูมี เกิดที่เมืองบัลค์ หรืออัฟกานิสถานปัจจุบัน เมื่อปีค.ศ.1207 บิดาของเขาคือ บะฮาอุดดีน บะลัด เป็นนักกฎหมาย ผู้นักรหัสนัย(ซูฟี)ทางศาสนาอิสลาม และยังเป็นนักกวีผู้มีชื่อเสียง งานประพันธ์ของเขาเกี่ยวข้องกับจิตวิญญาน และเนื้อหาต่างๆในเชิงปรัชญาเกี่ยวกับการค้นหาเรื่องราวเร้นลับในการดำรงอยู่ของพระเจ้ามากกว่า เรื่องราวต่าง ๆ ทางโลก ท่านได้รับการยกย่องไปทั่วโลกในเรื่องการพรรณนาโดยใช้โวหารเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมย เนื้อหาส่วนใหญ่ ผลงานประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของท่านคือ "มัษนาวี"
ชีวิตในวัยเด็กของรูมีอยู่ในช่วงความสับสนวุ่นวายทางการเมืองและสังคม ซึ่งเป็นยุคของการทำสงครามครูเสด(สงครามศาสนา) และบริเวณที่รูมีอาศัยอยู่ก็ตกอยู่ในการคุกคามอย่างต่อเนื่องจากการบุกรุกของชาวมองโกล การกลียุคอย่างยิ่งยวดที่รูมีต้องเผชิญในระหว่างชีวิตของท่านนั้น กล่าวกันว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเขียนบทกวีของเขา รูมีและครอบครัวของเขาเดินทางไปทั่วดินแดนมุสลิม บิดาของเขาละทิ้งบัลค์ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาไปยังแบกแดด มักกะฮฺ ดามัสกัส และมาลาเทีย ทางตะวันตกของตุรกี ต่อมา ในที่สุด บิดาของเขาได้ย้ายไปยังคอนยา ตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี ตามคำเชิญของสุลต่านเซลจุก
ที่คอนยานี้เอง ที่บิดาของรูมีได้กลายเป็นครูใหญ่ของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง และเมื่อเขาเสียชีวิตลง รูมีจึงได้สืบทอดตำแหน่งต่อมา ในตอนนั้นรูมีเป็นนักธรรมเทศนาในมัสญิดต่างๆ ของคอนยา และสอนผู้ติดตามของเขาที่มัดรอซะฮฺ(โรงเรียนสอนศาสนา) ระหว่างช่วงนี้เอง รูมีได้เดินทางไปยังดามัสกัส และใช้เวลาอยู่ที่นั่นสี่ปี การที่เขาได้พบกับชัมส์ ฏ๊อบรีซีย์ นักรหัสนัยในศาสนาอิสลามที่ดามัสกัสนี้เองที่ได้เปลี่ยนชีวิตของรูมีไปโดยสิ้นเชิง ทั้งการพบกันของทั้งสองคนนี้เป็นเรื่องราวที่ลึกลับ คืนหนึ่งในขณะที่พวกเขากำลังคุยกันนั้น มีเสียงเรียกชัมส์มาจากประตูด้านหลัง เมื่อเขาออกไป ก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย รูมีได้ออกตามหาเขาไปทั่วดามัสกัส แต่ก็ไม่พบ
หลังจากการได้พบกับชัมส์นั้น รูมีสามารถประพันธ์บทกวีได้อย่างเป็นธรรมชาติเป็นเวลาสิบปี และบทกวีของเขาถูกตั้งชื่อว่าชัมส์ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เขา เขาอาศัยอยู่ในคอนยาตลอดชีวิตที่เหลือของเขาโดยยังคงสอนและประพันธ์บทกวี จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1273 กษัตริย์เซลจุกได้สร้างสถานที่ฝังศพเพื่อเป็นเกียรติให้แก่เขา และมันตั้งอยู่ใกล้กับมัสญิดหลังหนึ่งที่สร้างโดยเจ้าชายออตโตมานผู้มีความชื่นชมยกย่องรูมีอย่างแรงกล้า
(http://www.ahlulbait.org/images/scholars/rumie.jpg)
ญะลาลุดดีน รูมี คือนักกวีในแนวเร้นลับที่น่ายกย่องที่สุดในโลกท่านหนึ่ง เขายังเป็นนักปรัชญา นักกฎหมาย และนักรหัสนัย ตลอดชีวิตของเขาได้ประพันธ์บทกวีเพื่อการอุทิศตนและกระตุ้นจิตวิญญาณอย่างมากมาย เป็นการกล่าวถึงการหลอมรวมกันของมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้าด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ จินตกวีนิพนธ์เหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อรูมีได้รับการยกย่องว่าเป็นนักกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของตะวันตก ถึงแม้รูมีจะเป็นซูฟี และเป็นผู้รู้อัล-กุรอานที่ยิ่งใหญ่ แต่คำสอนในบทกวีของเขาข้ามพ้นมิติของศาสนาและสังคม
บทกวีของรูมีสามารถแบ่งออกได้เป็นหมวดหมู่ต่างๆ ดังนี้คือ กะซาล หรือโคลง, รุบบัยยาต หรือบทร้อยกรองสี่บรรทัด และมัษนาวี หรือโคลงบทละสองบรรทัด หนังสือเล่มแรกของเขาคือ ดิวาน ชัมส์ ฏ๊อบรีซี ประกอบไปด้วยบทกวีของรูมีในรูปแบบต่างๆ ของบทกวีอิสลามตะวันออก หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมบทกะซาลและโคลงกลอนสั้นๆ 40,000 บท เป็นผลงานชิ้นเอกทางปัญญาและวรรณศิลป์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นยอดเยี่ยมที่สุดของวรรณคดีเปอร์เซีย
ผลงานชิ้นใหญ่ของรูมีคือ มัษนาวี หนังสือบทกวีหกภาค ประกอบไปด้วย บทกลอน 50,000 บท เป็นผลงานที่นับได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกทางจิตวิญญาณที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่มนุษย์เขียนขึ้นมา เนื้อหาของมันครอบคลุมชีวิตบนโลกนี้ในทุกรูปแบบ ทุกกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม การเมือง ลักษณะของมนุษย์ทุกประเภท ทำให้คนธรรมดาสามัญเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ มีรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงของโลก ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ความสมบูรณ์แบบของหนังสือเล่มนี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจผู้อ่านอย่างมาก
ตัวอย่างผลงานการประพันธ์ของญะลาลุดดีน รูมี จากหนังสือมัษ ถอดความโดย อ.ไรน่าน อรุณรังษี (ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตาดวงวิญญานของท่านทั้งสอง)
"เมื่อกระจกแห่งหัวใจใสสะอาด
และปราศจากสิ่งแปดเปื้อน
ภายในนั้นท่านจะได้เห็นภาพหลากหลาย
ที่โพ้นแผ่นดิน โพ้นแผ่นน้ำ
ท่านเห็นทั้งสอง
ทั้งผู้วาดและภาพวาดต่างๆ
ทั้งพรมสวรรค์และผู้คลี่พรมนั้น"
--------
"ความรักคือผู้พิชิต
และฉันได้ถูกพิชิตแล้ว
ฉันถูกทำให้รู้แจ้งโดยผ่านแสงแห่งความรัก
คนรักทั้งหลาย
ตกอยู่ในทะเลเดือดแห่งความรัก
ฉะนั้น..ณ ที่ความกรุณาปราณีของความรัก
เขาทั้งหลายเหมือนโม่หินบด
หมุนไปทั้งวันและคืน
เคลื่อนไป เคลื่อนไป ไม่หยุดหย่อน"
(http://www.ahlulbait.org/images/scholars/rumiread.jpg)
จาก http://www.ahlulbait.org/main/content.php?category=45&id=328 (http://www.ahlulbait.org/main/content.php?category=45&id=328)
http://www.sookjai.com/index.php?topic=177873 (http://www.sookjai.com/index.php?topic=177873)
-
รักบริสุทธิ์พาใจใสสว่าง
รักหลงหลอกพาใจไหลหลง
ปัญญาพารักเพื่อปล่อยปลง
ยังโง่คงหลงรักเมามัว...