(http://www.dyingconsciously.org/Tibetan_prayer_wheel.jpg)
คัมภีร์ตรียมตัวตาย สำหรับคนเป็น ( ๑ )
ศาสนาพุทธแบบธิเบตมีความพิเศษจากพุทธศาสนาในนิกายอื่นอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเทพเจ้า พระธรรมบาล พระโพธิสัตต์ที่มีทั้งปาง สันติและปางดุ ภาพพระบฏที่มีสีสัน ฯลฯ แต่ในบทความนี้จะขอเจาะจงพูดเรื่องเดียว คือ เรื่องความสนใจในเรื่องการเตรียมตัวตาย
ชาวธิเบตให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวตายอย่างยิ่งจนถึงกับมีพระคัมภีร์สอนเรื่องนี้โดยเฉพาะ คัมภีร์ที่ชาวธิเบตออกเสียงว่า บาร์โดเทอเดรอ นั้น ครั้งแรกมาแปลเป็นไทยว่า คัมภีร์มรณศาสตร์ พอเห็นชื่อแล้วก็เลยพาลไม่อยากจับ นึกว่าไม่ใช่สำหรับเรา ก็เรายัง ไม่ตายนี่นา หากไปอ่านหนังสือประเภทนี้ จะเป็นการแช่งตัวเองให้ตายเร็วเสียกระมัง
พระอาจารย์เคนโป โซนัม ท็อปกยัล ริมโปเช ได้รับเชิญมามูลนิธิพันดาราให้มาสอนเรื่องบาร์โดโดยเฉพาะในช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมา
ท่านอาจารย์สอนเป็นภาษาธิเบตโดยมี ดร. กฤษฎาวรรณ หงษ์ลดารมภ์ แปลเป็นไทย และภิกษุณีธัมมนันทาแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ฟังที่เป็นต่างชาติอีกทีหนึ่ง
พระอาจารย์เริ่มโดยการกล่าวนมัสการบรรดาครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิประสาทความรู้ให้เห็นความงามของการอ่อนน้อมถ่อมตนในสายธิเบต อย่างเป็นรูปธรรม จากนั้นท่านเตรียมจิตของเราผู้เข้ารับฟังให้เป็นจิตที่พร้อมที่จะรับคำสอน โดยอธิบายว่า จิตของเรา อาจจะแบ่งกว้าง ๆ ได้ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ เป็นจิตอกุศล มีความโกรธ มีความอิจฉา เป็นต้น จิตที่เป็นกุศลก็จะเปี่ยมอยู่ด้วยความรัก ความเมตตา พร้อม ที่จะมีความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น มีศรัทธาเชื่อมั่นในมรรควิถีแห่งธรรม เป็นต้น และอีกแบบหนึ่งคือเป็น จิตอุเบกขา วางเฉย ไม่ยึดติดเกาะเกี่ยว เรื่องใด ๆ
(http://www.mahayana.in.th/Lineage%20Guru/gurutibet/โซนัมริมโปเชมูลนิธิ.jpg)
*ภาพ พระอาจารย์เค็นโป โซนัม ท็อปกยัล ริมโปเช
พระอาจารย์ให้เราได้พิจารณาตรวจสอบจิตใจของเราว่า ขณะนั้นจิตของเราจัดอยู่ในประเภทใด หากเป็นประเภทแรก คือเป็นอกุศล ก็ขอให้เราสลัดความอิจฉา ไม่พอใจต่าง ๆ ออกจากจิตเสีย ถ้าเรามีจิตที่เป็นกุศลอยู่แล้ว ก็เพียรเพิ่มพูนในกุศลนั้นให้มากขึ้น โดยให้ เราน้อมใจระลึกถึงสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากที่มีอยู่จำนวนมหาศาล สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนต้องการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ปรารถนาที่จะมีความสุข และปรารถนาซึ่งความหลุดพ้นเช่นเดียวกันกับเราทั้งสิ้น
ขอให้เราตั้งมั่นในโพธิจิต มุ่งหวังความหลุดพ้น เพื่อว่าจะได้ช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังตกทุกข์ได้ยากเหล่านั้น การฟังธรรมของเราจึงเป็น การฟังธรรมเพื่อที่จะได้ช่วยสรรพสัตว์
สำหรับผู้ที่มีจิตโพธิสัตต์นั้น ไม่ว่าเราจะทำอะไร หากทำด้วยจิตที่คิดปรารถนาให้สัตว์อื่นได้หลุดพ้นเช่นนี้ เรียกว่า เราทำด้วยโพธิจิต
แต่ถ้าเราทำโดยปราศจากโพธิจิต เราก็ยังได้บุญกุศลอยู่ แต่จะไม่เป็นการบ่มเพาะพุทธพีชะเพื่อการหลุดพ้นของตัวเราเองและของ สรรพสัตว์
พระอาจาย์ชี้ว่า มหายานนั้นเป็นหนทางที่เน้นที่เหตุ ในขณะที่วัชรยานเน้นที่ผล คำสอนมหายานจึงเน้นที่สุญญตา ในขณะที่วัชรยานเน้นที่ตถาคตครรภ์ หรือพุทธภาวะในตน และชี้หนทางเพื่อเข้าสู่ความหลุดพ้นในที่สุด
ท่านเปรียบเทียบจิตพุทธะ ว่าเปรียบเสมือนพระอาทิตย์ ในความเป็นจริงพระอาทิตย์มีอยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งเราก็เห็น บางครั้งก็ไม่เห็น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะดวงอาทิตย์ถูกบดบังด้วยเมฆหมอก เมื่อผ่านพ้นเมฆหมอก ดวงอาทิตย์ก็ส่องสว่างดังเดิม
เมฆหมอกที่บดบังความประภัสสรของจิตของเราก็คือ มลทินอันมาจากความโลภ ความโกรธ และความหลงนั่นเอง
จิตพุทธะนี้ มีในสัตว์ทั้งหกภพภูมิ เมื่อกล่าวเช่นนี้ ก็คือการยอมรับว่า สัตว์ทุกประเภทมีจิตเหมือนกันหมด และมีศักยภาพในการเข้าถึงซึ่ง ความหลุดพ้นทัดเทียมกัน นี้คือความงดงามของคำสอนวัชรยาน สัตว์ที่มีปัญญาและมีจิตใจที่ไม่แบ่งแยกล้วนสามารถเข้าถึงความหลุดพ้น ได้ทั้งสิ้นไม่จำกัดเพศหรืออายุ
พระอาจารย์กล่าวว่า หนทางการปฏิบัติมี ๙ ยาน ยานบางจำพวกก็ค่อย ๆ ปฏิบัติไป ใช้เวลาหลายกัปหลายกัลป์ มหายานเร็วขึ้น แต่ก็ยัง เกิดอีกหลายชาติ แต่ในคำสอนของซ็อกเช็น ( ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในสายวัชรยาน ) สามารถที่จะลัดตัดตรงและหลุดพ้นได้ในชาตินี้
และคัมภีร์ที่สอนเรื่องนี้โดยตรงก็คือ คัมภีร์บาร์โดเทอเดรอ ซึ่งควรจะแปลว่าคัมภีร์แห่งการหลุดพ้นจากบาร์โด
พอมีศัพท์ที่ไม่คุ้นทั้งหูและตามากเข้า ท่านผู้อ่านอย่างเพิ่งตกใจ ถ้าเข้าใจคำว่าบาร์โด เพียงคำเดียวก็น่าจะพอสำหรับในขั้นแรก คำว่า บาร์โด นั้น หนังสือภาษาไทยแปลว่าอันตรภพ ผู้เขียนคิดว่าอาจจะเป็นศัพท์ที่ชวนหลงง่าย ๆ เราจะใช้ศัพท์เดิมว่า บาร์โดไปก่อน
โดยทั่ว ๆ ไปคำว่า บาร์โด ( พระอาจารย์ท่านออกเสียงว่า พาร์โด ) แปลว่า ช่องว่างระหว่างสองสิ่ง
แต่คำว่า บาร์โดที่ใช้ในพระคัมภีร์นี้ ไม่ได้ใช้ในความหมายทั่ว ๆ ไป แต่หมายถึงช่วงเวลาในชีวิต ( และหลังชีวิต ) จะพูดถึง บาร์โด ๔ ขั้นตอน แล้วท่านผู้ท่านจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น และจะเห็นด้วยว่าทำไมผู้เขียนไม่แปลบาร์โดว่า อันตรภพ
บาร์โดช่วงที่ ๑ ช่วงที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ จนถึงใกล้ตาย ( ถ้าแปลว่า จะใช้กับช่วงนี้ไม่ได้ทันที )
บาร์โดช่วงที่ ๒ ช่วงนี้เป็นช่วงไกล้ตาย จนกระทั่งหมดลมหายใจ
บาร์โดช่วงที่ ๓ เรียกว่า บาร์โดธรรมดา เป็นช่วงที่ตายแล้ว จนกว่าจะได้ไปเกิดใหม่
บาร์โดช่วงที่ ๔ เรียกว่า ภวบาร์โด คือช่วงที่กำลังจะไปเกิดตามภพภูมิที่ได้ทำกรรมมา
จุดสำคัญก็คือ เมื่อผู้ตายอยู่ในบาร์โดช่วงที่ ๒ และ ๓ นั้นเองที่จะปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยเข้าสู่โอกาสแห่งการหลุดพ้นได้โดยฉับพลัน
จุดสำคัญยิ่งของการเข้าใจและปฏิบัติตามคัมภีร์บาร์โดคือ การเข้าใจและฉกฉวยโอกาสขณะที่อยู่ในบาร์โดช่วงที่ ๒ และ ๓ นี้เอง
สำหรับประเพณีในทิเบตนั้น เมื่อมีคนใกล้ตาย ญาติโยมก็จะนิมนต์ พระลามะที่มีการปฏิบัติจิตชั้นสูงมาสวดคัมภีร์บาร์โดเทอเดรอให้ผู้ที่ กำลังจะตายฟังเป็นการนำทาง หากแม้ไม่มีพระ หรือหาพระไม่ได้ แม้ฆราวาสก็ได้ ขอให้เป็นผู้อ่านคัมภีร์ออก ให้อ่านพระคัมภีร์ให้ผู้ที่ใกล้ตายได้ยิน ก็จะเป็นการน้อมจิตไปตามหนทางที่ถูกต้อง
เมื่อความตายเกิดขึ้น ก็คือการที่จิตแยกออกจากกาย ผู้ที่ไม่มีการปฏิบัติมาก่อนจะมีความทุกข์และความกลัวเป็นอย่างยิ่ง พระคัมภีร์จะ บอกหนทาง และจะบรรยายให้ได้รู้ว่าวันที่ ๑ วันที่ ๒ .... จะเกิดอะไรขึ้น จะได้พบเห็นกับอะไรบ้าง และจะต้องทำอย่างไร เท่ากับ ถือคู่มือในการเดินทางไปด้วย
เมื่อสิ้นลมหายใจ ร่างกายจะเป็นอย่างไร เมื่อธาตุทั้ง ๔ ค่อย ๆ คืนสู่มหาภูตธาตุ ร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนแปลง หูไม่ได้ยินเสียง ตาเริ่มพร่ามัว ปากแห้ง ธาตุต่าง ๆ จะค่อยหมดไป
ในขณะนั้น ธาตุสีขาว ( ฉบับแปลไทยใช้เรียกว่า หยด ) หยด ของพ่อจากกระหม่อมจงลงมาที่หัวใจ ในขณะที่ธาตุสีแดงของแม่ที่สะดือ จะขึ้นมารวมตัวกันที่หัวใจ ตอนนี้จะเปลี่ยนสภาวะ เรียกว่า ความตาย ธาตุสีขาว และแดง ผู้เขียนเข้าใจว่าหมายถึงพลังงานชายและหญิง ที่เป็นบ่อเกิดหรือฐานพลังในตัวมนุษย์
ในตอนใกล้ตายนั้น ผู้ไกล้ตายจะไม่สามารถทรงกายได้ แต่ขบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในนั้น จะมองไม่เห็นจากภายนอก
เมื่อธาตุสีแดงของแม่ที่ขึ้นมาจากสะดือ ผู้ป่วยก็จะเห็นทุกอย่างเป็นสีแดง ขณะที่ธาตุสีขาวของพ่อลงมาจากกระหม่อม ก็จะเห็น ทุกอย่างเป็นสีขาว
เมื่อธาตุทั้งสองรวมตัวกันที่หัวใจแล้ว จะเกิดสีทึม ๆ จากนั้นจะเป็นแสงสว่างใส ตรงนี้เองที่เป็นสภาวะจิตที่จะเข้าสู่จิตตรัสรู้ ที่ปราศจากการแยกแยะ เป็นจิตบริสุทธิ์ เป็นจิตดั้งเดิม
เสี้ยววินาทีนี้คือโอกาสที่จะพลิกผันตรงเข้าสู่การรู้แจ้งได้
ในธิเบต มีตัวอย่างของผู้ที่ปฏิบัติจิตมาอย่างดี เมื่อรู้ว่าจะตายก็จะบำเพ็ญสมาธิเข้าเงียบ ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง
ถ้ามีความเข้าใจธรรมะอย่างดี เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ได้เห็นแสงสว่างใสแล้วก็จะเข้าสู่การหลุดพ้น แต่ถ้าไม่เข้าใจ ไม่ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ ก็จะเคลื่อนเข้าสู่ช่วงบาร์โดที่ ๓ คือบาร์โดปกติ และเข้าสู่ภวบาร์โด เพื่อการไปเกิดภพใหม่ เริ่มวัฏฏะสงสารใหม่
ผู้เขียนอยากอธิบายตรงนี้ให้สมบูรณ์ตามที่ได้รับถ่ายทอดมาจาก พระอาจารย์เค็็นโป โซนัม ท็อปกยัล ริมโปเช คงต้องขอต่ออีกตอนหนึ่ง จะพูดถึงเมื่อพลิกผันใช้โอกาสสำเร็จแล้ว ศพของผู้ตายจะกลายเป็นร่างสีรุ้ง ประหยัดเงินในการฝัง และไม่ต้องไปสร้างมลภาวะในอากาศ โดยการเผา ไม่ต้องให้ดอมเด ( สัปเหร่อ ) แล่เนื้อให้แร้งกินอีกด้วย