ใต้ร่มธรรม
แสงธรรมนำใจ => ดอกบัวโพธิสัตว์ => วัชรยาน => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊กซ ที่ สิงหาคม 25, 2010, 09:20:48 am
-
ไม่กี่แห่งในโลก ที่เมื่อเราไปเยือนที่นั่นแล้ว ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นใจเหมือนบ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง
เราทุกคนมีบ้านอยู่ในใจแตกต่างกันไป แต่ลักษณะสิ่งสำคัญที่มีร่วมกันก็คือ บ้านหลังนั้นต้องมีความอบอุ่น ปลอดภัยและเป็นมิตร บ้านแบบนี้คือสถานที่ที่จะช่วยให้เราได้พักผ่อนในยามที่เหนื่อยล้า แถมเป็นที่ปลอบใจเมื่อเรามีความทุกข์ และเป็นที่ฟื้นฟูกำลังวังชาของเราให้เดินกลับออกมาเผชิญโลก
ที่สิกขิมข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังเล็กๆ ในชนบทที่ห่างไกล ณ หมู่บ้าน Lachung
ในวันนั้นเรามีโปรแกรมช่วงเช้าไปที่ Yumthang Valley ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 3579 เมตร ที่นี่คือ Valley of flower ในฤดูใบไม้ผลิ จะมีดอกไม้บานสะพรั่งทั้งหุบเขา โดยเฉพาะดอกกุหลาบพันปี ว่ากันว่าสวยงามมาก
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/snow1.JPG)
โชคไม่ดีนัก..วันเวลาที่เราไปนั้น ฤดูใบไม้ผลิยังไม่ได้เริ่มต้น หิมะยังไม่ละลาย ถนนเส้นทางที่ไปจึงเต็มไปด้วยหิมะ และไปไม่ได้ เราต่างลงจากรถมาเดินเล่นบนหิมะแถวๆนั้น เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/snow2.JPG)
การได้เล่นหิมะก็ถือว่าไม่เลว เราเดินเล่นไปรอบๆ บริเวณนั้น ช่วยกันปั้นตุ๊กตาหิมะ แล้วก็ถ่ายรูป
ขากลับลงมายังหมู่บ้าน Lachung เรามีเวลาเหลือเฟือ แต่แล้วก็ได้โปรแกรมใหม่ คนขับรถนำเที่ยวได้พาเราไปเยี่ยมบ้านของเขา ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/home.JPG)
บ้านหลังนั้นเป็นบ้านหลังเล็กๆ ทาด้วยสีฟ้า ตั้งอยู่บนเนิน เมื่อเราไปถึงที่นั่น เด็กตัวน้อยน่ารักวิ่งมาหาเจ้าของบ้านผู้เป็นพ่อ ด้วยความดีใจ เป็นภาพที่น่ารักจริงๆ
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/home1.JPG)
เมื่อมองจากทางเดินขึ้นบ้านออกไป เราพบว่าบ้านของเขามีวิวทิวทัศน์ที่ดีเยี่ยม มีท้องฟ้าสีครามกับภูเขาสูงและเห็นหิมะปกคลุมอยู่ไกลๆ
คุณป้าร่างท้วมๆผู้เป็นแม่ของชายคนนี้ เชื้อเชิญเราเข้าบ้านด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและกระตือรือร้น นอกบ้านอาจจะมีความหนาวเย็นอยู่บ้าง แต่เมื่อเราเข้าไปในบ้าน พบว่าในตัวบ้านนั้นอบอุ่นมาก
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/home2.JPG)
เรานั่งลงในฐานะแขก คงมีไม่บ่อยนักที่คุณป้าท่านนี้จะต้องต้อนรับแขกถึงสิบกว่าคนในคราวเดียวกัน แถมเป็นแขกที่มาเยือนจากแดนไกลมาก
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/home3.JPG)
เธอต้อนรับเราด้วยขนมและชงชาแท้ๆ แบบทิเบตให้เราลิ้มลอง รสชาดอาจจะไม่คุ้นเคยนัก แต่ข้าพเจ้าพบว่าหลายท่านที่ไปด้วยกันก็พยายามดื่มจนหมด
เราทักทายและพูดคุยกัน มีลูกชายและไกด์ช่วยแปลให้ บ้านหลังนี้ให้การต้อนรับเราอย่างอบอุ่นและจริงใจเหลือเกิน
นานมากๆแล้วที่เราต่างเคยได้ยินคำนี้
" เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ " แต่ปัจจุบันเราไม่เห็นวิถีชีวิตแบบนี้กันแล้ว ยกเว้นในพื้นที่ชนบทมากๆ นานแค่ไหนแล้วที่ข้าพเจ้าไม่ได้เคยเห็น ไม่ได้เคยเข้าไปอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น
ในบ้านหลังนี้มีความรัก ความอบอุ่น คุณยายคุณหลานต่างโอบกอดกัน และยิ้มแย้มแจ่มใส
บนผนังด้านหนึ่งที่สูงขึ้นไป ข้าพเจ้าเห็นปฎิทินของธิเบตแขวนอยู่ และยังได้เห็นรูปเล็กๆของท่านดาไล ลามะที่ 14 ติดอยู่ที่ผนังอีกด้านหนึ่งด้วย
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/home4.JPG)
ขอบคุณโอกาสดีๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้มีวันนั้น วันที่ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน นี่เป็นครั้งแรกที่ทำให้เข้าใจในคำที่ว่า Feel like home ได้ชัดเจนขึ้น
แม้จะอยู่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนแบบนั้น แต่ที่นี่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านแท้ๆ ในใจของข้าพเจ้าเอง
http://gotoknow.org/blog/sunmoola/170411 (http://gotoknow.org/blog/sunmoola/170411)
-
ใกล้ๆวันสุดท้ายที่จะกลับเมืองไทย ข้าพเจ้าและเหล่ากัลยาณมิตร ก็ได้มีโอกาสไปที่วัดอีกแห่งหนึ่งของสิกขิม เป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญอีกเช่นกัน วัดนี้ชื่อวัด Pemayangtse
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/Pemayangtse%20%20Monastery.JPG)
ตอนเราไปถึงที่ประตูทางเดินเข้าวัด ท่านลามะวัยชราอายุน่าจะประมาณ 80 กว่าๆ ยืนอยู่ที่นั่น เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระลามะสูงวัยขนาดนี้ เพราะตลอดหลายวันที่ผ่านมา ในการไปเยี่ยมชมวัดต่างๆ เราพบแต่พระลามะตัวน้อยๆ วัยเยาว์ หรือไม่ก็เป็นพระลามะที่อยู่ในวัยรุ่นๆ ซึ่งมักจะมาแนะนำสถานที่ภายในวัดให้เราทราบ และตอบข้อซักถามที่เราสนใจ
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/Pemayangtse1.JPG)
ที่นี่เราได้พบกับพระลามะอาวุโสสูงวัย และท่านมีท่าทางเมตตามาก พร้อมกับพระลามะวัยกลางคนอีกรูปที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องทีเดียว ท่านทั้งสองพอรู้ว่าเรามาจากเมืองไทยต่างมีท่าทางดีใจมาก ท่านยิ้มกว้างและเชื้อเชิญเราเข้าไปเยี่ยมชมวัด
ช่วงเวลาที่เราไปถึง เป็นช่วงเวลาที่ท่านกำลังจะทำวัตรเช้า เราได้รับโอกาสให้เข้าไปนั่งในที่นั้นด้วย แต่น่าเสียดายที่เวลาเรามีน้อยไป จึงอยู่ตรงนั้นได้ไม่นานนัก
เสียงสวดมนต์แบบธิเบตประกอบกับมีเสียงเครื่องเป่าเป็นระยะนั้น อาจจะแตกต่างไปจากการสวดมนต์แบบบ้านเรา แต่โทนเสียงสวดมนต์นั้นให้ความรู้สึกผ่อนคลายและสงบเย็นได้ดีทีเดียว
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/Pemayangtse%202.JPG)
ท่านลามะวัยกลางคนบอกเราว่า ปีก่อนนั้นท่านเพิ่งไปประชุมที่เมืองไทยมา ท่านไปประชุมกับกลุ่มสังฆะนานาชาติที่อยุธยา ในหัวข้อ Cultural Survival and Revival in the Buddhist Sangha และได้นำรูปที่ท่านได้ไปประชุมและโปสเตอร์มาให้เราดูด้วย ท่านเล่าติดตลกหน่อยๆว่า การไปหนนั้นทำให้ท้องไส้ท่านปั่นป่วนไปไม่น้อยเนื่องจากอาการท้องเสีย เพราะปกติที่นี่ท่านทานมังสะวิรัต แต่พอไปอยู่เมืองไทยช่วงนั้น ท่านเลยได้ทานอาหารแบบที่เราทานกัน ปรากฏว่าท้องไส้ท่านยังปรับตัวไม่ได้เลยท้องเสีย
วัดนี้ให้ความรู้สึกที่ดีๆ กับข้าพเจ้าหลายอย่าง ข้าพเจ้ารับรู้ถึงความจริงใจและเป็นมิตร ความรู้สึกยินดีที่ได้พบกันอีกครั้ง เหมือนชาวพุทธกับชาวพุทธได้มาพบกัน แม้จะต่างนิกาย ต่างวิถีแห่งการปฎิบัติ แต่เราต่างรับรู้ว่าเราคือศิษย์ของพระศากยมุนีพุทธเจ้า เช่นเดียวกัน
แต่อย่างไรไม่รู้ ข้าพเจ้าคิดเห็นไปว่า พระลามะผู้อาวุโสที่วัดนี้ เหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าเราจะมาเยี่ยม เพราะท่านยืนรออยู่ตรงนั้นพอดี ตอนที่เราไปถึงและกำลังจะเดินเข้าไป
ใครจะรู้..อาจจะนานมากๆแล้ว ที่เราอาจเคยอยู่ที่นี่มาก่อน และนี่ก็คือการกลับมาเยี่ยมบ้านของเรา
http://gotoknow.org/blog/sunmoola/170512 (http://gotoknow.org/blog/sunmoola/170512)
-
:13: อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับพี่มด