ใต้ร่มธรรม
ริมระเบียงรับลมโชย => ดูหนัง ดูเรา ดูโลก ( Movie and Wisdom ) => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊กซ ที่ มกราคม 11, 2024, 11:23:42 pm
-
Fullmetal Alchemist วิทยาศาสตร์แฝงปรัชญา แขนกลคนแปรธาตุ
https://www.youtube.com/v//xYglU0MxMjU
https://youtu.be/xYglU0MxMjU?si=cDQWUXfWLE4gpBjP (https://youtu.be/xYglU0MxMjU?si=cDQWUXfWLE4gpBjP)
https://www.youtube.com/v//wqDE0_Aqlr8
https://youtu.be/wqDE0_Aqlr8?si=nef3JzUBlXkbr6w8 (https://youtu.be/wqDE0_Aqlr8?si=nef3JzUBlXkbr6w8)
ปรัชญาการ์ตูน ว่าด้วย Fullmetal Alchemist Brotherhood
(https://e1.pxfuel.com/desktop-wallpaper/449/593/desktop-wallpaper-fullmetal-alchemist-brotherhood-10465-widescreen-fullmetal-alchemist-brotherhood.jpg)
ผมเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบในการอ่านหนังสือการ์ตูน (มังงะ) และชมภาพยนตร์อนิเมชั่น (อนิเมะ) ของต่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งสัญชาติอเมริกา และญี่ปุ่น ไม่ว่าจะ Marvel, DC, Walt Disney, Pixar, หรือแม้แต่ค่ายของญี่ปุ่นอย่าง TNK, Ghibli, และ Square Enix แล้วที่ชอบโปรดปรานที่สุดในวัยเด็กก็คือ Fullmetal Alchemist ของ Hiromu Arakawa ที่ได้ติดตามอ่าน และรับชมทุกภาคตั้งแต่ภาคเก่ามาจนถึงภาคล่าสุด Brotherhood ซึ่งเป็นภาคที่ผู้ผลิตพยายามจะแก้เรื่องราวในจักรวาลภาพยนตร์เรื่อง Fullmetal Alchemist ให้มีความสอดคล้องกับเนื้อเรื่องในจักรวาลภายในหนังสือการ์ตูน (นอกจากนี้ก็ยึงมีภาพยนตร์แยกอีก 2 ตอน คือ Fullmetal Alchemist the Movie: Conqueror of Shamballa และ Fullmetal Alchemist the Movie: The Sacred Star of Milos)
เมื่อสองถึงสามวันก่อนผมได้ไปเห็นบทความชิ้นหนึ่งภายใน INVERSE ของ Adrian Marcano ชื่อ The Hidden Philosophy in Anime: ‘Fullmetal Alchemist: Brotherhood’[1] ที่ได้นำเนื้อเรื่องของ Fullmetal Alchemist (ถัดจากนี้จะขออนุญาตเรียกว่า ‘FMA’) มาทำการวิเคราะห์และแจกแจงเป็นประเด็นทางปรัชญาที่น่าสนใจเป็นอย่างมากให้ได้อ่านกัน ในฐานะเป็นผู้ที่มีความสนใจในแบบเดียวกันจึงนำมาแปลและเรียบเรียงขึ้น ณ ที่นี้
อนึ่ง FMA นั้นเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มนักเล่นแร่แปรธาตุ (alchemists) สองพี่น้องตระกูล Elric นามว่า Edwardและ Alphonse ที่มีภูมิลำเนาอยู่ภายในเมืองรีเซมบูล (Resembool) ชนบททางฝั่งตะวันออกใกล้เขตอิชวาล (Ishval) ที่ได้พยายามศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายของมนุษย์เป็นระยะนานเพื่อที่จะนำไปเป็นข้อมูลในการชุบชีวิต (human transmutation) ให้แม่ของตนเองผ่านวิชาเล่นแร่แปรธาตุ และด้วยความเป็นอัจฉริยะบวกกับตำราและคู่มือการเล่นแร่แปรธาตุมากมายภายในบ้านที่พ่อของพวกเขา (Van Hohenheim) ได้ทิ้งไว้ให้ก่อนเดินทางออกจากบ้านไปทำให้การค้นคว้าไม่ได้ยากเกินไปสำหรับทั้งสองเลย
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ8nUlZDflLfwoDPN9YayEIbE93Mjw8fV9aAOd28O3AUu1zhhRG1COjWANO&s=10)
ภาพที่ 1: แผนที่ประเทศอเมทริส
เมื่อเตรียมการต่างๆกันพร้อมแล้ว ทั้งสองก็ได้เริ่มทำตามแผนแต่ทว่าผลที่ปรากฏออกมากลับเป็นสิ่งที่ผิดหวังไปโดยปริยาย ทั้งสองมิสามารถจะชุบชีวิต หรือหากจะกล่าวให้ถูกต้อง “สร้างแม่” ขึ้นมาใหม่ผ่านวัตถุดิบพื้นฐานตามงานค้นคว้าของพวกเขาได้ เหตุเพราะกฎเหล็กสำคัญ (forbidden technique in alchemy) ของการศึกษาและปฏิบัติใช้วิชาเล่นแร่แปรธาตุนั้น คือ นักเล่นแร่แปรธาตุจะไม่สามารถเสกสร้างทองหรือมนุษย์ขึ้นมาได้ ซึ่งตอบรับกับกฎสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ กฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม (Law of Equivalent Exchange) ที่แฝงอยู่ภายในกลไกของวิชาแปรธาตุ ทำให้สองพี่น้องกล่าวคือ Edward ได้เสียขาไปหนึ่งข้าง และ Alphonse ได้สูญเสียร่างกาย หรือ กายเนื้อ (physical body) ของตนเองเป็นบทลงโทษขั้นรุนแรงที่ทุกๆคนที่ฝ่าฝืนกฎนี้จะโดนลงโทษเสมอ (เช่นเดียวกับอาจารย์ของ Edward และ Alphonse ที่ชื่อ Izumi Curtis ที่ต้องสูญเสียอวัยวะภายในไปจากการพยายามชุบชีวิตลูกของตนเอง) และเพื่อที่จะดึงเอาน้องชายกลับคืนมา Edward จึงต้องทำการฝืนข้อห้ามในวิชาเล่นแร่แปรธาตุอีกครั้งเพื่อดึงเอาตัวน้องชายกลับมา
แต่น่าเสียดายที่ครั้งที่สองนี้ Edward ดึงเอาน้องชายกลับมาได้แค่สภาพวิญญาณเท่านั้น Edward จึงได้ทำการผนึกวิญญาณของน้องชายตนเองลงไปไว้ภายในชุดเกราะเหล็กที่อยู่ภายในบ้าน ทำให้เกราะเหล็กนั้นเป็นภาชนะรองรับวิญญาณของน้องชายตนเองชั่วคราว และนั่นก็หมายความว่า Edward ต้องจ่ายราคาบทลงโทษในการฝ่าฝืนกฎอีกครั้ง คือ แขนของเขาอีกข้างหนึ่งนั่นเอง (ทำให้ Edward ต้องใส่แขนขาเทียมที่เป็นเหล็กไปชั่วคราว) จนกว่าทั้งสองจะสามารถค้นหาศิลานักปราชญ์ (Philosopher Stone) ที่เป็นหินวิเศษที่มีพลังสามารถจะทำการหักล้างกฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมและข้อห้ามต่างๆของวิชาเล่นแร่แปรธาตุได้เพื่อนำมาหลอมร่างกายและอวัยวะของตัวเองขึ้นมาใหม่
(https://otakupride.files.wordpress.com/2009/07/fullmetal-alchemist-03-large-25.jpg)
ภาพที่ 2: ชุดเกราะอันว่างเปล่าที่ถูกผนึกวิญญาณของ Alphonse Elric
การ์ตูนชุดเรื่องนี้ได้พยายามฉายให้เห็นภาพหลายประการเกี่ยวกับโลกของการเล่นแร่แปรธาตุ อีกทั้งผู้แต่งยังได้รวบรวมเอาแนวคิด และทฤษฎี ความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุ การสร้างโฮมุนคุลุส (homunculus) การสร้างสิ่งมีชีวิตคิเมร่า (chimera) และศิลานักปราชญ์ที่เคยมีผู้ศึกษากันภายในฝั่งยุโรปในอดีตมา นั่นทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ถูกแฝงฝังไปด้วยแนวคิดทางปรัชญาสอดแทรกไว้อยู่มากมาย โดย Marcano นั้นได้หยิบยกตัวอย่างของแนวคิดทางปรัชญาที่ซ่อนไว้ออกมาอยู่ 4 ประการ คือ ประเด็นเรื่องแก่นแท้ ศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์ การดำรงอยู่ และท้ายสุดกฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน
(https://miro.medium.com/v2/resize:fit:1400/format:webp/1*8IF4ksjxuDELdKJGbVe2lg.png)
ภาพที่ 3: ประตูแห่งแก่นแท้
ประการแรกประเด็นเรื่องของแก่นแท้ (truth) มนุษย์เราพยายามแสวงหา ค้นหาและไขว่คว้าหาความจริงอันเป็นสัจจะ หรือ แก่นแท้ (truth) มานานหลายศตวรรษ หรืออาจจะหลายสหัสวรรษเลยทีเดียว สำหรับ “แก่นแท้” ภายในการ์ตูนเรื่องนี้นั้นคือ ตัวสัตความจริง (actual-being) คือความจริงของทุกอย่าง ความจริงที่ถูกซ่อนอยู่ภายในเบื้องหลังของสรรพสิ่งต่างๆภายในทั้งความคิด สิ่งมีชีวิต โลก จักรวาล ทุกสิ่ง เมื่อ Edward ได้พบกับตัวแทนแห่งความจริง ที่ได้พาไปสู่ประตูแห่งแก่นแท้ ตัวแทนแห่งความจริง หรือสัตความจริงนั้นๆก็ได้ส่งให้ Edward เข้าไปสู่ประตูแห่งแก่นแท้ ทำให้ Edward สามารถที่จะเห็นความจริงต่างๆภายในโลก รวมถึงความลับภายในสรรพสิ่งอย่างชัดเจน แต่การได้มาซึ่งความรู้ และความจริงที่แท้เที่ยงเหล่านั้นก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แสนแพง (steep price) นั่นคือต้องสังเวยบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้มา (กล่าวคือ สูญเสียแขนและขาไปนั้นเอง) ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ในสถานการณ์นั้นๆเราจะทำอย่างไร และหากเป็นตัวเราหรือกรณีของเราเอง อะไรคือสิ่งที่เราต้องจ่ายและสละ? และถ้าหากเรารู้แน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องจ่ายไปคือสิ่งที่หนักหนาสาหัสสำหรับเรา เราจะยอมจ่ายสิ่งนั้นเพียงเพื่อแค่ให้เรารู้ความจริงบางประการแค่นั้นไหม? หรือบางครั้งเรามีแนวโน้มจะเลือกที่จะไม่รู้ หรือเดียงสาต่อแก่นแท้เหล่านั้นต่อไปอย่างมืดบอด? ซึ่งภายในเนื้อเรื่องนั้น “แก่นแท้” ถูกเสนอผ่านภาพของความน่าเกลียด น่ากลัว สยดสยอง ไม่ว่าผู้ใดที่ผ่านเข้าประตูไปนั้นจักต้องพบกับความโศกเศร้า บาป ความเลวร้ายนานาชนิดที่ถูกฉายออกมาให้ประจักษ์สายตาผ่านคำว่า “แก่นแท้”
ถัดมาคือ ประเด็นเรื่องความสัมพัทธ์ ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม และ ศีลธรรมภายในชีวิตมนุษย์ การ์ตูนเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการเหยียดชาติพันธุ์ สีผิว และความแตกต่างที่เห็นได้ชัดภายในประเทศอเมทริส (Ametris) โดย Marcano ชี้ว่าเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม หรือศีลธรรมนั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจงไปตามกลุ่มสังคม หรือตามแต่ละบุคคล (morality is relative to the person) ทำให้มาตรวัดหนึ่งๆ หรือ ค่านิยม ศีลธรรม ความคิดภายในวัฒนธรรมหนึ่งๆนั้นไม่สามารถที่จะถูกนำไปใช้ได้ในอีกกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งๆ เหตุเพราะเรื่องวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเป็นสากลได้ มันจึงเกิดคำถามตามมาว่าเมื่อมันเกิดวัฒนธรรมอย่างการตอน การตัดคลิตอริส (genital mutilation) การกระทำความรุนแรงต่อสัตว์ (animal abuse) ในสังคมอื่นๆเราในฐานะผู้คนต่างวัฒนธรรมมีสิทธิที่จะเดินเข้าไปห้ามปรามหรือประณามพวกเขาหรือไม่? (เมื่อมองในกรอบเดียวกับที่ว่าสิ่งเหล่านั้นก็หมายรวมอยู่ในคำว่า “วัฒนธรรม” เช่นเดียวกับเรื่อง การไหว้ การฮาราคีรี และการจูบแก้ม) ซึ่ง Arakawa ก็ได้พยายามยกตัวอย่างให้เห็นภายใน FMA เอง ที่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความคิด และมาตรฐานทางศีลธรรม นำมาสู่ความขัดแย้ง และสงคราม นั่นก็คือ สงครามกลางเมืองอิชวาลในทางฝั่งตะวันออก (The Ishvalan War) ที่เกิดจากความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม ที่ปะทุขึ้นจากกรณีที่นายทหารจากรัฐบาลอเมทริสนายหนึ่งเกิดยิงเด็กชาวอิชวาลเสียชีวิต และได้มีการนำนักเล่นแร่แปรธาตุของรัฐมาใช้ในสงครามพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอิชวาลไม่เว้นแม้แต่เด็กและผู้หญิง ที่ล้วนถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสองอีกด้วย
นอกจากประเด็นชาวอิชวาลแล้วยังมีประเด็นของนักเล่นแร่แปรธาตุของทางกองทัพที่ชื่อ Shou Tucker ที่มีฉายาว่านักเล่นแร่แปรธาตุผสานชีวิต (Sew-Life Alchemist) ที่ได้ฉายถึงประเด็นดังกล่าวไม่น้อยไปกว่ากัน การทำการทดลองกับมนุษย์ของเขาถูกมองและกล่าวหาว่าเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณ และจริยธรรมในหมู่นักเล่นแร่แปรธาตุ (เช่นเดียวกับการทดลองและการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์กับร่างกายมนุษย์ในปัจจุบันที่ยังไม่ค่อยเปิดกว้างเท่าใดนัก) คำถามที่ว่า “ร่างกายมนุษย์นั้นจะ[พัฒนา]ไปได้ไกลเท่าใด” เป็นคำถามที่ Shou หลงใหลและเป็นแนวคิดหลักของ Shou ในการทำวิจัยเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์และสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยพยายามจะนำคุณสมบัติพิเศษของสัตว์ต่างๆมาดัดแปลงตัดแต่งเพื่อเพิ่มความสามารถให้แก่มนุษย์ เรียกว่า การทดลองโครงการคิเมร่า (chimera) อันเป็นโครงการวิจัยที่ Shou ตั้งใจจะพัฒนาทำให้สำเร็จเพื่อที่จะเข้ารับการประเมินประจำปีจากกองทัพ และขอให้กองทัพสนับสนุนทุนวิจัยแก่เขาต่อไป โดยการประเมินผลครั้งแรกนั้น Shou ได้ใช้ภรรยาตนเองเป็นหนูทดลองในการสร้างคิเมร่าที่พูดได้ทำให้กองทัพยอมสนับสนุนโครงการของเขาจนถึงเวลานั้น แต่ด้วยระยะเวลาการตรวจประเมินที่ค่อนข้างกระชั้นชิด ทำให้ Shou ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จดังที่หวังไว้ จึงใช้ลูกสาวและสุนัขของตนเองมาทดลองสร้างคิเมร่า สิ่งนี้นำมาซึ่งประเด็นที่น่าสนใจที่ว่าการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพโดยนำมนุษย์และสัตว์มาทดลองภายในโครงการนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะปล่อยให้เกิดขึ้น หรือได้รับการยอมรับอย่างจริงจังภายในสังคมมากน้อยเพียงใดอีกด้วย
(https://otakuauthor.com/wp-content/uploads/2022/10/Fullmetal-Alchemist-Brotherhood-Episode-40-The-Dwarf-in-the-Flask-768x431.jpg)
ภาพที่ 4: มนุษย์ทดลองในหลอดแก้ว (homunculus)
ประการที่สามเรื่องของกายและจิต (mind-body distinction) และการดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ (personhood) เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของทั้งตัวตนทางกายภาพและตัวตนทางจิตวิญญาณ ก็ไม่พ้นต้องพูดถึง Rene Descartes ที่ได้นำเสนอปรัชญาทวินิยม (dualism) ที่เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการดำรงอยู่แยกขาดแต่อย่างคู่ขนานกันระหว่างกายภาพและจิตวิญญาณ (two separate entities) และด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ หากร่างกายของคนคนหนึ่งถูกทำลายลงไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวตนของคนคนนั้นจะต้องสูญสลาย เพราะยังคงมีจิตวิญญาณที่ยังหลงเหลืออยู่ นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Alphonse สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ได้ในโลกมนุษย์อีกครั้ง ภายหลังถูกพี่ชายทำการผนึกวิญญาณไว้กับชุดเกราะที่แม้ตัวชุดเกราะจะไม่ได้ส่งผลหรือแสดงอาการอัตลักษณ์ใดๆออกมาว่าเป็น Alphonse เลยก็ตาม แต่ด้วยวิญญาณ ความคิดที่ถูกนำมาผนึกไว้นั้น ทำให้ Edward สามารถที่จะใช้อ้างบอกกับใครๆในสังคมได้ว่าชุดเกราะกลวงเปล่าที่พูดได้นั้นคือน้องชายของเขาด้วยอักขระเลือดที่เขียนไว้บนชุดเกราะอันแสดงถึงสัญลักษณ์การมีชีวิตอยู่โดยไร้ตัวตนทางกายภาพ อย่างไรก็ตาม Alphonse ก็ยังคงประสบปัญหาด้านสถานะของความเป็นมนุษย์ในชีวิตประจำวันของตนเองที่ยังคลุมเครืออยู่ตลอดเวลา จากการที่เขาไม่สามารถรู้สึกหิว เจ็บปวด ร้องไห้มีน้ำตาแบบคนทั่วไปได้ ทำให้หลายๆครั้งคนในสังคมประเทศอเมทริสมีอาการตกใจ และตื่นกลัวการปรากฏตัวของชุดเกราะพูดได้นี้
(https://2.bp.blogspot.com/-MVX1eCIXzLA/WWTlsfHAwvI/AAAAAAAAAh4/JCVIdEeX4s82U1AC-Fa7WxEcsKL24rbUwCLcBGAs/s1600/Hommunculus.jpg)
ภาพที่ 5: โฮมุนคุลุสรวมตัว
อย่างไรก็ตามนอกจากสองตัวอย่างที่ได้กล่าวไปเกี่ยวกับคิเมร่า และกรณีของ Alphonse แล้ว อีกกรณีหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือกรณีของการมีอยู่ของโฮมุนคุลุส (homunculus) ที่ทำให้เราต้องกลับมาถกเถียงกันว่าอะไรคือคำจำกัดความของคำว่า “มนุษย์” (human-being) การมีลักษณะทางกายภาพแบบมนุษย์ที่เหมือนๆกันทั่วไป หรือว่า ตัวตนทางจิตวิญญาณและอารมณ์? Marcano ถามว่าถ้าหากเราใช้รูปลักษณ์ทางกายภาพเป็นตัวชี้วัด เช่นนั้นแล้วโฮมุนคุลุส หรือ มนุษย์ทดลองที่เกิดมาจากในหลอดแก้ว (ตามเนื้อเรื่อง) ก็สามารถที่จะถูกสันนิษฐานได้ว่ามีสถานะเทียบเท่ากับมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็มีรูปร่าง หน้าตา และลักษณะทางกายภาพที่ไม่แตกต่างไปจากมนุษย์เลย แต่ส่วนใหญ่แล้วโฮมุนคุลุสภายในเรื่องดังกล่าวมักจะไม่มีอารมณ์ความรู้สึกในแบบเดียวกับมนุษย์ เพราะต่างก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพียงไม่กี่ประการ (single-minded) ทำให้ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์แบบมนุษย์นั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาด้วย ยกเว้นอยู่เพียงตัวเดียวคือ Greed (ชื่อของโฮมุนคุลุสที่มีวิวัฒนาการตัวเองได้จนสามารถมีความรู้สึก และอารมณ์ที่ใกล้เคียงแบบเดียวกับมนุษย์)
และประการสุดท้ายที่ Marcano กล่าวถึงเกี่ยวกับ FMA ก็คือเรื่องกฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน (Law of Equivalent Exchange) โดยเขาได้อ้างถึงคำพูดของ Alphonse ที่มีต่อกฎของแลกเปลี่ยนว่า “มนุษยชาตินั้นไม่สามารถได้อะไรมาง่ายๆโดยไม่ได้สูญเสียอะไรบางอย่างไป” (Humankind cannot gain anything without first giving something in return) เพื่อเป็นการยืนยันธรรมชาติและความเป็นไปโดยพื้นฐานและสัจจริงของโลกนี้ว่า การที่เราจะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมานั้นเราจำเป็นที่จะต้องแลกด้วยสิ่งใดก็ตามที่มีค่าเท่าเทียมหรือ[มี/ถูกตั้ง]มูลค่าเทียบเท่ากับสิ่งที่จะได้มา ซึ่ง Marcano ได้เปรียบเทียบและยกตัวอย่างถึงกฎตามหลักวิทยาศาสตร์ของการอนุรักษ์พลังงาน (conservation of energy) กล่าวคือ พลังงานเป็นสิ่งที่ไม่สามารถและไม่มีวันจะสูญสลายหายไปได้ มันแค่เปลี่ยนสถานะไปอยู่ในรูปแบบอื่นเท่านั้น FMA ได้ใช้ปรัชญาและกฎข้อนี้เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินเนื้อเรื่องและชีวิตของตัวละครตลอดมาทุกๆภาค ที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าสิ่งต่างๆบนโลกนั้นไม่มีอะไรที่สามารถได้มาอย่างง่ายดายโดยไม่สูญเสียสิ่งใดไปเลย หากจะกล่าวง่ายๆก็คือ ไม่มีสิ่งใดที่ไร้มูลค่าอย่างสากล ทุกๆอย่างและสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะมีมูลค่าหรือราคาทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะอยู่ภายใต้บริบทหรือเงื่อนไขประการใด
อย่างไรก็ตามแม้ว่า Marcano จะกล่าวถึงประเด็นจากการ์ตูนทั้งหมดเพียงแค่ 4 ประเด็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการ์ตูนเรื่องดังกล่าวจะมีประเด็นทางปรัชญา และแนวคิดทางสังคมอยู่เพียงแค่นั้น หากแต่ยังมีอีกมากมาย แทรกอยู่ตาม Episode ย่อยเกือบทุกตอน ซึ่ง Marcano เองก็ได้ยืนยันในตอนท้ายก่อนปิดบทความว่าอาจจะต้องใช้การอธิบายโดยการเขียนออกมาเป็นหนังสือถึงหนึ่งเล่มเพื่อแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดทางปรัชญาที่แฝงอยู่ภายในการ์ตูนชุดนี้ โดยในส่วนนี้เองผู้แปลก็เห็นด้วยกับ Marcano ที่จะนำเสนอแค่เพียงประเด็นหลักๆทางปรัชญาที่ถูกวางไว้ในโครงสร้างของเนื้อเรื่องเพียงเท่านั้น แม้ลักษณะการอธิบายของ Marcano จะมิสามารถให้รายละเอียดและเจาะลึกลงไปวิเคราะห์ที่ปรัชญาภายในตัวละคร เนื้อเรื่อง แนวคิดบริบทภายในอย่างซับซ้อนเท่าที่ควรตามจริตของการวิเคราะห์ตีความภาพยนตร์ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดตัว Marcano เองก็ยังสามารถที่จะดึงเอาสิ่งพื้นฐานที่ซ่อนอยู่ภายในการ์ตูนเรื่องนี้ออกมาแล้วเขียนให้ผู้อ่านได้สำรวจความคิดและสิ่งที่แฝงอยู่ภายในเรื่องได้อย่างน่าสนใจ
จาก https://prachatai.com/journal/2016/07/66751 (https://prachatai.com/journal/2016/07/66751)