อ.อิเคดะ : ความเป็นจริงคือสิ่งสำคัญสูงสุด ท่านมหาตมะ คานธีกล่าวว่า “ศาสนาที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริง และไม่ได้ช่วยประชาชนแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ศาสนา” ท่านประกาศว่า ศาสนาที่ไม่สามารถตอบปัญหาและคลายความวิตกกังวลต่อเรื่องประชาชนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นศาสนาก็แต่เพียงในนามเท่านั้น
เราจึงค้นพบความจริงว่า หลายศาสนาที่แสวงหาประโยชน์จากประชาชนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับศาสนา ได้ทำการชวนเชื่ออย่างแนบเนียนถึงบุญกุศลในชาตินี้ เหมือนกับเอาลูกกวาดหลอกเด็ก นับตั้งแต่ยุคเริ่มแรก สมาคมโซคามักถูกวิพากย์วิจารณ์ว่า สอนถึงบุญกุศลในชาตินี้ เหมือนกับนิกายอื่นๆ เหล่านี้ไม่มีผิดแต่สัทธรรมปุณฑริกสูตรซึ่งเป็นมรดกทางจิตใจที่มีค่าสูงสุดของมนุษยชาติ ก็ได้เทศนาถึงการได้รับบุญกุศลในชาตินี้ไว้อย่างจริงจัง ทั้งนี้เพราะว่า บทบาทหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของศาสนาก็คือ การช่วยให้ผู้คนได้รับความสุขอย่างแท้จริง
สมาคมโซคาได้รณรงค์ต่อสู้กับความทุกข์ทุกรูปแบบของมนุษย์ โดยได้มอบความหวังแก่ผู้คนที่กำลังต่อสู้กับความเจ็บป่วย ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาในครอบครัว และอื่นๆ สิ่งนี้นี่เองคือเจตนารมณ์ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร พวกเราเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่สุดกับคนที่มีความทุกข์และคนยากจน ผมรู้สึกภาคภูมิใจในเรื่องนี้มาก
ศาสนาจะไม่มีความหมาย ถ้าเลี่ยงปัญหาหนักในการส่งเสริมกำลังใจแก่ผู้คนที่มีความทุกข์ และไม่หาวิธีช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากปัญหานั้นๆ ผมพูดถึงเรื่องนี้ในหลายๆ แง่มุมกับดร. ไปรอัน วิลสัน แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (ดร.วิลสัน คือ ประธานคนแรกของสมาคมสังคมศาสนาสากล ซึ่งบทสนทนาของท่านกับอาจารย์อิเคดะ ได้รวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ ค่าของคน)
การอธิษฐานคือข้อพิสูจน์ถึงความสูงส่งของมนุษย์
ไซโต้ : สมมติว่าลูกของเราป่วยหนักมากจนอาจตายได้ นอกจากการหวังพึ่งความช่วยเหลือของหมอแล้ว พ่อแม่คงจะต้องอธิษฐานอย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกหายป่วยผมมั่นใจว่าถึงพ่อแม่จะไม่ได้นับถือศาสนาอะไร แต่พวกเขาก็ยังคงต้องมีการอธิษฐานต่อบางสิ่งบางอย่าง คำอธิษฐานไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เพราะเป็นการตอบสนองต่อสัญชาตญาณของมนุษย์
ซูดะ : ผมคิดว่าการปฏิเสธพฤติกรรมตามธรรมชาติเช่นนี้ เป็นความเย็นชาและไม่ใช่ลักษณะของมนุษย์
อ.อิเคดะ : การอธิษฐานเป็นเรื่องพิเศษที่มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ สัตว์ไม่สามารถทำได้แบบนี้ ดังนั้น การอธิษฐานจึงเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสูงส่งของมนุษย์ ในสมัยโบราณ ผู้คนมักเกรงกลัวต่อธรรมชาติที่กว้างขวางไร้ขอบเขต พวกเขาจึงเคารพในความยิ่งใหญ่ที่อยู่เหนือปัญญาของมนุษย์จะหยั่งถึงได้ จากสิ่งนี้เองจิตใจของการอธิษฐานจึงเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ
เมื่อเราเผชิญกับวิกฤต อย่างพิบัติ ๗ ชนิดที่มีกล่าวอยู่ใน “บทปรัชญาธรรมทั้งหมดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” เราย่อมมีความหวังอย่างเปี่ยมล้นว่า จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง การอธิษฐานคือการกลั่นเอาความรู้สึกที่มุ่งมั่นที่สุดออกมา ศาสนาก็เกิดจากการอธิษฐานเช่นนี้นั่นเอง
เอ็นโด : ศาสนาไม่ได้เกิดก่อนการอธิษฐาน แต่การอธิษฐานต่างหากที่เกิดขึ้นมาก่อน
อ.อิเคดะ : ทำอย่างไรคำอธิษฐานของเราจึงจะได้รับคำตอบ พุทธธรรมอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแจ่มชัดด้วยเรื่องกฏของชีวิต โดยการเทศนาธรรมมหัศจรรย์ซึ่งเป็นเคล็ดลับของการทำให้เฟืองแห่งจักรวาลเล็กและจักรวาลใหญ่ประสานเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์
ความทุกข์เรื่องบุตร
ไซโต้ : ใน “บทปรัชญาธรรมทั้งหมดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” กล่าวว่า “ถ้าสตรีใดมีความปรารถนาที่จะได้บุตรชาย เธอควรถวายความเคารพและถวายทานแด่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แล้วเธอจะให้กำเนิดบุตรชายที่มีความสุขด้วยคุณความดีและปัญญา และถ้าเธอปรารถนาที่จะได้บุตรสาว เธอก็จะให้กำเนิดบุตรสาวที่เพียบพร้อมด้วยลักษณะแห่งความงามทุกอย่าง อันเป็นผู้ที่ในอดีตได้ปลูกฝังรากเหง้าแห่งความดีไว้แล้ว ได้รับความรักและความนับถือจากคนจำนวนมาก (สัทธรรมปุณฑริกสูตรฉบับภาษาไทยหน้า ๔๙๐)
อ.อิเคดะ : ก็หมายความว่า คำอธิษฐานของบิดามารดาย่อมส่งผลถึงบุตรที่จะเกิดมาได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ด้วยความศรัทธาของบิดามารดา เด็กๆ ก็จะสามารถพัฒนาคุณลักษณะที่ดีเลิศเหล่านี้ แน่นอนว่า เราไม่อาจทราบจำนวนบิดามารดาที่มีความทุกข์ใจเรื่องบุตรว่า มีมากน้อยเพียงใด อันที่จริง พระนิชิเร็นไดโชนินสอนว่า บุตรอาจเป็นได้ทั้งผู้ที่นำความสุขและความทุกข์มาให้ ท่านบอกว่า “มีข้อความหนึ่งของพระสูตรกล่าวว่า บุตรคือศัตรู” (ธรรมนิพนธ์หน้า ๑๓๒๐) และ “มีข้อความของพระสูตรที่กล่าวด้วยว่า บุตรคือทรัพย์สมบัติ” (ธรรมนิพนธ์หน้า ๑๓๒๑)
แม้ว่าคนที่ไม่มีบุตร อาจปรารถนาอยากจะมีบุตร ผมก็หวังให้พวกเขาคิดว่าถ้ามีบุตรที่ไม่ดี ก็รังแต่จะทำให้เรามีความทุกข์ และขอย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติต่อเพื่อนสมาชิก ด้วยความเอาใจใส่เช่นเดียวกับที่มีต่อบุตรของเราเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความผูกผันระหว่างผู้คนที่มาอยู่ร่วมกันในอุดมการณ์ที่สูงส่ง และการสร้างอบรมผู้สืบทอดเจตนารมณ์นั้น สูงส่งกว่าความผูกพันทางสายเลือด
คนที่มีความทุกข์เรื่องบุตร สามารถนำอุปสรรคเหล่านั้นมาทำให้ความศรัทธาเข้มแข็งขึ้น โดยใช้เหตุผลที่ว่า ลูกๆ คือเหตุที่ทำให้บิดามารดากลุ้มใจ ดังนั้น เมื่อบิดามารดาบรรลุพุทธภาวะได้แล้ว ลูกๆ ก็ต้องมีความสุขได้แน่นอน
ซูดะ : เข้าใจดีครับ
อ.อิเคดะ : แม้ว่า “บทปรัชญาธรรมทั้งหมดของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” จะกล่าวถึงบุญกุศลของการ “ถวายความเคารพและถวายทานต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” จึงแน่นอนทีเดียวว่า สิ่งนี้หมายถึงการอธิษฐานและทำบุญถวายต่อโงะฮนซน ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ได้ถวายสิ่งที่ได้รับการทำบุญจากผู้คน แด่พระศากยมุนีพุทธะและพระประภูตรัตนพุทธะ
เอ็นโด : พระอักษยมติโพธิสัตว์ได้ถวายสร้อยคออัญมณีที่มีค่ามาก แด่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ แต่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ก็ปฏิเสธไม่รับขอกำนัลนั้น
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสขอให้พระอวโลกิเตศวรฯ รับของกำนัลนั้นไว้ ท่านจึงยอมรับสร้อยคอไว้แล้วแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งถวายแก่พระศากยมุนีพุทธะและอีกส่วนหนึ่งถวายแด่หอรัตนะของพระภูตรัตนพุทธะ (สัทธรรมปุณฑริกสูตรฉบับภาษาไทยหน้า ๔๙๔)
ซูดะ : ในแง่ของความหมายใต้ตัวอักษรแล้ว “พระศากยมุนีพุทธะกับหอรัตนะของพระประภูตรัตนพุทธะ” ก็หมายถึงธรรมมหัศจรรย์หรือโงะฮนซน กล่าวคือ เรื่องนี้สอนว่า เราควรยึดธรรมมหัศจรรย์เป็นหลัก มิใช่พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
เอ็นโด : ผมอยากให้ผู้คนมากมายที่เลื่อมใสศรัทธาต่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หันมาใส่ใจกับข้อความนี้เหลือเกิน
ไซโต้ : ใน “ธรรมนิพนธ์เรื่องการตอบแทนบุญคุณ” พระนิชิเร็นไดโชนินกล่าวว่า “เมื่อสวดนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวแล้วพลังของคำสวด นามุอมิตาภพุทธะก็ดี พลังมนตราที่สวดต่อพระมหาไวโรจนะก็ดี พลังของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ก็ดี ตลอดจนพลังของพระพุทธะทั้งหลาย พระสูตรทั้งหลายและโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดจะมลายหายไปสิ้น ด้วยพลังของเมียงโฮเร็งเงเคียว โดยไม่มียกเว้นเลย ถ้าพระสูตรอื่นทั้งหลายเหล่านี้มิได้รับพลังจากเมียวโฮเร็งเงเคียวแล้วทั้งหมดย่อมกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า”
พลังบุญกุศลของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้น แท้จริงก็คือพลังของนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวนั่นเอง
อ.อิเคดะ : การยึดถือโงะฮนซนก็คือการยึดถือต่อสกลจักรวาล เป็นการรับเอาพลังจากบ่อเกิดของจักรวาล ผู้ที่กระทำได้เช่นนี้จึงสมควรได้รับการเคารพอย่างสูงสุด และบุคคลผู้นี้ย่อมสูงส่งกว่าบรรดาผู้ก่อตั้งคำสอนนิกายต่างๆ ซึ่งได้รับการเคารพยกย่องดุจเทพเจ้าและพระพุทธะเป็นร้อยเท่า พันเท่า หมื่นเท่า หรือแสนเท่าแต่ประชาชนก็ไม่ได้เข้าใจในเรื่องนี้
สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนสมาชิกผู้ซึ่งพากเพียรเพื่อการเผยแผ่ธรรมไพศาล ด้วยความเคารพและให้เกียรติอย่างสูงสุด นี่คือเจตนารมณ์พื้นฐานของเอสจีไอ ตราบใดที่พวกเรายังคงยึดมั่นในเจตนารมณ์นี้ เราย่อมไม่มีวันอับจนหนทาง
การไม่มีสมาธิในขณะสวดมนต์
เอ็นโด : พูดถึงเรื่องการอธิษฐาน ผู้คนมักมีคำถามเกี่ยวกับ เรื่องที่มักเกิดความคิดฟุ้งซ่านขึ้นมาในขณะสวดมนต์
อ.อิเคดะ : ไม่มีอะไรผิดครับ หากสวดมนต์ด้วยจิตใจที่คิดเรื่องต่างๆ นานา เรื่องนี้ปกติมากสำหรับมนุษย์เรา สิ่งสำคัญคือการนั่งต่อหน้าโงะฮนซนในสภาพที่เราเป็น ไม่จำเป็นต้องฝืนหรือเสแสร้ง
การมีความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ นานาก็เป็นสภาพภายในชีวิตของเรา ซึ่งเป็นตัวตนของหลักธรรมแห่งหนึ่งขณะจิตสามพัน เพราะฉะนั้น ด้วยพลังของไดโมขุแล้วแม้แต่ความคิดเหล่านั้น ก็ยังสามารถเปลี่ยนเป็นบุญกุศลได้เลย
ไม่มีกฏเกณฑ์ว่าจะต้องอธิษฐานอย่างไร ไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่มิใช่ตัวเราการอธิษฐานที่ฝืนโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติย่อมไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ และเมื่อเรามีความศรัทธาที่ลึกซึ้งขึ้นแล้ว สมาธิในการสวดมนต์ก็จะแน่วแน่ขึ้นได้
ความจริง เนื่องจากความนึกคิดที่ผุดขึ้นมาในขณะที่เราสวดมนต์อยู่นั้น เป็นปัญหาที่เรากำลังวิตกกังวลอยู่ ดังนั้นแทนที่จะคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เราก็ควรจะอธิษฐานอย่างจริงใจในเรื่องเหล่านั้นทีละเรื่องๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เราไม่ควรสวดเฉพาะปัญหาใหญ่ๆ แต่ควรจะอธิษฐานได้ทุกปัญหา ให้ชนะไปทีละเรื่องๆ พร้อมกับทำให้ความศรัทธาเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป และแน่นอนทีเดียวว่า เวลาที่สวดมนต์ ไม่จำเป็นต้องตึงเครียดเกินไปสิ่งสำคัญก็คือลักษณะที่จริงจังของเรา
เอ็นโด : มักมีคนสงสัยว่า จะถูกต้องหรือไม่ หากสวดมนต์เพื่อหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน หรือควรจะสวดอย่างจริงจังไปทีละเรื่องดีกว่า
อ.อิเคดะ : ไม่มีข้อจำกัดว่าจะสวดได้ทีละกี่เรื่อง มีแต่ว่ายิ่งมีสิ่งที่ปรารถนามากเท่าใด ก็ควรจะสวดอธิษฐานให้จริงจังและมากขึ้นเท่านั้น เหมือนการที่คุณอยากซื้อของจำนวนมาก คุณก็ต้องมีเงินมากพอด้วย พุทธธรรมเป็นเรื่องของเหตุผลครับ
ไซโต้ : ผมว่า คำถามแบบนี้อาจเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดที่ว่า โงะฮนซน “รับรู้” คำอธิษฐานของเราแล้วจะแก้ไขให้เองอย่างปาฏิหาริย์
อ.อิเคดะ : ใครล่ะทำให้คำอธิษฐานของเราบรรลุผล ตัวเรานั่นเอง ซึ่งจะเกิดจากความศรัทธาและความพากเพียร ไม่มีใครทำให้เราหรอก ลองกลับไปเปรียบเทียบกับการจับจ่ายซื้อของ ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราใช้เงินของเราเองเวลาที่ไปซื้อของ เราต้องมีเงินเองก่อนสิ “เงินตรา” ของคำอธิษฐานก็มิใช่สิ่งอื่นใด นอกจากการลงมือปฏิบัติศรัทธาของเราเอง
คำอธิษฐานที่ยังไม่บรรลุผล
ซูดะ : บางคนก็แสดงความกังวลใจว่าคำอธิษฐานของตนยังไม่บรรลุผล
อ.อิเคดะ : เรากำลังปฏิบัติศรัทธาที่ “ไม่มีคำอธิษฐานใดไม่บรรลุผล” ก่อนอื่นอันดับแรกสุดเราต้องเชื่อมั่นในเรื่องนี้ แต่คำอธิษฐานของเราบางครั้งก็บรรลุผล บางครั้งก็ยังไม่บรรลุผล แต่ตราบใดที่เรายังคงสวดไดโมขุต่อไป สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะดำเนินไปในทิศทางที่ดีที่สุดซึ่งเราจะเข้าใจได้ชัดเจนเมื่อมองย้อนกลับมาในภายหลัง
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การที่เราพยายามต่อสู้จนทำให้คำอธิษฐานประสบผลสำเร็จ จะยิ่งทำให้เราเข้มแข็งขึ้น แต่ถ้าเราได้รับทุกสิ่งทุกอย่างตามที่อธิษฐานในทันทีแล้ว เราอาจจะเสียคน และกลายเป็นคนเฉื่อยชาที่ปราศจากความพากเพียรและไม่ยอมทำงานหนัก ทำให้กลายเป็นคนที่ตื้นเขิน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว จะมีความศรัทธาไปเพื่ออะไร
ชีวิต คือเรื่องราวของเหตุการณ์ต่างๆ เราเผชิญกับความยากลำบากทุกรูปแบบ นี่แหละคือชีวิต และเนื่องจากมีความหลากหลายเช่นนี้ เราจึงสามารถดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์และสนุกสนานได้ทำให้เราเติบโตขึ้น และมีสภาพชีวิตที่เข้มแข็งและกว้างใหญ่ไพศาลได้
เอ็นโด : แน่นอนทีเดียวว่า ถ้าสมาชิกเอสจีไอทุกคนอธิษฐานของให้ถูกล็อตเตอรรี่ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่คำอธิษฐานของทุกคนจะสมหวังนะครับ
อ.อิเคดะ : หากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอธิษฐานได้รับผลทันที ก็คงไม่ต่างกับเวทมนต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับเหตุผลคุณไม่อาจหุงข้าวได้โดยเพียงแค่เปิดสวิทซ์หม้อหุงข้าว แต่ไม่ได้ใส่ข้าวลงไป
พุทธธรรมเป็นเรื่องของสามัญสำนึกและสอนเกี่ยวกับวิถีทางการศรัทธาที่ถูกต้องซึ่งจะปรากฏออกมาในชีวิตประจำวัน ไม่มีความศรัทธาที่ละเลยต่อความเป็นจริง ความปรารถนาของเราจะไม่มีวันสัมฤทธิ์ผล หากเราไม่มีความเพียรพยายามใดๆ ในความเป็นจริง
ศาสนาที่ไม่สามารถตอบสนองคำอธิษฐานของประชาชนย่อมไร้ประโยชน์
เอ็นโด : ศาสนาที่ให้สัญญาว่าจะได้รับบุญกุศลทันที มักถูกวิจารณ์ว่าเป็นคำสอนที่ต่ำ ผมรู้สึกว่าศาสนาที่สอนให้ประชาชนต้องคอยพึ่งพา สมควรต้องถูกปฏิเสธ
ซูดะ : ความศรัทธาเช่นนั้น ซึ่งทำให้ผู้นับถือตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัว ด้วยการวิงวอนต่อพลังลึกลับบางอย่างนั้น ควรจะถูกเรียกว่า “ไสยศาสตร์”
ไซโต้ : ในด้านหนึ่ง ก็มีศาสนาที่สอนแต่เรื่องความสุขสมหวังภายในใจเท่านั้นส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีศาสนาที่ให้คำมั่นสัญญาว่า จะได้รับบุญกุศลอย่างปาฏิหาริย์ในชาตินี้ แต่ทั้งสองคำสอนล้วนแยกออกจากความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ หรือความเป็นจริงของกายกับใจไม่เป็นสอง จึงอยู่ในระดับที่พอๆ กันนะครับ
เอ็นโด : ซึ่งประเภทหนึ่งก็เป็นทางด้านนามธรรม ส่วนอีกประเภทหนึ่งก็ไร้เหตุผล
ซูดะ : ผมคิดว่า เราอาจกล่าวได้ว่าประเภทแรกนั้นขาดความเมตตา ส่วนอีกประเภทก็ขาดปัญญา
อ.อิเคดะ : ศาสนาที่แท้จริงมิใช่แนวคิดทั้งสองแบบนี้ ศาสนาที่แท้จริงต้องสอนกฏพื้นฐานที่สามารถช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ในความเป็นจริง ซึ่งอาจารย์จึแนะ ซาบุโร มาคิงุจิ นายกสมาคมโซคาท่านแรกเรียกสิ่งนี้ว่า “การสร้างคุณค่า” ท่านปฏิเสธทัศนะของศาสนาที่คิดขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในสมัยนั้น (ดร.จุน อิชิฮาระ – ศาสตราจารย์ประจำวิชาฟิสิกข์แห่งมหาวิทยาลัยโทโฮขุ) ว่า “ศาสนาที่ไม่ก่อเกิดคุณค่าที่ตอบรับกับคำอธิษฐานนั้นไร้ประโยชน์” นักวิชาการท่านนี้มีความเห็นว่าขณะที่ผู้คน “รับรู้ได้ถึงพลังของเทพเจ้าในท่ามกลางความเป็นไปของธรรมชาติอันมหัศจรรย์” เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยวิทยาศาสตร์ จึงควรปล่อยไว้อย่างนั้นและยังยืนยันอีกว่า ขอ “ท้าพิสูจน์ในการอธิษฐานเรื่องราวส่วนตัวต่อพระเจ้า”
ซูดะ : นั่นเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนึ่ง
อ.อิเคดะ : ในทางตรงกันข้าม อาจารย์มาคิงุจิ ยืนยันว่า ศาสนาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่าต่อชีวิตมนุษย์นั้น ไม่มีประโยชน์ การเพิกเฉยต่อความเป็นจริงของชีวิต ก็คือการเพิกเฉยต่อมนุษย์นั่นเอง
ปรากฏการณ์อัศจรรย์มิได้จำกัดอยู่แต่ในเรื่องของธรรมชาติ อาจารย์มาคิงุจิเชื่อว่า ชีวิตมนุษย์กับเหตุการณ์ประจำวันก็มีความอัศจรรย์ และว่าอำนาจที่เหลือเชื่อของพลังชีวิต ที่ทำให้ผู้คนสามารถสร้างคุณค่าและได้รับชัยชนะในทุกสถานการณ์ ควรเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาท่านกล่าวว่า ลำพังวิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำความสุขมาให้ประชาชนได้ สิ่งที่ต้องมีคือ “ศาสตร์แห่งคุณค่า” วิสัยทัศน์ของท่านแทงทะลุข้อบกพร่องพื้นฐานของอารยธรรมสมัยใหมเลยทีเดียว
ไซโต้ : อาจารย์มาคิงุจิยังต่อต้านคำกล่าวขาน ซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วไปว่า “ความศักดิ์สิทธิ์” เป็นเรื่องเฉพาะของศาสนา ท่านแย้งว่า ศาสนาที่มีไว้เพื่อศาสนานั้นไม่มีความหมาย
ในแง่ของบุคคล “ความศักดิ์สิทธิ์” หรือ “สภาพจิตใจที่สงบและรู้แจ้ง” คือ “คุณค่าแห่งประโยชน์” ที่ขยายสภาพชีวิตของคนเรา ส่วนในแง่ของสังคม ก็คือ “คุณค่าแห่งความดี” อาจารย์มาคิงุจิบอกว่า “ศาสนาจะมีความหมายใด หากไม่อาจช่วนให้ประชาชนมีความสุขและทำให้โลกนี้ดีขึ้น การช่วยให้ประชาชนมีความสุขมิใช่ “คุณค่าแห่งประโยชน์” ดอกหรือ หรือการทำให้โลกนี้ดีขึ้น มิใช่ “คุณค่าแห่งความดี” หรืออย่างไร
อ.อิเคดะ : โดยสรุปแล้ว การหลีกเลี่ยงที่จะต่อสู้ในความเป็นจริง เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความสุขและทำให้โลกนี้ดีขึ้นแต่กลับสอนอะไรบางอย่างที่ “ศักดิ์สิทธิ์” ราวกับเป็นคุณค่าสูงสุดในมิติอื่นนั้น คือการหลอกลวง
การช่วยให้ผู้คนมีความสุขและทำให้โลกนี้ดีขึ้น – นี่คือ การเผยแผ่ธรรมไพศาล การต่อสู้อันยิ่งใหญ่โดยยึดความจริงข้อนี้เป็นหลัก ก็คือการสร้างคุณค่าและอาจเรียกได้ว่า ศาสนาที่แท้จริง “ความศักดิ์สิทธิ์” มีอยู่เฉพาะในท่ามกลางการต่อสู้ดังกล่าวเท่านั้น และสันติภาพจะมีความหมายใด ถ้ามิใช่คุณประโยชน์สำหรับชีวิตชาตินี้
คำว่า “โลก” ของ “พระโพธิสัตว์ผู้รับฟังเสียงร้องของโลก” (พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก เราไม่อาจแยกตัวเองออกจาความเป็นจริง “โลก” ก็คือสังคม เราจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่มีความสุขในทางกลับบ้าน คำว่า “เสียง” หมายถึงเสียงร้องของสรรพสัตว์แต่ชีวิต ซึ่งมีความปรารถนาส่วนตัวที่อยากจะมีความสุขมีเพียงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กับสัทธรรมปุณฑริกสูตรเท่านั้น ที่รวบรวมเอาเป้าหมายของสองสิ่งแห่งความเจริญรุ่งโรจน์ของสังคมกับความสุขของแต่ละบุคคล เข้าไว้ด้วยกันได้
เอ็นโด : แน่นอนเลยครับว่า คนที่นึกถึงแต่ความสุขของตัวเอง คือคนที่เห็นแก่ตัวที่สุด ส่วนผู้ที่ห่วงแต่ความต้องการของสังคมซึ่งใช้คนเป็นเครื่องมือ ก็พร้อมที่จะกระโจนลงไปสู่ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จและชาตินิยม การจะทำให้สองขั้วนี้สมดุลได้ เป็นเรื่องที่ยากที่สุด
.................................................