(http://3.bp.blogspot.com/-3pynLeQ3UWw/T48AYYcDbJI/AAAAAAAAAiA/Rts6uFixnEc/s440/MisionGaia-LaMisiondelAlma.jpg)
[wma=250,50]http://www.fungdham.com/download/song/allhits/10.mp3[/wma]
ขอบคุณ เสียงธรรม จาก น้อง"บางครั้ง"ค่ะ
เพราะฉะนั้น เมื่อความเห็นในทางทรรศนะและตีความหมายคำว่า ว่าง ของบรรดาเกจิอาจารย์แตกต่างกันเช่นนี้ ข้อโต้แย้งจึงมีขึ้น ถ้าหากว่าเราเป็นนักศึกษาเข้าใจพุทธศาสนาทุกลัทธิ ทุกนิกาย ทุกแขนงปรัชญาแล้ว เราจะไม่ต้องเสียเวลาโต้แย้งกับใครเลย เพราะเราเข้าใจว่า อ้อ...มติอย่างนี้เป็นของนิกายเซน มติอย่างนี้เป็นของนิกายเถรวาท มติอย่างนี้เป็นของนิกายมาธยมิกะ มติอย่างนี้เป็นของนิกายสราวาสติวาท เราชี้สู่จุดเดิมที่ว่าเป็นวาทะของนิกายใด แล้วก็ไม่ต้องโต้กันเพราะว่าวาทะทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแต่คำอรรถาธิบายขยายความพุทธมติ เป็นคำตีความพุทธมติของบรรดาเกจิอาจารย์ ภายหลังที่ศึกษาพุทธวัจนะแล้ว ต่างอาจารย์ก็ต่างแต่งขยายความ ตีความอธิบายออกมา
อุปมาคล้ายๆ ว่าเรียนกฎหมายมาเล่มเดียวกัน แต่ทนายตีความกฎหมายข้อนี้ไปอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของโจทย์ ทนายจำเลยก็ตีความหมายข้อนี้ไปอีกอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของจำเลย แล้วศาลก็ตีความข้อนี้ไปอีกอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของความยุติธรรม ทั้ง ๓ ฝ่ายก็เรียนกฎหมายเล่มเดียวกัน ครูเดียวกัน วิทยาลัยเดียวกัน แต่ทำไมเกิดความแตกต่างกันได้ นี่เป็นมติของเกจิอาจารย์ฉันใด เรื่องธรรมะก็เหมือนกัน การที่ศาสนามีลัทธินิกายต่างๆ อีกมาก ก็เกิดจากการตีความของบรรดาเกจิอาจารย์รุ่นหลังนี้และขยายความเอา เพราะฉะนั้นนักศึกษาชาวพุทธจึงจะต้องมีใจกว้างขวางพอที่จะรับฟังมติต่างๆ ของอาจารย์เหล่านี้ โดยอย่าเพิ่งไปผูกพันกับคนใดคนหนึ่ง และไตร่ตรองชั่งด้วยโยนิโสมนสิการ
ส่วนพุทธพจน์ที่ว่า นิพพานังปรมังสุญญัง นิพพานสูญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นถ้าอธิบายแล้ว สุญญตาคล้ายๆ กับจะเป็นคุณลักษณะของนิพพาน นิพพานว่างจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่างจากกิเลส เพราะฉะนั้นจึงเป็นคำอธิบายคุณสมบัติของนิพพานอีกที ว่าความนัยของนิกายเถรวาท นิพพานไม่ใช่สุญญตา สุญญตาเป็นคุณสมบัติของนิพพาน เพราะผู้ที่ถึงนิพพานแล้วย่อมว่างจากโลภ โกรธ หลง ว่างจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ว่าความสูญอย่างนี้ ไม่ใช่หมายถึงตัวนิพพานไม่มี เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าคำว่า สุญญตา ไม่ได้แปลว่า ไม่มี อันนี้สำคัญที่สุด อย่าเพียงได้ยินชื่อคำว่า สูญ ก็เข้าใจว่า ไม่มี หรือ อันตรธาน ไม่มี หรือ อันตรธานใช้คำว่า “นัตถิตา” จะไม่ใช้คำว่า “สุญญตา”
มติที่บอกว่า จิตเดิมว่างอยู่นั้น กิเลสมาภายหลัง หรือว่าจิตเดิมนั้นบริสุทธิ์ มติอย่างนี้ไม่ใช่นิกายเถรวาท แต่เป็นมติของนิกายเซน อย่างนี้คือ จิตเดิมแท้ บริสุทธิ์ จิตเดิมแท้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย จิตเดิมแท้นั้นเป็นนิพพาน จิตเดิมแท้นั้นว่างเปล่าจากกิเลส กิเลสต่างๆ เพิ่งมากอบโกย มาเป็นอาคันตุกะแขกหน้าใหม่แปลกปลอมจรเข้ามา นิกายเซนสอนอย่างนี้ หลักเดิมของนิกายเซน เขาสอนอย่างนี้ทั้งนั้น เป็นวาทะนิกายเซนฝ่ายมหายาน
แต่ว่าถ้ากล่าววาทะนิกายเถรวาทแล้วคำว่า “จิตเดิม” ไม่มี ไม่เจอในบาลีเลย คำว่า เดิม เวลาคนแปลภาษาไทยเติมเอาเอง “ประภัสสระมิทัง ภิกขเว จิตตัง” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร ไม่มีในบาลี หาคำว่า “เดิม” ไม่มี ที่นี้นักเลงบาลีที่แปลเป็นไทยไปคว้าคำว่า “เดิม” มาจากไหนก็ไม่รู้ มาใส่เข้าไปจึงได้หลงผิดเข้ารกเข้าพงเป็นการใหญ่ “จิตเดิม” แล้วยังมีคำ “แท้” มาอีก ในบาลีไม่มีคำว่า “แท้” มาจากไหนเลย “เดิมแท้” ๒ คำนี้ไม่มีในบาลี
ถ้าจะมีก็มีเฉพาะนิกายเซน นิกายเซนเขาว่าอย่างนั้นจริงๆ จิตเดิมแท้จริงๆ เขาเรียกว่า “ปึงแซ” ปึง แปลว่าเดิม แซ แปลว่าสภาวะดั้งเดิม ตรัสรู้ในภาวะดั้งเดิมของตัวมันเอง นี่คำว่า “เดิมแท้” นิกายเซน ภาคจีนมีคำว่า “เดิมแท้” ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่านิกายเถรวาทภาคบาลีคำว่า “เดิมแท้” นั้นไม่มี และคำว่า ประภัสสรแปลว่า ผุดผ่องหรือรัศมี คำนี้แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส จิตนี้ผุดผ่อง ประภัสสรแปลอย่างนี้ แปลว่าผุดผ่อง มีแสงในตัว ผ่องใส