ธรรมปฏิบัติ : เครื่องกลั่นกรอง 'ธรรม' ออกจากโลก (ตอน ๒) (http://www.manager.co.th/images/blank.gif)
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์3 สิงหาคม 2553 15:13 น.
(http://www.nkgen.com/mongkol/mongkol_26.jpg)
(http://www.manager.co.th/images/blank.gif)
การรักษาศีลจึงได้ชื่อว่าเป็นเครื่องวัดเครื่องเทียบของคนผู้ดีและไม่ดี คนที่มีธรรมะหรือไม่มีธรรมะจะเห็นชัดในตนเองและกรองออกจากโลกได้ขนาดไหน ก็เห็นชัดด้วยใจของตนเอง ไม่ต้องมีคนอื่นวัด ไม่ต้องให้คนอื่นวัดเทียบให้ ถ้าหากศีลอันนั้นเป็นนิจศีล คือว่ารักษาอยู่เป็นนิจ ก็เรียกว่าเราค่อยห่างไกลออกมาจากโลก ถ้าหากขาดเป็นท่อนวิ่นๆ แหว่งๆ หรือด่างพร้อยไม่เรียบร้อย อันนั้นก็เรียกว่าโลกแทรกซึมมาเป็นครั้งเป็นคราว เรายังไม่ห่างไกลจากโลก โลกยังมาแทรกซึมได้อยู่
ที่อธิบายเรื่องศีลให้ฟังในที่นี้ เพราะประสงค์จะให้เข้าใจชัดถึงเรื่องว่าศีลเป็นเครื่องกลั่นกรองธรรมออกมาจากโลก ด้วยการรักษาศีลวิธีเดียวเท่านั้นไม่มีวิธีอื่น ถ้าไม่มีศีลเป็นเครื่องวัดเทียบแล้วคนเราก็ไม่มีต่ำสูง ไม่มีดีเด่นกว่ากันเลย พระพุทธเจ้าทรงเทศนาถึงเรื่องศีลไว้มากมายกว้างขวางเช่น
สีตโถ โดยอรรถแปลว่า เป็นของเย็น
สีรตฺโถ โดยอรรถแปลว่า เป็นของสูง
สีลโถ โดยอรรถแปลว่า เป็นของหนักแน่นโดยปกติ
สีสตฺโถ โดยอรรถแปลว่า ยิ่ง
บางตอนพระองค์ทรงแสดงถึงว่าศีลเป็นเครื่องประดับของคนทุกวัยตั้งแต่หนุ่มถึงคนแก่ และประดับได้ตลอดกาลเวลา ผู้รักษาศีลดีแล้วเป็นของงดงาม งามคนคืองามรูปงามโฉม งามผิวพรรณวรรณะนั้นยังมีการทรุดโทรมเฒ่าชราไปได้ งามด้วยศีล มี มารยาท สุภาพเรียบร้อยเป็นที่น่าดูน่าชม เป็นที่เจริญตาและใจ และคนทั่วๆไปต้องการสมาคมด้วย ถึงสังขารร่างกายจะแก่ทรุดโทรมหรือเหี่ยวแห้งด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ความงามของศีลประดับให้งดงามได้ตลอดกาลเวลา นั่นเป็นของเลิศประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งปวงหมด
ทุกคนพากันปรารถนาความดี คือ ศีล แต่หากเอาศีลมาประดับไม่เป็น ขี้เกียจขี้คร้านไม่อยากรักษาศีล มันก็ยังเป็นโลกอยู่อย่างนั้น ถึงจะตกแต่งประดับกายสวยสดงดงามสักเท่าไรก็ตาม ยังสามารถทำความชั่วได้ ชื่อว่าโลกสกปรก ถ้าไม่มีศีลเป็นเครื่อง บังคับเป็นเครื่องกั้นไว้คนจะทำความชั่วทุจริตได้ ทุกวิถีทาง ดังนั้นศีลจึงชื่อว่าเป็นของงาม
คนขี้เหร่ขี้ร้ายหรือคนสวยสดงดงามก็ตาม เมื่อมีศีลเป็นเครื่องประดับแล้วงามไปทั้งนั้น งามพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่งามแต่เพียงในโลกนี้ เมื่อตายแล้วไปสู่โลกข้างหน้าก็ยังงาม งามตลอดกาลเวลา ดังนั้นวิธีกลั่นกรองธรรมออกจากเบื้องต้นก็คือการรักษาศีล
ทีนี้วิธีที่ละเอียดเข้าไปกว่านั้นอีกคือ กลั่นกรองด้วยการทำ “สมาธิ” ได้แก่ ทำความสงบอบรมจิตใจให้มีอารมณ์อันหนึ่งอันเดียว เพราะจิตใจของคนเรามันยุ่งมีอาการมากอารมณ์มาก
อารมณ์ก็คือ เรื่องที่เราคิดนึกจิตใจผูกพันติดอยู่ในเรื่องนั้นๆ เรียกว่าอารมณ์ คิดนึกวุ่นวี่วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากเราไม่มีการสำรวมระวังหรือไม่มีการทำความสงบเสียเลย ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย เราจะไม่ได้เห็นจิตของเราสักที ทั้งๆ ที่จิตมีอยู่ในตัวของเรา แต่เราไม่รู้จักจิตของตน ไม่เคยทราบว่าจิตคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบคิดละเอียด ไม่ทราบว่าจิตอยู่หรือจิตไป อวดอ้างแต่ว่าเรามีจิต ได้ยินพระท่านบอกว่าอะไรๆ ก็อยู่ที่จิตทั้งหมด แต่ว่าแท้จริงนั้นจิตเป็นอย่างไร มีอะไรอยู่ที่จิตบ้าง ก็ไม่เคยเห็นไม่เคยทราบเลย
(http://www.rd1677.com/backoffice/PicUpdate/38116.jpg)
เฉพาะผู้ทำความสงบอบรมภาวนาสมาธิฝึกหัดให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวนิ่งแน่ว ไม่มีอารมณ์อื่นมาปะปนจิตได้เท่านั้นที่จะรู้จักจิตของตน ขณะที่จิตสงบนิ่งอยู่ถ้าหากว่ามันจะปรากฏอารมณ์ขึ้นมาก็เห็นชัดที่จิต เช่น ความคิดนึกต่างๆ หรือเกิดความทะเยอทะยานดิ้นรนอยากได้โน่นอยากได้นี่ก็จะเห็นปรากฏขึ้นได้ที่จิต มันทำให้จิตไม่เป็นหนึ่งเสียแล้ว ทีแรกขณะสงบนิ่งแน่วอยู่นั้น จิตมันเป็นหนึ่งอยู่ เมื่อเห็นจิตเป็นหนึ่งแล้วคราวนี้พอเกิดอารมณ์ขึ้นจะเป็นสองขึ้นมา มันปรากฏให้เห็นชัดว่าจิตอันหนึ่งอารมณ์อันหนึ่ง ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเห็นได้ด้วยตนเอง เมื่อทำจิตให้ถึงความสงบแล้วรู้ได้ทันทีทันใด
ดังนั้น จะเห็นว่าการทำสมาธิเป็นการแยกจิตให้ออกจากโลก เพราะจิตสงบจากอารมณ์ต่างๆ เช่น ความทะเยอทะยาน ความอยาก ความดิ้นรน ความ ขี้เกียจขี้คร้านเบื่อหน่าย ความโกรธฯลฯ ซึ่งเป็นตัวโลก ถ้าจิตยังมีอารมณ์ต่างๆ จิตเป็นโลกอยู่ เมื่อเรากำจัดหรือขับไล่อารมณ์ให้มันหนีเสียแล้ว ก็ยังเหลือจิตอันเดียว เรียกว่า เอกัคคตาจิต อันนี้เป็นการขัดจิต หรือกลั่นกรองจิตออกมาจากโลก คือตัวเราเองนั่น แหละ หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่ากรองธรรมออกมาจากโลก คราวนี้เป็นธรรมล้วนๆเพราะจิตบริสุทธิ์
เครื่องกรองอันที่ ๒ นี้ตรงเข้าถึงจิตใจเลย เบื้องต้นกรองด้วยศีลนั้นมันยังไม่บริสุทธิ์ เพราะกรองแต่กายและวาจา ส่วนจิตยังเศร้าหมองอยู่ ถ้ามากรองด้วยสมาธิแล้วจิตบริสุทธิ์สงบสบาย ไม่ต้องคอยงดเว้นอะไรมากนัก พองดเว้นตรงที่จิตไม่ให้คิดทะเยอทะยานดิ้นรนอยากได้เท่านั้นศีลบริสุทธิ์เลย
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 117 สิงหาคม 2553 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
--------
(http://www.manager.co.th/Dhamma/images/logo.gif)
Dhamma and Life - Manager Online (http://"http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9530000107118")
ธรรมะปฏิบัติ : เครื่องกลั่นกรอง 'ธรรม' ออกจากโลก (ตอนจบ)
(http://www.manager.co.th/images/blank.gif)
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
(http://www.mwit.ac.th/~keng/lesson/1.jpg)
(http://www.manager.co.th/images/blank.gif)
ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ภิกษุบวชมาใหม่องค์หนึ่งเห็นพระวินัยเป็นข้อบังคับมากมายเหลือเกิน จะกระดิกตัวก็ไม่ได้ ทำอะไรก็มีแต่ผิดพระวินัยทั้งนั้น เลยกลัวพระวินัย บอกว่าอยู่ไม่ได้ จะสึก พระพุทธองค์ทรงเรียกมาไต่ถาม ทำไมจึงจะสึก พระภิกษุก็กราบทูลตามความเข้าใจของตนว่า พระวินัยมากเหลือเกินกระดิกตัวก็ไม่ได้ มีแต่อาบัติ อลัชชี มีแต่โทษ ผิดศีลทั้งนั้น ข้าพระองค์อยู่ไม่ได้ปฏิบัติไม่ไหวเสียแล้ว
พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้ามันมากก็อย่าเอามันมากนัก ให้ระวังรักษาจิตอันเดียว ไม่ต้องไปรักษาอะไรมากมาย สำรวจรักษาจิตอันเดียว พระภิกษุองค์นั้นชอบใจ ตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ต่อมาได้บรรลุมรรคผลนิพพาน นี่แสดงถึงว่า เมื่อสำรวจรักษาจิตแล้วศีลจึงค่อยบริสุทธิ์หมดจด
พระพุทธองค์ตรัสเทศนาไว้ว่า
มโน ปุพฺพํคมา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายมีใจคือมโน เป็นหัวหน้า
มโนเสฏฐา มโนมยา ใจเป็นของประเสริฐ สำเร็จแล้วโดยใจ
มนสาเจ ปสนฺเนน ภาสติวา กโลติวา จะพูดจะกล่าวคำใดต้องออกจากใจ
มนสาเจปสนฺเนน ใจเป็นของประเสริฐสูงสุด
ด้วยประการอย่างนี้ พระองค์จึงทรงสอนให้อบรมใจ คือฝึกหัดทำสมาธิ เป็นการกลั่นกรองธรรมออกมาจากโลกขั้นที่ ๒ ขั้นนี้ถึงแม้บริสุทธิ์แล้วอาจจะเศร้าหมองอีกก็ได้ นักภาวนาทั้งหลายจะรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น เรานั่งภาวนาทำสมาธิในครั้งนี้แหละ เมื่อเข้าถึงเอกัคคตาจิต จิตใจใสสะอาดหมดจด ความอยาก ความทะเยอทะยาน ความเกียจคร้านหายไปจะเห็นได้เอง พอออกจากภาวนาแล้วโลกเข้ามาแทรกซึมอีก ความอยากความทะเยอทะยานดิ้นรนวิ่งเข้ามาประดังรอบด้านทำให้จิตมัวหมอง อันนี้เรียกว่า โลกมันแทรกเข้ามาหาธรรม เหตุนั้นขั้นนี้ก็ยังไม่บริสุทธิ์เต็มที่
(http://4.bp.blogspot.com/_gXIHwpXNaYc/R9ibqN8hGaI/AAAAAAAAADY/ckaJ32-7RDw/s400/p036.jpg)
ท่านจึงให้ใช้วิธีกลั่นกรองที่ละเอียดเข้าไปกว่านั้นอีกเป็นขั้นที่ ๓ คือกลั่นกรองด้วย “ปัญญา” ใช้ปัญญาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ที่อื่นใด ท่านให้พิจารณาสังขารหรือขันธโลกนี้แหละ โลกอันกว้างศอกยาววาหนาคืบหนึ่งของเรานี่แหละ ให้ปรารภ ลงตรงนี้ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย พอตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้สักอย่างเดียว ความทะเยอทะยานดิ้นรนกระเสือกกระสนอะไรต่างๆ ความเหน็ดเหนื่อยขี้เกียจขี้คร้านสารพัด สิ่งทั้งปวงเรื่องทั้งหลายนั้นเป็นของมีประจำอยู่ในโลก ไม่ได้เป็นของใครโดยเฉพาะ เรื่องทั้งหลายนั้นเป็นต้นเหตุให้เกิดความชั่วทุจริต เราเห็นพิษสงของมันอย่างนั้นแล้วจึงพยายามละถอน
ขณะใดที่อารมณ์ต่างๆ ทางโลกเกิดขึ้นมาก็เพ่งพิจารณา ให้เห็นโทษเห็นภัยอยู่อย่างนั้น ปัญญาตรงนั้นจะชัดเจนเข้ามาในใจแนบเนียนอยู่กับจิตกับใจอยู่ตลอดกาลเวลา มีความอยากทะเยอทะยานขึ้นในขณะไหน ปัญญาตัวนั้นคอยกำกับชัดอยู่กับจิตอันนั้น รู้เห็นทันทีอยู่ตลอดกาลเวลา ความทะเยอทะยานและ ความดิ้นรนอันนั้นก็หายไป ฝึกหัดอยู่อย่างนี้เรื่อยไป นานๆหนักเข้าอารมณ์ต่างๆ ไม่เกิดเพราะเห็นตามเป็นจริง นี่เป็นการใช้ปัญญากลั่นกรองละเอียดเข้าไปอีก ต้องกรองแล้วกรองเล่า ปัญญาจึงเป็นของประเสริฐที่ทุกคนปรารถนา เพราะปัญญานี้สามารถจะทำให้เกิดความบริสุทธิ์หมดจดได้
พุทธภาษิตที่ท่านตรัสว่า ปญฺญาย ปริสุทฺธติ เพราะปัญญาอย่างเดียวจึงบริสุทธิ์ ศีลก็ยังไม่ทัน บริสุทธิ์ สมาธิก็ยังบริสุทธิ์เต็มที่ไม่ได้ตลอดไปดังอธิบายมาแล้ว การกรองขั้นละเอียดด้วยปัญญา จึงค่อยทำให้บริสุทธิ์ได้เต็มที่และถาวร
จะเห็นว่าเราจะเลือกเอาการกลั่นกรองโดยวิธีใดวิธีหนึ่งไม่ได้ ต้องผสมกันผนวกเข้าด้วยกันจึงจะได้ผลเต็มที่ เพราะเหตุว่าการกรองทั้ง ๓ ขั้นเกี่ยวข้องอาศัยกันอยู่ ปัญญาจะเกิดขึ้นก็เพราะสมาธิหนักแน่น สมาธิที่จะหนักแน่นได้ก็เพราะมีศีลบริสุทธิ์เสียก่อน สมาธิก็ต้องอาศัยปัญญาคอยช่วยด้วยเหมือนกัน ต้องมีอุบายแยบคายสำหรับที่จะชำระจิตใจ ของตนให้จิตปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวงลงได้ และศีลจะบริสุทธิ์ ได้เพราะปัญญาเห็นชัดตามเป็นจริงคือ เห็นโทษเห็นภัยในการที่ไม่รักษาศีล เมื่อเห็นโทษแล้วจึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ ไม่ใช่คุมให้รักษาหรือบังคับให้รักษาแบบนั้นรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ได้ ถ้าไม่เห็นชัดด้วยตนเองแล้วรักษาให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ปัญญาเป็นยาดำแทรกไปได้ทุกแห่ง คือในศีลในสมาธิ นี่มันผนวกกันอย่างนี้
ฉะนั้น ธรรมเทศนาที่แสดงในวันนี้ ถ้าหากพากันมาพิจารณาโดยนัยที่ว่านี้แล้ว จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าน้อยอกน้อยใจและไม่น่าเสียใจว่าเราไม่ได้มีธรรมะ หรือเราไม่ได้เห็นธรรมะหรือว่าเราไม่ได้บวชไม่ได้ปฏิบัติ อย่าไปเข้าใจเช่นนั้น เป็นการเข้าใจผิดหมด
แท้ที่จริงธรรมะคือตัวของเรานี้ทุกคนก็มีแล้วครบมูลบริบูรณ์ทุกอย่าง แต่เราไม่ได้สร้างสมอบรมให้เห็นธรรมะที่มันมีในตนของตน ธรรมะแทรกอยู่ในขันธโลกอันนี้ หากใช้อุบายปัญญาพิจารณากลั่นกรองด้วยวิธี ๓ อย่างมีศีล สมาธิ ปัญญา ดังอธิบายแล้ว ธรรมะก็จะปรากฏในตัวของตนๆ ก็จะได้ความอบอุ่นขึ้นมาในใจของตนว่า อ้อ! ธรรมะมีอยู่ที่นี่เอง ไม่ได้มีอยู่ที่อื่น เวลานี้ได้เห็นธรรมะ เรามีธรรมะแล้ว ธรรมะอันนี้ ถ้าโลกมันยังแทรกซึมเข้ามาได้อยู่ เราก็พยายามกำจัดให้มันค่อยหายไปหมดไปโดยไม่ประมาท จนกระทั่งใสสะอาด ให้เหลือแต่ธรรมะล้วนๆ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายที่ท่าน บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ธรรมะของท่านบริสุทธิ์หมดจด นั่นแหละคือสิ่งที่เราปรารถนา
(จากการแสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 118 กันยายน 2553 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
-------------
(http://www.manager.co.th/Dhamma/images/logo.gif)
Dhamma and Life - Manager Online (http://"http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9530000124512")
รูปภาพประกอบกระทู้จากอินเตอร์เน็ต