ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่สร้างความทุกข์แก่เรา
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ อยู่ในขณะนี้
เช่น รถเสีย เงินไม่พอใช้ ทะเลาะกับคนรัก ลูกคบเพื่อนไม่ดี งานไม่ก้าวหน้า
แต่ถ้าเรามัวแต่นึกถึงเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะทำอะไร ก็กวาดเอาปัญหาต่างๆ มาครุ่นคิดด้วย
ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกันเลย เช่น กำลังทำงานอยู่
ก็ไปกังวลถึงรถ ถึงลูก ถึงพ่อแม่ แล้วยังห่วงคู่รักอีก
อย่างนี้แล้วจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร
ปัญหาเป็นเรื่องที่ต้องแก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม !
แต่เมื่อใดที่เรากวาดเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมจิตใจ
ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลา (หรือไม่ใช่เวลา) ที่จะแก้ไข
ก็เตรียมตัวกลุ้มได้เลย นี้เป็นการยึดติดอีกแบบหนึ่ง
อันที่จริงแม้มีปัญหาแค่เรื่องเดียว
แต่ถ้าหมกมุ่นอยู่กับมันตลอดเวลา ก็ทำให้คลั่งได้
ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเล็กแต่ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ง่ายๆ
เช่น หมกมุ่นกับสิวไม่กี่เม็ดบนใบหน้าวันแล้ววันเล่า
ก็อาจทำให้เจ็บป่วยหรือถึงกับทำร้ายตัวเองได้
การยึดเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมใจ
บางครั้งก็ไปไกลถึงขนาดไปกวาดเอาปัญหาของคนอื่น
มาเป็นของเราเสียเอง เช่น เพื่อนมาปรึกษาปัญหาชีวิต
ก็เลยเอาปัญหาของเขามาเป็นของตนด้วย
จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
เท่านั้นยังไม่พอบางคนถึงกับแบกปัญหาของประเทศมาไว้กับตัว
เลยเป็นเดือน! เป็นแค้นกับสถานการณ์บ้านเมือง
ทะเลาะกับใครไปทั่วที่คิดต่างจากตน
สุดท้ายก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาบ้านเมืองไป
การยึดติดที่ลึกไป กว่านั้นคือ การยึดติดในตัวตน
สาเหตุที่เราทะเลาะกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา
ก็เพราะเรายึดติดในความคิดของเรา
ความสำคัญมั่นหมายว่านี้เป็น " ความคิดของฉัน "
สะท้อนถึงความยึดติดในตัวตน
หรือที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า ยึดติดใน " ตัวกู ของกู "
นอกจากความคิดแล้ว เรายังยึดติดสิ่งต่างๆ อีกมากมายว่า
เป็นตัวฉันของฉัน อาทิ สิ่งของ บุคคล ชุมชน ประเทศ ศาสนา
มีอะไรมากระทบกับสิ่งนั้น ก็เท่ากับว่ากระทบ " ตัวฉัน "
ด่าว่ารถของฉัน ก็เท่ากับด่าฉันด้วย
วิจารณ์ศาสนาของฉันก็เท่ากับวิจารณ์ฉันด้วย
เป็นเพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งของสูญหาย คนรักจากไป
เราจึงอดหวนนึกถึงไม่ได้ เพราะใจยังยึดว่าเป็นของฉันอยู่
จึงยังมีเยื่อ! ใยที่ดึงให้ใจย้อนระลึกถึงอยู่เสมอ
เวลาให้ของแก่ใครไป ความยึดติดในของชิ้นนั้นก็ยังมีอยู่
จึงเฝ้าดูว่าเขาจะใช้ของชิ้นนั้นหรือไม่
ถ้าไม่ใช้ก็รู้สึกเป็นทุกข์ที่เขาไม่ได้ใช้ของ " ของฉัน "
ญาติโยมหลายคนจึงไม่สบายใจที่พระไม่ได้ฉันอาหารที่ตนถวาย
ยึดติดในตัว ตนอีกอย่างคือการยึดมั่นสำคัญหมายว่า
ฉันเก่ง ฉันหล่อ ฉันเป็นส.ส. ฯลฯ ไปไหนก็อดตัวพองไม่ได้
อยากแสดงบารมีให้ใครรู้ว่า " นี่กูนะ "
อยู่ที่ใดก็ต้องการให้คนชื่นชม สรรเสริญ เคารพ นบไหว้
แต่ถ้าไม่ได้รับการปฏิบัติดังกล่าว ก็จะโมโหขุ่นเคือง
จนอาจคำรามว่า " รู้ไหมว่ากูเป็นใคร ?"
ยิ่งเจอคำวิจารณ์ด้วยแล้ว ยิ่งทนไม่ได้เข้าไปใหญ่
การยึดติดใน " ตัวกู ของกู หรือนี่กู! นะ " เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ นานัปการ
นำไปสู่การกระทบกระทั่งขัดแย้งและทำร้ายกัน
ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเครียดบีบคั้นภายใน
เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
ใช่แต่เท่านั้น แม้ได้สิ่งที่พึงปรารถนา
ก็ยังทุกข์เพราะได้ไม่สมใจ หรือทุกข์ที่คนอื่นได้มากกว่า
ที่น่าแปลกก็คือเราไม่ได้ยึดเอาแค่สิ่งดีๆ ที่ถูกใจ
ว่าเป็นตัวกูของกูเท่านั้น สิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกใจ
เราก็ยังยึดเป็นตัวกูของกูอีกเช่นกัน
เช่น ความเจ็บปวด เมื่อเกิดกับกาย
แทนที่จะเห็นว่า กายปวดเท่านั้น กลับไปยึดเอาว่า " ฉันปวด "
ความปวดเป็นของฉัน
เมื่อความโกรธเกิดขึ้นกับใจ
ก็ยึดมั่นสำคัญหมายว่า " ฉันโกรธ " ความโกรธเป็นของฉัน
ความยึดมั่นดังกล่าวรุนแรงชนิดที่ใจไม่ยอมไปไหน
มัวจดจ่อวนเวียนอยู่กับความปวดหรือความโกรธนั้นๆ อย่างเดียว
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความเผลอของใจ
รู้ทั้งรู้ว่ายึดแล้วทุกข์แต่ก็ยังยึดเพราะขาดสติ
ถ้าใจมีสติ ก็จะไม่เผลอยึดต่อไป
ความปวดความโกรธยังมีอยู่ก็จริง แต่คราวนี้มันทำอะไรจิตใจไม่ได้
เพราะใจไม่โดดเข้าไปให้ความปวดความโกรธเผาลน
เหมือนกองไฟที่ยังลุกไหม้อยู่
แต่ตราบใดที่เราไม่โดดเข้าไปในกองไฟ
หากถอยออกมาห่างๆ เป็นแค่ผู้สังเกตเฉยๆ ไฟก็ทำอะไรเราไม่ได้
สติช่วยให้ใจแยกออกมาอยู่ห่างๆ
จากความเจ็บปวดแ! ละอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
กลายเป็น " ผู้ดู " มิใช่ " ผู้ปวด " หรือ " ผู้โกรธ "
จากความยึดติดกลายเป็นการปล่อยวาง
การปล่อยวางดังกล่าว
คือ หัวใจของการเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหลาย
เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว
ความทุกข์ทั้งมวลเกิดจากความยึดติด
ยึดติดอดีตกับอนาคต ยึดติดสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นเอง
ยึดติดปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
รวมทั้งยึดเอาปัญหาต่างๆ มาเป็นของตน
ที่สำคัญคือ การยึดติดในตัวตน
เมื่อใดที่ปล่อยวางจากความยึดติดดังกล่าวได้
ความทุกข์ก็ไม่อาจทำอะไรเราได้อีกต่อไป
สติช่วยให้เรารู้ตัวเมื่อเผลอไปอาลัยอาวรณ์ในอดีต หรือวิตกกังวลกับอนาคต
พาจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันเมื่อรู้ตัวว่า
เผลอไปจมอยู่กับเหตุร้ายที่ผ่านไปแล้ว
คอยทักท้วงใจไม่ให้หลงเชื่อความคิดปรุงแต่ง
เพราะตระหนักว่า ความจริงอาจไ! ม่เป็นอย่างที่คิด
ในยามที่เผลอกวาดเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมใจจนหนักอึ้ง
สติช่วยให้เราแก้ปัญหาเป็นเปลาะๆ เป็นเรื่องๆ
ไม่เอาปัญหาใดมาครุ่นคิดหากยังไม่ถึงเวลา (หรือไม่ใช่เวลา) ที่จะแก้
เวลาพักผ่อน ก็พักผ่อนเต็มที่
เมื่อถึงเวลาแก้ปัญหา ก็ใช้ปัญญาอย่างเต็มที่
ไม่มามัวตีโพยตีพาย หรือน้อยเนื้อต่ำใจว่า "ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ?"
ความทุกข์นั้นไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา
แต่อยู่ที่ว่าเรามีท่าทีหรือรู้สึกอย่างไรกับมันต่างหาก
แม้ปัญหาจะหนัก แต่ถ้าเริ่มต้นจากการยอมรับมันว่า
เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว
ไม่ปฏิเสธผลักไสมันหรือก่นด่าชะตากรรม
ตั้งสติให้ได้แล้วหาทางแก้ไขมัน
แต่ขณะที่มันยังไม่หายไปไหน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน
ไม่หวนนึกถึงอดีตอันผาสุก หรือปรุงแต่งอนาคตไปในทางเลวร้าย
ขณะเดียวกันก็ไม่หมกมุ่นอยู่กับปัญหา
หากปล่อยวางมันบ้าง ความสุขก็หาได้ไม่ยาก
นายทหารผู้หนึ่งไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในฐานที่ทรงเคยเป็นอุปัชฌาย์ของตนมาก่อน
พอ! ไปถึงประโยคแรกที่กราบทูลก็คือ " หนักครับ ช่วงนี้แย่มากเลยครับ "
ว่าแล้วเขาก็ทูลเล่าปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาในชีวิต
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงฟังอยู่นาน
แทนที่จะตรัสแนะนำหรือปลอบใจ
พระองค์กลับรับสั่งให้เขานั่งคุกเข่า ยื่นมือสองข้าง
แล้วพระองค์ก็เอากระดาษแผ่นหนึ่งวางบนฝ่ามือของเขา
" นั่งอยู่นี่แหละ อย่าไปไหนจนกว่าข้าจะกลับมา "
รับสั่งเสร็จพระองค์ก็เสด็จเข้าไปในตำหนัก
นายทหารนั่งในท่านั้นอยู่นาน จาก ๑๐ นาทีเป็น ๒๐ นาที
สมเด็จพระสังฆราชก็ยังไม่เสด็จออกมา
เขาเริ่มเหนื่อย มือและขาเริ่มสั่น กระดาษชิ้นเล็กๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ
จนประคองแทบไม่ไหว พอสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จกลับมา
ก็ทรงถามว่า " เป็นไง ?"
คำตอบของเขาคือ " หนักครับ พระเดชพระคุณ เมื่อยจนจะทนไม่ไหว "
" อ้าว ทำไมไม่วางมันลงเสียละ ?"
สมเด็จรับสั่ง " ก็ไปยอมให้มันอยู่อย่างนั้น มันก็หนักอยู่ยังงั้นนะซี
มันจะเป็นอื่นไปได้ยังไง "
กระดาษที่เบาหวิว แต่หากถือไว้นานๆ
ไม่ยอมปล่อย ก็กลายเป็นของหนักไปได้
แต่ปัญหาถึงจะใหญ่โตเพียงใด
ถ้าไม่ยึดถือเอาไว้ ก็ไม่ทำให้เรา! ทุกข์ได้
ใช่หรือไม่ว่าหินก้อนใหญ่จะกลายเป็นของหนัก
และสร้างทุกข์ให้แก่เราก็ต่อ เมื่อเราแบกมันเอาไว้เท่านั้น
เมื่อมีสติรักษาใจ รู้เท่าทันความคิด ไม่เผลอยึดติดจนจิตหนักอึ้ง
แม้งานจะยาก อุปสรรคจะเยอะ ก็ยังเป็นสุขอยู่ได้
คัดลอกจาก...ยึดติด [สารคดี กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑]
โดย พระไพศาล วิสาโล
ขอบคุณ Fw.mail จากคุณพง มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
:33:
ศรัทธาในสิ่งที่ค้นหา มั่นคงในสิ่งที่เป็น แบ่งปันในสิ่งที่ค้นพบ