ใต้ร่มธรรม
ริมระเบียงรับลมโชย => ธรรมะอินเทรนด์ - ธรรมะติดปีก => ข้อความที่เริ่มโดย: แปดคิว ที่ ตุลาคม 11, 2010, 07:54:06 pm
-
:36:(http://www.dhammathai.org/dhammastory/data2/imagefiles/235.jpg) ในตอนเย็น เมื่ออาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า ก่อให้เกิดแสงสีแดงของอาทิตย์ยามอัสดงขณะนั้นศิษย์ และอาจารย์กำลังสนทนาธรรมกันอยู่
ศิษย์ “อาจารย์ครับ คนเราเกิดมาทำไมกันหรือครับ?”
อาจารย์ “ อืม ชีวิตก็เสมือนดวงอาทิตย์ที่เราเห็นนี่แหละ เมื่อจะลับขอบฟ้าก็มีสีแดงทาบทา มองดูเศร้าๆแต่สวยงาม เสมือนจะเป็นการกล่าวอำวันนี้ไป สู่ความมืดมิดของค่ำคืนที่จะมาเยือน ชีวิตนี้บางครั้งมันก็เรียกร้องอยู่ลึกๆ เพื่อหาคำตอบในท่ามกลางกองทุกข์ของชีวิตว่า เราควรใช้ชีวิตนี้ไปในทิศทางไหนดี ก่อนชีวิตจะสิ้นสลายไปเสมือนตะวันลับฟ้า
ก่อนที่อาจารย์จะตอบ อาจารย์อยากจะถามเจ้าก่อนว่า คำตอบว่า “เกิดมาทำไม?”ที่เหมาะสม สำหรับคนแต่ละอาชีพ แต่ละเพศและวัยจะเหมือนหรือต่างกัน
ลูกศิษย์ทำท่าใช้ความคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตอบ
ศิษย์ “ก็คงจะต่างกันนั่นแหละครับ เพราะความสนใจแตกต่างกัน แม้ในคนเดียวกันในวัยต่างๆก็ย่อมมีความคิดต่างกัน
ในวัยเด็กก็คงไม่คิดอะไรมากกว่าเรื่องกิน เรื่องเที่ยว วัยเรียนก็คงสนใจการเรียนเป็นหลัก ในวัยหนุ่มสาวก็คงสนใจเรื่องความรัก ในวัยผู้ใหญ่ก็คงสนใจเรื่องครอบครัวการทำงาน วัยชราก็คงสนใจเรื่องการทำบุญทำทานถือศีลปฏิบัติธรรม ไปตามเรื่อง”
อาจารย์ “นั่นแหละถูกต้องที่สุด คำถามนี้ทุกคนก็อาจจะเคยถามตัวเอง มากันแล้วแทบทั้งนั้น โดยเฉพาะเวลาเจอความผิดหวังหรือความทุกข์ แต่ก็มักไม่ได้คำตอบที่ต้องการ หรือคำถามนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาและวัยเปลี่ยนไป
ปกติทุกคนย่อมปราถนา ทรัพย์สิน เงินทอง ชื่อเสียง คำสรรเสริญ และปราถนาความสุขเหมือนกันทุกๆคน จึงคิดว่าเขามีชีวิตเพื่อสิ่งเหล่านี้ จึงทุ่มเทเวลาและแรงกายทั้งชีวิตลงไป ผลก็คือ บ้างก็ผิดหวัง บ้างก็สมหวัง บ้างก็รวยสมใจ บางคนก็แค่พออยู่พอกิน บ้างก็ยากจน
คนจนหรือคนที่มีความคิดแบบชาวพุทธที่มักพูดหรือจำๆกันมาแบบติดปากก็มักตอบว่า “เกิดมาใช้กรรม”เพราะคิดว่าคนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน เนื่องจากประสบทุกข์มากกว่าความสุข จึงมักคิดปลอบใจตัวเองว่าเมื่อหมดกรรมแล้วก็จะได้หมดความทุกข์ หรือจะได้ตายๆไปเสียที หวังว่าตายแล้วจะพ้นทุกข์ได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นคำตอบของคนที่สมหวัง คนทั่วๆ หรือคนยากจน ต่างก็หนีความทุกข์ไม่พ้น ต่างต้องพบความสูญเสีย ความพลัดพลาก ความผิดหวัง ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกคน จึงได้มีคำถามในใจว่า “เกิดมาทำไม?”
ความจริงมนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ แล้วยังสำคัญตัวว่ารู้ทุกเรื่องรู้สึกตัวเองว่าสำคัญและยิ่งใหญ่ อะไรก็คิดเข้าข้างตัวเอง ทำอะไรก็เพื่อแสวงหาความสุข ตามอำนาจของกิเลสตัณหา ของตัวเองตลอดชีวิต เรารู้ว่า แมวเกิดมาเพื่อจับหนู หมาเกิดมาเพื่อเฝ้าบ้าน พืชพันธุ์ต่างๆเกิดมาเพื่อมาเป็นอาหาร แม้สัตว์บางชนิดเราก็ฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร โดยเราคิดว่ามันเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา การที่เราตัดสินเองทุกอย่าง โดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกๆเรื่อง คิดว่าเราฉลาดปราดเปรื่อง หรือทำอะไรตามๆเขาไป เราจะไม่พบความจริงของชีวิตได้เลย
แท้จริง ถ้าเราสังเกตจิตใจของเราให้ดี เราจะพบว่าที่เราถามคำถามนี้ ก็เพราะเรารู้สึกอย่างแน่นแฟ้นว่า เรามีอยู่ เราเกิดมาแล้ว เราจะทำอะไรดี
เพราะความสำคัญมั่นหมายอย่างจริงจังในความมีอยู่ของ “ เรา” นี่แหละ
จึงเกิดทิฏฐิหรือความเห็นต่างๆขึ้นมามากมาย เช่น (เรา)แก่ (เรา)เจ็บ (เรา)อยากมีแต่ความสุข (เรา)อยากให้เป็นอย่างนั้น (เรา)อยากให้เป็นอย่างนี้
ในฐานะที่ เจ้าสนใจและศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว แทนที่จะนั่งคิดว่า เราเกิดมาทำไม ซึ่งก็จะได้แค่ทัศนคติที่วนเวียน ไปตามความอยาก หาข้อยุติแน่นอนไม่ได้ ขอให้ลองเปลี่ยนมาศึกษาพิจารณาลงไปในสิ่งที่เห็นว่าเป็นเรา คือกายกับใจ หรือ ขันธ์ ๕ นี้ เพื่อแยกแยะออกมาให้เห็นชัดๆว่า “เรา” มีอยู่จริงหรือไม่
ด้วยการมีสติในปัจจุบัน ก็เหมือนเราตื่นขึ้นจากความฝันกลางวัน การหมกมุ่นอยู่แต่ในความคิดนึกต่างๆ จิตใจที่ตื่นขึ้นแม้เพียงชั่วขณะ เราจะได้สัมผัสกับความสุขขึ้นฉับพลันในปัจจุบันนี่เองเพราะความไม่หลงหมกมุ่นไปกับตัณหาภายในใจ และเมื่อเราปล่อยวางความยึดมั่นผิดๆว่า ตัวเรามีอยู่ หรือปล่อยวางกายและใจของเราได้นั่นแหละเราจะได้ความสงบเย็นภายในจิตใจ หมดปัญหาที่จะต้องมาเที่ยวถามตัวเองหรือใครๆ ว่า“เราเกิดมาทำไม?” เพราะไม่มีความทุกข์คอยบีบคั้นอีกต่อไป อย่างนี้จึงจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการศึกษาพระพุทธศาสนา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่เป็นทาสของกิเลส ตัณหา อีกต่อไป
ศิษย์ “อาจารย์หมายความว่า คำถามนี้ไม่สำคัญเท่ากับการได้รู้ว่ามีเบื้องหลังที่เกิดจากความสำคัญตัวว่ามี “เรา”อยู่ ทุกข์ที่บีบคั้นก็มาจากความไม่รู้ของเรานี่เอง จึงได้มี“เรา”อยากจะเกิดมาเพื่อเป็นอย่างนั้น เพื่อทำอย่างนี้ อยู่ร่ำไป ไม่จบไม่สิ้น และแนวทางการภาวนา จะทำให้ให้เราได้ถอดถอนความยึดติดใน “เรา” ปัญหาข้อนี้จึงดับไปพร้อมกับความทุกข์ในใจ ใช่ไหมครับอาจารย์”
อาจารย์ท่านไม่ตอบ ได้แต่อมยิ้มพยักหน้าอย่างใจดีและเดินจากไป ปล่อยให้ศิษย์นั่งทบทวนบทสนทนาอยู่ลำพังคนเดียว ภายใต้ท้องฟ้าที่ใกล้มืดมิด
http://www.dhammathai.org/dhammastory/view.php?No=235
-
ขอบคุณมากค่ะที่นำบทความดีๆมาให้อ่านได้ข้อคิดเยอะค่ะ :46: :46:
-
:13: อนุโมทนาครับพี่แทน^^