ใต้ร่มธรรม

วิถีธรรม => กฏแห่งกรรม-ชาติภพ => ข้อความที่เริ่มโดย: lek ที่ ตุลาคม 18, 2010, 04:54:45 am

หัวข้อ: บุญ/บาปทางอินเทอร์เน็ต โดยคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: lek ที่ ตุลาคม 18, 2010, 04:54:45 am
บุญ/บาปทางอินเทอร์เน็ต โดยคุณดังตฤณ


 ถาม – การเขียนข้อความหรือนำเสนอเนื้อหาอะไรผ่านอินเตอร์น็ต
โดยใช้นามแฝง ถือเป็นกรรมหรือไม่?
เพราะไม่มีใครรู้จักชื่อเรา ไม่มีใครเห็นหน้าเรา
ไม่มีใครได้ยินเสียงเรา เหมือนเราไม่มีตัวตน


 ตอบ – ผมเห็นว่าคำถามนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องกรรมได้ลึกซึ้งขึ้น
เพราะคนส่วนใหญ่ยังนึกว่าการก่อกรรมเป็นเรื่องที่ต้องโชว์ตัว โชว์เสียง
หรืออย่างน้อยก็ต้องมีชื่อแซ่ของเจ้าตัวปรากฏเป็นที่รับรู้เสียก่อน
ความเข้าใจดังกล่าวนั้นคลาดเคลื่อนนะครับ
กรรมนั้นคือเจตนา ต่อให้คุณนอนคิดร้ายอยู่บนยอดเขา
ไม่มีใครเห็น คุณก็ทราบชัดอยู่แก่ใจ และสามารถสำเหนียกรู้สึกได้ว่า
ใจคุณดำมืดเพราะโดนเมฆหมอกอกุศลทาบทับแล้ว

สำหรับกรรมที่ทำอยู่ในใจจริงๆ มีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจคุณเองคนเดียวนั้น
เรียกว่า ‘มโนกรรม’ สำหรับมโนกรรมนั้นจะสำเร็จสมบูรณ์เต็มขั้นในทันที
ที่ตั้งใจคิดและมีความยินดีกับความคิดนั้น
หากจะพูดว่ามโนกรรมคือกรรมที่ก่อแล้วยังไม่ทันส่งผลกระทบดีร้ายกับผู้อื่นก็
คงได้ ตัวอย่างเช่นคุณคิดจะด่าเขา แต่ระงับใจไม่ด่า
อย่างนั้นก็เป็นเพียงมโนกรรมอันเป็นอกุศล มีผลให้จิตคุณทุกข์ร้อนอยู่คนเดียว
ยังไม่เป็นวจีกรรม ยังไม่มีเสียงกระทบหูใครให้ใจเป็นทุกข์ขึ้นมา

แต่หากคลื่นความคิดแรงจนทะลักรั้วกั้น หลุดจากสมองไปกระทบผู้อื่น
ไม่ว่าจะทางภาษาพูดหรือภาษาเขียน ทำให้เขาเกิดความเข้าใจว่าคุณคิดอย่างไร
ตรงนั้นจัดว่าเป็นวจีกรรมได้หมด พูดง่ายๆว่า ‘ภาษา’ นั่นเอง
คือเครื่องมือก่อวจีกรรมของมนุษย์

ฉะนั้นคุณจะแอบเขียนอะไรทางอินเตอร์เน็ตโดยใช้นามแฝงเฉพาะกิจ
ไม่มีใครอื่นรู้เห็น ไม่มีใครรู้จักเลย
แม้เพียงครั้งเดียวก็นับว่าสร้างวจีกรรมไปแล้วหนึ่งครั้ง
และกรรมก็จะติดตามคุณเป็นเงาตามตัว ไม่ผิดต่างไปจากกรรมอื่นๆ
ที่กระทำโดยเปิดเผยหน้าตาตัวตน เจตนาเกิดขึ้นที่จิตของคุณ
กรรมก็เกิดที่จิตของคุณเช่นกัน เพราะกรรมคือเจตนา เจตนาคือกรรม
ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าบุคคลคิดแล้วจึงก่อกรรมทางกาย วาจา ใจ

อินเตอร์เน็ตเปิดโอกาสให้เราเห็นอะไรหลากหลายจริงๆ
แม้แต่การทำงานของกรรม อย่างเช่นที่ผมรู้จักหลายๆคน
เห็นกรรมทางวาจาของเขาในเบื้องต้น
แล้วได้เห็นพัฒนาการหรือความเสื่อมทรามทางจิตใจในเวลาต่อมา
เป็นไปตามวิธีคิดเขียนให้ดีให้ร้ายแก่ผู้อื่น

ผู้ก่อความวุ่นวาย นานไปย่อมมีจิตใจที่วุ่นวาย ปั่นป่วนเหมือนพายุ
และแสดงแนวโน้มที่จะฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปในเรื่องเหลวไหล
พูดจาจับต้นชนปลายไม่ติดมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ก่อกระแสความเยือกเย็น นานไปย่อมมีจิตใจเยือกเย็น สงบราบคาบผาสุก
และแสดงแนวโน้มที่จะแน่วนิ่งหนักแน่นในเรื่องเป็นเหตุเป็นผล
พูดจามีต้นมีปลายมากขึ้นเรื่อยๆ

บอกได้เลยครับว่าวจีกรรมที่เกิดขึ้นในโลกอินเตอร์เน็ตนั้น
อาจจะให้ผลเร็วและแรงเสียยิ่งกว่าวจีกรรมที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงเสียอีก
ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร? เพราะบนอินเตอร์เน็ตอาจมีผู้รับคำพูดของคุณจำนวนมาก
ขอให้ลองนึกดู หากคุณพูดเบาๆว่า ‘ไอ้โง่’
ก็อาจมีคุณคนเดียวในโลกที่ได้ยินเสียงอกุศลของตัวเอง
แต่ถ้าคุณพิมพ์คำว่า ‘ไอ้โง่’ ลงในกระทู้ของเว็บบอร์ดที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมคับคั่ง
คุณไม่มีทางปรับให้ดังหรือเบาได้ตามใจชอบได้เลย
คุณทำอกุศลกรรมกับคนแบบไม่เลือกหน้าเข้าแล้ว
คำด่านั้นอาจทำให้คนนับพันนับหมื่นเกิดความแสลงใจ
ความแสลงใจของคนนับไม่ถ้วนนั่นแหละ
จะย้อนกลับมาก่อเหตุให้คุณแสลงใจยิ่งกว่าพวกเขาได้

ผมเห็นแล้วนึกเสียดายครับ หลายคนยังเป็นเด็ก
และมีความสนุกที่จะขีดเขียนข้อความฝากไว้ในอินเตอร์เน็ตด้วยความคึกคะนอง
บางทีไม่รู้ตัวเลยว่าเอาอนาคตมาทิ้งเสียด้วยการสนทนาแบบไร้หน้าไร้เสียงนี่ เอง

โอกาสก่อกรรมในยุคไอทีของพวกเรานี้ มีได้เป็นร้อยเป็นพันเท่ามากกว่ายุคอื่นครับ
กระดิกนิ้วง่ายๆไม่กี่ที ผล(กรรม)อาจใหญ่หลวงยิ่งกว่า
พยายามพูดในห้องประชุมใหญ่หลายๆอาทิตย์เสียอีก
หากจิตตั้งไว้ดีแล้วก็สบายตัวไป
แต่หากจิตยังตั้งไว้ในมุมมืด อย่างนั้นก็คงน่าเป็นห่วงหน่อยล่ะ


ที่มา... http://larndham.org/index.php?/topic/37 ... ntry678967
ขอบพระคุณที่มาhttp://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=27765
หัวข้อ: Re: บุญ/บาปทางอินเทอร์เน็ต โดยคุณดังตฤณ
เริ่มหัวข้อโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน ที่ ตุลาคม 18, 2010, 09:55:57 pm
 :13: อนุโมทนาครับพี่เล็ก