ใต้ร่มธรรม

อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี => มาลาบูชาครู => ข้อความที่เริ่มโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 24, 2010, 10:57:00 pm

หัวข้อ: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 24, 2010, 10:57:00 pm

http://youtu.be/ykOMFgJwQ8E (http://youtu.be/ykOMFgJwQ8E) WATSANAMNAI Published on Sep 14, 2012
ดีในเบื้องต้น เลิศในท่ามกลาง และอัศจรรย์ในที่สุด
:อารมณ์ของการปฏิบัติ การเจริญสติ ด้วยวิธีเคลื่อนไหว

แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว
แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย
ชาร์ลส์ ทาบัคสนิค
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์

แปลกลับเป็นไทยโดย
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์

Artist: อ่านโดย ทพญ.ธนาภรณ์ วงศ์แหลมทอง
Credit พุทธธรรม รวบรวมธรรมะแก่นแท้

แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว
โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
ฟังหรือดาวน์โหลดเสียงอ่าน
:http://www.ideaforlife.net/dhamma/sound_other/04.html (http://www.ideaforlife.net/dhamma/sound_other/04.html)

ของที่คว่ำอยู่ ย่อมถูกแผดเผา
ของที่หงายแล้ว ย่อมไม่ถูกแผดเผา

(https://fbcdn-sphotos-e-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn2/t1/s370x247/988395_654978361226099_2004676551_n.jpg)

    วันนี้เราจะขอพูดถึงเรื่องการดับทุกข์(ความทุกข์,สภาพที่ทนได้ยาก) ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงสอนว่า เราทุกคนสามารถมาถึงจุดที่สำคัญยิ่งแห่งการดับทุกข์ ดังนั้นข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงวิธีการปฏิบัติง่ายๆและลัดตรงตามประสบการณ์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสามารถให้คำมั่นแก่เธอทั้งหลายได้ว่า วิธีนี้จะสามารถปลดปล่อยเธอให้พ้นจากกองทุกข์ได้อย่างแท้จริง   

เมื่อเราพูดถึงวิธีสู่ความดับทุกข์(คำพูดนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง และการปฏิบัตินั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) วิธีปฏิบัติคือการเจริญสติในทุกๆอิริยาบถ กล่าวคือ การยืน การเดิน การนั่ง และการนอน การปฏิบัตินี้เรียกกันบ่อยๆว่า สติปัฏฐาน (ที่ตั้งของความรู้สึกตัว) แต่ไม่ว่าเราจะเรียกมันอย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความรู้สึกสำนึกที่ตัวเราเอง ถ้าเรารู้สึกตัวแล้ว  โมหะ(ความหลง) ก็จะหายไป เธอควรจะเจริญความรู้สึกตัวนี้ให้มาก ด้วยการมีความรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวทางร่างกายของเธอทั้งหมด เช่นการพลิกมือ  การยกแขนขึ้นและลง การก้าวเท้าไปข้างหน้าและก้าวเท้ากลับ การหมุนศีรษะและการพยักหน้า การกะพริบตา  การอ้าปาก การหายใจเข้า การหายใจออก การกลืนน้ำลาย และอื่นๆ จะต้องรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้  และ ความรู้สึกตัวนี้ เรียกว่า สติ เมื่อเธอรู้สึกที่เนื้อตัวของเธอ ความไม่รู้สึกตัวซึ่งเรียกว่าโมหะ หรือความหลงก็จะหายไป[/color]

การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ การเจริญสติ เราควรจะพยายามเจริญความรู้สึกตัวนี้ในทุกๆอิริยาบถของการเคลื่อนไหว เมื่อเรามีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจะเกิดปัญญา(การรู้)ชนิดหนึ่งขึ้นในจิตใจ ซึ่งรู้ความจริงตามที่มันเป็น การเห็นตัวเราตามที่เป็นจริงคือการเห็นธรรมะ การเห็นธรรมะ มิใช่การเห็นเทวดา นรก หรือสวรรค์ แต่เป็นการเห็นตัวเราเองในขณะพลิกมือ ยกมือขึ้นและลง การเดินไปข้างหน้าและกลับ หมุนศีรษะ พยักหน้า กะพริบตา อ้าปาก หายใจเข้า หายใจออก กลืนน้ำลาย และอื่นๆ นี้คือรูป-นาม รูป คือร่างกาย    นามคือจิตใจ  ร่างกายและจิตใจอิงอาศัยซึ่งกันและกัน สิ่งที่เราสามารถเห็นคือ รูป  และจิตใจที่นึกคิด คือนาม เมื่อเรารู้รูปนาม เรารู้สึกถึงสิ่งที่เป็นจริงตามที่มันเป็น  เมื่อเธอเห็นด้วยตา เธอควรจะมีความรู้สึกตัวถึงการเห็นนั้น  เมื่อเธอเห็นด้วยจิตใจ เธอก็ควรจะมีความรู้สึกตัวถึงการเห็นนั้นเช่นเดียวกัน

    ธรรมะคือตัวเรานี่เอง ทุกคนคือธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง คนไทย คนจีน หรือชาวตะวันตก ทั้งหมดคือธรรมะ  การปฏิบัตินั้นอยู่ที่ตัวเรา  และคำสอนของพระพุทธเจ้าสามารถนำเราไปสู่สภาพแห่งการดับทุกข์อย่างแท้จริง  มนุษย์คือธรรมะ ธรรมะก็คือมนุษย์ เมื่อเรารู้ธรรมะ เราก็จะเข้าใจว่า ทุกๆสิ่งนั้น มิได้เป็นอย่างที่เราคิด  ทุกๆสิ่งคือสมมติ(สิ่งที่ยอมรับตกลงกัน) นี้คือปัญญาที่เกิดขึ้น  เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งในคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม  พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเราเห็นสิ่งนี้อย่างแท้จริง เราจะอยู่เหนือความเชื่อที่งมงายทั้งหลาย เพราะเรารู้ว่า ธรรมะก็คือตัวเรา  ตัวเราเท่านั้นที่จะนำชีวิตของเราเอง มิใช่ใดอื่น  นี้คือจุดเริ่มต้นของความสิ้นสุดแห่งทุกข์

(https://fbcdn-sphotos-c-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/v/t1/s403x403/556435_625279224196013_231076789_n.jpg?oh=63fccd238f175aa48a8a296119db8e84&oe=5381B815&__gda__=1400201844_36454b71202767104023825333e0a3c3)
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 24, 2010, 11:03:21 pm
ขั้นต่อไป เราพยายามเจริญสติ ในทุกๆอิริยาบถของการเคลื่อนไหวของเราในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำมือ หรือเหยียดมือ เรารู้สึกตัวถึงการกระทำนั้น และเมื่อเรารู้สึกตัวถึงการเคลื่อนไหวของเราทั้งหมด ความไม่รู้สึกตัวหรือโมหะ ก็จะหายไปเอง เมื่อเรามีความรู้สึกตัวอยู่ จะไม่มีความหลง เปรียบเหมือนการเทน้ำลงไปในถ้วยแก้ว  ขณะที่เราเทน้ำลงไป น้ำจะเข้าไปแทนที่อากาศ  และเมื่อเราเทน้ำจนเต็มแก้วแล้ว อากาศทั้งหมดในแก้วก็จะหายไป แต่ถ้าเราเทน้ำออก อากาศก็จะเข้าไปในถ้วยแก้วทันที  ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อมีโมหะอยู่ สติและปัญญาก็ไม่สามารถเข้ามาได้ เมื่อเราปฏิบัติการเจริญสติ ทำความรู้สึกที่ตัวของเราเอง  ความรู้สึกตัวนี้จะเข้ามาแทนที่โมหะ เมื่อมีสติอยู่  โมหะก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้  อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เรียกว่า โทสะ โมหะ โลภะ (ความโกรธ ความหลง ความโลภ) มิได้มีอยู่จริง   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ขณะที่เธอทั้งหลายฟังข้าพเจ้าพูดอยู่นี้ จิตใจของเธอเป็นอย่างไร  จิตใจของเธอที่กำลังฟังอยู่นี้เป็นธรรมชาติ  และเป็นอิสระจากโทสะ โมหะ โลภะ

บัดนี้เรามารู้จักศาสนา(“คำสอน”) พุทธศาสนา(“คำสอนของพระพุทธเจ้า”) บาป(“ความชั่ว ความมัวหมอง”)  และบุญ (“ความดี คุณงามความดี”) บาปคือความโง่  บุญคือความฉลาดหรือความรู้  เมื่อเธอรู้ เธอย่อมสามารถสละ ละวางได้ ศาสนาคือตัวมนุษย์นี้เอง และ พระพุทธศาสนา ก็คือสติปัญญา (การรู้ถึงความรู้สึกตัว) ซึ่งเกิดขึ้น และรู้อยู่ที่จิตใจ  คำว่า “พุทธะ” หมายถึง บุคคลผู้รู้ในการเจริญสติ  ในทุกๆอิริยาบถการเคลื่อนไหวของเรา เราเจริญความรู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดทั้งร่างกาย  เมื่อความคิดเกิดขึ้น  เราเห็นความคิดนั้น  เรารู้ และเราเข้าใจ  แต่ในกรณีของบุคคลธรรมดา เขาเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในความคิดและเป็นส่วนหนึ่งของความคิด  ดังนั้น เขาจึงไม่เห็นความคิด สมมติว่าเราเข้าไปอยู่ในมุ้งซึ่งอยู่ในห้องของบ้านหลังหนึ่ง  ขั้นแรกสุดเราจะต้องออกมาอยู่นอกมุ้ง เพื่อจะเห็นขอบเขตของมุ้งนั้น  และทำนองเดียวกัน เราจะต้องออกมาอยู่นอกห้อง และออกมาอยู่นอกบ้าน เพื่อที่จะเห็นว่า  เราถูกขังอยู่ในนั้นมาก่อน  ความคิดก็เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถจะเห็นความคิด ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของความคิด เราจะต้องออกจากความคิดเพื่อที่จะได้เห็นความคิดได้อย่างชัดเจน  เมื่อเห็น  ความคิดก็จะหยุด
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 24, 2010, 11:21:32 pm
เปรียบเหมือนกันการนำแมวมาไว้ในบ้านของเรา ให้คอยกำจัดหนูซึ่งกำลังรบกวนเราอยู่ แมวและหนูนั้นเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติ  ในตอนแรกแมวอาจจะตัวเล็กและอ่อนแอมาก  ในขณะที่หนูตัวโตและมีพละกำลัง เพราะฉะนั้นถ้าแมวกระโดดเข้าตะครุบหนู แมวก็จะถูกลากไปในขณะที่หนูวิ่งหนี และหลังจากที่เกาะไว้ได้สักพักหนึ่งก็ต้องปล่อยไป เราไม่สามารถตำหนิแมว แต่เราจะต้องให้อาหารแก่แมวนั้น เราให้อาหารแก่แมวนั้นบ่อยๆ และในไม่ช้าแมวก็จะมีพละกำลังมากและเข้มแข็ง และเมื่อหนูมาแมวก็สามารถจับหนูได้ เมื่อหนูถูกจับได้มันจะหัวใจวายตายทันทีก่อนที่แมวจะกินมัน ความคิดก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเจริญสติ แล้วเมื่อความคิดเกิด เราจะรู้สึกถึงความคิดนั้นและความคิดก็จะหยุด ความคิดจะไม่ติดต่อเพราะเรารู้สึกถึงมัน ความคิดหายไปเพราะเรามีสติ สมาธิ (การตั้งใจ) และปัญญา พร้อมกันในขณะนั้น สติหรือความรู้สึกตัว หมายถึงการตื่นตัว เช่นเดียวกับแมวที่จ้องจะจับหนู เมื่อความคิดเกิดขึ้นเราไม่ต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของความคิดนั้น ความคิดจะเกิดและดับด้วยตัวของมันเอง เมื่อมีสติอยู่จะไม่มีโมหะ เมื่อไม่มีโมหะ ก็จะไม่มีโทสะ โมหะ โลภะ นี้เรียกว่า นาม-รูป เมื่อนามคิด แลเรารู้เท่าถึงความลวงหลอก เรารู้ทัน เรารู้การป้องกัน เรารู้การแก้ สิ่งนี้คือ สติ

    ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, ความประพฤติถูกต้องดีงาม) คือความปกติ ศีล คือผลของจิตใจที่เป็นปกตินี้เป็นสิ่งเดียวกับ สติ สมาธิ ปัญญา วิธีของการเจริญความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่สามารถสิ้นสุดทุกข์ได้ ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจและที่ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น คือการปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี้เอง ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิหลับตา ถ้าเรานั่งหลับตาเราก็ไม่สามารถทำงานได้ ถ้าขโมยมาเขาก็จะขโมยของเราได้ ดังนั้นเราควรจะลืมตาและเราก็สามารถทำงานทุกชนิดได้ และทุกขณะเราสามารถปฏิบัติ และทุกขณะเราสามารถปฏิบัติการเจริญสติ ไม่ว่าเราจะเป็นนักศึกษา ครูอาจารย์ พ่อแม่ บุตรธิดา ตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการ เราทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบได้ในขณะที่ปฏิบัติการเจริญสติ ทุกๆ คนสามารถ กระทำหน้าที่ของตนเองในขณะเจริญสติ กระทำได้อย่างไร เพราะเรามิได้นั่งหลับตา เราจึงสามารถทำหน้าที่ของเราไปตามปกติและเห็นจิตใจของเราในขณะเดียวกัน
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 24, 2010, 11:39:40 pm
 จิตใจมิได้มีตัวตนที่แท้จริง ทันทีที่จิตใจนึกคิดเราเห็น เรารู้ เราเข้าใจ การเจริญสติ คือการเขย่าธาตุรู้ในตัวของบุคคล ทุกคนมีสิ่งที่เป็นจริงในจิตใจของตนอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่สามารถเห็นมันเราก็จะไม่เข้าใจมัน แต่มันก็คงยังอยู่ ณ ที่นั้น บัดนี้ ถ้าเราดูเราก็จะเห็น เมื่อเราเห็นโดยอาการเช่นนี้เรียกว่าการเห็นธรรมะ การเห็นธรรมะชนิดนี้สามารถกำจัด โทสะ โมหะ โลภะได้

    มรรค (วิถีทางอันสูงส่ง, การดูชีวิตจิตใจ) คือวิถีแห่งการปฏิบัติอันนำไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์ วิถีแห่งการปฏิบัติคือการรู้สึกตัวเท่าทันความคิด ร่างกายของเราทำงานไปตามหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่จิตใจของเราจะต้องดูความคิด ทุกข์เกิดขึ้น และเพราะเราไม่เห็นมัน มันจึงชนะเรา และยังให้เราเป็นทาส มันนั่งอยู่บนศีรษะของเราและตบหน้าเรา แต่ถ้าเราสามารถ รู้ และเข้าใจมันแล้ว มันก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้ ทุกข์เปรียบเหมือนกับปลิงที่เกาะติดแน่นกับตัวเราและดูดเลือดของเรา ถ้าเราพยายามดึงมันออก มันก็จะยิ่งเกาะแน่นขึ้นและเราก็จะเจ็บปวดยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราฉลาด เราเพียงแต่ใช้น้ำผสมกับใบยาและปูนกินหมาก และบีบน้ำที่ผสมแล้วนั้นลงบนตัวปลิง ปลิงมันกลัวและมันจะหลุดของมันเอง ดังนั้นเราไม่ต้องไปแกะมันออกหรือไปดึงมัน เพื่อที่จะกำจัดมัน เช่นเดียวกันบุคคลที่ไม่รู้พยายามจะหยุดโทสะ โมหะ โลภะ เขาเหล่านั้นพยายามต่อสู้และกดมันไว้ แต่สำหรับบุคคลผู้รู้เพียงมีสติเข้าไปดูจิตใจและเห็นความคิด

    เปรียบเหมือนกับการเปิดไฟฟ้า บุคคลที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้าจะพยายามหมุนที่หลอดไฟ แทนที่จะไปแตะที่สวิตช์ หลอดไฟจึงไม่ติด แต่สำหรับบุคคลผู้ซึ่งรู้เกี่ยวกับไฟฟ้า จะรู้จักเกี่ยวกับวิธีใช้สวิตช์ไฟและดวงไฟก็สว่างขึ้น โทสะ โมหะ โลภะ เปรียบเหมือนกับหลอดไฟฟ้า ความคิดเปรียบเหมือนกับสวิตช์ ความคิดเป็นต้นเหตุของความผิดปกติเหล่านี้ ถ้าเราต้องการขจัดความยุ่งเหยิงผิดปกติเหล่านี้ ให้เรามาจัดการที่ความคิด เมื่อเรามีสติ เฝ้าดูความคิดอยู่ โทสะ โมหะ โลภะ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แท้จริงแล้วนั้นไม่มีโมหะ ไม่มีโลภะ และไม่มีโทสะ  เราแตะสวิตช์ไฟที่นี่เพื่อให้เกิดความสว่างขึ้นที่นั่น เราเจริญสติที่นี่เพื่อยังความสิ้นสุดแก่ทุกข์ทั้งปวง ทุกข์เกิดจากโมหะ เมื่อเรามีสติ ก็ย่อมไม่มีโมหะ และดังนั้นก็ย่อมจะไม่มีทุกข์ด้วย เมื่อเราเคลื่อนมือของเรา เรารู้สึก และการรับรู้ถึงความรู้สึกนี้คือสติ และเมื่อเรามีสติ เราจะแยกออกจากความคิดและสามารถเห็นความคิด
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 24, 2010, 11:50:59 pm
เธอไม่ควรใส่ใจมากเกินไปต่อการเคลื่อนไหว แต่ใช้สติเฝ้าดูความคิดปรุงแต่ง เพียงเฝ้าดูความคิดเฉยๆ อย่าไป “จ้อง” มัน เมื่อความคิดเกิดขึ้นจงปล่อยให้มันผ่านไปทันที แท้จริงแล้วนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโมหะ โมหะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่รู้สึกตัว เปรียบเหมือนกับเมื่อเราสร้างบ้านหลังใหม่หนูยังไม่มี แต่เมื่อเรานำสิ่งของต่างๆ มาไว้ในบ้านหนูก็มา บางครั้งเมื่อคนมาวิพากษ์วิจารณ์มาตำหนิเรา เราจะรู้สึกผิดหวังท้อแท้ ด้วยการปฏิบัตินี้ความรู้สึกตัวถึงความท้อแท้ผิดหวังจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันดุจดั่งแมวตะครุบหนู เมื่อเราสามารถรักษาจิตใจของเราให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ โทสะ โมหะ โลภะ ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ เมื่อความคิด ความทุกข์ หรือความสับสนเกิดขึ้น อย่าได้พยายามหยุดมันแต่ให้สังเกตมัน และเราจะเข้าใจถึงธรรมชาติของมัน ทันทีที่ความคิดเกิดขึ้นปัดมันทิ้งออกไปทันที และให้มาอยู่กับความรู้สึกตัว ความคิด ความทุกข์ จิตใจที่สับสนก็จะอันตรธานไปโดยตัวของมันเอง

    ทุกครั้งที่ความคิดอุบัติขึ้นเรารู้มัน แม้เมื่อขณะนอนหลับ เมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกายของเราขณะนอนหลับนั้น เราก็รู้สึกตัวด้วย นี้เป็นเพราะความรู้สึกตัวของเราสมบูรณ์ เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะไม่ว่ามันจะคิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป บุคคลที่สามารถเห็นความคิดเป็นผู้ที่ใกล้กระแสของนิพพาน (กิเลสดับเชื้อ) และแล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งในภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ถ้าความคิดรวดเร็ว ปัญญาก็จะรวดเร็วด้วย ถ้าความคิดหรืออารมณ์ลึกมาก ปัญญาก็จะลึกมากด้วยเช่นกัน และถ้าทั้ง ๒ สิ่งนี้ลึกเท่าๆ กันและปะทะกันก็จะเกิดการแตกออกอย่างฉับพลันของสภาวะที่มีอยู่แล้วในคนทุกคน ด้วยการอุบัติขึ้นนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตใจจะไม่ยึดติดอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และวัตถุแห่งการนึกคิด เช่นเดียวกันกับการถอดกลไกการขับเคลื่อนของรถยนต์ เมื่อชิ้นส่วนต่างๆ ถูกถอดออกจากกัน รถยนต์แม้จะยังดำรงอยู่แต่ก็ไม่สามารถจะขับเคลื่อนได้อีกต่อไป
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 25, 2010, 12:04:19 am
เมื่ออาการปรากฏนี้เกิดขึ้น เราไม่ได้ตาย เราก็ยังสามารถทำงานไปตามหน้าที่ของเรา เราสามารถกินดื่มและนอนหลับ แต่บัดนี้โดยกฎของธรรมชาติทุกสิ่งเป็นความว่าง และนี้คือกฎที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ สมมติว่ามีเชือกเส้นหนึ่ง ขึงตึงระหว่าเสา ๒ ต้น และเราตัดมันขาดที่กึ่งกลาง เชือกก็จะขาดออกจากกัน ถ้าเราต้องการผูกมันเข้าด้วยกันอีก เราไม่สามารถที่จะกระทำได้ ถ้าเราแก้เชือกออกจากเสาต้นหนึ่งเพื่อนำไปผูกที่กึ่งกลางแล้ว เราก็ไม่สามารถผูกมันเข้าที่เสาต้นเดิมได้อีก เรื่องนี้เปรียบเหมือนกับประสาทสัมผัสทั้งหกของบุคคลที่ประจักษ์แจ้งธรรมชาติดั้งเดิมของเขา เมื่อตาของเขากระทบเข้ากับวัตถุสิ่งหนึ่ง จะไม่มีความยึดติด เช่นเดียวกับน็อตที่เกลียวหวานไม่สามารถทำหน้าที่ยึดเกาะได้อีก

    คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อยังความสิ้นสุดแก่ความทุกข์ ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งนี้ เราจะเกิดความลังเลสงสัยเกี่ยวกับคำสอนของพระองค์ และจะคาดคิดเกี่ยวกับเรื่องการเกิดใหม่ สวรรค์ นรก และอื่นๆ การคาดคิดซึ่งควรจะละทิ้งนั้นกลับระบาดอยู่ในใจของเรา คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไร้กาลเวลา และไม่ถูกจำกัดอยู่ด้วยภาษา เชื้อชาติ สัญชาติหรือศาสนาใดๆ ตามหลักฐานในสติปัฏฐานสูตร ถ้าเธอปฏิบัติสติปัฏฐานอย่างต่อเนื่องดุจดังลูกโซ่นั้นคือเจริญสติในทุกขณะแล้ว ความเป็นพระอรหันต์ (ผู้ดับกิเลสได้ ดับเชื้อได้ เห็นจริงรู้แจ้งในตัวของตัว) หรือภาวะแห่งพระอนาคามี (“ผู้ไม่หวนกลับ”) เป็นสิ่งที่หวังได้ อย่างนานภายใน ๗ ปี อย่างกลาง ๗ เดือน และอย่างเร็วที่สุด ๗ วัน ถ้าเธอเจริญสติตามวิธีที่ข้าพเจ้าอธิบายให้ฟัง และมีสติอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นลูกโซ่แล้ว อย่างนานที่สุดภายใน ๓ ปี ความทุกข์ก็จะลดน้อยลงถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และในบางกรณีอาจจะหมดสิ้นโดยสมบูรณ์ สำหรับบุคคลบางคนนั้นอาจจะได้รับผลนี้ภายในเวลา ๑ ปี หรือภายในเวลา ๙๐ วัน จะไม่มีความดีใจหรือเสียใจ ความพอใจหรือความไม่พอใจ หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยากก็เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความสงสัยและลังเล
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 25, 2010, 12:32:25 am
เมื่อเรามีความมั่นใจในทุกๆ ก้าวของการปฏิบัติ มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยากเย็นอะไร เธอสามารถปฏิบัติมันได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง แต่เธอควรจะรู้ถึงการปฏิบัติอย่างถูกต้องและแท้จริง ถ้าเธอสามารถรับรองตัวของเธอเองได้แล้ว ก็หมายความว่าเธอมีที่พึ่งในตัวเอง ศาสนาหมายถึงที่พึ่ง อันนี้หากว่าเธอได้ศึกษาตำรามาเป็นเวลาหลายปี นั้นก็ยังคงเป็นเพียงทฤษฎีอยู่ แต่ถ้าเธอได้ปฏิบัติอย่างแท้จริง เธอจะไม่ต้องเสียเวลานานถึงเพียงนั้น และสิ่งที่เธอรู้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกว่านักทฤษฎีอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ ในภาษาบาลี มีคุณภาพทางจิตใจที่สำคัญอยู่สองสิ่ง สิ่งแรกคือ สติ การเรียกกลับมาที่จิตใจ และสิ่งที่สองคือ สัมปชัญญะ ความรู้สึกที่ตัวของเราเอง เมื่อเรามีความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของมือของเรา เรามีทั้งสติและสัมปชัญญะ ผลแห่งการกระทำนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นสิ่งที่มิอาจหาค่าได้ เราไม่อาจซื้อความไม่ทุกข์ แต่จะต้องลงมือปฏิบัติด้วยตัวของเราเองจนกระทั่งสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ก่อนแล้ว

    การทำบุญและการรักษาศีลเปรียบประดุจดั่งข้าวเปลือกซึ่งไม่อาจจะกินได้แต่ก็เป็นประโยชน์ เพราะเราจะใช้มันสำหรับการเพาะปลูกในปีถัดไป การทำตนเองให้สงบนั้นเปรียบดั่งเช่นข้าวสารที่ยังมิได้หุงและก็ยังคงกินไม่ได้ ความสงบนั้นมี ๒ อย่าด้วยกัน อย่างแรกคือความสงบแบบสมถะ (ความจดจ่ออยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งหรือสงบแบบไม่รู้) อย่างที่สองคือ ความสงบแบบวิปัสสนา (ปัญญาญาณ, เห็นแจ้งรู้จริงสัมผัสได้ ไม่ทุกข์) ในการกระทำสมถภาวนานั้น เธอจะต้องนั่งนิ่ง หลับตาและเฝ้าดูลมหายใจเข้าและลมหายใจออกของเธอเมื่อลมหายใจละเอียดอ่อนมากเข้าบางครั้งเธอจะไม่รู้สึกถึงลมหายใจนั้น และเธอรู้สึกสงบมาก แต่โทสะ โมหะ โลภะ ไม่สามารถถูกขจัดออกไป เพราะยังคงมีความไม่รู้อยู่ และเธอเองก็ไม่รู้สึกถึงตัวความคิดของเธอ แต่วิปัสสนาภาวนานั้นสามารถขจัดโทสะ โมหะ โลภะ และความสงบชนิดนี้สามารถมีได้ในทุกหนทุกแห่ง และในทุกเวลา ดังนั้นแล้วเราจึงไม่จำเป็นต้องนั่งปิดหูปิดตา ตาของเราสามารถดู หูของเราสามารถได้ยิน แต่เมื่อความคิดเกิดขึ้นเราเห็นมัน ความสงบแบบนี้เป็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวคนทุกคน

    จิตใจดั้งเดิมของเรานั้นสะอาด สว่าง และสงบ สิ่งซึ่งมิได้สะอาดสว่างและสงบนั้น มิใช่จิตใจของเรา มันคือกิเลส (ยางเหนียว) เราพยายามที่จะเอาชนะกิเลสนี้ แต่แท้ที่จริงแล้วนั้นกิเลสมิได้มีอยู่จริงแล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องกระทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัดเมื่อเราเห็นจิตใจอย่างชัดเจนโมหะก็จะไม่มีอยู่
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 25, 2010, 12:42:28 am

(http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y9838005/Y9838005-6.jpg)

คำว่า “สะอาด” ชี้เฉพาะไปที่ภาวะธรรมชาติของจิตใจ ซึ่งไม่ถูกแปดเปื้อนหรือถูกครอบคลุมโดยสิ่งใด เรามีสติปัญญาแทงตลอดเข้าไปถึงจิตใจ และเห็นจิตใจอย่างชัดเจน รู้ว่าจิตใจนั้นมีความสมดุล และไม่มีสิ่งใดมากระทบมันได้ นี้คือความสะอาดของจิตใจ ความ “สว่าง” ของจิตใจเปรียบดั่งแสงที่ส่องสว่างซึ่งช่วยให้เราเกิดความปลอดภัยไม่ว่าเราจะไป ณ ที่ใด ในภาวะแห่งความสว่างแจ่มจรัสนี้ เราเห็นชีวิตจิตใจของเราเองตลอดเวลาทุกๆ นาที ทุกๆ วินาที และทุกๆ ขณะ นี้คือ ความสว่างของจิตใจ ความ “สงบ” หมายถึงการหยุด ความสิ้นสุดของโทสะ โมหะ โลภะ ความเร่าร้อนปั่นป่วนและความทุกข์ยากทั้งมวลอีกทั้งยังหมายถึงการยุติการแสวงหาวิธีหรือระบบต่างๆ อีกด้วย เราไม่จำเป็นต้องออกเสาะแสวงหาครูอาจารย์อีก เพราะเรารู้อย่างแท้จริง เพื่อตัวเราเอง และในตัวเราเอง เมื่อเรารู้จักจิตใจเราอย่างแท้จริง เรารู้ว่าจิตใจนั้นสะอาด สว่าง และสงบในทุกเวลา

    เมื่อเรารู้จักจิตใจ เราจะรู้ถึงภาวะที่ความทุกข์เกิด และภาวะที่ความทุกข์ดับ เรารู้ความคิดทุกครั้งที่มันคิด เรารู้แม้กระทั่งเสียงหัวใจเต้น และไม่ว่าเราจะเคลื่อนไหวด้วยอิริยาบถใด เรารู้มันทั้งหมด เรารู้ด้วยการเฝ้าดูโดยปกติธรรมดา โดยไม่จำเป็นต้องพยายามหรือฝืน การรู้นี้เป็นสิ่งที่รวดเร็วมาก มันรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้า ยิ่งกว่าไฟฟ้า และยิ่งกว่าสิ่งใดๆ การรู้เป็นสิ่งเดียวกับปัญญา เป็นสิ่งเดียวกับสติปัญญา สติและสมาธิและปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งเดียวกัน ปัญญารอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ แม้แต่ว่าเสียงที่แผ่วเบาที่สุดเกิดขึ้นเราก็รู้ เมื่อลมพัดมาถูกผิวหนังของเราเราก็รู้ ความคิดไม่ว่าจะเกิดในลักษณะอาการเช่นใดเราก็รู้ เมื่อความคิดอยู่ลึกปัญญาก็ลึกด้วย เมื่อความคิดว่องไวกิเลสก็ว่องไวและปัญญาก็ว่องไวด้วย ไม่ว่าความคิดจะเกิดโดยรวดเร็วเพียงใด ปัญญาจะรู้ความคิดนั้น
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 25, 2010, 12:56:53 am
นี้คือสิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท (“การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน”) เมื่อไม่มีอวิชชา (การไม่รู้) สายโซ่ซึ่งยังให้เกิดทุกข์ก็ขาดสะบั้นลง เพราะการรู้เข้าไปแทนที่ เธออาจจะเคยได้ยินมาว่าพระพุทธเจ้าทรงตัดผมของพระองค์เพียงครั้งเดียว และผมของพระองค์ก็ไม่ขึ้นมาอีกเลย ข้อนี้เป็นปริศนาธรรม เมื่อผมถูกตัดออกไปมันไม่อาจจะกลับมาติดได้ดั่งเดิม ข้อนี้ฉันใด การตัดอวิชชาออกไปอย่างเด็ดขาด โดยที่มันไม่อาจจะหวนกลับมาได้อีก ก็เป็นฉันนั้น นี้คือกฎตายตัวของธรรมชาติ ดุจดังเชือกที่ขึงตึงไว้กับเสาสองต้น เมื่อเราตัดให้ขาดออกจากกันที่ตรงกลางก็ไม่อาจจะกลับเข้ามาผูกติดกันได้อีกเมื่อเราเห็นมาถึงจุดนี้เราจะรู้ว่า ภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในคน แล้วทำไมมันจึงกลายเป็นเรื่องยากเย็น มันไม่ใช่เป็นที่ยากแต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย มันเป็นสิ่งที่ทั้งยากและง่าย

    มีภาษิตบทหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกล่าวไว้ว่า “คนจนมั่งมี เศรษฐีทุกข์ไส้” ทำไมจึงทุกข์ ทำไมจึงจน เศรษฐีนั้นรวยเฉพาะแต่ในเรื่องเงินทองเท่านั้น แต่ยากจนเพราะไม่เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของตน ส่วนคนยากจนใดที่เห็นถึงกฎของธรรมชาติข้อนี้ ถือว่าเป็นผู้มั่งคั่งโดยแท้ เงินทองไม่อาจจะนำใครมาถึงจุดนี้ได้ คนทุกคนมีความสามารถทัดเทียมกันที่จะมาถึงจุดนี้ เพราะว่าทุกคนมีเหมือนกัน ไม่ว่าเราจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คนไทย คนจีน หรือชาวตะวันตก และไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาใดๆ ด้วย เราทั้งหมดมีจิตใจดั้งเดิมเป็นสิ่งเดียวกัน ข้อนี้เป็นกฎธรรมชาติเช่นเดียวกับที่ร่างกายของคนทุกคนประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ อย่างเดียวกัน ข้าพเจ้าสามารถให้คำมั่นแก่พวกเธอทั้งหลายได้ว่า ตัวเธอทุกคนนี้แหละปฏิบัติได้ แต่เธอจะต้องมีความจริงใจ

    ข้าพเจ้าเชื่อในคำพูดที่ว่า พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นเพียงบุคคลแรกที่ทรงค้นพบ ก่อนการอุบัติของพระพุทธเจ้านั้น พระธรรมถูกปกปิดอยู่ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงแต่ทรงเปิดเผยพระธรรมนั้น ธรรมชาติที่แท้จริงนี้ดำรงอยู่แล้วในคนทุกคน เมื่อเธอลุกขึ้นยืน ธรรมชาติที่แท้จริงนี้ก็ลุกขึ้นยืนพร้อมกับเธอ เมื่อเธอนั่งลง มันก็นั่งตามด้วย เมื่อเธอนอนหลับมันก็นอนหลับพร้อมๆ กับเธอ และเมื่อเธอไปเข้าห้องน้ำ มันก็ยังติดตามเธอไปที่นั่นด้วย มันไปทุกหนทุกแห่งพร้อมกับเธอ ดังนั้นเธอจึงสามารถปฏิบัติได้ในทุกสถานที่ เธอควรจะรู้ถึงวิธีการปฏิบัติ เธอควรจะรู้ถึงวิธีการดูความคิด เมื่อเธอรู้ถึงต้นตอหรือแหล่งที่มาของความคิด นี้เป็นจุดที่สำคัญยิ่ง จากจุดนี้หนทางอันยิ่งใหญ่จะเปิดเผยตัวของมันเอง
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน ที่ ตุลาคม 25, 2010, 01:15:32 am
 :13:   อนุโมทนาสาธุครับ ขอบคุณครับพี่แป๋ม
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ตุลาคม 25, 2010, 01:20:58 am
            (http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y9838005/Y9838005-9.jpg)

เมื่อเรามีทัศนะที่ถูกตรงและหนทางที่ถูกตรงแล้ว แน่นอนที่สุดเราย่อมจะลุถึงเป้าหมาย ในการฟังเทศนา การบริจาคทาน การรักษาศีล การปฏิบัติสมถภาวนา หรือแม้แต่วิปัสสนาภาวนา ถ้าเราไม่สามารถลุถึงที่หมายนี้ สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงความดีอย่างโลกๆ เท่านั้น แต่มิใช่ความดีอันแท้จริง แต่ถ้าเรามิได้บริจาคทานหรือรักษาศีลหรือปฏิบัติการภาวนา และก็ยังคงบรรลุถึงจุดนี้แล้ว กิจที่ต้องทำทั้งหมดเป็นอันสิ้นสุด ประดุจดังฟ้าที่ครอบคลุมดิน มันครอบคลุมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นพระไตรปิฎกทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ซึ่งรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ทั้งหมดได้รวมอยู่ที่จุดนี้ ถ้าเธอศึกษาพระไตรปิฎกจนจบ เธอควรที่จะมาถึงจุดนี้ แต่ถ้าเธอผ่านพระไตรปิฎกทั้งหมดแล้ว แต่มิได้มาถึงจุดนี้ เธอก็ยังคงมีแต่ความลังเลสงสัยและก็ยังคงมีแต่ทุกข์

    บัดนี้ เราไม่ต้องศึกษาพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรม(พระไตรปิฎก) แต่เราต้องมีความรู้สึกตัวมาถึงที่จุดนี้ เมื่อเรามาถึงจุดนี้เราก็จะรู้พระไตรปิฎกทั้งหมด ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังป่าแห่งหนึ่ง พร้อมด้วยภิกษุจำนวนหนึ่ง พระองค์ทรงหยิบใบไม้แห้งกำมือหนึ่งขึ้นมา แล้วตรัสถามแก่ภิกษุว่า “ใบไม้ทั้งหมดในป่าและในมือของเราตถาคต เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วอย่างไหนจะมีมากว่ากัน” ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ใบไม้ทั้งหมดในป่าย่อมมีมากว่าใบไม้ที่อยู่ในมือของพระองค์อย่างเปรียบเทียบกันมิได้ พระเจ้าข้า” พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “พระธรรมที่ตถาคตรู้นั้นมีมากเปรียบเหมือนใบไม้ทั้งป่า แต่พระธรรมที่ตถาคตสอนแก่พวกเธอทั้งหลายนั้น เปรียบเหมือนใบไม้กำมือเดียว” โปรดเข้าใจความหมายนี้ให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าทรงสอนเฉพาะเรื่องทุกข์และการดับไปของทุกข์เท่านั้น มิได้มีสิ่งใดอื่น การศึกษาตำรา การบริจาคทาน การรักษาศีล การปฏิบัติสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ควรจะนำเรามาที่จุดนี้ มิฉะนั้นแล้วก็เป็นสิ่งที่ไร้ค่า เมื่อเรามาถึงที่จุดนี้ กิจที่ต้องทำทั้งหมดก็เป็นอันสิ้นสุด

                                    จบ.

(http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y9838005/Y9838005-8.jpg)

: http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y9838005/Y9838005.html
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2011, 11:07:54 am

(http://www.cdthamma.com/titles/cd051_100/picture/cd078.gif)

แด่เธอผู้รู้สึกตัว และเดินทางลัด
ของ หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ
     
   ประจักษ์ได้ด้วยการรู้ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง        
   วิธีปฏิบัติการเจริญสติ

   พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักหน้าที่ของเรา หน้าที่ของมนุษย์คือการปฏิบัติธรรม  หน้าที่ของมนุษย์คือการสอนมนุษย์ให้เป็นมนุษย์  ดังนั้นเราจึงควรดูที่ตัวของเราเองก่อน เราควรพิจารณาตัวของเราเองก่อน เราควรสอนตัวของเราเองก่อน ถ้าเราทำชีวิตของเราให้สูญไปโดยไร้ประโยชน์ เราไม่สามารถจะซื้อมันกลับมาได้อีก ถ้าเราปล่อยให้ชีวิตของเราเป็นทุกข์ เราทำชีวิตของเราให้สิ้นเปลือง
   
   พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนอะไรอื่นนอกจากการดับทุกข์ แต่เมื่อเราไม่รู้เราแสวงหาออกนอกตัวเรา แต่ทุกข์ชนิดนั้นมิได้ดำรงอยู่   คำสอนของผู้เป็นครูของโลกทั้งหลายเปรียบเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า แต่ใบไม้ที่สามารถนำมาทำยาได้มีเพียงเล็กน้อย อย่าได้เอามาทั้งหมดทั้งรากและลำต้น เมื่อมาปฏิบัติกรรมฐาน หรือวิปัสสนา เราควรจะเอาเฉพาะสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิด สามารถดับทุกข์ที่ต้นเหตุของมัน  สามารถทำลายโมหะ เราเอาเฉพาะแก่น
   
   แก่นของคำสอนที่ข้าพเจ้าพูดถึงอยู่นี้คือ การมีสติ มีปัญญา เห็นความคิด เมื่อความคิดเกิดขึ้น เห็นมัน รู้มันเข้าใจมัน รู้มันในทุกลักษณะที่มันเกิด และรู้ถึงวิธีป้องกันมิให้มันมาลวงเรา     
   
   ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใด นั่นคือที่ที่เราจะต้องปฏิบัติ ไม่มีใครจะทำแทนเราได้ ไม่ว่าเราจะไปที่ใดเราเป็นบุคคลที่ไป ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด เราเป็นบุคคลที่อยู่ นั่ง กิน ดื่ม นอนหลับ เราเองเป็นผู้กระทำ  ถ้าเราเป็นบุคคลที่รักษาศีลหรือให้ทาน เราสามารถปฏิบัติได้ และถ้าเราเป็นบุคคลที่ไม่เคยกระทำสิ่งเหล่านี้ เราก็สามารถปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน การช่วยเหลือบุคคลอื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ดีในทางโลก ส่วนการปฏิบัติเจริญสติ สมาธิ ปัญญา นั้นดีในทุกๆ ทาง 
   
   ดังนั้นก่อนที่เธอจะสอนผู้อื่นเธอควรจะฝึกฝนตนเองกระทั่งเธอเห็น รู้ และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและอย่างแท้จริง เมื่อเธอเห็นจริง รู้จริง และเป็นจริงแล้วเธอจะสามารถสอนผู้อื่นได้อย่างสบาย

หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2011, 11:08:43 am

(http://i116.photobucket.com/albums/o8/kedluvu/miscellenious/thisedgeofsea.jpg)

ดังนั้นการปฏิบัตินี้เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวของเราเอง เราต้องสอนตัวเราเอง เราต้องเห็นด้วยตัวของเราเอง เราต้องรู้ด้วยตัวของเราเองเราต้องเข้าใจด้วยตัวของเราเอง เราต้องทำด้วยตัวของเราเอง

ดังนั้นเธอไม่จำเป็นต้องสนใจในบุคคลอื่น เพียงปฏิบัติการเคลื่อนไหวนี้ให้มาก ทำเฉยๆ ไม่รีบร้อน ไม่ลังเลสงสัย ไม่คาดคิดล่วงหน้า และทำโดยไม่คาดหวังผล ให้ง่ายๆ และเพียงแค่เคลื่อนไหว เคลื่อนไหวทีละครั้ง และรู้ เมื่อเธอไม่รู้ ปล่อยมันไป เมื่อเธอรู้ ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้ บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้

เมื่อร่างกายเคลื่อนไหว รู้มัน เมื่อจิตใจเคลื่อนไหว รู้มัน การปฏิบัตินี้เป็นการปฏิบัติตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้นให้ผ่อนคลายและให้เป็นธรรมชาติ เป็นปกติธรรมดา จงตั้งใจปฏิบัติจริงๆและปฏิบัติอย่างสบายๆ

วิธีของการเจริญสติในชีวิตประจำวัน       เมื่อเราขึ้นรถหรือลงเรือ และนั่งลงเรียบร้อยแล้ว เราพลิกมือขึ้นพลิกมือลง เราเคลื่อนมือ เหยียดมือ หรือคลึงนิ้วมือ กะพริบตา หายใจกลืนน้ำลาย และอื่นๆ

ให้รู้สึกตัวถึงการเคลื่อนไหวเหล่านี้ มันเป็นวิธีที่เรียกความรู้สึกให้กลับมาที่ตัวของเราเอง เมื่อความคิดเกิดขึ้นให้รู้ถึงความคิดนั้นและปล่อยวาง วิธีของการเจริญสติเมื่อเราอยู่บ้าน   

 เราอาจจะนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งเหยียดขา เราอาจจะยืนหรือนอนสร้างจังหวะได้เช่นเดียวกัน     

 เมื่อเราเดินจงกรม (เดินกลับไปกลับมาระยะประมาณ ๘ – ๑๒ ก้าว) เราต้องไม่แกว่งแขน เราอาจกอดอกหรือเอามือประสานไว้ข้างหน้า หรือประสานไว้ข้างหลังก็ได้

หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2011, 11:10:34 am

(http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/images/0010.jpg)

วิธีปฏิบัติในท่านั่งมีดังนี้

ภาค ๑ : อารมณ์สมมุติ 

   ต้องรู้ รูป-นาม (ร่างกาย-จิตใจ) ต้องรู้ รูปทำ-นามทำ

   ต้องรู้รูปโรค-นามโรค : รูป-โรค-นามโรค มีสองชนิด

โรคในทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือมีบาดแผล เราต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

โรคทางจิตใจ คือ โทสะ โมหะ โลภะ (ความโกรธ, ความหลง, ความโลภ)

   ในการแก้ไขเราต้องใช้วิธีของการเจริญสตินี้     

ต่อไปต้องรู้ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา (ทนไม่ได้, ไม่เที่ยง, บังคับควบคุมไม่ได้)     

แล้วต้องรู้ สมมุติ (สิ่งที่ยอมรับตกลงกัน) ไม่ว่าสมมุติ อะไรในโลกรู้ให้ถึงที่สุด

หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2011, 11:12:19 am

   ภาค ๒ : อารมณ์ปรมัตถ์   

   ใช้สติดูความคิด เมื่อความคิดเกิด รู้มัน เห็นมัน เข้าใจมัน สัมผัสมัน ทันทีที่ความคิดเกิด ตัดมันทิ้งไปทันที
ทำเหมือนแมวตะครุบหนู หรือเหมือนนักมวยที่ขึ้นเวทีต้องชกทันที เขาไม่จำเป็นต้องไหว้ครู ไม่ว่าแพ้หรือชนะนักมวยต้องชก

เราไม่ต้องคอยใครหรือเหมือนกับการขุดบ่อน้ำ เมื่อเราค้นพบน้ำ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตักโคลน ตักเลนออก ตักน้ำออกจนหมดน้ำเก่าเอาออกให้หมด บัดนี้น้ำใหม่จากภายในจะไหลออกมา เราจะต้องกวนที่ปากบ่อ ล้างปากบ่อ ล้างโคลน ล้างเลนออกให้หมด ทำมันบ่อยๆ น้ำจะใสสะอาดโดยตัวของมันเอง

เมื่อน้ำใสสะอาดมีอะไรตกลงไปในบ่อ เราจะรู้เห็นและเข้าใจทันที การตัดความคิดก็เช่นเดียวกัน ยิ่งเราตัดเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น   

   แล้วให้เราเห็น วัตถุ (สิ่งที่มีอยู่)
   เห็น ปรมัตถ์ (สิ่งที่กำลังมีอยู่เป็นอยู่ สัมผัสอยู่)
   เห็น อาการ (การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่กำลังมีอยู่)

   วัตถุ หมายถึงของที่มีอยู่ในโลก ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวคนและจิตใจของคนและสัตว์
   ปรมัตถ์ หมายถึงของที่มีอยู่จริง เรากำลังเห็น กำลังมี กำลังเป็น เดี๋ยวนี้ต่อหน้าต่อตาของเรา สัมผัสอาการได้ด้วยจิตใจ
   อาการ หมายถึงการเปลี่ยนแปลง สมมุติเรามีสีย้อมผ้าอยู่เต็มกระป๋อง เดิมคุณภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเรานำมาย้อมผ้ามันจะติดเนื้อผ้าร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อเรารู้ เราเห็น เราสามารถสัมผัสด้วยจิตใจ สียังเต็มกระป๋องเหมือนเดิม แต่คุณภาพได้เสื่อมไปแล้ว นำมันไปย้อมผ้ามันจะไม่ติดเนื้อผ้า สิ่งที่เราต้องเห็นจริงๆ ต้องรู้จริงๆ     
แล้วเห็น โทสะ โมหะ โลภะ

หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2011, 11:13:54 am

แล้วให้เราเห็น เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ (การรู้สึก-การจำได้-การปรุงแต่ง-การรับรู้)
เห็นมัน รู้มัน และสัมผัสมัน เข้าใจสิ่งนี้จริงๆเราไม่ต้องสงสัย     

บัดนี้ จะเกิด ปีติ (ความยินดี) ขึ้นเล็กน้อย แต่ปีติเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติในชั้นสูง เราไม่ต้องสนใจกับปีตินั้น
เราต้องมาดูความคิด นี้คือจุดเริ่มต้นของอารมณ์ปรมัตถ์ของการเจริญสติแบบนี้ของผู้มีปัญญา     

ดูความคิดต่อไป จะเกิดความรู้หรือ ญาณ หรือ ญาณปัญญา(ความรู้ของการรู้) ขึ้น       
เห็น รู้ และเข้าใจ กิเลส (ยางเหนียว) ตัณหา (ติด, หนัก)
อุปาทาน (ไปยึดไปถือ)
และ กรรม (การกระทำหรือการเสวยผล) ดังนั้นความยึดมั่นถือมั่นจะจืดลง จะหลุดตัวออก จะจางหายไป
เหมือนดังสีที่คุณภาพเสื่อมไปแล้ว ไม่สามารถจะย้อมติดผ้าได้อีก

จะเกิดปีติขึ้นอีก เราต้องไม่สนใจในปีตินั้น ถอนความพอใจและความไม่พอใจออกเสีย     

ดูความคิดต่อไป ดูจิตใจที่กำลังนึกคิดอยู่ จะเกิดญาณชนิดหนึ่งขึ้นเห็น รู้ และเข้าใจ
ศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ หรือ

   อธิศีลสิกขา (ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัด อบรมในทางความประพฤติอย่างสูงๆ”)
   อธิจิตตสิกขา (“ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิตเพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง”)
   อธิปัญญาสิกขา (“ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิต เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูงในทางหลุดพ้นหรือถอนราก”)
   ขันธ์ หมายถึง รองรับหรือต่อสู้สิกขา หมายถึง บดให้ละเอียดหรือถลุงให้หมดไป

หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2011, 11:15:25 am

   ดังนั้น ศีล (ความเป็นปกติ) เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ
   กิเลสอย่างหยาบ คือ โทสะ โมหะ โลภะ ตัณหา อุปาทาน กรรม เมื่อสิ่งเหล่านี้จืดลง
   จางลง และคลายลง ศีลจึงปรากฏ     
   สมาธิ เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างกลาง คือ ความสงบ     

   เห็น รู้ และเข้าใจ กามาสวะ (อาสวะ คือ “ความใคร่ ความอยาก”)
   ภวาสวะ (อาสวะ คือ “ความเป็น”) และ
   อวิชชาสวะ (“อาสวะคือ การไม่รู้”) เพราะกิเลสนี้เป็นกิเลสอย่างกลางซึ่งทำให้จิตใจสงบ     

   นี้คืออารมณ์หนึ่งของการเจริญสติวิธีนี้ เมื่อเรารู้และเห็นอย่างนี้ เราจะรู้ ทาน (“การ-ให้”)
   การรักษาศีลและกระทำกรรมฐาน (“การภาวนา”)ทุกแง่ทุกมุมแล้ว
   ญาณปัญญา จะเกิดขึ้นในจิตใจ ฯลฯ           

จบอารมณ์ของการเจริญสติวิธีนี้ มันจะเป็นอย่างมหัศจรรย์และยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของคนทุกคนไม่ยกเว้น ถ้าเรายังคงไม่รู้เดี๋ยวนี้ เมื่อใกล้จะหมดลมหายใจ เราต้องรู้อย่างแน่นอนที่สุด ผู้ที่เจริญสติ เจริญปัญญามีญาณจะรู้ ส่วนผู้ที่ไม่เคยเจริญสติ เจริญปัญญา เมื่อใกล้จะหมดลมหายใจมันจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่เขาไม่รู้ เพราะว่าเขาไม่มีญาณรู้อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการจำหรือการรู้จัก รู้ด้วยญาณปัญญาของการเจริญสติที่แท้ สามารถรับรองตัวเองได้

กล่าวกันว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว ญาณย่อมเกิดขึ้น ให้ระมัดระวังความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น
ให้รู้สึกตัวของเธอเองอย่าได้ยึดติดในความสุขหรือสิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้น
ความสุขก็ไม่เอา ความทุกข์ก็ไม่เอา เพียงกลับมาทบทวนอารมณ์บ่อยๆ จากรูป-นาม จนจบทีละขั้นๆและรู้ว่าอารมณ์มีขั้นมีตอน     

แน่นอนทีเดียว ถ้าเธอเจริญสติอย่างถูกต้อง การปฏิบัติอย่างนานที่สุดไม่เกิน ๓ ปี อย่างกลาง ๑ ปี
และอย่างเร็วที่สุด ๑ วัน ถึง ๙๐วัน เราไม่จำต้องพูดถึงผลของการปฏิบัตินี้ ความทุกข์ไม่มีจริงๆ

หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2011, 11:17:05 am

(http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRPYg-CgvOCSHHw2V_N9DVLqfEEQG8f6WUirElLkr-YPN_BHVZ13w)

มีการปฏิบัติกรรมฐานต่างๆ อยู่หลายวิธี ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติวิธีต่างๆมาเป็นอันมาก แต่วิธีเหล่านั้นไม่นำไปสู่ปัญญา

บัดนี้วิธีที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี้คือวิธีที่นำไปสู่ปัญญาโดยตรง ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ถ้าเขารู้วิธีการอย่างถูกต้อง เมื่อปัญญาเกิดขั้นเขาจะรู้ เห็น และเข้าใจด้วยตัวของเขาเอง ดังนั้นวิธีของการพลิกมือขึ้นและลงนี้ คือวิธีสร้างสติ เจริญปัญญา

เมื่อมีการปฏิบัติอย่างทั่วถึงโดยตลอดแล้ว มันก็จะสมบูรณ์และเป็นไปเอง     

ทุกคนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ยกเว้น ไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่ว่าเขาจะทำงานอะไร ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาไหน เขาสามารถปฏิบัติได้ทุกคนมีร่างกายและจิตใจ ร่างกายคือวัตถุที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตา เราอาจเรียกมันว่ารูป แต่จิตใจเราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา เราไม่สามารถสัมผัสด้วยมือเราอาจเรียกมันว่า นาม ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน     

เมื่อเราสร้างสติ เจริญสติ ปัญญาจะเกิดขึ้นและรู้ด้วยตัวของมันเองเพียงแต่ให้สิ่งที่มีอยู่แล้วได้เติบโตงอกงามขึ้น สิ่งที่ไม่เป็นจริงเราไม่ต้องทำมันขึ้นมา เมื่อเรารู้รูป-นาม เรารู้ทุกสิ่งและเราสามารถแก้ทุกข์ได้จริงๆ

ยกตัวอย่างเช่น เราจะไม่ยึดติดใจสมมุติ เมื่อรู้สิ่งนั้นแล้ว เราปฏิบัติความรู้สึกตัวให้มากขึ้นเคลื่อนไหวมือดังที่ข้าพเจ้าแนะนำเธอ บัดนี้ทำให้เร็วขึ้น ความคิดเป็นสิ่งที่เร็วที่สุด มันเร็วยิ่งกว่ากระแสไฟฟ้า

หัวข้อ: Re: แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2011, 12:11:07 pm

(http://www.pathumpao.go.th/include/ckfinder/userfiles/images/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7.jpg)

เมื่อสติปัญญาเพิ่มขึ้น มันจะรู้ เห็นและเข้าใจโทสะ โมหะ โลภะ
เมื่อเรารู้มัน ทุกข์ในจิตใจจะลดลง
คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดและคิดว่า โทสะ โลภะและโมหะ เป็นสิ่งปกติ
แต่ผู้รู้กล่าวว่า โทสะ โมหะ โลภะ เป็นทุกข์ เป็นของน่าเกลียดสกปรก

ดังนั้นเขาจะไม่ให้สิ่งนั้นมาเข้าใกล้นี้เรียกว่า การรู้ชีวิตจิตใจของตนเองซึ่งมีความสะอาด สว่างและสงบ
เมื่อเรารู้จุดนี้ มันจะเกิดศักยภาพอันยิ่งใหญ่เหมือนดังลำธารสายเล็กๆ ไหลลงกลายเป็น แม่น้ำใหญ่     

ดังนั้น วิธีของการปฏิบัติคือ มีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ รู้อิริยาบถของร่างกาย
และการเคลื่อนไหวเล็กๆ เช่น กะพริบตา เหลียวซ้ายแลขวาหายใจเข้าและหายใจออก
การเคลื่อนไหวทั้งหมดเหล่านี้สามารถเห็นได้ด้วยตา แต่เราไม่อาจเห็นความคิดด้วยตาได้

เราเพียงสามารถรู้และเห็น ด้วยสมาธิ สติปัญญา สมาธิที่ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงอยู่นี้
มิใช่การนั่งหลับตา สมาธิ หมายถึงการตั้งจิตใจเพื่อให้รู้สึกถึงตัวของเราเอง
เมื่อเรามีความรู้สึกตัว อย่างต่อเนื่องนี้ เรียกว่า สมาธิ หรืออาจเรียกว่า สติ

เมื่อจิตใจคิดเราจะรู้ความคิดทันที และความคิดจะสั้นเข้าๆ เหมือนดังบวกกับลบ
ถ้าหากจะพูดก็มีเรื่องจะต้องพูดอีกมาก
แต่ข้าพเจ้าประสงค์ให้พวกเธอทั้งหมดปฏิบัติการเคลื่อนไหว ปฏิบัติด้วยตัวของเธอเอง
โดยวิธีของการเคลื่อนไหว ผลจะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง
             
     การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม
     แสวงหา " มรรคผลนิพพาน " ก็ตาม  อย่าไป " แสวงหา " ที่ๆ มันไม่มี   
     แสวงหาตัวเรานี้     
     ให้เราทำความรู้สึก ตื่นตัว อยู่เสมอนี่แหละจะรู้จะเห็น


(http://gotoknow.org/file/papangkorn/tt718.jpg)
Pics by : http://portal.in.th/i-dhamma/pages/10183/
: Google

ข้อความทั้งหมดนี้ได้คัดลอกจากหนังสือ “แด่เธอผู้รู้สึกตัว
ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ (พันธ์ อินทผิว)
หน้าที่ ๙๓-๑๑๓ และประวัติของท่าน
พร้อมรายชื่อวัดในสายงานของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

โดยได้รับอนุญาตจากพระภิกษุฉัตรชัย จันทรสโร
รองประธานมูลนิธิฝ่ายบรรพชิต
ตามหนังสือมูลนิธิ, ลงวันที่ ๒พฤษภาคม ๒๕๔๗ ที่แนบ

(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:mAj7eRQ10kykCM:gotoknow.org/file/yanuprom/276bc0516477fbdfc3489c6053550aaf.jpg)

http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1129.php (http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1129.php)
miracle of love
อกาลิโก โฮม บ้านที่แท้จริง agaligo home
สุขใจดอทคอม * ใต้ร่มธรรมดอทเน็ท
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ...