(http://www.praphansarn.com/new/forum/uploads//2007-06-24_225934_Everlasting_arms_by_Larry_Dyke.jpg)
อยู่สบาย ตายสงบ
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
บรรยายธรรมที่ยุวพุทธ บางแค
18 กรกฎาคม 2553
ถอดเทปโดย คุณพรรณระวี ศิริภัทร
ตรวจสอบและย่อสรุปโดย kaveebsc@yahoo.com
หากท่านใดต้องการฉบับเต็มไม่ย่อ
โปรดอีเมล์แจ้งมาได้ครับ
สาธุ ขออนุโมทนากับพระอาจารย์ ท่านเจ้าภาพ
และเจ้าหน้าที่ยุวพุทธฯ ที่จัดงานบรรยายธรรมนี้
อีกทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดงาน
คุณพรรณระวี ผู้ถอดเทป
ผู้ร่วมเข้าฟังธรรมะบรรยาย ผู้อ่าน
ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมทุกๆท่านครับ
ขอเชิญทุกท่านน้อมใจให้อยู่ในความสงบ พร้อมกับเปิดใจเพื่อที่จะรับรู้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังในปัจจุบันขณะ ทุกท่านมาร่วมโครงการจิตใส ใจสบาย ก็เพื่อหวังว่าจะเกิดความสุขแก่ชีวิต โดยเฉพาะแก่จิตใจของตน ที่จริงความสุขนั้นไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน มันมีอยู่แล้วนะที่ใจของเราขณะปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะรักษาใจให้เป็น มีสติ มีปัญญา สามารถที่จะเจริญสมาธิให้เกิดขึ้นแก่ใจของตนได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานที่ใด หรือแม้แต่จะเผชิญ กับเหตุการณ์ใด ๆ ที่เข้ามากระทบกับชีวิตของเรา เราก็ยังสามารถจะรักษาใจให้เป็นปกติ หรือว่าสงบเย็นได้ แม้จะพลัดพรากจะเจ็บ จะป่วย เราก็สามารถรักษาใจให้ปกติได้ และที่สุดแม้เราจะต้องเผชิญกับความตาย เราก็สามารถที่จะส่งใจให้สงบได้ อันนี้คือความสามารถที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน
มนุษย์เราก็เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตหรือสังขารทั้งหลาย ก็คือมีหน้าที่ต้องแก่ ต้องเจ็บและก็ต้องตาย นี่คือหน้าที่นะ แต่ว่าเราก็มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบได้ มีเงื่อนไขว่า เราต้องทำหน้าที่ให้ดี คือหน้าที่ต่อความตาย เช่น เตรียมพร้อมรับความตาย หรือว่าทำความเข้าใจเกี่ยวกับความตายอย่างถูกต้อง แต่คนทุกวันนี้ส่วนใหญ่ปฏิเสธหน้าที่นี้ พยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำหน้าที่ หาทางบิดพลิ้วก็คือพยายามที่จะหลีกหนีความตาย ไม่คิดไม่คำนึงแม้แต่น้อยว่า สักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตาย
เพราะฉะนั้นเราก็เห็นคนจำนวนมาก พยายามที่จะหลีกหนีความตาย ไม่นึกถึงความตาย ก็เลยมีชีวิตเหมือนกับคนลืมตาย คืออยู่ไปโดยที่ไม่นึก ไม่เฉลียวใจว่า สักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตาย พอเจอเหตุร้ายเข้ากับตัว ทำใจไม่ได้ ก็หมดเรี่ยวหมดแรง กลายเป็นว่ามีชีวิตเหมือนคนตาย เช่นพอรู้ว่าเป็นมะเร็ง ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ เศร้าซึม ขาดชีวิตจิตใจ ดังนั้นใจคนส่วนใหญ่ก็จะแกว่งไปมา หรือว่าจะมีอาการแบบนี้ คือตอนที่สุขสบายดีอยู่ ก็อยู่เหมือนคนลืมตาย แต่พอเจอโรคภัยมาคุกคามถึงตัว อยู่ก็เหมือนคนตาย และคนที่อยู่เหมือนคนตายนี้ ก็จะต้องตายหลายครั้ง กว่าจะหมดลมจริงๆ
มีภาษิตหนึ่งเขาบอกไว้ว่า คนกล้านั้นตายครั้งเดียว แต่คนขลาดนั้นตายหลายครั้ง ก็คือว่า พอนึกถึงความตายทุกครั้งก็เหี่ยวแห้ง ใจคอเหี่ยวแห้ง ไม่มีเรี่ยว ไม่มีแรง ไม่มีชีวิตจิตใจ ที่จะอยู่ในโลกนี้ อันนี้ เราตายไปครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าคิดแบบนี้ รู้สึกแบบนี้ บ่อยเข้า ๆ ก็เรียกว่าตายหลายครั้ง อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าเขาไม่เคยเตรียมใจที่จะรับมือกับความตาย พยายามที่จะหลีกหนีความตาย แม้แต่จะคิดก็ไม่อยากจะคิด แม้ใครจะพูดถึงเรื่องนี้ก็ไม่อยากให้พูด เพราะถือเป็นเรื่องอัปมงคล และเมื่ออยู่อย่างคนตายแล้วนี่ ในที่สุดเมื่อถึงเวลาตายก็จะตายอย่างทุรนทุราย ทรมาน เป็นที่น่าสังเวช เป็นที่น่าเศร้าโศกเสียใจแก่ผู้ที่ยังอยู่ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผู้คนที่ยังอยู่นั้น กลัวความตายมากขึ้น เพราะเห็นคนที่ตัวเองรักเขาจากไปในอาการอย่างนั้น คือทุรนทุราย กระสับกระส่าย บางทีตาค้าง ตาเหลือก ตาถลน ก็ยิ่งพยายามที่จะหนีความตาย เขาหารู้ไม่ว่าจริง ๆ แล้วความตายนั้นไม่น่ากลัว เท่ากับความกลัวตาย และที่กลัวตายก็เพราะไม่ได้รู้จักความตายดีพอ
ถ้าเรารู้จักความตายดีพอเราก็จะพบว่าความตายไม่ใช่เป็นแค่วิกฤต แต่ยังเป็นโอกาสได้ด้วย ความตายของบางคนมันหมายถึงโอกาสที่ อีกหลายคนจะมีชีวิตรอด เพราะว่าเขาจะได้อวัยวะจากผู้ตาย เป็นโอกาสที่จะต่อชีวิตให้คนอีกหลายคน ความตายยังเป็นโอกาส ในทางยกระดับจิตใจของผู้ที่กำลังจะตาย ให้สู่สภาวะหรือภูมิที่สูงขึ้นได้ มีผู้คนจำนวนมาก เมื่อถึงระยะสุดท้ายของชีวิต เขาได้พบกับความสุขที่ไม่เคยประสบมาก่อน อาจจะได้พบกับสิ่งที่ประเสริฐ หรือประณีตกว่านั้นได้ เช่น ได้พบกับความสงบจากชีวิตที่เข้าถึงธรรมะ เมื่อรู้ว่าจะตายก็หันมาสนใจธรรมะ และก็ได้พบว่าชีวิตที่แท้ ความสุขที่แท้คืออะไร ก็ทำให้มีความสุข เพราะเขาเรียนรู้ที่จะปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ที่เคยเป็นภาระให้แก่จิตใจมาโดยตลอด หรือคนที่มีภูมิปัญญามากกว่านั้น ก็สามารถที่จะใช้ความตายเป็นโอกาสในการเข้าถึงธรรม เข้าถึงความจริง เข้าถึงสัจธรรม จนเกิดปัญญารู้แจ้ง ยกจิตให้หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่น พ้นจากกองทุกข์ได้