ใต้ร่มธรรม

ริมระเบียงรับลมโชย => ดูหนัง ดูเรา ดูโลก ( Movie and Wisdom ) => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊กซ ที่ พฤศจิกายน 20, 2010, 10:11:58 am

หัวข้อ: เมื่อดอกเบญจมาศร่วงโรย - Curse of the golden flower
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊กซ ที่ พฤศจิกายน 20, 2010, 10:11:58 am
(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362169.jpg)


หนังเรื่องล่าสุดของจางอี้โหมวบรรจุความถึงพร้อมของวุฒิภาวะไว้อย่างเต็มเปี่ยม จากประสบการณ์การทำงานของผู้กำกับที่เริ่มต้นจากการแสดงทัศนคติเพียงด้านเดียวในงานหนังยุคแรก ๆ อันได้แก่ Red sorghum , Ju dou และ Raise the red lantern ที่นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของระบบจารีตโบราณ และต้องการจะหลุดพ้นไปจากระบบเดิมๆ เหล่านั้น ตามความปรารถนาส่วนตน

ทัศนคติด้านเดียวในหนังยุคแรกกล่าวถึงการต่อสู้กับระบบโดยจัดผู้ชมให้อยู่ฝั่งเดียวกับผู้กำกับและให้เจ้าตัวระบบเหล่านั้นเป็นเสมือนผู้ร้ายในหนังของเขา (ฟังดูก็คล้าย The Matrix อยู่ไม่น้อย) ซึ่งระบบสมมุติที่ปรากฎอยู่มีตั้งแต่จารีตประเพณี , ระบอบการปกครองและการถูกข่มเหงจากศัตรูสงครามแดนอาทิตย์อุทัย (Red sorghum)

วิธีในการมองชีวิตของจางอี้โหมวที่เปลี่ยนไปถูกสะท้อนออกมาในหนังยุคหลัง ได้แก่ The Road Home , Hero , Happy time , House of flying dagger และ Riding alone for thousands of mile

หนังของจางอี้โหมว ดูมีมิติที่หลากหลายและลึกขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยเมื่อเขาเริ่มเปิดกว้างทาง ทัศนคติ สิ่งที่เคยเป็นเสมือนคู่แค้นคู่อาฆาตได้กลับกลายมาเป็นมิตร จางอี้โหมวเริ่มเข้าอกเข้าใจและ มองกลับด้านผ่านทัศนคติของฝ่ายตรงข้ามก่อนที่จะวินิจฉัยให้คุณค่าว่าสิ่งนั้นๆ ถูกหรือผิดอย่างไร การเปลี่ยนมาหามุมมองที่หลากหลายนี้เองได้ปรากฎอยู่ในหนังเรื่อง Hero ความรู้สึกประนีประนอมของจางอี้โหมวถูกถ่ายทอดผ่านงานชิ้นต่อๆ มาอยู่เสมอ



(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362235.jpg)

Curse of the golden flower สานต่อแนวคิดที่เคยเปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ Hero (อันที่จริงแนวคิดนี้ได้ถูกซ่อนนัยยะเอาไว้แล้วกลายๆ ตั้งแต่เรื่อง The Road Home ด้วยเทคนิคการแบ่งสี) แนวคิดอันว่าด้วยการสมานฉันท์ที่หลอมรวมความแตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียว ความเป็นเอกภาพอันจะนำมาซึ่งความสงบสันติในที่สุด

Hero ถ่ายทอดความงดงามของแนวคิดนี้ได้อย่างวิจิตรบรรจง จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Ju dou และ Raise the red lantern ก็เคยผ่านเวทีนี้มาแล้วเช่นกัน) Hero เล่าเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งคมคายไล่ไปตั้งแต่ปรัชญาระดับจิตจนถึงสาระการเมืองในระดับชาติ

Hero กล่าวถึงคุณค่าของสันติภาพ หากความแตกต่างถูกรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว แต่ Curse of the golden flower กล่าวถึงความล่มสลายย่อยยับ หากความแตกต่างที่ปรากฎอยู่ยังคงต่อสู้ขับเคี่ยวกันต่อไป

Curse of the golden flower พยายามวิจัยหาจุดร่วมของความแตกต่างเหล่านั้นให้ได้ โดยสื่อผ่านดอกเบญจมาศ ดอกไม้ซึ่งในภาษาจีนออกเสียงว่า Ju แปลว่า ร่วมกัน รวมกัน รวมตัวกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวจีนแล้วยังเป็นสัญลักษณ์ประจำสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นอีกด้วย (เหรียญ 1 หยวน ที่ใช้กันในจีนก็มีดอกเบญจมาศอยู่บนนั้น)


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362276.jpg) (http://"http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362276.jpg")

ดอกเบญจมาศมีรูปลักษณ์ที่ก่อให้เกิดมโนทัศน์บางอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหนังเรื่องนี้ นั่นคือ แต่ละกลีบที่แฉกออกไปแตกต่างทิศทางถูกรวมเอาไว้ภายใต้ฐานดอกเพียงหนึ่งเดียว จุดร่วมตรงนี้แหละที่จางอี้โหมวพยายามค้นหาเสมอมาในหนังของเขายุคหลัง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการรวมหนังสีกับหนังขาวดำไว้ด้วยกัน (The Road Home) หรือหนังที่มีสี monotone เข้าไว้ด้วยกัน (Hero) หรือแม้แต่การผสานความเป็นหนังศิลปะ (หนังอาร์ตดูยาก) ให้เข้ากันได้กับหนังตลาดทุนสูง (เพื่อให้กลายเป็นขวัญใจมหาชนหมู่มากให้ได้)

งานวิจัยชิ้นล่าสุดของจางอี้โหมว มีความทะเยอทะยานอย่างสูงยิ่ง เพราะแตกประเด็นออกไปอย่างกว้างขวางและมีสารทางการเมืองอยู่สูงกว่าหนังเรื่องก่อนๆ (ในแง่จิตวิทยาของปัจเจกบุคคลก็กล่าวถึงอยู่บ้างเหมือนกัน) แต่ที่เด่นชัดจริงๆ ก็ได้แก่ประเด็นว่าด้วยเพื่อนร่วมเชื้อชาติ (จีนแผ่นดินใหญ่ , ฮ่องกง และไต้หวัน สื่อผ่านตัวละครที่เป็นตัวแทนจากแต่ละประเทศ) ที่ควรจะสมานฉันท์เป็นมิตรที่ดีต่อกันได้สักที และประเด็นอันว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งระหองระแหงกันมายาวนาน นับแต่ยุคสงครามโลกจวบจนปัจจุบัน

กระแสของโลกปัจจุบัน เริ่มหันมาให้ความสนใจกับงานหนังที่สื่อถึงปัญหาสังคมมากขึ้น (จนเหมือนมองข้ามหนังแนวมนุษยนิยมไปซะงั้น) เพราะความหลากหลายทางความคิดของผู้คนในโลกที่แตกต่างทางเชื้อชาติ , สัญชาติ และศาสนา ฯลฯ ถือเป็นชนวนของการสู้รบและสงครามอยู่เสมอ ความพยายามในการลดแรงปะทะนี้เคยถูกเสนอมาแล้วในหนัง Hollywood เรื่อง Crash (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2006) และ ในปี 2007 นี้ก็ยังปรากฏ Babel อีกหนึ่ง หนังที่บอกเล่าประเด็นนี้ผ่านจอเงินได้อย่างขึงขัง จริงจัง และงดงามยิ่ง

Curse of the golden flower ของจางอี้โหมวคือหนึ่งในแนวทางนั้น


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362353.jpg)

ขอบเขตการเล่าเรื่องของ Curse of the golden flower ไม่กว้างเกินไปและไม่แคบเกินไป เพราะมุ่งมุมมองที่มีต่อสถาบันครอบครัว สถาบันซึ่งทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นอย่างดีเป็นระบบสัญลักษณ์ (Symbolic) ในหนังเรื่องนี้ ครอบครัวอันถือได้ว่าเป็นการรวมตัวของมนุษย์รูปแบบแรกที่แม้แต่สัตว์ในระดับปฐมภูมิยังรู้จักดี เหตุผลเริ่มต้นในการมารวมตัวกันนี้เพื่อประโยชน์ของความอยู่รอด (แม้จะฟังดูดิบเถื่อน แต่จริง) ผ่านเวลานับร้อยนับพันปีสถาบันนี้กลายเป็นแหล่งรวมของความรักความอบอุ่นที่สมาชิกในครอบครัวมีให้แก่กันและคอยช่วยเหลือกันยามผจญทุกข์ยากในชีวิต

ส่วนคำถามที่ว่าครอบครัวเป็นรูปแบบของสถาบันที่มนุษย์เราสมมุติขึ้นหรือเป็นรูปแบบตามธรรมชาติ ยังคงถกเถียงกันได้และไอ้ความคลุมเคลือนี่แหละเหมาะสมอย่างยิ่งกับหนังเรื่องนี้

ไม่ใช่ครั้งแรกที่จางอี้โหมวเลือกใช้ครอบครัวเป็นตัวเล่าเรื่อง เพราะงานในอดีตของเขาก็เคยหยิบยกความสัมพันธ์ระดับครอบครัวเล็กๆ ขึ้นเทียบเคียงกับความเป็นครอบครัวเดียวกันระดับชาติ (ระบบคอมมูนแบบคอมมิวนิสต์) ในยุคการปกครองของเหมาเจ๋อตุงจากหนังเรื่อง To Live (หนังที่ว่าด้วยความผิดพลาดของการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนและยกย่องคุณค่าความเป็นมนุษยปุถุชนเหนือนโยบายสมมุติของรัฐบาล)

Curse of the golden flower แนะนำฮองเฮา (กงลี่) ในฐานะตัวละครหลักตัวแรก ก่อนที่จะเปิดตัวฮ่องเต้ (โจเหวินฟะ) อีกตัวละครหลักในฉากถัดมา 2 ตัวละครที่จะคะคาน , เสียดสีและกระแทก กระทั้นกันตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจน End Credit ลอยขึ้นมาในตอนจบ

ครอบครัวระดับราชวงศ์นี้ ยังมีโอรสอีก 3 พระองค์ อันเป็นตัวแทนของคนใน 3 ยุคของสังคมจีนไล่มาตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราช – สังคมนิยม-และยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362397.jpg)

องค์ชายรัชทายาท เหยียนเสียง คือตัวแทนของระบบราชวงศ์ ในอดีตที่อ่อนแอ เหยาะแหยะทางกำลังกายภาพ หากแต่อ้างอำนาจอันสูงสุดจากสวรรค์ว่าเป็น Son of heaven ในการขึ้นครองบัลลังก์เพื่อกุมชะตากรรมของแผ่นดิน ลึกลงไปในจิตใจ เหยียนเสียงต้องการหนีออกไปจากกรอบของระบบราชสันตติวงศ์นี้ เพื่อคว้าไขว่รสชาติของอิสรภาพเยี่ยงปุถุชน โดยเฉพาะอิสรภาพแห่งรัก

องค์ชายรองเหยียนเจี๋ย คือตัวแทนของคนหนุ่มหัวก้าวหน้าแห่งยุคสังคมนิยมในอดีตที่รู้สึกกระด้างกระเดื่องต่อระบบการปกครองและจัดเป็นกลุ่มคนที่มีปฏิกิริยา (Reaction) ต่อต้านนโยบายของผู้นำอย่างชัดเจน คนในกลุ่มนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบอันไม่ชอบธรรมในสังคมด้วยการปฏิวัติเพื่อขจัดวิถีทางและวิธีคิดของผู้นำที่มุ่งกดขี่ประชาชน ในหนัง เหยียนเจี๋ยก่อการปฏิวัติเพื่อเสด็จแม่ เพื่อปลดแอกผู้เป็นที่รักให้หลุดพ้นจากกรอบกรงที่จองจำอยู่สู่อิสระเสรีที่ควรมีควรเป็น (ตัวจางอี้โหมวเองก็น่าจะถูกรวมอยู่ในคนกลุ่มนี้ด้วยในฐานะของนักศึกษาหนุ่มที่ถูกกระแสปฏิวัติวัฒนธรรมกระหน่ำซัด จนวันหนึ่งต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบนี้ โดยเฉพาะการต่อสู้ผ่านงานหนังในยุคแรก ซึ่งแทบทุกเรื่องถูกห้ามฉายในประเทศจีน แต่กลับคว้ารางวัลอันเกริกเกียรติจากนานาชาติมามากมาย)

เหยียนเจี๋ยถูกส่งตัวไปอยู่ชายแดนนาน 3 ปี ด้วยบัญชาของฮ่องเต้ เสมือนหนึ่งนโยบายของท่านผู้นำเหมาเจ๋อตุงที่ส่งนักศึกษาในยุคนั้นไปใช้ชีวิตในชนบทอันห่างไกล เพื่อให้เยาวชนในเมืองได้เข้าใจวิถีชีวิตอันยากแค้นแสนลำบากของเพื่อนร่วมชาติ (บ้างเข้มแข็งกลับมาเหมือนเหยียนเจี๋ย บ้างก็ล้มตายไปไม่น้อย)

องค์ชายเล็ก เหยียนเฉิน ตัวแทนของเด็กในยุคสื่อสารสนเทศไร้ขอบเขต (Worldwide) สะท้อนปัญหาสังคมในปัจจุบันที่ถูกครอบครัวเลี้ยงดูด้วยความมั่งคั่งแทนความรักความอบอุ่น เด็กในยุคนี้เกิดมาท่ามกลางความสะดวกสบายไม่ว่าในแง่ของเศรษฐกิจหรือสภาพสังคม ไม่ปรากฏสงครามหรือวิกฤตใดให้ทายท้าเยี่ยงวีรชนในยุคก่อน ไม่มีระบบใดมาขีดกรอบมาข่มเหงให้ต้องรู้สึกอึดอัดคับแค้น แต่ในความที่ไม่มีอะไรมาบีบคั้นนี้เองทำให้เด็กในยุคไร้พรมแดนกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมไร้ขอบเขตไปโดยปริยาย หลายๆการกระทำสะท้อนถึงความพยายามในการเรียกร้องความสนใจที่ดูไร้เดียงสา แต่ในบางบริบทก็ดูน่าสังเวช

ทั้ง 3 พระองค์คือวัตถุดิบซึ่งจะถูกหล่อหลอมโดยเบ้าของ 2 อิทธิพลใหญ่ในครอบครัว นั่นคือตัวฮองเฮาและฮ่องเต้ บุคคล 2 คน ผู้ตั้งต้น 3 พฤติกรรมที่แตกต่าง

ฮองเฮา คือแนวคิดหัวเสรีสุดขั้ว (เทียบกับการปกครองระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยและอาจไกลไปกว่านั้นถึงขั้นเสรีภาพไร้ขอบเขต ไร้แก่นสาร เหมือนพวกฮิปปี้ – พี้ยา ใน USA.) ฮองเฮา คือสัญลักษณ์แทนสตรีเพศ ในหนังของจางอี้โหมวทุกเรื่องที่สตรีเหล่านี้ต้องตกเป็นเหยื่อของระบบอะไรบางอย่าง บ้างสามีเป็นใหญ่ บ้างพ่อแม่บังคับ บ้างก็จารีตโบราณ ที่ห้ามโน่นห้ามนี่จนแทบหายใจไม่ออกด้วยความน่าอึดอัดของระบบเหล่านั้น (เหมือนเหล่าสตรีที่ถูกรัดอกในหนังเรื่องนี้ ที่บีบกันจนนมแทบทะลัก) เหล่าสตรีก็เลยต้องการเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น แต่ผลลัพธ์แทบทุกเรื่องหากคิดจะสู้กับระบบแล้วหากไม่ตายอย่างน่าเวทนาก็เป็นบ้าวิกลจริต

ฮองเฮาตกอยู่ภายใต้กรอบที่องค์ฮ่องเต้เป็นคนบัญญัติ ในฐานะที่เป็นฮ่องเต้นี่เองทำให้หนังเรื่องนี้รวมเอาทุกระบบในอดีตมาผนวกกัน ตั้งแต่สามีเป็นใหญ่ในครอบครัวไปจนถึงระดับของผู้นำชาติที่วางนโยบายออกมาเป็นกฎหมายเสมือนประกาศิตจากสวรรค์ที่ไม่ว่าประชาชนหน้าไหนก็ไม่อาจขัดขืน

หนังวางสัญลักษณ์ให้ดอกเบญจมาศเป็นตัวแทนของระบบเสรีภาพและความงามของสตรี (อาจตีความไกลไปถึงความเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) อีกสัญลักษณ์หนึ่งที่เป็นตัวแทนของฮองเฮา คือนกฟีนิกซ์ (นกหงส์ไฟ) นอกจากจะเป็นเครื่องหมายของฮองเฮาตามราชประเพณีจีนแล้วตามระบบสัญลักษณ์ทั่วไปก็ยังใช้นกสื่อถึงเสรีภาพและอิสรภาพอีกด้วย


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362539.jpg) (http://"http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362539.jpg")

ฮ่องเต้ คือตัวแทนของแนวคิดสังคมนิยม รูปแบบการปกครองที่เป็นการใช้อำนาจจากเบื้องบนลงไปบังคับบัญชาผู้อยู่เบื้องล่าง เสมือนมันสมองที่ควบคุมระบบประสาทของแผ่นดินเอาไว้ได้อย่างแม่นยำในทุกๆส่วน (ในระบบทหารของทุกประเทศก็เป็นแบบนี้) ฮ่องเต้สามารถชี้เป็นชี้ตายได้เหมือนกฎหมายและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทุกสรรพสิ่งในแผ่นดิน ดังนั้นประโยคที่ว่า “เมื่อข้าไม่ให้ ใครก็อย่าคิดแย่ง” ก็สะท้อนสนับสนุนแนวคิดนี้เป็นอย่างดี

ฮ่องเต้คือความเคร่งครัดในระเบียบและวินัย ยึดมั่นในความมั่นคงของเส้นบรรทัดฐาน เส้นซึ่งเที่ยงตรงดุจนาฬิกาพอดีเป๊ะ ดุจตราชูที่ใช้ชั่งวัด ฮ่องเต้เกาะกุมความคิดนี้เป็นสรณะเหนือคุณธรรมอื่นใด ตราบใดที่ทุกอย่างยังเป็นไปตามลิขิตของเขาโลกนี้ก็ดูปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สรุปความสั้น ๆ ว่าฮ่องเต้เป็นมนุษย์ที่พยายามขจัดอารมณ์และความรู้สึกเยี่ยงปุถุชนออกไปให้พ้นตัวและไปหลงยึดมั่นกับระบบระเบียบที่สมมุติขึ้นอย่างเข้มข้นและเคร่งเครียด

ตัวละครทั้ง 5 ใน Curse of the golden flower ถูกบีบอยู่ใน flame เดียวกันด้วยฉากโต๊ะเสวยบนหอเบญจมาศ ภาพมุมบนที่เผยให้เห็นแฉกและทิศทางของตัวละครแต่ละคนกระจายออกไปเป็นรูปวงกลม ที่ถูกรวมอยู่ด้วยกันได้ก็เพราะล้วนแต่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ( ตามนิติฐานะเท่านั้นไม่ใช่รวมตัวกันเพราะแรงดึงดูดของความรัก )


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362592.jpg) (http://"http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362592.jpg")

สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวล้วนแต่มีความต้องการส่วนตัว (Private want) อะไรบางอย่างซึ่งมีเพียงฮ่องเต้เท่านั้นที่ประทานให้ได้ ( Public want)

เหยียนเสียงต้องการไปอยู่ชายแดนกับหญิงคนรักซึ่งคือ เสี่ยวฉาน บุตรีของหมอหลวงที่เขาลักลอบมีความสัมพันธ์ด้วย

เหยียนเฉินต้องการคุมกองทหารทั้งหมดด้วยตนเองในงานเทศกาลฉงหยางปีนี้

เหยียนเจี๋ยต้องการให้ฮองเฮาเป็นอิสระจากการถูกบังคับให้เสวยยาขมมาเป็นเวลานับสิบปี

ในบรรดาโอรสสามพระองค์ คงมีเพียง เหยียนเจี๋ยองค์ชายรองเท่านั้นที่ความประสงค์ของเขาไม่ได้เป็นไปเพื่อตัวเอง หากแต่เพื่ออุดมคติอะไรบางอย่างที่สูงส่ง

ฮองเฮาต้องการปลดแอกตัวเองให้หลุดล่วงจากกรอบแห่งวินัยของฮ่องเต้ ส่วนฮ่องเต้ก็ต้องการอนุรักษ์กรอบวินัยนี้เอาไว้ให้นานเท่านาน เพื่อตอกย้ำสัจจะเดิม ๆ ว่าตนยังควบคุมทุกอย่างในแผ่นดินนี้อยู่

ทุกความต้องการที่กล่าวมาล้วนสวนทางและไม่อาจหาจุดบรรจบ

หนังมีตัวละครเสริมรองเข้ามา นั่นคือครอบครัวขนาดเล็กของหมอหลวง ประกอบด้วย

หมอหลวง ผู้ซึ่งภักดีต่อฮ่องเต้ ถวายทั้งกายใจรับใช้โดยไม่เคยคิดเคลือบแคลงสงสัยอะไรในภัยที่กำลังย่างกรายเข้ามา

ฮูหยินของหมอหลวง สตรีในอุดมคติของจางอี้โหมว ผู้ที่ไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจใด ๆ เหิมเกริม ชี้หน้าด่าฮ่องเต้อย่างไม่ครั้นคร้าม และการเจอกับฮ่องเต้ในหนังครั้งแรก ฮูหยินถึงขั้นตบพระพักตร์ของฮ่องเต้อย่างแรงด้วยโทสะที่ถูกสะสมมาเมื่อครั้งอดีต


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362473.jpg) (http://"http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362473.jpg")

ฮูหยินเป็นคนตรงและซื่อสัตย์จนอาจถึงขั้นขวานผ่าซากในหลาย ๆ พฤติกรรม อารมณ์ที่เธอรู้สึกไม่อาจถูกกั๊กหรือกดกลั้นไว้ได้ ภายใต้ใบหน้าที่ถูกตีตราว่าครั้งนึงเคยเป็นคนคุก ฮูหยินมีอดีตความสัมพันธ์กับองค์ฮ่องเต้ในฐานะคู่รัก และยังเป็นมารดาขององค์ชายรัชทายาทอีกด้วย หากแต่ความจริงในข้อนี้ ฮูหยินเก็บเอาไว้เป็นความลับไม่เคยแพร่งพรายให้ผู้ใดรับทราบแม้กระทั่งสามีของตน

จากอารมณ์ของอดีตคนคุกนี้เอง ทำให้ฮูหยินปลงใจรับใช้ฮองเฮาเพื่อแก้แค้นฮ่องเต้ ฮองเฮาผู้ซึ่งในขณะนี้ตกอยู่ในสภาพถูกจองจำเยี่ยงคนคุก ไม่ผิดแผกแตกต่างจากอดีตของตัวฮูหยินเอง

เสี่ยวฉานบุตรีคนงามของครอบครัวนี้ ผู้ภักดีต่อความรักที่องค์ชายรัชทายาทมอบให้ ในฐานะเป็นสตรีเพศในหนังของจางอี้โหมว เสี่ยวฉานได้รับผลร้ายในรูปแบบที่ไม่เกินคาดเดา เสี่ยวฉานยังเป็นตัวแทนของเหยื่อในหนังเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุด จากบทบาทการแสดงที่ดูใสและซื่อเอามากๆ ของเสี่ยวฉาน ( บ่อยครั้งก็ดูไร้สมอง ) สะท้อนถึงเด็กสาวในยุคช่างฝัน ที่มีทัศนคติว่าโลกนี้ยังคงสวยสดงดงาม รอคอยเพื่อจะเป็นเจ้าหญิงในอ้อมแขนของเจ้าชาย เหมือนความฝันที่เลื่อนลอยและลมๆแล้งๆ ของเด็กสาวอ่อนเดียงสาในโลกปัจจุบัน

ครอบครัวของหมอหลวง สื่อถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและอบอุ่นระหว่างกัน ในนาทีที่เป็นวิกฤติการณ์ถึงขั้นเป็นตาย สมาชิกในครอบครัวนี้ ยอมเสียสละแม้ชีวิตตนเพื่อปกป้องคนที่ตนรักและเมื่อสมาชิกอันเป็นที่รักของตนต้องล้มตาย ความบ้าบิ่นไม่คิดชีวิตก็บังเกิด

แตกต่างกับครอบครัวของราชวงศ์ราวฟ้ากับดิน
ครอบครัวของราชวงศ์มีความสัมพันธ์ในลักษณะของการห้ำหั่นประหัตประหาร แย่งชิงฝักฝ่าย แบ่งพรรคแบ่งพวก ทุกคนล้วนแต่ทำเพื่ออัตตาแห่งตน ( ยกเว้นเหยียนเจี๋ย ที่ทำเพื่อเสด็จแม่) ความ ร้าวฉานที่ลุกลามจากเชื้อไฟในครอบครัว โหมกระหน่ำให้ร้อนแรงไปทั่วทั้งราชอาณาจักร ก่อเป็นศึกสงครามอันยิ่งใหญ่และย่อยยับพนาสูร
หัวข้อ: Re: เมื่อดอกเบญจมาศร่วงโรย - Curse of the golden flower
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊กซ ที่ พฤศจิกายน 20, 2010, 10:12:34 am


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195363516.jpg) (http://"http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195363516.jpg")

คำถามที่หนังมอบให้คนดูขบคิด คือทางเลือกสองทางระหว่างความเข้มงวดกวดขันในระเบียบวินัยที่ไม่อาจล่วงล้ำกับเสรีภาพที่ปราศจากการควบคุมจนล้ำเส้นเกินเลย

แน่นอนว่าทางเลือกที่หนังเสนอมาในช่วงต้นเป็นคำตอบที่ผิดทั้งคู่ ไม่ว่าจะเลือกวิถีทางแบบไหน นั่นไม่ว่าคนดูจะเอาใจช่วยฮองเฮาหรือแอบเชียร์ฮ่องเต้อยู่ก็ตาม จางอี้โหมวชี้ชัดว่า ตอนจบอันเป็นบทสรุปของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่คำตอบของประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอ เพราะมันล้วนแต่ไม่ได้เข้าใกล้ความหมายของจุดร่วมหรือความสมานฉันท์เลยแม้แต่น้อย

หากแต่ผู้กำกับนำเสนอผลร้ายของการหาจุดร่วมไม่เจอ เมื่อฐานดอกที่รองรับกลีบเบญจมาศไม่มีเสียแล้ว แต่ละแฉกที่อุ้มสีสันเหลืองทองอร่ามตาก็จำต้องร่วงโรยและปลิดปลิวไปอย่างไร้แก่นสาร

ชีวิตของประชาชนในชาติก็เช่นกัน เมื่อขาดจุดยึดเหนี่ยวอะไรบางอย่างอันจะเป็นแรงดึงให้หลอมรวมกันอย่างแน่นแฟ้นเป็นปึกแผ่นแล้วก็ย่อมต้องแตกซ่านกระจัดกระจายเหมือนเช่นกลีบเบญจมาศที่ร่วงโรยเกลื่อนพื้นพระราชวังตามท้องเรื่องในหนัง

หนังพยายามให้น้ำหนัก สำแดงข้อดีข้อเสียของทั้งสองขั้วความคิด (เสรี-วินัย) อย่างเท่าเทียม เริ่มจากแนวคิดเสรีภาพสุดขั้วที่สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาสั่ง โดยไม่ต้องมีขอบมีเขตมากะเกณฑ์หรือควบคุม แนวคิดฝั่งนี้พยายามลบเส้นบรรทัดฐานแห่งระเบียบและวินัยออกไป เหลือไว้เพียงเสรีภาพที่สมบูรณ์ (Absolute freedom) ความพร่าเลือนของเส้นบรรทัดฐานปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความพร่าเลื่อนของการแบ่งเพศระหว่างชาย-หญิงที่สื่อผ่านตัวละครขันทีข้ารับใช้ของฮองเฮาความไม่ชัดเจนแน่นอนในฝักฝ่ายซึ่งองค์ชายรัชทายาทเหยียบอยู่ในทุกทางจนกลายเป็นนกสองหัวในที่สุด รวมไปถึงความพร่าเลือนของขอบเขตทางจริยรรม-ศีลธรรมที่สมาชิกในครอบครัวล้วนแต่กระทำการล้ำเส้นกันแทบทุกคน เมื่อพ่อคิดฆ่าแม่, แม่คิดล้มล้างพ่อ , พี่มีสัมพันธ์สวาทกับน้องในไส้ , แม่เลี้ยงลักลอบได้เสียกับลูกเลี้ยง ,น้องฆ่าพี่ และพ่อฆ่าลูก


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362727.jpg) (http://"http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362727.jpg")

ทุกกิริยาที่กล่าวมาอาจถือเป็นเรื่องปกติหากเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นเช่นที่เป็นข่าวอาชญากรรมอยู่ ทั่วไป แต่ความหนักหนาสาหัสของหนังเรื่องนี้ได้ยำทุกๆความอัปรีย์ให้เกิดขึ้นกับทุกตัวสมาชิกในหนึ่ง ครอบครัว ถือว่าผู้กำกับสื่อออกมาได้แรงและกระแทกความรู้สึกอย่างได้ผล

อีกประเด็นหนึ่งว่าด้วยขอบเขตของสิ่งที่ควรพูดและขอบเขตของสิ่งที่ไม่ควรพูด (ซึ่งตัวละครในหนังหาได้คำนึงถึงความมีอยู่ของขอบเขตในเรื่องนี้ไม่ )

ตัวฮูหยินเก็บอดีตของตนเป็นความลับไม่แพร่งพรายให้ใครรู้ และจากการปกปิดอันสงัดเงียบ นี้เอง ทำให้บุตรีไปมีสัมพันธ์สวาทกับพี่ชายตนอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตัวหมอหลวงผู้พ่อ ก็ไม่ได้ยับยั้งความสัมพันธ์ซ่อนเร้นนี้ของบุตรีกับองค์รัชทายาท เนื่องจากไม่ทราบถึงความจริงที่ฮูหยินปิดบังไว้ตลอด หมอหลวงถูกสังหารตายไปทั้งๆที่คำถามคาใจเหล่านี้ยังไม่ถูกเปิดเผยให้กระจ่างออกมา

ส่วนฮองเฮาผู้ซึ่งไม่อาจยับยั้งอารมณ์ใดๆเอาไว้ได้ กิเลสทั้งมวลพุ่งพรวดออกมาโดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ ฮองเฮากล่าวความจริงแก่องค์รัชทายาทว่าฮูหยินของหมอหลวงเป็นมารดาแท้ๆของเขา คำพูดที่ไม่มีหูรูดของฮองเฮาก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงและเสียหาย ซึ่งความวิปโยคเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากฮองเฮาไม่ปริปากพูดความจริงออกมา

ประเด็นเรื่องขอบเขตของการพูดยังสะท้อนไปถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันระหว่างจีนและญี่ปุ่นอีกด้วย ข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อปีกลายในกรณีตำราเรียนของญี่ปุ่นที่ระบุข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกบิดเบือนไป (ในอดีตญี่ปุ่นเคยเข่นฆ่าชาวจีนไปประมาณ 35 ล้านคน) ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงในจีนแผ่นดินใหญ่ และเมื่อไม่นานมานี้ตัวผู้นำของญี่ปุ่นเองก็ยังไปคารวะศพของเหล่าอาชญากรสงครามนั้นอยู่ ความรู้สึกของชาวจีนว่าญี่ปุ่นไม่เคยยี่หระหรือสำนึกผิดต่อเหตุการณ์ใน ประวัติศาสตร์นี้ ถูกปะทุออกมาด้วยโทสะระดับชาติ

คำถามในหนังที่ว่าความจริงแบบไหนควรถูกบอกเล่าและอะไรควรปกปิดไว้จึงสอดคล้องกับ เหตุการณ์นี้อย่างลงตัว

เมื่อเสรีภาพโดยปราศจากการควบคุมเปรียบเสมือนระบบประสาทของฮองเฮาที่ถูกทำลายไป (จากการเสวยยาที่ผสมหญ้าอีกาดำซีอี้) ความสั่นเทาที่สะท้านอยู่ทั่วสรรพางค์กายนำมาซึ่งความวิบัติที่ไม่อาจควบคุมได้เช่นกัน

และผลลัพธ์เช่นนี้หรือที่เสรีภาพต้องการ?


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362795.jpg) (http://"http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195362795.jpg")

ในส่วนของแนวคิดว่าด้วยระเบียบวินัยสุดขั้ว ทุกคนคงเข้าใจดีอยู่แล้วว่าส่งผลร้ายเช่นไรบ้าง หากปราศจากเสรีภาพในชีวิต

การปะทะของสองแนวคิดนี้ สื่อผ่านภาพสัญลักษณ์ (Symbolic) ในหนังอย่างชาญฉลาด ไม่ดูจงใจจนเกินไป เพราะกลมกลืนไปกับเรื่องราวอย่างเหมาะสม

สัญลักษณ์ของเสรีภาพภายในกรอบที่หนังเลือกใช้ ได้แก่ เครื่องประดับบนศรีษะของฮองเฮาที่ปรากฎรูปนกสยายปีก แสดงถึงขั้วความคิดในหัวของเธอได้เป็นอย่างดีว่าเป็นพวกเสรีนิยมสุดขั้ว การเขียนขอบตาของฮองเฮาที่ตวัดสีให้ดูเฉี่ยวมองดูคล้ายปีกนกที่กางออกไปทั้งสองด้านสะท้อนถึงมุมมองเสรีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบอะไรบางอย่าง เทคนิคการถ่ายถาพภายในพระราชวังมักใช้มุมมองผ่านม่านมู่ลี่ที่ขึงเป็นซี่ไม้มากีดกั้นขวางตาอยู่ตลอดให้ความรู้สึกเหมือนตัวละครที่กล้องกำลังถ่ายอยู่ถูกจองจำอยู่ในกรง งานปักผ้ารูปดอกเบญจมาศของฮองเฮาที่ปรากฎอยู่ในขอบไม้ของสะดึง ดอกเบญจมาศในกรอบกระถางวงกลมที่ใช้ในงานเทศกาลฉงหยาง กรอบของเครื่องกรองยาที่ใช้คู่กับถ้วยลายดอกเบญจมาศ ภาพพลุไฟที่แตกออกเหมือนดอกเบญจมาศบานคล้ายกำลังอวดเสรีภาพที่ตัวฮองเฮาไม่อาจช่วงชิงเอามาได้ รวมไปถึงฉากที่ฮองเฮาปล่อยนกพิราบสื่อสารซึ่งเสียดสีพฤติกรรมไร้อิสรภาพของตนได้อย่างงดงาม

สัญลักษณ์ของระเบียบและวินัยสื่อผ่านตัวละครฮ่องเต้ที่ปรากฏสัญลักษณ์ของมังกรอยู่บนเครื่องประดับศรีษะ (มังกรสื่อถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่และถูกใช้เป็นเครื่องหมายแทนองค์จักรพรรดิของจีนในอดีต) นอกจากนั้นยังมีฉากที่แสดงถึงความเข้มงวดของวิถีปฏิบัติในวัง เช่น ฉากนางสนมตื่นนอนที่ดำเนินกิจวัตรอย่างพร้อมเพรียง หรือฉากในห้องยาที่แสดงถึงความมีระเบียบวินัยของเหล่าหมอหลวงฉากที่ข้าราชบริพารเดินบอกเวลาเสมือนนาฬิกาที่เที่ยงตรง ตาชั่งโบราณของจีนที่ใช้ตวงยา อาวุธของสายลับฝ่ายฮ่องเต้ที่มีลักษณะเหมือนเคียวเกี่ยวข้าว ( เครื่องหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ต่อต้านระบบคิดแบบเสรี มุ่งเน้นการควบคุมประชาชนในทุกเรื่องทุกระดับ แม้กระทั่งนโยบายควบคุมการตั้งครรภ์ของสตรีในจีน ) ความมั่นคงแน่นอนของกฎหมายตลอดไปถึงจารีตประเพณีที่ถูกถือปฏิบัติมาช้านาน ไม่อาจละเลยหรืองดเว้นได้


(http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195363461.jpg) (http://"http://www.bloggang.com/data/beerled/picture/1195363461.jpg")

ส่วนอะไรคือขอบเขตที่เหมาะสม คือคำถามที่ต้องขบคิดกันต่อไป ?

ในฐานะของผู้กำกับที่หลงใหลในสีสันเอามาก ๆ การใช้สีในหนังเรื่องนี้ อาจถือเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญ ความจัดจ้านของสีเหลืองจากดอกเบญจมาศนับแสน ความแวววาวของเกราะทองเรือนหมื่นที่ทหารสวมใส่ และสรรพสีในพระราชวังที่รวมรวมทุก ๆเฉดเอาไว้บนต้นเสาคริสตัล แต่ละห้องมีสีของเสาคริสตัลแตกต่างออกไป ประหนึ่งกำลังสะท้อนอารมณ์ของตัวละครที่เดินผ่าน และที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ เทคนิคการเหลื่อมสีบนต้นเสาในวัง เช่น สีเหลืองที่เหลื่อมผสมกับสีเขียว สีแดงที่เหลื่อมผสมกับสีชมพู สีฟ้าที่เหลื่อมผสมกับสีเขียว เป็นต้น จางอี้โหมวเลือกใช้สีเพื่อระบายหนังเรื่องนี้จนหมดกล่องแต่งแต้มพระราชวังให้ละลานไปด้วยสีสันฉูดฉาดที่แรงจัดจนมองดูเสียดแทง

การใช้สีโดยไม่มีเส้นขอบมาตัดแบ่งเขตเปิดโอกาสให้แต่ละสีที่ต่างกัน เหลื่อมซ้อนและผสมกันเอง ตามข้อความคิดในหนังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

Curse of the golden flower จบลงอย่างโศกนาฏกรรมที่ผู้ชมได้แต่ภาวนาว่าขอให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะในหนังเท่านั้น ภาพในตอนจบที่ถ่ายโต๊ะเสวยบนหอเบญจมาศ มิติแรก ภาพนี้ประชดประชันสถาบันครอบครัวที่ร่วงโรยลงก่อนเวลาอันควร (การนั่งร่วมโต๊ะกินข้าวที่เสียดสีปัญหาครอบครัว เคยถูกเสนอมาแล้วในหนังเรื่อง American Beauty ) แต่ในอีกมิติหนึ่ง ภาพนี้ได้สื่อแนวคิดทางปรัชญา ถึงขอบเขตของวงกลมและสี่เหลี่ยม ที่แม้จะมีความแตกต่างทางรูปลักษณ์แต่ก็สามารถสอดคล้องและบรรจบกันได้ในทุกด้านทุกมุม และจุดที่ลงตัวนี้เอง เป็นเสมือนอุดมคติของผู้กำกับ

หากยังจำกันได้ในฉากขว้างมีดตอนจบของหนังเรื่อง House of flying dagger (รักสามเส้าที่ต้องตัดสินด้วยวิถีแห่งมีดบิน ) อันเป็นประเด็นที่ผู้ชมต้องเลือก ระหว่างอิสรภาพ (วายุ) กับหน้าที่ (มือปราบหลิว) ทางเลือกของเสี่ยวเม่ย ซึ่งเป็นคำตอบที่ผู้กำกับจะนำเสนอคือ เลือกที่จะปกป้องอิสรภาพไม่ให้ถูกทำลายไป(เสรีนิยม) และในทางเดียวกันก็ไม่อาจทำลายหน้าที่ที่ต้องมีต่อสังคมด้วย (สังคมนิยม) การหาจุดร่วมของความแตกต่าง คือสิ่งที่จางอี้โหมวพยายามบอกเรามาเสมอในหนังยุคหลัง

สำหรับหนังเรื่องใหม่นี้ จางอี้โหมวทิ้งความลึกลับของดอกเบญจมาศไว้ให้ผู้ชมได้วิเคราะห์วินิจฉัย ว่ารหัสแห่งธรรมชาตินี้ช่างมหัศจรรย์ มีวิธีการจัดเรียงความแตกต่างให้สอดประสานรวมอยู่ด้วยกันได้อย่างงดงาม แต่ละกลีบของดอกเบญจมาศมีเสรีภาพโดยไม่ถูกกดทับด้วยกลีบอื่น หากแต่ยังเป็นเสรีภาพที่ปรากฏอยู่บนเงื่อนไขของระเบียบบางอย่าง

สักวันหนึ่ง มนุษย์เราคงค้นพบวิถีแห่งความสามัคคีเช่นนั้นบ้าง


Jay Chou - 菊花台 (Ju Hua Tai) MV (http://www.youtube.com/watch?v=b3Gb69rVZ9Y#)



http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=beerled&month=11-2007&date=13&group=1&gblog=7 (http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=beerled&month=11-2007&date=13&group=1&gblog=7)
หัวข้อ: Re: เมื่อดอกเบญจมาศร่วงโรย - Curse of the golden flower
เริ่มหัวข้อโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน ที่ พฤศจิกายน 21, 2010, 12:33:49 am
 :45: ขอบคุณครับพี่มด