ใต้ร่มธรรม
คลังธรรมปัญญา => พรรณาอักษร => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊กซ ที่ พฤศจิกายน 21, 2010, 09:47:45 am
-
เฒ่าขายฟืน(老樵) : บทกวีเพื่อชีวิตของ หลู่หนานกุง(吕南公)
(http://www.bloggang.com/data/d/dingtech/picture/1289022046.jpg)
เฒ่าขายฟืน
ชายชราจากป่าเขา.................ทั้งหนวดเคราเขลอะหิมะ
แบกฟืนฝืนมานะ....................ตื่นเช้าจะเข้าสู่เมือง
หนทางช่างยาวไกล................ฟืนบนไหล่หนักเอาเรื่อง
หลังคู้ดูงุ้มเงื่อง......................ช่างช้าเชื่องเซื่องซึมนัก
หนังเหี่ยวรีดเป็นเหงื่อ...............พละเรื้อหอบกระอัก
พวกหนุ่มดุ่มมิพัก....................ล้ำเลยสักหลายหลายคน
เรือนกายแห้งระโหย................จวนเจียนโรยหลายหลายหน
แรงใจสิดันดล........................มิยอมหยุดทรุดกายลง
ชาวบ้านร้านรวยร่ำ...................ผายมือทำท่าประสงค์
ฟืนเจ้าเอาจากดง.....................จงคิดค่าว่าเท่าใด
ชายชราตาหรุบต่ำ....................เผยปากพร่ำราคาไป
เขากดราคาไซร้.......................กึ่งเดียวให้เอามิเอา
ชายชรามิลังเล........................ยื่นฟืนเค้ประเคนเขา
ภริยายังคอยเคร่า.....................เจ็บไข้เฝ้าปากประตู
รอสามีที่ชรา...........................ซื้อข้าวปลามาปันสู่
มื้อเช้าเจ้ารออยู่.......................อย่างหิวโหยระเหือดหืน ฯ
(http://www.bloggang.com/data/d/dingtech/picture/1289022137.jpg)
ขอนำภาคภาษาจีนมาให้เทียบ
老樵
何山老翁鬓垂雪?
担负樵苏清晓发。
城门在望来路长,
樵重身羸如疲鳖。
皮枯亦复汗淋沥,
步强遥闻气呜咽。
同行壮俊常后追,
体倦心烦未容歇。
街东少年殊傲岸,
和袖高扉厉声唤。
低眉索价退听言,
移刻才蒙酬与半。
纳樵收值不敢缓,
病妇倚门待朝爨。
(朝代:宋 作者:吕南公)
หลู่หนานกุง เป็นกวีในสมัยซ่ง (1047-1086)
มีชีวิตในรัชสมัยซีหนิงของจักรพรรดิซ่งเสินจง
นามเดิม ชื่อหรู(次儒) ฉายา กว้านหยวนเซียนเซิง(灌園先生)
เป็นคนเจี้ยนชางหนานเฉิง(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซี)
(http://www.bloggang.com/data/d/dingtech/picture/1289022194.jpg)
(http://www.bloggang.com/data/d/dingtech/picture/1289022216.jpg)
รูปประกอบเป็นฝีมือ หลี่เหลียนจ้ง (李连仲)
จิตรกรร่วมสมัย เกิดเมื่อปี 1941 ที่เสิ่นหยาง
จากม้วนภาพที่วาดตัวละครจากงานเขียนของท่านหลู่ซิ่น (鲁迅)
จิตรกรได้วาดเมื่อครั้งศึกษาในสำนักวิจิตรศิลปหลู่ซิ่นเมื่อปี 1957-1965
ตัวละครของท่านหลู่ซิ่นคงหลากหลายยิ่งนัก แต่ที่ท่านตอกย้ำคงจะมีอยู่
3 จำพวก
-พวกนายทุน ขุนศึก ศักดินา ที่กอบโกยขูดรีดจากชนชั้นล่าง
-พวกกรรมกร ชาวนา ชนชั้นล่างที่ถูกเอาเปรียบ
-พวกไม่อินังขังขอบ ปล่อยทุกอย่างไปตามกระแส ไม่คิดออกแรงใดๆ
ในประวัติศาสตร์จีนที่ผ่านร้อนหนาวมายาวนาน
ทั้งยามมีข้าศึกต่างชาติมารุกราน
ทั้งยามที่ชาวฮั่นปกครองกันเอง
ในทุกยุคสมัย ศิลปินทั้งกวี จิตรกร ได้สะท้อนชีวิตของคนจีน
ไว้อย่างจริงจัง เห็นเลือดเนื้อ ได้กลิ่นเหงื่อและคราบไคล
และที่ผมนำมาเสนอใน 2 รูปแบบคราวนี้
คือบทกวี "เฒ่าขายฟืน"
และตัดตอนภาพมาประกอบจาก "ตัวละครจากงานเขียนของหลู่ซิ่น"
ท่านหลู่หนานกุง กับท่านหลี่เหลียนจ้ง ได้บอกกล่าวแก่พวกเรา
อย่างเป็น "สัจนิยม" คือเอาความจริงมาตีแผ่เปิดโปง นั่นเอง
เมืองไทยของเรา
แม้จะมีเรื่องราวบันทึกในประวัติศาสตร์สั้นและน้อยกว่าจีน
แต่วิวัฒนาการทางสังคมก็มิได้ผิดแผกไปสักเท่าใด ทว่าก็ไม่เหมือนนัก
การกดขี่รังแกยังไม่สาหัสเท่า หรือสาหัสเท่าหากยังมีกลอุบายกลบเกลื่อนได้
การช่วงชิงอำนาจฝั่งฝ่ายนิยมซ้ายจัดจึงไม่ประสบผลสำเร็จ
"ความอ่อนตัวในคุณลักษณะของคนไทย" ที่อะลุ่มอล่วย มีเมตตา
ขี้สงสาร ไม่พยาบาท อันมาจากพุทธศาสนา กับความชอบสบาย ลืมง่าย
ทำให้บ้านเมืองเราพ้นการเข่นฆ่าแบบจะล้างโคตรเผ่าพันธุ์กันไปได้
วิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดที่มีการพยายามเอาเรื่อง "ชนชั้น" มาอ้าง
เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐระหว่าง...อะไรก็ไม่รู้ บอกไม่ถูก
(บางคนว่า ทุนนิยมสามานย์ กับ ศักดินาล้าหลัง .........ผมยังว่า ไ ม่ ใ ช่ )
แต่ "สัจจะ" ที่จริงแท้แท้จริงประการหนึ่ง
คือการลดช่องว่างของคนรวยคนจนให้แคบเข้า
ให้โอกาสแก่ผู้ที่ลำบากขาดแคลนให้ได้ลืมตาอ้าปาก
สร้างความยุติธรรมในสังคมให้เกิดและกระจายถ้วนทั่ว
เมื่อนั้นความขัดแย้งจะหมดไปเอง
เ ท ว ด า หรือ ผี ห่ า ตนใดก็ไม่จักอาจทำให้คนไทย แ ต ก แ ย ก กันได้
....ผมเชื่อเช่นนี้
.....................................................
-
สำหรับดนตรีคราวนี้ขอเสนอเพลงกู่ฉินอีกสักครั้ง
เพราะชื่อเพลงเกี่ยวกับคนตัดฟืน
ชื่อเพลง "คนหาปลากับคนตัดฟืนสนทนากัน(漁樵問答)
บรรเลงโดย หลู่เผย์หยวน(呂培原) ลีลาออกจะกระฉับกระเฉง
ราวกับว่าอายุยังเยาวเรศรุ่น พาให้ได้ฟัง 2 สหายคุยกันอย่างออกรส
ในคติแบบจีนโบราณ การปลีกตัวดำรงชีพแบบแนบชิดธรรมชาติเยี่ยงนี้
เป็นหนทางในอุดมคติแบบหนึ่งของการหลีกพ้นความวุ่นวายทางสังคม
แต่เมื่อต้องทำธุรกิจค้าขายกับคนเมืองก็ต้องเจอแบบเฒ่าขายฟืน
เชิญฟัง 2 คนเขาปรับทุกข์กันครับ
呂培原古琴"漁樵問答" Pui-Yuen Lui guqin "Chitchat" (http://www.youtube.com/watch?v=F3NMrbWLbUc#)
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dingtech&group=4
-
:13: อนุโมทนาสาธุครับ ขอบคุณครับพี่มด