(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/778/9778/images/unrest.jpg)
วิจักขณ์: เรื่องการยึดติด เรื่องอวิชชา เรื่องความโลภโกรธหลง คนก็เอามาพูดกันมาก แนะนำกันมาก กลายเป็นเครื่องมือของการจับผิดอีกฝ่าย และสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตัวเอง ธรรมะหรือศีลธรรมได้กลายเป็นอาวุธของคนที่อยู่ในโครงสร้างสังคมแบบอำนาจนิยม อนุรักษ์นิยม จารีตนิยม ในการรักษา "ความสงบ" หรือ "ความปกติ" ใน "ความจริง" ที่เขาได้สร้างขึ้นมาให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ แวดวงธรรมะ ศาสนาก็ถูกเสียดสีตรงนี้ค่อนข้างมาก หลวงพี่คิดยังไงครับ
พระไพศาล: (ตอบเร็ว) ก็จริง คนส่วนใหญ่ที่ยึดติดในศีลธรรม มักจะมองปัญหาในเชิงบุคคล คือมองว่าปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นก็เพราะคนชั่ว เพราะทักษิณเป็นคนไม่ดี คนเหล่านี้ไม่สามารถมองทะลุไปถึงเรื่องโครงสร้างได้ เพราะกรอบคิดทางศีลธรรมของคนในปัจจุบันมักทำให้เข้าใจไปว่าปัญหาเกิดจากความไม่มีศีลธรรมในระดับบุคคล
วิจักขณ์: ...ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่
พระไพศาล: ..มันมีเรื่องโครงสร้างสังคมด้วย แต่พอไม่มองเรื่องโครงสร้าง ก็ไม่แก้ปัญหาที่ตัวโครงสร้าง เลยคิดแต่จะไล่ล่ากำจัดตัวบุคคล เช่น คิดว่าถ้ากำจัดทักษิณได้ จับผู้ก่อการร้ายได้ ความวุ่นวายทั้งปวงก็จะหมดไป บ้านเมืองจะสงบสุขเหมือนเดิม ทัศนคติแบบศีลธรรมที่เราเข้าใจกันในตอนนี้ มันคับแคบ เพราะศีลธรรมที่สอนๆ กันเน้นศีลธรรมระดับปัจเจก เช่น สอนกันว่าสังคมไม่ดีเพราะมีคนเลว หรือว่าถ้าเราทำตัวให้ดีแล้วสังคมจะดี นี่คือการมองศีลธรรมในระดับปัจเจก แต่พุทธศาสนาไม่ได้มีแค่นี้ มีมากกว่านี้ เช่นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่อาตมาเขียนหนังสือเรื่อง "พุทธศาสนาไทยในอนาคต" ก็พยายามเสนอว่าเราต้องฟื้นฟูมิติทางสังคมของพุทธศาสนาขึ้นมา เพราะพุทธศาสนาตอนนี้ได้ถูกตีความให้เป็นเรื่องของปัจเจก ศีลธรรมถูกเน้นให้เป็นเรื่องของบุคคล เราก็เลยมองอะไรแคบๆ
วิจักขณ์: แล้วในทัศนะของหลวงพี่ จริงๆ แล้วไอ้ศีลธรรมที่มันก่อให้เกิดสันติสุขจริงๆ เนี่ย มันคืออะไรครับ
พระไพศาล: อย่างที่พูดไปเมื่อตะกี๊ว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันไม่ได้อยู่ในใจคนอย่างเดียว แต่มันได้ก่อรูปขึ้นเป็นโครงสร้างสังคมหรือระบบเศรษฐกิจการเมืองขึ้นมา โครงสร้างสังคมมันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นความสัมพันธ์ที่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่มีน้ำใจต่อกัน โครงสร้างนี้กระตุ้นให้ความโกรธ ความโลภ ความหลง เกิดขึ้นในใจคนได้ง่ายมาก ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัด เช่นเวลาเราขับรถในกรุงเทพฯ คนอารมณ์ดีแค่ไหนถ้าขับรถในกรุงเทพฯ ก็ต้องเครียด เพราะ ระบบการจราจรในกรุงเทพฯ ซึ่งรวมถึงกฎระเบียบ ตำรวจ ถนน ฯลฯ มันทำให้คนเห็นแก่ตัว ทำให้คนไม่มีน้ำใจ คุณจะเป็นคนดีมาแค่ไหน พอคุณมาขับรถในกรุงเทพฯ ซักพัก คุณก็อารมณ์เสียหงุดหงิด คุณก็ไม่มีน้ำใจแล้ว นี่เห็นมั้ย มันเป็นระบบน่ะ มันเป็นระบบที่หล่อหลอม กระตุ้นความเห็นแก่ตัว กระตุ้นเอาความรู้สึกฝ่ายลบออกมา ถ้าเรามองให้เห็นตรงนี้ มองให้กว้าง มองให้ทะลุ เราก็จะเห็นความสำคัญของการสร้างระบบหรือโครงสร้างใหม่ที่สามารถดึงเอาพลังฝ่ายบวกของคนออกมา ทำให้เกิดเมตตากรุณาก็ได้ ทำให้เกิดสติก็ได้
ดังนั้นหากจะคุยเรื่องศีลธรรม เราต้องมองด้วยว่า สังคมเลวไม่ใช่เพราะคนไม่ดีอย่างเดียว การที่คนไม่ดีก็เพราะสังคมไม่ดีด้วย เพราะฉะนั้นถ้าต้องการฟื้นฟูศีลธรรมของผู้คนในสังคม ก็ต้องฟื้นฟูสังคมให้มีศีลธรรมด้วย ต้องมีระบบที่เกื้อกูลต่อศีลธรรม พูดง่ายๆ สังคมไทยตอนนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อความดี แต่คนที่เคร่งศีลธรรมมองไม่เห็น เอาแต่มองศีลธรรมแค่ระดับบุคคล ไม่ได้มองว่าสังคมตอนนี้มันเป็นปฏิปักษ์ต่อความดี
วิจักขณ์: และความจริง
พระไพศาล: อือ ใช่ (ยิ้ม) ถ้าไม่จัดการหรือมองไม่เห็นถึงปัญหาศีลธรรมในเชิงโครงสร้างทางสังคม จะไปพูดเรื่องศีลธรรมยังไง จิตใจคนก็จะมีแต่ถดถอยลงไปเรื่อยๆ
วิจักขณ์: แล้วหลวงพี่คิดยังไงกับกระแสการปฏิบัติธรรม หรือความสนใจธรรมะของคนในตอนนี้
พระไพศาล: คนที่สนใจปฏิบัติธรรมมักเป็นคนที่มีปัญหามากมาย หลายคนมาปฏิบัติธรรมไม่ได้เพื่อลดความเห็นแก่ตัว จึงกลายเป็นคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง ขณะเดียวกันเนื่องจากต้องการความสงบเย็น ก็เลยกลายเป็นพวกหนีปัญหา และเพ่งโทษคนอื่นมาก คือโทษว่าคนอื่นทำให้ฉันทุกข์ และพอปฏิบัติธรรมมาก ๆ ก็เกิดความหลงตัวลืมตนว่าฉันดีกว่าคนอื่น จึงตำหนิหรือมองคนในแง่ลบได้ง่าย ใครที่ไม่เห็นด้วยกับตัว ก็โต้ตอบถกเถียงอย่างใช้อารมณ์ ไม่เว้นแม้แต่แวดวงกรรมฐาน กลายเป็นว่าการปฏิบัติธรรม หรือความเป็นพุทธไม่ได้ช่วยอะไรเลย ยังน่าเกลียด ยังรุนแรง นั่นแสดงว่ามีปัญหาบางอย่างกับการปฏิบัติธรรมด้วย
วิจักขณ์: อยากจะขอวกกลับมาที่อาจารย์พูดว่าธรรมะหรือศีลธรรมแบบไทยมุ่งเน้นไปที่ปัจเจกหรือตัวบุคคล แต่มักละเลยการมองในมิติทางสังคม ก็เลยมองไม่ทะลุ หรือมองไม่เห็นโครงสร้างที่เป็นตัวแทนของความโลภ โกรธ หลง ความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมที่มีอยู่ เลยกลายเป็นว่าธรรมะ ศีลธรรม หรือการปฏิบัติธรรมได้ไปช่วยเสริมให้โครงสร้างความรุนแรงเหล่านั้นมีอำนาจมากขึ้น หรือมีความมั่นคงมากขึ้น
พระไพศาล: ลักษณะหนึ่งของวงการธรรมะของไทยคือค่อนข้าง conservative (อนุรักษ์นิยม) เพราะฉะนั้นจึงมักจะอิงกับโครงสร้างอำนาจนิยม หรือสถาบันแบบดั้งเดิม เช่น สถาบันสงฆ์ สถาบันทหาร สถาบันพระมหากษัตริย์ คนกลุ่มนี้โดยธรรมชาติจะconservative ก็เลยมักรับรองหรือเห็นด้วยกับ status quo (สถานภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) อันนี้เป็นเรื่องของการศึกษาด้วย
วิจักขณ์: แล้วหลวงพี่อยากจะฝากอะไรกับวงการปฏิบัติธรรมบ้าง
พระไพศาล: อย่างแรกก็คือต้องมีความเมตตากรุณา ไม่มองคนเป็นฝักฝ่าย ไม่ถือเขาถือเรา มีขันติธรรม แม้ใครจะคิดต่างจากเรา ก็ยอมรับได้ ไม่เห็นเขาเป็นศัตรู เห็นว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา ขณะเดียวกันก็อยากให้มองกว้างด้วย คือมองศีลธรรมโยงกับโครงสร้างสังคมด้วย ความไม่มีศีลธรรมของคนไม่ได้เกิดจากกิเลสในตัวบุคคลอย่างเดียว แต่มันถูกปลุกหรือส่งเสริมโดยระบบต่างๆ ที่แวดล้อมเขา หรือโครงสร้างทางสังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับความดีด้วย
วิจักขณ์: แล้วประเด็นเรื่องความกล้าหาญล่ะครับหลวงพี่ ดูเหมือนวงการนี้จะเงียบเชียบเหลือเกิน ไม่มีความกล้าหาญใดๆ ที่จะพูดความจริง เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ไม่อยากทำให้ใครไม่พอใจ
พระไพศาล: อย่างที่บอกแล้วชาวพุทธเราส่วนใหญ่เป็นพวกที่ต้องการหนีปัญหา ต้องการความสงบส่วนตัว เพราะฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีความกล้าที่จะเผชิญปัญหาอยู่แล้ว เราหนีปัญหาก็เพราะเรากลัวเผชิญหน้ากับปัญหา ไม่อยากหาเรื่องใส่ตัว อย่างกรณีธรรมกายที่เป็นการทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ชาวพุทธเป็นอันมากก็ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหานี้ พอเห็นปัญหาก็หลบๆ กัน แม้กระทั่งช่วงเกิดความวุ่นวายที่ผ่านมา พระหลายรูปก็หลบ ไม่กล้าแสดงความเห็นเพราะกลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าดังหน่อยมีคนมาขอสัมภาษณ์ก็ไม่เอา กลัวเสื้อแดงเล่นงาน ชาวพุทธเราส่วนใหญ่ค่อนข้างจะแหย เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อต้องการลดความเห็นแก่ตัว แต่ต้องการความสงบหรืออยากได้บุญมากกว่า
วิจักขณ์: งั้นหลวงพี่ก็มองว่า ถ้าปฏิบัติธรรมจริงๆ ก็ต้องมีความ...
พระไพศาล: (ทันควันไม่รอให้พูดจบ) ...ต้องกล้า (เน้นเสียง) ต้องสู้กับอัตตา ต้องกล้าเผชิญกับทุกข์ กับความยากลำบาก ถ้าต้องการลดความเห็นแก่ตัว ต้องการลดละอัตตา ก็จะกล้าเผชิญหน้ากับความทุกข์ ไม่กลัวคำวิพากษ์วิจารณ์ ไม่กลัวเปลืองตัว เพราะตัวตนสึกหรอเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น
วิจักขณ์: และกับสังคม...
พระไพศาล: เรื่องสังคมก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน บางคนก็ไม่มีมิติทางสังคม แต่อย่างน้อยก็ต้องยืนหยัดในความถูกต้อง อะไรไม่ถูกก็ต้องกล้า ต้องสู้ แต่ถ้ามีความโน้มเอียงที่จะหนีปัญหาอยู่แล้ว ก็จะพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง และพยายามไม่ขัดแย้งกับผู้คน ไม่อยากจะช่วย ไม่อยากทำอะไรให้ตัวเองเดือดร้อนวุ่นวาย ความเป็น conservative ของชาวพุทธ ก็ยิ่งไปส่งเสริมความคิดแบบนี้ด้วย
*~*~*~*~*~*~*~*~*
หมายเหตุ:
สัมภาษณ์เย็นวันที่ ๓๐ พ.ค. ๕๓ ณ แสนปาล์มเทรนนิ่งโฮม จ.นครปฐม ระหว่างการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ
เกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์
"วิจักขณ์ พานิช" เป็นนักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ศาสนา วิทยากรของเสมสิกขาลัย ปัจจุบันทำงานเขียน งานแปล และงานอบรมภาวนา จิตวิญญาณการศึกษา จิตวิทยาแนวพุทธ และพุทธศาสนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ให้กับประชาชนทั่วไป องค์กรพัฒนาเอกชน โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
*~*~*~*~*~*~*~*~*
ที่มา:
http://www.oknation.net/blog/tocare/2010/06/10/entry-1