(http://www.lampang.go.th/travel/data/placetour/A-wungnuang6.jpg)
19. ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม
คัดจากผู้จัดการรายวัน
รำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 19)
โดย สุวินัย ภรณวลัย 5 กันยายน 2549 23:07 น.
“ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรม ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้า
ตามทัศนะของท่าน ขวางหน้าท่านอยู่”
พุทธทาสภิกขุ
อินทปัญโญได้ บันลือสีหนาท อีกครั้ง เมื่อเขาแสดงปาฐกถาเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม”
ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948)
ซึ่งมีเนื้อหาที่ “แรง” ที่สุดกว่าครั้งใดๆ เพราะครั้งนี้เขาได้นำเสนอถึง สิ่งซึ่งกีดขวาง หรือเป็นกำแพงมหึมาอยู่ข้างหน้าซึ่งทำให้คนเราเข้าถึงไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผู้นั้นก็มีความภักดีต่อพุทธธรรมอย่างเต็มที่อยู่เสมอ อินทปัญโญสามารถนำเสนอเรื่องนี้ได้อย่างเข้าถึง และอย่างมีพลังมาก เพราะตัวเขาเองก็เพิ่ง ก้าวข้าม ภูเขามหึมาที่เคยขวางตัวเขามาได้เมื่อปีที่แล้วนี่เอง เขาจึงอยากถ่ายทอดสิ่งที่เป็น ประสบการณ์ทางวิญญาณ และ บทเรียนทางวิญญาณ ในการแสวงธรรมของตัวเขาให้แก่คนอื่นโดยเฉพาะคนรุ่นหลัง เพื่อที่พวกเขาจะสามารถก้าวข้ามสิ่งซึ่งกีดขวางไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรมได้เหมือนอย่างเขา
อินทปัญโญบอกว่า ถ้าหากมีการตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่า อะไรเป็นเครื่องปิดบังพระนิพพานอันเป็นตัวพุทธธรรมที่ผู้แสวงธรรมประสงค์จะเข้าถึง? เขาจะตอบอย่างฟันธงอย่างไม่ลังเลใจเลยว่า “พระพุทธเจ้า” นั่นเองที่กลับกลายมาเป็นภูเขามหึมาบังพระนิพพาน โดยเฉพาะ พระพุทธเจ้าตามทัศนะของแต่ละคน นี่แหละที่ขวางหน้าคนผู้นั้นไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรม
เพราะคนเราเข้าใจเข้าถึง ความจริง ได้แค่ไหน ก็มีความเข้าใจเข้าถึง “พระพุทธเจ้าของเขา” ได้แค่นั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ถูกขนานนามว่า พระพุทธเจ้า รวมทั้งการนิยามว่าอะไรเป็นพระพุทธเจ้า จึงมีอยู่ในลักษณะและขนาดมาตรฐานต่างๆ กัน แล้วแต่ ความยึดถือ ของแต่ละคนเป็นชั้นๆ ไป
คนที่เข้าถึงพระพุทธเจ้า แต่ในทางวัตถุโดยไม่สูงถึงทางจิตย่อมเข้าใจได้แต่เพียงว่า พระพุทธเจ้าคือเลือดเนื้อกลุ่มหนึ่งที่เดินท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนในประเทศอินเดีย เมื่อสองพันกว่าปีก่อน ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงเคยปฏิเสธว่า เลือดเนื้อกลุ่มนั้น ยังไม่ใช่ตถาคต คนที่ไม่เห็นธรรมะของตถาคต คือคนที่ไม่เห็นตถาคต แม้ผู้นั้นจะคอยจับจีวรของพระองค์ดึงเอาไว้ ไปทางไหนไปด้วยกันทั้งกลางวันกลางคืน แต่ถ้าไม่เห็นธรรมะแล้ว ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย
แม้คนที่มุ่งเข้าถึงพระพุทธเจ้าในทางจิต หากหลงไปยึดว่า
พระพุทธเจ้าเป็น อัตตาที่บริสุทธิ์ ไม่เกิดไม่ตาย
มีอยู่ในทุกแห่ง พร้อมที่จะปรากฏทุกเมื่อในสมาธิ อินทปัญโญก็ยังบอกว่า
วิถีแห่งพุทธธรรมของผู้นั้นจะถึงทางตันและสิ้นสุดลงเพียงนั้น เพราะเป็นการหลง
ไปยึดถือเอาตามความรู้ ตามการศึกษาและศรัทธาของตนเองอันคับแคบอยู่
แม้แต่ความรักในองค์พระพุทธเจ้าของบุคคลบางคนที่เป็นอริยบุคคลขั้นต่ำ
ยังไม่ถึงพระอรหันต์ เช่น พระอานนท์ ในสมัยที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่
ทั้งๆที่พระอานนท์รู้จัก ลู่ทางแห่งพุทธธรรมอย่างถูกต้อง วิถีแห่งพุทธธรรมของท่าน
ก็ยังไม่วายถูกสกัดได้
ด้วยภูเขาหรือองค์พระพุทธเจ้าที่ท่านยึดถือไว้ด้วยความรักของท่านเอง
อินทปัญโญจึงบอกว่า ไม่มีภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมอะไรอื่น นอกไปจาก
ความยึดถือเกี่ยวกับตัวตน และ ไม่มีความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนอะไรอื่น ยิ่งไปกว่า
ความยึดถือในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่งของตน
เพราะฉะนั้น นอกไปจาก “พระพุทธเจ้า” ตามทัศนะของเขาแล้ว
แม้ “พระธรรม” ของเขา ก็ยังอาจเป็นภูเขาขวางวิถีแห่งพุทธธรรมของผู้นั้นได้
เพราะอาศัยความยึดถือทำนองเดียวกัน ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึง
“พระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์หรือคุรุ” ของเขา ซึ่งกลับเป็นภูเขาขวางวิถี
ีแห่งพุทธธรรมของเขาได้ เพราะอาศัยความยึดถือเช่นเดียวกัน
บางคนได้ยึดถือเอาเครื่องมือหรือหนทางที่จะปฏิบัติ
เพื่อเข้าถึงพุทธธรรมมาเป็นตัวพุทธธรรมเสียเอง
บางคนก็ถือเอาเล่มหนังสือหรือพระคัมภีร์เป็นตัวพระธรรมเสียเลยก็มี
บางคนกลับต้องการให้พระนิพพานหรือพุทธธรรมเป็นบ้านเมือง เป็นโลกอันแสนสุข
สำหรับตนจะไปจุติไปเกิดที่นั่น แล้วก็ตั้งบำเพ็ญสมาธิเพื่อความเป็นอย่างนั้น
ด้วยอำนาจความยึดถือในด้านวัตถุอันแรงกล้า