District 9 เหน็บแนมเสียดสี มนุษยชาติ กับเอเลี่ยน ได้อย่างสะใจ น่าดู ระทึก มันส์
(http://kajarp.files.wordpress.com/2009/10/district9.jpg?w=600&h=338)
เพิ่งได้เข้าไปดูในโรง ก็เกือบจะหมดโปรแกรมฉายแล้ว (1 ตุลา เหลือรอบเดียว โรงเดียว) สนุกครับ ชอบ ชวนไปชม หนังเหน็บแนม เสียดสีสภาพสังคมปัจจุบัน ตั้งแต่ ความประหลาดใจของชาวโลก พร้อมคำถามมากมายที่จู่ๆ มีจานผีลอยอยู่เหนือกลางเมืองโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ทำไมต้องที่นี่? และมาทำไม?, มนุษยชาติกับการติดต่อมนุษย์ต่างดาว (close encouter), การช่วยเหลือ เอเลี่ยน ที่มีสภาพขาดอาหารเหมือนคนลี้ภัยแออัดในคอนเทนเนอร์ โดยกันโซนพื้นที่ใต้จานผี เป็นชุมชนชั่วคราว District 9 และกลายสภาพเป็นแหล่งเสื่อมโทรม (slump), มนุษย์ต่างดาวรูปร่างหน้าตาคล้ายตั๊กแตน ชาวโลกให้ฉายาว่า “กุ้ง” (prawn) ดูต่ำต้อย ไม่เจริญ ชอบกินอาหารแมวกระป๋อง จนชาวโลกใช้เป็นเครื่องต่อรองได้, การตั้งหน่วยงาน ต่างดาวสัมพันธ์ (MNU Department for Relations with Extraterrestrial Civilizations), เทคโนโลยีล้ำยุคของเอเลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องของอาวุธ ที่ใช้ได้เฉพาะชาวเอเลี่ยน, การมุ่งแต่ค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อย่างไร้ศิลธรรม, ความละโมบเทคโนโลยีอาวุธสงครามเพื่อการค้า, การคุมปริมาณประชากรเอเลี่ยนไม่ให้แพร่ขยายมากเกิน, กลุ่มคนผิวสีที่ตั้งตัวเป็นมาเฟียคุมการค้าแลกเปลี่ยน สิ่งของ กับอาหารแมว ในชุมชนชาวเอเลี่ยน, ตัวละครเด่น “วิคัส” ชื่อเหมือน อาหารแมว วิสกัส ฯลฯ
นานวันเข้า สภาพเอเลี่ยนชนกลุ่มน้อย ก็ลุกลามบานปลาย สร้างความไม่พอใจแก่ชาวเมืองเจ้าของพื้นที่ บทสรุปคือ ต้องมีการย้ายเอเลี่ยน ออกไปอยู่นอกเมืองไกลๆ ชาวโลกจากทุกประเทศล้วนจับตามอง การละเมิดสิทธิมนุษย์ต่างดาว รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ ต่าวดาวสัมพันธ์ MNU (ที่ดูรั่วๆ ) เข้าไปเคาะประตูบ้านทีละหลัง แจ้งข่าวการย้ายบ้าน ให้เอเลี่ยนเซ็นรับทราบยินยอม (ฮา) มีเวลา 24 ชม. ในการตัดสินใจ ซึ่งเอเลี่ยนมีสิทธิ์ไม่ยินยอม ก็บังคับย้ายไม่ได้ (อาจจะต้องฟ้องศาลก่อนด้วยมั้ง)
การดำเนินเรื่องทำได้อย่างยอดเยี่ยม เริ่มด้วยสไตล์นำเสนอข่าว สารคดีเจาะลึก มุมมองจากกล้องมือถือ ภาพไม่นิ่งพอประมาณ ชวนให้ลุ้นเกร็ง มีสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ เป็นการเล่าเรื่องไปในตัว หวาดเสียว ตื่นเต้น รุนแรง โดยเฉพาะกับเอเลี่ยน นำเสนอภาพจอใหญ่ได้คุ้มค่า บทสนทนาชาญฉลาดลงตัว ฉากแอ็คชั่นยิงกันสะใจอย่างกะหนังสงคราม และหลายฉากสะเทือนความรู้สึก ดึงอารมณ์ร่วมได้ดี กัด พฤติกรรมชาวโลกยุคนี้ ได้สะใจ เรียกว่า ครบรส
กำกับโดย นีลล์ บล็อมแค้มป์ Neill Blomkamp อายุ 29 ปี กับประสบการณ์ทำหนังสารคดี หนึ่งเรื่อง
สุดยอดครับ ขอแนะนำ
official Trailer 2 (HD)
District 9 - Official Trailer 2 [HD] (http://www.youtube.com/watch?v=d6PDlMggROA#ws)
ภาพจากเว็บ http://www.district9movie.com/ (http://www.district9movie.com/)
ข้อมูลเพิ่มเติม ดูได้ที่ http://www.d-9.com/ ,
http://en.wikipedia.org/wiki/District_9 ,
http://www.imdb.com/title/tt1136608/
http://kajarp.wordpress.com/2009/10/02/district-9/
District 9 โลกน่าอยู่แต่มนุษย์ไม่น่าคบ (http://"http://www.oknation.net/blog/rukpong/2009/09/28/entry-1")
กลายเป็นภาพยนตร์เล็กๆที่ถูกกล่าวขานอย่างมากมายหลังจากซัมเมอร์ปี 2009 ผ่านพ้นไป District 9 ของ นีลล์ บลอมแคลมป์ ผู้กำกับหน้าใหม่ผู้มีถิ่นกำเนิดที่อัฟริกาใต้ที่เดียวกับฉากหลักของเรื่อง อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ก็สื่อออกมาก่อนหน้าอยู่แล้วว่ามี ปีเตอร์ แจ๊คสัน เป็นผู้หนุนหลัง และบารมีของผู้สร้างไตรภาคแห่งแหวนก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเป็นเหมือนการยืนยันจากผู้ประสบความสำเร็จอย่างมากมายในฐานะผู้กำกับรุ่นถัดจากรุ่นใหญ่อย่าง สตีเว่น สปีลเบิร์ก, เจมส์ คาเมรอน และ จอร์จ ลูคัส แต่ที่สำคัญแม้จะมีแจ๊คสันหนุนหลังแต่นีลล์ บลอมแคลมป์ก็สร้างสรรค์งานได้อย่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง ความลุ่มลึกของสาระ และมิติของการประชดประชัน บวกกับการเป็นภาพยนตร์ไซไฟ แม้จะทำให้คนดูคาดหวังจากภาพจานบินขนาดมหึมาบนท้องฟ้าเหนือกรุงโยฮันเนสเบิร์ก คล้ายกับภาพที่เคยเกิดกับ ID4 มาแล้ว ซึ่งผู้ดูก็ผิดหวังไประดับหนึ่ง แต่ District 9 กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ชมเฝ้ารอภาคต่อของเรื่องนี้อย่างชัดเจน
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/532/34532/images/movie/Hollywood/D-9/03.jpg)
นีลล์ บลอมแคลมป์ ได้สร้างหนังสั้นก่อนขยายความมาเป็น District 9 นั่นก็คือ Alive in Joberg ที่เป็นสะท้อนถึงปัญหาการแบ่งชนชั้นและการกีดกันผิวสีในโยฮันเนสเบิร์ก บ้านเกิดของบลอมแคลมป์เอง โดยใช้มนุษย์ต่างดาวเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสองของประเทศ หนังสั้นเรื่องนี้ได้กล่าวเริ่มต้นตั้งแต่การมาครั้งแรกของมนุษย์ต่างดาว และเป็นที่ตื่นตาตื่นใจและให้การต้นรับของมนุษย์โลก โดยเฉพาะสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยพบเห็นอย่างชุดเกราะชีวะ หรือหุ่นยนต์ แต่เมื่อเนิ่นนานไปก็เกิดการขัดแย้งกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ต่างดาวพวกนี้ มีการสัมภาษณ์ การเจาะข่าวเหมือนเป็นภาพเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เราชมจากข่าวทางทีวี ซึ่งเหมือนกับบอกกลายๆว่ามนุษย์ต่างดาวเหล่านี้ก็คือมนุษย์ร่วมโลกเดียวกันแต่ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม การใช้มนุษย์ต่างดาวก็เพียงเป็นการเปรียบเปรยเท่านั้นเองว่ามนุษย์ต่างหากที่กีดกันหรือปฎิบัติมนูษย์ด้วยกันเองอย่างไม่เท่าเทียมกัน เหมือนที่คนขาวปฎิบัติต่อคนผิวสีในอัฟริกาใต้ ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้มีความยาวเพียง 6 นาที ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ความแปลกใหม่และสดในการนำเสนอจึงเป็นจุดชนวนในการเกิด Alive in Joberg ในฉบับยาวหรือ District 9 นั่นเอง
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/532/34532/images/movie/Hollywood/D-9/04.jpg)
District 9 ได้ขยายความจาก Alive in Joberg อธิบายความเป็นไปเป็นมาได้มากขึ้น และในหนังสั้นได้เริ่มเอ่ยถึงการขัดแย้งของมนุษย์ต่างดาวกับมนุษย์โลก ภาพยนตร์จึงแตกประเด็นเมื่อรัฐบาลเริ่มออกนโยบายที่ดูเหมือนจะแก้ปัญหานี้โดยอพยพเหล่าเอเลี่ยนออกไปจาก District 9 โดยมีหน่วยงาน MNU มารับผิดชอบในการเคลื่อนย้าย และมีทหารเข้ามากำกับอีกทีเผื่อในกรณีเกิดความรุนแรง ความสนุกจึงบังเกิดเมื่อมีกลุ่มคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสังคมมนุษย์ต่างดาวหลายกลุ่ม ผลประโยชน์ มีตั้งแต่คนขาว คนผิวสี พ่อมดหมอผี กลุ่มต่อต้านความรุนแรง สื่อมวลชน ภาพยนตร์จึงมีการกระทบเสียดสีอยู่ตลอดเวลา และยังคงเอกลักษณ์ในการนำเสนอคล้ายกับการรายงานข่าวเหมือนหนังสั้นต้นฉบับ ทำให้เป็นความแปลกใหม่ แม้จะไม่แปลกตาเพราะมีหลายเรื่องที่ใช้เทคนิคไปก่อนแล้วอย่าง Cloverfield หรือหนังซอมบี้บางเรื่อง และเมาอภาพยนตร์สู่จุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง ความเป็นภาพยนตร์ไซไฟก็ทำงานอย่างไม่ขาดตกบกพร่องและทิ้งท้ายให้คนดูเฝ้ารอภาคต่ออย่างลงตัว
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/532/34532/images/movie/Hollywood/D-9/05.jpg)
District 6 การอพยพอย่างข่มขู่นโยบายกีดกันสีผิวแห่งประวัติศาสตร์
การใช้ชื่อ District 9 ย่อมมีที่มาเมื่อผู้สร้างแท้จริงแล้วเกิดที่อัฟริกาใต้ จึงเข้าถึงประวัติศาสตร์การแบ่งแยกผิวเป็นอย่างดี ดังนั้นในประวัติศาสตร์ของอัฟริกาใต้มีสถานที่ที่เรียกว่า District 6 มาตั้งแต่ในปี 1867 เป็นเขตปกครองตนเองในเมืองเคปทาวน์ของอัฟริกาใต้และเป็นสถานที่ค้าทาสแห่งใหญ่ มีพ่อค้าและชาวอพยพจากถิ่นอื่นมาตั้งรกรากที่ District 6 ว่ากันว่าชาวมาเลย์เป็นชนชั้นทาสที่ถูกนำมาที่แห่งนี้โดยบริษัทดัทช์อีสต์อินเดีย จนมีประชากรถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในเคปทาวน์ และเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ก้เริ่มเข้าสู่ยุคการแบ่งแยกสีผิว รัฐบาลประกาศกำจัดผู้ที่อยู่อาศัยในเขต District 6 โดยให้เหตุผลว่าเขตนี้เป็นแหล่งเสื่อมโทรม อันตราย และมั่วสุมไปด้วยการพนัน โสเภณี และน้ำเมา จึงต้องกำจัดให้สิ้นไม่ใช่เป็นการบูรณาการ ประชาชนในท้องถิ่นรู้ดีว่านี่เป็นความต้องการเข้ามายึดครองดินแดนหาใช่เป็นไปตามเหตุผลที่รัฐบาลอ้างไม่ เพราะดินแดนแถบนี้ใกล้ศูนย์กลางพาณิชย์และเป็นท่าเรือที่คนขาวต้องการ และ11 กุมภาพันธ์ 1966 รัฐบาลก็ออกกฎหมายอพยพคนท้องถิ่น และประกาศให้เขตนี้เป็นของคนขาวเท่านั้น ส่วนพวกที่อยู่อาศัยเดิมจะถูกขับให้ไปอยู่ในเขตทะเลทราย อ้างว้าง ห่างไกลออกไป
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/532/34532/images/movie/Hollywood/D-9/06.jpg)(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/532/34532/images/movie/Hollywood/D-9/11.jpg)
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นภาพยนตร์เรื่องนี้มีความลึกของสาระค่อนข้างมาก ภาพของเอเลี่ยนจึงเป็นเพียงการเปรียบเทียบให้เห็นว่ามนุษย์ที่แท้จริงแล้วมองมนุษย์ด้วยกันเองแบบแตกต่างกันออกไป กลุ่มมนุษย์ที่อยู่ในอำนาจเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตกลุ่มอื่นที่ด้อยกว่า โดยเอาผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง การยึดดินแดนของรัฐบาลอัฟริกาใต้ใน District 6 ก็เป็นการต้องการทรัพยากรที่ดิน และใน District 9 ก็ไมต่างกัน การแก้ปัญหาขัดแย้งหาใช่ความต้องการของรัฐบาลที่แท้จริงใหม่ ส่วนความต้องการที่แท้จริงเป็นอะไรก็ต้องไปชมกันเอง และก็ไม่ต่างอะไรกับบรรดาผู้ทรงเกียรติในบางประเทศที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยบอกว่าเพื่อสมานฉันท์ (ขอออกนอกเรื่องหน่อย) ขณะที่ชมภาพยนตร์ตัวละครเอกของเรื่องคือ เจ้าหน้าที่ธรรมดาคนหนึ่งที่เทพประทานให้กลายเป็นหัวหน้าในการขนย้ายเอเลี่ยนออกจาก District 9 ชื่อว่า วิกัส แวน เดอ เมอเว ที่พ่อตาผู้หวังประโยชน์แอบแฝงเป็นผู้ผลักดัน แว่บแรกเลยนึกถึงชายหนุ่มที่ชื่อ อภิสิทธิ์ ขึ้นมาทันที เพราะเขาเป็นบุคคลที่ทำตามแบบแผนของสังคมอย่างหมดจด การเข้าไปขอให้เอเลี่ยนย้ายออกก็ต้องมีรายเซ็นต์ยอมรับ ไม่เน้นความรุนแรง เดินตามตรอกออกตามประตูเสมอ แต่ผู้คนที่ล้อมรอบเขากับมุ่งผลประโยชน์จากเขาโดยเฉพาะการดันเขาเป็นหัวหน้าก็มีประโยชน์แอบแฝงชัดเจน จนเมื่อหมดความสำคัญก็ต้องเรียกว่าเฉดหัวส่ง (แต่นายกฯของผมยังไม่ถึงระยะนี้นะครับ) แต่ความเป็นมนุษย์ในตัวของวิกัสไม่เคยเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องต่อสู้กับอารมณ์ที่แปรปรวนในบางครั้ง แต่ก็มีมโนธรรมในท้ายสุด แม้แต่ตอนสุดท้ายของภาพยนตร์ที่คงทำให้บางคนอาจจะน้ำตาไหลขึ้นมา
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/532/34532/images/movie/Hollywood/D-9/08.jpg)
คำถามที่สุดฮิตทั้งอดีตและคงไปถึงอนาคตอีกหลายปีว่า เราเป็นเผ่าพันธ์เดียวในจักรวาลหรือเปล่าและถ้ามีสิ่งชีวิตนอกโลกอื่นๆทำไมไม่เคยปรากฏตัวให้มนุษย์โลกเห็นบ้าง บางทีภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นคำตอบหนึ่งว่าแม้จะมีมนุษย์จากนอกโลกจริงแต่ถ้าพวกเขามาเยือนโลกได้จริงและเฝ้าศึกษามนุษย์โลกก่อนที่จะปรากฏตัวให้มนุษย์ได้เห็น พวกเขาคงต้องทบทวนมากมาย แม้โลกที่มนุษย์โลกอยู่จะน่าอยู่เพียงใดแต่พวกเขาก็คงไม่อยากคบกับเผ่าพันธ์ที่มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ใช้อาวุธห่ำหั่นกันเองเป็นแน่ อาจะมีหลายคนท้วงติงถึงเอเลี่ยนในเรื่องก็ดูป่าเถื่อน บรรดาเอเลี่ยนก็คงโต้กลับว่าถ้ามนุษย์เองถูกจำกัดเขตแดน ขาดอาหาร มีเพียงอาหารแมวที่มนุษย์ป้อนให้เหมือนพวกเขาเป็นสัตว์เลี้ยง ก็คงโกรธแค้นแสดงความป่าเถื่อนเช่นกัน บางทีอาจจะโหดร้ายกว่าอีกหลายเท่านัก ดูจากวิกัสเป็นตัวอย่างเมื่ออยู่ในอารมณ์กดดันแม้เป็นคนดีไม่น่ากลัวก็ยังใช้ความรุนแรงได้ และเอเลี่ยนก็คงบอกว่า แม้โลกจะน่าอยู่แต่มนุษย์ไม่น่าคบนั่นเอง
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/532/34532/images/movie/Hollywood/D-9/07.jpg)
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=505523 (http://www.oknation.net/blog/print.php?id=505523)
District 9 หนังมนุษย์ต่างดาวจาก ผกก. แอฟริกาใต้ ว่าด้วยการเหยียดชาติพันธุ์
ภาพยนตร์เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวไม่ใช่เรื่องใหม่ ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวการเหยียดชาติพันธุ์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นกัน แต่ในคราวนี้เป็นผลงานกำกับของผู้ที่เคยสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ พื้นที่ซึ่งเคยมีความขัดแย้งจากนโยบายกีดกั้นสีผิวมาก่อน
(http://www.prachatai.com/sites/default/files/u14/District9_001_0.jpg)
ภาพโปสเตอร์รณรงค์จากเว็บไซต์ MNU Spread Lies
ซึ่งเป็นเว็บไซต์โปรโมทภาพยนตร์ District 9 ด้วยกลวิธียั่วล้อตัวเอง
ข้อความบนโปสเตอร์ระบุว่า “สนับสนุนสิทธิอมนุษยชน ทุกชีวิตสมควรได้รับความเท่าเทียม”
(http://www.mnuspreadslies.com (http://"http://www.mnuspreadslies.com/"))
(http://www.prachatai.com/sites/default/files/u14/District9_002_0.jpg)
มีเสียงร่ำลือกันอย่างตื่นเต้นในฮอลลิวูดเกี่ยวกับภาพยนตร์ไซไฟเรื่องใหม่ล่าสุดจากผู้กำกับ ชาวแอฟริกาที่ชื่อ นีลล์ บลอมแคมป์ที่ชื่อ "District 9" หรือ "ดิสทริคท์ ไนน์" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหล่ามนุษย์ต่างดาวที่ตกมาอยู่บนโลก และถูกแบ่งแยกพื้นที่ออกจากมนุษย์ให้อยู่แต่ในเขตสลัมของเมืองโจฮันเนสเบิร์ก
ภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ระทึกขวัญนำเสนอการต่อสู้ของเหล่ามนุษย์ต่างดาวผู้ลี้ภัยจากดาวของตนเองมาตั้งรกรากยังโลก ซึ่งเต็มไปด้วยมนุษย์โลกผู้แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับพวกเขา
"ดิสทริคท์ ไนน์" เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในฮอลลิวูดของผู้กำกับบลอมแคมป์ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากปีเตอร์ แจกสัน ผู้กำกับชื่อดังจากงานรางวัลออสการ์อย่าง "เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง" มาเป็นผู้อำนวยการสร้าง
สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่าภาพยนตร์เรื่อง "ดิสทริคท์ ไนน์" ใช้ฉากเป็นโลกอนาคตในจักรวาลคู่ขนาน ซึ่งเนื้อเรื่องของภาพยนตร์มีรากฐานมาจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในแอฟริกาใต้ ที่เกิดเหตุความไม่สงบจากลัทธิแบ่งแยกสีผิวและการต่อต้านผู้ลี้ภัย
อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับชาวแอฟริกาใต้ผู้นี้บอกว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เป็นหนังการเมือง บลอมแคมป์กล่าวในการแถลงข่าวที่ลอส แองเจลลิส ว่าเขาพยายามระวังไม่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเป็นการเมืองมากเกินไป เพราะกลัวคนดูจะเหนื่อยหน่ายกับมัน
"แต่ผมรู้ดีว่า ผมต้องการให้มีแก่นของความเป็นแอฟริกาใต้ถูกนำเสนอไปพร้อมกับเรื่องราวการแบ่งแยกและการเหยียดชาติพันธุ์ที่ตามมา เพราะว่ามันเป็นสภาพแวดล้อมที่ผมเติบโตมา" นีลล์ บลอมแคมป์ กล่าว "ดังนั้น ภาพยนตร์จึงมีความสมดุลระหว่างเรื่องการแบ่งแยกเชื้อชาติที่คล้ายคลึงกัน และเรื่องรัฐบาลผิวขาวกับการกดขี่ของพวกเขาที่คล้ายคลึงกันด้วย"
มีการวิจารณ์ภาพยนตร์ก่อนกำหนดเข้าฉายในโรง (ต่างประเทศ) วันที่ 14 ส.ค. นี้ โดยเหล่านักวิจารณ์ในเว็บไซต์ร็อทเทนโทเมโทส์* (www.rottentomatoes.com (http://"http://www.rottentomatoes.com/")) ต่างให้คะแนนภาพยนตร์เรื่องนี้เต็ม 100%
นักวิจารณ์จากเว็บไซต์ฮอลลิวูดริพอร์ทเตอร์แสดงความชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "เป็นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร ซึ่งมันจะตรึงคุณไว้ทันทีและไม่ยอมให้คุณไปไหนจนกว่าจะถึงช็อทสุดท้าย"
ตัวละครหลักของเรื่องคือ วิกัส แวน เดอ เมอเว ที่แสดงโดยชาร์ลโต คอปลีย์ นักแสดงชาวแอฟริกาใต้ ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งเขาพยายามจะสืบค้นเรื่องราวความลับของอาวุธจากมนุษย์ต่างดาว ที่จะสามารถปลดล็อกได้โดยอาศัยรหัสดีเอ็นเอของมนุษย์ต่างดาวเท่านั้น
และเมื่อวิกัสติดเชื้อไวรัสของมนุษย์ต่างดาวที่เริ่มเปลี่ยนแปลงรหัสดีเอ็นเอมนุษย์โลกของเขา จากการเป็นผู้ล่าก็กลายเป็นผู้ถูกล่า โดยเขาถูกบังคับให้ต้องลี้ภัยร่วมไปกับเหล่ามนุษย์ต่างดาวในเขตสลัม ดิสทริคท์ ไนน์ ที่ดูคล้ายเขตโซเวโตในโลกจริง (อ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ โจฮานเนสเบิร์ก, แอฟริกาใต้ ประชากรศาสตร์ชาติพันธุ์ในโลกจริง ด้านล่าง)
ในเรื่องสถานที่ถ่ายทำ บลอมแคมป์ ให้ความเห็นว่า โจฮันเนสเบิร์ก เป็นสถานที่ถ่ายทำที่เหมาะสมและนึกไม่ออกว่าจะมีที่อื่นที่เหมาะสมยิ่งกว่านี้ ซึ่งผู้กำกับชาวแอฟริกาใต้ให้เหตุผลว่าเมืองนี้มีองค์ประกอบฉากที่ต้องการเป็นจำนวนมากเช่น ดินโคลน รั้วลวดหนาม พวกวัชพืช "ผมคิดว่าคุณต้องการให้มันใกล้ความจริงในระดับนี้ รวมถึงระดับของมลภาวะและความสมจริงด้วย"
แต่เดิมแล้วนีลล์ บลอมแคมป์ เดินทางมายังนิวซีแลนด์เพื่อร่วมงานกับผู้กำกับปีเตอร์ แจ็กสัน ในโปรเจกท์ภาพยนตร์พร้อมยักษ์จากเกมส์ของเครื่อง Xbox ที่ชื่อ Halo ซึ่งต่อมาโครงการณ์ภาพยนตร์จากวิดีโอเกมส์เรื่องนี้ก็ถูกพับไป แต่จากการที่ปีเตอร์ แจ็กสัน เกิดประทับใจกับเรื่อง "อะไลว์ อิน โจเบิร์ก" (Alive in Joburg) หนังสั้นปี 2005 ฝีมือของบลอมแคมป์เข้า ทำให้ต่อมาพวกเขาสร้าง "ดิสทริคท์ ไนน์" โดยอาศัยแนวคิดดั้งเดิมจาก "อะไลว์ อิน โจเบิร์ก"
"ในตอนนั้นผมเตรียมตัวกลับไปที่แวนคูเวอร์ แต่แล้วเขา (ปีเตอร์ แจ็กสัน) และฟราน วัสซ์ ก็บอกว่า “ทำไมคุณไม่อยู่ที่นี่ต่อแล้วลองทำภาพยนตร์เรื่องอื่นดูล่ะ ลองใช้แรงกระตุ้นที่คุณเคยใช้สร้าง Halo มาเริ่มต้นทำอะไรใหม่ดูสิ' ซึ่งมันดูเป็นไอเดียที่ดีสำหรับผม ราวกับพวกเขาอนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่องใหม่นี้เกิดขึ้นมา ซึ่งมันเจ๋งมากในความเห็นผม"
เรื่องย่อของ ดิซทริคท์ ไนน์ จากเว็บไซต์ collider.com (http://"http://collider.com/")
เนิ่นนานเกินกว่า 20 ปีมาแล้ว มนุษย์ต่างดาวได้ติดต่อมายังโลกเป็นครั้งแรก มนุษย์โลกจึงเตรียมตัวกับการถูกโจมตีในฐานะศัตรู หรือไม่ก็คาดว่าจะได้เจอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันยิ่งใหญ่ แต่แทนที่จะได้พบกับทั้งสองสิ่งที่กล่าวมา กลับได้พบว่าเหล่ามนุษย์ต่างดาวอพยพมายังโลกในฐานะผู้ลี้ภัย ผู้เหลือรอดกลุ่มสุดท้ายจากดาวเดิมของพวกเขา ชาวต่างดาวพากันสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวในเขต ดิสทริคท์ ไนน์ ของประเทศอเมริกาใต้ ขระที่ประเทศต่างๆ ในโลกยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับมนุษย์ต่างดาวผู้ลี้ภัยนี้ดี
มาจนถึงปัจจุบัน ความอดทนต่อสถานการณ์มนุษย์ต่างดาวเริ่มหมดลง แผนการควบคุมมนุษย์ต่างดาวได้รับการอนุมัติโดยมัลติ-เนชั่นแนล ยูไนเต็ต (Multi-National United หรือ MNU) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่สนใจในสวัสดิการของมนุษย์ต่างดาว แล้วพวกเขาก็จะได้รับกำไรอย่างมหาศาลหากพวกเขาทำให้อาวุธของมนุษย์ต่างดาวทำงานได้ ซึ่งจนถึงบัดนี้พวกเขาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการทำงานของอาวุธต้องอาศัยรหัสดีเอ็นเอของมนุษย์ต่างดาว
ความตึงเครียดระหว่างชาวต่างดาวกับชาวโลกดำเนินมาจนถึงจุดสำคัญ เมื่อวิกัส แวน เดอ เมอเว (ชาร์ลโต คอปลีย์) พนักงานจากบริษัท MNU ถูกไวรัสที่เปลี่ยนดีเอ็นเอของเขาให้กลายเป็นของมนุษย์ต่างดาว วิกัสกลายเป็นคนที่ถูกตามล่ามากที่สุดและเป็นที่ต้องการมากที่สุดในเวลาเดียวกันเนื่องจากเขาเป็นคนเดียวที่จะไขความลับของเทคโนโลยีจากต่างดาวได้ การที่เขาต้องระหกระเหินและไร้ญาติขาดมิตรเช่นนี้ ทำให้ที่เดียวที่เหลืออยู่เพื่อให้เขาได้หลบซ่อนพักพิง คือที่ ดิสทริคท์ ไนน์
อะไลว์ อิน โจเบิร์ก รากฐานและแรงบันดาลใจของ ดิสทริกซ์ ไนน์
อะไลว์ อิน โจเบิร์ก เป็นภาพยนตร์ขนาดสั้นแนววิทยาศาสตร์ของนีลล์ บลอมแคมป์ ออกฉายในปี 2005 โดย สปาย ฟิลม์ ภาพยนตร์มีความยาวประมาณ 6 นาที ใช้สถานที่ถ่ายทำคือเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ของประเทศแอฟริกาใต้ เนื้อหาของภาพยนตร์มุ่งสำรวจเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ ขณะเดียวกันก็มีการใช้เทคนิคภาพ (visual effect) และเล่าเรื่องแบบสารคดีจำลอง
เรื่องนี้พูดถึงเมืองโจฮันเนสเบิร์กในปี 1990 ซึ่งกลายเป็นแหล่งอพยพลี้ภัยสำหรับชาวต่างดาว ที่มียานอวกาศขนาดใหญ่ (ความยาวราวหนึ่งกิโลเมตร) ลอยอยู่เหนือเมือง เมื่อมนุษย์ต่างดาวเข้ามาในตอนแรก ชาวโลกที่ตื่นตะลึงกับ "ชุดชีวภาพ" ของชาวต่างดาวก็อ้าแขนต้อนรับพวกเขา อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาชาวต่างดาวพากันย้ายเข้ามาในพื้นที่อื่นๆ ของเมือง และบางส่วนก็ก่ออาชญากรรมเพื่อเอาตัวรอด และบางครั้งก็ปะทะกับตำรวจ ภาพยนตร์ดำเนินต่อไปภายใต้การนำเสนอแบบสารคดี มีการสัมภาษณ์และภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายจากกล้องถ่ายวิดิโอ เน้นไปที่ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างชาวเมืองและผู้อพยพ โดยเฉพาะเมื่อถึงตอนที่ยานอวกาศเริ่มมาแย่งการใช้กระแสไฟฟ้าและทรัพยากรอื่นๆ จากเมือง
จากการ "สัมภาษณ์" มนุษย์ต่างดาวในภาพยนตร์ นำเสนอว่ามนุษย์ต่างดาวที่หนีมาบนโลกนั้นเคยเป็นแรงงานทาสที่ถูกบังคับให้อยู่ในที่ที่คุณภาพชีวิตแย่ ซึ่งในช่วงปี 1990 กฏการแบ่งแยกเชื้อชาติ (Apartheid) ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ ทำให้ชาวต่างดาวต้องไปอยู่รวมกับกลุ่มคนผิวสีซึ่งถูกกดขี่อยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งกับคนผิวขาวและคนเชื้อชาติอื่น
(http://www.prachatai.com/sites/default/files/u14/District9_003.jpg)
ภาพเมืองโซเวโต จาก BBC ซึ่งบรรยายภาพว่าบุคคลสำคัญผู้ที่เคยต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิว
อย่าง เนลสัน แมนเดลา และหัวหน้าบาทหลวง เดสมอนด์ ตูตู ก็เคยอาศัยอยู่ในเขตนี้ด้วย
(BBC (http://"http://news.bbc.co.uk/2/shared/spl/hi/pop_ups/04/africa_soweto_pride/html/2.stm"))
โจฮันเนสเบิร์ก, แอฟริกาใต้ ประชากรศาสตร์ชาติพันธุ์ในโลกจริง
ทางประชากรศาสตร์ ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก โดยจากข้อมูลการสำรวจปี 2007 พบว่ามีชาวผิวสีอยู่ราวร้อยละ 79.7 ซึ่งประกอบด้วยเชื้อชาติย่อย ๆ อื่น ๆ อีกหลายเชื้อชาติ รวมถึงผู้ที่อพยพจากส่วนอื่นของทวีปแอฟริกาด้วย ขณะที่ชาวผิวขาวมีอยู่ร้อยละ 9.1 (หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ สำรวจในปีเดียวกันระบุว่ามีร้อยละ 11)
และจากการสำรวจในปี 2001 พบว่ามีชาวผิวสีโดยรวมร้อยละ 22 สำเร็จการศึกษาในระดับไฮสคูล ขณะที่ประชากรอายุมากกว่า 20 ปี อีกร้อยละ 23.3 ไม่ได้รับการศึกษาเลย อัตราการว่างงานของชาวผิวสีอายุ 15-65 ปี อยู่ที่ร้อยละ 28.1
ขณะที่ชาวผิวขาวโดยรวมร้อยละ 70.7 สำเร็จการศึกษาในระดับไฮสคูล ส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 20 ปี แต่ไม่ได้รับการศึกษามีเพียงร้อยละ 1.4 และอัตราการว่างงานของคนผิวขาวอายุ 15-65 ก็อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เท่านั้น
โจฮันเนสเบิร์ก เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ ติดอันดับหนึ่งใน 40 เมืองที่มีเขตตัวเมือง (Metropolitan area) ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของแอฟริกาใต้ โดยมีการค้าขายทองคำและเพชรเป็นจำนวนมาก
ในปี 1990 เมืองโจฮันเนสเบิร์กได้รวมเอาเขตโซเวโต (Soweto) ซึ่งเคยแยกออกจากตัวเมืองในปี 1970 เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอีกครั้ง ชื่อของโซเวโตย่อมาจาก “South-Western Township” หรือ “เขตชุมชนทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้” โดยเขตชุมชนริมตะเข็บเมืองนี้เกิดขึ้นจากการตั้งรกรากของคนงานเหมืองทองชาวแอฟริกันท้องถิ่น โดยกฏหมายการแบ่งแยกเชื้อชาติ (Apartheid) ทำให้เกิดการแยกเขตโซเวโตออกจากตัวเมืองโจฮันเนสเบิร์ก
โดยในปี 1991 กฏหมายจำกัดบริเวณ (Group Area Act) ก็ถูกยกเลิกใช้ทำให้กลุ่มคนจนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวผิวสีที่เคยถูกห้ามก่อนหน้านี้ย้ายจากเขตรอบนอกอย่างชุมชนโซเวโตเข้ามาสู่ตัวเมือง รวมถึงผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากที่อพยพจากสงครามและความยากจนในทวีปแอฟริกาก็หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะเมืองโจฮันเนสเบิร์ก
สื่อและรัฐบาลมองว่าการอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากหลังยกเลิกกฏหมายจำกัดบริเวณเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมโทรมในเมืองโจฮันเนสเบิร์กรวมถึงเรื่องอาชญากรรม ทำให้มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไว้ตามมุมถนนของเมือง
จากการสำรวจในปี 2001 พบว่าเมืองโจฮันเนสเบิร์กมีชาวแอฟริกันผิวสีร้อยละ 73 ขณะที่มีชาวผิวขาวร้อยละ 16 ชาวผิวสีอื่น ๆ ร้อยละ 6 และชาวเอเชียร้อยละ 4 โดยร้อยละ 37 ของประชากรทั้งหมดไม่มีงานทำ และในกลุ่มคนว่างงานดังกล่าวมีชาวผิวสีอยู่ถึงร้อยละ 91
ขณะที่เว็บไซต์การท่องเที่ยวของแอฟริกาใต้กล่าวถึงชุมชนโซเวโตไว้ว่า เป็นสถานที่ดูขัดแย้งกัน คือมีที่อยู่แบบเพิงกระท่อมติดกับอพาร์ทเมนต์หรูหรา มีกองขยะแต่ก็มีถนนที่ตัดเรียบ มีทั้งทุ่งสีเขียวและกระแสน้ำสีสนิม
ในเว็บไซต์เดียวกันยังได้กล่าวถึงประวัติของโซเวโตตั้งแต่ การเข้ามาตั้งรกรากของคนงานเหมืองชาวผิวสีในโซเวโต ตั้งแต่ช่วงปี 1904 การที่ชาวผิวสีถูกขับออกจากใจกลางเมืองมาอยู่ในชุมชนย่านนี้ ในปี 1950 รวมถึงปัญหาที่ประสบยาวนานของเขตนี้อย่างความไม่มั่นคงด้านที่พักอาศัย, ปัญหาชุมชนแออัด, โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี และอัตราการว่างงานสูง
เชิงอรรถ
เว็บไซต์ร็อทเทนโทเมโทส์ หรือ "มะเขือเทศเน่า" เป็นเว็บไซต์ที่รวมการวิจารณ์และให้คะแนนจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในหลายๆ สื่อ ซึ่งหากภาพยนตร์เรื่องใดได้รับคะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งหรือถูกวิจารณ์แบบเน้นในแง่ลบ (ในกรณีที่สื่อนั้นๆ ไม่มีการให้คะแนนภาพยนตร์) จะถือว่าได้รับคะแนนแบบ "มะเขือเทศเน่า" สำหรับภาพยนตร์ที่ได้รับคะแนน 100% หมายความว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับคะแนนเป็น "มะเขือเทศเน่า" เลย
http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25444 (http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25444)