โกรธยาก..หายเร็ว :43: :19:
(http://variety.teenee.com/saladharm/img3/101086.jpg)
โดย นพ.จักรพงศ์ ไพบูลย์
ความโกรธ เป็นสิ่งที่เราทุกคนรู้จักดี จัดเป็นหนึ่งใน อุปกิเลส คือเป็นสิ่งที่ทำให้ใจเราเศร้าหมองและขุ่นมัวที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ความโกรธเกิดได้ตลอดเวลา เกิดเป็นส่วนตัวก็ได้และเหนี่ยวนำให้เกิดเป็นกลุ่มก็ได้ ทำอันตรายได้ ทั้งส่วนตัว คนรอบข้าง จนถึงบ้านเมืองเลยทีเดียว ความโกรธของผู้นำของประเทศ เป็นสาเหตุให้เกิดสงคราม และเกิดการบาดเจ็บล้มตายไปมาก
จากคำสอนทางพระพุทธศาสนา เราควรจะจัดการกับความโกรธนี้ได้อย่างไร ประการแรก พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ความโกรธนั้นเป็นสิ่งที่เลวร้ายนัก อย่าพึงให้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้เกิดผลกรรมต่างๆ ได้มากมายดังนี้
" ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตอันความโกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โกรธย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ฯ" เกสปุตตสูตร ๒๐/๕๐๕
ประการต่อมา ท่านสอนว่าพึงละความโกรธให้ได้ ทำลายความโกรธให้ได้ เมื่อเทวดาได้ทูลถามว่า ฆ่าอะไรจึงจะเป็นสุข ฆ่าอะไรจึงจะไม่เศร้าโศก พระพุทธองค์ได้ทรงตอบว่า ฆ่าความโกรธแล้วย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
พระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุเรื่องความโกรธกับเลื่อยไว้ว่า
" ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดมีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้นเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตา จิตไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น " กกจูปมสูตร ๑๒/๒๗๒
พระพุทธองค์ทรงสอนพระภิกษุว่า ผู้โกรธตอบให้ถือว่าลามกหรือเลวร้ายกว่าผู้โกรธก่อน ดังนั้น เมื่อใครมาโกรธเราไม่ควรโกรธตอบ ทรงสอนพระสงฆ์ว่า เมื่อไรโกรธให้คิดถึงโอวาทเรื่องเลื่อยนี้ไว้เสมอ และมีคำสอนมากมายที่สรรเสริญการไม่โกรธ
ทีนี้ความโกรธจะแก้ไขด้วยวิธีใด จากคำสอนในพระพุทธศาสนาพบว่า ความโกรธไม่ใช่ของง่ายที่จะกำจัด ต้องมีการฝึกฝน ฝึกสติ ฝึกจิตอยู่พอสมควรจึงจะแก้ได้เร็ว และหายได้เด็ดขาด มีคำสอนของพระสารีบุตรสอนว่า ต้องพิจารณาทำลายแห่งความโกรธก่อน แหล่งความโกรธเรียกว่า รากแห่งความโกรธ นั้นเกิดจากสาเหตุ ๖ ประการคือ
ความไม่รู้ ความไม่คิดอย่างแยบคาย การมีมานะ ถือตัวตนตัวเรา ของเราความไม่เกรงกลัวต่อบาป ความไม่ละอายต่อบาป และความฟุ้งซ่าน (สารีปุตตนิทเทสที่ ๑๖/๙๔๙)
โดยรวมแล้วหลักการทำลายความโกรธง่ายๆ มีดังนี้
- เมื่อโกรธ ให้ตั้งสติ คือให้รู้ว่าโกรธ ที่โบราณว่าไว้ว่าให้นับหนึ่งถึงสิบก่อน ก็เพื่อตั้งสติ หรือที่ครูบาอาจารย์บางท่านให้กำหนดในใจว่า โกรธหนอ โกรธหนอ อย่างนี้ก็ได้ การทำแบบนี้อาจทำให้ความโกรธหายได้ ในบางคนที่จิตฝึกมาดีแล้ว ด้วยการเจริญสติมาก่อน การรู้ทันความโกรธอย่างนี้ ทำให้ตัดความโกรธได้เลย
- ถ้ายังตัดความโกรธไม่ได้ ให้ข่มใจ อดทนไว้ก่อน และหาทางเปลี่ยนอารมณ์ ให้คิดว่าแม้จะโกรธ เราจะไม่ประทุษร้ายตอบ ด้วยกายวาจาใจ ไม่พูดหยาบคายและบันดาลโทสะ ให้เปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นที่มีความสุขไปก่อน เปลี่ยนบรรยากาศไปก่อน และออกจากสถานการณ์นั้นไปก่อน ถ้าเขาถามหรือขอสัมภาษณ์ ก็ยังไม่ตอบ ถ้าเขาต่อว่าก็สงบไว้ถ้าทะเลาะกันก็หยุดก่อน ไม่ต้องคุยด้วยเหตุผลกันในตอนนี้เมื่อยังมีความโกรธอยู่ การใช้เหตุผลจะทำไม่ได้ ต้องพักรอให้ผ่านไปก่อน อาจจะไปสวดมนต์ อาจจะไปฟังเพลง อ่านหนังสือ หาของอร่อยกิน อย่างไรก็ได้ เปลี่ยนอารมณ์ ไป ก่อนเมื่อไม่มีอารมณ์หล่อเลี้ยง ความโกรธจะหายไปชั่วคราว แต่เมื่อคิดขึ้นมาก็จะคุกรุ่นมาได้อีก ก็อย่าคิด อย่าวนเวียนคดซ้ำซากเรื่องที่ทำให้โกรธ ให้ผ่านไป คิดไปทำเรื่องอื่นที่เราชอบก่อนพอให้ใจสบายขึ้น จากนั้นพิจารณาต่อตามข้อ ๓
- เมื่อค่อยผ่อนคลายลง ให้ใช้ความคิดอย่างแยบคายในการพิจารณาเรื่องที่โกรธ ซึ่งทำได้หลายประการดังนี้คือ
- ให้คิดว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกข์เกิดจากความยึดมั่นในตัวเราของเรา ว่าเป็นตัวเราของเราจริง ซึ่งความจริงนั้นไม่ใช่ แม้ตัวเราและจิตใจเราก็ไม่ใช่ของเรา ทั้งนี้เพราะมันไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลง ไปไม่ได้ดั่งใจ ไม่สามารถที่จะบังคับควบคุมได้ ไม่เป็นไปได้ดั่งใจปรารถนานึก จะไม่ให้ป่วยก็ป่วย นึกจะไม่ให้แก่ก็แก่ นึกจะไม่ให้โกรธก็ยังโกรธ ดังนั้น แม้แต่ตัวเรายังไม่ใช่ของเรา ทรัพย์สินบริวารญาติมิตร ก็ยิ่งไม่ใช่ของเรา เป็นของสมมุติทั้งนั้น วันหนึ่งก็ต้องจากกันไป ดังนั้นไม่มีอะไรเป็นของเราจะโกรธไปทำไม
- ให้คิดว่าทุกคนต่างก็ต้องตายกันทั้งสิ้น ตัวเราก็ต้องตายตัวเขาก็ต้องตาย และไม่รู้วันตาย เหมือนเป็ดไก่ถูกจับไว้ในรถ ส่งไปโรงฆ่าสัตว์ ต่างก็ไม่รู้ว่าตัวจะตายยังจะมาจิกตีทะเลาะกันในรถนั่นแหละ จะทะเลาะกันไปทำไม โกรธกันไปทำไม อีกหน่อยก็ต้องตายกันหมดอยู่ดี
- ให้คิดว่าทุกคนน่าสงสาร ตัวเราก็น่าสงสาร เขาก็น่าสงสารคือ ทุกคนต่างก็อยากได้ความสุข ปรารถนาสุขเกลียดทุกข์กันทั้งนั้น แต่ก็ต้องเจอทุกข์ ต้องเจ็บป่วย ต้องแก่ ต้องตาย จะตายทรมานแค่ไหนก็ไม่รู้ ต้องเจอของไม่ชอบใจกันทั้งสิ้น น่าสงสารเรื่องแค่นี้จะโกรธกันไปทำไม
- ให้พิจารณาโทษของความโกรธ ว่าทำให้ใจเร่าร้อนก่อให้เกิดขุ่นมัวทุกข์ใจ และยิ่งคิดยิ่งทวีคูณ คนโกรธจะนอนไม่หลับ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ตายไปก็ไปสู่ทุคติ ขนาดพระสงฆ์ แม้โจรเอาเลื่อยมาเลื่อยเป็นสองท่อน พระพุทธเจ้ายังทรงสั่งไม่ให้โกรธ เพราะถ้าโกรธจะต้องรับทุกข์ในนรกมากกว่านี้ ดังนั้นจะโกรธไปทำไม
- ให้พิจารณาและมั่นใจในกฎแห่งกรรม ที่ไม่เคยละเว้นผู้ใด รอแต่กรรมส่งผลเท่านั้น และเวลาส่งผลมักจะส่งผลทวีคูณเสมอ ดังนั้นถ้าเขาทำผิด ทำไม่ดี ยิ่งรับกรรมหนักมากกว่าเดิมหลายร้อยหลายพันเท่า เป็นเรื่องน่าสงสารคนที่ทำผิดทำชั่ว เขาทำเพราะไม่เชื่อในกฎแห่งกรรมมากพอ ไม่กลัวบาปกรรม จึงทำผิด แต่เราเชื่อเราเชื่อที่พระพุทธเจ้าสอน เรามีศรัทธาในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน เมื่อกฎแห่งกรรมนี้มีจริง คนทำผิดจึงน่าสงสารต้องรับโทษหนัก ควรแก่การสงสาร ไม่จำเป็นต้องไปโกรธเขา
ให้อยู่ในความดี คิดว่าเราโชคดี ได้รู้จักพระธรรม ได้รู้จักพระพุทธศาสนา จึงได้ทำดี คิดดี พูดดี และคิดสิ่งที่เป็นกุศลนี้ได้ ทำให้ละความโกรธได้ ส่วนคนอื่นที่ยังโกรธเราอยู่นั้นก็เป็นเพราะเขาไม่ได้โชคดีอย่างเรา ดังนั้นควรสงสารให้มากและรักษาตัวเราให้อยู่ในความดี เมื่อเราใจดี ความดีนั้นย่อมไปกระทบใจคนอื่นเช่นกัน ทุกคนจะสงบลงกว่าเดิม โอกาสที่จะแก้ปัญหาโดยไม่โกรธก็ทำได้ง่ายขึ้น
เมื่อคิดว่าเราเข้มแข็งพอที่จะไม่โกรธแล้ว ให้ทบทวนสิ่งที่ทำให้เราโกรธอีกครั้งหนึ่งดูว่า ปัญหาอยู่ที่ใด เราเป็นคนผิด เราก็ยอมรับก็แก้ไขเสีย ถ้าเขาผิดก็ค่อยชี้แจ้ง ถ้าเขายังไม่เข้าใจก็รอก่อน เมื่อเขาสงบคิดได้ค่อยชี้แจ้ง การให้ความรู้และธรรมะที่ถูกต้องจะทำให้ทุกอย่างสงบ และแก้ปัญหาได้ สาเหตุหลักของการโกรธมาจากอวิชชา คือความไม่รู้ ไม่รู้ตามความเป็นจริงของเรื่องทางโลก ทำให้เข้าใจผิด หลงไปอยู่ข้างผิด และไม่รู้ตามเป็นจริงของธรรมะ ที่ไม่ให้ยึดถือในตัวเราของเรา ดังนั้น เมื่อรู้ความเป็นจริงในเรื่องทางโลกและเรื่องทางธรรม ก็จะแก้ปัญหาได้ ความโกรธก็จะหมดไป
ขอให้ตัวเราเป็นคนไม่โกรธง่าย ถ้าโกรธก็ขอให้หายไวๆ ขอให้สังคมไทยเป็นอย่างนี้เช่นกัน
:07: :13: .. ขอขอบพระคุณที่มาจาก : บอร์ดพลังจิต :19: และ ที่นี่ดอทคอม มา ณ.ที่นี้ด้วยค่ะ ..
|