(http://img156.imageshack.us/img156/9935/83348843.jpg)
มโนธรรมเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่ดีงาม
ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงอยากทำความดีด้วยกันทั้งนั้น มโนธรรมทำให้เราหวั่นไหวเมื่อเห็นความทุกข์ของผู้อื่น และอยากช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์
แต่หากเราทำในสิ่งตรงข้าม อย่าว่าแต่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นเลย เพียงแค่ยืนดูอยู่เฉย ๆ เมื่อเห็นเขาได้รับความทุกข์ เราก็จะรู้สึกผิดขึ้นมาทันที ทุกคนย่อมรู้ดีว่าความรู้สึกผิดนั้นก่อความทุกข์ให้แก่จิตใจเพียงใด มันทั้งกดถ่วงหน่วงทับและทิ่มแทงจิตใจ ทำให้เจ็บปวดเศร้าสลด ยิ่งกว่านั้นมันมันยังสั่นคลอนความรู้สึกเคารพตัวเอง บางครั้งถึงกับฉีกทำลายภาพ “ตัวตน” อันงดงามที่เคยวาดไว้ให้ย่อยยับในฉับพลัน คำว่า “เสีย self”ดูจะเบาไปด้วยซ้ำ
ความเจ็บปวดนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อทำร้ายตัวเรา แต่เพื่อกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือหลีกหนีจากอันตราย เมื่อนิ้วสัมผัสกับเปลวไฟหรือเหล็กแหลม ความเจ็บปวดจะทำหน้าที่กระตุกให้เราดึงนิ้วออกมา คนที่สูญเสียประสาทรับรู้ความเจ็บปวด ร่างกายจะเต็มไปด้วยบาดแผล บางคนถึงกับปากแหว่งลิ้นกุดเพราะเผลอกัดซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่รู้ตัว
ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราทำสิ่งที่ผิดพลาด ความเจ็บปวดเพราะรู้สึกผิด จะกระตุ้นให้เราหันมาทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ทั้งของผู้อื่นและของเราเองด้วย
ความรู้สึกผิดมีหน้าที่ผลักดันให้เราเปลี่ยน “ผิด”ให้เป็น “ถูก”
แต่บ่อยครั้งเรากลับพบว่าผลกลับตรงกันข้าม หลายคนกลับทำผิดซ้ำสอง หรือทำผิดยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น
หาเหตุผลมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่ผิดนั้น เหตุผลที่นิยมอ้างกันโดยเฉพาะเวลาทำการทุจริตคอร์รัปชั่นก็คือ
“ใคร ๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น”
หากนิ่งเฉยเมื่อเห็นหญิงสาวถูกรุมทำร้าย เหตุผลที่ใช้บรรเทาความรู้สึกผิดก็คือ “กรรมใครกรรมมัน” เหตุผลเหล่านี้ถูกอ้างขึ้นมาเพื่อให้การกระทำที่ผิดนั้นกลายเป็นถูก
แต่ที่จริงกลับเป็นการทำผิดเป็นครั้งที่สอง เพราะเป็นการแก้ต่างให้กับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ต่างจาก การแก้ต่างให้กับโจร
แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ การหันไปเล่นงานบุคคลซึ่งเป็นที่มาแห่งความรู้สึกผิดในใจตน คนที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ย่อมรู้สึกผิดเมื่อเห็นเพื่อนทำงานขยันขันแข็ง ตัวอย่างเช่น
คนที่ทุจริตย่อมรู้สึกผิดเมื่อรู้ว่ามีเพื่อนบางคนปฏิเสธสินบน
นักปฏิบัติที่เพลินในการนอนอาจรู้สึกผิด ที่เห็นเพื่อนร่วมห้องพากเพียรภาวนา
หลายคนบรรเทาความรู้สึกผิดดังกล่าวด้วยการ หันไปกล่าวร้าย กลั่นแกล้ง หรือหาทางกำจัดคนที่ทำดีกว่าตน ราวกับว่าเขาเป็นศัตรูกับตน เพราะตราบใดที่คนเหล่านั้นยังปรากฏอยู่ต่อหน้า ความรู้สึกผิดก็จะยังทิ่มแทงใจตนตลอดเวลา
กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เกิดความสำคัญผิดไปว่าคนเหล่านั้น เป็นต้นตอแห่งความทุกข์ที่กำลังกัดกร่อนใจตน ทั้ง ๆ ที่สาเหตุแท้จริงนั้นได้แก่ การกระทำที่ไม่ถูกต้องของตัวเองต่างหาก
ความรู้สึกผิดนั้นเป็นผลผลิตของมโนธรรมก็จริง แต่สามารถก่อให้เกิดอาชญากรรมหรือความเลวร้ายได้ จะว่าไปการเบียดเบียนทำร้ายกันบ่อยครั้ง ก็เกิดจากแรงผลักดันแห่งความรู้สึกผิด และคนที่ถูกทำร้ายนั้น หาใช่ใครที่ไหน หากเป็นคนที่เรารักหรือใกล้ชิดเรานี้เอง
การทำร้ายผู้อื่นจึงมิใช่พฤติกรรมที่สงวนไว้สำหรับคนชั่วเท่านั้น แต่คนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็สามารถลงมือได้เช่นกัน นี้เป็นประเด็น ที่ถ่ายทอดให้เห็นอย่างชัดเจนใน
v
v
v
นิยายเรื่องเด็กเก็บว่าว
ของฮาเหล็ด โฮเซนี่
(แปลโดย.. วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ)