(http://www.suan-spirit.com/product/book_216.gif)
จาก ชัมบาลา ถึง ชีวิตและญาณทัสนะของตรุงปะ
Shambhala : The Sacred path of the Warrior
Shambhala
“ชัมบาลา” คืออาณาจักรในตำนานของธิเบต เป็นสังคมในอุดมคติซึ่งเป็นต้นตอแห่งศิลปศาสตร์และอารยธรรมของเอเชียปัจจุบัน เป็นดินแดนแห่งสันติสุขและความรุ่งเรือง ชาวธิเบตเชื่อว่าอาณาจักรชัมบาลานั้นยังดำรงอยู่อย่างซ่อนเร้นในหุบเขาลี้ลับในเทือกเขาหิมาลัย ขณะที่บางตำนานกล่าวว่าอาณาจักรชัมบาลาได้สาบสูญไปหลายร้อยปีแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิชาการชาวตะวันตกได้สันนิษฐานว่า อาณาจักรชัมบาลาอาจจะเป็นอาณาจักรโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีบันทึกอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ขณะหลายคนเชื่อว่าเรื่องราวเกี่ยวกับชัมบาลาเป็นเพียงเรื่องเล่าขานที่ไม่จริง
จะอย่างไรก็ตาม เราก็อาจเห็นได้ชัดถึงร่อยรอยของความปรารถนาของมนุษย์ อันฝังรากแน่นอยู่ในสิ่งสูงและชีวิตอันดีงาม ซึ่งแสดงออกผ่านตำนานนี้ ที่จริงแล้ว ในบรรดาคุรุธิเบตหลายท่านมีประเพณีซึ่งถือว่าอาณาจักรชัมบาลามิใช่สถานที่ซึ่งดำรงอยู่ภายนอก หากเป็นรากฐานของสภาวะการหยั่งรู้และการประจักษ์แจ้ง อันเป็นศักยภาพที่ดำรงอยู่ภายในตัวมนุษย์ทุกคน จากทัสนะนี้เอง จึงไม่สำคัญว่าอาณาจักรชำบาลาเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ หากควรท่เราจะเห็นคุณค่าและดำเนินตามอุดมคติของสัมคมอริยะซึ่งแสดงนัยอยู่
path
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้นำเสนอข้อเขียนว่าด้วย “คำสอนของชัมบาลา” ซึ่งใช้ภาพของอาณาจักรชัมบาลาเพื่อแสดงถึงอุดมคติของการตรัสรู้ซึ่งปราศจากลัทธินิกาย นั่นก็คือ เสนอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการยกระดับจิตวิญญาณของตนและของผู้อื่น โดยไม่ต้องอาศัยแนวทางหรือญาณทัสนะของศาสนาใด เพราะแม้ว่าสายความคิดของชัมบาลาจะยืนพื้นอยู่บนหลักคิดและความนุ่มนวลของวัฒนธรรมแบบพุทธ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีรากฐานที่เป็นอิสระของตนเอง ซึ่งมุ่งตรงสู่การขัดเกลาให้เป็นมนุษย์ที่แท้
Warrior
ความเป็นนักรบในที่นี้มิได้หมายถึงการไปรบรากับผู้อื่น คำว่านักรบนี้มาจากภาษาธิเบตว่า ปาโว ซึ่งหมายความว่า ผู้กล้า ความเป็นนักรบตามนัยนี้จึงนับเป็นวัฒนธรรมแห่งความกล้าหาญของมนุษย์
The Sacred
กุญแจที่ไขไปสู่ความเป็นนักรบและหลักการเบื้องต้นของญาณทัสนะชัมบาลาก็คือ การไม่กล้วความจริงในตนเองไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว คำจำกัดความจองความกล้าก็คือ “ไม่กลัวตัวเอง” ญาณทัสนะชัมบาลาสอนดังนั้น เบื้องหน้าปัญญาอันยิ่งใหญ่ของโลกซึ่งเรากำลังเผชิญหน้าอยู่ เราก็อาจหาญและเมตตาได้ในขณะเดียวกัน
ข้อความดังกล่าวข้าพเจ้าคัดลอกมาจาก ชัมบาลา หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ งานเขียนของเชอเกียม ตรุงปะ แปลโดยพจนา จันทรสันติ (สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง) แม้จะเห็นหลายครั้งก็ไม่คิดว่าจะอ่านได้ เพราะคำว่านักรบนั้นดูจะบู๊เกินไป แต่พอได้พิจารณาเนื้อหาโดยรวมแล้วก็ได้เห็นถึงมิติภายในที่ไม่ใช่ความก้าวร้าวอย่างที่เคยเข้าใจ (ไปเอง) เชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช จึงกลายเป็นอีกหนึ่งชื่อที่ข้าพเจ้าจดจำได้ในนิยามของธรรมาจารย์ธิเบต แต่พอได้เห็นหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมาที่เขียนโดยฟาบริซ มิดัลแล้ว ข้าพเจ้าก็เกิดอาการสงสัยจนมึนเหมือนถูกทุบหัวไปชั่วขณะ ธรรมาจารย์ของข้าพเจ้าถูกนิยามว่า “คุรุบ้า” แม้จะเติมคำว่า “ผู้ปรีชาญาณ” เข้าไปก็ตามที ข้าพเจ้ายืนมองหนังสือเล่มหนาปกสีสดกับรูปธรรมาจารย์ธิเบตในชุดสามัญชนอย่างชั่งใจ เอาวะ สำนักพิมพ์นี้เขาไม่พิมพ์หนังสือไร้สาระ ชีวประวัติขนาดเขื่องเล่มนี้ น่าจะทำให้เรารู้จักเชอเกียม ตรุงปะดีขึ้นแหละน่า ข้าพเจ้าคิดแล้วตัดสินใจติดตามเรื่องราวของ “คุรุบ้าผู้ปรีชาญาณ” ด้วยเชื่อมั่นว่า การได้รู้จักใครสักคนมากขึ้น ย่อมหมายความว่าเราสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้นั้นทำ พูด และคิด ได้มากขึ้นนั่นเอง
ว่าแล้วก็ขอเชิญติดตามเรื่องเล่าของคุรุบ้าที่ข้าพเจ้าจะนำเสนออย่างย่อ ณ บัดนี้
การค้นพบตรุงปะรุ่นที่ ๑๑ และความเชื่อเรื่องตุลกู
เชอเกียม ตรุงปะเกิดในเดือนกุมภาพันธ์ปี ๑๙๔๐ ที่หมู่บ้านเล็กๆ บนที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของธิเบต ถัดขึ้นไปเป็นยอดเขาปาเกอ พุนซุม ซึ่งมักจะเรียกว่า “เสาหลักแห่งท้องฟ้า” ซึ่งเป็นยอดเขาพุ่งสูงเสียดฟ้าขึ้นไปกว่า ๑๘,๐๐๐ ฟุต แลดูคล้ายกับลูกศรมหึมาที่มีหิมะขาวโพลนเป็นประกายระยิบระยับปกคลุมอยู่บนยอดท่ามกลางแสงอาทิตย์ นี่คือดินแดนคัมแห่งธิเบตตะวันออก ซึ่งแม้จะถือเป็นดินแดนแห่งหิมะ (อันเป็นชื่อที่ชาวธิเบตใช้เรียกประเทศของตัวเอง) แต่ก็เป็นอาณาเขตที่เป็นอิสระจากอำนาจปกครองส่วนกลางของกรุงลาซา
บิดามารดาของเชอเกียม ตรุงปะเป็นพวกเร่ร่อนเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในดินแดนแถบนั้น ชาวคัมปาจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ อาศัยอยู่ในกระโจมซึ่งสามารถย้ายที่ไปเรื่อยๆ เพื่อเลี้ยงจามรีและดูแลฝูงแกะ มีชาวธิเบตเป็นอันมากใช้ชีวิตเร่ร่อนตามฝูงสัตว์ไปเยี่ยงนี้ โดยมีม้าเป็นพาหนะบ้าง หรือถ้ายากจนหน่อยก็เดินเท้าเอา
“ผมเกิดในคอกวัวที่ธิเบตตะวันออก” ตรุงปะเล่าถึงความหลัง “ท้องที่แถบนั้นไม่มีใครเคยเห็นต้นไม้สักต้น ชาวบ้านในดินแดนแถบนั้นมีชีวิตอยู่กับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีต้นไม้ชนิดใด แม้แต่ไม้พุ่มหรือไม้ชนิดใดๆ พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยเนื้อสัตว์กับนมตลอดทั้งปี ผมเป็นบุตรของผืนแผ่นดินโดยแท้ และเป็นลูกชายของชาวนา”
เนื่องจากความรุนแรงของภูมิอากาศที่ขึ้นชื่อของดินแดนแถบนี้ คนกับธรรมชาติจึงมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง เพราะพวกเขาเชื่อว่ามนุษย์มีสายสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับสภาพแวดล้อม ชาวธิเบตจึงไม่พยายามที่จะแตะต้องรบกวนโลกรอบๆ ตัวพวกเขา ความผูกพันของพวกเขาต่อสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เขาเคารพบูชา และสายสัมพันธ์ที่มีต่อกันจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพวกเราที่อยู่ในโลกตะวันตก
(http://farm1.static.flickr.com/3/2430060_be3df0b752.jpg?v=0)
เมื่อเชอเกียม ตรุงปะอายุได้สิบสามเดือน ท่านถูกระบุตัวว่าเป็นตุลกู ร่างที่มาเกิดใหม่ของลามะองค์สำคัญ ก่อนที่จะอธิบายเรื่องความเชื่ออันลี้ลับนี้ เราต้องเข้าใจความคิดของชาวพุทธโดยเฉพาะเรื่องนี้ซึ่งมีแต่ในธิเบต การสถาปนาตุลกูถือกำเนิดมาจากหลักคำสอนพุทธศาสนาในเรื่องกรรมและการกลับชาติมาเกิดใหม่ เรื่องเหล่านี้เมื่อนำมาพูดในโลกตะวันตกมักจะถูกเข้าใจกันอย่างผิดๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงกันอย่างละเอียดอ่อนลึกซึ้ง
พุทธศาสนาถือว่า สรรพชีวิตเวียนว่ายตายเกิดนับครั้งไม่ถ้วน แต่กระนั้นก็ไม่มีชีวิตใดที่เป็นเจ้าของตัวตนที่แท้จริง ตรงกันข้ามกับความเข้าใจเรื่องการเกิดใหม่ของชาวตะวันตก แม้ว่าจะว่ามีกระแสจิตสำนึกสืบเนื่องไปในแต่ละชาติภพ แต่นี่หาใช่ “ดวงวิญญาณ” หรือตัวตนที่เป็นเอกเทศไม่ ฉะนั้นกฎแห่งกรรมหาได้มอบความเป็นนิรันดร์ให้ ซึ่งเราอาจขัดเกลาตนเองจนบรรลุถึงความสมบูรณ์ ทว่าตรงกันข้าม กฎแห่งกรรมคือเรื่องของการทำความเข้าใจว่าการเกิดและการตายหมุนเวียนเป็นวัฏจักร
การพูดเรื่องกลับชาติมาเกิดใหม่ในแนวคิดของพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่พูดให้เข้าใจชัดเจนได้ยาก จึงเป็นการง่ายกว่าถ้าใช้คำว่า การเกิดใหม่ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ความจริงที่ว่า ไม่ว่ามนุษย์หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงต่างก็ตกอยู่ในห้วงทุกข์ทั้งสิ้น ความปรารถนาที่จะธำรงอัตภาพนี้ไว้คือแรงกรรมที่หนุนเนื่องให้เราต้องเวียนวนอยู่ในห้วงทุกข์ไม่สิ้นสุด หากสามารถละทิ้ง “ตัวฉัน” และตระหนักได้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นเพียงมายา ไม่แท้เที่ยงเราก็จะหลุดพ้นสู่อิสรภาพ
ในกรณีของตุลกู เหตุปัจจัยที่ทำให้ท่านมาเกิดใหม่อย่างที่เป็นนั้นแตกต่างจากปุถุชนทั่วไป และไม่ได้เป็นไปตามกฎแห่งกรรมเท่านั้น ดวงจิตของท่านเหล่านี้หลุดพ้นจากกงล้อแห่งความทุกข์แล้ว ท่านได้บรรลุถึงการตรัสรู้แล้ว เพียงแต่ว่าท่านตั้งปณิธานของพระโพธิสัตว์ ปรารถนาจะกลับมาเกิดในโลกอีกเพื่อประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในพุทธศาสนาบางนิกายปรารถนาความดับสิ้นซึ่งกิเลสและทุกข์ทั้งปวงเป็นที่สุดของจุดหมายปลายทาง (หลุดพ้นจากสังสารวัฏ) แต่ในวัชรนิกาย กลับตั้งความปรารถนาเกินกว่าความหลุดพ้นของตัวเอง และต้องการอุทิศตนเพื่อความหลุดพ้นของสัตว์ทั้งหลายด้วย ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ผ่านการฝึกฝนอบรมจากสำนักศึกษาของตุลกู ต้องเป็นผู้ที่มีอธิษฐานจิตในการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ดังปรากฎในมหาปณิธาน ๔ คือ
สรรพสัตว์ทั้งหลายอันประมาณมิได้ ข้าขอโปรดให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น
กิเลสทั้งหลายที่ไม่สงบระงับ ข้าขอกำจัดให้หมดสิ้น
ธรรมทั้งหลายอันไม่มีประมาณ ข้าขอศึกษาให้เจนจบ
พุทธมรรคอันประเสริฐ ข้าขอบรรลุให้จงได้
การตั้งอธิษฐานจิตไว้เช่นนี้แสดงถึงเจตนาของผู้ปฏิบัติว่าไม่ได้ปรารถนาจะบรรลุธรรมเพื่อตัวเอง ความตั้งใจเบื้องต้นของท่านเหล่านี้ คือการปวารณาตนเพื่อเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย และช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้นให้หลุดพ้นจากอวิชชาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์
เมื่อมีคุรุสำคัญท่านใดสิ้นชีวิตลง ผู้นำนิกายมีหน้าที่ทำการสืบเสาะหาร่างที่มาเกิดใหม่ของท่าน โดยอาจจะเห็นนิมิตในความฝัน หรือนิมิตบางอย่างที่เป็นเครื่องบ่งชี้ทิศทางที่อยู่ของเด็กที่มาเกิดใหม่ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของเชอเกียม ตรุงปะ กรรมาปะ องค์ที่ ๑๖ ได้ชี้แล้วว่าตุลกู ตรุงปะ องค์ที่ ๑๐ ได้ไปเกิดใหม่แล้วในหมู่บ้านแห่งหนึ่งห่างจากอารามเซอร์มังชั่วเดินเท้าห้าวัน อยู่ในบ้านซึ่งประตูหันไปทางทิศใต้ ที่บ้านมีสุนัขตัวใหญ่สีน้ำตาลแดง บิดาของเด็กชื่อเยเชคาร์เย มารดาชื่อชุงโซ แต่เนื่องจากมารดาของท่านแต่งงานใหม่ จึงมีการสับสนบ้างตอนชี้ตัวเด็ก เพราะชื่อของชายที่เธออยู่กินด้วยไม่ใช่ชื่อเดียวกับบิดาแท้ๆ ของเชอเกียม ตรุงปะ ตามคำพยากรณ์
เมื่อเชอเกียม ตรุงปะ ถูกค้นพบนั้น ท่านต้องผ่านการทดสอบตามประเพณี โดยมีการนำสิ่งของชนิดเดียวกันหลายชิ้นมาวางไว้ตรงหน้า แต่มีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นที่เป็นสมบัติของท่านเมื่อชาติที่แล้ว เด็กเลือกของได้ถูกต้องโดยไม่มีการลังเล การบ่งชี้ของกรรมาปะจึงเป็นอันถูกต้อง ตรุงปะเล่าว่า ท่านสามารถระลึกถึงเหตุการณ์ในชีวิตเมื่อชาติที่แล้ว ซึ่งก็คือ ตรุงปะที่ ๑๐ ได้อย่างชัดเจนจนถึงอายุสิบสามขวบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กที่ถูกชี้ตัวว่าเป็นตุลกูกลับชาติมาเกิดจะมีศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้บรรลุถึงศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ พวกเขาต้องศึกษา อบรม ฝึกฝนในอย่างเข้มงวด กวดขัน ยิ่งกว่าพระสงฆ์ทั่วๆ ไป ตอนที่ท่านอายุได้ ๑๘ เดือน ตรุงปะถูกนำตัวจากหมู่บ้าน มาพำนักอยู่ในวัด พออายุได้ห้าขวบ ท่านก็เริ่มการศึกษาอบรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ออกจากธิเบต
วันที่ ๑ มกราคม ๑๙๕๐ จีนประกาศที่จะ “ปลดแอกธิเบตจากจักรวรรดินิยมต่างชาติ และรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับประเทศแม่” จากนั้นกองทัพมหึมาก็เคลื่อนพลเข้ามาในดินแดนหิมะ ในปี ๑๙๕๕ จีนนำระบบนารวมมาใช้ และส่งกองทัพเข้ายึดอาวุธและทรัพย์สิน กำจัดการครอบครองทรัพย์สินทุกรูปแบบ พวกทหารจับพระสงฆ์และสามเณรีมาทรมานและฆ่าทิ้งกลางที่สาธารณะ
เชอเกียม ตรุงปะเพิ่งจะอายุสิบเก้าปีในเวลานั้น ท่านต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ซึ่งช่วงนั้นไม่มีอะไรชัดเจนแน่นอน เหมือนอย่างที่เราได้รับรู้กันในปัจจุบันหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว ท่านถูกตัดขาดและได้รับข้อมูลที่บิดเบือนไป ตามแต่เจตนาของทางฝ่ายจีน ด้วยวัยที่ยังเยาว์ ท่านต้องมาตัดสินใจเสี่ยงกับผลที่จะตามมาในอนาคตอีกยาวไกล ท่านถูกบังคับให้เลือกระหว่างอยู่หรือหนีออกนอกประเทศของตน? ทีแรก ตรุงปะหนีไปที่ลาซาก่อน แต่เมื่อท่านทราบว่าองค์ทะไลลามะเสด็จออกนอกประเทศไปแล้ว ท่านจึงตัดสินใจหนีไปอินเดียเช่นกัน โดยเป็นผู้นำผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่ง เริ่มจากผู้ติดตามเก้าคน ไม่นานก็เพิ่มจำนวนเป็นสามร้อย ในการนำคนเหล่านี้ ท่านต้องใช้การเสี่ยงทาย เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ข้างหน้าอยู่บ่อยๆ
การเดินทางกินเวลายาวนานและเต็มไปด้วยอันตราย กว่าจะฝ่าฟันความยากลำบากแสนสาหัสมาได้ก็ใช้เวลาเกือบสิบเดือน เนื่องจากต้องคอยหลบทหารจีนซึ่งสะกดรอยตามมาตลอด กลุ่มอพยพต้องเดินทั้งวัน ตั้งแต่ย่ำรุ่งยันย่ำค่ำ บางครั้งก็ต้องเดินทางกันตอนกลางคืน เชอเกียม ตรุงปะถือว่าการเดินทางครั้งนี้คือการจาริกแสวงบุญ กลับคืนสู่แผ่นดินประสูติของพระพุทธเจ้า และได้ใช้เวลาเป็นอันมากกับการปฏิบัติธรรม แม้ว่าจะอยู่ในช่วงตกระกำลำบากก็ตาม ท่านอธิบายกับเหล่าผู้ติดตามว่า: “นี่คือถือเป็นโชคของเราที่การเดินทางของเรายากลำบากและต้องต่อสู้กับอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่กว่าการจาริกแสวงบุญในอดีต เพราะจากสิ่งเหล่านี้เราจะได้เรียนรู้และรับประโยชน์จากการเดินทางยิ่งขึ้น” ท่านสามารถแปรเปลี่ยนความวุ่นวายระส่ำระสายที่ต้องเผชิญให้กลายเป็นประสบการณ์ทางธรรมไป เมื่อคณะอพยพมาถึงชายแดนอินเดียที่แคว้นอัสสัมนั้น จำนวนคนในกลุ่มเหลืออยู่เพียงสิบเก้าคน ระหว่างการเดินทางอันยาวนานจากธิเบต หลายคนล้มป่วย หลายคนชราภาพเกินกว่าจะเดินทางอย่างตรากตรำเช่นนั้น จึงหมดแรงเสียชีวิตไป และหลายคนถูกจับกุม
เชอเกียม ตรุงปะหนีออกจากธิเบตได้สำเร็จ จากนี้ไป ท่านต้องถูกตัดขาดจากขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตเดิมๆ ท่านต้องละทิ้งบ้านเกิดไว้ข้างหลังเพื่อรักษาบางสิ่งบางอย่างไว้ ด้วยจิตที่ระลึกอยู่เสมอว่าท่านไม่อาจกลับคืนไปอีก
เด็กหนุ่มผู้เดินทางมาถึงประเทศอินเดียในปี ๑๙๖๐ ผู้นี้เป็นบุคคลพิเศษ ไม่ใช่เพียงเพราะมีสถานภาพเป็นถึงตุลกู หรือการถูกอบรมเลี้ยงดูมาอย่างเหนือสามัญ แต่เป็นเพราะการตัดสินใจอันมุ่งมั่น เขาพร้อมที่จะสละสิ่งใดๆ เพื่อที่จะชูธงชัยแห่งพระธรรมคำสอนที่เคยได้รับ ซึ่งทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงมาแล้ว พุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกกาย ตัวเขาและพระธรรมคือหนึ่งเดียวกัน
http://www.oknation.net/blog/nuchareeya/2009/03/20/entry-1 (http://www.oknation.net/blog/nuchareeya/2009/03/20/entry-1)