(http://www.winbookclub.com/boardimage/q_102878.jpg)
จาก หนังสือธรรมสากัจฉา ระหว่างพุทธทาสกับคึกฤทธิ์ (พ.ศ.2515)
ท่านพุทธทาส เขียนไว้ว่า “ทุกศาสนาล้วนแต่มีธรรมะเป็นเนื้อใน ซึ่งถ้านำออกมาใช้ได้ก็จะแก้ไขวิกฤตการณ์ของโลกได้ การทำให้โลกมีศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งแห่งยุคปัจจุบัน ศาสนิกของแต่ละศาสนาจะต้องเข้าถึงแก่นแท้แห่งศาสนาของตนๆ จึงจะร่วมมือกันช่วยโลกได้
สิ่งที่ต้องระมัดระวัง ตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษอย่างหนึ่งก็คือ เรากำลังทำกันได้แต่เพียงรู้ธรรมะ แต่ไม่มีธรรมะ ยังไม่มีธรรมะใช้ในการแก้ปัญหานั้นๆ อย่างเพียงพอ เราไม่บังคับตัวเองให้มีธรรมะอย่างที่เราได้เรียนรู้ เรายังไม่ละอายในการที่เราไม่มีธรรมะ เรายังไม่กลัวอันตรายอันเกิดขึ้นจากการที่เราไม่มีธรรมะ
การศึกษาระบบ “สุนัขหางด้วน” แห่งโลกยุคปัจจุบันนั้น นอกจากไม่สอนธรรมะ มัวแต่สอนหนังสือกับวิชาชีพแล้ว ยังสอนไปในทางไม่ให้บังคับตัวเองด้วย โดยถือว่าเป็นการเสียอิสรภาพและผิดหลักจิตวิทยา พลโลกยุคปัจจุบันจึงอยู่ในฐานะที่ยากที่จะมีธรรมะมากยิ่งขึ้นทุกที เพราะหลงมีรสนิยมแห่งการตามใจตัวเอง อันเป็นข้าศึกต่อธรรมะ คนในยุคปัจจุบันบูชาความอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แทนการบูชาพระเจ้า โลกจึงอัดแออยู่ด้วยเหยื่อกามารมณ์ และวิธีการบริโภคกามารมณ์อย่างวิปริตวิตถารชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน”
ท้ายที่สุด ผมขอหยิบยกคำกลอน ซึ่งท่านพุทธทาสได้รจนาไว้ในหนังสือ “หัวข้อธรรมในคำกลอนและบทประพันธ์ของสิริวยาส” เมื่อครั้งที่ท่านเจริญอายุได้ 80 ปี (พ.ศ.2529) ซึ่งธรรมทาน มูลนิธิจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อแจกแก่ผู้ไปร่วมงานเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2529
คำกลอนของท่านพุทธทาสมีมากกว่า 100 บท แต่ละบทมีเนื้อหาสาระและมีความไพเราะเพราะพริ้งราวกวีรังสรรค์ ดังที่ผมคัดสรรมาสำหรับประกอบบทความในครั้งนี้เพียง 4 บท
บทกลอนสอนใจบทแรก ท่านตั้งหัวข้อว่า “มองแต่แง่ดีเถิด”
(บทกลอนบทนี้จัดว่าเป็นกลอนยอดฮิต คนทั่วไปมักรู้จักและท่องได้)
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง
บทกลอนที่ 2 ว่าด้วย “เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง”
จงทำงาน ทุกชนิด ด้วยจิตว่าง ยกผลงาน ให้ความว่าง ทุกอย่างสิ้น
กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน ตายเสร็จสิ้น แล้วในตัว แต่หัวที
ท่านผู้ใด ว่างได้ ดังว่ามา ไม่มีท่า ทุกข์ทน หม่นหมองศรี
“ศิลปะ” ในชีวิต ชนิดนี้ เป็น “เคล็ด” ที่ ใครคิดได้ สบายเอย
บทกลอนที่ 3 ว่าด้วย “การงานคือการปฏิบัติธรรม”
อันการงาน คือคุณค่า ของมนุษย์ ของมีเกียรติ สูงสุด อย่าสงสัย
ถ้าสนุก ด้วยการงาน เบิกบานใจ ไม่เท่าไร ได้รู้ธรรม ฉ่ำซึ่งจริง
เพราะการงาน เป็นตัวการ ประพฤติธรรม กุศลกรรม กล้ำปนมา มีค่ายิ่ง
ถ้าจะเปรียบ ก็เปรียบคน ฉลาดยิง นัดเดียววิ่ง เก็บนก หลายพวกมา
คือการงาน นั้นต้องทำ ด้วยสติ มีสมาธิ ขันติ มีอุตสาห์
มีสัจจะ มีทมะ มีปัญญา มีศรัทธา และกล้าหาญ รักงานจริง
สุดท้ายเป็นบทกลอนว่าด้วย “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา”
ถ้าศีลธรรม ไม่กลับมา โลกาวินาศ มนุษย์ชาติ จะเลวร้ายกว่า เดรัจฉาน
มั่วหลงเรื่อง กินกามเกียรติ เกลียดนิพพาน ล้วนดื้อด้าน ไม่เหนี่ยวรั้ง บังคับใจ
อาชญากรรม เกิดกระหน่ำ ลงในโลก มีเลือดโชก แดงฉาน แล้วซ่านไหล
เพราะบ้ากิน บ้ากาม ทรามเกินไป บ้าเกียรติก็ พอไม่ได้ ให้เมาตน
อยากครองเมือง ครองโลก โยกกันใหญ่ ไม่มีใคร เมตตาใคร ให้สับสน
ขอศีลธรรม ได้กลับมา พาหมู่คน ให้ผ่านพ้น วิกฤตการณ์ ทันเวลา
ครับ ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะพินาศ ดังที่ท่านพุทธทาสปรารภไว้นั้นไม่ผิดเพี้ยน ทำอย่างไร ศีลธรรมจึงจะกลับมาละครับ เพราะดูเหมือนว่าศีลธรรมท่านเบื่อมนุษย์สมัยนี้ หนีหายเข้ากลีบเมฆไปนานแล้ว
(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:fhCf91UxeXPMpM)
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสถียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10137
http://www.puansanid.com/forums/showthread.php?t=734 (http://www.puansanid.com/forums/showthread.php?t=734)
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ