(http://www.bloggang.com/data/tilltomorrow/picture/1292256932.jpg)
การขอขมา-กิจของผู้มีบุญบารมีจะพ้นทุกข์
(ตอนที่๑/๓)
บทความธรรมะ โดย : น้อมเศียรเกล้า
สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ในติณกัฏฐสูตรว่า “เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชา
เป็นเครื่องกางกั้น และมีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ ย่อมเที่ยวไปมาหาที่เบื้องต้นและที่สุดไม่ได้”
ดังนั้นการเวียนว่ายตายเกิดจึงมีผลทำให้ก่อกำเนิดสายสัมพันธกับบุคคลและสัตว์ต่างๆ ไม่เป็นที่สิ้นสุด หากเพียงจะคะเนว่าสังสารนี้มีความยาวนาน กำหนดได้อย่างไร ให้ลองจินตนาการถึงการนำทุกยอดหญ้า กิ่งไม้ทุกกิ่ง และใบไม้ทุกใบ ทั่วทั้งชมพูทวีป นำมาทำให้เป็นมัด มัดละ ๔ นิ้ว สมมุติว่านี่เป็นมารดา นี่เป็นมารดาของมารดา ฯลฯ ย่อมไม่ปรากฏว่าจะหมด หรือ สิ้นสุดได้แต่อย่างไร…สังสารนี้ก็เช่นนั้นย่อมกำหนดเบื้องต้นและปลายไม่ได้
ความสัมพันธ์อันยาวนานตลอดจนการเกี่ยวเนื่องกับบุคคลและสัตว์ทั้งหลาย ย่อมก่อกำเนิดวัฏจักรของกรรม อันเป็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ และสานต่อวัฏจักรออกไปให้ไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้นการพบเจอกันของบุคคลต่างๆในภพชาติใดๆก็ตาม จึงคล้ายมีสายใยแห่งกรรมทอประสานบุคคลและสัตว์ต่างๆไว้ด้วยกัน ซึ่งปุถุชนมองไม่เห็น แต่ผู้รู้ท่านเห็นได้
คำว่า"กรรม"ในทางพระพุทธศาสนา ท่านหมายเอาถึงการกระทำ ซึ่ง เป็นคำกลางๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นการกระทำที่ดีหรือไม่ดี แต่คนไทยโดยมาก มักหมายความถึง “ความไม่ดี” อันได้แก่ อกุศลธรรม หรือบาปกรรม
คำสอนในพระพุทธศาสนาชี้ว่า ผลของกรรมเป็นไปตามเหตุของเหตุอันได้กระทำ คือ ผลดีก็เกิดแต่เหตุดี และ ผลชั่วก็เกิดแต่เหตุชั่ว บุคคลทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน..
หนังสือ “อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม” บทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “อำนาจของกรรมยิ่งใหญ่ในโลก ไม่มีอำนาจใดทำลายล้างได้ แม้อำนาจของกรรมดีก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมชั่ว และอำนาจของกรรมชั่วก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดี"
สายใยกรรมซึ่งมองไม่เห็น จึงเป็นพันธการแน่นหนาที่ยากจะถอดถอน ดั่งเช่นบางคนมีเจตนาทางกาย วาจา ใจ อันประกอบไปด้วยความเบียดเบียนกับผู้อื่น จึงเข้าถึงโลกที่ได้รับการเบียดเบียน ได้เสวยเวทนาที่มีการเบียดเบียน อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว, บางคนไม่มีความเบียดเบียน จึงได้รับสัมผัสที่ไม่มีการเบียดเบียน ได้เสวยเวทนาอันเป็นสุข ส่วนเดียว, ผู้ใดมีวิบากกรรมทั้งดีทั้งไม่ดี ก็จะเสวยทุกข์บ้าง สุขบ้าง ส่วนผู้ใดมีเจตนาละกรรมดีและกรรมไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นกรรม
โดยเฉพาะเมื่อประกอบกรรมดำ ย่อมส่งผลให้ต้องมาเสวย เวทนา อันเป็นทุกข์ เดือดร้อน เมื่อกรรมดึงดูดบุคคล และสัตว์ให้ต้องมาชดใช้วิบากกรรมต่อกัน ซึ่งไม่มีทางทราบได้ตั้งแต่แรก ว่าความสัมพันธ์ต่อกัน จะออกมาในลักษณะใด
ดังนั้นมีวิธีใดบ้างที่พอจะถอดถอน และตัดรอนวิบากกกรรมดำที่มีต่อกันได้?
วิธีการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาวิบากกรรมทางพระพุทธศาสนาได้
ก็คือการเพิ่มพูนบารมีความดีให้มากและสม่ำเสมอในภพภูมินี้ ก็อาจทำให้อำนาจ
กรรมชั่วที่ได้ทำมาแล้วตามถึงได้ยาก ดั่งมีเครื่องขวางไว้
ดังเช่นที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงตรัสไว้ว่า การเอาเมล็ดเกลือ ใส่จอกน้ำเล็กๆ
น้ำในจอกนั้นก็เค็มได้ แต่ถ้าเอาใส่ลงไปในแม่น้ำคงคาก็ไม่เค็ม
เปรียบเหมือนพื้นฐานภายในของคนในการอบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา เป็นต้น
(ถ้าอบรมมากก็เป็นดังห้วงน้ำใหญ่ ที่ใส่เกลือลงไปแล้วไม่เค็ม)
(http://www.bloggang.com/data/tilltomorrow/picture/1288195705.jpg)
การขอขมาเป็นอริยประเพณีที่ได้รับการปฏิบัติสืบต่อมานานจนถึงปัจจุบัน สังเกตเห็นได้ว่าในประเทศไทยเองยังได้รับอิทธิพลจากคำสอนของพระพุทธศาสนานี้ โดยเห็นได้จากพิธีการขอขมา อันปรากฏได้ในหลายรูปแบบ เช่น ประเพณีการขอขมาของกุลบุตรผู้ที่ซึ่งจะบรรพชาอุปสมบท เป็นต้น
และยังพบเห็นพิธีขอขมาต่อธรรมชาติ เช่นแม่น้ำ พืชพันธุ์ เช่น ต้นข้าว ซึ่งปรากฏชัดเจนว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึก ไม่สามารถรับรู้สิ่งใดๆได้ หรือรวมถึงยังมีพิธีการขอขมาสัตว์ใช้แรงงาน อย่างเช่น โค กระบือ เป็นต้น
เมื่อกลับมาพิจารณาทบทวนอีกด้านหนึ่ง มองว่าอาจจะเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่พยายามสั่งสอนให้ลูกหลาน มีความอ่อนโยน รู้จักคุณค่าและระมัดระวังในการบริโภคและใช้ทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่รอบตัว ก็เป็นได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี หากไม่ได้มองว่าธรรมชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรให้ความเคารพเหนือพระรัตนตรัย แต่มองในแง่ของการใช้ทรัพยากรต่างๆด้วยเห็นคุณค่า และฝึกความมีวินัย
ข้อวัตรการขอขมาของครูบาอาจารย์
“เมื่อพระจะลาไปจากสำนักที่อาศัยอยู่ หรืออกไปธุดงค์ ตามแบบแผนธรรมเนียมที่ดีงาม ต้องขอขมาผู้เป็นครูบาอาจารย์ เพื่อเป็นการแสดงอโหสิกรรมซึ่งกันและกัน”
(หลวงพ่อ ชาสุภัทโท)
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า ข้อวัตรเรื่องการขอขมาได้มีการสืบทอดมาจวบจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นหนังสือ”อุปลมณี” (แสดงชีวประวัติของหลวงพ่อชา สุภัทโท) พระอาจารย์เลี่ยมได้อธิบาย เรื่องการขอขมาไว้ว่า
“การขอขมาลาโทษนั้น ปราชญ์ทั้งหลายถือว่าเป็นการลบสิ่งไม่ดีออกจากใจ ในบางครั้งเราอาจประมาทพลาดพลั้ง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิดอกุศลจิตขึ้น เมื่ออยากให้สิ่งเหล่านี้ลบเลือนคลี่คลายหายไป จึงประกอบพิธีนี้ขึ้น เพื่อทำให้เกิดอโหสิกรรม…”
“อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม เพราะจะได้ไม่มีนิวรณ์ครอบงำ หมดความหวาดระแวงแคลงใจ ทำให้เกิดความผ่องใส ความสบาย จะอยู่ก็มีความรู้สึกสบาย จะออกไปก็มีความรู้สึกสบาย การขอขมาลาโทษจึงเป็นประเพณีที่ดีงาม...”
วิธีขอขมา
ความผิดที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจเป็นอุปสรรคคอยปิดกั้นไม่ให้บุคคลเข้าสู่นิพพานสันติบทได้ แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเองก็ตาม
อาจารย์ท่านจะแนะนำแก้ไขให้ออกจากการบำเพ็ญกรรมฐานชั่วคราวเพื่อมุ่งหน้าไปสู่บุพการีชน เพื่อไปทำการขมาปนกิจ คือขอขมาลาโทษต่อท่านเหล่านั้นเสียก่อน เมื่อท่านงดโทษงดบาปจึงกลับเข้ามาสู่การบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ในปัจจุบันได้มีการจัดพิธีขอขมาตั้งแต่ก่อนพิธีบรรพชาอุปสมบท นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่กุลบุตรจะได้หมดกังวล และสามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างสะดวกใจ
อย่างไรก็ตามหากบุคคลที่ท่านต้องการขอขมาได้ถึงแก่ชีพิตักษัยไปก่อนแล้ว ก็มีวิธีอยู่คือ ไปที่สุสานป่าช้าขอขมาที่หลุมฝังศพของท่าน หรือหากมีการฌาปนกิจเหลือแต่อัฐิ ก็ต้องขอขมาลาโทษที่อัฐิของท่าน และถ้าหากบังเอิญว่าไม่สามารถทราบได้ว่าท่านอยู่ ณ ที่ไหน หรือถ้าเสียชีวิตไปแล้ว ก็หาหลุมศพไม่ได้ ไม่มีอัฐิ ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำว่าให้นำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปหาองค์พุทธปฏิมากร กราบนมัสการระลึกถึงพระพุทธคุณแล้วอ้างท่านเป็นพยานในการตั้งจิตขอขมา
(หนังสือวิมุตติรัตนมาลี)
การขอขมาจัดเป็นบุญอย่างหนึ่ง ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐...
อาจสงเคราะห์เข้าข้อทิฏฐุชุกัมม์ เป็นต้น คือ การทำความเห็นให้ตรง ในที่นี้คือ ทำความเห็นของตนให้ถูกต้องตามความเป็นจริง คือเป็นว่า บิดามารดามีคุณเป็นต้น การล่วงเกินต่อบุคคลผู้มีคุณด้วยกาย วาจา ใจเป็นบาป นี่คือความเห็นที่ตรงตามความเป็นจริง
การขอขมาลาโทษ นับว่าเป็นการกล่าวคำที่ประเสริฐบริสุทธิ์ สามารถระงับความรุนแรง ร้อนร้าย ขจัดปัดเป่าความเคียดแค้นทั้งหลายให้ ดับหาย มลายสูญฉับพลัน เกิดแต่สันติสุข สันติภาพ สันติธรรม ในดวงใจยิ่งๆขึ้นไป
การขอขมาเป็นการบำเพ็ญบุญของบุคคลทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งได้ละตัวตน ปล่อยวางทิฏฐิมานะ สำนึกดีรู้ผิดชั่ว จึงกล้าเอ่ยวาจาขอขมา อีกฝ่ายอาจได้บำเพ็ญทานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งให้กันได้ยาก คือ "อโหสิกรรม" ให้อภัย
ดังนั้นการขอขมาจึงจะไม่เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ได้อย่างไร เพราะการขอขมาเท่ากับเป็นการขูดรีดเอากิเลสออกจากใจของตน...
ขอขมาผู้ใดก็ได้ที่เราเคยผิดพลาดล่วงเกิน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เหนือกว่าเรา หรือมีคุณกับเราเท่านั้น
นี้....นับว่า เป็นกิจของผู้มีบุญบารมีจะพ้นทุกข์อีกประการ...
(http://www.bloggang.com/data/t/tilltomorrow/picture/1288412601.jpg)
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=tilltomorrow&date=10-01-2011&group=2&gblog=27
ขอบพระคุณ
บทความธรรมะ : รจนาโดย : น้อมเศียรเกล้า
Pics by : น้อมเศียรเกล้า
เรียนขออนุญาตนำมาเผยแผ่ค่ะ
อกาลิโกโฮม * สุุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ