(http://sphotos-a.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash4/c159.0.403.403/p403x403/486750_4597203498937_1818745730_n.jpg)
การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม แล้วตรัสแสดงพระธรรมสั่งสอน เพื่อให้ทุกๆ คนเมื่อตั้งใจฟังแล้ว น้อมนำธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้น อันเป็นเหมือนอย่างกระจกเงาส่องเข้ามาดูตน เพื่อที่จะได้รู้จักตนตามความเป็นจริง และจะได้ละส่วนที่ชั่วที่ผิด ประกอบกระทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง เป็นการรักษาตน เป็นการฝึกตน เพื่อให้มีความสุขความเจริญ
ฉะนั้น เมื่อทุกๆ คนตั้งใจฟัง และปฏิบัติดั่งนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา มีศาสนาอยู่ที่ตนคือที่กายใจ หรือที่กายวาจาใจ หรือกล่าวโดยตรงก็คือที่จิตใจนี้ เพราะว่าการรักษาตน การฝึกตนนั้น โดยตรงก็คือการรักษาจิตใจ ปฏิบัติอบรมจิตใจ ให้ดีงาม ให้บริสุทธิ์นั้นเอง
เพราะฉะนั้น ในพระพุทธโอวาทสำคัญ ๓ ข้อ เมื่อได้ตรัสสอนให้ละบาปอกุศลทั้งปวง ให้บำเพ็ญกุศลความดีทั้งปวงแล้ว จึงได้ตรัสสอนให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะฉะนั้น จึงมาถึงเรื่องจิตใจ เพราะว่าจิตใจนี้ที่เป็นจิตใจของสามัญชน ย่อมมีความโลภบ้างความโกรธบ้างความหลงบ้าง หรือมีราคะโทสะโมหะ อันเรียกว่ากิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมองใจ เพราะทำจิตใจนี้ให้เศร้าหมองไม่บริสุทธิ์ และจิตใจที่มีโลภะโทสะโมหะนี้ ย่อมเป็นจิตใจที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย
ตัณหา
ฉะนั้นเมื่อมุ่งถึงอาการของจิตใจดั่งกล่าว ( เริ่ม ๑๖๐/๑ ) จึงเรียกว่าตัณหา ที่แปลว่าความดิ้นรน ความทะยานอยากไปต่างๆ ที่มีอาการเป็นความดิ้นรนทะยานอยากไป เพื่อจะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจต่างๆ บ้าง เพื่อจะเป็นนั่นเป็นนี่ไปตามที่อยากจะเป็นบ้าง เพื่อจะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ ในภาวะที่ไม่อยากจะเป็นบ้าง
เพราะฉะนั้น เมื่อมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากดั่งนี้ อันประกอบไปด้วยโลภโกรธหลงดังกล่าวแล้วนั้นเอง จึงมีความยึดถือในสิ่งที่อยากนั้น ว่าเป็นเราบ้าง เป็นของเราบ้าง หรือว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง และเมื่อมีความยึดถือดั่งนี้ จึงมีความเห็นแต่สิ่งที่ยึดถือนั้น อันเรียกว่าความเห็นแก่ตัว อันมีลักษณะคับแคบ และนอกจากเห็นแก่ตัวแล้ว ยังมีความเห็นแก่บุคคลที่เป็นที่รักของตัว หรือพวกของตัว จึงทำให้เกิดความแบ่งแยกเป็นฝ่ายอื่นเป็นคนอื่น
และความเห็นแก่ตัวดังกล่าวนี้ถ้าหากว่ามีมาก ก็จะทำให้การปฏิบัติต่างๆ เป็นไปในทางคับแคบ คือจะปฏิบัติเพื่อให้ตัวเองและพวกของตัวเอง หรือคนที่เป็นที่รักของตัวเองได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้ ได้เป็นซึ่งสิ่งที่อยากเป็น แม้ว่าจะได้มาโดยทางที่ไม่ชอบ
เมื่อลุอำนาจแห่งโลภโกรธหลง หรือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าว ก็จะแสวงหาเพื่อให้ได้มา เพื่อให้ได้เป็น แม้ในทางที่ผิด และในทางที่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน
ความทะเลาะวิวาทกัน ความเบียดเบียนซึ่งกันละกัน ซึ่งทรัพย์สินบ้าง ซึ่งร่างกายบ้าง ซึ่งชีวิตบ้าง จึงได้บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในโลก ตั้งแต่กลุ่มน้อยจนถึงกลุ่มใหญ่ คือเบียดเบียนซึ่งกันและกันทั้งโลก ดั่งที่เป็นสงครามโลก ก็เพราะอำนาจของโลภโกรธหลง ของตัณหาในจิตใจของบุคคลนี้เอง ตั้งแต่บุคคลเดียว ไปจนถึงหลายบุคคล ชักจูงกันไปจนถึงเป็นทั้งโลก
(http://2.bp.blogspot.com/_ks7s40OFQT8/TBWiXypXp5I/AAAAAAAABcQ/YSBD_iUBCE4/s320/05++Misty+morning+%40NayaPul.jpg)
กำหนดดูที่ตั้งของตัวเราของเรา
* และนอกจากนี้ยังได้ตรัสสอน ให้มากำหนดดูที่ตั้งของตัวเราของเราทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ อันจะทำให้ตัวเราของเรานี้เบ่งโตเป็นตัวกิเลสใหญ่โตดังที่กล่าวมาแล้ว ให้เห็นว่านั่นคือเป็นตัวมานะ คือความสำคัญมั่นหมายยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา เป็นเหตุสร้าง อหังการ คือสร้างตัวเรา มมังการ สร้างของเราขึ้นมา ซึ่งโดยตรงก็คือเป็นตัวตัณหาเป็นตัวอุปาทานนั้นเอง ** ไม่มีสัจจะคือความจริงอยู่ในตัณหาอุปาทาน
เพราะทั้งหมดที่ยึดถือนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เป็นอนิจจะไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่เป็นอนัตตา คือไม่ควรที่จะมีความเห็นยึดถือว่า
เอตํ มม นี่เป็นของเรา
เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่เราเป็นนั่น
เอโส เม อตฺตา นี่มันเป็นอัตตาตัวตนของเรา ดั่งนี้
[ * "และนอกจากนี้ยังได้ตรัสสอน ให้มากำหนดดูที่ตั้งของตัวเราของเราทั้งหลาย"
ที่ตั้งของตัวเราก็คือกายกับใจ หรือ รูปกับนาม
** "ไม่มีสัจจะคือความจริงอยู่ในตัณหาอุปาทาน"
ไม่มีความเที่ยงแท้มั่นคง ให้น่ายึดถือ ให้น่ายินดีพอใจ มีแต่ความแปรปรวน
มีแต่ความเป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในความยินดี พอใจนั้นๆ ]
(http://cdn.stumble-upon.com/mthumb/576/49433576.jpg)
ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
เมื่อได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้นดั่งนี้ อันนี้แหละเป็นตัววิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งเกิดจากจิตใจที่เพ่งพินิจ ดูให้รู้จักขันธ์ ๕ ให้รู้จักนามรูป ให้รู้จักกายที่มีวิญญาณมีใจครองนี้ ให้รู้จักนิมิตคือเครื่องกำหนดยึดถือในภายนอกทั้งหลายทั้งหมด ว่าตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดั่งนี้ เมื่อได้ปัญญารู้แจ้งขึ้นก็เป็นตัววิปัสสนาปัญญา จิตใจที่เพ่งพินิจก็เป็นตัวสมาธิ มีศีลเป็นภาคพื้นหรือเป็นฐานรองรับ เป็นอันว่าผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัติอยู่ในหลักของศีลของสมาธิของปัญญา ย่อมจะทำให้ได้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
และเมื่อได้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงเป็นตัววิปัสสนาปัญญาขึ้นดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้ วิมุติ คือความหลุดพ้น คือจิตจะพ้นจากความยึดถือ ก็จะดับตัวตัณหาได้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วภาวะที่บริสุทธิ์ ก็ย่อมจะปรากฏเป็นความสงบ เป็นความหลุดพ้น และแม้ว่าจะยังไม่สามารถบรรลุถึงอย่างสูงสุดได้ ก็จะได้ไปโดยลำดับ จะทำให้รักษาตนได้โดยสวัสดีอยู่ในโลก คือจะพ้นโลกที่เป็นส่วนชั่วขึ้นโดยลำดับ จนถึงสุดโลก สุดโลกเมื่อใดก็จะทะลุโลกเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานขึ้นไปเอง โดยไม่ต้องไปกลัว โดยไม่ต้องไปขวนขวาย แสวงหา อยากจะได้ ปีนป่าย ให้ปฏิบัตินี่แหละไปโดยลำดับ แล้วก็ได้ก็ถึงเอง ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ ต่อจากนี้ขอๆ ให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
จบบริบูรณ์
(http://img156.imageshack.us/img156/9935/83348843.jpg)
คัดลอกเนื้อความทั้งหมดจาก:
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-237.htm
ขอกราบนมัสการสมเด็จพระญาณสังวร ฯ
และขออนุโมทนากับสาธุชนและผู้มีส่วนร่วมทุกๆท่าน ขออนุโมทนาครับ
(http://dl5.glitter-graphics.net/pub/2545/2545785aar7oa6sxi.gif)
ขอบพระคุณ
ผู้รวบรวมข้อมูลนำมาแบ่งปัน : ใจพรานธรรม
http //www pantip.com/cafe/religious/topic/Y10212766/Y10212766.html
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ