(http://media-cache-ak0.pinimg.com/736x/2c/e2/85/2ce2859ff83532c2c6e8c0caba642af4.jpg)
อ่านใจธรรมชาติ
(หลวงพ่อชา สุภัทโท)
เหตุของการปฏิบัติ
การ ภาวนา หมายความว่า ให้คิดดูให้ชัดๆ พยายามอย่ารีบร้อนเกินไป อย่าช้าเกินไป ค่อยทำค่อยไป แต่ให้มีวิธีการและจุดหมายในการปฏิบัติภาวนานั้น
ทุกคนที่ออกมาปฏิบัตินั้น ก็ออกมาด้วย “ความอยาก” กัน ทั้งนั้น มันมีความอยาก แต่ความอยากนี้ บางทีมันก็ปนกับความหลง ถ้าอยากแล้วไม่หลง มันก็อยากด้วยปัญญา ความอยากอย่างนี้ท่านเรียกว่า เป็นบารมีของตน แต่ไม่ใช่ทุกคนนะที่มีปัญญา
บางคนไม่อยากจะให้มันอยาก เพราะเข้าใจว่าการมาปฏิบัติก็เพื่อระงับความอยาก ความจริงน่ะ ถ้าหากว่าไม่มีความอยาก ก็ไม่มีข้อปฏิบัติ ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ลองพิจารณาดูก็ได้
ทุกคน แม้องค์พระพุทธเจ้าของเราก็ตาม ที่ท่านออกมาปฏิบัติ ก็เพื่อจะให้บรรเทากิเลสทั้งหลายนั้น
แต่ว่ามันต้องอยากทำ อยากปฏิบัติ อยากให้มันสงบ และก็ไม่อยากให้มันวุ่นวาย ทั้งสองอย่างนี้ มันเป็นอุปสรรคทั้งนั้น ถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่มีความฉลาดในการกระทำอย่างนั้น เพราะว่ามันปนกันอยู่ อยากทั้งสองอย่างนี้ มันมีราคาเท่าๆกัน
อยาก จะพ้นทุกข์ มันเป็นกิเลส สำหรับคนไม่มีปัญญา อยากด้วยความโง่ ไม่อยากมันก็เป็นกิเลสเพราะไม่อยากอันนั้น มันประกอบด้วยความโง่เหมือนกันคือ ทั้งอยาก ไม่อยาก ปัญญาก็ไม่มี ทั้งสองอย่างนี้ มันเป็นกามสุขัลลิกานุโยโค กับอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งพระพุทธองค์ของเรา ขณะที่พระองค์กำลังทรงปฏิบัติอยู่นั้น ท่านก็หลงในอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ท่านหาอุบายหลายประการ กว่าจะพบของสองสิ่งนี้
ทุก วันนี้ เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ทุกสิ่งทั้งสองอย่างนี้ มันกวนอยู่ เราจึงเข้าสู่ทางไม่ได้ก็เพราะอันนี้ ความเป็นจริงนี้ ทุกคนที่มาปฏิบัติ ก็เป็นปุถุชนมาทั้งนั้นปุถุชนก็เต็มไปด้วยความอยาก ความอยากที่ไม่มีปัญญาอยากด้วยความหลง ไม่อยากมันก็มีโทษเหมือนกัน “ไม่อยาก” มันก็เป็นตัณหา “อยาก” มันก็เป็นตัณหาอีกเหมือนกัน
ทีนี้ นักปฏิบัติยังไม่รู้เรื่องว่า จะเอายังไงกัน เดินไปข้างหน้าก็ไม่ถูก เดินกลับไปข้างหลังก็ไม่ถูก จะหยุดก็ไม่หยุดไม่ได้ เพราะมันยังอยากอยู่ มันยังหลงอยู่ มีแต่ความอยาก แต่ปัญญาไม่มีมันอยากด้วยความหลง มันก็เป็นตัณหา ถึงแม้ไม่อยาก มันก็เป็นความหลง มันก็เป็นตัณหาเหมือนกัน เพราะอะไร? เพราะมันขาดปัญญา
ความเป็นจริงนั้น ธรรมะนั้นอยู่ตรงนั้นแหละ ตรงความอยากกับความไม่อยากนั่นแหละ แต่เราไม่มีปัญญา ก็พยายามไม่ให้อยากบ้าง เดี๋ยวก็อยากบ้าง อยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ความจริงทั้งสองอย่างนี้ หรือทั้งคู่นี้ มันตัวเดียวกันทั้งนั้น ไม่ใช่คนละตัว แต่เราไม่รู้เรื่องของมัน
พระพุทธเจ้าของเรา และสาวกทั้งหลายของพระองค์นั้น ท่านก็อยากเหมือนกัน แต่ “อยาก” ของท่านนั้นเป็นเพียงอาการของจิตเฉยๆ หรือ “ไม่อยาก” ของท่านก็เป็นเพียงอาการของจิตเฉยๆ อีกเหมือนกัน มันวูบเดียวเท่านั้น ก็หายไปแล้ว
ดังนั้นความอยากหรือไม่อยากนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับผู้มีปัญญานั้น “อยาก” ก็ไม่มีอุปาทาน “ไม่อยาก” ก็ไม่มีอุปาทาน เป็น “สักแต่ว่า” อยาก หรือไม่อยากนั้น ถ้าพูดตามความจริงแล้ว มันก็เป็นแต่อาการของจิต อาการของจิตมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ถ้าเรามาตะครุบมันอยู่ที่ใกล้ๆ นี่ มันก็เห็นชัด
ดังนั้น จึงว่าการพิจารณานั้น ไม่ใช่รู้ไปที่อื่นมันรู้ตรงนี้แหละ เหมือนชาวประมงที่ออกไปทอดแหนั่นแหละทอดแหออกไปถูกปลาตัวใหญ่ เจ้าของผู้ทอดแหจะคิดอย่างไร? ก็กลัว กลัวปลาจะออกจากแหไปเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจมันก็ดิ้นรนขึ้น ระวังมาก บังคับมาก ตะครุบไปตะครุบมาอยู่นั่นแหละ ประเดี๋ยวปลามันก็ออกจากแหไปเสีย เพราะไปตะครุบมันแรงเกินไปอย่างนั้นโบราณท่านพูดถึงเรื่องอันนี้ ท่านว่าค่อยๆทำมัน แต่อย่าไปห่างจากมัน นี่คือปฏิปทาของเรา ค่อยๆ คลำมันไปเรื่อยๆ อย่างนั้นแหละอย่าปล่อยมัน หรือไม่อยากรู้มัน ต้องรู้ ต้องรู้ เรื่องของมัน พยายามทำมันไปเรื่อยๆ ให้เป็นปฏิปทาขี้เกียจเราก็ทำ ไม่ขี้เกียจเราก็ทำ เรียกว่า การทำการปฏิบัติ ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้
ถ้า หากว่าเราขยัน ขยันเพราะความเชื่อ มันมีศรัทธา แต่ปัญญาไม่มี ถ้าเป็นอย่างนี้ ขยันไปๆ แล้วมันก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมากมาย ขยันไปนานๆเข้า แต่มันไม่ถูกทาง มันก็ไม่สงบระงับ ทีนี้ก็จะเกิดความคิดว่า เรานี้บุญน้อยหรือวาสนาน้อย หรือคิดไปว่า มนุษย์ในโลกนี้คงทำไม่ได้หรอก แล้วก็เลยหยุด เลิกทำ เลิกปฏิบัติ
ถ้า เกิดความคิดอย่างนี้เมื่อใด ขอให้ระวังให้มากให้มีขันติ ความอดทน ให้ทำเรื่อยๆ เหมือนกับเราจับปลาตัวใหญ่ก็ให้ค่อยๆคลำมันไปเรื่อยๆ ปลามันก็จะไม่ดิ้นแรง ค่อยๆทำไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ไม่ช้าปลาก็จะหมดกำลัง มันก็จับง่าย จับให้ถนัดมือเลย ถ้าเรารีบจนเกินไปปลามันก็จะหนีดิ้นออกจากแหเท่านั้น
ดัง นั้นการปฏิบัตินี้ ถ้าเราพิจารณาตามพื้นเหตุของเรา เช่นว่าเราไม่มีความรู้ในปริยัติ ไม่มีความรู้ในอะไรอื่น ที่จะให้การปฏิบัติมันเกิดผลนั้น ก็ดูความรู้ที่เป็นพื้นเพเดิมของเรานั่นแหละ อันนั้นก็คือ “ธรรมชาติของจิต” นี่เอง มันมีของมันอยู่แล้ว เราจะไปเรียนรู้มัน มันก็มีอยู่ หรือเราจะไม่ไปเรียนรู้มัน มันก็มีอยู่
อย่าง ที่ท่านพูดว่า พระพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นก็ตามหรือไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ธรรมะก็คงมีอยู่อย่างนั้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ไม่พลิกแพลงไปไหน มันเป็นสัจจธรรม เราไม่เข้าใจสัจจธรรมก็ไม่รู้ว่าสัจจธรรมเป็นอย่างไร นี้เรียกว่าการพิจารณาในความรู้ของผู้ปฏิบัติที่ไม่มีพื้นปริยัติ
ขอ ให้ดูจิต พยายามอ่านจิตของเจ้าของ พยายามพูดกับจิตของเจ้าของ มันจึงจะรู้เรื่องของจิต ค่อยๆทำไป ถ้ายังไม่ถึงที่ของมัน มันก็ไปอยู่อย่างนั้นครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า ทำไปเรื่อยๆ อย่าหยุด บางทีเรามาคิด “เออ ทำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่รู้เรื่องของมัน ถ้าทำไม่ถูกที่มัน มันจะรู้อะไร” อย่าง นี้เป็นต้นก็ต้องไปเรื่อยๆก่อน แล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นในสิ่งที่เราพากเพียรทำนั้นมันเหมือน กันกับบุรุษที่ไปสีไฟ ได้ฟังท่านบอกว่า เอาไม้ไผ่สองอันมาสีกันเข้าไปเถอะ แล้วจะมีไฟเกิดขึ้นบุรุษนั้นก็จับไม้ไผ่เข้าสองอัน สีกันเข้า แต่ใจร้อน สีไปได้หน่อย ก็อยากให้มันเป็นไฟ ใจก็เร่งอยู่เรื่อย ให้เป็นไฟเร็วๆ แต่ไฟก็ไม่เกิดสักที บุรุษนั้นก็เกิดความขี้เกียจแล้วก็หยุดพัก แล้วจึงลองสีอีกนิด แล้วก็หยุดพัก ความร้อนที่พอมีอยู่บ้าง ก็หายไปล่ะซิ เพราะความร้อนมันไม่ติดต่อกัน
ถ้า ทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้เหนื่อยก็หยุด มีแต่เหนื่อยอย่างเดียว ก็พอได้ แต่มีขี้เกียจปนเข้าด้วย เลยไปกันใหญ่ แล้วบุรุษนั้นก็หาว่าไฟไม่มี ไม่เอาไฟ ก็ทิ้ง เลิกไม่สีอีก แล้วก็ไปเที่ยวประกาศว่า ไฟไม่มี ทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีไฟหรอก เขาได้ลองทำแล้วก็จริงเหมือนกันที่ได้ทำแล้ว แต่ทำยังไม่ถึงจุดของมัน คือความร้อนยังไม่สมดุลกัน ไฟมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งที่ความจริงไฟมันก็มีอยู่ อย่างนี้ก็เกิดความท้อแท้ขึ้นในใจของผู้ปฏิบัตินั้นก็ละอันนี้ไปทำอันโน้น เรื่อยไป อันนี้ฉันใดก็ฉันนั้น
(http://media-cache-ec0.pinimg.com/236x/f1/f5/db/f1f5dbf8d567a122e20739b4e03df32a.jpg)
อารมณ์ กรรมฐานนี้จะทำจิตให้สงบ เพราะจิตมันวุ่นวายมาไม่รู้กี่ปีกี่ชาติแล้ว ลองนั่งดูเดี๋ยวนี้ก็ได้อาการวุ่นวายจะเกิดขึ้นทันที มันจะไม่ยอมให้เราสงบ ฉะนั้นท่านจึงให้หาอารมณ์กรรมฐาน อารมณ์อันใดถูกใจถูกจริตของเรา ท่านให้พิจารณาอันนั้น เช่นเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่านให้พิจารณากลับไปกลับมา เมื่อทำอย่างนี้ บางคนพิจารณาตโจ หนัง รู้สึกพิจารณาได้สบายเพราะถูกจริต ถ้าอันใดถูกจริตของเรา อันนั้นก็จะเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา สำหรับปราบกิเลสทั้งหลายให้มันเบาบางลง
บาง คนมีความโลภ โกรธ หลง อย่างแรงกล้า ก็ไม่มีอะไรจะปราบเจ้ากิเลสนี้ได้ พอพิจารณามรณสติ คือ การระลึกถึงความตายอยู่บ่อยๆ ก็เกิดความสลดสังเวชเพราะว่า จนมันก็ตาย รวยมันก็ตาย ดีมันก็ตาย ชั่วมันก็ตาย อะไรๆ มันก็ตายหมดทั้งนั้น ยิ่งพิจารณาไป จิตใจก็ยิ่งเกิดความสลดสังเวช พอนั่งสมาธิก็สงบได้ง่ายๆ เพราะมันถูกจริตของเรา
อารมณ์ ของสมถกรรมฐานนี้ ถ้าไม่ถูกจริตของเรา มันก็ไม่สลด ไม่สังเวช อันใดที่ถูกกับจริต อันนั้นก็จะประสบบ่อยๆ มีความรู้สึกนึกคิดในอาการนั้นบ่อยๆ แต่เราไม่ค่อยจะได้สังเกต จึงควรสังเกตเพื่อให้ได้ประโยชน์ เปรียบเหมือนกับอาหารที่เขาจัดมาให้สำรับหนึ่ง มันก็มีหลายอย่าง เราก็ชิมไปทุกถ้วยทุกอย่างนั่นแหละ แล้วก็จะรู้เองว่า อาหารอย่างไหนที่เราชอบอย่างไหนที่เราไม่ชอบ อย่างไหนชอบก็ว่ามีรสชาติอร่อยกว่าอย่างอื่น นี่พูดถึงอาหาร
นี่ ก็เทียบให้เห็นกับจริตของคนเรา กรรมฐานที่ถูกจริตมันก็สบาย อย่างอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้าถูกจริตแล้วก็สบาย ไม่ต้องไปเอาอย่างอื่น พอนั่งลงก็กำหนดลมหายใจเข้าออก ก็เห็นชัด ฉะนั้นก็เอาของใกล้ๆ นี่ดีกว่า กำหนดลมหายใจให้มันเข้า มันออกอยู่นั้นแหละ ดูมันอยู่ตรงนั้นแหละ ดูไปนานๆ ทำไปเรื่อยๆ จิตมันจะค่อยวาง สัญญาอื่นๆ มันก็จะห่างกัน ออกไปเรื่อยๆ เหมือนคนเราที่อยู่ห่างไกลกัน การติดต่อก็น้อย
เมื่อ เราสนใจอานาปานสติ มันก็จะง่ายขึ้น เราทำบ่อยๆ ก็จะชำนาญการดูลมขึ้นตามลำดับ ลมยาวเป็นอย่างไร เราก็รู้ ลมสั้นเป็นอย่างไร เราก็รู้ แล้วก็จะเห็นว่า ลมที่เข้าออกนี้ มันเป็นอาหารอย่างวิเศษ มันจะค่อยติดตามไปเองของมันทีละขั้น จะเป็นว่ามันเป็นอาหารยิ่งกว่าอาหารทางกายอย่างอื่น
จะ นั่งอยู่ก็หายใจ จะนอนอยู่ก็หายใจ จะเดินไปก็หายใจ จะนอนหลับก็หายใจ ลืมตาขึ้นก็หายใจ ถ้าขาดลมหายใจนี้ก็ตาย แม้แต่นอนหลับอยู่ ก็ยังต้องกินลมหายใจนี้ พิจารณาไปแล้วเลยเกิดศรัทธา เห็นว่าที่เราอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะอันนี้เอง ข้าวปลาอาหารต่างๆ ก็เป็นอาหารเหมือนกัน แต่เราไม่ได้กินมันทุกเวลานาที เหมือนลมหายใจ ซึ่งจะขาดระยะไม่ได้ ถ้าขาดก็ตาย ลองดูก็ได้ ถ้าขาดระยะสัก 5 – 10 นาที มันจวนจะตายไปแล้ว
นี่พูดถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ปฏิบัติ มันจะรู้ขึ้นมาอย่างนี้แปลกไหม? แปลก ซิ ซึ่งถ้าหากไม่ได้พิจารณาตามลมหายใจอย่างนี้ ก็จะไม่รู้สึกว่ามันเป็นอาหารเหมือนกัน จะเห็นก็แต่คำข้าวเท่านั้นที่เป็นอาหาร ความจริงมันก็เป็น แต่มันไม่อิ่มเท่ากับอาหารลมหายใจ
อัน นี้ ถ้าเราทำไปเรื่อย ให้เป็นปฏิปทาอย่างสม่ำเสมอ ความคิดมันจะเกิดอย่างนี้ จะเห็นต่อไปอีกว่า ที่ร่างกายเราเคลื่อนไหวไปได้ ก็เพราะลมอันนี้ ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งเห็นประโยชน์ของลมหายใจยิ่งขึ้น แม้ลมจะขาดจากจมูก เราก็ยังหายใจอยู่ แล้วลมนี้ยังสามารถออกตามสรรพางค์กายก็ได้ เราสงบนิ่งอยู่เฉยๆ ปรากฏว่าลมมันไม่ออก ลมมันไม่เข้า แต่ว่าลมละเอียดมันเกิดขึ้นแล้ว
ฉะนั้น เมื่อจิตของเราละเอียดถึงที่สุดของมันแล้ว ลมหายใจก็จะขาด ลมหายใจไม่มี เมื่อถึงตรงนี้ท่านบอกว่า อย่าตกใจ แล้วจะทำอะไรต่อไป? ก็ให้กำหนดรู้อยู่ตรงนั้นแหละ รู้ว่าลมไม่มีนั่นแหละ เป็นอารมณ์อยู่ต่อไป
พูด ถึงเรื่องสมถกรรมฐาน มันก็คือความสงบอย่างนี้ ถ้ากรรมฐานถูกจริตแล้ว มันเห็นอย่างนี้ มันเห็นอย่างนี้แหละ ถ้าเราพิจารณาอยู่บ่อยๆ มันก็จะเพิ่มกำลังของเราอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับน้ำในโอ่ง พอจะแห้งก็หาน้ำเติมลงไปอยู่เรื่อย
ถ้า ทำสม่ำเสมออยู่อย่างนี้มันจะกลายเป็นปฏิปทาของเรา ทีนี้ก็จะได้รับความสบาย เรียกว่าสงบ สงบจากอารมณ์ทั้งหลาย คือมีอารมณ์เดียว คำว่ามีอารมณ์เดียวนั้นพูดยากเหมือนกัน ความเป็นจริง อาจมีอารมณ์อื่นแทรกอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีความสำคัญกับเรา มันเป็นอารมณืเดียวอยู่อย่างนี้
แต่ ให้ระวัง เมื่อความสงบเกิดขึ้นมา แล้วมีความสบายเกิดขึ้นมาก ระวัง มันจะติดสุข ติดสบายแล้วเลยยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นถ้าหากเกิดความคิดขึ้นมา ให้พิจารณาว่า ความสุขนี้ก็ไม่เที่ยง ความสบายนี้ก็ไม่เที่ยงหรือความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความที่เป็นยังงั้นๆ มันก็ไม่เที่ยง จึงอย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย
ความ รู้สึกอย่างนั้นมันเกิดขึ้นมา เพราะปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นสภาวะของทั้งหลายเป็นอย่างนั้น เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็เหมือนคลายเกลียวน้อตให้หลวมออก ไม่ให้มันตึง เมื่อก่อนมันตึงมันแน่น ความรู้สึกของเราที่มองก็เช่นกัน สมัยก่อนมองเห็นอันนั้นก็แน่นอน อันนี้ก็แน่นอน มันเลยตึง มันก็เป็นทุกข์ พอไม่ยึดมั่นถือมั่น เห็นสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน มันก็คลายเกลียวออกมา
เรื่อง ความเห็นนี้เป็นเรื่องของทิฐิ เรื่องความยึดมั่นถือมั่น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามานะ ท่านจึงสอนว่าให้ลดทิฐิมานะลงเสีย จะลดได้อย่างไร? จะลดได้ก็เพราะเห็นธรรม เห็นความไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง อะไร?ก็ ไม่เที่ยงทั้งนั้น เมื่อเราเห็นอย่างนั้น อารมณ์ทั้งหลายที่เรากระทบอยู่ มันก็จะค่อยๆหมดราคา หมดราคาไปมากเท่าไร ก็บรรเทาความเห็นผิดไปได้เท่านั้น นี้เรียกว่า มันคลายน้อตให้หลวมออกมา มันก็ไม่ตึง
อุปาทาน ก็จะถอนออกมาเรื่อยๆ เพราะเห็นชัดในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสกลร่างกายนี้ หรือในรูปนามนี้ ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะเกิดความเบื่อ คำว่า “เบื่อ” ไม่ ใช่เบื่ออย่างที่คนเขาเบื่อกัน คือเบื่ออย่างที่ไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น ไม่อยากพูดด้วย เพราะไม่ชอบมัน ถ้ามันเป็นอะไรไป ก็ยิ่งนึกสมน้ำหน้า ไม่ใช่เบื่ออย่างนี้ เบื่ออย่างนี้เป็นอุปาทาน เพราะความรู้ไม่ทั่วถึง แล้วเกิดความอิจฉาพยาบาท เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรียกว่า “เบื่อ” นั่นเอง
“เบื่อ” ใน ที่นี้ ต้องเบื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คิดเบื่อโดยไม่มีความเกลียด ไม่มีความรัก หากมีอารมณ์ชอบใจหรือไม่ชอบใจอันใดเกิดขึ้นมา ก็เห็นทันทีว่ามันไม่เที่ยง “เบื่อ” อย่างนี้ จึงเรียกว่า “นิพพิทา” คือ ความเบื่อหน่ายคลายจากความกำหนัดรักใคร่ ในอารมณ์อันนั้น ไม่ไปสำคัญมั่นหมายในอารมณ์เหล่านั้นทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นและไม่ไปสำคัญมั่นหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด
พระพุทธเจ้าท่านสอนต่อไปอีกว่า ให้รู้จักทุกข์ให้รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ให้รู้ความดับทุกข์ ให้รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านให้รู้ของสี่อย่างนี้เท่านั้น ทุกข์เกิดขึ้นมาก็ให้รู้ว่า นี่ตัวทุกข์ แล้วทุกข์นี้มาจากไหน มันมีพ่อแม่เหมือนที่เราเกิดมาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นมาลอยๆ เมื่ออยากจะให้ทุกข์ดับ ก็ไปตัดเหตุของมันเสียที่ทุกข์มันเกิด ก็เพราะไปยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ฉะนั้นจึงให้ตัดเหตุของมันเสีย
การ รู้จักดับความทุกข์ ก็ให้คลายเกลียวที่แน่นนั้นออกเสีย ให้เห็นโทษของอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ถอนตัวออกมาเสีย รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือมรรค ให้ปฏิบัติให้ตลอด ตั้งแต่สัมมาทิฐิ ไปจนถึงสัมมาสมาธิ ให้มีความเห็นให้ถูกต้องในมรรคทั้งแปดข้อนี้ ถ้ามีความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นชอบ ในสิ่งทั้งหลายนี้แล้ว ก็จะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราก็จะพ้นจากความทุกข์ ข้อปฏิบัตินั้นคือสมาธิปัญญา
เรื่องของจิตใจหรือธรรมชาติของจิต จะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องรู้และเห็นสิ่งทั้งสี่ประการ (อริยสัจจ์ 4) นี้ ให้ชัดเจน ตามความเป็นจริงของมัน เพราะมันเป็นสัจจธรรม จะมองไปข้างหลัง ข้างหน้า ข้างขวา ข้างซ้าย มันก็เป็นสัจจธรรมทั้งนั้น ดังนั้น ผู้บรรลุธรรม จะไปนั่งที่ไหนหรือไปอยู่ที่ใด ก็จะมองเห็นธรรมอยู่ตลอดเวลา
(http://media-cache-ec0.pinimg.com/236x/02/6c/fc/026cfcff3eaf9dbd687e97d0eb601054.jpg)
ขอบพระคุณที่มาจาก : http://www.baanjomyut.com/pratripidok/cha/13.html (http://www.baanjomyut.com/pratripidok/cha/13.html)
miracle of love
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ