เลือดสุพรรณ (http://www.oknation.net/blog/chai/2008/04/16/entry-1)
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/239/239/images/supan3.jpg)
บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินเสียงเพลง "ไปด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณของเรานี่เอ๋ย.."
ความหมายของเพลงนี้ แสดงถึง"ความสามัคคี" แต่อาจจะมีหลายคนสงสัยว่าทำไมต้อง"สุพรรณ"
คำตอบก็คือ ที่มาที่ไปของทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็มาจาก"ละครอิงประวัติศาสตร์"เรื่อง"เลือดสุพรรณ"นั่นเอง
ความจริงแล้ว "เลือดสุพรรณ"เป็นบทละครอิงประวัติศาสตร์ ซึ่ง(รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามให้) พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ประพันธ์ขึ้น และถูกนำออกแสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2479 ในรูปละครแบบผสม คือมีทั้งบทพูดแบบละครพูด มีทั้งการรำแบบละครรำ มีเพลงร้องทั้งเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากล
เป้าหมายเดียวของละครเรื่องนี้คือ"ปลุกใจให้รักชาติ" โดยยึดแบบ"พิมพ์นิยม"คือเป็นเรื่องในสงครามไทย-พม่า โดยเรียกนโยบายนั้นว่า "ปลูกต้นรักชาติ" ขึ้นในหัวใจประชาชน โดยหลวงวิจิตรวาทการ ได้ประพันธ์ละครประวัติศาสตร์ และเพลงที่เป็นบทปลุกใจให้รักชาติขึ้นในระยะเวลาติดต่อกันหลายเรื่อง อาทิ น่านเจ้า เลือดสุพรรณ ราชมนู พระเจ้ากรุงธน อานุภาพแห่งความรัก ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี
นอกจากละครเวทีแล้ว "เลือดสุพรรณ"เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2494 และล่าสุดคือพ.ศ. 2522 โดยเชิด ทรงศรี กำกับ ส่วนผู้แสดงคือ ไพโรจน์ สังวริบุตร และลลนา สุลาวัลย์
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ลลนา สุลาวัลย์ ได้รับการเสนอชื่อ 1 ใน 5 เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี ปี 2524
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/239/239/images/supan1.jpg)
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/239/239/images/supan.jpg)
สำหรับบทประพันธ์เรื่อง"เลือดสุพรรณ"เป็นเหตุการณ์สมัยอยุธยา โดยเหตุเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองสุพรรณบุรี เป็นยามฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านต่างจึงจัดงานรื่นเริงสนุกสนาน เพราะเชื่อว่าพม่าคงไม่ยกทัพเข้ามาในช่วงน้ำหลากนี้
ราตรีหนึ่ง "ดวงจันทร์" ลูกสาวของนายดวงและนางจันทร์ ก็ถูกชายแปลกหน้าบุกฉุดคร่าไป แต่หญิงสาวก็โชคดีที่มีบุรุษลึกลับเข้ามาช่วยไว้ได้ทัน แต่ในระหว่างพาหนี ดวงจันทร์ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าแพลง จึงต้องพักรักษาอยู่ที่กระท่อมกลางทาง
ดวงจันทร์ทราบถึงชายหนุ่มที่ช่วยเธอไว้ก่อนที่จะมีชาวบ้านมาพบและนำตัวกลับไปสู่อ้อมอกพ่อแม่ว่าชื่อ"ทับ" เป็นทหารไทยมาสอดแนมข้าศึก
ไม่นานจากนั้น เพราะความประมาทและชะล่าใจของชาวบ้าน ทำให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดเมืองได้อย่างง่ายดาย ชาวบ้านถูกฆ่าตายหลายคน รวมทั้งย่าของดวงจันทร์ ขณะที่หญิงสาวจำนวนมากถูกฉุดไปข่มขืน
หนึ่งในเชลยสาวที่ถูกทหารพม่าฉุดไปให้"มังระโธ" นายกองปีกขวา เป็นเพื่อนของดวงจันทร์ แต่ถูกขัดขวางโดย"มังราย" บุตรชายของ"มังมหาสุรนาท" แม่ทัพใหญ่ศึกครั้งนี้
ที่ทำให้"ดวงจันทร์" ที่ถูกจับในสภาพของผู้ชายเพราะการปลอมตัวต้องตะลึงก็คือ"มังราย"เป็นคนเดียวกับชายหนุ่มที่บอกว่าชื่อ"ทับ" บุรุษลึกลับที่ดวงจันทร์หลงรักเมื่อช่วยเหลือเธอไว้ในครั้งก่อน
"มังราย"มีสถานะเป็นนายกองปีกซ้ายของกองทัพพม่า "ดวงจันทร์"จึงโกรธแค้นและอาฆาตกับการกระทำของหนุ่มพม่าต่อมาตุภูมิของเธอ
เมื่อชาวสุพรรณบุรีถูกใช้งาน และทารุณอย่างหนัก ทำให้ทุกคนตัดสินใจลุกขึ้นสู้ รวมทั้งดวงจันทร์ที่ปลอมเป็นชาย
ระหว่างการต่อสู้ ทหารพม่าจึงทราบว่า"ดวงจันทร์"เป็นหญิงสาว "มังระโธ"จึงเข้าปลุกปล้ำ แต่ถูก"มังราย"ขัดขวางและต่อสู้ ทำให้มังระโธพ่ายแพ้ไป
แม้ใจหนึ่งจะเกลียด"ศัตรู" แต่ลึกๆดวงจันทร์แม้จะพยายามหักห้ามใจไม่ให้คิดถึงมังรายก็ทำไม่ได้ เธอจึงแอบไปโบสถ์ร้างเพื่อภาวนาให้ตนมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่รักศัตรู แม้เขาจะทำดีอย่างไรก็ตาม
บังเอิญมังรายมาพบเข้า และปรับความเข้าใจกันได้ มังรายปล่อยให้ดวงจันทร์หนี แต่เธอไม่ยอมเพราะไม่อยากทิ้งพ่อและแม่ไว้ เธอจึงย้อนกลับเข้าค่ายเพื่อช่วยพ่อแม่ แต่เป็นเวลาเดียวกับที่มังระโธกลับมาทารุณพ่อกับแม่ของเธอ จนนางจันทร์เสียชีวิต
มังรายรู้สึกสงสาร และหดหู่ในการกระทำของพวกตน จึงตัดสินใจปล่อยเชลยไปทั้งหมด
"มังระโธ" นำเรื่องที่เกิดขึ้นฟ้อง"มังมหาสุรนาท" ในการกระทำของบุตรชาย ซึ่งมังรายชี้แจงถึงการกระทำของตนว่าทำเพื่อรักษาเกียรติของกองทัพพม่าไม่ให้กระทำตัวเช่นกองโจร
ทหารชั้นผู้ใหญ่พม่าประชุมกันและลงความเห็นว่ามังระโธผิดจริง จึงตัดสินให้ประหารมังระโธ แต่มังระโธ เรียกร้องให้มังมหาสุรนาท ประหารมังรายด้วย เพราะมีความผิดฐานปล่อยเชลย
เพื่อรักษาวินัยและความเป็นชายชาติทหาร มังมหาสุรนาทจึงตัดสินให้ประหารมังราย บุตรชายของตนด้วย
เมื่อดวงจันทร์ทราบข่าว จึงกลับมาพร้อมขอให้มังมหาสุรนาทประหารเธอแทน เพราะเธอคือต้นเหตุให้มังรายปล่อยเชลยทั้งหมด แต่มังมหาสุรนาทไม่ยอม มังราย จึงถูกประหารชีวิตในที่สุด
ส่วนดวงจันทร์ เมื่อได้รับอิสระก็สมทบกับดวง ผู้เป็นพ่อและเชลยคนอื่นๆประกาศ"สู้ตาย"กับกองทัพหม่า และชาวบ้านทั้งหมดสู้กับพม่าจนตัวตาย
"มังมหาสุรนาท" ที่ได้รับชัยชนะยอมรับและยกย่องต่อการศึกของชาวบ้านว่า "คนไทยเหล่านี้ต่างก็รู้อยู่แล้วว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็พร้อมใจกันมาสู้จนตาย สมแล้วที่เกิดมาในสายเลือดของเลือดสุพรรณ"
เลือดสุพรรณ (http://www.youtube.com/watch?v=rQfkR3ne4Ms#)