ใต้ร่มธรรม
อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี => มาลาบูชาครู => สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก => ข้อความที่เริ่มโดย: lek ที่ พฤษภาคม 07, 2011, 07:55:31 pm
-
คำคมที่ว่า "ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะตน"
ผลเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่...
อ่านคำตอบในเนื้อหาดังต่อไปนี้...
"ชีวิตลิขิตได้ ด้วยตนเอง" บทนิพนธ์ใน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก...
หนังสือเทิดพระเกียรติคุณสังฆราช
ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา
มูลนิธิจิตอิ่มบุญบารมี จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการส่งเสริม
และสนับสนุนสันติสุขให้บังเกิดมีแก่สังคมทุกระดับ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา
ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การอ่านหนังสือธรรมะ
จะสำเร็จประโยชน์ เกิดความรู้ความเข้าใจนั้น ผู้อ่านควรอ่านแบบ
โยนิโสมนสิการ คือ อ่านอย่างมีสติ ค่อยๆคิด ค่อยๆอ่าน ไม่ต้องรีบร้อน
ถ้ายังไม่เข้าใจก็อ่านใหม่ อ่านหลายๆรอบ ปัญญาจักคมขึ้น สามารถเข้าใจ
ธรรมะได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เปรียบเหมือนการเคี้ยวอาหาร ต้องค่อยๆเคี้ยว
ค่อยๆขบ ยิ่งเคี้ยวนาน เคี้ยวให้ละเอียด รสชาติก็ยิ่งโอชากลมกล่อม
ก่อคุณประโยชน์แก่ร่างกายอย่างเต็มที่
"อ่านสิบรอบ คิดสิบหน ฝึกฝนปัญญา ฉลาดใช้ เฉลียวคิด ชีวิตสนุก สุข สงบ เย็น"
การให้ธรรรม ชนะการให้ทั้งปวง ผู้ให้ธรรมทั้งด้วยการให้หนังสือธรรม และทั้งปฏิบัติ
ด้วยตนเองให้ปรากฎเป็นแบบอย่างที่ดีงาม เป็นแบบอย่างของสัตบุรุษ กล่าวว่า
เป็นผู้ให้เหนือกว่าการให้ทั้งปวง เพราะการพยายามช่วยให้คนเป็นผู้มีธรรม
ก็เท่ากับพยายามช่วยคนบนดินคือต่ำเตี้ยให้เข้าใกล้ฟ้าคือสูงส่ง พูดง่ายๆว่า
ช่วยคนให้เป็นคนดีนั้นเอง ....พระวรคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวรฯ
คติทางพระพุทธศาสนามีอยู่ว่า ทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนเป็นไปตามอำนาจของบุญและบาป
เป็นผลมาจากการกระทำที่เรียกว่า กรรม...ผลของกรรมดีเรียกว่าบุญ เช่น
บุคคลหนึ่งเกิดมาในตระกูลเศรษฐี มีผิวพรรณผ่องใส อยากได้อะไรก็ได้ดังใจนึก
เรียกคนเช่นนี้ว่า คนมีบุญ ส่วนผลของกรรมชั่วนั้นเรียกว่าบาป เช่น คนบางคนพอเกิดมา
ก็มีร่างกายพิกลพิการ เรียกคนเช่นนี้ว่า คนมีบาป หรือคนมีกรรมเป็นต้น
พระนิพนธ์เรื่องนี้ทรงมุ่งสอนให้คนเรานั้น ตระหนักถึงผลของกรรมดีและกรรมชั่วว่าจะส่งผล
ต่อชีวิตของผู้ทำแตกต่างกันอย่างไร และทรงย้ำว่าสิ่งต่างๆที่แต่ละคนประสบพบผ่านนั้น
ล้วนแล้วเกิดจากกรรมคือการกระทำของเขาเองทั้งสิ้น ดังความตอนหนึ่งในบทพระนิพนธ์ว่า
"อันเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น นับว่าเป็นกรรมของคน หมายความว่า การที่คนทำขึ้น
และไม่ใช่ว่ากรรมเก่าอะไรที่คนไม่รู้ แต่เป็นกรรมคือการกระทำที่รู้ๆกันอยู่นี่แหละ เมื่อก่อขึ้น
ด้วยกิเลสก็เป็นเหตุทำลายล้าง เมื่อก่อขึ้นด้วยธรรมก็เป็นเหตุเกื้อกูลให้มีความสุข
ในฐานะเช่นนี้ผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ย่อมใช้ศรัทธาในกรรม และการให้ผลของกรรม
ทำกรรมที่ผิดไว้ก็ต้องรับผิดต่างๆ ทำกรรมที่ชอบไว้ก็ต้องรับชอบต่างๆ จะเลือกเอาอย่างหนึ่ง
อย่างใดหาได้ไม่"
-
วงจรชีวิต ใครลิขิตให้เราเกิด
อะไรทำให้เราเกิด-ตายไม่รู้จบ
ปัญหาข้อหนึ่งที่คนชอบตั้งคำถามกัน
ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาจนถึงทุกวันนี้
คือ ตายเกิด หรือ ตายสูญ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ความจริงในข้อนี้
จึงสิ้นปัญหาในสิ่งที่รู้แล้ว ดังที่ได้ตรัสว่า
กรรม เป็นเหมือนนา (กมฺมํ เขตฺต์)
วิญญาณ เป็นเหมือนพืชที่หว่านลงในนา (วิญฺญานํ พีชํ)
ตัณหา เป็นเหมือนยางเหนียวมีอยู่ในพืช อันจะทำให้พืชนั้น
ปลูกงอกงามขึ้นได้* (ตณฺหา สิเนโห)
เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีกรรม วิญญาณและ
ตัณหาอยู่ ก็ยังจะต้องไปเกิดในภพต่างๆ
*ในคัมภีร์อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ติกนบาต นวสูตร
พระอรรถกถาจารย์(อาจารย์ผู้แต่งหนังสืออธิบายความบาลี
ในพระไตรปิฏก) อธิบายเรื่องความเกิดขึ้นในภพภูมิต่างๆ
ของสัตว์โลกไว้ว่า "กรรม คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรม
เป็นเหมือนนา เพราะเป็นสถานที่เกิดขึ้นแห่งร่างกายเพื่อรับผลกรรม,
วิญญาณ คือ อภิสังขารวิญญาณที่เกิดพร้อมกับกรรม เป็นเหมือนพืช
เพราะเป็นเหตุให้เกิดขึ้น, ตัณหา คือ ความอยาก เป็นเหมือนยางเหนียว
เพราะเป็นเครื่องผูกใจสัตว์ให้ติดอยู่ในภพ ทำให้การเกิดในภพใหม่ยังมีอยู่ต่อไป"
จากคำอธิบายสรุปได้ว่า เราเกิดมาได้ด้วยอำนาจของตัณหาความอยากในใจของเราเอง
เพราะเมื่อตัณหาเกิดขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้ทำกรรมต่างๆดีบ้าง ชั่วบ้าง เมื่อชีวิตนี้
สิ้นสุดลงก็จะชักนำวิญญาณให้ไปปฏิสนธิใหม่เพื่อรับผลของกรรมที่ทำไว้ ท่านจึงเปรียบ
ตัณหาว่าเป็นเหมือนยางเหนียวที่ยึดเอาความเกิดในภพชาติต่อๆไปอย่างไม่สิ้นสุด
แต่พระอรหันต์ที่ท่านหมดตัณหาคือหมดยางเหนียวแล้ว จึงไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
(เสริมสาระโดย ไพยนต์ กาสี คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง)
-
เราเกิดมาจาก 3 พร้อม
ในการเกิด หมายถึง ในการตั้งครรภ์ของมารดานั้น
ได้มีกล่าวไว้ว่า เพราะประชุมแห่งองค์3 จึงมีการตั้งครรภ์ คือ
1. มารดา บิดา สันนิบาต หมายความว่า อยู่ด้วยกัน
2. มารดามีระดู หมายความว่า ในระดู
3. คันธัพพะ ท่านอธิบายว่า สัตว์ผู้เข้าถึงครรภ์ คือสัตว์ผู้จะเกิดปรากฎ
เพราะความประชุมแห่งองค์3 เหล่านี้ ครรภ์จึงตั้งขึ้น
มารดาบริหารครรภ์ 9-10 เดือนก็คลอดบุตร
และโดยปกติก็เลี้ยงด้วยโลหิตคือน้ำนมของตน
องค์ที่3 น่าจะเป็นปัญหาที่วิชาการแพทย์ในปัจจุบัน
ไม่อาจอธิบายได้ เพราะเป็นเรื่องทางวิญญาณจิตใจโดยตรง
กำเนิดของมนุษย์ คัมภีร์สุตตันตปิฏก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
ว่ามีองค์ประกอบอยู่ 3 ประการ คือ
1. บิดามารดาอยู่ร่วมกัน คือ มีการสมสู่กันระหว่างชายกับหญิงผู้เป็นพ่อแม่
2. มารดามีระดู คือ มีการตกไข่ขึ้นในครรภ์ของแม่ (และมีสเปิร์มของพ่อไปผสม)
3. สัตว์ที่จะมาเกิดในครรภ์ คือ ปฏิสนธิวิญญาณปรากฎ
องค์ประกอบที่3 พระเดชพระคุณพระธรรมวิสุทธิกวี(พิจิตร ฐิตวณฺโณ) ท่านอธิบายไว้
ในหนังสือตายแล้วไปไหน หน้า10 ความว่า "มีสัตว์มาเกิด หมายถึง มีจุติจิต
หรือจุติวิญญาณ เคลื่อนมาปฏิสนธิจึงเกิดเป็นปฏิสนธิวิญญาณขึ้น และปฏิสนธิวิญญาณ
นี้เอง เป็นจิตดวงแรกที่เกิดในชาติใหม่ และจัดเป็นส่วนนามที่สืบต่อมาจากภพชาติก่อนๆ
โดยนำเอาบุญ บาป กรรม กิเลสติดมาด้วย" องค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี้จะขาดข้อใด
ข้อหนึ่งไม่ได้ มิเช่นนั้นจะไม่มีการเกิดขึ้นของชีวิตได้เลย (เสริมสาระโดยไพยนต์ กาสี)
-
เราสร้างความอยากเอง=เราสร้างความเกิดใหม่อีก
ทางพระพุทธศาสนา ปัญหาเรื่องตายแล้วเกิดใหม่อีกหรือไม่
เป็นเรื่องประกอบเท่านั้น เพราะมุ่งสอนให้คนละความไม่ดี
ให้ทำความดีในชาตินี้ แต่ส่วนมากก็อดสงสัยมิได้ในเรื่องเกิดตาย
และกล่าวได้ว่า ส่วนมากเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก
สรุปความในตอนนี้ว่า เรื่องตาย เกิดหรือไม่เกิด ใครจะเชื่อหรือไม่
อย่างไร ไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ความจริงเป็นอย่างไร
ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิด ปัญหาจึงมีว่า ใครจะเป็นผู้บอกได้
จะรู้จริงได้อย่างไร...ตอบได้ว่า ผู้บอกมีอยู่แล้ว คือ พระพุทธเจ้า
ท่านตอบไว้ในหลักอริยสัจสี่ ถอดความมาสั้นๆว่า
มีตัณหา(ความอยาก) ก็มีชาติ(ความเกิด) สิ้นตัณหา ก็สิ้นชาติ"
แต่จะรู้จริงด้วยตนเองได้นั้น มีผู้แนะว่าต้องทำสมาธิจนได้ดวงตาชั้นใน
มองเห็นความจริงได้ด้วยตนเอง จึงจะสิ้นสงสัย ถ้ายังไม่ได้ดวงตาชั้นใน
อย่างดีก็ต้องอาศัยศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าไปก่อน...
ในครั้งพุทธกาล มีแม่ทัพใหญ่ผู้หนึ่งชื่อ ท่านสีหะ ไปเฝ้ากราบทูลถามว่า
จะทรงอาจบัญญัติแสดงผลทานที่มองเห็นได้ในปัจจุบันได้หรือไม่...
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ได้ คือ เป็นที่รักของชนมาก, เป็นที่คบหาของคนดี,
มีเสียงพูดถึงในทางดีงาม, กล้าเข้ามาหมู่คนชั้นต่างๆ, ตายไปสุคติ(ไปดี)โลกสวรรค์
ท่านแม่ทัพสีหะกราลทูลว่า 4 ข้อต้น ไม่ต้องถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า
เพราะรู้ได้ด้วยตนเอง ส่วนข้อหลังไม่รู้ แต่ก็ถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้าในข้อนั้น
ท่านแม่ทัพเป็นทหาร ทราบทูลตรงๆ รู้ว่ารู้ ไม่รู้ว่าไม่รู้ แต่ก็มีศรัทธาต่อพระพุทธองค์มั่นคง
ฉะนั้น ถึงไม่รู้ แต่มีผู้รู้เป็นผู้นำทาง และมีความเชื่อฟังผู้รู้ ก็ย่อมเดินถูกทางแน่
เราเกิดมาทำไม
ตอบปัญหานี้ได้ต้องอาศัยการอนุมานและการศึกษา
เราเกิดมาทำไม ปัญหานี้ถ้าตั้งขึ้นคิด ก็น่าจะจน
เพราะขณะเมื่อทุกคนเกิดนั้น ไม่มีใครรู้
มารู้เมื่อเกิดมาและพอรู้เดียงสาแล้วว่า
มีตัวเราขึ้นคนหนึ่งในโลก
แต่ทุกๆคนย่อมมีความไม่อยากตาย กลัวความตาย
อยากจะดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน นอกจากนี้
ยังมีความอยากในสิ่งต่างๆอีกมากมาย คล้ายกับว่า
ความที่ต้องเกิดมานี้ ไม่อยู่ในอำนาจของตนเอง
มีอำนาจอย่างหนึ่งทำให้เกิดมา ตนเองจึงไม่มีอำนาจ
หรือไม่มีส่วนที่จะตั้งวัตถุประสงค์แห่งความเกิดของตนว่า
เกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ดูล้ายๆกับจะเป็นดังที่ว่ามานี้ ที่ว่าดูคล้ายๆก็เพราะความไม่รู้
หรือจะเรียกว่า "อวิชชา" ก็น่าจะได้
แต่ถ้าจะยอมจำนนต่อความไม่รู้ก็ดูจะมักง่ายมากไป
น่าจะลองทำตามหลักอันหนึ่งที่ว่า อนุมาน และศึกษา
คือสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาก็รู้ได้ง่าย แต่สิ่งที่ไม่ประจักษ์
แก่สายตาก็ใช้อนุมาน โดยอาศัยการสันนิษฐานและ
ใช้การศึกษาในถ้อยคำของท่านผู้ตรัสรู้
-
เกิดมาเพื่อสนองความอยาก
และสนองกรรมของตนเอง
พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ได้ตรัสไว้แปลความว่า
"ตัณหา(ความอยาก)ยังคนให้เกิด" และว่า
"โลก คือ หมู่สัตว์ ย่อมเป็นไปตามกรรม"
ลองอนุมานดูตามคำของท่านผู้ตรัสรู้นี้
ดูตามความอยากในกระแสปัจจุบันก่อนว่า
สมมติว่า อยากเป็นผู้แทนราษฎร ก็สมัครรับเลือกตั้ง
และทำการหาเสียง เมื่อได้ชนะคะแนน ก็ได้เป็น
นี้คือ ความอยาก เป็นเหตุให้ทำกรรม คือ ทำการต่างๆ
ตั้งต้นแต่การสมัคร การหาเสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุ
ให้ได้รับผล คือได้เป็นผู้แทน หรือแม้ไม่ได้เป็น ถ้าจะ
ตัดตอนเอาเฉพาะความเกิดมาในช่วงแห่งชีวิตตอนนี้
ก็จะตอบปัญหาข้างต้นนั้นได้ว่า "เกิดมาเพื่อเป็นผู้แทน"
ตัวอย่างนี้เป็นรายละเอียดเฉพาะเรื่อง ถ้าจะตอบให้
ครอบคลุมทั้งหมดก็ควรจะตอบได้ว่า
"เกิดมาเพื่อสนองความอยาก และสนองกรรมของตนเอง"
ทุกคนมีความอยากฝังในจิตสันดาน
แต่การกล่าวดังนี้ เป็นการกล่าวครอบคลุมทั้งหมด
เหมือนอย่างที่เรียกกันว่า พูดอย่างกำปั้นทุบดิน
เพราะยังอาจกล่าวจำแนกออกไปได้อีกหลายลักษณะ
หลายประการ และถ้าจะแย้งว่า ตอบอย่างนั้นมันพอฟังได้
สำหรับกระแสชีวิตปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดมาทีแรกยังมองไม่เห็น
เพราะไม่รู้จริงๆ ถ้าแย้งดังนี้ ก็ต้องตอบว่า ฉะนั้นจึงว่า
ต้องใช้วิธีอนุมานโดยสันนิษฐาน ถ้ารู้จริงแล้วจะต้องอนุมานทำไม
และอาศัยคำของท่านผู้ตรัสรู้เป็นหลัก ดังจะลองอนุมานต่อไปว่า
จริงอยู่ เมื่อเกิดมาไม่รู้ แต่เมื่อรู้ขึ้นแล้ว ก็มีความกลัวตาย
อยากดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน แสดงว่า ทุกคนมีความอยาก
ที่เป็นตัวตัณหานี้ เพราะความตาย เป็นความสิ้นสุดแห่งชีวิต
ในภพชาติอันหนึ่งๆ เมื่อยังมีความอยากดำรงชีวิตอยู่ในจิตสันดาน
ก็เท่ากับความอยากเกิดอีก เพื่อให้ดำรงอยู่ตามที่อยากนั้น
ทั้งต้องเกิดตามกรรม เป็นไปตามกรรม จึงสรุปได้ว่าเราเกิดมา
ด้วยตัณหา คือ ความอยาก และ กรรม เพื่อสนองตัณหาและกรรม
ของตนเอง ตัณหาและกรรมจึงเป็นตัวอำนาจหรือผู้สร้างให้เกิดมา
-
เราคือผู้สร้างอำนาจตัณหา และอำนาจกรรม
ใครเล่าเป็นผู้สร้างตัวอำนาจนี้ ตอบได้ว่า คือ ตนเอง
เพราะตนเองเป็นผู้อยากเอง และเป็นผู้ทำกรรมเอง
จึงกล่าวได้ว่า ตนเองนี้แหละ เป็นผู้สร้างตนเองให้เกิดมา
ผู้ถือทางไสยกล่าวว่า ชีวิตของคนเรานี้ มีพรหมลิขิต คือ
พระพรหมกำหนดเหมือนอย่างเขียนมาเสร็จ ว่าจะเป็นอย่างไร
แต่ผู้ถือทางพุทธมักใช้ว่า กรรมลิขิต คือ กรรมกำหนดมา
โดยผลก็เป็นอย่างเดียวกัน คือ มีสิ่งกำหนดให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
น่าพิจารณาว่า ทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้จริงๆอย่างไร?
ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า "มากตเหตุ อย่าถือว่าเพราะเหตุ
แห่งกรรมที่ได้ทำไว้" คือ อย่าถือว่าทุกๆอย่างที่จะได้รับ มีเพราะ
เหตุแห่งกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว เพราะถ้าถืออย่างนั้น ก็จะไม่ต้องทำ
อะไรขึ้นใหม่ รออยู่เฉยๆอย่างเดียว เพื่อให้กรรมเก่าสนองผลต่างๆ
ขึ้นเอง ถือเอาความดังนี้ ก็เท่ากับไม่ให้ถือกรรมลิขิตนั่นเอง
มีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้น พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องกรรมไว้ทำไม?
พิจารณาดูจะตอบได้ว่า แสดงเรื่องกรรมไว้เพื่อให้รู้ว่า กรรม เป็นเหตุ
ให้วิบาก คือ ผล ตั้งแต่ให้กำเนิดเกิดมา และติดตามให้ผลต่างๆแก่ชีวิต
ทำนองกรรมลิขิตนั่นแหละ
ทุกวันเราต้องมุ่งมั่นสร้างอำนาจกรรมดี
แต่กระบวนการของกรรมที่ทำไว้ มีความสลับซับซ้อนมาก ทั้งเกี่ยวกับเวลา
ที่กรรมให้ผล ข้อสำคัญที่สุด คือ เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคล
ในปัจจุบัน คือ ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ไม่เป็นทาสของกรรมเก่า เช่นเดียวกับ
ให้ไม่เป็นทาสของตัณหา แต่ให้ละกรรมชั่ว กระทำกรรมดี และชำระจิตใจของตน
ให้บริสุทธิ์สะอาดตามหลักพระโอวาท 3 หรือกล่าวโดยทั่วไป มีกิจที่ควรทำ
ก็ทำโดยไม่ต้องนั่งรอนอนรอผลของกรรมเก่าอะไร ความพิจารณาเพื่อให้รู้กรรม
และผลของกรรมนั้น ก็เพื่อให้จิตเกิดอุเบกขา ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหลือที่จะ
ช่วยแก่ทั้งคนที่เป็นที่รักและที่ชัง กับเพื่อจะได้ปฏิบัติตนตามหลักพระโอวาท 3 ข้อนั้น
-
:13: อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับพี่เล็ก
-
เราเกิดมา ตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาทำ
คนเรามีจิตใจที่เป็นต้นเดิมของกรรมทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นกรรมเก่า หรือกรรมใหม่ เพราะจะต้อง
มีจิตเจตนาเกิดขึ้นก่อน แล้วจึงทำกรรมอะไรออกไป
ฉะนั้น จึงสามารถจะทำอธิษฐาน คือ ตั้งใจว่า
จะประสงค์ผลอันใด เมื่อประกอบกรรมให้เหมาะ
แก่ผลอันนั้น ก็จะได้รับความสำเร็จ
ดังนั้น จึงสามารถตอบปัญหาว่า "เราเกิดมาทำไม"
ได้อีกอย่างหนึ่งว่า "เราเกิดมา ตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาทำ"
เป็นอันไม่พ้นจากคำตอบที่ว่า เราเกิดมาเพื่อสนองตัณหา
และกรรมของตนเอง...แต่คนดี ย่อมมีอธิษฐานใจที่ดี
ดังพระโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานพระหทัยเพื่อบำเพ็ญพระบารมีทั้งปวง
ความเกิดของพระองค์ในชาติทั้งหลาย เพื่อบำเพ็ญบารมี คือ
ความดีต่างๆ ให้บริบูรณ์
*บารมี 10 ภาษาธรรมเรียกว่า สมติงสบารมี แปลว่า บารมี 30 ทัศ
โดยท่านจัดลำดับการบำเพ็ญออกเป็น 3 ระดับ คือ
บารมี การทำความดีในระดับสามัญ เช่น ทานบารมี ได้แก่ การให้สมบัตินอกกาย
อุปบารมี การทำความดีในระดับกลาง เช่น ทานอุปบารมี ได้แก่ การให้อวัยวะ
ปรมัตถบารมี การทำความดีในระดับสูง เช่น ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การให้ชีวิต เป็นต้น
เราเกิดมา เพื่อทำความดี
อันที่จริง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะถือว่าตนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญความดีให้มากขึ้น
และสามารถที่จะบำเพ็ญความดีได้
ความสำนึกเข้าใจตนเองไว้ว่า "เราเกิดมาเพื่อทำความดี"
"เราเกิดมาเพื่อเพิ่มพูนปัญญา คือ ความรู้ความฉลาด"
ดังนี้ ย่อมมีประโยชน์ ไม่มีโทษ เพราะจะทำให้ขวนขวายทำความ
คือ ผลของกรรม และกิเลสของตนเอง
แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่ง คือ ความดีที่แต่ละคนได้อบรมสั่งสมมา
อันเรียกว่า บารมี คือ ความดีที่เก็บพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งจะส่งเสริมจิตใจให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง และ ดำเนิน
ไปในทางที่ถูก
*บารมี แปลว่า ปฏิปทาเป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง, ข้อปฏิบัติเป็นไป
เพื่อประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่ หมายถึง คุณความดีที่ได้
บำเพ็ญไว้ในอดีตอย่างยิ่งยวด โดยปกติจะใช้เรียกคุณความดี
ในอดีตของพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญมาอย่างยาวนาน
เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ตัวอย่างการบำเพ็ญ
บารมีที่ได้ยินกันบ่อย เช่น เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก
ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี เป็นต้น
บารมี มี 10 อย่าง คือ ทาน มีใจเอื้อเฟื้อในการให้,
ศีล รักษากายวาจาเป็นปกติ, เนกขัมมะ ดำริออกจากกาม,
ปัญญา ความรู้ทุกอย่างจริงแท้, วิริยะ แน่วแน่พากเพียรทำไป,
ขันติ อดทนได้ในทุกสถานการณ์, สัจจะ ยึดมั่นในความจริง,
อธิษฐาน ไม่ละทิ้งความตั้งใจ, เมตตา ให้ความรักต่อผู้คน,
และอุเบกขา วางตนเป็นกลาง
-
สั่งสมปัญญาบารมี=ลิขิตชีวิตตนให้ได้ดี
ท่านกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล
คือ กุศลจิตและกุศลกรรม ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจนอย่างไร
เพราะมนุษยภูมิ* เป็นผลของกุศล ทุกคนจึงชื่อว่ามีกุศล
หนุนมาให้เกิดด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ชื่อว่า มนุษย์
ที่แปลอย่างหนึ่งว่า ผู้มีใจสูง คือ มีความรู้สูง ดังจะเห็นได้ว่า
คนเรามีพื้นฐานปัญญาสูงกว่าสัตว์เดรัจฉานมากมาย
สามารถรู้จักเปรียบเทียบในความดีความชั่ว ความควรทำ
ไม่ควรทำ รู้จักละอาย รู้จักเกรง รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์สิ่งที่
เรียกว่า "วัฒนธรรม" "อารยธรรม" "ศาสนา"เป็นต้น
แสดงว่า มีความดีที่ได้สั่งสมมา โดยเฉพาะปัญญา เป็น
รัตนะอันส่องแสงสว่างนำทางแห่งชีวิต ถึงดังนั้นก็ตาม
คนเราก็ยังมีความมืดที่มาเกิดกำบังจิตใจ ให้เห็นผิดเป็นชอบ
ความมืด ที่สำคัญนั้นคือ กิเลสในจิตใจ และกรรมเก่างทั้งหลาย**
*การจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ต้องเป็นผู้ได้บำเพ็ญกุศลธรรมคือ
ศีล 5 และกุศลกรรมบถ 10 (ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย 3 อย่างคือ
ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม, ทางวาจา 4 อย่างคือ
ไม่พูดโกหก, ไม่พูดคำหยาบ, ไม่พูดให้เกิดความผิดใจกัน,
ไม่พูดเหลวไหลไร้สาระ, ทางใจ 3 อย่างคือ ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น,
ไม่พยาบาทปองร้ายใคร, มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)
มาแล้วในอดีตชาติ จึงจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
**เพราะเหตุที่คนยังมีกิเลส และกรรมเก่า ท่านจึงได้แบ่งประเภทคน
ออกเป็น 4 ประเภท คือ
-ผู้มืดมาแล้วมืดไป เกิดมาพบกับความลำบากในการดำเนินชีวิต
แต่ก็ยังคิดไม่ได้ว่าเป็นไปตามกรรม เมื่อตายไปก็ย่อมไปสู่ทุคติ
-ผู้มืดมาสว่างไป เกิดมาเหมือนบุคคลข้างต้น แต่มีจิตสำนึกคิดได้ว่า
ตนสร้างกรรมมาไม่ดี ในชาตินี้จึงตั้งมั่นในการทำความดี
-ผู้สว่างมามืดไป เกิดมาในชาตินี้มีความสมบูรณ์พร้อม แต่เกิด
ความประมาทในชีวิตหลงผิดทำชั่ว ต้องพบความหมองมัวทั้งในชาตินี้
และชาติหน้า
-ผู้สว่างมาสว่างไป เกิดมาชาตินี้ก็ดีพร้อมและไม่หยุดหย่อนในการทำดี
ให้ยิ่งๆขึ้นไป มีโอกาสได้เกิดในภพภูมิที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่ามนุษยภูมิ
-
ผู้ปกครองดีดี ช่วยเราสร้างกรรมใหม่ดีดี
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กรรมมี 2 อย่าง คือ
1. ปุราณกรรม ได้แก่ กรรมเก่า
2. นวกรรม ได้แก่ กรรมใหม่
อะไรคือกรรมเก่า ไม่มีอธิบายอื่น จะอธิบายอย่างมองเห็น
เช่น พระพุท่ธาธิบายที่ตรัสไว้ความว่า "กรรมเก่า คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะ(ใจ)" กล่าวคือ ร่างกายที่
ประกอบด้วยอายตนะทั้ง 6 นี้แหละเป็นตัวกรรมเก่า
เป็นกรรมเก่าที่ทุกๆคนมองเห็น
นอกจากนี้ ยังเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งกรรมใหม่ทั้งปวงอีกด้วย
เพราะกรรมที่ทำขึ้นในปัจจุบันจะเป็น กายกรรม วจีกรรม
มโนกรรม ก็อาศัยกรรมเก่านี้แหละ เป็นเครื่องมือกระทำ
ทั้งกรรมเก่านี้ ยังเป็นชนวนให้เกิดเจตนาที่ทำกรรมใหม่ๆทั้งหลายด้วย
อะไรคือกรรมใหม่ ก็ได้แก่ การงานที่ ทำ พูด คิด ด้วยเจตนา
มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะ ตา หู เป็นต้น มิใช่ว่าจะมีไว้เฉยๆ
ต้องดูต้องฟัง แล้วก็ก่อกิเลส เช่น ราคะ (ความติดความยินดี),
โทสะ (ความขัดเคือง), โมหะ (ความหลงไหล), ให้เกิดขึ้น
ขณะที่ร่างกายเจริญในวัยหนุ่มสาว กล่าวได้ว่า กรรมเก่ากำลังเติบโต
เป็นหนุ่มสาว ตาหู เป็นต้น ก็ยิ่งเป็นสื่อแห่งราคะ โทสะ และเป็นสื่อ
แห่งกรรมต่างๆ ตามอำนาจของจิตใจที่กำลังระเริงหลง จึงจำต้องมี
การควบคุมปกครอง จะปล่อยเสีย หาได้ไม่ ถ้าตนเองควบคุมตนเองได้
ก็เป็นวิเศษที่สุด แต่ถ้าควบคุมตนเองไม่ได้ ก็ต้องมีผู้ใหญ่ เช่น
มารดา บิดาและผู้ใหญ่ต่างๆที่เกี่ยวข้องควบคุมให้อยู่ในระเบียบ
วินัยที่ดีงาม ให้เกิดความสำนึกว่า "เรานี่ เกิดมาเพื่อทำความดี"
พระพุทธองค์นอกจากทรงแสดงกรรมเก่าและกรรมใหม่ไว้แล้ว
ยังทรงแสดงความดับกรรม และวิธีดับกรรมทั้ง 2 อย่างไว้ว่า
"บุคคสัมผัสวิมุตติ(ความหลุดพ้น) เพราะความดับกายกรรม
วจีกรรม มโนกรรม นี้ชื่อว่าเป็นความดับกรรม มรรคมีองค์ 8 คือ
เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ
พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ นี้ชื่อว่าเป็นข้อปฏิบัติ
ให้ถึงความดับกรรม" ดังนั้น หลักการแก้กรรมตามหลักพุทธศาสนาก็คือ
การหยุดทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ ด้วยการปฏิบัติตามหลักมรรค 8
เมื่อย่อให้สั้นก็คือปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
-
ภาพชีวิตของแต่ละคน
วาดภาพอนาคต ต้องกำหนดแบบแผน
คำว่า ชีวิต มิได้มีความหมายเพียงความเป็นอยู่แห่งร่างกาย
แต่หมายถึงความสุขความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม
ของบุคคลในทางต่างๆ ด้วย
บางคนมีปัญหาว่า จะวาดภาพชีวิตของตนอย่างไรในอนาคต
หรืออะไรควรจะเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต และจะไปถึงจุด
ที่มุ่งหมายนั้น หรือที่นึกวาดภาพไว้นั้น ด้วยอะไร
ปัญหาที่ถามคลุมไปดังนี้ น่าจะตอบให้ตรงจุดเฉพาะบุคคลได้ยาก
เพราะไม่รู้ว่าทางแห่งชีวิตของแต่ละบุคคลตามที่กรรมกำหนดไว้
เป็นอย่างไร และถ้าวาดภาพของชีวิตอนาคตไว้เกินวิสัยของตน
ที่จะพึงได้พึงถึง แบบที่เรียกว่าสร้างวิมานบนอากาศ ก็จะเกิด
ความสำเร็จขึ้นมาไม่ได้แน่ หรือแม้วาดภาพชีวิตไว้ในวิสัยที่จะพึงได้
พึงถึง แต่ขาดเหตุที่จะอุปการะให้ไปถึงจุดหมายนั้น ก็ยากอีกเหมือนกัน
ที่จะเกิดเป็นความจริงขึ้นมา
ภาพของชีวิตที่วาดไว้ ก็จะเปรียบได้กับแบบแปลนของสิ่งที่
จะสร้างขึ้นในกระดาษพิมพ์เขียว คนที่ไม่มีบ้าน คิดจะ
สร้างบ้านอยู่ของตนเอง จะต้องมีที่ทางมีทุนก่อสร้าง
ทีแรกก็จะต้องมีแบบแปลนในแผ่นกระดาษตามที่ตนชอบ
แต่ก็ต้องตามควรแก่กำลังทรัพย์ของตน ถ้าอยากจะได้บ้าน
ที่ใหญ่โตเกินกำลังมากไป ก็จะทำไม่ได้แน่ แต่ตัวอย่างนี้
ก็มีจุดมุ่งหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าจะสร้างบ้าน
ส่วนปัญหาข้างต้นที่ว่า อะไรควรจะเป็นจุดหมายของชีวิตนั้น
ยังไม่มีจุดหมายชัดเจน จึงว่าเป็นปัญหาที่ถามคลุมตอบได้ยาก
เหมือนอย่างจะถามว่าจะสร้างอะไรจึงจะดี ซึ่งตอบได้ยาก
วางแผนและพัฒนาตลอดชีวิต พิชิตความฝันแน่
อันจุดหมายชีวิตของคนนั้นมีต่างๆกัน และภาพชีวิตที่ทุกคนวาดไว้
เมื่อตอนเป็นเด็ก หรือในวัยรุ่น กับชีวิตจริงเมื่ออายุ 60 อาจต่างกันมาก
ทุกคนขณะอยู่ในวัยเด็กหรือในวัยรุ่น อาจจะวาดภาพชีวิตอนาคตตนเอง
ไว้ด้วยตน หรือบางทีผู้ใหญ่ช่วยคิดแนะนำให้ โดยปกติก็ต้องสังเกตดู
สติปัญญา ความถนัด ความชอบ และต้องพิจารณาถึงกำลังสนับสนุนต่างๆ
ตลอดถึงอัธยาศัย นิสัย การศึกษาตั้งแต่ในเบื้องต้น คือ ประถมศึกษา
กับมัธยมศึกษา ตลอดไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เป็นเครื่องช่วยชี้บอก
ได้ว่าทางอนาคตจะไปได้อย่างไร
ผู้ที่มีพื้นสติปัญญาต่ำ เรียนได้แค่ประถมศึกษา ก็จะต้องไปทำงาน
ด้านใช้กำลังกายมากกว่าใช้สมอง แต่เมื่อจับอาชีพถูกทาง มีความขยัน
หมั่นเพียร รู้จักเก็บหอมรอมริบ ก็อาจตั้งตัวได้ดีเหมือนกัน ผู้ที่มี
สติปัญญาปานกลางเรียนได้จบมัธยมศึกษา หรือเรียนจบทางการช่างต่างๆ
เป็นต้น ก็สามารถทำงานใช้วิชาได้บ้าง เมื่อตั้งใจทำงานให้ดีและ
ประพฤติตนดีดังกล่าว ก็ตั้งตนได้ตามสภาพ ส่วนผู้ที่มีสติปัญญาดี ทั้งมี
ปัจจัยสนับสนุนเรียนสำเร็จอุดมศึกษาทางใดทางหนึ่ง จะสามารถ
ทำงานได้ประณีตกว่า อาจตั้งตนได้ดีมาก
แต่ความสำเร็จผลอย่างดีนั้น นอกจากต้องอาศัยกำลังสติปัญญาวิชาความรู้
ดังกล่าว ยังต้องอาศัยปัจจัยอุปถัมภ์อย่างอื่นอีก ฉะนั้น
คนที่บรรลุความสำเร็จ เช่น เป็นพ่อค้าใหญ่ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
เป็นชาวนาชาวสวนที่มีฐานะมั่นคง เป็นต้น จึงมิใช่เป็นผู้ที่มาจาก
มหาวิทยาลลัย จากวิทยาลัยเทคนิค หรือจากโรงเรียนมัธยมเสมอไป
ใครจะถึงความสำเร็จแค่ไหน เพียงไหนนั้น เมื่อได้ผ่านบางตอน
ของชีวิตไปแล้ว ก็พอจะคิดคาดคะเนเอาได้ว่า จะไปได้สูงเพียงไหน
เว้นแต่มีเหตุพิเศษทั้งในด้านสนับสนุนทั้งในด้านตัดรอน
-
ประสบการณ์ชีวิต ทำให้คนมีความคิดเห็น ต่างกัน
ชีวิตนี้ต้องการอะไร? อาจจะเป็นปัญหาเดียวกับปัญหาที่ว่า
ควรจะวาดภาพชีวิตอนาคตอย่างไร หรืออาจจะต่างกันก็ได้
สุดแต่ความประสงค์ของผู้ถาม อาจจะมุ่งถึงผลทางวัตถุ
หรือทางโลกทั่วๆไปก็ได้ อาจจะหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้นก็ได้
ว่าถึงผลทางวัตถุ หรือทางโลกทั่วๆไป ทุกคนก็น่าจะมีทางของตน
หรือมีความคิดเห็นของตนเองเกี่ยวกับการเรียน อาชีพการงานเป็นต้น
แต่ถ้าหมายถึงผลที่พิเศษไปกว่านั้นก็น่าคิด นอกจากสิ่งต่างๆ
ที่เป็นบุคคล เป็นวัตถุ เป็นชื่อเสียง เป็นต้น ที่โลกต้องการแล้ว
ชีวิต และเหตุการณ์ของชีวิต ทำให้คนมีความเห็นต่อชีวิตต่างๆกัน
บางคนรื่นเริงยินดีอยู่กับชีวิต มักจะเป็นคนวัยรุ่น กำลังมีร่างกาย
เจริญเติบโต มองเห็นอะไรในโลกยิ้มแย้มแช่มชื่นไปทั้งนั้น
บางคนระทมอยู่กับชีวิต จนถึงคิดหนีชีวิตก็มี เพราะความไม่สมหวังน้อยหรือมาก
บางคนก็ดูเฉยๆต่อชีวิต แต่มิใช่เฉยเพราะรู้สัจจะของชีวิต หากเฉยๆ
เพราะไม่รู้ ทั้งไม่ต้องการที่จะศึกษาเพื่อรู้ จึงอยู่ไปทำไปตามเคยวันหนึ่งๆ
โดยมากน่าจะอยู่ในลักษณะนี้ ไม่สู้จะเป็นสุขหรือทุกข์อะไรมากนัก
เพราะไม่อยากจะคิดรู้อะไรมากนัก หรือเพราะไม่มีอะไรจะทำให้เป็นสุข
หรือเป็นทุกข์มากนัก สรุปลงว่า ยินดีต่อชีวิตบ้าง ยินร้ายต่อชีวิตบ้าง
หลงงมงายเช่นที่มีความเฉยๆ เพราะไม่รู้ดังกล่าวบ้าง
คนทั่วๆไปย่อมเป็นดังนี้ จะต้องพบทั้งความยินดี ยินร้าย ทั้งความหลง
ในชีวิต จะต้องพบกับทั้งสุง ทั้งทุกข์ ทั้งได้ ทั้งเสีย
รู้เท่าทันโลกในชีวิตจริง จะไม่แพ้โลก
ว่าถึงชาวโลกทั่วไป เมื่อได้มีประสบการณ์จากโลกทั้ง 2 ด้านแล้ว
จึงจะรู้จักโลกดีขึ้น แต่ก็มีอยู่ 2 จำพวกเหมือนกันคือ
พวกหนึ่ง แพ้โลก คือ ต้องเป็นทุกข์น้อยหรือมาก ไม่สามารถจะแก้ทุกข์ได้
คล้ายกับรอให้โลกช่วย คือ ให้เหตุการณ์ข้างดีตามที่ปรารถนาเกิดขึ้น
อีกพวกหนึ่งไม่แพ้โลก คือ ไม่ยอมเป็นทุกข์ ถึงจะต้องเป็นทุกข์บ้าง
อย่างสามัญชนก็ไม่ยอมให้เป็นมากหรือเป็นนานนัก พยายามแก้ทุกข์
ไม่ต้องรอให้เหตุการณ์ข้างดีที่ปรารถนาต้องการเกิดช่วย ซึ่งเป็นการ
ไม่แน่ แต่ทำความรู้จักโลกนั่นแหละให้ดีขึ้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรง
สั่งสอนไว้ เช่นว่า "สูลงมาดูโลกนี้...ที่พวกคนเขลาติดอยู่
แต่ผู้รู้...หาข้อง ...อยู่ไม่"
คือ ศึกษาทำความรู้ชนิดที่ไม่ติดข้องให้เกิดขึ้น ปล่อยโลกให้เป็นไป
ตามวิถีของโลก เหมือนอย่างไม่คิดถึงดวงอาทิตย์ให้หยุดหรือให้กลับ
ซึ่งเป็นไปไม่ได้
หน้าที่ของบุคคลคือ ดึงใจให้หยุด หรือให้กลับจากกิเลสและความทุกข์
ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ชีวิตและโลก
ดังนั้น คนเราจึงต้องพบชีวิต หมายถึง เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น
แก่ชีวิตตามที่ปรารถนาไว้ก็มี ที่มิได้ปรารถนาก็มี
-
อยากได้ในสิ่งที่ปรารถนา
อย่าลืมเตรียมใจพบความผิดหวัง
ว่าถึงปัญหาที่ว่า คนเราควรจะวาดภาพชีวิต
อนาคตของตนอย่างไรหรือจะให้ชีวิตเป็นอย่างไร
ถ้าตอบตามวิถีชีวิตทั่วไป ก็คงจะว่า จะให้เป็น
ชีวิตที่บริบูรณ์ด้วยผลตามที่ปรารถนากัน
ทางโลกทั่วไปนี้แหละ รวมเข้าก็คือ ลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข อันเรียกว่า โลกธรรม
(ธรรมคือเรื่องของโลก) ส่วนที่น่าปรารถนาพอใจ
แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตจะต้องพบส่วนที่
ไม่ได้ปรารถนาอีกด้วย คือ ส่วนที่ตรงกันข้าม
รวมเข้าก็คือ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
ชีวิตของทุกคนจะต้องพบกับโลกธรรมทั้ง 2 ฝ่ายนี้อยู่ด้วยกัน
คำว่า โลกธรรม พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมดาโลก เพราะขึ้นชื่อว่า
โลก ย่อมมีธรรมดา เป็นความได้ ความเสีย หรือ
ความทุกข์เช่นนั้น ส่งที่ได้มาบางทีรู้สึกว่าให้ความสุขมาก
เหลือเกิน แต่สิ่งนั้นเองกลับให้ความทุกข์มากก็มี
อย่ายินดีในสุขจนเกินไป
อย่ายินร้ายในทุกข์จนระทมตรมตรอม
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชี้ให้เห็นทุกข์ไว้ก่อน
ดังเช่นเมื่อมีเทพมากล่าวคาถา แปลความว่า
"ผู้มีบุตรย่อมบันเทิงเพราะบุตร ผู้มีโคย่อมบันเทิง
เพราะโค นรชนย่อมบันเทิงเพราะทรัพย์สมบัติ
ผู้ไม่มีทรัพย์ย่อมไม่บันเทิง"
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก้ว่า "ผู้มีบุตรย่อมโศกเพราะบุตร
ผู้มีโคย่อมโศกเพราะโค นรชนย่อมโศกเพราะทรัพย์สมบัติ
ผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติ (เป็นเหตุอก่อกิเลส) ย่อมไม่โศก"
คำของเทวดากล่าวได้ว่า เป็นภาษิตทางโลก เพราะ
โลกทั่วไปย่อมเห็นดังนั้น ส่วนคำพระพุทธเจ้า กล่าวได้ว่า
เป็นภาษิตทางธรรม แต่ก็เป็นความจริง เพราะเป็น
ธรรมดาโลก ที่จะต้องพบทั้งสุขและทุกข์ ที่แม้เกิดจาก
สิ่งเดียวกัน
ฉะนั้น ทุกๆคน ผู้ต้องการโลก คือ ปรารถนาจะได้สิ่งที่
น่าปรารถนา หรือต้องการที่จะให้เป็นไปตามปรารถนา
ก็ควรต้องการธรรมอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นเครื่องช่วยรักษา
ตนทั้งในคราวได้ ทั้งในคราวเสีย
พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชึวิตของทุกๆคน
ตรงจุดนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่า
สุขหรือทุกข์ข้อนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
เมื่อพิจารณาอยู่ดังนี้จนเกิดปัญญาเห็นจริง สุขหรือทุกข์นั้นๆ
ก็จะไม่ตั้งครอบงำจิตอยู่ได้ ผู้ที่มีปัญญาพิจารณาเห็นจริง
อยู่ดังนั้น จะไม่ยินดีในเพราะสุข จะไม่ยินร้ายในเพราะทุกข์นั้นๆ
ความสงบจิตซึ่งเป็นความสุขจะมีได้ด้วยวิธีนี้
-
ศึกษาทั้ง 2 ด้านของชีวิตผ่านโลก
ปัญญาเกิดได้ เพราะเข้าใจโลก
ทั้งด้านสุข และด้านทุกข์
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แปลความว่า
"ความโศกย่อมเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก
ภัยคือความกลัว ย่อมเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก
สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจากสิ่งเป็นที่รัก
จะไม่มีความโศก ภัยจักมีแต่ที่ไหน"
พระพุทธภาษิตนี้ ดูคล้ายกับมองโลกในทางร้ายว่า
สิ่งเป็นที่รัก เป็นแหล่งเกิดความโศก และภัยเสมอ
แต่ก็เป็นความจริงที่ความโศก และภัยทุกอย่าง
เกิดจากแหล่งรักทั้งนั้น ใครก็ตามที่ได้รับความสุข
จากสิ่งเป็นที่รักเพียงอย่างเดียว ยังไม่ชื่อว่าได้พบโลก
หรือผ่านโลกทั้ง 2 ด้าน ต่อเมื่อได้รับความทุกข์
จากสิ่งเป็นที่รักอีกอย่างหนึ่ง จึงจะเชื่อได้ว่า
ได้ผ่านพบโลกครบทั้ง 2 ด้าน เป็นโอกาสที่ทำให้
รู้จักโลกดีขึ้น
ชีวิตที่ดำเนินผ่านสุขทุกข์ต่างๆในโลก หรือผ่าน
โลกที่มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ เท่ากับเป็นการศึกษาให้เกิด
เจริญปัญญาขึ้นอยู่เสมอ อาจจะมีการหลงผิดไปใน
บางคราว ก็ไม่ใช่ตลอดไปและทุกคนที่เกิดมา
ย่อมมีพื้นปัญญาที่จะเพิ่มเติมขึ้นได้เสมอ
ปัญญา จะเป็นปัญญาสมบูรณ์ขึ้นได้ ก็เพราะรู้ทั้ง 2 ด้าน
คือ รู้ทั้งสุข รู้ทั้งทุกข์ ถ้ารู้จักแต่สุข ไม่รู้จักทุกข์
ก็ยังไม่ใช่ปัญญาสมบูรณ์
คนเราจะรู้จักทุกข์ได้ ก็ต้องประสบกับความทุกข์
และดูเข้าไปที่ทุกข์ หรือดูเข้ามาที่จิตใจ
อันมีทุกข์ ว่าจิตใจนี้มีทุกข์ ดูอาการจิตใจที่มีทุกข์
ว่าเป็นอย่างไร อาการคือ แห้งผากใจ ปราศจาก
ความสดชื่น เหมือนอย่างต้นไม้เหี่ยว คร่ำครวญใจ
ด้วยความคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว หรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ไขว่คว้าในสิ่งที่สิ้นไป หายไปแล้ว เหมือนอย่างไล่จับเงา
กลัวสิ่งที่ยังอยู่ว่าจะหายไปเสีย กลัวว่าอะไรที่น่ากลัว
จะเกิดขึ้น ตรอมใจไม่มีความผาสุก คับแค้นใจ
เหมือนอย่างถูกอัดถูกบีบ
-
ฝึกมองให้ชัดว่า จะสุขจะทุกข์ก็เป็นอาการชั่วคราว
อาการใจเหล่านี้ แสดงออกมาให้เห็นทางกาย
อันเป็นเรือนอาศัยของจิตใจ
อวัยวะทางกายที่บอกใจอย่างดีที่สุด คือ ดวงตา
และสีหน้า ดวงตาจะเศร้า สีหน้าจะหมอง
ร่างกายทั่วไปจะซูบ อาการทางกายเหล่านี้
กล่าวได้ว่าเป็นผลพลอยเสีย...
ดูอาการจิตใจที่มีทุกข์ว่าเป็นอย่างนี้ๆดูให้เห็นชัด
ให้คล้ายกับส่องกระจกเห็นเงาหน้าของตนชัดเจน
เมื่อดูจนเห็นแล้วก็ศึกษา คือ พยายามค้นหาความจริง
ในจิตใจของตนเองต่อไปว่า ความทุกข์ที่ประสบนี้
เป็นอาการประจำหรือเป็นอาการจร เทียบอย่าง
เป็นโรคประจำ หรือ เป็นโรคจร มีอะไรเป็นเหตุสมุฎฐาน
และเมื่อค้นหาความจริงเช่นนี้ก็จะเห็นว่า เป็นอาการจร
เพราะแต่ก่อนนั้นไม่เคยมี เคยเป็น เคยมีแต่อาการ
ที่เป็นความสุขอันตรงกันข้าม
ถึงอาการที่เป็นความสุขก็เหมือนกัน คือ เป็นอาการจร
เพราะแต่ก่อนนั้นก็ไม่เคยมีเคยเป็น ได้แก่ เมื่อเป็นเด็กนั้น
ยังไม่มีอาการจิตใจเช่นนี้ มาเริ่มมีขึ้นตั้งแต่เมื่อย่างเข้า
ดรุณวัย เริ่มมีสิ่งเป็นที่รักขึ้น ตั้งแต่หนึ่งสิ่ง สองสิ่ง
สามสิ่ง เป็นต้น เมื่อศึกษาจิตใจของตนเองไป ดังนี้
ก็จักได้พบสัจจะขึ้นสมจริงตามพระพุทธพยากรณ์
นี้แหละเป็นเหตุเป็นสมุฎฐาน
การหัดศึกษาให้รู้จักกระบวนแห่งจิตใจของตนนั้น
เป็นข้อที่ควรทำทั้งในคราวมีสุขและในคราวมีทุกข์
เหตุแห่งสุขและทุกข์ ข้อที่สำคัญก็คือ สิ่งที่เป็นที่รัก
ในขณะที่มีสุข จะยกไว้ก่อน จะกล่าวแต่ที่มีทุกข์
ฝึกมองให้ได้ว่าทุกข์เกิดในใจ เพราะไปยึดมั่นถือมั่น
ในคราวมีทุกข์ ให้รวมจิตใจดูที่ตัวความทุกข์ที่กำลังเสวยอยู่
ดูอาการของจิตที่เป็นทุกข์ว่าเป็นอย่างไร มีอาการเศร้าหมอง
อย่างไร ห่อเหี่ยวอย่างไร หมดรส หมดความสำราญอย่างไร
ดูความคิดว่า ในขณะที่จิตเป็นทุกข์เช่นนี้ จิตมีความคิดอย่างไร
จิตคิดถึงอะไร ถึงจะรู้ว่า กำลังคิดถึงเรื่องที่ทำให้ทุกข์นั่นแหละ
เพราะจิตผูกอยู่กับเรื่องนั้นมาก ความผูกจิตมีมากในเรื่องใด
ก็ดึงจิตให้คิดถึงเรื่องนั้นมากและเป็นทุกข์มาก
ฉะนั้น ความทุกข์ จึงเป็นผลตามความผูกจิต(สังโยชน์) ซึ่ง
คอยดึงจิตให้คิดไปถึงเรื่องที่ผูกไว้ในใจ
อันที่จริงเรื่องที่ผูกใจนี้ มิใช่เฉพาะแต่สิ่งที่เป็นที่รักเท่านั้น
ถึงสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็ผูกใจไว้เหมือนกัน จึงเกิดความชอบใจ
ความไม่ชอบใจ ถ้าไม่มีความผูกใจไว้เสียเลย ก็จะไม่มีทุกสิ่ง
คือ ที่รักก็ไม่มี ที่ไม่รักก็ไม่มี ตลอดถึงความยินดียินร้ายก็จะไม่มี
ตามที่กล่าวมานี้ เป็นกระบวนการทางจิต กล่าวสั้นๆ คือ
ความผูกจิตอยู่กับเรื่องอันเรียกว่า อารมณ์ ที่ทุกๆคน
ประสบพบผ่านมาทางอายตนะมีตา หู เป็นต้น และความคิด
ที่ถูกดึงให้คิดไปในเรื่องที่ผูกใจอยู่เสมอ ถ้าเป็นเรื่องของ
สิ่งที่เป็นที่รัก และไม่เป็นไปตามที่ปรารถนาต้องการ
ยิ่งคิดไปก็ยิ่งเป็นทุกข์ไป จิตครุ่นคิดไปด้วย เสวยทุกข์ไปด้วย
จึงมีคำที่กล่าวกันอยู่เสมอว่า "หยุดคิดเมื่อใด ก็หยุดทุกข์ลงเมื่อนั้น"
-
หยุดความคิดลงเมื่อใด ทุกข์จางหายไปเมื่อนั้น
คำว่า หยุดคิด หมายถึง หยุดคิดถึงเรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์
แต่ถ้ากล่าวดังนี้แก่ใคร ก็น่าจะได้รับคำตอบว่า
สำหรับหลักการที่ว่านั้น ไม่เถียง แต่ทำไม่ได้
คือ จะห้ามมิให้คิดไม่ได้...
ถ้าแย้งดังนี้ ก็ต้องรับรองว่า ห้ามไม่ได้จริง
ด้วยเหตุที่ยังมีความผูกจิตอยู่ในเรื่องนั้น
ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ความผูกจิตไว้นี้เอง
คอยดึงจิตให้คิดไปในเรื่องที่ผูกไว้
แต่ถ้าปล่อยความผูกจิตนี้ได้
ก็จะหยุดคิดถึงเรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์ได้
ถ้าว่าดังนี้ ก็น่าจะถูกประท้วงอีกว่า
ปล่อยไม่ได้ เพราะสิ่งนั้น สิ่งนี้ซึ่งเป็นที่รัก
และสามัญชนทั่วไป ก็จะต้องมีสิ่งเป็นที่รัก
เช่น จะต้องมีพ่อแม่ลุกหลานเป็นต้น ที่เป็นที่รัก
เมื่อมีขึ้น จิตใจก็จะต้องมีผูกพัน ที่เรียกว่า
ความผูกจิต จึงไม่สามารถปล่อยไว้
ถ้ามีการประท้วงดังนี้ ก็ตอบชี้แจงได้ว่า
รับรองว่าสามารถแน่ ถ้าลองปฏิบัติดู
ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะความผูกพันแห่งจิตใจนี้เป็นกิเลส
เพื่อที่จะชี้ให้เห็นหน้าตาให้ชัดขึ้น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในธรรมบท แปลความรวมกันว่า
"ความโศก ความกลัว เกิดจาก...
....ความรัก...
....ความยินดี ความใคร่(กาม)
....ความอยาก(ตัณหา)
สำหรับผู้ที่พ้นแล้วจาก...
....ความรัก...
....ความยินดี ความใคร่(กาม)
....ความอยาก(ตัณหา)
จะไม่มีความโศก ความกลัว จักมีแต่ที่ไหน
-
รักคนอื่นมามากมาย แต่สุดท้ายลืมรักตน
คนทั่วไปย่อมมีความรัก ความยินดี ความใคร่
ความอยาก ว่าถึงความรักเพียงข้อเดียวก่อน
ทุกคนก็มีความรักอยู่ในบุคคล และในส่วนต่างๆมาก
เช่น บุตรธิดารักมารดาบิดา มารดาบิดาก็รักบุตรธิดา
สามีก็รักภรรยา ภรรยาก็รักสามี แต่มักจะลืมนึกถึง
อีกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รักของตนเองอย่างลึกซึ้ง
คือตนเอง คือลืมนึกรักตนเอง
คิดดูให้ดีจะเห็นว่า ตนเป็นที่รักยิ่งของตนเองอยู่แล้ว
ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล
ถามระนางมัลลิกาเทวีของพระองค์ว่า ใครเป็นที่รัก
ของพระนางยิ่งกว่าตนเอง (ของพระนาง) พระนาง
กราบทูลว่าไม่มี แล้วกราบทูลถามพระราชาเช่นเดียวกันว่า
ใครเป็นที่รักของพระองค์ยิ่งกว่าพระองค์เอง ตรัสสอบว่า
ไม่มีเช่นเดียวกัน
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูล
ข้อที่ตรัสโต้ตอนกันนี้
พระพุทธเจ้าเสนทิโกศลได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
กราบทูลข้อที่ตรัสโต้ตอบกันนี้
พระพุทธเจ้าตรัสอุทานขึ้นในเวลานั้นว่า "ตรวจดูด้วยใจ
ไปทุกทิศแล้ว ก็ไม่พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนในที่ไหน
ตนเป็นที่รักมากของคนอื่นๆอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น
ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น"
พระพุทธอุทานนี้ ตรัสสอนให้คิดถึงใจเราเทียบกับใจเขา
ดังที่กล่าวกันว่า นำใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อจะได้สังวร
จากการทำที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น แต่ก็เป็นอันทรง
รับรองข้อที่พระนางมัลลิกากราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
ไม่มีใครจะเป็นที่รักของตนยิ่งกว่าตน
-
รู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็อย่าลืมรักษาตน
พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระธรรมบทว่า
"ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก พึงรักษาตนไว้ให้ดี
บัณฑิตพึงประคับประคองตน
ตลอดยาม(คือวัย)ทั้งสาม ยามใดยามหนึ่ง"
นี้เป็นพระพุทธโอวาทตรัสเตือนไว้
เพื่อมิให้หลงตนเองไปเสีย หน้าที่ของตนนั้น
จะต้องรักษาประคับประคองตนเองไว้ให้ดี
ควรสังเกตว่า พระพุทธองค์มิได้ตรัสสอนว่า
จงรักตน หรือควรรักตน หรือต้องรักตน
เพราะตนเป็นที่รักของตนอยู่แล้วแก่ทุกๆคน
คือทุกๆคนต่างรักตนเองอยู่ด้วยกันแล้ว
และรักยิ่งกว่าสิ่งอื่น หรือใครอื่นทั้งหมด
เมื่อมีความจริงอยู่ดังนี้ จึงไม่จำเป็นต้อง
ตรัสสอนให้รักตนเข้าอีก แต่ตรัสสอนให้
ทำความรู้ดังกล่าว และให้รักษาตนให้ดี
คิดดูอีกสักหน่อย เมื่อเกิดมาก็มาตนผู้เดียว
คราวจะตายไปก็คงไปแต่คนเพียงผู้เดียวอีก
เหมือนกัน บุคคล และสิ่งทั้งปวง แม้จะเป็น
ที่รักยิ่งนัก ก็เกิดขึ้น หรือมาพบกันเข้าในภายหลัง
และมีอยู่เฉพาะในชีวิตนี้ ไม่มีที่จะไปด้วยกัน
กับตนในภพหน้า สิ่งที่จะไปด้วยคือ บุญหรือบาปที่ทำไว้เอง
แม้ในชีวิตนี้ก็มิใช่ว่าจะร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกันทุกอย่าง
เช่น ถึงคราวเจ็บก็ต้องเจ็บเอง ใครจะเจ็บแทนกันหาได้ไม่
ตนเองเท่านั้นต้องร่วมสุขร่วมทุกข์กับตนเองตลอดไป
ในคราวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในโลกนี้ โลกหน้า ในมนุษย์
ในนรก ในสวรรค์ ตลอดถึงนิพพาน ก็เป็นเรื่องของ
ตนเองผู้เดียวทั้งหมด พิจารณาให้ตระหนักในความจริงดังนี้
จะช่วยถอนความผูกใจเป็นทุกข์ออกได้บ้างไม่มากก็น้อย
-
มี "สติ" คิดพิจารณาความคิดของตนบ่อยๆ
ชีวิตนี้เรียกได้ว่า เป็นความเกิดสิ่งแรก
ซึ่งเป็นที่เกิดของสิ่งทั้งหลายในภายหลัง
ก็ต้องมีความดับ สิ่งที่ได้มาพร้อมกับชีวิต
ก็คือตนเอง นอกจากตนเองไม่มีอะไรทั้งนั้น
สามี ภริยา บุตรธิดา ทรัพย์สินเงินทองไม่มีทั้งนั้น
เรียกว่า เกิดมาตัวเปล่า มาตัวคนเดียว
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
"ตนแลเป็นคติ(ที่ไปหรือการไป)ของตน"
ในเวลาดับชีวิต ก็ตนเองเท่านั้นต้องไปแต่ผู้เดียว
ตามกรรม ทิ้งทุกสิ่งไว้ในโลกนี้ แม้ชีวิตร่างกายนี้
ก็นำหไปด้วยไม่ได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัวไว้ว่า "บุคคลผู้จะต้องตาย
ทำบุญและบาปทั้งสองอันใดไว้ในโลกนี้
บุญบาปทั้งสองนั้น เป็นของผู้นั้น ผู้นั้นพาเอาบุญบาป
ทั้งสองอันนั้น บุญบาปทั้งสองอันนั้น ติดตามผู้นั้นไป
เหมือนอย่างเงาที่ไม่ละตัว"
ก็เมื่อตนเอง เป็นผู้มาคนเดียว ไปคนเดียว
เมื่อมาก็มาตามกรรม เมื่อไปก็ไปตามกรรม
ถึงผู้อื่นก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น
คือจะเป็นสามี ภริยา เป็นบุตรธิดา เป็นญาติมิตร
หรือแม้นเป็นศัตรู ต่างก็มาคนเดียวตามกรรม
ไปตามกรรม ฉะนั้น ก็ควรที่จะต้องรักษาตน
สงวนตน แสวงหาตน มากกว่าที่จะรัก จะสงวน
จะแสวงหาใครทั้งสิ้น
คำว่า แสวงหาตน เป็นคำที่มีคติที่ซึ้ง
คิดพิจารณาให้เข้าใจให้ดี จะบังเกิดผลดียิ่งนัก
แต่ที่จะเริ่มแสวงหาตนได้ ก็ต้องได้สติย้อนมา
นึกถึงตนในทางที่ถูกที่ควร และคำว่าแสวงหาตน
หาได้มีความหมายว่า เห็นแก่ตนไม่ เพราะ
ผู้เห็นแก่ตนหาใช่ผู้ที่แสวงหาตนไม่
กลายเป็นแสวงหาสิ่งที่มิใช่ตนไปเสีย
-
พาชีวิตไปให้ถึงจุดหมายอันสูงสุด
มีความอยาก ก็ยากจะถึงจุดมุ่งหมายอันสูงสุด
ชีวิตอันอุดม เป็นจุดหมายที่พระพุทธเจ้าสอนให้
ทุกคนปฏิบัติให้ถึง ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า...
อะไรคือชีวิตอันอุดม ก็น่าจะต้องพิจารณากัน
คำว่า อุดม แปลว่า สูงสุด,ชีวิตอันอุดม คือ
ชีวิตที่สูงสุด
และถ้าจะกล่าวว่า ผลที่ปรารถนาจะได้อย่างสูงสุด
ในชีวิตใช่ไหม? เป็นชีวิตอันอุดม ถ้าถือเอา
ความปรารถนาเป็นเกณฑ์ ก็ตอบได้ว่า ไม่ใช่เกณฑ์
จัดระดับชีวิตของพระพุทธเจ้าแน่นอน
เหตุที่กล่าวดังนี้ เพราะแต่ละคนย่อมมีความ
ปรารถนาต่างๆกัน ทั้งเพิ่มความปรารถนาขึ้นได้เสมอ
จนถึงมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า
"แม่น้ำ เสมอด้วยตัณหา(ความอยาก)ไม่มี"
เช่น บางคนอยากเรียนให้สำเร็จปริญญาชั้นนั้นชั้นนี้
บางคนอยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นอธิบดี อยากเป็นสส.
อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
แต่คนมีความอยากดังนี้ จะประสบความสำเร็จดังที่
อยากได้สักกี่คน ตำแหน่งต่างๆเหล่านี้ ย่อมมีจำนวนจำกัด
จะเป็นด้วยกันทุกคนหาได้ไม่ บางทีคนที่ไม่ได้คิด
ปรารถนาว่าจะเป็นก็ได้เป็น บางคนคิดอยากจะขวนขวาย
ต่างๆมากมายก็ไม่ได้เป็น ต้องไปเป็นอย่างที่ไม่อยาก
ก็มีอยู่มาก
ฉะนั้น ผลที่ได้ด้วยความอยากอันเป็นตัณหา จึงมิใช่
เป็นเกณฑ์จัดว่าเป็นชีวิตอันอุดม เช่นว่า เมื่อใดเป็น
อย่างนั้นๆแล้ว ก็เป็นอันได้ถึงขีดชีวิตอันอุดม
ในทางโลกอาจจะเข้าใจกันเช่นนั้น
ดังที่พูดกันว่า กำลังรุ่งเรือง หมายถึง อยู่ในตำแหน่งสูง
มีทรัพย์ มีบริวารมาก ก็ว่า ชีวิตขั้นถึงขีดสูงสุด
มุ่งมั่นสร้างกรรมดี ย่อมพาชีวิตไปใกล้จุดหมายขั้นสูงสุด
แต่ละคนย่อมมีขีดสูงสุดต่างกัน ขีดสูงสุดของผู้ใด
ก็เป็นชีวิตอันอุดมของผู้นั้น แต่ความขั้นถึงขีดสูงสุด
ของชีวิตแบบนี้ ตามสายตาของท่านผู้รู้ย่อมเห็นว่า
เป็นเหมือนความขึ้นของพลุ หรือความขึ้นของปรอท
คนเป็นไข้ คือ เป็นของชั่วคราว บางทีในขณะที่ชะตา
ชีวิตขึ้นสูงสุดนั้น กลับมีชีวิตไม่เป็นสุข ต้องเป็นทุกข์มากเสียอีก
บางคนอาจจะไม่ต้องการตำแหน่งอะไรสูงนัก
แต่อยากเรียนรู้ให้มากๆ ให้สำเร็จชั้นสูงๆสิ่งอื่นๆ
ไม่สำคัญ แต่ความมีวิชาสูง(ทางโลก) จะหมายความว่า
มีชีวิตสูงขึ้นด้วยหรือไม่
อันวิชาความรู้ เป็นปัจจัยอุดหนุนชีวิตขึ้นอย่างหนึ่ง
แต่จะต้องมีปัจจัยอื่นร่วมสนับสนุนอีกหลายอย่าง
ดังจะเห็นตัวอย่างคนที่เรียนมามีวิชาสูงๆ แต่รักษาตัว
ไม่รอด หรือรักษาตัวให้ดีตามสมควรไม่ได้
ทั้งไม่ได้รับความนับถือจากคนทั้งหลาย ก็มีอยู่ไม่น้อย
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ได้ทรงวางเกณฑ์
ของชีวิตไว้ว่า ชีวิตมี 3 อย่างก่อนคือ
ทุชีวิต ชีวิตชั่วร้าย หมายถึง คนที่ใช้ชีวิตทำกรรมชั่วร้ายต่างๆ
โมฆชีวิต ชีวิตเปล่า หมายถึง คนที่ปล่อยให้ชีวิตล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์
สุชีวิต ชีวิตดี หมายถึง คนที่ใช้ชีวิตประกอบกรรมที่ดีที่ชอบต่างๆ
และชีวิตดีนี้นี่เอง เมื่อมีมากๆขึ้น จะกลายเป็นชีวิตอันอุดมในที่สุด
-
ชีวิตอันอุดมคือชีวิตอันสูงสุด
ในแง่ของพระพุทธศาสนา คือ ชีวิตที่ดี
อันเรียกว่า สุชีวิต หมายถึง ความดี
ที่อาศัยชีวิตทำขึ้น ชีวิตของผู้นำที่ทำดี
จึงเรียกว่าชีวิตดี เมื่อทำดีมาก ชีวิตก็สูงขึ้นมาก
ทำดีที่สุด ชีวิตก็สูงสุด
ชีวิตที่เรียกว่า ชีวิตอุดม นั้น
องค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่า
ความดีในชีวิตมี 4 ประการ คือ
-กรรม คือ การงานที่ทำ หมายถึง การงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆ
-วิชา คือ ความรู้ในศิลปวิทยา
-ศีล คือ ความประพฤติที่ดี
-ธรรม คือ คุณสมบัติที่ดีในจิตใจ
ชีวิตอันอุดมจะต้องมีองค์คุณทั้ง 4 ประการนี้
ชีวิตจะสูงขึ้นเพียงไร ก็สุดแต่องค์คุณทั้ง 4
นี้จะสูงขึ้นเท่าไร นึกดูถึงบุคคลในโลก
ที่คนเป็นอันมากรู้จัก เรียกว่า คนมีชื่อเสียง
ลองตรวจดูว่า อะไรทำให้เขาเป็นคนสำคัญขึ้น
ก็จะเห็นได้ว่า
ข้อแรกก็คือ กรรม การงานที่เขาได้ทำให้ปรากฎ
เป็นการงานที่สำคัญในทางดีก็ได้ ในทางเสีย
ทางร้ายก็ได้ ในทางดีเช่น คนที่ได้ทำอะไร
เป็นสิ่งเกื้อกูลมาก ในทางชั่วเช่น คนที่ทำอะไร
ที่เลวร้ายเป็นข้อฉกรรจ์ เหล่านี้เกี่ยวแก่กรรมทั้งนั้น
ไม่ต้องคิดออกไปให้ไกลตัว คิดเข้ามาที่ตนเอง
ก็จะเห็นว่า การงานของตนเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ของชีวิต คนเราทุกคนจะเป็นอะไรขึ้นมา
ก็เพราะการงานของตน เช่น จะเป็นชาวนาก็เพราะทำนา
กสิกรรมเป็นการงานของตนของผู้ที่เป็นชาวนา
จะเป็นพ่อค้าก็เพราะทำพาณิชยการคือการค้า
จะเป็นหมอก็เพราะประกอบเวชกรรม
จะเป็นนักศึกษาก็เพราะทำการเรียนการศึกษา
จะเป็นโจรก็เพราะทำโจรกรรม ดังนี้ เป็นต้น
กรรมทั้งปวงนี้ไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมเกิดจากการทำ
อยู่เฉยๆจะเป็นกรรมอะไรขึ้นมาหาได้ไม่
จะเป็นกรรมชั่วก็เพราะทำ อยู่เฉยๆกรรมชั่วไม่เกิด
ขึ้นมาเองได้ แต่ทำกรรมชั่วอาจรู้สึกว่าทำได้ง่าย
เพราะมักมีความอยากจะทำ มีแรงกระตุ้นให้ทำ
ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "กรรมชั่ว คนชั่ว ทำง่าย
แต่คนดี ทำยาก"
ฉะนั้น ใครที่รู้สึกตนว่าทำชั่วได้ง่าย ก็ต้องเข้าใจว่า
ตนเองยังเป็นคนชั่วอยู่ในเรื่องนั้น ถ้าตนเองเป็นคนดีขึ้นแล้ว
จะทำชั่วในเรื่องนั้นได้ยากหรือทำไม่ได้เอาทีเดียว
ชีวิตชั่วย่อมเกิดจากการทำชั่วนี่แหละ
ส่วนกรรมดีก็เหมือนกัน จะเป็นกรรมดีได้ก็เพราะทำ
อยู่เฉยๆจะเกิดเป็นกรรมดีขึ้นมาเองหาได้ไม่ แต่อาจ
รู้สึกว่าทำกรรมดียาก จะต้องใช้ความตั้งใจความเพียรมาก
แม้ในเรื่องของกรรมดีพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า
"กรรมดี คนดี ทำง่าย แต่คนชั่ว ทำยาก"
ฉะนั้น ใครที่ทำดียากในข้อใด ก็พึงทราบว่าตนเองยังไม่ดีพอ
ต้องส่งเสริมตนเองให้ดีขึ้นอีก ด้วยความพากเพียรทำกรรมดีนี่แหละ
ถ้าเกียจคร้านไม่ทำกรรมดีอะไร ถึงจะไม่ทำกรรมชั่ว
ชีวิตก็เป็นโมฆชีวิต คือ ชีวิตเปล่าประโยชน์ ค่าของชีวิต
จึงมีได้ด้วยกรรมดี ทำกรรมดีมาก ค่าของชีวิตก็สูงมาก
ดังนั้น ความมีชีวิตดี หรือชั่ว ย่อมขึ้นอยู่แก่กรรมที่ทำแล้วนี้
กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า "ความขึ้นหรือลงแห่งชีวิต
ย่อมแล้วแต่กรรม แต่ก็อาจจะกล่าวว่า ย่อมแล้วแต่บุคคลด้วย
เพราะบุคคลเป็นผู้ทำกรรม เป็นเจ้าของกรรม
สามารถที่จะละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรมได้"
คือ สร้างกุศลกรรมขึ้นอยู่เสมอ เมื่อกุศลกรรมมีกำลังแรงกว่า
อกุศลกรรมจะตามไม่ทัน หรือจะเป็นอโหสิกรรมไป
แต่ในการสร้างกุศลนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นประการสำคัญ
คือ จะต้องมีจิตใจประกอบด้วยสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ
ตั้งต้นแต่เห็นว่าอะไรเป็นบาปเป็นอกุศล อะไรเป็นบุญกุศล
ตลอดถึงเห็นในเหตุผลแห่งทุกข์และความดับทุกข์ตามเป็นจริง
ความเห็นชอบดังนี้ จะมีขึ้นก็ต้องอาศัย วิชา ที่แปลว่า ความรู้
อันคำที่หมายถึง ความรู้ มีอยู่หลายคำ เช่น วิชา ปัญญา ญาณ
เฉพาะคำว่า วิชา หมายถึง ความรู้ ดังกล่าวก็ได้ หมายถึง วิชาที่เรียนรู้
ก็ได้ ดังที่พูดกันว่าเรียนวิชานั้นวิชานี้ก็ได้ ในที่นี้หมายถึงรวมๆกันไป
จะเป็นความรู้โดยตรงก็ได้ จะเป็นความรู้ดังที่เรียกว่าวิชาก็ได้
เมื่อหมายถึงตัวความรู้โดยตรงก็เป็นอย่างเดียวกับปัญญา
วิชาเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งชีวิตอีกข้อหนึ่ง
และเมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นว่า กรรมทุกๆอย่าง
ย่อมต้องอาศัยวิชา ถ้าขาดวิชาเสีย จะทำกรรมอะไร
หาได้ไม่ คือ จะต้องมีวิชาความรู้จึงจะทำอะไรได้
ทุกคนจึงต้องเรียนวิชาสำหรับใช้ในการประกอบกรรมตามประสงค์
เช่น ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกสิกรรม ก็ต้องเรียนวิชาทางกสิกรรม
จะประกอบอาชีพทางตุลาการหรือทนายความก็ต้องเรียนวิชากฎหมาย
ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นวิชาความรู้ทั่วไป วิชาอีกอย่างหนึ่ง คือ วิชาที่
จะทำให้เป็นสัมมาทิฐิ ดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้
ละอกุศลกรรมด้วยกุศลกรรม และที่จะเป็นเหตุให้ละความทุกข์
ที่เกิดขึ้นทางใจได้
วิชา "ละอกุศลธรรม" และวิชา "ละความทุกข์ใจ" นี้
เป็นวิชาสำคัญที่จะต้องเรียนให้รู้
และเป็นวิชาของพระพุทธเจ้าโดยตรง
ถึงจะรู้วิชาอื่นท่วมท้น แต่ขาดวิชาหลังนี้
ก็จะรักษาตัวรอดได้โดยยาก
-
ข้อคิดทางธรรม เพื่อนำไปลิขิตชีวิต
บุญคือความสุข ย่อมเกิดจากการทำบุญ
ชีวิตของทุกคนที่ผ่านพ้นไปในรอบปีหนึ่งๆ
นับว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อถึงวันเกิด
บรรดาผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงถือเป็น
ปรารภเหตุทำบุญมากบ้าง น้อยบ้าง เพื่อฉลอง
อายุที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อความเจริญอายุ(มีอายุยืนยาว)
พร้อมทั้งวรรณะ(ผิวพรรณผ่องใส) สุขะ(ความสุข)
และพละ(สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์) ยิ่งขึ้น
ความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นพร
ที่ทุกคนปรารถนา แต่พรเหล่านี้หาได้เกิดขึ้น
ด้วยลำพังความปรารถนาไม่ ย่อมเกิดขึ้น
จากการทำบุญ
ฉะนั้น คนไทยส่วนมากจึงยินดีในการทำบุญ
และยินดีได้รับพรอนุโมทนาจากพระสงฆ์
หรือผู้ใหญ่ ยินดีรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในที่สุด
เมื่อทำบุญแล้ว ถือว่าเป็นสิริมงคล
พิจารณาดูถึงพฤติกรรมในเรื่องนี้โดยตลอดแล้ว
จะเห็นว่าพึงเป็นสิริมงคลจริง เพราะสาระสำคัญ
ของเรื่องอยู่ที่ว่า ได้ทำบุญจริง แล้วคำอวยพรต่างๆ
จึงตามมาทีหลัง สนับสนุนกันให้จิตใจมีความสุข
ขึ้นในปัจจุบันทันที
ความสุขอันบริสุทธิ์นี้แหละ คือ บุญ ดังมี่พุทธภาษิตรัสไว้
แปลเป็นใจความว่า "ท่านทั้งหลาย อย่ากลัวต่อบุญเลย
คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อแห่งสุข" หมายถึง ความสุขที่บริสุทธิ์
คือ ความสุขอันเกิดจากกรรมอันบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่าบุญเช่นเดียวกัน
-
สร้างบุญใสใส ได้ 4 ดี : อายุ วรรณะ สุขะ พละ
อันกรรมบริสุทธิ์ เกิดจากจิตที่บริสุทธิ์
เพราะสงบความโลภ โกรธ หลง
ประกอบด้วยธรรมมีเมตตากรุณา เป็นต้น
จะเห็นได้จากจิตใจของผู้ที่ทำการบริจาค
ในการบุญต่างๆของผู้ที่รักษาศีล และ
อบรมจิตใจกับปัญญา ใครๆที่เคยทำทาน
รักษาศีลและอบรมจิตกับปัญญาดังกล่าว
ย่อมจะทราบได้ว่ามีความสุขอย่างไร
ตรงกันข้ามกับจิตใจที่เร่าร้อนด้วยกิเลสต่างๆ
และแม้จะได้อะไรมาด้วยกิเลส มีความสุข
ตื่นเต้น ลองคิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า เป็น
ความสุขจอมปลอม เพราะเป็นความสุขของ
คนที่หลงไปเสียแล้ว เหมือนความสุขของคน
ที่ถูกหลอกลวงนำไปทำร้าย ด้วยหลอกให้ตายใจ
และดีใจด้วยเครื่องล่ออย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่มีอะไรจะช่วยคนประเภทนี้ได้ นอกจาก
การทำบุญ เพราะการทำบุญทุกครั้ง เป็นการ
ฟอกชำระจิตใจให้ใสบริสุทธิ์สะอาดขึ้นทุกที
การอาบน้ำชำระร่างกาย ย่อมทำให้ร่างกายสะอาด
สบายตัว ฉันใด การทำบุญก็เป็นการชำระใจ
ให้สะอาดบริสุทธิ์ ฉันนั้น
เมื่อจิตใจมีความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นตามสมควรแล้ว
จะมองเห็นได้เองว่า ความสุขที่บริสุทธิ์แท้จริงนั้น
เกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้น จะได้ปัญญา
ซาบซึ้งคุณพระทั้ง 3 ว่า ความเกิดขึ้นของ
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ให้เกิดสุขจริง การแสดง
พระสัทธรรมให้เกิดสุขจริง ความพร้อมเพรียงของ
สงฆ์คือหมู่ให้เกิดสุขจริง ความเพียรของหมู่ที่
พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุขจริง
ผู้ที่มีจิตใจ กรรม และความสุข ที่บริสุทธิ์เช่นนี้
ชื่อว่าผู้มีบุญ อันได้ทำแล้วในปัจจุบัน
เป็นผู้มีความมั่นคงในตัวเอง อย่างที่ไม่ว่าใครๆ
หรืออะไรจะทำลายมิได้ และจะเจริญด้วยพร
คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ ยิ่งๆขึ้นไปด้วยเดชบุญ
-
หมั่นศึกษาการสร้างบุญให้ถูกวิธี
เรื่องบุญบาป หรือความดี ความชั่ว เป็นเรื่องที่
น่าทำความเข้าใจกันให้ดี เพราะเป็นเรื่องสำหรับ
ภูมิปัญญาของมนุษย์ พวกสัตว์เดรัจฉาน ท่านว่าเป็น
อเหตุกสัตว์ คือ ทำอะไรไม่เป็นบุญบาป เช่น
เสือกินสัตว์เป็นอาหาร ไม่มีอาหารเป็นอย่างอื่น
แมวกัดกินหนู เพราะไม่มีความรู้จักบาปบุญ คือ
มีความรู้ต่ำเสียเหลือเกิน ถึงเป็นมนุษย์จำพวกเป็นบ้า
ไม่มีสติ ทำอะไรก็ไม่เป็น บาป เพราะไม่มีความรู้สึก
ในการทำนั้น กฎหมายก็ยกเว้น วินัยก็ยกเว้น
ฉะนั้น จะทำอะไรเป็นบุญ-บาป จึงต้องมีความรู้ขั้นปกติชน
คือ รู้จักบาป บุญ ดีชั่ว พูดง่ายๆ ก็คือว่า รู้ว่าทำสิ่งนี้ดี
ทำสิ่งนี้ไม่ดี อย่างที่คนทั่วไปรู้กัน
ถ้าจะมีปัญาหาว่า คนทั่วไปรู้กันอย่างไร? ก็ตอบได้ว่า
รู้เช่นว่า การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นความดี การก่อทุกข์
แก่กันนั้น เป็นความชั่ว ประจักษ์พยานในเรื่องนี้
คือ ตนเองของทุกๆคน เมื่อมีใครมาช่วยเหลือเกื้อกูล
หรือแม้เพียงเขาไม่มาเบียดเบียน เราว่าเขาเป็นคนดี
แต่เมื่อใครมาทำร้ายเรา เราก็ว่าเขาเป็นคนชั่วไม่ดี
คนทั่วไปย่อมรู้และรับรองกันดังนี้ ทุกประเทศในโลก
จึงมีหลักกฎหมายใหม่ๆคล้ายคลึงกัน ไม่ต้องพูดถึง
ศาสนาต่างๆ ซึ่งแสดงหลักของความดีความชั่วละเอียดกว่า
คนทั่วไปย่อมรู้และรับรองดังนี้ ทุกประเทศในโลก
จึงมีหลักกฎหมายใหญ่ๆคล้ายคลึงกัน ไม่ต้องพูดถึง
ศาสนาต่างๆ ขึงแสดงหลักของความดีความชั่วละเอียดกว่า
เรื่องบุญบาป จึงเป็นเรื่องสำหรับปกติชนที่มีปัญญา
อย่างสามัญชนทั่วไป ไม่ใช่เรื่องลุ่มลึกอันใด และทุกๆ
คนก็มีความสำนึกกันอยู่น้อยหรือมาก
ทุกๆคนที่มีปัญญาแม้เป็นเพียงมนุษย์ จึง
ปฏิเสธบุญบาปมิได้ ความรู้สึกของตนเองนั่นแหละ
รับรอง เว้นแต่จะเป็นคนบ้าไปเสีย หรือมีภูมิปัญญา
ต่ำเสียเหลือเกิน หรือน่าจะเพิ่มอีกพวกหนึ่งว่ามี
กิเลสหนามาก จนไร้ความสำนึกมนุษย์
อันไม่น่าจะเรียกว่า มนุษย์
-
พยายามขจัดกิเลสให้สิ้นซากจากจิตใจ
จึงลิขิตชีวิตให้สวยงามยิ่งนัก
อันเหตุการณ์ที่คนก่อขึ้นนั้น นับว่าเป็นกรรมของคน
หมายความว่า การที่คนทำขึ้น ไม่ใช่หมายความว่า
กรรมเก่าอะไรที่ไม่รู้ แต่เป็นกรรมคือการกระทำที่รู้ๆกันอยู่นี่แหละ
เมื่อก่อขึ้นด้วยกิเลส ก็เป็นเหตุทำลายล้าง แต่เมื่อ
ก่อขึ้นด้วยธรรม ก็เป็นเหตุเกื้อกูลให้มีความสุข
ถ้าจะถามว่า กิเลสซึ่งนับว่าเป็นอธรรมนั้น ก่อให้เกิด
เหตุการณ์ต่างกัน ให้ผลตรงข้ามกัน ใครๆก็น่าจะมองเห็น
แต่ไฉนจึงยังใช้กิเลสก่อกรรมกันอยู่ พระพุทธศาสนา
หรือศาสนาอื่นๆจะช่วยให้คนใช้ธรรมกันให้มากขึ้น
กว่านี้ไม่ได้หรือ
ก็น่าจะมีคำถามย้อนไปบ้างว่า เมื่อเป็นสิ่งที่น่ามองเห็น
กันได้ง่ายดังนั้น ทำไมใครๆไม่สนใจที่จะปฏิบัติธรรม
ของพระพุทธเจ้าให้มากขึ้นเล่า พระพุทธศาสนาพร้อม
ที่จะช่วยทุกๆคนอยู่ทุกขณธ แต่เมื่อใครปิดประตูใจ
ไม่เปิดรับธรรม พระพุทธศาสนาก็เข้าไปช่วยไม่ได้
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้ว่า ธรรมชาติแท้จริงแต่เดิมนั้น
ผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะเครื่องหมองที่จรเข้ามา
กิเลสตัณหาทั้งปวง เป็นสิ่งเศร้าหมองที่จรเข้ามา
จมปลักหมักหมม ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต เป็นสิ่งที่
อาจชำระให้พ้นออกไปจากจิตใจได้
ดังนั้น จึงทรงสั่งสอนธรรม เพื่อชำระสิ่งที่เศร้าหมอง
เหล่านี้ให้หมดสิ้น จิตใจที่ชำระให้สะอาดจะสงบความใคร่
ความอยากที่จะทำสิ่งที่แผลงๆผิดๆทุกอย่าง ฉะนั้น
พวกที่ถือว่าทำอะไรตามใจนั้น เป็นทางสิ้นกิเลส หรือสิ้นทุกข์
จึงผิดหลักพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม
พระพุทธเจ้าตรัสมิให้ทำตามอำนาจของใจ แต่ให้สำรวม
ข่ม ฝึกรักษาชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้พ้นจาก
กิเลสเครื่องเศร้าหมอง จึงจะสามารถแยกความใคร่
ความอยาก ออกจากจิตใจได้
-
ลิขิตชีวิตสู่ความสำเร็จได้ ต้องมี พลัง 5
1. ศรัทธา
2. วิริยะ
3. สติ
4. สมาธิ
5. ปัญญา
คนเราทุกๆคน ต่างมีการงานที่จะต้องทำเพื่อ
ให้เกิดความสำเร็จ ถ้าจะมีคำถามว่า จะใช้ธรรม
หมวดไหนของพระพุทธเจ้า มาช่วยในการ
ทำการงานทุกอย่างให้สำเร็จ?
หากมีคำถามเช่นนี้ ก็อาจตอบได้ว่า ควรใช้พละ
คือธรรมที่เป็นกำลัง 5 อย่าง กล่าวคือ
คนที่จะทำงานทุกอย่างสำเร็จนั้น
ประการแรก จะต้องมีศรัทธา ความเชื่อที่ตั้งมั่นในทางที่ดำเนิน
ตั้งแต่ขั้นแรก จนถึง ขั้นที่สุด ต้องมีความเชื่อ
ที่ตั้งมั่นในตนเอง ปราศจากความลังเลใจ
ประการที่สอง จะต้องมีวิริยะ ความกล้าหาญที่จะทำ ไม่ย่อท้อ
ไม่อ่อนแอ ไม่ยอมให้มีจุดอ่อนในตน
ประการที่สาม จะต้องมีสติ ความรอบคอบ ไม่ประมาท
ไม่มองข้ามแม้ในสิ่งเล็กๆน้อยๆ
ไม่ให้เส้นผมบังภูเขา ทั้งไม่ให้ภูเขาบังเส้นผม
ประการที่สี่ จะต้องมีสมาธิ ความตั้งใจอย่างมั่นคงในสิ่งที่จะทำนั้น
ไม่ทอดทิ้งธุระละทิ้งเสียกลางคัน
ประการที่ห้า จะต้องมีปัญญา ความรู้ทั่วถึง สามารถใช้เป็น
เครื่องมือในการตรวจตรา พิจารณาให้ถ้วนทั่ว
ทั้งก่อนทำ ขณะกำลังทำ และภายหลังที่ทำแล้ว
ว่ามีผลเป็นประการใด
ศรัทธา กับ ปัญญา ต้องมีให้พอสมควรแก่กัน บางทีอาจจะมีศรัทธามากกว่า
เช่น เชื่อในทางที่อยากจะเชื่อ หรือที่ชอบจะเชื่อ ไม่พินิจให้ดีด้วยปัญญา
ก็จะกลายเป็นศรัทธาที่ขาดปัญญาไป เพราะความอยาก หรือความชอบนั้น
เป็นคนละอย่างกับปัญญา
หรือบางทีต่างต้องการแต่เหตุผลทางปัญญาเท่านั้น ไม่ยอมจะเชื่ออะไร
สำหรับที่จะเป็นที่พึ่งทำให้ใจมั่นคง ก็จะขาดกำลังที่สำคัญไป
เพราะสิ่งมองกันไม่เห็นคิดไปไม่รู้นั้น ยังมีอยู่อีกเป็นอันมาก ฉะนั้น
จะต้องให้ได้ทั้งเหตุผลทางปัญญา ทั้งความเชื่อที่ตั้งมั่น แม้ในสิ่งที่มองไม่เห็น
ส่วน ความเพียร กับ ความตั้งใจมั่น ก็ต้องให้มีพอสมควรแก่กัน
เพราะถ้าขาดความเพียรขวนขวายมากไป ก็จะทำให้ฟุ้งซ่าน
ขาดความมั่นคง ถ้าทำใจให้ตั้งมั่นมากไป ก็จะทำให้หยุดความเพียร
หรือทำให้ช้าไปกว่าที่ควร
ส่วนสติ ที่รอบคอบ จะต้องให้มีมากอยู่เสมอในทุกเรื่องทุกเวลา
ธรรมเหล่านี้ จะรวมกันเป็นกำลังสนับสนุนการทำงานทุกอย่าง
ให้สำเร็จ คนที่มีธรรม คือ คุณงามความดีที่ทำไว้มาก หากได้มี
พละ 5 นี้เพิ่มเข้าไปอีก ก็จะยิ่งส่งเสริมความสำเร็จให้ดีมากขึ้น
เพราะธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
เพียงมีศรัทธาในพระพุทธเจ้าผู้ตรัสพระธรรมบทนี้ไว้โดยมั่นคง
ก็เพียงพอสำหรับข้อศรัทธา และธรรมนี้เอง จะเป็นเครื่องป้องกัน
อุปสรรคศัตรูมิให้ทำลายล้างได้ จะรักษาส่งเสริมให้ดำรงอยู่
และมีความเจริญ ซึ่งผลนี้จะสำเร็จโดยไม่ชักช้าอย่างอัศจรรย์
-
ฝึกสร้างกำลังใจ เพื่อลิขิตชีวิตสู่ความสำเร็จ
กำลังใจ เป็นข้อสำคัญที่จะอุปการะให้เกิดความสำเร็จ
ในกิจที่จะทำทั้งปวง เหตุที่จะทำให้เสียกำลังใจนั้นมีมาก
แต่ในทางตรงกันข้าม เหตุที่จะทำให้เกิดกำลังใจก็มีมากเช่นกัน
จึงควรคิดค้นหาให้พบเหตุแห่งกำลังใจ ในที่นี้ จักแสดงไว้
เป็นแนวทางในการสร้างกำลังใจ 6 วิธี คือ
1. ฝึกปฏิบัติอบรมจิตใจ
ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปฏิบัติอบรมจิตใจล้วนเป็นเหตุ
ให้เกิดกำลังใจเช่น ศรัทธา ความเชื่อในผู้อื่นที่ควรเชื่อ
และความเชื่อในตนเอง เมื่อมีความเชื่อทั้งสองอย่างนี้
ประกอบกันตามส่วน ก็เป็นกำลังใจสำคัญประการหนึ่ง
2. ความวางใจเป็นอุเบกขา ในนินทาและสรรเสริญ
คือไม่ถือเอาเสียงซุบซิบ หรือเซ็งแซ่ในทางต่างๆเป็นใหญ่
แต่ถือประโยชน์ของตนเป็นประมาณ ดำเนินทางรักษา
ประโยชน์ของตนไว้ ใครจะว่าอย่างไรไม่ถือเป็นสำคัญ
เพราะถ้าไปถือเป็นสำคัญเข้า ก็จะเสื่อมประโยชน์
จะทำให้ใจระทมย่อท้อ เพราะนินทา
จะให้ใจกำเริบเสิบสาน เพราะสรรเสริญ
นับว่าเป็นเหตุให้เสียกำลังใจด้วยกัน
วางใจให้เป็นอุเบกขาในเรื่องนี้ได้ จึงเป็นกำลังใจสำคัญประการหนึ่ง
3. ความเห็นทางออกด้วยปัญญา
ความเห็นทางออก หมายถึง สติปัญญาที่เหนือกว่า
เห็นทางออกจากข้อขัดข้องในทุกทาง ด้วยวิธี
ที่ไม่เป็นทุกข์ ความเห็นทางออกด้วยปัญญา
จึงเป็นกำลังใจประการหนึ่ง
4. ความปลงใจเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม
ความปลงใจลงในกรรม และผลของกรรม โดยกำหนด
คิดว่าเป็นไปตามกรรมที่แต่ละคนได้ทำไว้
ตนเองก็มีกรรมเป็นของของตน ไม่ได้ทำไว้ในชาตินี้
ก็ควรเชื่อว่าได้ทำไว้ในอดีตชาติ ทุกคนจึงต้อง
เผชิญกับบุคคลหรือเหตุการณ์ต่างๆอยู่บ่อยๆที่ตนเอง
ไม่ชอบใจปรารถนา แต่ก็ต้องพบเผชิญอย่างหลีกเลี่ยง
ไม่พ้น เมื่อเป็นดังนี้ ก็ต้องยอมเผชิญ ถือว่าเป็นกรรม
และผลของกรรม จึงต้องปฏิบัติไปตามกรรมวิบาก คือ
ทำไปตามกระบวนเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยสติปัญญาอย่างเต็มที่
ไม่หลีกเลี่ยงย่อท้อ ความปลงใจลงในกรรมและผลของกรรม
จึงเป็นกำลังใจประการหนึ่ง
5. คิดให้เป็นเหมือนเรื่องที่ผ่านไปแล้ว
ความคิดให้เหมือนอดีต คือ ล่วงไปแล้ว เหตุการณ์ทั้งปวง
พร้อมทั้งอายุล่วงไปโดยลำดับ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
ก็จักล่วงไปทั้งหมด จักมอดไปเหมือนเถ้าถ่านที่หมดไฟแล้ว
ฉะนั้น ในขณะเผชิญเรื่อง คิดว่าเหมือนกับเรื่องที่ล่วงไปแล้ว
จะทำให้จิตใจรู้สึกเป็นปกติ เพราะเท่ากับเห็นความดับสนิท
ความคิดให้เหมือนอดีต จึงเป็นกำลังใจประการหนึ่ง
6. ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา
ความไม่แพ้ต่อเหตุการณ์หรือปัญหา แม้จะรุนแรง
จิตใจเผชิญได้อย่างเยือกเย็น สุขุมรอบคอบ ไม่กลัว
แต่กล้าอย่างทหารหาญ
พระเจ้าอุเทน เมื่อถูกพระเจ้าจัณฑปัชโชตจับไปเป็นเชลย
ทรงถูกขู่ว่าจะถูกประหาร จึงตรัสว่า ทรงเป็นเชลยแต่ร่างกาย
แต่จิตใจไม่เป็นเชลย ราชศัตรูจึงเป็นใหญ่แต่ทางร่างกาย
ไม่เป็นใหญ่แห่งจิตใจ จะทำอะไรแก่ร่างกายก็ทำไปเถิด
ความมีใจหาญดังนี้ เป็นกำลังใจสำคัญประการหนึ่ง
รวมความว่า "คนฉลาด ย่อมรู้วิธีเสริมกำลังแก่จิตใจ
คนโง่เท่านั้น ที่นอนเสียกำลังใจ ไม่รู้จะแก้ไขใจของตนอย่างไร"
-
มองคนอื่นกี่คน ก็สู้มองตนไม่ได้
อันเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นแก่ชีวิต มีอยู่เป็นอันมาก
ที่บังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ไม่คิดมาก่อน แต่เมื่อเป็น
เหตุการณ์ที่จะต้องเกิดก็เกิดขึ้นจนได้ ถ้าหาก
ใครมองดูเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างของเล่นๆ
ไม่จริงจัง ก็ไม่เกิดทุกข์เดือดร้อน หรือจะเกิดบ้าง
ก็เกิดอย่างเล่นๆ ถ้าจะหนีเหตุการณ์เสียบ้าง
ก็เหมือนอย่างหนีไปเที่ยวเล่น หรือไปพักผ่อน
เสียครั้งคราวหนึ่ง
คนเรานั้นเมื่อเห็นว่าที่ใดมีทุกข์ ก็จะต้องหนีไปให้พ้น
จากคนหรือเหตุการณ์ที่ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้น ฉะนั้น
ถ้าแต่ละคนได้ระลึกถึงข้อนี้ ก็ควรจะไม่ประพฤติหรือ
กระทำการก่อทุกข์ให้แก่กัน ทั้งนี้ด้วยมีความสำนึกตน
และประพฤติตนให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร
เรื่องว่า อะไรสมควร อะไรไม่สมควรนั้น ถ้าคนเรามีสติ
รู้จักตนตามเป็นจริง ไม่หลงตน ไม่ลำเอียงแล้ว ก็จะ
รู้ได้โดยไม่ยาก บางทีหลอกคนอื่นได้ แต่หลอกตนเองหาได้ไม่
การมองดูคนอื่นนั้น สู้มองดูตนเองไม่ได้ เพราะตนเองต้อง
รับผิดชอบต่อตนเองโดยตรง ส่วนคนอื่นเขาก็ต้องรับผิดชอบ
ต่อตัวเขาเอง เรื่องความรับผิดชอบนี้ บางทีก็นึกไปไม่ออก
ว่าได้ทำอะไรไว้ จึงต้องรับผิดชอบเช่นนี้ เช่น ต้องรับเหตุการณ์
ต่างๆ ที่เกิ่ดขึ้นแก่ชีวิต
ในฐานะเช่นนี้ ผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ย่อมใช้ศรัทธา
ความเชื่อในกรรม และผลของกรรม ทำกรรมที่ผิดไว้ ก็ต้อง
รับผิดต่างๆ ทำกรรมที่ชอบไว้ ก็ต้องรับชอบต่างๆ จะเลือก
เอาอย่างใดอย่างหนึ่งหาได้ไม่
เมื่อยอมรับกรรมเสียได้ดังนี้ ก็จะมีความกล้าหาญ
เป็นอะไรก็เป็นกัน ไม่กลัวต่อเหตุการณ์ต่างๆ และ
เมื่อเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นจะแก้อย่างไร ศิษย์ของ
พระพุทธเจ้าย่อมแก้ด้วยสติและปัญญา เพื่อให้เป็น
ผู้ชนะด้วยความดี
-
ทำตัวเองให้พึ่งตัวเองได้=ดีไซน์ชีวิตตนให้งามได้
ถ้ามีปัญหาว่า พระพุทธศาสนาให้พึ่งใคร พึ่งตนเอง
หรือพึ่งผู้อื่น คำถามนี้อาจตอบได้ว่า
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม สอนให้เกื้อกูลกันและกัน
สอนให้เป็นมิตรกันและกัน ไม่ให้เป็นศัตรูกัน เพราะ
คนที่อยู่ร่วมกันจำต้องพึ่งพาอาศัยกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เช่น คนจนต้องอาศัยกำลังทรัพย์
ของคนมี ส่วนคนมีต้องอาศัยกำลังแรงงานของคนจน
คนโง่ต้องอาศัยปัญญาของคนฉลาด ส่วนคนฉลาดต้อง
อาศัยกำลังกายของคนโง่ ชาวนาต้องอาศัยได้ผลไม้ของ
ชาวสวน ส่วนชาวสวนก็ต้องอาศัยข้าวของชาวนา
แต่ทุกๆคน จะมุ่งอาศัยแต่ฝ่ายเดียวหาได้ไม่ ตนเองจะต้อง
ทำตนให้เป็นที่พึ่งอาศัยของคนอื่นได้ด้วย คนที่จะทำตน
เช่นนั้นได้ ก็จะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ก่อน
เช่น คนหนึ่งหกล้ม อีกคนหนึ่งจะช่วยอุ้มขึ้นมา คนที่จะช่วย
นั้นต้องยืนตั้งหลักของตนเองให้ดีก่อน จึงจะก้มลงไปอุ้ม
คนที่ล้มขึ้นมาได้ โดยที่ตนเองไม่หกล้มไปด้วย ไม่เช่นนั้น
ก็จะหกล้มไปด้วยกันทั้งคู่ ฉะนั้น ทุกๆคนจึงต้องทำตนให้เป็น
ที่พึ่งของตนได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า
"ตนแล เป็นที่พึ่งของตน" ทั้งควรจะทราบด้วยว่า
อันคนที่มีตนเป็นที่พึ่งของตนได้นั้น จะต้องมีสิ่งที่จะเป็นที่พึ่ง
อยู่ในตนหรือเป็นของตน เช่น มีวิชา มีการงาน มีทรัพย์ มียศ
ตลอดถึงมีคุณงามความดีเป็นที่นับถือ จะต้องมีเพียงพอที่จะ
เลี้ยงตน อุดหนุนตนให้มีความสุข ความเจริญ ที่จะป้องกันตน
ให้พ้นอันตราย
พึ่งพาผู้อื่นเพื่อให้ตนพึ่งพาตนเองได้ และเกื้อกูลกันและกัน
การแสวงหาวิชา และทรัพย์เป็นต้นนั้น ตลอดถึงการผูกมิตรกับ
ผู้ที่ควรเป็นมิตรทั้งหลายเพื่อผลดังกล่าว หาชื่อว่าเป็นการ
พึ่งผู้อื่นไม่ แต่เป็นการสร้างตนเองให้พร้อมที่จะให้เป็นที่พึ่ง
ของตนเองได้นั่นเอง
เหมือนอย่างผู้นับถือพระพุทธศาสนาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม
พระสงฆ์ เป็นสรณะ คือ ที่พึ่ง หรือพูดง่ายๆว่า พึ่งพระรัตนตรัย
ก็เพื่อทำตนเองให้มีที่พึ่งที่จะสร้างตนเองให้เป็นที่พึ่งของตนได้
หรือเหมือนอย่างบุตรธิดาพึ่งมารดาบิดา ศิษย์พึ่งครู ก็เพื่อที่จะ
สร้างตนเองให้ใหญ่กล้า สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของตนเองต่อไป
การสร้างตนเองให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ ทั้งในทางสามารถ
ป้องกันอันตรายและในการดำรงตนให้เจริญ จึงเป็นหลักสำคัญ
และในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันอยู่ในสังคมโลก
คนเราต้องอยู่ในสังคมใดสังคมหนึ่งในโลก ตามระบอบธรรมนับถือ
เช่น คนที่นับถือธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เข้าสังคมแห่งพุทธศาสนิกชน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ในที่หนึ่งความว่า "ท่านทั้งหลาย จงมีตน
เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง จงมีธรรม เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง" ถือเอาความว่า
อันผู้มีตนเป็นที่พึ่งได้ ก็คือคนที่มีธรรมเป็นที่พึ่ง เช่น ธรรมเป็นที่พึ่ง
10 ประการ ภาษาธรรมเรียกว่า นาถกรณธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับทำที่พึ่ง
หมายถึง คุณงามความดีในทุกระดับซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยตนเอง
นั่นแหละเป็นผู้สร้างขึ้น มี 10 อย่าง คือ
1. ศีล รักษาความเป็นปกติกายวาจา,
2. พาหุสัจจะ ศึกษาความรู้ให้มากไว้,
3. กัลยาณมิตตตา เข้าใจคบคนดีเป็นมิตรสหาย,
4. โสวจัสสตา เป็นคนว่านอนสอนง่าย,
5. กิกรณีเยสุ ทักขตา ขยันเอาใจใส่ในกิจของหมู่คณะ,
6. ธัมมกามตา มีฉันทะในการประพฤติธรรม,
7. วิริยารัมภะ ดำริทำความเพียรเต็มที่,
8. สันโดษ ยินดีในสิ่งที่ตนมีตนได้,
9. สติ นึกขึ้นได้ก่อนทำพูด คิด,
10. ปัญญญา เข้าใจชีวิตตามเป็นจริง
พระพุทธศาสนาจึงเป็นคำสอนที่บริสุทธิ์
เพื่อความประพฤติที่บริสุทธิ์ของทุกคน
ไม่ใช่สำหรับใครยกไปอ้าง เพื่อเหตุผลอย่างอื่น
ทางอื่น
-
สร้างประโยชน์สุขส่วนตัวและสังคม=ลิขิตตนให้มีคุณค่าน่าคบหา
การก่อร่างสร้างตนให้มีความเจริญความสุขในโลก เป็นที่ปรารถนา
ของคนทุกชาติทุกภาษา แต่อาจมีแนวทางต่างกัน ในเรื่องนี้
ถ้ามีปัญหาว่า พระพุทธศาสนาสอนอย่างไร? ก็ตอบได้ว่า พระพุทธ
ศาสนาสอนคฤหัสถ์สร้างตนให้มีความสุขความเจริญ ทั้งทาง
วัตถุและจิตใจ ทั้งในส่วนตัวและสังคม
ทางวัตถุ สอนให้ปฏิบัติในประโยชน์ปัจจุบัน คือ มีความเพียรเล่าเรียน
และทำงานหาทรัพย์ เป็นต้น
ทางจิตใจ สอนให้ปฏิบัติในประโยชน์ภายหน้า คือ มีความเชื่อที่ถูกต้อง
มีความประพฤติดี มีความเผื่อแผ่ และมีปัญญารู้จักผิดชอบชั่วดี
ทางสังคม สอนให้ปฏิบัติชอบต่อกัน ในระหว่างมารดาบิดากับบุตรธิดาเป็นต้น
เช่นสอนว่า ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบแทน
การสร้างตนทางวัตถุตามหลักประโยชน์ในปัจจุบันที่เห็นผลทางตา
ภาษาธรรมเรียกว่า ทิฏฐธัมมีกัตถประโยชน์ คือ ขยันหาเอาเข้าไว้,
ใส่ใจดูแลรักษา, คบหาแต่เพื่อนดี, มีชีวิตพอเพียง เรียกอีกอย่างว่า
คาถาหัวใจเศรษฐี
การสร้างตนทางจิตใจตามหลักประโยชน์ภายหน้า ภาษาธรรม
เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ มีศรัทธาความเชื่อที่ถูกต้อง,
ดำเนินชีวิตในคลองศีลธรรม, เป็นผู้นำในการเสียสละ,
ไม่ละการหาความรู้
การสร้างตนเพื่อประโยชน์สุขทางสังคม มีหลายหัวข้อธรรม เช่น
หลักการครองใจผู้อื่น ภาษาธรรมเรียกว่า สังคหวัตถุ คือ
เอื้อเฟื้อแบ่งปัน, อ่อนหวานเจรจา, สรรหาประโยชน์ให้,
คบง่ายไม่ถือตัว เป็นต้น
ชนะใจตนและคนอื่นด้วยการให้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "พึงชนะคนตระหนี่ หรือความตระหนี่
ด้วยการให้" นี้เป็นวิธีเอาชนะวิธีหนึ่ง ใครเป็นคนมีความตระหนี่
และความโลภ ก็คือตัวเราเอง หรือคนอื่นก็ได้
ถ้าเป็นตัวเราเอง ก็จะต้องเอาชนะด้วยการให้ พยายามทำให้
ตัวเราเองเป็นผู้ให้
ถ้าเป็นคนอื่น ก็อาจเอาชนะเขาด้วยการให้ เช่น ให้สิ่งที่เขาต้องการ
เขาก็พอใจ แล้วเขาก็จะให้สิ่งที่เราต้องการ บางทีก็ซื้อเขาได้ด้วย
การให้ทรัพย์ ผู้มีจิตใจสูงบางคนให้ยิ่งกว่าเขาขอ เป็นทางอย่างสูง
ทำให้เป็นที่พิศวงแก่คนอื่น ว่าทำไมจึงให้ได้
รู้เหตุ ก็รู้ผล ย่อมประมาณการณ์ล่วงหน้าได้
อันเรื่องของชีวิต บางคราวก็ดูเป็นเพียงของเปิดเผยง่ายๆ
บางคราวก็ดูลึกลับ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต
บางอย่างก็เกิดตามที่คนต้องการให้เกิด บางอย่างก็เกิดขึ้น
โดยคนมิได้เจตนาให้เกิด แต่ผลทุกๆอย่างย่อมมีเหตุ
ถ้าได้รู้เหตุก็เป็นของเปิดเผย
ส่วนที่ว่าลึกลับก็เพราะไม่รู้เหตุ จู่ๆก็เกิดผลขึ้นเสียแล้ว เช่น
ไม่ได้คิดว่าพรุ่งนี้จะไปข้างไหน ครั้นถึงวันพรุ่งนี้เข้า
ก็ต้องไปด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบัดเดี๋ยวนั้น
ว่าถึงคนทั่วไปแล้ว วเรื่องของพรุ่งนี้เป็นเรื่องลึกลับ เพราะ
ต่างก็ไม่รู้พรุ่งนี้ของตนเองจริงๆ ถึงวันนี้เองก็รู้อยู่เฉพาะปัจจุบัน
คือเดี๋ยวนี้ แต่อนาคตหารู้ได้ไม่ว่า ต่อไปแม้ในวันนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
-
ลิขิตชีวิต แม้คิดจะเบียดเบียน ก็ไม่ทำ
ระดับของคนแม้เป็นเพียงคนสามัญ ย่อมมียุติธรรม
ตามควร ไม่ต้องการเสียเปรียบใคร ไม่ต้องการ
เอาเปรียบใคร ไม่รังแกข่มเหงผู้อื่น ไม่ต้องพูดถึงมิตร
หรือผู้มีอุปการะแก่ตน ซึ่งจะต้องมีความซื่อตรงต่อมิตร
มีความกตัญญูต่อผู้มีคุณโดยแท้ คนบาปหนัก ก็คือ
คนที่มีระดับแห่งจิตใจต่ำลงไปกว่านี้
ชีวิตต้องเดินหน้าดี แม้ติดไฟแดง เดี๋ยวก็เขียว
เมื่อนั่งรถไปตามถนนสายต่างๆ ถึงตอนที่มีสัญญาณไฟเขียวแดง
จะพบว่าถูกไฟแดงที่ต้องหยุดรถมากกว่าไฟเขียวซึ่งแล่นรถไปได้
น่านึกว่า การดำเนินทางชีวิตของทุกคน มักจะพบอุปสรรคที่ทำให้
การงานต้องชะงัก คนที่อ่อนแอมักยอมแพ้อุปสรรคง่ายๆ ส่วนคนที่
เข้มแข็งย่อมไม่ยอมแพ้ เมื่อพบอุปสรรคก็แก้ไขไป รักษาสิ่งที่
จะทำไว้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ถืออุปสรรคเป็นเหมือนสัญญาณไฟแดง
ที่ต้องพบเป็นระยะ ถ้ากลัวว่าจะต้องพบสัญญาณไฟแดง ซึ่งต้อง
หยุดรถก็จะไปข้างไหนไม่ได้ แม้ในการดำเนินชีวิตก็ฉันนั้น
ถ้ากลัวจะต้องพบอุปสรรคก็ทำอะไรไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอน
ไว้แปลความว่า "เกิดเป็นคนพึงพยายามร่ำไป จนกว่าจะสำเร็จ
ประโยชน์ที่ต้องการ"
แปลงบาปเป็นบุญ จงเพ่งพินิจดู
"อกเขา อกเรา เราเป็นเขา เขาเป็นเรา"
ชีวิตใคร ใครก็รัก ชีวิตเรา เราก็รัก ชีวิตเขา เขาก็รัก
ความตาย ใครก็กลัว ความตาย เราก็กลัว ความตาย เขาก็กลัว
ของใคร ใครก็หวง ของเรา เราก็หวง ของเขา เขาก็หวง
จะลัก จะโกง จะฆ่า จะทำร้ายใครสักคน ขอให้นึกกลับกันเสีย
ให้เห็นเขาเป็นเรา เห็นเราเป็นเขา คือ เขาเป็นผู้จะลัก จะโกง
จะฆ่า จะทำร้ยเรา เราเป็นเขาผู้จะถูกลัก ถูกโกง ถูกฆ่า ถูกทำร้าย
ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกของเรา จะเห็นว่า
ที่เต็มไปด้วยโมหะนั้นจะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณาอย่างลึกซึ้ง
ข่าวผู้พยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้น น่าสลดสังเวช
ยิ่งนัก หรือข่าวผู้กำลังจะสิ้นชีวิต แต่ก็ยังพยายามกระเสือกกระสน
รักษาสมบัติมีค่าของตนที่ติดตัวอยู่อย่างน่าสงสารที่สุด
พบข่าวเหล่านี้เมื่อไร ขอให้คิดถึงใจคนเหล่านั้น อย่าคิดทำร้าย
อย่าคิดเบียดเบียนกันเลย ทุกคนจะต้องตาย และจะตายในเวลา
ไม่นาน คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางแม้ที่แสน
ชั่วช้าโหดร้ายเพื่อได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า
ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้น เป็นทุกข์หนักนัก ตนเองทุกข์
เพราะความโลภอยากได้แล้ว ก็แผ่ความทุกข์เดือดร้อนไปถึง
คนอื่นอย่างน่าอเนจอนาถ ถ้าร้อนเพราะความอยากได้ไม่สิ้นสุด
จะไม่สามารถดับความทุกข์นั้นได้ด้วยวิธีลักขโมยหรือประหัต
ประหารผลาญชีวิตผู้ใด แต่จะดับทุกข์นั้นได้แน่นอน ด้วยทำ
กิเลสให้หมดจดเท่านั้น
-
ปัจจุบัน ทำกรรมดี = ชีวิตดี มีดีไซน์
คนเรามักกลัวกรรมเก่ากัน แต่ไม่รู้ว่ากรรมเก่าที่กลัวนั้นคืออะไร
คิดปั้นเอาว่า คือสิ่งที่มีอำนาจเหนือตนซึ่งจะมาทำให้ทุกข์
อย่างแสนสาหัส
ความเชื่ออย่างนี้ จึงเป็นเหมือนเชื่อในเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์
เป็นแต่เพียงเปลี่ยนจากพูดว่าเทพเจ้า มาว่าเป็นกรรม
ไปเท่านั้น ตกลงว่าเป็นความเชื่อในสิ่งที่ไม่รู้ กลัวในสิ่งที่ไม่รู้
ส่วนพระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงกรรมเก่า ก็ทรงชี้ให้ใครๆ
เห็นด้วยว่า กรรมเก่าคืออะไร เพราะอายตนะทั้ง 6 เหล่านี้
มีอยู่ด้วยกันทุกคน หากเชื่อพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องไปกลัว
กรรมเก่าที่ไหนอีก ถ้าจะกลัว ก็ให้กลัวตา หู ตลอดถึงใจ
ของตนนี่แหละ ที่จะก่อทุกข์ให้แก่ตนหากขาดสังวร
คือ ความระมัดระวัง
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้สังวรตา หู ตลอดจนถึงใจ
คือ ให้มีสติ ระมัดระวังในเวลาที่เห็นอะไร ได้ยินอะไร
ตลอดถึงคิดอะไรต่างๆ เพื่อมิให้สิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน เป็นต้น
มาก่อความชั่วขึ้นในใจ หรือว่าผูกพันใจไว้ให้เป็นทุกข์
เดือดร้อน ถ้ามีใจสังวรอยู่ดังนี้ ก็ไม่ต้องกลัวกรรมเก่า
ส่วนกรรมใหม่นั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้ว และทุกคนจะทำกรรม
ใหม่ขึ้นได้ ก็ด้วยกรรมเก่านั่นแหละ ทั้งทางดีทางชั่ว
เพราะต้องอาศัยตา หู เป็นต้น ทั้งในฐานะเป็นเครื่องมือ
ทั้งในฐานะเป็นเหตุก่อเจตนา ถ้ามีความสังวรดีอยู่ ก็จะ
ก่อเจตนาที่เป็นบุญเป็นกุศลแต่อย่างเดียว
มุ่งมั่น มุ่งมั่น ทำให้ได้ ในกรรมดี เป็นแรงดี
เรื่องของกรรมที่หมายถึง กรรมเก่า เป็นแรงดันที่สำคัญอย่างหนึ่ง
กรรมเก่าที่ทำไว้ไม่ดี ย่อมเป็นแรงดันให้พบผลที่ไม่ดี กรรมเก่า
ที่ทำไว้ดี เป็นแรงดันให้พบผลที่ดี แต่ก็ยังมีแรงดันอีกอย่างหนึ่ง
ที่ส่งเสริม หรือว่าต้านทาน คือ กรรมใหม่ที่ทำในปัจจุบัน
ถ้ากรรมปัจจุบันไม่ดี เป็นแรงดันโต้แรงดันของกรรมดีเก่า
ส่งเสริมแรงดันของกรรมเก่าที่ไม่ดีด้วยกัน
ถ้ากรรมปัจจุบันดี ก็เป็นแรงดันโต้แรงดันของกรรมเก่าที่ไม่ดี
ส่งเสริมแรงดันของกรรมเก่าที่ดีด้วยกัน ความที่จะโต้กัน
หรือส่งเสริมกันได้เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่แก่ระดับของกำลัง
ที่แรงหรืออ่อนกว่ากันเพียงไร
คติทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า "บาปกรรมที่บุคคลใด
ทำไว้แล้ว บุคคลนั้น ย่อมละได้ด้วยกุศล"
ฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธาในกรรมหรือในบุญบาป จึงทำกรรมที่ดี
อยู่เสมอ และมีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เพราะได้เห็นแล้วว่า
บุญช่วยได้จริง และช่วยได้ทันเวลา
ผลที่เกิดขึ้นในระยะเวลาต่างๆกัน เป็นเครื่องพิสูจน์ความจริง
เรื่องบุญบาป ซึ่งจะเห็นกันได้ในชีวิตนี้
-
เตรียมความพร้อมรับความผิดหวังอยู่เสมอ
ความไม่สำเร็จ และความพิบัติต่างๆอาจมีได้เหมือนกัน
ดังนั้น เมื่อได้ใช้ความพยายามเต็มที่แล้ว ไม่ได้รับ
ความสำเร็จก็ไม่ควรเสียใจ แต่ควรคิดปลงใจลงว่า
เป็นคราวที่จะพบความไม่สำเร็จในเรื่องนี้ ทั้งไม่ควร
จนปัญญาที่จะคิดแก้ไข หรือทำการอย่างอื่นต่อไป
วิสัยคนมีปัญญา ไม่อับจนถึงกับไปคิดแย่งทรัพย์ของใคร
คนที่เที่ยวลักขโมยแย่งชิงหรือทำทุจริตเพื่อให้ได้ทรัพย์
ล้วนเป็นคนอับจนปัญญาที่จะหาในทางสุจริตทั้งนั้น
ส่วนความพิบัติ เมื่อไม่ประมาทยังต้องพบ ก็แปลว่า
ถึงคราว หรือที่เรียกว่า เป็นกรรม
สร้างบุญนำหน้า สิ่งดีดีจะตามมา
ทุกชีวิตมีทั้งบุญ มีทั้งบารมี มีบาปติดตามอยู่เพื่อให้เกิดผล
แก่ชีวิตในปัจจุบัน เมื่อในบุญนำหน้า และมาถึงชีวิตแล้ว
เมื่อนั้นชีวิตก็จะงดงามด้วยแสงแห่งบุญ แสงแห่งบุญนั้น
งดงาม คงเคยได้พบได้เห็นผู้มีแสงแห่งบุญประดับงดงาม
กระทบตากระทบใจ จนให้ความรู้สึกเกิดขึ้นชัดเจน ถึงกับ
เคยได้เอ่ยปากชื่นชมว่าบุญส่งแน่จึงงดงามนัก
ในทางตรงกันข้าม เมื่อใดหน้าตาผิดพรรณวรรณะเศร้าหมอง
มากมาย เมื่อนั้นนั่นแหละคือเครื่องหมายแห่งความห่างไกล
บุญปรากฎอยู่