(http://farm4.static.flickr.com/3096/3180614523_b9b45f6067.jpg)
ดังนั้นใครก็ตามที่คิดจะตั้งศูนย์อำนาจใหม่หรือต่อต้านอำนาจเก่า ควรจะต้องรู้ว่า อำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอิงอาศัยนานาปัจจัย อำนาจไม่ได้บรรจุอยู่ในอาคารสถานที่ การยึดอำนาจรัฐไม่ได้เกิดจากการยึดตัวอาคาร หากจะต้องยึดครองที่หัวใจคน
ถามว่าเช่นนี้แล้ว คนที่จิตไม่ว่าง หรือคนที่เต็มแน่นไปด้วยอัตตา จะขึ้นไปกุมอำนาจได้หรือไม่? คำตอบคือคงได้ตามวิถีทางโลก และในความหมายแบบทางโลก แต่จะไม่ใช่อำนาจที่แก้ปัญหาอะไรได้ อย่างถึงราก กลับเป็นอำนาจที่ก่อความเดือดร้อน สร้างทุกข์เข็ญให้บ้านเมืองเสียมากกว่า อีกทั้งจะไม่มีความมั่นคงยั่งยืน เนื่องจากถูกปฏิเสธต่อต้าน
อันที่จริง ตรงนี้แหละ คือความแตกต่างระหว่างผู้แสวงหาอำนาจธรรมดากับผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าในความหมายของธรรมะ หรือในความหมายทางรัฐศาสตร์ก็ตาม
ผู้นำการเมืองเมื่อว่างจากตัวตน จึงสามารถทำทุกอย่างได้ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครอง เสียสละทุกอย่างได้เพื่ออาณาประชาราษฎร์ ส่วนผู้กุมอำนาจที่จิตไม่ว่างนั้น ต่อให้ไม่ก่อปัญหาร้ายแรง ก็จะมีทางเลือกและศักยภาพในการแก้ปัญหาได้น้อยกว่ากันมาก
เหมือนดังพุทธภาษิตที่กล่าวว่า เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต 'ในที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ในที่นั้นไม่เรียกว่าสภา' อ่านความหมายง่ายๆของข้อความนี้ ก็คือการประชุมหรือชุมนุมกันของคนจิตไม่ว่างนั้น ไม่นับเป็น'สภา'ที่แท้จริง และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร
ขออนุญาตอ้างถึงพระไตรปิฎกอีกเล็กน้อย
เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติผู้นำนั้น ผมคิดว่าไม่มีเรื่องไหนสามารถสาธิตประเด็นนี้ ได้ชัดเจนเท่าเรื่องของพญาวานรในนิทานชาดกชื่อมหากปิชาดก
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นพญาลิง ผู้มีพละกำลังมหาศาลและมีบริวารอยู่แปดหมื่นตัว ในขณะที่พญาลิงพาบริวารมาเก็บผลมะม่วงรสดีกินอยู่ในป่าหิมพานต์นั้น บังเอิญมีมะม่วงผลหนึ่งตกลงไปในแม่น้ำ และลอยไปติดข่ายของพระราชาเมืองพาราณสี พระราชาทรงชิมผลมะม่วงแล้วเกิดติดใจ จึงยกไพร่พลออกค้นหาต้นมะม่วงที่อยู่ต้นน้ำ ครั้นพบฝูงลิงปีนป่ายอยู่บนต้นมะม่วงเต็มไปหมด ก็สั่งทหารถืออาวุธไปล้อมไว้ เตรียมจะประหัตประหารไม่ให้มีเหลือแม้ตัวเดียว
ฝ่ายพญาลิงเห็นบริวารตกอยู่ในห้วงอันตราย จึงกัดเครือหวายตั้งใจว่าจะผูกเป็น สะพานเชื่อมระหว่างต้นมะม่วงกับต้นไม้ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่หวายยาวไม่พอ จึงตัดสินใจใช้มือยึดกับต้นมะม่วงและทอดร่างต่อจากเส้นหวาย ให้บริวารได้เหยียบข้ามไปสู่ความปลอดภัย จนกระทั่งบริวารลิงหนีพ้นภัยไปสู่ฝั่งตรงข้ามได้ครบทุกตัว แต่เคราะห์กรรมของพญาลิง ผู้เป็นหัวหน้าก็คือ ลิงตัวหนึ่งซึ่งเป็นพระเทวทัตมาเกิด ได้ถือโอกาสนี้กระโดดใส่หลังพระโพธิสัตว์ที่เป็นพญาวานรอย่างแรงจนได้รับบาดเจ็บ และไม่อาจหนีตามฝูงของตนไป
สุดท้ายพระราชาซึ่งเห็นภาพทั้งหมด เกิดรู้สึกสะเทือนพระทัย จึงโปรดให้นำพญาลิงมารักษาพยาบาล แต่อาการท่านสาหัสเกินกว่าจะเยียวยา จึงสิ้นใจไป ก่อนหน้านั้น พระราชาได้ตรัสถามพญาลิงว่า ทำไมจึงยอมเจ็บตัว พญาลิงได้กล่าวกับพระราชาว่า'เราเป็นพญาลิง ปกครองฝูงลิงทั้งหมด เมื่อพวกเขาตกอยู่ในอันตราย เราจึงต้องนำความสุขมาให้ผู้อยู่ภายใต้การปกครอง'
ผมไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม ท่านทั้งหลายก็คงประจักษ์ชัดแล้วว่า คุณสมบัติผู้นำตามหลักพุทธศาสนานั้นเป็นเช่นใด
แต่พูดก็พูดเถอะ การเป็นผู้นำการเมืองนั้น ไม่จำเป็นต้องหมายถึงบุคคลที่กุมอำนาจการปกครองแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายต่อต้านคัดค้านที่รวบรวมกำลังคน มาตั้งเป็นพรรคเป็นพวกหรือตั้งเป็นขบวนการเมืองในชื่อต่างๆ ก็สามารถเป็นผู้นำการเมืองได้ หรือจะเป็นแค่ผู้แสวงหาอำนาจธรรมดาๆก็ได้ ถ้าหากไม่ยึดถือในหลักธรรม ถ้าหากมองไม่เห็นว่างแห่งอำนาจ
ผมได้พูดไว้แล้วข้างต้นว่า ปรมัตถ์กับบัญญัติไม่ได้แยกขาดจากกัน เพราะฉะนั้นเรื่องการเมืองนี้ ถ้าทำให้ถูกให้ดี ก็เท่ากับสามารถอาศัยวัฏสงสารเป็น'พาหนะเดินทาง'ไปสู่นิพพาน ถ้าทำไม่ถูกต้อง ก็วนเวียนอยู่ในวัฏจักรแห่งความทุกข์ร้อนไม่สิ้นสุดเช่นกัน
ถ้าเราเข้าใจอำนาจแห่งความว่าง และเข้าถึงความว่างแห่งอำนาจ เราจะรู้ว่าการขัดแย้งทางการเมืองล้อมรอบสมมุติสัจจะนั้น ควรจะมีขอบเขตอยู่ตรงไหนและอาศัยวิธีการเช่นใด
ถ้าเราหยั่งถึงอิทัปปัจยตา(หรือปฏิจจสมุปบาท) ก็จะมองเห็นว่า ความรักบ้านรักเมือง ไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างเดียว บางครั้งการยอมแพ้ กลับเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่า แสดงความรักบ้านรักเมืองได้มากกว่า เหมือนมารดาพร้อมยกบุตรให้ผู้อื่น ในยามที่ตัวเองดูแลปกป้องไม่ได้
(http://l.thumbs.canstockphoto.com/canstock6502581.jpg)
แพ้ชนะถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นสุญญตา ไม่มีความจริงรองรับ มีแต่เราเองไปบัญญัติมันขึ้นมา
พูดกันตามหลักรัฐศาสตร์ อำนาจนั้นเปลี่ยนมือได้เสมอ ถ้าผู้ปกครองไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้อยู่ใต้การปกครองได้ หรือมีวิกฤตฉันทานุมัติอย่างต่อเนื่อง
แต่เปลี่ยนแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวเสมอไป มันขึ้นอยู่กับผู้นำการเปลี่ยนแปลง ว่ามีปัญญาญาณมากน้อยเพียงใด คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน หากสังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกันในทิศทางการเปลี่ยนแปลง การล้มลงของระบอบเก่าหรืออำนาจเก่า ก็รังแต่จะนำไปสู่สภาพกลียุคและอนาธิปไตย
จาก ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บางครั้งอำนาจใหม่กลับฆ่าคน เสียยิ่งกว่าอำนาจเก่าที่ล่มสลาย เนื่องจากทิฏฐิที่ยึดติดในการเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องการรอคอยให้ผู้คนเห็นด้วย เรื่องเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วในหลายๆประเทศ ซึ่งเราควรถือเป็นบทเรียน
ดังนั้น ในทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส ระบอบการเมืองแบบไหน ยังไม่สำคัญเท่ากับว่ามีธรรมะหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีธรรมมะ ถึงอย่างไรก็สร้างสันติสุขให้บังเกิดมิได้ และท่านถือว่าภาวะไร้สันติภาพเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดของมนุษย์
(http://www.uppic.org/image.php?id=497D_4E0D3A77)
การไม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข นับเป็นเคราะห์กรรมอย่างยิ่งของแผ่นดิน
ด้วยเหตุนี้ ความพยายามที่จะรักษาระบอบการเมืองก็ดี ความพยายามที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองก็ดี จึงไม่อาจสำเร็จได้ด้วยความชัง ไม่อาจใช้โลภะโทสะโมหะมาขับเคลื่อน เราจะสร้างสังคมที่สันติสุขได้อย่างไร หากวิธีการขัดแย้งกับจุดหมายเสียตั้งแต่ต้น สำหรับชาวพุทธแล้วมรรควิถีมีค่าเท่ากับจุดหมายปลายทาง
ท่านผู้มีเกียรติและเพื่อนศาสนิกชนทั้งหลาย
ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ แท้จริงแล้วเป็นความคิดของตัวเองอยู่ไม่กี่ส่วน ส่วนใหญ่เป็นการเชิญคำสอนของพระศาสดาและบรรดาครูบาอาจารย์ มาถ่ายทอดสู่กันฟังเท่านั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากคำสอนเหล่านี้ ถูกนำเสนอผ่านความเข้าใจอันจำกัดของผม จึงต้องเรียนขอร้องท่านว่า อย่าได้ยึดถือเป็นเรื่องจริงจังไปเสียทั้งหมด ขอเพียงสิ่งที่ผมพูด ได้สมทบส่วนเล็กน้อยให้กับการค้นหาปัญญาญาณของท่าน ผมก็ดีใจมากแล้ว
วันนี้ ผมได้เอ่ยถึงปรมัตถ์สัจจะไว้ในแทบทุกวรรคตอน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ผมพูดเป็นปรมัตถ์สัจจะ แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับปรมัตถ์ธรรมมากกว่า และเช่นเดียวกับความคิดเห็นของผู้คนในเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดที่ผมพูดมา จึงเป็นแค่สมมุติเท่านั้นเอง
ขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติรับฟัง
(http://larndham.org/uploads/av-1072.jpg)
ปาฐกถาเกียรติยศชุด "พุทธธรรมพาไทยพ้นวิกฤต" มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
หอประชุมมหิศร สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
วันที่ 12 กันยายน 2551
ขอบพระคุณที่มา http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=940
อนุโมทนาสาธุค่ะ