ใต้ร่มธรรม
ริมระเบียงรับลมโชย => สุนทรียสนทนา - ไดอะล็อก (Dialogue) => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊กซ ที่ สิงหาคม 01, 2010, 08:49:53 am
-
โรงพยาบาลที่ข้าพเจ้ากำลังทำงานอยู่ เพิ่งจัดให้มีการอบรมสุนทรียสนทนา หรืออบรมdialogue รุ่นที่ 2 ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา จากวงสนทนาของผู้เข้ารับการอบรมในค่ำคืนหนึ่ง เราได้พูดคุยกันถึงประเด็นที่ว่า ในการอบรมครั้งนี้ เราจะนำไปใช้พัฒนาองค์กรอย่างไร และเราจะสามารถนำไปเชื่อมต่อ และทำต่อ กันได้หรือไม่
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a199.JPG)
พี่พยาบาลท่านหนึ่งเปิดใจว่า ถึงแม้เราจะรู้ว่าการอบรมนี้ดีและมีประโยชน์ แต่การนำไปทำต่อ ไม่ใช่ของง่ายนัก เพราะคนที่จะเข้าใจและเปิดใจ อาจจะต้องเป็นคนที่มาอบรมและมานั่งคุยด้วยกันแบบนี้ตลอดสองสามวัน เพราะมันอาจจะต้องใช้ประสบการณ์จริง ไม่ใช่การไปบอกต่อว่าดีอย่างไร และคนที่จะเข้าใจได้จริงๆ อาจจะเป็นเพียงกลุ่มคนที่มาอบรมเท่านั้น
ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นด้วยทีเดียว การนั่งลงเพื่อเปิดใจพูดคุยกันนั้น ต้องใช้เวลาและขั้นตอน โดยเฉพาะในผู้ใหญ่อย่างเราที่เติบโตมากับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมากมาย ต่างในประสบการณ์ ต่างในความนึกคิด ต่างในความรู้สึก แถมที่ผ่านมานั้น เราต่างคุ้นเคยกับการมีชีวิตที่คุ้นชิน กับการตัดสิน และวิเคราะห์สิ่งต่างๆจากมุมมองของเรามานานแสนนาน ออกจะยากอยู่ ในการที่จะมานั่งลงแล้วเปิดใจพูดคุยและยอมรับฟังกันง่ายๆ
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a188.JPG)
เราทั้งหลายมีสิ่งห่อหุ้มปรุงแต่งมากมาย มีความคิดเห็นทั้งที่ถูกและผิด มีเจตคติและมุมมองแบบที่เราพบเจอมาแตกต่างกันไป และบางทีเราก็เลิกที่จะฟังคนอื่นด้วยใจมานานแล้ว ยิ่งในคนที่มีตำแหน่งการงานที่สูงขึ้น สูงขึ้น การรับฟังและการเปิดใจจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ
บางคนอาจคิดเห็นในใจว่า ที่ผ่านมาเราก็ฟังอยู่นะ แถมฟังรู้เรื่องดีทีเดียว จะว่าไม่ฟังได้อย่างไรกัน แต่ Deep listening หรือการฟังอย่างลึกซึ้งนั้น คือการฟังอย่างแท้จริงและฟังด้วยหัวใจ ไม่ใช่ฟังด้วยสมองที่เต็มไปด้วยข้อมูล และการคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่สักแต่ทำท่าฟัง แต่ในใจนั้นตัดสิน ตีความ และวิเคราะห์ไปเสียก่อนแล้ว ทั้งๆที่ยังฟังเรื่องราวไม่จบ ทั้งหมด การมีใจเป็นกลางหรือมีอุเบกขา คือสิ่งสำคัญยิ่ง และต้องนำมาใช้ในขณะที่เรารับฟังเรื่องราวต่างๆ จึงจะเกิดการฟังอย่างลึกซึ้งได้
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a666.JPG)
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากการภาวนามาอย่างต่อเนื่อง ข้าพเจ้าเริ่มรับรู้อย่างชัดเจนว่า เราทั้งหลายอยู่ในโลกของการตีความ อย่างที่อาจารย์ณัฐฬส ว่า สิ่งที่เราได้ยิน สิ่งที่เรามองเห็นทั้งหลาย กลายเป็นการตีความจากมุมมองของเรา หรือไม่ก็จากมุมมองของคนที่นำเรื่องราวมาเล่าต่อ ซึ่งนั่นไม่ใช่ข้อมูลจริงๆ ดังนั้น เมื่อมีประเด็นปัญหาใดๆ หรือเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ในที่ทำงาน หรือในหน่วยงานใดๆก็ตาม เราจึงควรต้องรับฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังด้วยใจเป็นกลาง จากนั้นต้องสืบย้อนไปหาเรื่องเล่า ไปรับฟังเรื่องราวจากทั้งสองฝ่าย หรือหลายๆฝ่ายก่อน บางครั้งเมื่อสืบย้อนไป เราก็อาจจะพบว่า เรื่องราวที่ได้รับฟังมา หาความจริงแท้ไม่ได้และผิดเพี้ยนไปจากเรื่องเดิมมากทีเดียว
ในการภาวนา พระพุทธองค์สอนให้เรามองทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง แต่การที่เราจะมองเห็นเช่นนั้นได้ เราต้องมีสติ มีสมาธิ จึงจะเกิดปัญญามากพอที่จะมองเห็นอะไรๆ ได้ชัดเจนขึ้น แต่ในสภาวะจิตที่วุ่นวายสับสน เรามักรับรู้อะไรบางอย่างมาเป็นส่วนๆ และจิตก็มักจะมีการปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ ไปจากความเป็นจริงโดยที่เราตามดูตามรู้ไม่ทัน เราจึงไม่สามารถรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงในขณะนั้นได้
มันออกจะเข้าใจยากในการกล่าวเช่นนี้ แต่นี่คือความจริง มีอยู่ไม่กี่ครั้งในชีวิต ที่เราจะนั่งลงอย่างเปิดใจและวางใจเป็นกลาง และพร้อมที่จะรับฟังใครสักคนอย่างไม่ตัดสินได้ การฟังจึงเป็นปัญหาใหญ่ของเราทั้งหลาย ไม่ใช่การพูด
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a211.JPG)
หลายคนที่ไปอบรมสุนทรียสนทนา เปิดใจในวันท้ายๆ ว่า รู้สึกกดดันมากที่โดนคำสั่งจากท่านผู้อำนวยการให้มาอบรม แถมรู้สึกเหมือนว่า ตนเองถูกส่งเข้ามาอบรมบ่มนิสัย หรือเข้าโรงเรียนดัดสันดาน เพระคำว่า “สุนทรียสนทนา “ ทำให้เข้าใจไปว่า “ เพราะฉันพูดจาไม่ไพเราะ พูดจาไม่ดีกับเพื่อนร่วมงาน พูดจาไม่ดีกับลูกน้องหรือเปล่า?? จึงต้องมา หัดพูดแบบสุนทรียะ ในการอบรมนี้ “ ต่อเมื่อมาเข้ารับการอบรมนั่นแหละ ถึงจะเข้าใจว่า สุนทรียสนทนา มีหลักสำคัญก็คือ การมาฝึกฟังด้วยหัวใจ ที่เปิดกว้างและมาทำความเข้าใจกับความรู้สึกกับความต้องการของตนเองและของคนอื่น ไม่ได้มาอบรมเพื่อฝึกพูดจาให้ไพเราะแต่อย่างใด
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a366.JPG)
การไม่ฟังคนอื่น ไม่ได้หมายถึงแบบที่เข้าใจกันทั่วไป และการไม่ฟังคนอื่นในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่าคนคนนั้น เป็นคนมีปัญหา เป็นคนไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของใคร แต่ความหมายที่แท้จริงของการไม่ฟังก็คือ เราไม่ได้ใช้หัวใจในการรับฟัง และบางทีเราก็ไม่ยอมมีเวลา ที่จะฟังเขาต่างหาก เรามักจะไม่มีหัวใจที่พร้อมพอ มักจะไม่มีพื้นที่มากพอที่จะฟังเขา ด้วยเพราะชีวิตของเราทั้งหลาย ต้องวุ่นวายอยู่กับการงานมากมาย การที่จะมาทุ่มเทเวลานั่งลงฟังใครต่อใครพูดในทุกๆเรื่อง อาจจะมีเวลาไม่มากเช่นนั้น และแม้แต่ในขณะที่เรานั่งลงตรงหน้าใครสักคน แล้วฟังเขาพูด เราอาจทำท่าฟังก็จริงอยู่ แต่จิตของเรามักจะหนีไปคิดเรื่องอื่นๆอยู่มากมาย เราคิดไปในอนาคต มองย้อนไปในอดีต สรุปเรื่องราวต่างๆของเขาไปโดยอัตโนมัติ อย่างไม่รู้ตัว เราสรุปและมีความคิดเห็นกับเรื่องราวที่ได้ฟังก่อนที่เขาจะพูดจบด้วยซ้ำ ที่สำคัญขณะที่นั่งรับฟังใครสักคนพูด เราไม่ได้อยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริงด้วยกายและใจ เราจึงสักแต่ฟัง ทว่าไม่ได้ยินอะไรสักเท่าไหร่
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a399.JPG)
บางคนอาจจะคิดเห็นไปว่า ที่ผ่านมาเราก็ตั้งใจฟังนะ แต่อีกฝ่ายพูดสับสนวนไปเวียนมาพิกล และพูดไม่ตรงประเด็นสักที แบบนี้เราจะเข้าใจเขาได้อย่างไร นั่นก็จริงอยู่ แต่การถามกลับไปว่า เธอรู้สึกแบบนี้ใช่ไหม๊ ฉันเข้าใจถูกหรือไม่ พร้อมกับมองหาความต้องการที่แท้จริงของเขา นั่นอาจจะเป็นตัวช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อออกมาได้ง่ายขึ้น
แต่อย่างไรไม่รู้ จากการภาวนามาสักระยะหนึ่ง ข้าพเจ้าพบว่าการฟังอย่างลึกซึ้ง มักจะ ก่อเกิดขึ้นได้ในตัวเราเองโดยอัตโนมัติ และบางครั้งเราจะมองเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำพูดต่างๆ มากมาย อย่างน่าประหลาดใจ กลายเป็นว่า บางสิ่งที่เขาไม่ได้กล่าวออกมาทั้งหมด เราก็สามารถรับรู้ได้ นี่ไม่ใช่เรืองของการรู้วาระจิตหรือเรื่องนอกเหตุเหนือผลอะไร แต่การที่เราอยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริงกับใครสักคน ด้วยกายและจิตของเรา เราก็จะสามารถรับรู้หลายๆสิ่งหลายๆอย่างละเีอียดและชัดเจนกว่าปกติธรรมดา มันเกิดจากจิตที่มีสมาธิและมีสติมากพอที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างชัดเจนขึ้น แต่นั้นก็ไม่ได้เกิดทุกครั้ง วันไหนที่เราวุ่นวายกับความคิด จิตใจสับสน ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ การรับรู้เหล่านั้นก็จะลดลงด้วย แต่การภาวนาอย่างสม่ำ่เสมอคือการฝึกจิตให้คมชัด และสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a388.JPG)
หลังจากภาวนามาสักพัก ข้าพเจ้าพบว่า แม้แต่ปรากฏการณ์เล็ก ๆ น้อยๆ เช่นใบไม้ที่กำลังร่วงหล่นลงมาจากต้น เราก็จะสามารถมองเห็นรายละเอีียดการเคลื่อนไหวของมันได้ชัดเจนมาก อาจจะเห็นได้ตั้งแต่มันหล่นลงมาจากต้น ขยับพลิกไปมาอย่างไร จนตกลงถึงพื้น เช่นเดียวกับการรับฟังเรื่องราวบางอย่าง ก็คงไม่ต่างกันนัก เพราะ เมื่อเราอยู่ตรงนั้น น้อมใจฟังด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยกายและใจที่อยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริง เราก็จะรับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าปกติ และเข้าใจอะไรๆได้มากกว่าเดิม ด้วยปัญญา ด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่าเดิม
ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ข้าพเจ้ามีอภิญญาหรือบรรลุธรรมใดๆ แต่สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นการรับรู้อะไรบางอย่างในสภาวะที่จิตมีสติและมีสมาธิในแต่ละครั้ง แต่ละขณะ ในแต่ละวันเท่านั้น และเราก็ไม่ควรเชื่อในผัสสะแบบนี้ของเราทุกครั้งไป เพราะจิตทำงานไวมากและเรามักตามมันไม่ทัน หลายสิ่งที่ปรากฏอาจจะมีการปรุงแต่งไปมากแล้วด้วยจิตเราเอง สิ่งที่ปรากฏมันจึงมีทั้งที่จริงแท้และไม่จริงแท้ด้วย เพราะแม้แต่การมองเห็นใบไม้ ร่วงหล่นลงมาจากต้น จิตเราก็ทำงานไปมากมายหลายล้านรอบแล้ว
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a444.JPG)
กลับมาที่การอบรมสุทรียสนทนา มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในการอบรมนี้เน้นหนักเรื่องการฟังเป็นส่วนใหญ่ กระบวนกรที่มาอบรม ท่านไม่ได้มาเ้น้นการหัดพูดให้ไพเราะแต่อย่างใด แถมข้าพเจ้ายังพบว่า มีอีกสองสามสิ่งที่สำคัญ
ประการแรก เมื่อเราเริ่มเปิดใจและรับฟังคนอื่นโดยไม่ตัดสิน หลายๆ คนถึงกับร้องไห้ไปกับเรื่องราวที่ผู้คนในวงสนทนา ได้เล่าออกมาจากใจในวันนั้น หลายคนรู้สึกเห็นอกเห็นใจกันและกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจจะเป็นเพราะว่าที่ผ่านมา เราไม่เคยได้ฟังกันอย่างแท้จริงเลย เราจึงไม่เข้าใจความทุกข์ความเศร้าของเขา และอาจจะเป็นเพราะว่า จิตเดิมแท้ของเราทั้งหลายนั้นมีความเป็นพุทธะอยู่ข้างใน เมื่อได้รับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยใจที่แท้จริง ความเมตตาสงสารก็ออกมาจากใจโดยอัตโนมัติ เพราะในเบื้องลึกแล้วเราทั้งหลายต่างก็มีความเมตตากรุณาอยู่ภายใน แต่หัวใจนั้นถูกปิดตายไปนานด้วยมิจฉาทิำฐิ ด้วยสิ่งปรุงแต่งต่างๆ ด้วยความทุกข์ ด้วยประสบการณ์อันเลวร้ายบางอย่างที่เราเคยพบเจอ เราจึง กลายเป็นคนที่ด้านชา และไร้ความรู้สึก และเราก็ขาดความศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ มีแต่ความหวาดระแวงสงสัย ซึ่งกันและกัน และต่างก่อสร้างอัตตามากมายเพื่อนำมาปกป้องตนเองจากโลกภายนอก ทว่าในส่วนลึกนั้น เราต่างรู้สึกโดดเดี่ยวและเงียบเหงา เพราะ เราต่างก็ต้องการความรักความเมตตาเช่นกัน
ประการที่สอง การภาวนายังคงเป็นเรื่องสำคัญ การรับฟังสิ่งต่างๆ ในแต่ละขณะ จำเป็นต้องอาศัยการภาวนา และการฝึกจิต ฝึกใจ ด้วยวิชาของพระพุทธเจ้า เพราะการมองเห็นทุกสิ่ง อย่างที่มันเป็นนั้น สามารถทำได้และเป็นไปได้อย่างแท้จริง เมื่อเราเข้าสู่วิถีแห่งการภาวนา และเข้าสู่การฝึกจิต ให้มีสติ สมาธิและปัญญา
นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่อะไร พระพุทธองค์สอนเรื่องนี้มาถึง 2500 ปี จุดมุ่งหมายของการภาวนาก็คือ การฝึกจิตฝึกใจเพื่อจะได้มองเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง แต่เราจะมองเห็นแบบนั้นได้ ไม่ใช่ด้วยการคิดเอา ไม่ใช่ด้วยสมองที่คิดวิเคราะห์ เอา เราจะมองเห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริง และหลุดพ้นจากสมมุติบัญญัติแบบโลกๆได้ ก็ด้วยการภาวนาและภาวนา เท่านั้น
ประการที่สาม สุนทรียสนทนาเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาองค์กร และสามารถนำไปใช้ต่อได้ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน แต่การแปรเปลี่ยนองค์กรให้เกิดความรักและความเข้าใจกันนั้น สิ่งสำคัญคือการภาวนา
สุดท้ายเราก็จะพบว่า การเข้าสู่สมาธิภาวนาคือการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ที่เสถียรกว่า เพราะการภาวนาจะทำให้เราทั้งหลายลดความเป็นตัวตนลงมากขึ้นเรื่อยๆ และรับฟังคนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ด้วยใจที่เปิดกว้างจริงๆ ไม่ใช่การพยายามรับฟังคนอื่นด้วยการคิด ด้วยการใช้สมองสั่งให้ทำ การฝึกจิตฝึกใจด้วยวิชาของพระพุทธเจ้าคือสิ่งเดียว ที่จะทำให้เราทั้งหลายเข้าใจกันง่ายดายขึ้น เพราะตราบใดที่เรายังมีลำดับชั้นของความคิด มีเจ้านายมีลูกน้อง มีการแบ่งแยกเป็นสองด้าน สองฝ่าย ก็จะเกิดปรากฏการณ์ว่า เราจะฟังเฉพาะคนที่เราต้องการฟังเท่านั้น ฟังเฉพาะคนที่มีสถานะและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันเท่านั้น ดังนั้น เจ้านายก็จะฟังแต่พวกเจ้านายด้วยกันเอง องค์กรก็จะกลับไปมีปัญหาเช่นเดิมต่อไป
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a200.JPG)
ด้วยเพราะว่าการรับฟังเจ้านาย การรับฟังคนที่เรานับถือ เราย่อมฟังเขาอยู่แล้ว การรับฟังคนที่เรารักเราก็มักจะยอมฟังอยู่แล้ว แต่การรับฟังคนที่ถูกมองว่าต่ำกว่า คนที่ด้อยกว่า เราฟังเขาหรือไม่ ? เพราะตราบใดที่เราฟังแต่พวกเดียวกัน ฟังแต่คนที่อยู่รอบข้างเรา แต่ไม่ยอมรับฟังเรื่องราวหรือเรื่องเล่าของคนระดับล่างๆ ที่เดือดร้อน เราก็จะไม่เข้าใจอะไรๆอยู่ดี แถมอาจจะไม่เข้าใจในปัญหาที่แท้จริงด้วย
บางครั้งเราอาจจะเห็นใจคนที่กำลังทุกข์ แต่การเข้าไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาเหล่านั้นสำคัญยิ่งกว่า มีมากมายที่ผู้คนทั้งหลายมักกล่าวว่า ฉันเห็นใจเธอ ฉันเข้าใจเธอ ฉันสงสารเธอ แต่ก็ไม่เคยยอมนั่งลงกับเขาเหล่านั้น เพื่อรับฟังปัญหาด้วยตัวเอง ว่าเขามีความทุกข์ความคับแค้นใจอย่างไรบ้าง เรามักจะบอกว่า รู้แล้ว เข้าใจแล้วล่ะ แถมบางทีเราก็รับฟังมาจากการบอกต่อ จากการปรุงแต่ง จากการตีความของใครต่อใครมาหลายทอด แล้วก็เชื่อ ไปตามนั้น แถมคิดไปเองด้วยว่าเข้าใจดีแล้ว เรามักถนัดที่จะยืนดูอยู่ห่างๆ และเข้าใจอยู่ห่างๆ เราจึงพลาดโอกาสที่จะเห็นอย่างแท้จริงและเข้าใจอย่างแท้จริง ในความทุกข์ความสุขของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
(http://gotoknow.org/file/yanuprom/a244.JPG)
ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เราทั้งหลายไม่มีอะไรต่างกัน เลย เราเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ร่วมทุกข์ร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีใครดีกว่าใคร ไม่มีใครเลวกว่าใคร ไม่มีใครสูงกว่าใคร และไม่มีใครต่ำกว่าใคร อาชีพการงาน ฐานะทางสังคม ก็เป็นเพียงแค่สมมติบัญญัติ
ในชีวิตทางโลก อาจจะตีค่าและให้ความสำคัำัญต่อสิ่งเหล่านี้มากมาย แต่สำหรับผู้ที่เริ่มฝึกจิตฝึกใจและเข้าสู่วิถีแห่งการภาวนา จะเริ่มยอมรับและเข้าใจว่า นี่ไม่มีความหมายอะไรเลย แถมหาสาระไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงของชีวิต ในความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน การแบ่งแยก แบ่งชั้น แบ่งฝ่าย คือปัญหาใหญ่และทำให้มนุษย์ทำร้ายกันเอง และอาจถึงกับเข่นฆ่ากันเอง แถมยังไปทำร้ายและทำลายสิ่งมีชิวิตอื่นๆด้วย เพราะด้วยความอหังการและอัตตาตัวตน ที่มากล้นของเรา โลกจึงมีปัญหา และจนบัดนี้ข้าพเจ้าก็มองไม่เห็นว่า จะมีอะไรมาแก้ไขปัญหานี้ได้ นอกจากวิชาของพระพุทธเจ้า
การแก้ไขที่ว่า ไม่ใช่การแก้ไขด้วยการสวดมนต์อ้อนวอนหรือทำพิธีกรรมบางอย่าง แบบที่ชาวพุทธบางส่วนทำกันอยู่ แต่เรื่องนี้จะแก้ไขได้ก็ด้วยการภาวนาเท่านั้น เพราะการภาวนาคือการกลับเข้ามาดูแลตนเอง และเข้าใจตนเอง มามองเห็นตนเอง ยอมรับตนเองอย่างแท้จริง เมื่อเราเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง เราก็จะเริ่มเข้าใจคนอื่น และจะเริ่มฟังคนอื่นด้วยหัวใจ มากขึ้น .
http://gotoknow.org/blog/sunmoola/336999 (http://gotoknow.org/blog/sunmoola/336999)
-
ขอบคุณค่ะ (http://www.uppicweb.com/x/i/ie/wac01.gif)
-
:45: ขอบคุณครับพี่มด
-
ขอบคุณด้วย :19: เช่นกันค่ะ ^^ .. พี่มด :13: