“ไม่เป็นไรครับ...”
ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมายในชีวิตของตั้ว-ศรัณยูในวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะการออกมาป่าวประกาศแนวคิดทางการเมืองของตนเองอย่างกล้าหาญ หากมองย้อนกลับไป มองเห็นอนาคตที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ ถามว่ายังคงตัดสินใจแบบเดิมอยู่อีกไหม เขายิ้มมุมปาก จากนั้นจึงเปิดใจพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่สวยหรูนัก แต่มีความจริงใจอยู่ในนั้นอย่างเต็มเปี่ยม
“คิดไว้เหมือนกันครับว่าจะมีผลต่องานของเรา แต่ถ้าพูดตรงๆ คือไม่คิดว่ามันจะมากขนาดนี้ ไม่คิดว่าวันหนึ่งทำหนังออกมาเรื่องหนึ่งแล้วจะต้องไปมีผลเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอย่างนี้ แต่ถึงแม้ว่า ณ วันนั้นจะรู้ว่าผลกระทบจะเยอะขนาดนี้ พี่ก็ไม่เปลี่ยนความคิดอยู่ดี เพราะตอนนั้นเราชัดเจนในสิ่งที่ตัดสินใจอยู่แล้ว ซึ่งมันแข็งแรงพอที่พี่จะยืดอกยอมรับกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น”
และดูเหมือนว่าผลกระทบที่พูดถึงจะส่งผลต่อภาพยนตร์เรื่อง “คนโขน” ผลงานเรื่องล่าสุดของเขาด้วย ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะพยายามยืนยันสักเพียงใดว่าไม่มีความคิดเห็นทางการเมืองแอบแฝงอยู่ในนั้น แต่คนที่ตัดสินทุกอย่างจากสีเสื้อโดยไม่สนใจคุณค่าทางศิลปะบางกลุ่มก็ตัดสินด้วยอคติไปแล้วว่า “ยังไงก็จะไม่ดู” ซึ่งตั้วเองก็เข้าใจและทำใจเรื่องนี้เอาไว้นานแล้ว
“มันต้องมีคนที่ไม่ดูอยู่แล้วและคนที่ดูอยู่แล้ว เรื่องแบบนี้มันมีทุกสื่อ และคนที่ไม่ดูอยู่แล้ว เขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นของเขาออกมาได้ว่า ไม่ดูอยู่แล้ว เพราะดูไม่ได้แน่ๆ ตอนนี้อยู่ต่างประเทศ... ไม่เป็นไรครับ (เสียงเรียบๆ) หรือกูไม่ดูหนังของพวกมึงอยู่แล้ว ไอ้ควายเหลือง... ก็ไม่เป็นไรครับ (เสียงเย็นที่สุดในบรรดาคำพูดว่าไม่เป็นไรที่พูดมา) แต่สำหรับคนที่ตั้งใจมาดูแล้วพี่ทำให้เขามีความสุขได้ พี่ว่าภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว และพี่ถือว่าพี่ทำดีที่สุดแล้ว”
ในทางกลับกัน ถามว่าหากมีคนเสื้อต่างสีคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์บ้าง ตั้วจะดูหรือไม่ เขาตอบโดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคิดว่า “การเลือกดูหนัง พี่จะเลือกที่ตัวงาน ถ้าคนเสื้อแดงมาทำหนังแล้วหนังมันเสี่ยว พี่ก็ไม่รู้จะดูทำไม แต่ถ้าคนเสื้อแดงทำหนังแล้วหนังมันดีมาก และไม่บังคับว่าต้องใส่เสื้อแดงไปดู (หัวเราะเล็กๆ) ถ้าเป็นหนังที่ให้ความอิสระ พี่ดูนะ (สีหน้าจริงจัง) พี่ดูอยู่แล้ว ถ้าหนังมันมีความงดงามในเชิงภาพยนตร์ มีคุณภาพ และไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ มันควรไปดูอยู่แล้วครับ”
สำหรับคนที่ยังคงกังวลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีนัยทางการเมือง หรือเข้าไปดูในโรงเพื่อตีความบทพูดให้เกี่ยวข้องกับเรื่องสีเสื้อ ผู้กำกับและนักแสดงมากความสามารถคนนี้ช่วยยืนยันด้วยลีลากวนๆ ตามสไตล์ของเขาว่า “ไม่เกี่ยวกับการเมืองแน่นอนครับ เพราะถ้าผมทำหนังโฆษณาชวนเชื่อหรือมีนัยทางการเมืองเมื่อไหร่ ผมจะรีบบอกทันทีเลย” นี่แหละคือความชัดเจน จริงใจแบบไม่ต้องใส่หัวโขนของผู้ชายที่ชื่อ “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง”
http://www.youtube.com/watch?v=5akbR9SoL90#ws (http://www.youtube.com/watch?v=5akbR9SoL90#ws)
---ล้อมกรอบ---
เรื่องน่าเล่าริมทาง
“โขน” ไม่ใช่ตัวเลือกเดียวที่ทำให้ตั้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ยังมี “ลำตัด เพลงฉ่อย และลิเก” ติดอันดับต้นๆ อยู่ด้วย โดยเฉพาะตัวเลือกสุดท้ายที่รู้สึกติดอกติดใจเป็นพิเศษจากเหตุการณ์น่าประทับใจที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
“พี่เคยไปนั่งกินข้าวในร้านจิ้มจุ่ม แล้วก็มีคนเดินมาขอตังค์ตามโต๊ะ เรียกง่ายๆ ว่าขอทานนั่นแหละครับ แต่คนนี้ต่างจากคนอื่นๆ เขามาขอด้วยการร้องลิเก ถ้าใครให้ตังค์เขา เขาก็จะด้นลิเกสดๆ ให้โต๊ะนั้นฟัง (น้ำเสียงตื่นเต้น) แต่ตอนนี้ไม่รู้เขาไปอยู่ไหนแล้วนะ หาตัวไม่ได้แล้ว แต่ตอนนั้นที่พี่เห็น พี่อยากทำเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเลย โดยเฉพาะลิเกที่ไปปิดวิกเล่นตามตลาดแล้วไม่ค่อยมีคนดู พี่เคยเห็นแล้วก็คิดว่า เฮ้ย! แล้วชีวิตเขาจะอยู่ยังไงวะ มันคล้ายๆ กันกับคนเล่นโขนนั่นแหละครับ เพียงแต่เขารักลิเก มีความสามารถด้านนั้น แต่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เขา”
“แต่สุดท้ายพอมานั่งเรียงลิสต์ที่จะทำ พี่ว่าถ้าทำเรื่องลิเกออกมา มันคงเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก จะออกแนวดรามาไป เลยคิดว่าพักไว้ก่อนดีกว่า มันดูเฉพาะกลุ่มไปหน่อย ก็เลยเหลือโขนนี่แหละพอไปได้ พอหาข้อมูลไปเรื่อยก็พบว่ามันสามารถเป็นหนังที่สนุกได้ ทั้งๆ ที่ชื่อมันดูเป็นทางการ หลายคนได้ยินชื่อ ถามเลยว่า เฮ้ย! จะทำเรื่องโขนเหรอ มันจะสนุกเหรอพี่ แต่จากพล็อต จากวิธีการทำงานแล้วพี่พบว่าเราสามารถทำให้สนุกได้ พี่ก็มาทางนี้” ผู้กำกับช่างคิดพูดถึงเกร็ดเล็กๆ ของการทำงานให้ฟัง
ครูโขนดลใจ
น่าแปลกใจกับความจริงที่ว่า พระเอกของเรื่องคนโขน “อาร์ อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ” ได้เป็นพระเอกด้วยความไม่ตั้งใจของทีมงาน แต่ผู้กำกับเชื่อว่าอาจเป็นเพราะอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยดลใจให้ตนเกิดเปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้ายก่อนถ่ายทำนั่นเอง
“แนวความคิดเริ่มแรกเลยอยากให้พระเอกนางเอกหน้าตาหล่อสวยไว้ก่อน (ยิ้ม) คิดว่าถึงหล่อแต่เล่นโขนไม่ได้ ไม่เป็นไร เราใช้สแตนด์อินแทนเอา ก็คัดได้มาคนหนึ่ง หน้าตาหล่อ นิสัยดี ร่วมงานกันได้ แต่เขาเล่นโขนไม่ได้ เราก็หัดให้เขา ซ้อมอยู่ได้ 3-4 เดือน แต่ซ้อมยังไงแขนเขาก็อ่อนไม่ได้ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าของแบบนี้ต้องฝึกกันตั้งแต่เด็ก มาปุบปับไม่ได้ แต่มันก็ใกล้จะเปิดกล้องแล้ว เลยเรียกทีมงานประชุมกัน”
“ผู้ช่วยพี่เอาเทปมาให้ดู บอกว่าคนนี้ไหมพี่ หน้าตาพอได้นะ น้องอาร์นั่นแหละ เขาคือหนึ่งในตัวประกอบที่แสดงในเรื่องที่เราคัดไว้ เป็นกลุ่มนักเรียนนาฏศิลป์ที่รำเป็นจริงๆ พี่ก็ดูหน้า รู้สึกว่าหน้าเขาซีดๆ ยังไงไม่รู้ บอกเลยว่าไม่เอาๆ (ส่ายหน้า) เอามาเป็นสแตนด์อินให้พระเอกดีกว่า ผู้ช่วยพี่ก็พยายามเชียร์ แต่พี่ก็ยังปฏิเสธอยู่ พอประชุมกัน ทุกคนก็โหวตให้น้องอาร์เป็นพระเอก แต่พี่ก็ยังยืนยันว่าไม่เอา ให้พระเอกหน้าหล่อคนเดิมซ้อมไปเรื่อย”
“จนอีกไม่กี่วันจะถ่ายจริง มันพอมีเวลาว่างอยู่ พี่เลยให้เรียกสแตนด์อินคนนั้นมาคุย เป็นครั้งแรกที่พี่เจอเขาตัวจริง พี่หันไปเห็นก็ เฮ้ย! หน้ามันผ่องว่ะ มันไม่เหมือนในวิดีโอที่ผู้ช่วยส่งมาให้ดู ทั้งๆ ที่เขาแต่งตัวธรรมดามาเลย ชุดนิสิต (ม.จุฬาฯ คณะศิลปกรรมศาสตร์) มาถึงก็หยิบผ้ามาผูกมานุ่ง ทำทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติหมดเลย ซึ่งคนที่ไม่เคยเรียนมันทำอย่างนี้ไม่ได้ พี่ก็หยุดมองเลย (แววตาทึ่ง) รู้สึกว่ามันใช่น่ะ เลยเรียกประชุมด่วน ขอเปลี่ยนตัวพระเอกวันนั้นเลย"
"ก็ต้องขอโทษขอโพยทางผู้ปกครองของน้องพระเอกคนเดิมเขาไป ซึ่งเขาก็เข้าใจ มาคิดดูพี่ว่าก็แปลกเหมือนกัน ก่อนหน้านี้ไม่ว่าใครจะทักให้เปลี่ยนตัว พี่ก็ไม่เชื่อ เลยแอบนึกอยู่ว่าวันนั้นคงมีครูหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลใจ เพราะถ้าวันนั้นพี่ไม่หันไปเห็นสแตนด์อินในวินาทีนั้น ป่านนี้คงทำหนังไปไหนต่อไหนแล้ว”
หนังทุนต่ำ 17 ล้าน!
“17 ล้าน” ตัวเลขเท่านี้ก็ถือว่าลงทุนสูงมากแล้วในวงการภาพยนตร์บ้านเรา แต่สำหรับตั้วแล้ว เขายังคงยืนยันว่าเรื่องคนโขนยังถือเป็นหนังทุนต่ำอยู่ เมื่อเทียบกับความพยายามในการกระเหม็ดกระแหม่อย่างสุดฤทธิ์
“ถามพี่ว่า 17 ล้านเยอะไหมเหรอ พี่ว่าไม่หรอกเพราะเราถ่ายด้วยฟิล์ม แต่ถ้าไปเทียบกับหนังเรื่องอื่นอาจจะถูกมองว่าทุนสูง เพราะหนังส่วนใหญ่หลังๆ เขามองกันที่ 5 ล้าน 8 ล้าน ซึ่งมันเป็นหนังอีกประเภทหนึ่ง อาจจะเป็นหนังวัยรุ่น ถ่ายด้วยกล้อง HD แค่ 5 วัน 10 วันก็ปิดกล้อง แบบนั้นงบมันน้อย มันทำได้ แต่ถ้าจะมาทำกับหนังเรื่องโขน มันไม่ได้ ถ้าพี่เข้าไปบอกสหมงคลฟิล์มว่าจะทำเรื่องโขน สุดยอดแห่งนาฏกรรมไทย ขอเงินเสี่ยแค่ 3 ล้าน แกคงให้มาเลย 6 ล้าน บอกเอ็งไปทำมา 2 ภาคเลย (ยิ้ม) แต่ด้วยตัวโปรดักชันของเราแล้ว มันไม่ได้จริงๆ ครับ”
“พี่ก็ไม่ได้ว่าหนังของพี่ทุนสูงนะ พี่ก็ยังถือว่าหนังพี่เป็นหนังทุนต่ำ เพียงแต่ว่าพี่พยายามทำให้มันต่ำได้แค่นี้ เพราะความต่างของพี่คือพี่ไปเลือกเรื่องที่พี่อยากจะทำในมุมที่คนอื่นไม่ค่อยทำกัน ทำให้ต้องดิ้นรนหาทุนเอง แต่โชคยังดีที่มีภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญ เป็นสปอนเซอร์ให้ แถมยังได้เงินทุนก้อนใหญ่สุดมาจากกระทรวงวัฒนธรรม พี่เสนอโครงการไป บอกขาดเงินอยู่ 8 ล้าน ขอเขาไปตรงๆ ซึ่งเขาก็ให้”
คนไทยส่วนใหญ่ยินดีจะเสียเงินตีตั๋วภาพยนตร์แนวตลก-เบาสมองมากกว่าแนวอื่น ถามว่ารู้สึกอย่างไร ผู้กำกับหนังชีวิตตอบว่า “พี่คงไปรู้สึกแทนใครไม่ได้ แต่ในมุมของพี่ สมมติว่ามีคน 100 คนที่เคยดูหนังแนวนั้น ลองหันมาดูเรื่องแนวนี้บ้างได้ไหม ขอสัก 10 คนพี่ก็ดีใจแล้ว”
“ถ้าถามว่าพี่สนใจทำหนังตลาดบ้างไหม คำว่าหนังตลาดไม่ใช่คำจำกัดความที่ทำให้พี่ถอยห่าง คือพี่ไม่ปฏิเสธจะทำ เพียงแต่ว่าถ้าจะทำหนังตลาด พี่ต้องพบว่ามันมีแง่มุมที่พี่อยากพูด แต่ถ้าการทำหนังทุนต่ำหมายความว่าคุณต้องถ่ายจำนวนเท่านี้วันนะ และต้องไปหาพระเอก-นางเอกคนนี้มาเล่นนะ เพราะคนนี้กำลังดัง กำลังมีข่าวฮอต คนนี้มีสปอนเซอร์ ถ้าแบบนั้น พี่คิดไม่ได้ แต่ถ้าพี่คิดออกว่าหนังทุนต่ำของพี่เองเป็นยังไง พี่ทำ ไม่มีใครไม่อยากทำหนังทุนต่ำหรอกครับ เพราะยิ่งทุนต่ำยิ่งเจ็บตัวน้อย ไม่แน่... เรื่องต่อไปพี่อาจจะทำหนังรักทุนต่ำมากๆ (เน้นเสียง) ก็ได้” แล้วมาคอยดูหนังรักสไตล์พี่ตั้วกัน
ผู้กำกับของผู้กำกับ
อะไรคือข้อดีของการเป็นผู้กำกับของตัวเองที่คนอื่นพูดถึง? คนถูกถามนิ่งคิดนิดหนึ่งก่อนตอบด้วยท่าทีขี้เล่นว่า “อาหารอร่อยมั้ง (หัวเราะ) แต่พี่ไม่ได้ทำอาหารเองนะ แค่สั่งมาให้กิน แต่จะชอบสั่งแบบอร่อยๆ เพราะใครทำงานกับพี่จะรู้ว่าหนักและเหนื่อยจริง ช่างไฟ ช่างกล้อง วิ่งกันขาลากเลย คือพี่คิดว่าในเมื่อทำงานหนักแล้วก็อยากให้ได้กินของอร่อยๆ กัน”
เมื่อถามถึงผู้กำกับในดวงใจของผู้กำกับรายนี้ เขาจึงค่อยๆ ไล่เลียงทีละรายชื่อ “คำตอบนี้ถามแต่ละเวลาจะได้คำตอบต่างกันไป อยู่ที่ว่าคิดถึงใครได้ แต่ถ้าเป็นผู้กำกับเมืองไทย ชื่อแรกก็ต้องท่านมุ้ยเลย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ท่านนำเสนอในเชิงความเป็นจริง ขยันค้นคว้า และจริงจังกับงานมาก ผลงานของท่านก็เป็นที่ประจักษ์อยู่”
“อีกคนคืออาเปี๊ยก (เปี๊ยก โปสเตอร์) อาเปี๊ยกสร้างปรากฏการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านของคตินิยมของหนังไทยในหลายๆ ช่วง อาเปี๊ยกเป็นคนแรกที่ทำหนังไทยแล้วนางเอกโดนข่มขืน พี่จำได้เลยเรื่องโทน พี่ดูแล้วร้องไห้เลยน่ะคิดดู ซึ่งถือเป็นอะไรที่แหวกมากๆ เพราะสมัยก่อนนางเอกต้องอยู่ในขนบ ต้องไม่โดนผู้ร้ายจูบ ต้องไม่เสียตัว อาเปี๊ยกเป็นคนแรกที่ทำ ทำให้หนังเริ่มมีความคิดใหม่ๆ จากเดิมที่พระเอกมีไม่กี่แบบ ต้องหล่อล่ำ แต่อาเปี๊ยกช่วยดึงหนังให้เข้ามาสู่ความเป็นจริงในสังคม สร้างมิติให้ตัวละคร คนดีมีข้อเลว ไอ้คนเลวก็มีข้อดีอยู่”
นอกจากนี้ยังมีชื่อของ “วิจิตร คุณาวุฒิ” และ “บัณฑิต ฤทธิกล” ที่ตั้วกล่าวชมว่าเก่งกาจและแหลมคมอยู่ด้วย ทั้งยังทิ้งท้ายด้วยความจริงบางประโยค ให้ผู้ฟังได้อมยิ้มไปกับมุมมองของเขา
“คนเหล่านี้ที่เอ่ยชื่อมาไม่มีใครรวยซักคนเลยนะ พี่นี่ยิ่งแย่เลย พี่เป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องความจนเลยล่ะ (หัวเราะ) แต่ผู้กำกับทุกคนที่พี่พูดถึง เขาจะมีความสุขในการทำงาน อาจจะไม่ได้ทำงานแล้วเป็นอัครมหาเศรษฐีหรือได้รางวัลตุ๊กตาทองมากมาย แต่สมาธิเขาอยู่กับงานมากและมีความสุขกับงานของตัวเองจริงๆ”
ประวัติส่วนตัว
ชื่อ-สกุล : ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
วันเกิด : 17 ต.ค. 2503
การศึกษา : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รางวัลที่ได้รับ : นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากละครเรื่อง “ทวิภพ” (2537)
จุดเปลี่ยน : ละครเวทีของคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เรื่อง “สู่ฝันอันสูงสุด” สมัยยังเป็นนิสิต ช่วยจุดประกายความกล้าในงานแสดงครั้งแรกในชีวิต, ละครเวทีของคณะอักษรศาสตร์ เรื่อง “คนดีที่เสฉวน” ทำให้ค้นพบศาสตร์แห่งการแสดงและหลงรักมาจนถึงทุกวันนี้
http://www.youtube.com/watch?v=jZ2sGnmvEQk#ws (http://www.youtube.com/watch?v=jZ2sGnmvEQk#ws)