-
(http://nkgen.com/Buddhadasa.jpg)(http://www.buddhadasa.com/Topsecret/topsecret.jpg)
ฟ้าสางทางความลับสุดยอด
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
คัดจากหนังสือ อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์
ในหัวข้อ ฟ้าสางทางความลับสุดยอด
พิมพ์โดย ธรรมทานมูลนิธิ และ สนพ. สุขภาพใจ
พิมพ์ครั้งที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐
ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ตามประสงค์ โดยกฏอิทัปปัจจยตา
ดังนั้น ชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เราเติมธรรมะลงไปได้ตามที่เราต้องการ
โดยการปฏิบัติธรรม. (๑)
ถ้ามีการศึกษาที่เห็นแจ้งจากภายใน (เป็นสันทิฏฐิโก) แล้ว
ก็ไม่มีทางที่จะเป็นทาสทางสติปัญญาของใคร แม้แต่ของพระพุทธเจ้า:
นี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา (ตามกาลามสูตรข้อสิบ) (๒)
ถ้าใช้หลักกาลามสูตรเป็นเครื่องตัดสินว่า
เป็นสิ่งที่ควรรับถือเป็นหลักปฏิบัติแล้ว
ก็ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นคำสอนของใคร
เป็นของเดิมแท้หรือเป็นของใหม่ ฯลฯ
หรือว่ามีประวัติมาอย่างไร (๓)
การมีธรรมะแท้จริง ก็คือ
สามารถดำรงตนอยู่เหนือปัญหา
หรือความทุกข์ทั้งปวง;
ไม่เกี่ยวกับปริญญาบัตร ฯลฯ พิธีรีตอง
หรือ หลักปรัชญาชนิดฟิโลโซฟี่ใดๆ (๔)
เรามีวิธีทำให้ชีวิตเป็นของเย็น
ทุกอิริยาบถตามที่เราประสงค์จะมี
ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ :
เพื่อตนเอง - เพื่อสังคม - ตามธรรมชาติล้วนๆ (๕)
การศึกษา - ศาสนา - วัฒนธรรม - ประเพณี -
การเมือง - การปกครอง - การเศรษฐกิจ - ศิลปะ ฯลฯ -
วิทยาการใดๆ จะถือว่าถูกต้องได้
เฉพาะเมื่อพิสูจน์การดับทุกข์ได้ในตัวมันเอง (๖)
การเรียน - การรู้ - การมีความรู้ - การปฏิบัติ -
การใช้ความรู้ให้สำเร็จประโยชน์ เหล่านี้
มิใช่สิ่งเดียวกัน; ระวังการมี การใช้ ให้ถูกต้อง (๗)
ชีวิตเย็นเป็นนิพพาน ในปัจจุบัน คือ
ไม่มีกิเลส เกิดขึ้นแผดเผาให้เร่าร้อน ทุกเวลานาที ทุกอิริยาบถ,
ในความรู้สึกอย่างสันทิฏฐิโก (คือรู้สึกอยู่ภายในใจ) (๘)
มีชีวิตเย็นเป็นนิพพาน (นิพฺพุโต) ในปัจจุบันได้
โดยที่ทุกอย่างถูกต้องแล้ว พร้อมแล้ว ไม่ว่าสำหรับจะตายหรือจะอยู่;
เพราะไม่มีอะไรยึดถือไว้ว่า กู-ของกู (๙)
กิจกรรมทางเพศเป็นของร้อน และเป็นเรื่อง "บ้าวูบเดียว";
แต่คนและสัตว์ (แม้ต้นไม้?) ก็ตกเป็นทาสของมันยิ่งกว่าสิ่งใด (๑๐)
อวัยวะสืบพันธุ์ มีไว้สำหรับผู้ต้องการสืบพันธุ์
หรือผู้ต้องการรสอร่อยจากกามคุณ (กามอสฺสาท)
อันเป็นค่าจ้างให้สัตว์สืบพันธุ์ ด้วยความยากลำบากและน่าเกลียด;
แต่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้จะอยู่อย่างสงบ (๑๑)
เรื่องเพศหรือเกี่ยวกับเพศ
ธรรมชาติสร้างมาสำหรับมนุษย์ - สัตว์ - พฤกษชาติ ไม่สูญพันธุ์ ;
ไม่ใช่ของขวัญที่ใครจะเรียกร้อง
ไม่ใช่ของควรบูชาในฐานะสิ่งสูงสุด ว่าเป็นกามเทพ เป็นต้น (๑๒)
กามารมณ์เป็นค่าจ้างทางเพศ เพื่อการสืบพันธ์
อันสกปรกเหน็ดเหนื่อยและน่าเกลียดจากธรรมชาติ,
มิใช่ของขวัญ หรือ หรรษทานจากเทพเจ้าแต่ประการใด
เลิกบูชากันเสียเถิด (๑๓)
กามกิจก็เป็นหน้าที่ที่เป็นธรรมะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน;
แต่ต้องประพฤติกันอย่างถูกต้องและพอดี สำหรับอริยชนที่ครองเรือน (๑๔)
การสมรสด้วยจิตหรือทางวิญญาณ (เช่น ทิฏฐิตรงกัน) นั้น
เป็น "พรหมสมรส" ยังบริสุทธิ์ สะอาดดี ไม่ก่อให้เกิดทุกข์หรือปัญหาใดๆ ;
ส่วนการสมรสทางกาย หรือเนื้อหนัง นั้น
สกปรก น่าเกลียด เหน็ดเหนื่อยเกินไป
จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นการสมรส (๑๕)
กามที่เกี่ยวกับเพศ เป็นได้ทั้งเทพเจ้าและปีศาจ
ทั้งนี้แล้วแต่ผู้ประกอบกิจนั้น มีธรรมะผิดถูกมากน้อยเพียงไร (๑๖)
พวกที่ถือพระเจ้า ถือว่าอะไรๆ ก็แล้วแต่พระเจ้าบันดาล
ส่วนชาวพุทธถือว่าแล้วแต่การกระทำผิดหรือถูก ต่อกฏอิทัปปัจจยตา;
ดังนั้นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "พระเจ้า" กันเสียใหม่ให้ถูกต้อง
คือมีทั้งที่มีความรู้สึกอย่างบุคคล และไม่มีความรู้สึกอย่างบุคคล
อย่างไหนจะเป็นที่พึ่งได้และยุติธรรม ไม่รับสินบน (๑๗)
พระเจ้าคือสิ่งสูงสุดนั้น ไม่ดี-ไม่ชั่ว แต่อยู่เหนือดีเหนือชั่ว
จึงสามารถให้เกิดความหมาย ว่าดี ว่าชั่ว
ให้แก่ความรู้สึกของมนุษย์ได้ทุกอย่าง จนงงไปเอง (๑๘)
พระเจ้า คือ กฏ สำหรับบังคับสิ่งที่เกิดจากกฏให้ต้องเป็นไปตามกฏ
โดยเด็ดขาด และเที่ยงธรรม;
ดังนั้น พระเจ้าจึงอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงได้จริง (๑๙)
พระเจ้าเป็นที่รวมแห่งความจริง
มิใช่แห่งความดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังหละหลวม และเป็นมายาอยู่มาก
จนต้องเป็นคู่กันกับความชั่ว;
ถ้าพระเจ้าเป็นความดี ก็จะกลายเป็นคู่กันกับซาตานหรือมารร้ายไปเสียฯ (๒๐)
-
(http://sphotos.xx.fbcdn.net/hphotos-ash4/c0.45.403.403/p403x403/183011_188167684547656_5329717_n.jpg)
ฟ้าสางทางความลับสุดยอด (๒)
ความจริงเป็นสิ่งเดียวไม่มีคู่ (เอกํ หิ สจฺจํ นทุตียมตฺถิ) ;
แม้จะมีความไม่จริง (ตามที่ใครบัญญัติขึ้น)
มันก็เป็นความจริงของความไม่จริง (๒๑)
พระเจ้าที่เป็นทั้งผู้บันดาลให้เกิด
และปลดเปลื้องความทุกข์ได้แท้จริง นั้นคือ กฏอิทัปปัจจยตา;
จงรู้จักท่านและกระทำต่อท่านให้ถูกต้องเถิด (๒๒)
พระเจ้าที่แท้จริง เป็นหัวใจของศาสนาทุกๆ ศาสนา
นั่นคือ "กฏ" หรือ ภาวะของความถูกต้องตามธรรมชาติ
เพื่อความรอดของมนุษย์";
พุทธศาสนายิ่งมีกฏหรือภาวะนั้นที่เป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา (๒๓)
ถ้าอยากพบ "พระเจ้าที่แท้จริง" อย่าตั้งปัญหาอย่างอื่นใดขึ้นมา
นอกจากปัญหาว่า อะไรที่สร้าง - ควบคุม - ทำลายโลก -
ใหญ่ยิ่ง - รู้สิ่งทั้งปวง - มีในที่ทั้งปวง,
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุควิทยาศาสตร์แห่งปัจจุบันนี้ (๒๔)
คำสอนของผู้รู้แท้จริง แม้เป็นเวลา ๒-๓ พันปีมาแล้ว
แต่ก็ยังใช้ได้อยู่เหมือนคำพูดใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ นั้นคือ
คำสอนของพระพุทธองค์แก่ชาวกาลาม
ที่เรียกว่า กาลามสูตร (ดังต่อไปนี้) (๒๕)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ฟังตามๆ กันมา";
เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้นก็ได้,
เพราะเปลี่ยนไปตลอดเวลาที่ฟังตามๆ กันมา ก็ได้ (๒๖)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ทำตามสืบๆ กันมา";
เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น
หรือ เปลี่ยนไปๆ ตลอดเวลาที่ทำตามๆ กันมา ก็ได้ (๒๗)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"กำลังเล่าลืออยู่อย่างกระฉ่อน";
เพราะการเล่าลือเป็นการกระทำของ
พวกที่ไม่มีสติปัญญา, มีแต่โมหะ ก็ได้ (๒๘)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"มีที่อ้างอิงในปิฎก(ตำรา)";
เพราะปิฎกหรือตำราทั้งหลายเกิดขึ้นและเปลี่ยนไป
ตามปัจจัยที่แวดล้อมหรือตามกฏอิทัปปัจจยตา ก็ยังได้ (๒๙)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ถูกต้องตามหลักทางตรรกะ";
เพราะตรรกะเป็นเพียงความคิดชั้นผิวเปลือก,
ใช้เหตุผลและเดินตามเหตุผลชั้นผิวเปลือก (๓๐)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ถูกต้องตามหลักทางนยายะ";
เพราะนยายะ เป็นการคาดคะเน
ที่เดินไปตามเหตุผลเฉพาะหน้าในการคาดคะเน นั่นเอง (๓๑)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ถูกต้องตามสามัญสำนึก";
เพราะสามัญสำนึกเดินตามความเคยชินของความรู้สึกชั้นผิวเปลือก (๓๒)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของตน";
เพราะทิฏฐิของเขาผิดได้ โดยเขาไม่รู้สึกตัว (๓๓)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"ผู้พูดอยู่ในฐานะควรเชื่อ";
เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเอง ในการพิจารณา (๓๔)
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า
"สมณะผู้พูดเป็นครูของเรา";
เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเองในการศึกษา (๓๕)
ในกรณีเหล่านี้ เขาจะต้องใช้ยถาภูตสัมมัปปัญญา
หาวี่แววว่า สิ่งที่กล่าวนั้น มีทางจะดับทุกข์ได้อย่างไร;
ถ้ามีเหตุผลเช่นนั้น ก็ลองปฏิบัติดู
ได้ผลแล้ว จึงจะเชื่อและปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป
กว่าจะถึงที่สุดแห่งความดับทุกข์ (๓๖)
กฏของธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดมีกาย -ใจ
อย่างที่สัตว์ทั้งหลายกำลังมี และให้ใจคิดไปตามผัสสะจากสิ่งแวดล้อม
จนมีการบัญญัติเรื่องทิฏฐิ เรื่องกรรม เรื่องสุขทุกข์ เรื่องดีชั่ว เป็นต้น (๓๗)
ก ข ก กา แห่งการดับทุกข์ คือ
การรู้ความลับของอายตนิกธรรม ๕ หมวด คือ
อายตนะภายในหก อายตนะภายนอกหก วิญญาณหก ผัสสะหก เวทนาหก
ตามที่เป็นจริงอย่างไร ในชีวิตประจำวัน
เป็นเรื่องที่ต้องหามาศึกษาให้รู้อย่างละเอียด (๓๘)
การเกิดทางร่างกายจากท้องแม่ นั้นไม่สำคัญยังไม่เป็นปัญหา,
จนกว่าจะมีการเกิดทางจิตใจ คือเกิด ตัวกู-ของกู
จึงจะเป็นการเกิดที่สมบูรณ์คือ
มีปัญหาและมีที่ตั้งแห่งปัญหา กล่าวคือ ความทุกข์ (๓๙)
ถ้าพ้นจากการเกิดแห่งตัวกูเสียได้
ย่อมพ้นจากปัญหาและความทุกข์ทั้งปวงได้
และจะพ้นจากปัญหาแห่งการเกิดทางกายทั้งหมด ได้เองด้วย (๔๐)
-
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/716/34716/blog_entry1/blog/2011-01-25/comment/681461_images/1_1295969221.jpg)
ฟ้าสางทางความลับสุดยอด (๓)
การได้เกิดมามีชีวิต ยังไม่ควรจัดว่าบุญหรือบาป แต่ยังเป็นกลางๆ อยู่; แล้วแต่ว่าเราจะจัดให้เป็นอย่างไร คือเป็นบุญเป็นบาป หรือให้พ้นบุญพ้นบาปไปเสียเลยก็ได้ (๔๑)
มนุษย์ที่ไม่เข้าถึง หรือไม่รู้ความลับสุดยอดของมนุษย์ จะเป็นมนุษย์ไปได้อย่างไร; มนุษย์คือผู้ที่อาจจะมีจิตใจสูง อยู่เหนือปัญหาหรือความทุกข์พอสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ หรือเหนือปัญหาและความทุกข์โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นยอดของมนุษย์ (๔๒)
มนุษย์ไม่ควรบูชาอะไร นอกจากความถูกต้องของความเป็นมนุษย์เอง คือความมีจิตอยู่เหนือปัญหาเหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง ซึ่งความหมายนี้มีความหมายรวมถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ อยู่ด้วย ในฐานะเป็นภาวะที่ถูกต้องถึงที่สุด (๔๓)
ถือศาสนาไหนอย่างไร แล้วความทุกข์ไม่มีแก่ท่าน ศาสนานั้นแหละถูกต้องเหมาะสมแก่ท่านอย่างแท้จริง พุทธศาสนารวมอยู่ในศาสนาชนิดนี้ กลัวแต่ว่าท่านจะไม่รู้จักตัวความทุกข์เสียเอง (๔๔)
เมื่ออบรมจิตถึงที่สุดแล้ว จิตจะบังคับกายและตัวมันเองได้ในทุกกรณี สำหรับจะไม่มีความทุกข์ในทุกกรณีอีกเช่นกัน; ขอให้เราศึกษาธรรมชาติ หรือธรรมสัจจะข้อนี้กันเถิด (๔๕)
ความรู้สึกอันเป็นทุกข์ทรมาน กับลักษณะแห่งความทุกข์ทรมาน มิใช่เป็นสิ่งเดียวกัน; คนอาจจะมีทุกขลักษณะโดยที่จิตไม่มีทุกขเวทนา (๔๖)
คนโบราณที่รู้ธรรมะกล่าวว่า "ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ (ไม่น่ารัก)" นั้น มีความจริงว่า ถ้าไปยึดถือเอาด้วยอุปาทานแล้ว ทั้งความชั่วและความดี มันจะกัดผู้นั้นโดยเท่ากัน จงรู้จักมันกันในลักษณะเช่นนี้เถิดทั้งความชั่วและความดี (๔๗)
ทารกและปุถุชนรู้จักทำอะไรๆ ก็แต่เพื่อตนหรืออย่างมากก็เพื่อโลก; แต่สัตบุรุษหรืออริยชน รู้จักทำอะไรๆ ก็เพื่อธรรม คือหน้าที่อันถูกต้องของมนุษย์ (๔๘)
ธรรมะคือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตทุกระดับจะต้องทำเพื่อความรอด ทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต ทั้งของตนเองและของผู้อื่น ซึ่งเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน (๔๙)
เมื่อกล่าวโดยพิสดาร คำว่า "ธรรมะ" มี ๔ ความหมาย คือตัวธรรมชาติ - ตัวกฏธรรมชาติ - หน้าที่ตามกฏธรรมชาติ - และผลจากหน้าที่นั้นๆ (๕๐)
ในคนเราคนหนึ่งๆ กายและใจเป็นตัวธรรมชาติ กฏที่บังคับชีวิตหรือกายใจอยู่ เรียกว่า กฏของธรรมชาติ หน้าที่ที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดของกายและใจ เรียกว่า หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ ผลเป็นสุขหรือทุกข์ก็ตามที่เกิดขึ้น เรียกว่า ผลเกิดจากหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ (๕๑)
ธรรมะสามารถช่วยได้ในทุกกรณีอย่างแท้จริง; หากแต่บัดนี้เรายังไม่รู้จักธรรมะและมีธรรมะ อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ โดยนำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและทันแก่เวลา (๕๒)
เราต้องเตรียมตัวไว้อย่างสำคัญที่สุดสักอย่างหนึ่ง คือเมื่อบางสิ่งหรือแม้ทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ แล้วเราก็ยังไม่เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง (๕๓)
พวกเราในยุคนี้ ไม่ได้ค้นคว้าพิสูจน์ทดลองธรรมะเหมือนที่เรากระทำต่อวิชาวิทยาศาสตร์ - ประวัติศาสตร์ - เศรษฐกิจ - ฯลฯ ที่เรากำลังหลงใหลกันนัก; ดังนั้น จึงยังไม่มีธรรมะมาช่วยเรา (๕๔)
เรารู้ธรรมะไม่ได้ เพราะไม่รู้แม้แต่ปัญหาในชีวิตของตัวเอง ที่กำลังมีอยู่ ว่ามีอยู่อย่างไร จึงได้แต่ลูบคลำธรรมะในลักษณะที่เป็นสีลัพพตปรามาส หรือไสยศาสตร์ ไปเสียหมด (๕๕)
คนมีปัญญาแหลมคมอย่างยอดนักวิทยาศาสตร์ ก็มิได้ใช้ความแหลมคมของมัน ส่องเข้าไปที่ตัวปัญหาอันแท้จริงของชีวิต มัวจัดการกันแต่ปัญหาเปลือก อันมีผลทางวัตถุ ร่ำไป (๕๖)
อาจารย์สอนธรรมะ แม้ในขั้นวิปัสสนา ก็ยังสอนเพื่อลาภสักการสิโลกะของตนเองเป็นเบื้องหน้า แล้วจะไม่ให้โมหะครอบงำทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ได้อย่างไร (๕๗)
คนมาเรียนธรรมะวิปัสสนา หวังจะได้อัสสาทะ(รสอร่อย) แก่กิเลสของเขา ตามรูปแบบนั้นๆ ยิ่งขึ้นไป จึงไม่พบวิธีที่จะลิดรอนกำลังของกิเลสเอาเสียเลย (๕๘)
ผู้ที่เรียนโดยมาก ไม่ได้เรียน ด้วยจิตใจทั้งหมด เพราะยังแบ่งจิตใจไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อลองภูมิอาจารย์ หรือ แย่งตำแหน่งอาจารย์ ก็ยังมี ดังนั้น จึงเรียนได้น้อย รับเอาไปน้อย (๕๙)
แม้จะเป็นคนบรมโง่สักเท่าไร เขาก็ยังคิดว่า เขายังมีอะไรที่ดีกว่าอาจารย์ อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ; ดังนั้น จึงมองข้ามความรู้ของอาจารย์เสียบางอย่าง หรือมากอย่างก็ยังมี (๖๐)