(http://i1084.photobucket.com/albums/j410/noina5044/paragraph__1_418copy.jpg)
เมื่อตะกี้ นี้ได้ยกเรื่องความยินดีในธรรมขึ้นแสดงในเบื้องต้น ก็เหมือนกับที่กล่าวมานี้แหละ ความยินดีในธรรมยินดีไปเรื่อยๆ ด้วยอำนาจแห่งการได้ยินได้ฟังเสมอ และการประพฤติปฏิบัติตนอยู่โดยสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน ผล คือ รสชาติที่ปรากฏจากการปฏิบัติ จะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในจิตใจเรื่อย ๆ
เฉพาะอย่างยิ่ง คือ สมาธิ มีความสงบ ร่มเย็น เป็นสุข สะดวกสบาย ไม่คิดส่ายแส่ไปกับเรื่องอะไรภายนอก ประหนึ่งโลกธาตุนี้ไม่มี เพราะไม่มีความรู้สึกไปเกี่ยวข้อง มีแต่อรรถแต่ธรรมที่จะพึงพินิจพิจารณา และปฏิบัติให้มีความเข้มแข็ง เหนียวแน่นขึ้นไปโดยลำดับเท่านั้น
ถ้าเป็นขั้นปัญญา จะพิจารณาไปกว้างแคบเพียงไร ในบรรดาสภาวธรรมที่มีอยู่ในโลกนี้ ก็เพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อถอดถอนตนโดยถ่ายเดียวเท่านั้น จึงเป็นความเพลิดเพลินไปทั้งวันทั้งคืน จิตใจของเราเมื่อมุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างแรงกล้าเพียงไร ย่อมมีความเข้มแข็งอาจหาญเพียงนั้น ไม่มีเยื่อใยในชีวิตจิตใจ ตลอดถึงความเป็นอยู่ปูวายอะไรทั้งสิ้น ไม่มีความกังวลวุ่นวายกับอะไรภายนอก มีแต่เข็มทิศทางเดินแห่งธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องพยุงให้จิตใจเป็นไปโดยลำดับ นั่งอยู่ก็เพลิน นอนอยู่ก็เพลิน เพลินด้วยความพากเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นสมาธิก็เพลินในความสงบเย็นใจ ถ้าเป็นภาคปัญญาก็เพลินในการคิดค้นอรรถธรรมในแง่ต่างๆ เพื่อการถอดถอนกิเลสเป็นลำดับในขณะที่พิจารณา
ความผาสุกเย็นใจจึงมี ได้ทุกระยะของการประกอบความเพียร อยู่ในที่สงบเงียบเท่าไร ความรู้นี้ยิ่งเด่นดวง แม้ความรู้ทางด้านสมาธิก็เด่นในความรู้สึกตัวเอง และเด่นด้วยความสงบ ทางด้านปัญญาก็เด่นทางความเฉลียวฉลาด ความแยบคายของจิต คิดค้นไม่มีเวลาหยุด นอกจากพักสงบในสมาธิเท่านั้น เหมือนกับน้ำซับน้ำซึมไหลรินอยู่ทั้งหน้าแล้งหน้าฝน
ตามสภาวธรรมแง่ต่างๆ ที่จะมาสัมผัสสัมพันธ์ หรือสิ่งเหล่านั้นไม่มาสัมผัสสัมพันธ์ จิตใจที่มีนิสัยไปทางด้านปัญญาอยู่แล้ว ย่อมพิจารณาสอดแทรกไปทุกแง่ทุกมุม และเกิดความเข้าอกเข้าใจไปโดยลำดับ ดังที่ท่านว่า “กายคตาสติ” อย่างนี้ พูดอย่างหนึ่งก็รู้สึกเผินๆ เพราะจิตมันเผิน จิตไม่มีหลัก จิตไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีหลักเกณฑ์ คือธรรมเป็นหลักเกณฑ์ของจิต พูดอะไรก็ไม่ค่อยถึงใจ เพราะใจอยู่ลึกใต้ท้องกิเลสโน่น แต่พอจิตมีหลักมีเกณฑ์ มีเหตุมีผลขึ้นภายในตัวแล้ว เอ้า เฉพาะอย่างยิ่งเราอยู่ในที่สงบๆ กำหนดพิจารณาดูร่างกายขณะที่นั่งภาวนาน่ะ มันทะลุปรุโปร่งโล่งไปหมดทั้งร่างกาย เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในความรู้สึกของผู้ปฏิบัติธรรมขั้นนี้ มันซาบซึ้งดื่มด่ำมาก จะพิจารณาดูผิวหนังข้างนอก พิจารณาให้เห็นเป็น “อสุภะ อสุภัง” ก็ดี มันก็เห็นอย่างชัด ๆ เพราะธรรมชาติอันนี้เป็นอยู่แล้ว เป็นแต่จิตของเราไม่เดินตามความจริงนั้นเท่านั้น เป็นเหตุให้ขัดแย้งกันอยู่เสมอ
เมื่อจิตใจมีความสงบ และพิจารณาด้วยปัญญาได้แล้ว เอ้า เราเดินกัมมัฏฐาน คือพาจิตเดินกัมมัฏฐาน ท่องเที่ยวในสกลกาย คือ ขันธ์ห้านี้ เดินขึ้นเบื้องบนถึงศีรษะ เดินลงเบื้องล่าง เบื้องต่ำถึงพื้นเท้า เดินออกมาข้างนอก ถึงผิวหนัง เดินเข้าไปข้างในหนัง ในเนื้อ ในเอ็น ในกระดูก ทุกชิ้นทุกอัน มีความสืบต่อเกี่ยวเนื่องกันอย่างไรบ้างตามธรรมชาติของมัน
จิตค่อยไตร่ตรองไปตามนั้นโดยลำดับๆ จิตก็เพลินไปด้วยการพิจารณานั้น สุดท้ายทั้งๆ ที่เราพิจารณาร่างกายอยู่นั้นแล แต่ในความรู้สึกนั้นปรากฏเหมือนไม่มีกายเลย จิตมันเบาหวิวไปหมด กายเนื้อนี้หายไป แต่ภาพที่พิจารณานั้น ก็พิจารณาไปโดยลำดับเช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่อาศัยภาพแห่งร่างกายที่มีอยู่นี้แลเป็นเครื่องพิจารณา แต่ส่วนที่ปรากฏร่างอันนี้ เหมือนเริ่มแรกนั้นไม่ปรากฏ หายไปหมดนั้นอย่างหนึ่ง พิจารณาจนกระทั่งมีความละเอียดลออ ในความรู้สึกของจิต จนกระทั่งร่างกายนี้ เราจะพิจารณาให้เป็นความแตก ความสลายลงไปก็เป็นไปโดยลำดับ มีความรู้สึกอยู่กับ “ภาพ” ที่ปรากฏภายในจิตใจโดยทางปัญญา ที่พิจารณาอยู่เท่านั้น และเห็นอย่างชัดเจนเพราะไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องวุ่นวาย
จิตก็ไม่หิวโหยอยากวิ่งเต้นออกไปสู่ภายนอกเพลินกับงาน คือ การพิจารณานั้นเท่านั้น ความเข้าใจก็ชัดขึ้นมา ชัดขึ้นมา ความเข้าใจชัดมากเพียงไร ยิ่งทำให้เกิดความสนใจยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สุดท้ายก็มีแต่ภาพ หรือธรรมารมณ์อันนั้น กับใจ หรือปัญญานี้เท่านั้น ส่วนร่างกายอันแท้จริงนี้ก็เลยหายไป ไม่ทราบหายไปไหน มันไม่รู้สึกว่ากายมีเวลานั้น ทั้งๆ ที่พิจารณาร่างกายอยู่นั้นแล จนกระทั่งสภาพนี้สลายลงไป เห็นอย่างประจักษ์ภายในจิต สลายลงไปจนกระทั่งกลายเป็นสภาพเดิมของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ สลายลงไปสู่ธาตุเดิมของเขา จิตหดตัวเข้ามาเหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ
ที่ว่า “เวทนา” ก็หายหมดในระยะนั้น สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย เพียงแต่ “รู้” อย่างเดียวเท่านั้น มันพอกับความเป็นอยู่ของจิตใจในขณะนั้นแล้ว เข้าสู่ความสงบแน่วไปเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ อย่างเดียว ร่างกายที่เรานั่งอยู่นี้หายหมดอย่างนี้ก็มีในการพิจารณา แต่กรุณาอย่าคาด เป็นแต่เพียง “ฟัง” ให้เป็นความเพลิดเพลินรื่นเริง ในขณะที่ฟัง อันจะเกิดผลประโยชน์ในการฟัง ด้วยความเห็นจริงของตัวเอง
เวลาเราพิจารณาตามจริตนิสัยของเราแล้ว จะเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของตัวเอง ที่จะปรากฏขึ้นมาตามจริตนิสัยของตัว เรื่องของคนอื่นถ้าจะให้เราเป็นอย่างนั้น คือ ให้ตัวของเราเป็นอย่างนั้น รู้อย่างนั้น เห็นอย่างท่านนั้นไม่ได้ แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคน ละคน ให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติของตนเอง ที่ได้พิจารณารู้เห็นอย่างใด นี่เป็นประการหนึ่ง ที่อธิบายมานี้
ประการที่สอง เวลาพิจารณา กาย เกี่ยวกับเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น เราจะว่า อนิจจัง หรือ ทุกขัง อนัตตา ก็ตาม เมื่อปัญญาได้สัมผัสสัมพันธ์กับรูปขันธ์นี้โดยชัดเจนแล้ว มันหากรู้ได้ภายในตัวของมันเอง เพราะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่จะพึงปล่อยวาง เป็นสิ่งที่พึงเบื่อหน่ายคลายความยินดีไปโดยลำดับๆ แล้วปล่อยวาง เมื่อจิตพิจารณาเข้าใจเต็มที่แล้ว ก็ปล่อยวางเองโดยไม่ต้องบังคับ เพราะเป็นความจริงอันหนึ่งๆ เท่านั้น ในกาย ในขันธ์ แต่ละส่วน แต่ละชิ้น ที่พิจารณานี้ เวลาพิจารณาลงไปอย่างชัดเจนเช่นนั้นแล้ว จิตก็แยกตัวออกได้โดยอัตโนมัติ เพราะความจริง ถึงความจริง คือ จิตเป็นจิต อาการเหล่านั้นแต่ละอาการก็เป็นอาการของตัวโดยลำพังไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับจิตเลย แม้จิตก็ย้อนมาเห็นโทษของจิตเอง ที่ไปยึดไปถือไว้นั้นว่า “นี่มันหลงจริง ๆ ความจริงมันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้” นั่น! นี่เป็นวาระหนึ่ง เมื่อยังไม่ขาดจากกัน คือ จิตยังไม่มีกำลังพอตัว มันรู้เป็นระยะอย่างนี้ไปก่อน
การพิจารณาคราวหน้าก็รู้อย่างนี้ ซึมซาบ ซึมซาบเข้าไปเรื่อย ๆ จนความรู้ชั้นนี้พอตัวก็ปล่อยวาง เหมือนจอกแหนที่มันหุ้มเข้ามา หุ้มเข้ามาปิดน้ำนั่นเอง เราเบิกเราแหวก จอกแหน ก็หุ้มเข้ามาอีก แหวกมันออกไปอีก ปัญญาเวลาพิจารณาบุกเบิกสิ่งเหล่านี้ หรือคลี่คลายสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นอย่างนั้น พอถอยปัญญาออกมา กิเลสส่วนละเอียดมันก็หุบเข้ามา แต่พิจารณาหลายครั้งหลายหนเข้า เรื่องจอกเรื่องแหน คือ กิเลสชนิดต่างๆ ก็เบาบางไป บางไป การพิจารณาในอาการเหล่านี้ ค่อยสะดวกขึ้น สะดวกขึ้น คล่องแคล่วขึ้นไปเรื่อยๆ และมีความละเอียดไปเป็นลำดับๆ จนกระทั่งถึงความพอตัวแล้วก็ถอนตนออกโดยอัตโนมัติ ดังที่อธิบายผ่านมาแล้วนั่นแล
จิต เมื่อมีกำลังสติปัญญาพอตัวแล้ว มันถอนได้อย่างเด็ดขาด รู้ประจักษ์ใจ โดยไม่ต้องไปถามใครอีกแล้ว ใจมีความเพียงพอในตัวเอง เห็นประจักษ์เป็น “สนฺทิฏฺฐิโก” อย่างเต็มภูมิ ตามธรรมประกาศไว้ ไม่มีปัญหาใดๆ มาขัดแย้ง
ประการที่สาม เวลาพิจารณาร่างกาย บางทีจิตมีความสัมผัสกับเวทนาก็แยกไปพิจารณาเรื่อง “เวทนา” อีก แล้วแต่จริตของจิต เวลาจะแยกไปพิจารณาเวทนา ใจมันก็ส่งเข้ามาหากายอีกเช่นเดียวกัน เพราะกายกับเวทนาเกี่ยวโยงกัน ที่จำต้องพิจารณาประสานกันไปในขณะเดียวกัน ตามแต่ถนัดในโอกาสใด เวทนาใด และอาการของกายใด พิจารณาเวทนา คำว่า “ทุกข์” ก็สักแต่ว่าทุกข์มันดู มันกำหนด มันซักซ้อม มันปล่อยวางอยู่ตรงนั้นแล้วก็ย้อนเข้ามาหากาย กายก็เป็นกาย เวทนาก็เป็นเวทนา แล้วย้อนเข้ามาหาจิต จิตก็เป็นจิต พิจารณาทดสอบหาความจริง ทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ซึ่งเป็นตัวการทั้งสามนั่นแล จนเป็นที่เข้าใจเป็นชิ้นเป็นอัน ว่าต่างอันก็เป็นความจริงด้วยกัน
(http://www.screene.com/free-wallpapers/free-wallpaper-preview/pwallpapers/p8blueflowers1.jpg)
เอ้า จะคิดปรุงเรื่องอะไรขึ้นมาก็ตาม นั้นเป็นเรื่องของใจที่ว่า ปรุงเสือ ปรุงช้าง มันเป็น “สังขาร” ออกไปหลอกตัวเองทั้งมวล สติปัญญาก็รู้ทันทุกระยะ ที่นี่กระแสแห่ง “วัฏฏะ” นับวันเวลาแคบเข้ามา สุดท้ายก็จับตัวนักโทษได้ แต่ยังลงโทษมันไม่ได้ กำลังอยู่ในขั้นวินิจฉัยใคร่ครวญเพื่อโทษของมัน จนกว่าจะมีหลักฐานเหตุผลเป็นที่แน่นอน จึงจะลงโทษประหารมันได้ตามกระบิล “ธรรมาภิสมัย” นี่ถึงขั้นของสติปัญญาอันสำคัญแล้ว
ทีแรกอาศัยธาตุขันธ์เป็นที่พิจารณาซักฟอกจิตใจด้วยธาตุ ด้วยขันธ์ เป็นหินลับสติปัญญา ซักฟอกจิตใจด้วยรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นหินลับปัญญา และซักฟอกจิตใจโดยเฉพาะ ด้วย “สติปัญญาอัตโนมัติ” ขั้นนี้ตามต้อนกันเฉพาะจิตอย่างเดียว ไม่ออกไปเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส เพราะรู้เรื่องรู้ราว และปล่อยวางหมดแล้ว ว่านั่นไม่ใช่ตัวเหตุตัวผล ไม่ใช่ตัวสำคัญยิ่งไปกว่าจิตใจดวงนี้ที่เป็นตัวการสำคัญมาก เป็นนักโทษที่ลือนามในวง “วัฏฏะ” นักก่อกวน นักยุ่งเหยิง วุ่นวายตัวเองอยู่ที่นี้แห่งเดียว
สติปัญญาค้นเข้ามา แล้วจดจ้องที่ตรงนั้น ไปที่ไหนก็มีแต่จิตดวงนี้แหละเป็นผู้ก่อโทษขึ้นมา คอยดูแต่นักโทษคนนี้จะแสดงตัวอะไรออกมา นอกจากจะระวังนักโทษตัวนี้จะแสดงตัวอะไรออกมาแล้ว ยังต้องมีปัญญาสอดแทรกเข้าไปว่า “อะไรเป็นเครื่องเสี้ยมสอน อะไรเป็นฉากหน้าฉากหลัง ของนักโทษนี้ จึงต้องทำโทษ ทุจริตอยู่ตลอดเวลา คิดปรุงแต่เรื่องราวหลอกลวงอยู่ไม่ขาดวรรคขาดตอน เป็นเพราะอะไร
สติปัญญาขุดค้นเข้าไปที่ตรงนั้น ไม่เพียงแต่จะตะครุบ หรือตีต้อน เฉพาะอาการของมันที่แสดงออกมาเท่านั้น ยังค้นเข้าไปในรวงรังของมันอีก มีอะไรเป็นเครื่องผลักดันอยู่ภายใน? ตัวการสำคัญคืออะไร? ต้องมีสาเหตุ ถ้าไม่มีสาเหตุ ไม่มีปัจจัย เป็นเครื่องหนุนให้จิตแสดงออกมา จิตจะออกมาเฉย ๆ ไม่ได้
ถ้าแสดงอาการออกมาเฉย ๆ ก็ต้องเป็นขันธ์ล้วน ๆ แต่นี่มันไม่เฉย ๆ นี่ จิตแสดงอาการอะไรออกมา? ปรุงเรื่องอะไรออกมา มันทำให้เกิดความดีใจ เสียใจ ทั้งนั้น แสดงว่ามันไม่ใช่อาการออกมาเฉย ๆ มันมีเหตุมีปัจจัยพาให้ออก ให้เป็นเหตุเป็นผล เป็นสุข เป็นทุกข์ ได้จริง ๆ ในเมื่อหลงมัน
ค้นเข้าไป ระยะนี้เราเห็นจิตเป็นนักโทษแล้ว เราต้องพิจารณาปล่อยวางสิ่งภายนอกทั้งหมด ภาระน้อยลงไป น้อยลงไป มีแต่เรื่องจิตกับเรื่องความปรุง ความสำคัญมั่นหมายที่เกิดขึ้นจากจิตโดยถ่ายเดียวเท่านั้น สติปัญญาหมุนติ้วๆ อยู่ในนั้น สุดท้ายก็รู้ว่ามีอะไรเป็นสาเหตุที่ให้จิตคิดปรุงขึ้นมา ให้เกิดความรัก ความชัง ความโกรธ ความเกลียด เมื่อมีอะไรมาปรากฏใจก็รู้อันนั้น พอรู้อันนั้นแล้ว “จอมสมมุติ” ที่กลมกลืนกันกับจิตก็สลายไป ทีนี้ทำลาย “วัฎฎะ” ได้แล้วด้วยสติปัญญา จิตก็หมดโทษ กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ขึ้นมา เมื่อปัญหา “วัฏจักร” สิ้นสุดลงแล้ว จะตำหนิโทษจิตไม่ได้แล้ว ที่ตำหนิได้เพราะโทษยังมีอยู่ในจิต มันซ่อนอยู่ในจิต เหมือนกับโจรผู้ร้ายหรือข้าศึกเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใด ต้องทำลายอุโมงค์นั้นด้วย จะสงวนอุโมงค์เอาไว้ เพราะความเสียดายนั้นไม่ได้
(http://www.skinbase.org/files/archive/shots/604/PlasticLeaves1024x768_wps.jpg)
“อวิชชา” นี้เป็นจอมแห่งไตรภพที่เข้าไปแทรกอยู่ในจิต ฉะนั้นจะต้องพิจารณาทำลายลงให้หมด ถ้าจิตไม่เป็นของจริงแล้วจิตจะสลายไปพร้อม “อวิชชา” สลายตัว ถ้าเป็นของจริงตามธรรมชาติแล้ว จิตนั้นจะกลายเป็นจิต “บริสุทธิ์” ขึ้นมา เป็นของประเสริฐขึ้นมา เพราะสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายได้หลุดลอยไปแล้วด้วยสติปัญญา
เมื่อสิ่งจอมปลอมอันเป็นสนิมเกาะแน่นอยู่ภายในจิต ได้สลายตัวลงไปด้วยอำนาจของสติปัญญาแล้ว “จิตดวงนั้นแล เป็นธรรมแท้” จะเรียกว่า “จิตแท้” “ธรรมแท้” ก็ไม่ขัดกัน เพราะหมดเรื่องที่จะมาคอยขัด ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสแล้วจะเรียกว่า “รสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง” ก็ได้ ๑๐๐% เมื่อจิตเป็นธรรมล้วนๆ แล้ว ย่อมมีความ “อิ่มพอ”กับสิ่งทั้งหลาย ไม่เกี่ยวข้องกันอะไรทั้งสิ้นแล้ว เป็น “เอกจิต เอกธรรม” มีอันเดียวเท่านั้น ธรรมแท้มีอันเดียว จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต พูดได้เท่านั้น
ขอให้ทุกท่านนำไปพินิจพิจารณา นี่แหละหลักความจริงของศาสนธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาตั้งแต่ต้น จนถึงวาระสุดท้ายแห่งการปรินิพพาน ความบริสุทธิ์ของพระจิตเป็นธรรมที่ซาบซึ้ง ทรงรู้ทรงเห็นมาอย่างเต็มพระทัย แล้วทรงประกาศธรรมนั้นสอนโลก ด้วยพระเมตตาอย่างเต็มพระทัยเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
ศาสนธรรมนั้น จะเรียกว่า “พระเมตตาธรรมของพระพุทธเจ้า” ก็ไม่น่าจะผิด เพราะทรงสั่งสอนโลกด้วยพระเมตตาจริงๆ เมื่อพวกเรานำธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนี้ไปประพฤติปฏิบัติอย่างถึงใจแล้ว จะได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น สิ่งที่ไม่เคยรู้ ซึ่งมีอยู่ภายในใจนี้โดยลำดับๆ จนเต็มภูมิของการปฏิบัติ และรู้อย่างเต็มภูมิ พ้นทุกข์อย่างเต็มใจ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องเกาะเกี่ยว เรียกว่า “ล้างป่าช้า” คือ ความเกิด ตายของจิตของกายโดยสิ้นเชิง หายห่วง!
เมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่ทราบจะพูดอะไรต่อไปอีก เพราะหมดสติปัญญาจะพูดต่อไปได้อีก ท่านนักปฏิบัติก็กรุณาปฏิบัติฝึกหัดคิดค้นธรรมทั้งหลายจนหมดสติปัญญา เหมือนผู้แสดงที่จนตรอกนี้ แม้โง่แสนโง่ก็จะขอชม และอนุโมทนาด้วยอย่างถึงใจ เอวังฯ
(http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQJguWMqgCOeVB0553H244HImRlpe9nnnBfNmiw7EH8PLsqsHHd)
:http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1569&CatID=1
baby@home : http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=3272.0 (http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=3272.0)
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ