ใต้ร่มธรรม

คลังธรรมปัญญา => หนอนหนังสือ => หนังสือธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: mind ที่ มีนาคม 28, 2012, 01:32:11 pm

หัวข้อ: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: mind ที่ มีนาคม 28, 2012, 01:32:11 pm


(http://e1.s1sf.com/df/0/ui/post/2011/12/12/2/b/c7fe3fbb6f31ccbce42f7b70d0be7983.jpg)

เนื้อหานำมาจากหนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
เห็นว่ามีประโยชน์ จึงนำมาทำการเผยแผ่ สู่พุทธศาสนิกชน และผู้สนใจ

(http://s.exaidea.com/upload/1/20110216/acef6f224dd40161ce2ce83cef3947a6.jpg)    อ่านหนังสือออนไลน์

(http://4.bp.blogspot.com/-FPNHXCq9d2I/Tm94jCLxU3I/AAAAAAAAAfk/2uqUxX2cv7Y/s1600/284879_157562744319843_100001983550209_330817_2199195_n.jpg)

สารบัญ 001-605 พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์  (http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQrAVzXhpo-b5LmY8GkCLeqFcjoEWKPQscrFmsmcgqrGOuA23CMCfoyieJ9)
โดย รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม
         :45:  - http://www.84000.org/true/index.html (http://www.84000.org/true/index.html)


หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: แก้วจ๋าหน้าร้อน ที่ เมษายน 02, 2012, 01:10:54 pm
 :13: อนุโมทนาครับ
หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 10, 2012, 08:43:20 pm


(http://img83.imageshack.us/img83/4700/a55549cf9dc25afb23a1d1dnz1.jpg)

พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
คัดลอกบางส่วนจาก
:พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ (ฉบับสมบูรณ์)
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(https://encrypted-tbn2.google.com/images?q=tbn:ANd9GcRAqiVy1cf3szk9RVVNartLTWkl_7rutxefJmB0e1HZ3cYFtgO7qA)

โพสท์ในลานธรรมเสวนา
กระทู้ที่ 004051 –
โดยคุณ : mayrin [ 10 ม.ค. 2545 ]
เนื้อความ :
**********************
พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
ตอนที่ ๑

**********************
สมาธิเพื่อดับอาสวะ
ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาแบบไหน อย่างไรจึงจะทำให้อาสวะดับได้

พุทธดำรัสตอบ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปทานขันธ์ห้าอยู่เป็นประจำว่า

"รูป"... เป็นดังนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้
"เวทนา...ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา... ความดับแห่งเวทนาเป็นดังนี้
"สัญญา... ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา... ความดับแห่งสัญญาเป็นดังนี้
"สังขาร...ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร... ความดับแห่งสังขารเป็นดังนี้
"วิญญาณ... ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ... ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้... ย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ..."
สมาธิสูตร
 

กิเลสหนากับการบรรลุธรรม
ปัญหา ผู้รู้บางท่านแสดงไว้ว่าคนที่มีอุปนิสัยหยาบ มีราคะ โทสะ โมหะกล้า มีโอกาสจะบรรลุมรรคผลช้าคนที่มีอุปนิสัยละเอียด มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง มีหวังได้บรรลุมรรคผลเร็ว จริงหรือไม่

พุทธดำรัสตอบ "...บุคคลบางคนในโลกนี้ โดยปกติเป็นผู้มีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนือง ๆ บ้าง
เป็นผู้มีโทสะกล้าย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง
เป็นผู้มีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง

(แต่)อินทรีย์ ๕ ประการ...คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญาของเขาปรากฏว่าแก่กล้า เขาย่อมบรรลุคุณวิเศษ เพื่อความสิ้นอาสวะเร็วพลัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า...

"...บุคคลบางคนในโลกนี้โดยปกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า... ไม่เป็นคนมีโทสะกล้า... ไม่เป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ ราคะ... โทสะ... โมหะเนือง ๆ
(แต่) อินทรีย์ ๕ ประการ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาของเขา ปรากฏว่าอ่อน เขาย่อมได้บรรลุคุณวิเศษเพื่อสิ้นอาสวะช้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน...
ปฏิปทาวรรคที่ ๒


สมถะหรือวิปัสสนาก่อน
ปัญหา การเจริญกรรมฐานมี๒อย่างคือ สมถะ และวิปัสสนา ใน ๒ อย่างนี้ จะเจริญสมถะก่อนหรือวิปัสสนาก่อน ?จะเจริญควบคู่กันไปจะได้หรือไม่

พระอานนท์ตอบว่า "...ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า (หรือ)... เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า(หรือ)...เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป...มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด..."
ปฏิปทาวรรคที่ ๒
 
 
ประโยชน์ของการเดินจงกรม
ปัญหา วิธีการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน เพื่อทำจิตให้สงบระงับนั้น มีอยู่หลายวิธี การเดินจงกรมก็เป็นวิธีหนึ่ง อยากทราบว่าพระพุทธองค์ ทรงเห็นประโยชน์อย่างไร จึงแนะนำให้ภิกษุเดินจงกรม ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรมมี ๕ ประการเป็นไฉนคือภิกษุผู้เดินจงกรม
ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑
ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๑
ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑
อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๑
สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรมมี ๕ ประการฉะนี้แล ฯ"
จังกมสูตร


การตรัสรู้โดยฉับพลันมีได้หรือไม่
ปัญหา มีพระพุทธศาสนาบางนิกายถือว่า การบรรลุมรรคผลอาจเกิดขึ้นได้โดยฉับพลัน เช่นเดียวกับแสงสว่างวาบขึ้นทันทีทันใด ขับไล่ความมืดให้หมดสิ้นไป การบรรลุมรรคผลโดยฉับพลันดังกล่าวจะมีได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "...ดูกรปหาราทะ มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับไม่โกรกชันเหมือนเหวฉันใด ในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการกระทำไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ มิใช่ว่าจะมีการบรรลุอรหัตตผลโดยตรง...ฯ"
มหาปราทสูตร 


สมาธิกับฌาน
ปัญหา การบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน จะเป็นเหตุละอาสวะได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง ฯลฯ เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง...

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาหาร เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุ นั่นสงบ นั้นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคือ อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย..."
ฌานสูตร


ศีลกับอรหัตตผล
ปัญหา การรักษาศีล จะสามารถนำไปสู่การบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ  "...ดูก่อนอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อน) เป็นผล... อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล... ปราโมทย์มีปีติเป็นผล... ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล... ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล... สุขมีสมาธิเป็นผล... สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล... ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาวิราคะเป็นผล... นิพพิทาวิราคะมีวิมุติญาณทัสสนะเป็นผล ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตตผลโดยลำดับด้วยประการดังนี้แล ฯ"
กิมัตถิยสูตร

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 13, 2012, 11:52:52 am


(http://3.bp.blogspot.com/-jk4uETytDPk/UH1U7ZWCNGI/AAAAAAAAcgw/8UOkRQ721ME/s400/Capturar.PNG454567.PNG)

ตอน ๒

เหตุให้พระพุทธเจ้าอุบัติ
ปัญหา อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๓ ประการนี้ ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้ว ไม่พึงรุ่งเรืองในโลกธรรม ๓ ประการเป็นไฉน

คือ ชาติ ๑ ชรา ๑ มรณะ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก...ฯ"
อภัพพสูตร


เหตุให้ขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์
ปัญหา ทำไมขันธ์ ๕เป็นไตรลักษณ์

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่เที่ยง... เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูป (เป็นต้นนั้น) เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง... เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา รูป(เป็นต้น) ที่เกิดจากสิ่งที่ไม่เที่ยง...เป็นทุกข์...เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเที่ยง...เป็นสุข...เป็นอัตตาเล่า ?"
อนิจจเหตุสูตรฯ


คนที่เหมาะสมต่อการสิ้นทุกข์
ปัญหา บุคคลควรปฏิบัติต่อขันธ์ ๕ อย่างไร จึงจะสิ้นทุกข์ได้ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุคคลที่ไม่รู้จริง ไม่รู้ทั่วถึง ไม่เบื่อหน่าย ไม่สละเสียซึ่ง รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ จัดเป็นคนอาภัพต่อการสิ้นทุกข์

 "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่รู้จริง รู้ทั่วถึง เบื่อหน่ายและสละเสียซึ่ง รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณจึงเป็นผู้เหมาะสมต่อความสิ้นทุกข์"
ปริชานสูตร


วิธีดับขันธ์ ๕
ปัญหา บุคคลจะดับขันธ์ ๕ ได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความใคร่ ความพอใจ ในรูป... ในเวทนา... ในสัญญา... ในสังขาร... ในวิญญาณเสีย เมื่อเป็นเช่นนี้รูป (เป็นต้นนั้น) ก็จะเป็นอันถูกละ ถูกตัดราก เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ไม่มีการเกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา..."
ฉันทราคสูตร


คิดถึงอะไร เป็นสิ่งนั้น
ปัญหา ภิกษุรูปหนึ่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดโดยย่อ เพื่อจักได้นำไปปฏิบัติต่อไป พระโอวาทย่อว่าอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุบุคคลย่อมครุ่นคิดในสิ่งใด ย่อมเข้าไปมีส่วนเป็นสิ่งนั้น บุคคลย่อมไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่เข้าไปมีส่วนในสิ่งนั้น...

 ถ้าบุคคลครุ่นคิดถึงรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ย่อมเข้าไปมีส่วน เป็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้น ถ้าไม่ครุ่นคิดถึงรูป (เป็นต้น) นั้น ก็ไม่เข้าไปมีส่วนเป็นรูป (เป็นต้นนั้น)"
ภิกขุสูตรที่ ๑


ขันธ์ตนกับขันธ์คนอื่น
ปัญหา บุคคลควรพิจารณาเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ของตนกับขันธ์๕ ของคนอื่นหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนโสณะก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมพิจารณาเห็นว่า เราประเสริฐกว่าเขา...เราเท่าเทียมกับเขา...เราเลวกว่าเขา โดยรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง

"ดูก่อนโสณะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่พิจารณาเห็นว่า เราประเสริฐกว่าเขา...เราเท่าเทียมกับเขา...เราเลวกว่าเขา โดยรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่เป็นดังนี้มิใช่อื่นไกล นอกจากการเห็นธรรมตามความเป็นจริง..."
โสณสูตรที่ ๑


พระอรหันต์กับพระพุทธเจ้า
ปัญหา พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกเหมือนกันและแตกต่างกันในแง่ไหนบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย...คลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะความไม่ถือมั่นในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ คนจึงเรียกว่า 'สัมมาสัมพุทธะ'

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายแม้ภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา หลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย...คลายกำหนัดเพราะความดับเพราะความไม่ถือมั่นในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ คนจึงเรียกว่า 'ปัญญาวิมุต'

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้ จะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน มีอะไรเป็นลักษณะเฉพาะ มีอะไรเป็นเหตุแตกต่างกัน ระหว่างพระตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะกับภิกษุผู้เป็นปัญญาวิมุต

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้นำทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำทางที่ยังไม่มีใครรู้ให้รู้ บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้แจ้งหนทาง เข้าใจทางฉลาดในทาง

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้เดินตามทาง เป็นผู้มาภายหลัง อันนี้แลเป็นข้อแปลกกัน..."
พุทธสูตร


ความหมายของอนัตตา
ปัญหา คำว่า 'อนัตตา' มีความหมายว่าอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนอันเป็นอมตภาพตามทัศนะของฮินดู) ถ้าหากว่า...จักเป็นอัตตาไซร้ รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ นี้คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ว่า ขอรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่ รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น...จึงเป็นเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา..."
ปัญจวัคคิยสูตร


พระพุทธเป็นหนึ่งกับพระธรรม
ปัญหา มีผู้กล่าวว่าพระพุทธเจ้ากับพระธรรม (โลกุตรธรรม) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าเห็นอย่างหนึ่ง ก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง จริงหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนวักกลิผู้ใดแลเห็นธรรมผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม
วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม..."
วักกลิสูตร


วิธีคิดเมื่อเสวยสุข-ทุกข์
ปัญหา เมื่อได้เสวยสุขเวทนาทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกกลางๆไม่สุขไม่ทุกข์) ควรจะกระทำจิตใจอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอัสสชิ...อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วได้เสวยสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่าสุขเวทนานั้นไม่เที่ยงไม่น่าพอใจไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่าเสวยทุกขเวทนาก็ทราบชัดว่าทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยงไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่าเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจไม่น่าเพลิดเพลิน

"หากว่าเสวยสุขเวทนา...ทุกขเวทนา...อทุกขมสุขเวทนา ก็ปราศจากความยินดียินร้ายหากว่าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งกำลังกายก็ทราบชัดว่าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งกำลังกาย ถ้าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งชีวิต ก็ทราบชัดว่าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งชีวิต...ก่อนแต่จะสิ้นชีวิตเพราะกายแตกทำลาย ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น...อุปมาเหมือนประทีปน้ำมันจะพึงติดอยู่ได้เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ ประทีปน้ำมันไม่มีเชื้อ เพราะหมดน้ำมันและไส้ก็พึงดับไป..."
อัสสชิสูตร


อุปทานขันธ์กับ 'เรา'
ปัญหา 'เรา' กับอุปทานขันธ์ทั้ง ๕ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

พระเขมกะตอบ "ดูก่อนท่านผู้มีอายุ...ผมไม่กล่าวรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณว่าเป็นเราทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณแต่ผมเข้าใจว่าเรามีในอุปทานขันธ์ ๕แต่ผมไม่ถือว่าเราเป็น (ขันธ์ ๕) นี้...เปรียบเหมือนกลิ่นดอกอุบลก็ดี กลิ่นดอกปทุมก็ดี กลิ่นดอกบุณฑริกก็ดี ผู้ใดหนอจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่ากลิ่นใบ กลิ่นสีหรือว่ากลิ่นเกสร...
 "ดูก่อนท่านผู้มีอายุ...สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะฉันทะอนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า 'เรามีอยู่' ไม่ได้ ในสมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปทานขันธ์ ๕...มานะ ฉันทะ อนุสัยที่ว่า "เรามีอยู่" นั้น ที่ยังถอนไม่ได้ ก็ย่อมถึงการเพิกถอนได้ ...เปรียบเหมือนผ้าเปื้อนเปรอะด้วยมลทิน เจ้าของมอบผ้านั้นให้แก่ช่างซักฟอก ช่างซักฟอกขยี้ผ้านั้นในน้ำด่างขี้เถ้า ในน้ำด่างเกลือหรือในโคมัย แล้วเอาซักในน้ำใสสะอาด ผ้านั้นเป็นของสะอาดขาวผ่องก็จริง...แต่ยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า...กลิ่นน้ำด่างเกลือหรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด ช่างซักฟอกมอบผ้านั้นให้แก่เจ้าของ เจ้าของเก็บผ้านั้นใส่ไว้ในหีบอบกลิ่น...แม้กลิ่นนั้นก็หายไป"
เขมกสูตร


อุปมาของขันธ์ ๕
ปัญหา เราจะอธิบายขันธ์ทั้ง ๕ โดยเปรียบเทียบกับอะไร จึงจะเป็นการเข้าใจที่แจ่มแจ้ง

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้พึงนำกลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุ...พึงพิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้นโดยแยบคาย...เมื่อบุรุษนั้น...พิจารณาอยู่...กลุ่มฟองน้ำนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย...แม้ฉันนั้นเหมือนกัน

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงในฤดูใบไม้ร่วง (สารทสมัย) ฟองน้ำในน้ำย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป บุรุษผู้มีจักษุ...พึงพิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย...เมื่อบุรุษนั้นพิจารณาอยู่ฟองน้ำนั้นพึงเป็นของว่างเปล่า...แม้ฉันใด เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง...เมื่อภิกษุพิจารณาอยู่โดยแยบคาย...ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า...แม้ฉันนั้น

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดดย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง...เมื่อบุรุษพิจารณาโดยแยบคาย พยับแดดนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า...ฉันนั้นเหมือนกันแล

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุรุษผู้มีความต้องการไม้แก่น...ถือเอาจอบอันคมพึงไปสู่ป่า...พึงเห็นต้นกล้วยขนาดใหญ่ลำต้นตรง ยังอ่อน ยังไม่เกิดแกน...พึงตัดโคน..ตัดปลาย...ปอกกาบใบออก...ไม่พึงได้แม้แต่กระพี้ในต้นกล้วยนั้น...เมื่อบุรุษพิจารณาอยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่าง...แม้ฉันใด สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง...ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายนักเล่นกล...พึงเล่นกลที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่ง...เมื่อบุรุษพิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลนั้นพึงปรากฏเป็นของว่าง...แม้ฉันใด วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง...ย่อมปรากฏเป็นของว่างฉันนั้นเหมือนกันแล"
เผณปิณฑสูตร

(http://3.bp.blogspot.com/-i4VrV-bqAac/UFT2W2J9PaI/AAAAAAAAcTA/kNip3uVbH9w/s400/285513_278389222261955_2142596399_n.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม-ตอน๓
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 13, 2012, 06:24:09 pm


(http://3.bp.blogspot.com/-wB9Sn3aGGAI/T6QyceiYewI/AAAAAAAAbiw/VrSPx6JgK0s/s400/%5BUNSET%5D.jpg)

ตอน ๓

จิตสร้างความวิจิตร
ปัญหา เพราะเหตุใดขันธ์ ๕ ของคน และของดิรัจฉานจึงมีความวิจิตรแตกต่างกันออกไปใครเป็นผู้สร้างความวิจิตรเหล่านี้ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภาพวิจิตรที่ชื่อว่าจรณะ เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ ? ...ภาพวิจิตรชื่อจรณะแม้นั้นแล จิตเป็นผู้คิดขึ้นเพราะเหตุนั้น จิตนั้นแหละจึงวิจิตรกว่าภาพวิจิตรชื่อจรณะนั้น...

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราย่อมไม่พิจารณาเห็นหมู่สัตว์อื่นแม้หมู่หนึ่ง ซึ่งวิจิตรเหมือนสัตว์ในกำเนิดดิรัจฉาน...แม้สัตว์ในกำเนิดดิรัจฉานเหล่านั้นก็เป็นผู้ถูกจิตคิดขึ้นแล้วเพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย จิตนั้นเองจึงวิจิตรกว่าสัตว์ในกำเนิดดิรัจฉาน...

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายช่างย้อมหรือช่างเขียนเมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี ทั้งเขียนรูปสตรี หรือ รูปบุรุษมีอวัยวะใหญ่น้อย ครบทุกส่วนลงที่แผ่นกระดาษเกลี้ยงเกลาหรือที่ฝาหรือที่แผ่นผ้าแม้ฉันใด...ปุถุชนผู้ไม่ได้เรียนรู้ย่อมสร้างรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้นแหละให้เกิดขึ้น"
คัททูลสูตรที่ ๒


ประโยชน์ของจิตที่ใสสะอาด
ปัญหา จิตที่ใสสะอาดก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเปรียบเหมือนห้วงน้ำใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนฝั่งพึงเห็นหอยโข่ง และหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและกระเบื้องบ้าง ถ้วยบ้าง ฝูงปลาบ้าง ซึ่งเที่ยวไปบ้าง ตั้งอยู่บ้าง ในห้วงน้ำนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะน้ำไม่ขุ่นฉันใดภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักรู้จักประโยชน์ทั้งสองบ้าง กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษคือ อุตริมนุสธรรมอันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐ อันเป็นของพระอริยะได้ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว ข้อนี้เป็นเรื่องที่จะเป็นไปได้ เพราะเหตุใด เพราะจิตไม่ขุ่นมัว..."
บาลีแห่งเอกธรรม


จิตเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด
ปัญหา อะไรเป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่สุด

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้แต่อย่างเดียวที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลายแม้จะเปรียบเทียบให้เห็นว่าจิตเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเพียงใดนั้นก็กระทำไม่ได้ง่าย..."
บาลีแห่งเอกธรรม


จิตเดิมใสสะอาด
ปัญหามีหลักฐานอะไรบ้างแสดงว่าจิตเป็นธรรมชาติใสสะอาดอยู่เดิม สกปรกภายหลัง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้วด้วยอุปกิเลสที่จรมา ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่รู้ข้อนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่าปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ย่อมไม่มีการอบรมจิต...ส่วนอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วย่อมทราบข้อนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมมีการอบรมจิต..."
บาลีแห่งเอกธรรม


ตำแหน่งที่สตรีครองไม่ได้
ปัญหา ตำแหน่งอะไรบ้างที่สตรีไม่สามารถจะเข้าดำรงได้

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายข้อที่สตรีจะพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า...จะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ...จะพึงเป็นมาร... จะพึงเป็นพรหมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้..."
อัฏฐานบาลี


คนที่มีจิตเหมือนแผลเก่า
ปัญหา บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่าเหมือนฟ้าแลบ เหมือนเพชรคืออย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่าเป็นอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธมากด้วยความแค้นใจถูกเขาว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดใจโกรธเคืองพยาบาทขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏเปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมให้สิ่งหมักหมมกระจัดกระจายมากมาย...บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนแผลเก่า

"บุคคลผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบคืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์นี้ทุกขสมุทัยนี้ทุกขนิโรธนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหมือนบุรุษผู้มีดวงตาเห็นรูปในขณะฟ้าแลบในเวลากลางคืนอันมืดมิด...บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนฟ้าแลบ...

"บุคคลมีจิตเหมือนเพชรคืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้...เปรียบเหมือนแก้วมณีหรือหินชนิดใดชนิดหนึ่งที่เพชรจะทำลายไม่ได้ไม่มี...บุคคลผู้นี้เรียกว่ามีจิตเหมือนเพชร..."
วชิรสูตร


โทษของการคบคนเลว
ปัญหา การคบคนเลวทรามก่อให้เกิดโทษอย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีธรรมอันเลวทรามไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจมีการงานลึกลับ ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคลเน่าในภายในเยิ้มด้วยราคะเป็นเหมืองขยะบุคคลเช่นนี้ควรรังเกียจไม่ควรคบ...เพราะเหตุไร เพราะแม้จะไม่เจริญรอยตามบุคคลเช่นนั้นก็จริงแต่กิตติศัพท์ที่เสียหายของเขาย่อมระบือไปว่า เขามีคนชั่วเป็นมิตร มีคนชั่วเป็นสหายมีคนชั่วเป็นเพื่อน เปรียบเหมือนงูที่จมอยู่ในอุจจาระ ถึงแม้จะไม่กัดก็ทำให้เปื้อนได้"
ชิคุจฉสูตร


การเลือกคบคน
ปัญหา ในการคบคนนั้นเราควรจะเลือกคบคนเช่นใด ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...บุคคลที่ไม่ควรคบเป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนเลว (กว่าเรา) โดย ศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเช่นนี้ ไม่ควรคบ ไม่ควรเสพ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดูอนุเคราะห์กัน

"บุคคลที่ควรคบ...คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเสมอกับตนด้วยศีล สมาธิ ปัญญา บุคคลเช่นนี้ควรคบ...เพราะเหตุไร เพราะเราผู้เสมอกันด้วยศีล...สมาธิ...ปัญญา จักมีการสนทนากัน เรื่องศีล...สมาธิ...ปัญญา การสนทนานั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความผาสุกแก่พวกเรา

"บุคคลที่ควรสักการะเคารพแล้วคบ...คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งกว่าเราโดยศีล โดยสมาธิ โดยปัญญา บุคคลเช่นนี้ควรสักการะ เคารพแล้วจึงคบ...เพราะเหตุไร เพราะอาจหวังได้ว่า จักบำเพ็ญศีลขันธ์...สมาธิขันธ์...ปัญญาขันธ์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักสนับสนุน ศีลขันธ์...สมาธิขันธ์...ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์แล้วด้วยปัญญาในที่นั้น ๆ...

"บุคคลคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนเสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลใด ๆ คบคนที่สูงกว่าย่อมพลันเด่นขึ้น ฉะนั้นจึงควรคบคนที่สูงกว่าตน..."
เสวิสูตร


คนที่ควรเฉยเมย
ปัญหา คนชนิดไหนเป็นคนที่เราควรเฉยเสียไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนเจ้าโทสะ มากด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท...แสดงอาการโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้าย่อมให้สิ่งหมักหมมกระจัดกระจายมากมาย...เปรียบเหมือนถ่านไม้มะพลับ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมแตกเสียงดังจิจิ...เปรียบเหมือนหลุมอุจจาระ ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งขึ้น...บุคคลเช่นนี้ ควรวางเฉย ไม่ควรคบ เพราะเหตุไร ? เพราะเขาพึงด่าบ้าง บริภาษบ้าง ทำความเสียหายให้เราบ้าง..."
ชิคุจฉสูตร


คนปากเสีย และปากดี
ปัญหา คนเช่นใด"ปากอุจจาระ""ปากดอกไม้”และ "ปากน้ำผึ้ง" คืออย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล 'ปากอุจจาระ'คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในที่ประชุมก็ดี ในฝูงชนก็ดี ไปในท่ามกลางเหล่าญาติก็ดี ไปในท่ามกลางเสนาก็ดี ไปในท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขาอ้างเป็นพยาน...เขาไม่รู้ ก็กล่าวว่ารู้ หรือรู้ก็ว่าไม่รู้ ไม่เห็นก็ว่าเห็น หรือไม่เห็นก็ว่าเห็น กล่าวแกล้งเท็จทั้งที่รู้ เพราะเห็นแก่ตนเอง เพราะเห็นแก่คนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย...นี้เรียกว่าคน'ปากอุจจาระ'

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน 'ปากดอกไม้'คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ไปในที่ประชุม...ถูกเขาอ้างเป็นพยาน...เมื่อเขาไม่รู้กล่าวว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น ย่อมไม่แกล้งกล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเห็นแก่ตน เพราะเห็นแก่คนอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อย...นี้เรียกว่าคน 'ปากดอกไม้'

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน 'ปากน้ำผึ้ง' คืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ พูดแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสตเป็นที่รักจับหัวใจ เป็นวาจาของชาวเมือง เป็นที่รักที่ชอบใจของคนมาก...นี้เรียกว่าคน 'ปากน้ำผึ้ง'...."
คูถภาณิสูตร


ยอดของมิตร
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทางอะไรหนอเป็นมิตรในเรือนของตนอะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น อะไรเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ?

พุทธดำรัสตอบ "พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของผู้มีธุระเกิดขึ้นเนือง ๆ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า"
มิตตสูตรที่ ๓


อันตรายของสมาธิ
ปัญหา ในการเจริญสมาธิ บางครั้งเกิดนิมิตเห็นรูปแล้ว หรือเกิดโอภาสแสงสว่างแล้ว แต่ในไม่ช้าก็หายไป ทั้งนี้เพราะเหตุใร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอนุรุธ...เมื่อก่อนตรัสรู้ยังไม่รู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ เราย่อมรู้สึกแสงสว่างและการเห็นรูปเหมือนกัน แต่ไม่ช้าเท่าไร แสงสว่างและการเห็นรูปอันนั้นของเรา ย่อมหายไปได้ เราจึงมีความดำริดังนี้ว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุเป็นปัจจัยได้แสงสว่างและการเห็นรูปของเราหายไปได้ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้ดังนี้ว่า วิจิกิจฉา (ความสงสัยลังเล) แลเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็วิจิกิจฉาเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไปได้ เราจักทำให้วิจิกิจฉา ไม่เกิดขึ้นแก่เราได้อีก

"ดูก่อนอนุรุธ เรานั้นได้มีความรู้อย่างนี้ว่า มนสิการ (การไม่ใส่ใจ) แล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็มนสิการเป็นเหตุ สมาธิของเราจึงเคลื่อน

ถีนมิทธะ (ความง่วงงุน) แล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความหวาดเสียวแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความตื่นเต้นแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความชั่วหยาบแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา... สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความเพียรที่ปรารภเกินไปแล เกิดขึ้นแก่เรา...สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ตัณหาที่คอยกระซิบแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา...สมาธิของเราจึงเคลื่อน...
ความสำคัญสภาวะว่าต่างกันแล เกิดขึ้นแล้วแก่เรา...สมาธิของเราจึงเคลื่อน...

เมื่อสมาธิเคลื่อนแล้ว แสงสว่างและการเห็นรูปจึงหายไป เราจักทำไม่ให้เกิดวิจิกิจฉา อมนสิการ ถีนมิทธะ ความหวาดเสียว ความตื่นเต้น ความชั่วหยาบ ความเพียรที่ปรารภเกินไป ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ตัณหาที่คอยกระซิบ ความสำคัญสภาวะว่าต่างกัน และลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไปนั้น เกิดขึ้นแก่เราได้อีก..."

(http://1.bp.blogspot.com/-f0CQRK6Nmks/UKBN4Tkc9rI/AAAAAAAAcnY/yViVjP-jx6k/s400/foto_pegadas_na_areia.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม(ตอน๔)
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 14, 2012, 05:15:05 pm


(http://3.bp.blogspot.com/-tPjUWGr0lvY/T10ldFfXxnI/AAAAAAAAbVs/477Mw09hEZA/s500/nevoa.jpg)

ตอน ๔
ลักษณะพระนิพพาน
ปัญหา จงแสดงลักษณะของพระนิพพานว่ามีอย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ใด สงสารทั้งหลายย่อมกลับแต่ที่นี้ วัฏฏะย่อมไม่เป็นไปในที่นี้ นามก็ดี รูปก็ดี ย่อมดับหมดในที่นี้"
สรสูตรที่ ๗
 
สิ่งที่ไม่รู้จักตาย
ปัญหา สังขารร่างกายย่อมตายหายสูญไปเป็นธรรมดา มีอะไรบ้างที่ไม่ตายไปตามสังขารร่างกาย ?
เทวดาตอบ (พระบรมศาสดาทรงรับรอง)

"ชนทั้งหลายเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้เหมือนพวกเดินทางไกล ก็แบ่งของให้แก่พวกที่เดินทางร่วมกัน ชนทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อบุคคลทั้งหลาย เหล่าอื่นตายแล้ว ก็ชื่อว่าย่อมไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของบัณฑิตแต่ปางก่อน..."
มัจฉริยสูตรที่ ๒
 
ชีวิตประเสริฐ
ปัญหา(เทวดาทูลถาม)

อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้
อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย
คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ?

พุทธดำรัสตอบ "ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความจริงเท่านั้น เป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ"
วิตตสูตรที่ ๓
 
ยาอายุวัฒนะ
ปัญหา จะมีวิธีบริหารกายอย่างไร จึงจะทำให้อายุยืน ?

พุทธดำรัสตอบ "มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน"
โทณปากสูตรที่๓
 
ความเพลิดเพลินและทุกข์
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) "ข้าแต่ภิกษุ ทำไมพระองค์จึงไม่มีทุกข์ ทำไมความเพลิดเพลินจึงไม่มี ทำไมความเบื่อหน่ายจึงไม่ครอบงำพระองค์ผู้นั่งแต่ผู้เดียว ?

พุทธดำรัสตอบ  "ผู้มีทุกข์นั่นแหละจึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั้นแหละจึงมีทุกข์ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์..."
กกุธสูตรที่ ๘
 
สิ่งที่ไม่ควรดูหมิ่น
ปัญหา มีอะไรบ้าง ที่คนไม่ควรดูหมิ่น แม้จะดูเป็นของเล็กน้อยไม่สำคัญก็ตาม
พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนมหาบพิตร ของ ๔ อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย... คือ

๑.กษัตริย์ไม่ควรดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์
๒.งูไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก
๓.ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย
๔.ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม"
ทหรสูตรที่ ๑
 
อย่าดูหมิ่นสตรี
ปัญหา เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง ขณะที่พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังประทับนั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ราชบุรุษได้เข้ามาทูลว่า พระราชินีประสูติ พระราชธิดาออกมา พระราชาทรงผิดหวังมาก เพราะพระองค์ต้องการโอรส เช่นเดียวกับชาวอินเดียทั้งหลาย ที่อยากได้บุตรชายมากกว่าบุตรหญิง

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนมหาบพิตรผู้เป็นใหญ่ยิ่งกว่าปวงชน แท้จริงแม้สตรีบางคนก็เป็นผู้ประเสริฐ พระองค์จงชุบเลี้ยงไว้ สตรีที่มีปัญญา มีศีล ปฏิบัติพ่อผัว แม่ผัว แม่ผัวดังเทวดา จงรักสามีฯ
"บุรุษที่เกิดจากสตรีนั้นย่อมเป็นคนแกล้วกล้า เป็นเจ้าแห่งทิศได้ บุตรของภริยาที่ดีเช่นนั้น แม้ราชสมบัติก็ครอบครองได้"
ธีตุสูตรที่ ๖
 
สง่าราศีของสตรี
ปัญหา(เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นสง่าของรถ อะไรหนอเป็นเครื่องปรากฏของไฟ อะไรหนอเป็นสง่าของแว่นแคว้น อะไรหนอเป็นสง่าของสตรี ?

พุทธดำรัสตอบ"ธงเป็นสง่าของรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏของไฟ พระราชาเป็นสง่าของแว่นแคว้น สามีเป็นสง่าของสตรี"
รถสูตรที่ ๒
 
อำนาจจิต
ปัญหา (เทวดาทูลถาม) โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอเสือกไสไปได้ โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคืออะไร ?

พุทธดำรัสตอบ "โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ จิต"
จิตตสูตรที่ ๒
 
ใครเป็นผู้สร้าง
ปัญหา (มารเป็นผู้ถาม) รูปนี้ใครเป็นผู้สร้าง ผู้สร้างรูปอยู่ที่ไหน รูปบังเกิดในที่ไหน รูปดับไปในที่ไหน ?

เสลาภิกษุณีตอบ "รูปนี้ไม่มีใครสร้าง อัตตภาพนี้ไม่มีใครก่อ รูปเกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ดับไปเพราะเหตุดับ

พืชชนิดใดที่บุคคลหว่านลงในนา ย่อมงอกขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ รสในแผ่นดิน และยางในพืช ฉันใด ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ๖ เหล่านี้ ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ ดับไปเพราะเหตุดับฉันนั้น"
เสลาสูตร
 
ทุกข์ทั้งนั้น
ปัญหา (มารถาม)สัตว์นี้ใครสร้างผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์บังเกิดในที่ไหน สัตว์ดับไปในที่ไหน ?

วชิราภิกษุณีตอบ "ดูก่อนมาร เพราะเหตุไรหนอความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ในกองสังขารนี้ ย่อมไม่ได้นามว่าสัตว์ เหมือนอย่างว่าเพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่การสมมติว่าสัตว์ย่อมมีฉันนั้น ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่ และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ"
วชิราสูตรที่ ๑๐
 
พระพุทธเจ้าทรงเคารพอะไร ?
ปัญหา พระพุทธเจ้าจัดว่าเป็นพระบรมศาสดาของโลก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์ทรงเคารพใคร ? หรือว่าไม่ทรงเคารพใครเลย ?

พุทธดำรัสตอบ "...บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ ที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะเคารพอาศัยสมณะ หรือพราหมณ์ใครผู้ใดอยู่หนอ ?"

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า"เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่ว่า เรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตนในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

"เราควรสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสมาธิที่ยังไม่บริบูรณ์...
เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์...
เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์..
เพื่อความบริบูรณ์แห่งวิมุติญาณทัสสนะขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์

แต่ว่าเรายังไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะยิ่งกว่าตนในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ซึ่งเราควรสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่

"อย่ากระนั้นเลย เราควรสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั้นแหละ แล้วอาศัยอยู่"
คารวสูตรที่ ๒ 
 
ชาวนาพิเศษ
ปัญหา วันหนึ่งกสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเตรียมจะไถนา พระพุทธองค์เสด็จไปบิณฑบาต พราหมณ์เห็นแล้วกล่าวขึ้นว่า เขาเองไถและหว่านแล้วจึงบริโภค และขอให้พระพุทธองค์ไถและหว่านแล้วบริโภคเช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ตรัสว่า เราก็ไถและหว่านแล้วบริโภคเหมือนกัน พราหมณ์จึงกล่าวว่า พระองค์ตรัสว่าเป็นชาวนา แต่เขาไม่เห็นไถของพระองค์เลย

พุทธดำรัสตอบ "ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและประตัก เรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้าด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จงาน ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง นำไปถึงความเกษมจากโยคะ ไปไม่ถอยหลัง ยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก
"นี่การไถ การไถอย่างนี้แล้ว ย่อมมีอมฤตเป็นผล ครั้นไถอย่างนี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้"
กสิสูตรที่ ๑
 
แม้พระพุทธเจ้ายังทรงปวารณา
ปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดแล้วทั้ง กาย วาจา ใจ ไม่น่าจะมีข้อผิดพลาดบกพร่องใด ๆ ที่จะต้องสารภาพต่อผู้อื่น และให้ผู้อื่นตักเตือนมิใช่หรือ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอปวารณาเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะไม่ติเตียนกรรมไร ๆ ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ ?"
ปวารณสูตรที่ ๗
 
พระอรหันต์กับภาษาสามัญ
ปัญหา พระอรหันต์ที่พ้นจากการสมมติและบัญญัติแล้ว เวลาพูดกับสามัญชนใช้ภาษาอะไรพูด

พุทธดำรัสตอบ "ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่น พูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาดทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน"
อรหันตสูตรที่ ๕

(http://4.bp.blogspot.com/-FcCOAq5SK9w/Tw1tyaB9VmI/AAAAAAAAAfM/RsCNgcwxnaU/s420/SOL.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 16, 2012, 02:08:56 pm


(http://3.bp.blogspot.com/-wJfnMdrc89U/UKwM9205bQI/AAAAAAAACjY/GPsm0FVU5f4/s400/b_swallows_martins.jpg)

ตอน ๕

ภิกษุควรหัวเราะหรือไม่
ปัญหา ได้ทราบมาว่าพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไม่มีการหัวเราะมีแต่ยิ้มแย้มเท่านั้น พระภิกษุควรจะหัวเราะหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การขับร้องคือ การร้องไห้ในวินัยของพระอริยเจ้า การฟ้อนรำคือ ความเป็นบ้าในวินัยของพระอริยเจ้า การหัวเราะจนเห็นฟันพร่ำเพรื่อ คือความเป็นเด็กในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะเหตุนั้นแหละ จงละเสียโดยเด็ดขาดในการขับร้องฟ้อนรำ เมื่อท่านทั้งหลายเบิกบานในธรรม ก็ควรแต่เพียงยิ้มแย้ม"
โรณสูตร
 
ฤกษ์ยามในพระพุทธศาสนา
ปัญหาทางพระพุทธศาสนามีการสอนให้ถือฤกษ์ถือยามในการทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ"...สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี

 ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย... ด้วยวาจา... ด้วยใจในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย... ด้วยวาจา... ด้วยใจในเวลาเที่ยงเวลาเที่ยงก็เป็นเวลาที่ดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย... ด้วยวาจา... ด้วยใจในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น..."
สุปุพพัณหสูตร
 
พระพุทธศาสนาก็ส่งเสริมทรัพย์
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า พระพุทธศาสนาสอนจะให้คนออกจากโลกท่าเดียว ไม่ส่งเสริมการมีโภคทรัพย์ จริงหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลสองตาเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ มีนัยน์ตาเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ ทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น ทั้งมีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่โทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าคนสองตา..."
อันธสูตร
 
ความรักทำให้ตาบอด
ปัญหา มีคำพังเพยกล่าวไว้ว่า ความรักทำให้คนตาบอด ดังนี้ ทางพระพุทธศาสนายอมรับคำกล่าวนี้ว่า เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด ?

พระอานนท์ตอบ "...บุคคลผู้กำหนัด อันความกำหนัดครอบงำรึงรัดจิตใจไว้ ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตน ตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น ตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง...
ความกำหนัดแล ทำให้เป็นคนมืด ทำให้เป็นคนไร้จักษุ ทำให้ไม่รู้อะไร ทำให้ปัญญาดับ เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน...ฯ"
ฉันนสูตร
 
ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ?
ปัญหา ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ? ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริงหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "อริยสาวกนั้น มีจิตหาเวรมิได้อย่างนี้ มีจิตหาความเบียดเบียนมิได้อย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองแล้วอย่างนี้ มีจิตหมดจดแล้วอย่างนี้ เธอย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการในชาตินี้
"ความอุ่นใจที่หนึ่งว่า ถ้าโลกเบื้องหน้ามีอยู่ ผลแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะซึ่งจะเป็นไปได้ คือเบื้องหน้าแต่กายแตกตายไปแล้ว เราจะได้เข้าไปถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่หนึ่ง
"ความอุ่นใจที่สองว่า ถ้าโลกเบื้องหน้าไม่มี ผลแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี เราก็จะรักษาตนเป็นคนไม่มีเวร ไม่มีความลำบาก ไม่มีทุกข์ มีแต่สุขในชาตินี้ ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สอง

"ความอุ่นใจที่สามว่า ถ้าเมื่อบุคคลทำบาป บาปชื่อว่าเป็นอันทำแล้ว (และจะนำผลคือทุกข์มาให้เรา) เราไม่ได้คิดบาปให้แก่ใคร ๆ ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเรา ผู้ไม่ได้ทำบาป ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สาม
"ความอุ่นใจที่สี่ว่า ถ้าเมื่อบุคคลทำบาป บาปไม่ชื่อว่าเป็นอันทำแล้ว (และจะไม่นำผลคือทุกข์มาให้เรา) เราก็ได้พิจารณาเห็นตนเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้ง ๒ ส่วน ดังนี้ ความอุ่นใจนี้ อริยสาวกได้แล้วเป็นที่สี่
"อริยสาวกมีจิตหาเวรมิได้ -หาความเบียดเบียนมิได้ -มีจิตไม่เศร้าหมอง -มีจิตหมดจดแล้วอย่างนี้ -ย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แล ในชาตินี้ ฯ"
เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร)
 
ทำอย่างไรจะได้พบกันอีกในชาติหน้า ?
ปัญหา ถ้าสามีภรรยารักกันมาก ๆ ในชาตินี้ และปรารถนาจะพบกันอีก ได้เป็นสามีภรรยากันอีกในชาติหน้า จะมีทางเป็นไปได้ไหม ? และควรจะปฏิบัติอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนคฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกัน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ (ชาติหน้า) ไซร้ทั้งสองคนนั้นแลพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกัน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ..."
สมชีวสูตร
 
องค์แห่งการตรัสรู้
ปัญหา ภิกษุที่จะได้ตรัสรู้หรือบรรลุอรหัตตผลนั้น ควรจะประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "๑.ดูก่อนโพธิราชกุมาร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า... พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ... เป็นผู้จำแนกธรรม
๒. เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควรแก่ความเพียร

๓. เธอเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายาเปิดเผยตนตามความเป็นจริง ในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
๔. เธอเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลังมีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๕. เธอเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเห็นความเกิดและดับ เป็นอริยะ สามารถชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ"
โพธิราชกุมารสูตร
 
กำหนดเวลาตรัสรู้
ปัญหา เมื่อภิกษุประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว จะได้บรรลุอรหัตตผลในเวลาช้านานเท่าไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนราชกุมาร... ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า... ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน (ภายในเวลา) เจ็ดปี... หกปี... ห้าปี... สี่ปี... สามปี... สองปี... หนึ่งปี... เจ็ดเดือน... หกเดือน... ห้าเดือน... สี่เดือน... สามเดือน... สองเดือน... หนึ่งเดือน... ครึ่งเดือน... เจ็ดคืนเจ็ดวัน... หกคืนหกวัน... ห้าคืนห้าวัน... สี่คืนสี่วัน... สามคืนสามวัน... สองคืนสองวัน... หนึ่งคืนหนึ่งวัน...
 ดูก่อนราชกุมาร หนึ่งคืนหนึ่งวันจงยกไว้ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียรห้าประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ ตถาคตสั่งสอนในเวลาเย็น จักบรรลุคุณวิเศษในเวลาเช้า ตถาคตสั่งสอนในเวลาเช้า จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเย็น..."
โพธิราชกุมารสูตร
 
มหาสมุทรในพุทธศาสนา
ปัญหา คำว่า 'มหาสมุทร' ตามความหมายของคนธรรมดา และตามความหมายทางพุทธศาสนาหมายถึงอะไร

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ย่อมกล่าวว่า 'มหาสมุทร' มหาสมุทรนั้นไม่ชื่อว่าเป็นมหาสมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า มหาสมุทรนั้นเป็นเพียงแอ่งน้ำใหญ่เป็นห้วงน้ำใหญ่...

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ เป็นมหาสมุทรของบุรุษ
กำลังของตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ นั้นเกิดจากรูป...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์

บุคคลใดย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากรูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์นั้นได้ บุคคลนี้เรียกว่าเป็นพราหมณ์ สามารถข้ามมหาสมุทร คือ ตา...หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อ น้ำ แล้วขึ้นฝั่งยืนอยู่บนบกได้...อยู่จนพรหมจรรย์ ถึงที่สุดแห่งโลกข้ามถึงฝั่งแล้ว"
สมุทรสูตรที่ ๑
 
พระพุทธเจ้ายังมีอายตนะ แต่ไม่ติดในอายตนะ
ปัญหา พระโกฏฐิกะถามพระสารีบุตรว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ต่างเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวผูกมัดซึ่งกันและกันหรืออย่างไร ?

พระสารีบุตรตอบ "ดูก่อนท่านโกฏฐิกะ ตาเป็นเครื่องผูกมัดรูป และ รูปเป็นเครื่องผูกมัดตาหามิได้...หูเป็นเครื่องผูกมัดเสียงและเสียงเป็นเครื่องผูกมัดหูก็หามิได้...จมูกเป็นเครื่องผูกมัดกลิ่น และกลิ่นเป็นเครื่องผูกมัดจมูกหามิได้...ลิ้นเป็นเครื่องผูกมัดรส และรสเป็นเครื่องผูกมัดลิ้นก็หามิได้...กายเป็นเครื่องผูกมัดโผฏฐัพพะ และโผฏฐัพพะเป็นเครื่องผูกมัดกายก็หามิได้...ใจเป็นเครื่องผูกมัดธรรมารมณ์ และธรรมารมณ์เป็นเครื่องผูกมัดใจก็หามิได้...

ความพอใจรักใคร่ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูป...อาศัยหูและเสียง...อาศัยจมูกและกลิ่น...อาศัยลิ้นและรส...อาศัยกายและโผฏฐัพพะ...อาศัยใจและธรรมารมณ์นั้นต่างหาก เป็นเครื่องผูกมัดในจักษุและรูปเป็นต้นนั้น...

"ท่านผู้มีอายุ เปรียบเหมือนโคดำและโคขาวที่เขาผูกโยงไว้ด้วยเชือกหรือด้วยสายแอกเส้นเดียว ใครเล่าจะพึงพูดได้ว่า โคดำเป็นเครื่องผูกมัดโคขาว หรือโคขาวเป็นเครื่องผูกมัดโคดำ ที่แท้เชือกและสายแอกเส้นเดียวที่ใช้ผูกโยงโคทั้งสองนั้น และชื่อว่าเป็นเครื่องผูกมัดในโคทั้งสองนั้น...

"ท่านผู้มีอายุถ้าจักษุเป็นเครื่องผูกมัดรูปหรือรูปจักเป็นเครื่องผูกมัดจักษุ ฯลฯ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบไม่พึงมีปรากฏได้

"ดูก่อนท่านโกฏฐิกะ พระเนตรของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้ พระองค์ก็ทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร...ยังทรงฟังเสียงด้วยพระโสต...ยังทรงสูดกลิ่นด้วยพระนาสิก...ยังทรงลิ้มรสด้วยพระชิวหา...ยังทรงถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยพระกาย...ยังทรงรู้ธรรมารมณ์ด้วยพระมนัส แต่พระองค์ก็ไม่มีความพอใจรักใคร่ พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นแล้ว..."
โกฏฐิกสูตร
 
บาดาลในพุทธศาสนา
ปัญหา คนเชื่อกันว่าใต้มหาสมุทรมีบาดาล บาดาลในทางพุทธศาสนาหมายถึงอะไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมพูดว่าในมหาสมุทรมีบาดาล...ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มี ไม่ปรากฏ...

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า 'บาดาล' นี้เป็นชื่อของทุกขเวทนาที่เป็นไปในสรีระแล ปุถุชนผู้ไม่ได้เรียนรู้ถูกทุกขเวทนา...ถูกต้องแล้ว ย่อมโศกเศร้า ลำบาก คร่ำครวญ ทุบอกร่ำร้อง ถึงความหลงเพ้อ ปุถุชนผู้ไม่ได้เรียนรู้นี้ เรากล่าวว่าไม่โผล่มาจากบาดาล ไม่ถึงแผ่นดินแข็ง...
"ส่วนอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วถูกทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่โศกเศร้า...อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วนี้ เรากล่าวว่า โผล่พ้นจากบาดาลและบรรลุถึงฝั่งแผ่นดิน..."
ปาตาลสูตร
 
สิ่งที่ทำได้ยากในพระพุทธศาสนา
ปัญหา อะไรคือสิ่งที่ทำได้ยากในพระพุทธศาสนา

พระสารีบุตรตอบปริพาชกชื่อชัมพุขาทกะ "ท่านผู้มีอายุ การบรรพชาเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในธรรมวินัยนี้"
ชัมพุขาทกะ "ท่านผู้มีอายุก็อะไรอันบุคคลผู้บวชแล้วกระทำได้โดยยาก"
พระสารีบุตร "ความยินดียิ่งในการบวช ท่านผู้มีอายุ"

ชัมพุขาทกะ "ท่านผู้มีอายุอะไรที่ผู้ยินดียิ่งแล้วกระทำได้โดยยาก"
พระสารีบุตร "ท่านผู้มีอายุ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม"
ชัมพุขาทกะ "ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ก็ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว จะพึงเป็นพระอรหันต์ได้ในเวลาช้านานเพียงไร"
พระสารีบุตร "ไม่นานนัก ผู้มีอายุ"
ชัมพุขาทกสังยุตต์

(http://3.bp.blogspot.com/-VGk_Sqr4l_k/T8tZb3SLQpI/AAAAAAAABGo/ecg_Fcdva6M/s320/524341756_dde16942a7.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 16, 2012, 03:01:30 pm


(http://4.bp.blogspot.com/-8o_XimQDR9g/T3-HuHwNEaI/AAAAAAAAA8s/9U6Aji7x24I/s400/martin-moos-cherry-tree-in-maruyama-koen-park-at-sunset-kyoto-japan.jpg)

ตอน ๖

สังขาร ๓ และวิธีดับ
ปัญหา กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารคืออะไร และสังขารทั้ง ๓ นี้ดับไปเมื่อใด ?

พระกามภูตอบ "ดูก่อนคฤหบดีลมหายใจเข้าและหายใจออก ชื่อว่ากายสังขาร...ลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นของเกิดที่กายธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยกายฉะนั้น...จึงชื่อว่ากายสังขาร...
"วิตกวิจารชื่อว่าวจีสังขาร...บุคคลตรึกตรองก่อนจึงเปล่งวาจาภายหลัง ฉะนั้น วิตกวิจารจึงชื่อว่า วจีสังขาร...

"สัญญาและเวทนาชื่อว่าจิตตสังขาร...สัญญาและเวทนาเป็นของเกิดที่จิต ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิตฉะนั้น...จึงชื่อว่าจิตตสังขาร
"ดูก่อนคฤหบดี เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ วจีสังขารดับก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารดับต่อจากนั้นจิตตสังขารจึงดับ..."
กามภูสูตรที่ ๒
 
ภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอย่างไร
ปัญหา การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มีได้อย่างไร?

พระกามภูตอบ "ดูก่อนคฤหบดีภิกษุเมื่อจะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มิได้คิดอย่างนี้ว่าเราจักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธหรือว่า เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือว่าเราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว โดยที่แท้จิตของภิกษุนั้นเป็นจิตที่ได้รับการอบรมไว้ก่อนแล้วจนกระทั้งจิตนั้นสามารถนำภิกษุนั้นเข้าสู่สภาพตถัตตา ( คือ ภาวะเช่นนั้น ภาวะไม่มีชื่อ อันหมายถึงนิพพาน)"
กามภูสูตรที่ ๒
 
สังขารดับตามภูมิแห่งการปฏิบัติ
ปัญหา สังขารทั้งหลายย่อมดับไปตามลำดับตามภูมิแห่งการปฏิบัติทางจิตอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุ... เรากล่าวความดับสนิทแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับคือ
เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ
เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตก วิจารย่อมดับ
เมื่อตติยฌาน ปีติย่อมดับ
เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะ ปัสสาสะย่อมดับ
เมื่อเข้าอากาสานัญจายตนฌาน รูปสัญญาย่อมดับ

เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญาย่อมดับ
เมื่อเข้าอากิญจัญญายตฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมดับ
เมื่อเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อากิญจัญญายตนสัญญาย่อมดับ
เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมดับ ราคะ โทสะ โมหะ ของพระขีณาสพย่อมดับ"
รโหคตสูตร
 
ภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอย่างไร
ปัญหา การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธมีได้อย่างไร ?

พระกามภูตอบ "ดูก่อนคฤหบดีภิกษุเมื่อจะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มิได้คิดอย่างนี้ว่าเราจักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือว่าเรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือว่าเราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว โดยที่แท้จิตของภิกษุนั้นเป็นจิตที่ได้รับการอบรมไว้ก่อนแล้วจนกระทั่งจิตนั้นสามารถนำภิกษุนั้นเข้าสู่สภาพตถัตตา (คือภาวะเช่นนั้น ภาวะไม่มีชื่อ อันหมายถึงนิพพาน)"
กามภูสูตรที่ ๒
 
คนตายกับสัญญาเวทยิตนิโรธ
ปัญหา คนตายกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

พระภามภูตอบ "ดูก่อนคฤหบดี คนที่ตายแล้วทำกาละแล้ว มีกายสังขารดับสงบ มีวจีสังขารดับสงบ มีจิตตสังขารดับสงบ มีอายุสิ้นไปไออุ่นสงบ อินทรีย์กระจัดกระจาย
ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ กายสังขารดับสงบ วจีสังขารดับสงบ จิตตสังขารดับสงบ แต่ยังไม่สิ้นอายุ ไออุ่นยังไม่สงบ อินทรีย์ผ่องใส..."
กามภูสูตรที่ ๒
 
ลำดับการออกสัญญาเวทยิตนิโรธ
ปัญหา การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธมีได้อย่างไร ? สังขารต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไร ? ผัสสะอะไรเกิดขึ้นก่อน ? จิตน้อมไปสู่อะไร ? อะไรเป็นอุปการะแก่สัญญาเวทยิตนิโรธ ?

พระกามภูตอบ "ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่ได้คิดอย่างนี้ว่า เราจักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือว่าเรากำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือว่าเราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว โดยที่แท้ จิตของภิกษุนั้นเป็นสภาพได้รับการอบรมไว้ก่อนจนสามารถนำภิกษุนั้นเข้าสู่สภาพตถัตตาได้...

 "ดูก่อนคฤหบดีเมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธจิตตสังขารเกิดก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารจึงเกิดต่อจากนั้นวจีสังขารจึงเกิด...
"ดูก่อนคฤหบดีผัสสะ ๓ อย่าง คือสุญญผัสสะอนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ...
จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธย่อมน้อมไปสู่วิเวก...
ธรรม ๒ อย่าง คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ย่อมมีอุปการะมากแก่สัญญาเวทยิตนิโรธ"
กามภูสูตรที่ ๒
 
เหตุให้คนใจดี - ใจร้าย
ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้คนบางคนดุ ใจร้าย อะไรเป็นเหตุให้คนบางคนเป็นคนใจดี ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนนายคามณี คนบางคนในโลกนี้ ยังละราคะไม่ได้...ยังละโทสะไม่ได้...ยังละโมหะไม่ได้...เพราะเป็นผู้ยังละราคะ...โทสะ...โมหะไม่ได้ คนอื่นจึงทำให้โกรธได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธอยู่ จึงแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ
"ดูก่อนนายคามณีส่วนคนบางคนในโลกนี้ละราคะได้แล้ว...ละโทสะได้แล้ว...ละโมหะได้แล้ว เพราะละราคะ...โทสะ...โมหะได้คนอื่นจึงทำให้โกรธไม่ได้
คนที่ละราคะ...โทสะ...โมหะได้แล้ว ถูกคนอื่นยั่วให้โกรธก็ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ"
จัณฑสูตร
 
อนาคตของดารานักแสดง
ปัญหา ดารานักแสดงที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้อื่นด้วยคำจริงบ้าง ไม่จริงบ้างนั้น ตายแล้วจะไปเกิดในสุคติหรือทุคติ ?

พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้หัวหน้านักแสดงนามว่าตาลปุฏะถามคำถามนั้นถึง ๓ ครั้ง แต่นายตาลปุฏะก็ยังคะยั้นคะยอจะเอาคำตอบให้ได้ พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนหัวหน้านักแสดงแท้จริงเราไม่อนุญาตให้ท่านถามปัญหานี้เรากล่าวว่า อย่าเลย หัวหน้านักแสดง เรื่องนี้หยุดไว้เสียเถิด อย่าถามปัญหานี้กะเราเลยแต่เอาเถอะ เราจะตอบปัญหาแก่ท่าน

"ดูก่อนหัวหน้านักแสดง สัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากราคะถูกราคะผูกมัดไว้...ยังไม่ปราศจากโทสะ ถูกโทสะผูกมัดไว้...ยังไม่ปราศจากโมหะ ถูกโมหะผูกมัดไว้อยู่ก่อนแล้ว นักแสดงยิ่งนำเข้ามาซึ่งธรรมอันส่งเสริมราคะ...ส่งเสริมโทสะ...ส่งเสริมโมหะแก่ชนเหล่านั้นในท่ามกลางเวที ท่ามกลางโรงมหรสพ ให้มี ราคะ...โทสะ...โมหะมากยิ่งขึ้น บุคคลนั้น ตนเองก็ประมาทมัวเมาอยู่แล้ว ยังทำให้คนอื่นประมาทมัวเมาอีก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกทำลาย ย่อมเกิดในนรกชื่อปหาสะ...

"ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่านักแสดงคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริงตามคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางเวที...ผู้นั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกทำลาย ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชื่อปหาสะ ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นผิด..."
ตาลปุฏสูตร
 
อนาคตของนักรบมืออาชีพ
ปัญหา นักรบมืออาชีพที่มีความอุตสาหะวิริยะในสงครามตายไปแล้วจะเกิดในสุคติหรือทุคติ ?

คำถามนี้ประธานชุมชน (นายบ้าน) ผู้เป็นนักรบอาชีพทูลถามพระพุทธเจ้า ๓ ครั้ง พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงตอบ แต่ในที่สุดก็จำต้องตอบว่า

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนนายบ้าน แท้จริงเราไม่ได้อนุญาตให้ท่านถามปัญหานี้ เรากล่าวว่า 'อย่าเลย นายบ้าน เรื่องนี้พักไว้เสียเถิด อย่าถามปัญหานี้กะเราเลย' แต่เอาเถอะ เราจะตอบปัญหาแก่ท่าน

"ดูก่อนนายบ้านนักรบอาชีพคนใด อุตสาหะพยายามในสงคราม จิตของเขาเป็นสภาพต่ำ ชั่ว ตั้งไว้ไม่ดีก่อนแล้วว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกแทง จงขาดสูญ จงพินาศ หรือว่าอย่าได้มีอยู่เลย ดังนี้บุคคลอื่นย่อมฆ่าย่อมกำจัดเขาที่กำลังอุตสาหะพยายามอยู่นั้น เมื่อเขาตายเพราะกายแตกทำลายย่อมบังเกิดในนรกชื่อสรชิต...

"ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า นักรบอาชีพคนใดอุตสาหะพยายามในสงคราม...ผู้นั้นเมื่อตายไปเพราะกายแตกทำลาย ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสรชิตดังนี้ไซร้ความเห็นของผู้นั้นเป็นความเห็นผิด
ดูก่อนนายบ้าน ก็เราย่อมกล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานของบุคคลผู้มีความเห็นผิด..."
โยธาชีวสูตร
 
พิธีส่งวิญญาณไปสวรรค์ของพราหมณ์
ปัญหา นายบ้านชื่อสิพันธกบุตรทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิผู้ถือหม้อน้ำคล้องพวงมาลัยดอกไม้ผู้ล้างบาปด้วยน้ำ ผู้บูชาไฟ สามารถทำพิธีปลุกคนตายที่ถึงวาระสุดท้ายแล้วให้เป็นขึ้น ทำให้เขารู้ตัวแล้วส่งเขาขึ้นสู่สวรรค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าสามารถทำได้เช่นนั้นหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนนายคามณี ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในปัญหาข้อนี้...ท่านจะเห็นความข้อนั้นอย่างไร บุรุษในโลกนี้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดหมู่มหาชนมาประชุมกันแล้ว พึงสวดวิงวอนสรรเสริญประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้นกล่าวว่า ขอบุรุษผู้นี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงสุคติโลกสรรค์ ท่านจะเห็นความข้อนั้นอย่างไร บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุ การสวดวิงวอน...การสรรเสริญ หรือการประนมมือเดินเวียนรอบนั้นหรือ ?"
"ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า"

"ดูก่อนนายคามณีเปรียบเหมือนบุรุษโยนหินก้อนหนาใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน...ว่า ขอจงลอยขึ้นมาเถิด ท่านก้อนหิน ท่านจะคิดเห็นอย่างไรก้อนหินนั้นถึงจะลอยขึ้น เพราะเหตุ การสวดวิงวอนของหมู่มหาชนบ้างหรือ ?"
"ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า"

"ดูก่อนนายคามณี ฉันนั้นเหมือนกันบุคคลใดฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ แม้หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน...ว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไปจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็ตาม แต่บุรุษนั้นเมื่อตายไปพึงเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรกโดยแท้..."
ภูมกสูตร
 
จุดรวมของอกุศลกรรม
ปัญหา เมื่อกล่าวโดยรวบยอดแล้ว อกุศลธรรมและกุศลธรรมทั้งสิ้นรวมลงในอะไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศลจะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เพราะว่ากองอกุศลทั้งสิ้นได้แก่นิวรณ์ ๕...

 "เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศลจะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลนี้ทั้งสิ้นได้แก่สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง..."
อกุสลราสิสูตร

(http://1.bp.blogspot.com/-HDwLwexwVZg/T5XiyrG49JI/AAAAAAAAA-o/0ZJpjeSaaOQ/s320/Oleg+Shuplyak+-+Tutt%2527Art+-+%252820%2529.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 16, 2012, 03:40:33 pm


(http://4.bp.blogspot.com/-q2azlofp_-k/T3gzIfZYWGI/AAAAAAAAA7c/OFy8atb30ac/s400/2552654000_a9b0f4aa32+a+ARTExplorer.jpg)

ตอน ๗

การแสดงธรรมแบบต่าง ๆ แก่คนประเภทต่าง ๆ
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาแก่สัตว์ทั้งปวง แต่เหตุไฉนจึงทรงแสดงธรรมด้วยดีแต่คนบางพวก ไม่ทรงแสดงธรรมด้วยดีแก่คนบางพวก ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนนายคามณีถ้าอย่างนั้นเราจักย้อนถามท่านถึงข้อนี้ ท่านพึงพยากรณ์ปัญหานั้นตามที่ท่านเห็นสมควร
 ดูก่อนนายคามณีท่านจะเห็นความข้อนั้นอย่างไร นาของคฤหบดีชาวนาในโลกนี้มี ๓ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นนาดี ชนิดหนึ่งเป็นนาปานกลาง ชนิดหนึ่งเป็นนาเลว มีดินแข็ง ดินเค็ม มีเนื้อดินเลว...คฤหบดีต้องการจะหว่านพืชจะพึงหว่านในนาไหนก่อน ?
"พึงหว่านในนาดีก่อน...แล้วจึงหว่านในนาปานกลาง...ในนาเลว...พึงหว่านบ้าง ไม่หว่านบ้างเพราะเหตุไร เพราะในที่สุด จักเป็นเพียงอาหารโค

"ดูก่อนนายคามณี เปรียบเหมือนนาดีฉันใด เราย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งความหมาย (อรรถะ) และตัวอักษร (พยัญชนะ) บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง แก่ภิกษุและภิกษุณีของเราเหล่านั้นก่อน ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านี้ มีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่หลบภัย มีเราเป็นเครื่องป้องกันมีเราเป็นสรณะ

"ดูก่อนนายคามณี เปรียบเหมือนนาปานกลางฉันใด เราย่อมแสดงธรรม...แก่อุบาสก อุบาสิกาของเราเหล่านั้นฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นมีเราเป็นที่พึ่ง...

"ดูก่อนนายคามณี นาเลว มีดินแข็ง...มีดินเหลว ฉันใด เราย่อมแสดงธรรม...แก่อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชกเหล่านั้นฉันนั้น...ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะถ้าอัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์และปริพาชก จะพึงรู้ทั่วถึงธรรมนั้นแม้บทเดียว ความรู้นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่เขาสิ้นกาลนาน..."
เทศนาสูตร
 
พระภิกษุกับการรับเงินและทอง
ปัญหา ราชบริษัทในเมืองราชคฤห์สนทนากันว่า เงินและทองเป็นสิ่งควรแก่ภิกษุ พระภิกษุยังยินดีในเงินและทอง และย่อมรับเงินและทองได้ นายบ้านนามว่ามณีจูฬกะได้ยินเช่นนั้น จึงปฏิเสธคำกล่าวหานั้น แล้วภายหลังได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องนี้ให้ทราบ และทูลถามว่าที่เขาปฏิเสธไปนั้นถูกต้องหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดีละนายคามณี เมื่อท่านตอบอย่างนั้น เป็นอันกล่าวตามที่เรากล่าว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และกล่าวตอบธรรมถูกต้องเหมาะสม...เพราะว่าทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีในเงินและทอง...ห้ามเสียซึ่งเพชรนิลจินดาและทอง ปราศจากเงินและทอง

"ดูก่อนนายคามณี กามคุณทั้ง ๕ ควรแก่ผู้ใด เงินและทองย่อมควรแก่ผู้นั้น ท่านพึงจำข้อนี้ไว้อย่างเด็ดขาดเถิดว่า ข้อนั้นไม่ใช่สมณธรรม ไม่ใช่ธรรมของสมณศากยบุตร

นายคามณี เรากล่าวยืนยันอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการหาเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษจึงแสวงหาบุรุษ แต่เรามิได้กล่าวโดยปริยายใด ๆ เลยว่า พระศากยบุตรพึงยินดีและแสวงหาเงินและทอง"
มณีจุฬาสูตร
 
ความสำคัญของความเห็น
ปัญหา ความเห็นผิด และความเห็นถูก มีความสำคัญอย่างไรในการปฏิบัติทางพุทธศาสนา ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเดือยข้าวสาลี หรือเดือยข้าวบาเลย์ ที่จัดตั้งไว้ไม่ถูก (เมื่อ)มือหรือเท้ากระทบเข้า จักทำลายมือหรือเท้า จักทำให้ห้อเลือด ข้อนี้มิใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเดือยนั้นบุคคลจัดตั้งไว้ผิด...

 ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแลจักทำลายอวิชชา จักยังวิชาให้เกิด จักทำนิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ผิด ด้วยการเจริญมรรควิชาให้เกิด จักทำนิพพานให้แจ้ง ด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ผิด ด้วยการเจริญมรรคที่ตั้งไว้ผิด ข้อนั้นมิใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นตั้งไว้ผิด

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...ข้อที่ภิกษุจักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักทำนิพพานให้แจ้งด้วยความเห็นที่ตั้งไว้ถูกด้วยการอบรมที่มรรคตั้งไว้ถูก นี้เป็นฐานะที่จะเป็นไปได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นตั้งไว้ถูก..."
สุกสูตร
 
เครื่องรองรับจิตคืออะไร
ปัญหา เครื่องรองรับจิตคืออะไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ง่าย หม้อที่มีเครื่องรองรับย่อมกลิ้งไปได้ยากฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ไม่มีเครื่องรองรับย่อมกลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับย่อมกลิ้งไปได้ยาก

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นเครื่องรองรับจิต อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล...เป็นเครื่องรับรองจิต"
กุมภสูตร
 
สิ่งจำเป็นเบื้องต้นในการเจริญอริยมรรค
ปัญหาอะไรคือสิ่งจำเป็นเบื้องต้นในการเจริญอริยมรรค ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือแสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน แห่งความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ของภิกษุ คือความเป็นผู้มีมิตรดีฉันนั้นเหมือนกัน
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี เป็นอันหวังได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ "
กัลยาณมิตตสูตรที่ ๑
 
องค์ประกอบอื่น ๆ ของมรรค
ปัญหา สิ่งจำเป็นเบื้องต้นอื่น ๆ อีกในการเจริญอริยมรรค คืออะไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน...คือแสงเงินแสงทอง...สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน แห่งความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความสมบูรณ์แห่งศีล...ความสมบูรณ์แห่งฉันทะ...ความสมบูรณ์แห่งโยนิโสมนสิการ (การคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ) ฉันนั้นเหมือนกัน

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีความสมบูรณ์แห่งศีล ฯลฯ ความสมบูรณ์แห่งโยนิโสมนสิการ เป็นอันหวังได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘..."
สีลสัมปทาสูตรที่ ๑
 
จุดหมายปลายทางของอริยมรรค
ปัญหา อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่บุคคลเจริญเต็มที่แล้วย่อมนำไปสู่อะไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำใหญ่ ๆ สายใดสายหนึ่งนี้คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหิ ทั้งหมดนั้นไหลไปสู่ทิศตะวันออก หลั่งไปสู่ทิศตะวันออก บ่าไปสู่ทิศตะวันออก...ไหลไปสู่สมุทร หลั่งไปสู่สมุทร บ่าไปสู่สมุทรแม้ฉันใด เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เพิ่มพูนอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพานฉันนั้นเหมือนกัน

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...ภิกษุเจริญอริยมรรคอันมีองค์ ๘...อย่างไรเล่า จึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน ?... ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ฯลฯ สัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ...มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด...กำจัดโทสะเป็นที่สุด...กำจัดโมหะเป็นที่สุด...อันหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด...อันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน...
"เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างนี้แลจึงเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน..."
คังคาปาจีนนินนสูตรฯ
 
ยอดแห่งธรรมทั้งปวง
ปัญหา ยอดแห่งธรรมทั้งปวงคืออะไร

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์เหล่านั้นฉันใด...

"รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายผู้สัญจรไปบนแผ่นดินชนิดใดชนิดหนึ่งทั้งหมดนั้น ย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างบัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่แม้ฉันใด...

"กลอนแห่งเรือนยอดอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมดนั้นย่อมไปสู่ยอด น้อมไปสู่ยอด ประชุมเข้าที่ยอด ยอดแห่งเรือนยอดนั้น บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากลอนเหล่านั้นเหมือนกัน...

"กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้นฉันนั้นเหมือนกัน...
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ คือจักเจริญอริยมรรคอันมีองค์ ๘ เพิ่มพูนอริยมรรคมีองค์ ๘..."
ตถาคตสูตรที่ ๑
 
ศีลส่งเสริมอริยมรรค
ปัญหา ธรรมอะไรเป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังที่บุคคลทำอยู่ใด ๆ งานทั้งหมดนั้น คนอาศัยแผ่นดิน ยืนอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้...แม้ฉันใด...
"พืชคามและภูตคามชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่เจริญงอกงามใหญ่โต...ทั้งหมดนั้นอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามใหญ่โต...แม้ฉันใด
"ภิกษุอาศัยศีลตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญ...เพิ่มพูนอริยมรรคมีองค์ ๘ ฉันนั้นเหมือนกัน..."
พลกรณียสูตรที่ ๑
 
ธรรมที่ควรรู้และทำให้แจ้งและทำให้เจริญ
ปัญหา ธรรมอะไรที่ควรกำหนดรู้ และกระทำให้แจ้งและทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งคืออะไร ? คือ ธรรมที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕ คือ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน คือ รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ...

"...ก็ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่งคืออะไร ?คือ อวิชชาและภวตัณหา...
"...ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งคืออะไร ? คือ วิชชาและวิมุติ
"...ก็ธรรมที่ควรทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่งคืออะไร ? คือ สมถะและวิปัสสนา

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ...เพิ่มพูนอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึงกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง จึงละธรรมที่ควรละ...จึงทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง...จึงเจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง..."
อาคันตุกาคารสูตร
 
คนใฝ่หา ๓ สิ่ง
ปัญหา คนในโลกใฝ่หาอะไรบ้างและเราควรทำอย่างไรเกี่ยวกับการใฝ่หานั้น ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การใฝ่หามี ๓ อย่าง...คือ การใฝ่หากาม ๑ การใฝ่หาภพ ๑ การใฝ่หาพรหมจรรย์ ๑...
 ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อความรู้ยิ่งการใฝ่หา ๓ อย่างนี้แล..."

(http://2.bp.blogspot.com/-La-9uNIT7to/T1yW-6ZB9TI/AAAAAAAAA2o/5XnKoBa7paw/s400/renoir-landscape-between-storms.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 24, 2012, 02:51:51 pm


(http://3.bp.blogspot.com/_PpkJW4zbC7U/TOCelc-h4zI/AAAAAAAAFHA/rV2G1RL0V8w/s520/ZsoltZsigmond2.jpg)

ตอน ๘
สนิมของจิต
ปัญหา ธรรมที่เป็นสนิมของจิตทำให้จิตเสียไปคืออะไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งเศร้าหมองของทองคำ ๕ อย่างนี้ เป็นเครื่องทำทองไม่ให้อ่อน ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้มีสีสุก ให้เปราะ ให้ใช้การไม่ได้ดี สิ่งเศร้าหมอง ๕ อย่างคืออะไรบ้าง ?
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล็ก ...ดีบุก...ตะกั่ว...เงิน เป็นเครื่องเศร้าหมองของทองคำ ทำทองคำไม่ให้อ่อน...ให้ใช้การไม่ได้ดี

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เครื่องเศร้าหมองของจิต ๕ อย่างนี้ เป็นเครื่องทำจิตไม่ให้นิ่มนวล ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้ผุดผ่อง ให้เสียไป และไม่ให้ตั้งมั่นด้วยดี เพื่อความสิ้นอาสวะ เครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ๕ อย่างคืออะไรบ้าง ?
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามฉันทะ...พยาบาท...ถีนมิทธะ...อุทธัจจะ กุกกุจจะ...วิจิกิจฉาเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำจิตไม่ให้นิ่มนวล...

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แลไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตอันบุคคลเจริญแล้ว...ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผลคือวิชชาและวิมุติ"
อุปกิเลสสูตร
 

นิวรณ์ ๕ ระงับเมื่อใด
ปัญหา ทำอย่างไรนิวรณ์ ๕ จึงระงับ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกมุ่งต่อพระธรรม ใส่ใจ พิจารณาด้วยใจทั้งหมด เงี่ยโสตลงฟังธรรม สมัยนั้น นิวรณ์ ๕ ย่อมไม่มีแก่เธอ โพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์"
อาวรณานีวรณสูตร
 

อาหารของโพชฌงค์ ๗
ปัญหา อะไรเป็นอาหารเครื่องบำรุงเลี้ยงโพชฌงค์ ๗ ให้เจริญ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การเพิ่มพูนโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้นเป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น...
"ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ที่มีโทษและไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นฝ่ายดำและฝ่ายขาวมีอยู่การเพิ่มพูนโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้นเป็นอาหารแห่งธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์

"ความริเริ่มความพยายาม ความบากบั่นมีอยู่การเพิ่มพูนโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านี้ เป็นอาหารแห่งวิริยสัมโพชฌงค์
"ธรรมทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่การเพิ่มพูนโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น เป็นอาหารแห่งปีติสัมโพชฌงค์

"ความสงบกาย ความสงบจิตมีอยู่ การเพิ่มพูนโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น เป็นอาหารแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
"สมาธินิมิตและอัพยัคคนิมิต (นิมิตแห่งจิตที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน) มีอยู่การเพิ่มพูนโยนิโสมนสิการในนิมิตเหล่านั้น เป็นอาหารแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์
"ธรรมทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ การเพิ่มพูนโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น เป็นอาหารแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์..."
กายสูตร
 

อานิสงส์โพชฌงค์ ๗
ปัญหา เมื่อเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการบริบูรณ์และจะเกิดอานิสงส์อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อโพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้..ผลานิสงส์ ๗ ประการ อันเธอพึงหวังได้ คือ

(๑) จะได้บรรลุอรหัตตผลโดยพลัน ในปัจจุบัน
(๒) ถ้าไม่ได้บรรลุในปัจจุบัน จะได้บรรลุอรหัตตผลในเวลาใกล้ตาย
(๓) ถ้าไม่ได้บรรลุในปัจจุบันในเวลาใกล้ตายจะได้เป็นพระอนาคามี ประเภทอันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

(๔) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุและไม่ได้เป็นพระอนาคามีประเภทอันตราปรินิพพายี...จะได้เป็น พระอนาคามีประเภทอุปหัจจปรินิพพายีเพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
(๕) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้บรรลุและไม่ได้เป็นพระอนาคามีประเภทอันตราปรินิพพายี ทั้งประเภทอุปหัจจปรินิพพายี จะได้เป็นพระอนาคามีประเภทอสังขารปรินิพพายีเพราะสังโยชน์ ๕ เบื้องต่ำสิ้นไป

(๖) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ฯลฯ และไม่ได้เป็นพระอนาคามีมีผู้อสังขารปรินิพพายี...จะได้เป็นพระอนาคามีประเภทสสังขารปรินิพพายีเพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
(๗) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้บรรลุ ฯลฯ และไม่ได้เป็นพระอนาคามีมีผู้สสังขารปรินิพพายี จะได้เป็นพระอนาคามีประเภทอุทธังโสโตอกนิฏฐคามีเพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป..."
สีลสูตร
 

พระพุทธเจ้าอยู่ด้วยวิชชาและวิมุติ
ปัญหา กุณฑลิยปริพพาชกทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระสมณโคดมทรงมีอะไรเป็นอานิสงส์ดำรงชีวิตอยู่ ?

พุทธดำรัสตอบ" ดูก่อนกุณฑลิยะตถาคตมีวิชชาและวิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่...
โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์...
สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้วย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์...

สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้วย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์...
อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว...ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์...
กุณฑลิยสูตร
 

พระพุทธองค์ไม่มีคำสอนพิเศษเพื่อใคร
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงมีคำสอนพิเศษที่สงวนไว้สำหรับ พระสาวกบางประเภทหรือไม่ ?และทรงมีคำสอนพิเศษที่จะประกาศแก่พระสงฆ์สาวกก่อนจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์บัดนี้ภิกษุสงฆ์จะมาหวังอะไรในเราอีกเล่า ? พระธรรมเราแสดงไว้แล้วโดยไม่มีนอกไม่มีใน
 "ดูก่อนอานนท์ในธรรมทั้งหลายของตถาคต ย่อมไม่มีกำมือแห่งอาจารย์ (สิ่งที่อาจารย์กำไว้เป็นความลับ) ผู้ใดพึงมีความดำริอย่างนี้ว่าเราจักบริหารภิกษุสงฆ์หรือว่า ภิกษุสงฆ์มีเราเป็นที่อิงอาศัยผู้นั้นพึงปรารภภิกษุสงฆ์กล่าวประกาศเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างแน่นอน

"ดูก่อนอานนท์ตถาคตไม่เคยมีความดำริอย่างนี้เลยว่า เราจะบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่า ภิกษุสงฆ์มีเราเป็นที่อิงอาศัย ฉะนั้นตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์กล่าวประกาศเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำไมเล่า ?บัดนี้เราก็แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว วัยของเราล่วงเข้าแปดสิบปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ก็เพราะซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ฉันใด กายของตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน..."
คิลานสูตร
 

อะไรเกิดขึ้นในการเจริญสติปัฏฐาน
ปัญหา ในการเจริญสติปัฏฐานอะไรเกิดขึ้นบ้างและควรปฏิบัติอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่...ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่...ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่...ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกาย...เห็นเวทนาในเวทนา...เห็นจิตในจิต...เห็นธรรมในธรรมอยู่ อารมณ์ทางกายย่อมเกิดขึ้นบ้าง ความเร่าร้อนในกายหรือความหดหู่จิตซัดส่ายจิตไปในภายนอกบ้าง...อารมณ์คือเวทนาย่อมเกิดขึ้นบ้าง...อารมณ์ทางจิตย่อมเกิดขึ้นบ้าง...อารมณ์คือธรรมย่อมเกิดขึ้นบ้าง...ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ให้มั่นในนิมิตอันน่าเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อตั้งจิตไว้มั่นในนิมิต...ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อเธอมีปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมระงับ เธอมีกายระงับแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อเธอมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า เราตั้งจิตไว้เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์นั้นสำเร็จแก่เราแล้วบัดนี้ เราจะคุมจิตไว้ เธอคุมจิตไว้ และไม่ตรึกไม่ตรอง ย่อมรู้ชัดว่าเราไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีสติในกายใน เป็นผู้มีความสุข ดังนี้..."
ภิกขุณีสูตร ๑
 

บำบัดทุกขเวทนาด้วยพลังจิต
ปัญหา ได้ทราบว่า เวลาประชวรหนัก บางคราวพระพุทธเจ้าทรงบำบัดทุกขเวทนาด้วยพลังจิต พระองค์ทรงกระทำอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์ สมัยใดตถาคตเข้าเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ได้กระทำไว้ในใจ ซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางอย่างแล้วอยู่สมัยนั้นกายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง..."
คิลานสูตร
 

มหาบุรุษคือคนประเภทไหน
ปัญหา ที่เรียกว่า 'มหาบุรุษ' ในทางพระพุทธศาสนานั้น หมายถึงคนประเภทไหน ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนสารีบุตรเราเรียกว่า 'มหาบุรุษ' เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่เรียกว่า 'มหาบุรุษ' เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น
 "ดูก่อนสารีบุตรก็บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นภายในกายอยู่เป็นปกติ...พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เป็นปกติ...ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นปกติ...ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เป็นปกติ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย...จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
 "ดูก่อนสารีบุตร บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้แล เราเรียกว่ามหาบุรุษ..."
มหาปุริสสูตร
 

ไม่ใครเหนือพระพุทธองค์
ปัญหา สมณะหรือพราหมณ์อื่นซึ่งจะมีปัญญาเครื่องตรัสรู้ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้ามีหรือไม่ ?

พระสารีบุตรตอบ "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์อื่น ซึ่งจะรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางปัญญาเครื่องตรัสรู้ มิได้มีแล้ว จักไม่มีและย่อมไม่มีในบัดนี้...

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะมีเจโตปริยญาณ (การรู้จิตใจของผู้อื่น) ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันก็หามิได้ แต่ข้าพระองค์รู้ได้ด้วยการอนุมานตามพระธรรม

 "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนชายแดนของพระราชา มีเชิงเทินมั่นคง มีกำแพงและหอรบหนาแน่น มีประตูเดียว คนเฝ้าประตู...มีปัญญาเฉลียวฉลาด ห้ามคนไม่รู้จัก ให้คนรู้จักเข้าไป เขาเดินตรวจทางรอบนครนั้น ไม่พบรอยต่อหรือช่องแห่งกำแพงโดยที่สุดแม้เพียงแมวจะลอดออกไปได้ เขาพึงมีความมั่นใจอย่างนี้ว่า สัตว์ขนาดใหญ่เหล่าใดเหล่าหนึ่งจะเข้าสู่นครนั้นหรือออกไป ย่อมเข้าออกทางประตูนี้ทั้งหมดฉันใด ข้าพระองค์รู้ได้ด้วยการอนุมานตามพระธรรมก็ฉันนั้น...

 "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดที่ได้มีมาแล้วในอดีตกาลจักมีในอนาคต...และแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจจุบันนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นทุกพระองค์ทรงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจทอนกำลังปัญญา ทรงมีพระหฤหัยตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทาง เจริญโพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว..."
นาฬันทสูตร

(http://3.bp.blogspot.com/-a18ks6x6njw/TzmwvOqeyzI/AAAAAAAAAnY/LMSBplkQ3iU/s520/11693592.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 31, 2012, 07:00:28 am


(http://farm6.staticflickr.com/5096/5592827652_77fd56d00b.jpg)

ตอน ๙
จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง
ปัญหา เมื่อพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว สามเณรจุนทะผู้เป็นอุปัฏฐากของท่าน ได้นำเอาบาตรและจีวรท่านไปแจ้งข่าวนั้นให้พระอานนท์ทราบ พระอานนท์ได้พาสามเณรจุนทะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค และแสดงความทุกข์โศกอันใหญ่หลวงของตนต่อพระผู้มีพระภาค

พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า "ดูก่อนอานนท์พระสารีบุตรพาเอาสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุติขันธ์ หรือวิมุติญาณทัสสนะขันธ์ ปรินิพพาน ไปด้วยหรือ ?
...หามิได้พระเจ้าข้า

"ดูก่อนอานนท์ ข้อนั้นเราได้บอกเธอทั้งหลายไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า จักต้องมีการจาก การพลัดพราก ความเป็นอื่นไปจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เราจะพึงได้ตามใจปรารถนาในของรักของชอบใจนี้ได้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีแตกสลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ของสิ่งนั้นอย่าได้แตกสลายเลยดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

"ดูก่อนอานนท์ เปรียบเหมือนมีต้นไม้ใหญ่มีแกนยืนต้นอยู่ กิ่งใดใหญ่กว่าเพื่อน กิ่งนั้นพึงทำลายไป ฉันนั้นเหมือนกันแลอานนท์ เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีสาระตั้งมั่นอยู่ พระสารีบุตรได้ปรินิพพานไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะพึงได้ตามปรารถนาในเรื่องนี้แต่ที่ไหน เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ดำรงชีวิตอยู่เถิด...

 "ดูก่อนอานนท์ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงลับไปก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ดำรงชีวิตอยู่ ภิกษุเหล่านั้น ผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักอยู่เหนือความมืด..."
จนทสูตร

การสูญเสียพระอัครสาวก
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงรู้สึกอย่างไร ในเมื่อพระอัครสาวกทั้ง ๒ คือ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะปรินิพพานไปใหม่ ๆ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทของเรานี้ปรากฏเหมือนว่างเปล่า แต่เมื่อสารีบุตร โมคคัลลานะยังไม่ปรินิพพาน บริษัทของเราดูไม่ว่างเปล่า สารีบุตร โมคคัลลาน์อยู่ในทิศใด เป็นหมดห่วงใยในทิศนั้น...
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เหล่าใด ได้มีมาแล้วในอดีตกาล...จักมีมาในอนาคต พระผู้มีพระภาค แม้เหล่านั้น ก็มีคู่สาวกอันยอดเยี่ยม เหมือนกับสารีบุตรและโมคคัลลาน์ของเรา

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นับว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์...เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับสาวกทั้งหลาย ที่จักมีสาวกของพระศาสนาผู้กระทำตามคำสอน ผู้ตอบแทนคำสอนเป็นที่รักเป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพนับถือของบริษัททั้ง ๔ เช่นนั้น
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเป็นเรื่องอัศจรรย์ เป็นเรื่องไม่เคยมีมาก่อนของตถาคต ที่ตถาคตไม่มีความโศก หรือความร่ำไรเลย ในเมื่อคู่พระสาวกเห็นปานนั้นปรินิพพานไป..."
เจลสูตร

การเจริญกายคตาคติอย่างระมัดระวัง
ปัญหา ภิกษุควรเจริญกายคตาสติ ด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวังสักเพียงใด ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือน...หมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า นางงามประจำถิ่นจะฟ้อนรำขับร้องพึงประชุมกัน...ลำดับนั้น บุรุษุผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย พึงมา และมหาชนพึงกล่าวกับเขาว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านพึงนำภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยมนี้ไปในระหว่างที่ประชุมใหญ่กับนางงามประจำถิ่น และจักมีบุรุษเงื้อดาบตามบุรุษผู้นำหม้อน้ำนั้นไปข้างหลังติด ๆ บอกว่าถ้าท่านจักทำมันนั้นหกแม้น้อยหนึ่งในที่ใด ศีรษะของท่านจักขาดตกลงไปในที่นั้นทีเดียว

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะคิดเห็นข้อนั้นอย่างไร ? บุรุษนั้นจะไม่เอาใจใส่ภาชนะน้ำมันนั้นแล้วพึงมัวเพลินในสิ่งภายนอกกระนั้นหรือ ?"
 ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "หามิได้พระเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตั้งข้อเปรียบเทียบนี้เพื่อให้เข้าใจเนื้อความนี้ชัดขึ้น ความหมายในอุปมานี้มีอย่างนี้คำว่า 'ภาชนะน้ำมันอันเต็มเปี่ยม' เป็นชื่อของกายคตาสติ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติ เราจักเจริญกระทำให้มาก กระทำให้เป็นยาน ทำให้เป็นฐานที่ตั้ง กระทำไม่หยุด สังคม ปรารภดีแล้ว..."
เสทกสูตรที่ ๒

วิธีเจริญอานาปานสติ
ปัญหา จะเจริญอานาปานสติอย่างไร จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนต้นไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก...หายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น

ย่อมตัดสินใจว่าเราจักหายใจเข้า...ออก ให้รู้สึกว่าลมผ่านไปทั่วกาย...
เราจักเสวยปีติหายใจเข้า - ออก...เราจักเสวยสุขหายใจเข้า-ออก...
เราจักรู้ชัดองค์ประกอบทางจิตทั้งปวง หายใจเข้า - ออก...

เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า - ออก... เราจักรู้แจ้งจิตหายใจเข้า - ออก...
เราจักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า - ออก... เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า - ออก...
เราจักปลดปล่อยจิตหายใจเข้า - ออก... เราจักพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า - ออก...

เราจักพิจารณาวิราคะธรรมหายใจเข้า - ออก... เราจักพิจารณานิโรธธรรมหายใจเข้า - ออก...
เราจักพิจารณาความสลัดออกหายใจเข้า - ออก
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก"
เอกธัมมสูตรอานาปานสังยุต

อานิสงส์อานาปานสติ
ปัญหา อานาปานสติมีอานิสงส์อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว พอกพูนแล้วอย่างนี้ พึงหวังได้ผลานิสงส์ ๗ ประการ คือ จะได้เสวยพระอรหัตตผลในปัจจุบันทันด่วน ๑ ถ้าไม่ได้เสวยพระอรหัตตผลในปัจจุบันทันด่วน จะได้เสวยในเวลาใกล้ตาย ๑ ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้เสวย ในเวลาใกล้ตายก็ไม่เสวย เนื่องจากสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป จะได้เป็นพระอนาคามีประเภทอันตราปรินิพพายี ๑ ประเภทอุปหัจจปรินิพพายี ๑ ประเภทอสังขารปรินิพพายี ๑ ประเภทสังขารปรินิพายี ๑ ประเภทอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ๑
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล พึงหวังได้ผลานิสงส์ ๗ ประการเหล่านี้แล..."
ผลสูตรที่ ๒

อานาปานสติกับสติปัฏฐาน ๔
ปัญหา การเจริญอานาปานสติเกี่ยวข้องกับสติปัฏฐาน ๔ อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุหายใจออกยาว รู้ชัดว่าก็หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว...สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเห็นภายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่าลมหายใจเข้าออกนี้ เป็นกายประเภทหนึ่ง

"ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมตั้งใจสำเหนียกว่าเราจักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า - ออก...เราจักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า - ออก...สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวลาอยู่เพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่า การใส่ใจด้วยดีในลมหายใจเข้า - ออกเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง
"ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่าเราจักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า - ออก...เราจักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า - ออก...เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า - ออก...สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต...ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะเราไม่กล่าวว่า การเจริญอานาปานสติสมาธิ จะมีได้แก่ผู้มีสติหลงลืมและขาดสติสัมปชัญญะ

"ดูก่อนอานนท์ สมัยใดภิกษุตั้งใจศึกษาว่าเราจักพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงหายใจเข้า - ออก...เราจักพิจารณาเห็นวิราคธรรมหายใจเข้า - ออก...เราจักพิจารณาเห็นนิโรธหายใจเข้า..ออก...สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่..."
กิมิลสูตร

พระพุทธเจ้าทรงรับรองโลกอื่น
ปัญหา มีหลักฐานอะไรที่แสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่ามีโลกอื่น นอกจากโลกของเรา ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนท่อนไม้ที่บุคคลขว้างขึ้นไปบนอากาศแล้ว บางคราวเอาโคนตกลงมาก็มี บางคราวเอากลางตกลงมาก็มี บางคราวเอาปลายตกลงมาก็มีฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้นไว้ มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ได้แล่นไปอยู่ ท่องเที่ยวไปอยู่ บางคราวจากโลกนี้ไปสู่ปรโลกก็มีบางคราวจากปรโลกมาสู่โลกนี้ก็มีฉันนั้นเหมือนกัน..."
ทัณฑสูตร

พระพุทธองค์ทรงรับรองการตายแล้วเกิด
ปัญหา มีหลักฐานอะไรบ้างที่แสดงว่าพระพุทธองค์ทรงรับรองว่ามีการตายแล้วเกิดจริง ?

พุทธดำรัสตอบ "เพราะไม่เห็นอริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง เราและท่านทั้งหลายได้ท่องเที่ยวไปในชาตินั้น ๆ ตลอดกาลนาน อริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ เราและท่านทั้งหลายเห็นแล้ว ตัณหาที่จะนำไปสู่ภพถอนขึ้นได้แล้ว รากแห่งทุกข์ถูกตัดขาดแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี"
วัชชิสูตรที่ ๑

ตรัสว่าคนตายแล้วเกิดจริง
ปัญหา มีหลักฐานอะไรที่แสดงว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนตายแล้วเกิดในชาติใหม่จริง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ตรัสแบบปริศนาหรือแบบสัญลักษณ์ให้คนคิดหลายชั้น

พุทธดำรัสตอบ "ภิกษุเมื่อเจริญ เพิ่มพูนซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปป์เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิฏฏกัปป์เป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตร(นามสกุล) อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น...ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ และที่อ้างอิงด้วยประการฉะนี้

"ภิกษุเมื่อเจริญ เพิ่มพูนอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดหมู่สัตว์ที่เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิยึดมั่นการกระทำด้วยมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต...เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์...ย่อมรู้ชัดหมู่สัตว์ที่เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้...
ปุพพสูตร

(http://2.bp.blogspot.com/-FOVrOpANMLc/TywAxP1SaVI/AAAAAAAAAlY/X3WMjGXK5io/s320/gia-nic00368.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ สิงหาคม 31, 2012, 09:22:42 am


(http://farm1.staticflickr.com/53/150980627_29a990f3e6.jpg)

ตอน ๑๐
ผลของศรัทธาในพระพุทธเจ้า
ปัญหา ในศาสนาฝ่ายเทวนิยม ผู้ใดมีความเชื่อและความรักในพระผู้เป็นเจ้า ผู้นั้นย่อมมีหวังเข้าสู่สวรรค์ ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "...บุคคลใดมีเพียงความเชื่อ เพียงความรักในเรา บุคคลนั้นทั้งหมดเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า"
อลคัททูปมสูตร
 
วิธีกำจัดความขลาด
ปัญหา ความกลัวก็ดี ความขลาดก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่เราเป็นครั้งคราว เราจะกำจัดความกลัวและความขลาดได้โดยวิธีใด ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ข่มความกลัวและความขลาดได้ อนึ่ง ความกลัวและความขลาดอย่าพึงครอบงำเราได้เลย เราพึงครอบงำย่ำยีความกลัวและความขลาดที่เกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำตนให้เหินห่างจากฌาน พอกพูนสุญญาคาร (คือพยายามอยู่ในเรือนว่างหรือที่สงัดเงียบ บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ)"
อากังเขยยสูตร
 
สมาธิเกื้อหนุนปัญญา
ปัญหา สมาธิเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่ปัญญาอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง รู้อะไรตามความเป็นจริง ? ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า มีทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์..."
สมาธิสูตร
 
ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์
ปัญหา ญาติ โภคะ ยศ กับปัญญา อย่างไหนสำคัญกว่ากัน ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมแห่งญาติ...ความเสื่อมแห่งโภคะ...ความเสื่อมแห่งยศเป็นเรื่องเล็กน้อย ความเสื่อมแห่งปัญญาเรื่องร้ายแรงกว่าความเสื่อมทั้งหลาย
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยญาติ...ความเจริญด้วยโภคะ...ความเจริญด้วยยศเป็นเรื่องเล็กน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แลเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญด้วยความเจริญแห่งปัญญา"
บาลีแห่งเอกธรรม
 
สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ปัญหา อะไรบ้างที่เป็นฐานะที่เป็นไปไม่ได้ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยความเห็นชอบ
จะพึงยึดถือสังขารใด ๆ ว่า เป็นสภาพเที่ยง.... จะพึงยึดถือสังขารใด ๆ ว่าเป็นสุข....
จะพึงยึดถือธรรมใด ๆ ว่าเป็นตน.... จะพึงฆ่ามารดา.... จะพึงฆ่าบิดา....

จะพึงฆ่าพระอรหันต์.... จะพึงยังพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ....
จะพึงทำลายสงฆ์ให้แตกกัน.... จะพึงถือศาสดาอื่น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้
ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์จะพึงเสด็จอุบัติขึ้นพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกันนั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้..."
อัฏฐานบาลี
 
การต่อสู้ดิ้นรน ๒ แบบ
ปัญหา การต่อสู้ดิ้นรนที่ทำได้ยากในโลกมีอะไรบ้าง และอย่างไหนดีกว่า ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การดิ้นรนที่ทำได้ยากในโลกนี้มี ๒ อย่าง คือการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อแสวงหาเครื่องนุ่มห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และเครื่องยารักษาโรคของคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน ๑ การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสละอุปธิทั้งปวงของผู้ออกบวชเป็นบรรพชิต ๑...
 "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาการต่อสู้ดิ้นรน ๒ อย่างนี้ การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสละอุปธิทั้งปวงเป็นเลิศ...เพราะเหตุนั้นแลเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเริ่มตั้งความเพียรพยายามเพื่อสละอุปธิทั้งปวง..."
ป. ทุก. อํ.
 
ทำจริงถึงจริง
ปัญหา ถ้าเราพากเพียรพยายาม แบบวางชีวิตเป็นเดิมพันเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า เราจะบรรลุมรรคผลหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเห็นคุณค่าของธรรม ๒ อย่าง คือ ความไม่ยินดีพอใจในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ (ในเรื่องนี้ไม่ควรมีความสันโดษ) ความไม่ท้อถอยในความพากเพียร ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเคยตั้งความเพียรไม่ท้อถอยไว้ว่า หนังเอ็นและกระดูกเท่านั้นจงเหลืออยู่ก็ตามที เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ผลใดที่พึงบรรลุถึงด้วยกำลังบุรุษด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ เมื่อยังไม่บรรลุถึงผลนั้น จักไม่หยุดยั้งความเพียรเสียดังนี้

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพธิญาณของเรานั้นเราได้บรรลุได้ด้วยความไม่ประมาท ธรรมอันเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราบรรลุถึงได้ด้วยความไม่ประมาท ถ้าแม้นว่าท่านทั้งหลายพึงตั้งความเพียรไม่ท้อถอย...แม้เธอทั้งหลายก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการปรารถนานั้น ด้วยความรู้ยิ่งเอง ในปัจจุบันชาตินี้ต่อเวลาไม่นานนัก..."
ป. ทุก. อํ.
 
ธรรมคุ้มครองโลก
ปัญหา ธรรม ๒ ประการ คือ หิริและโอตตัปปะช่วยผู้ครองโลกอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมฝ่ายขาว ๒ อย่างนี้ย่อมคุ้มครองโลก คือ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ ถ้าธรรมฝ่ายขาว ๒ อย่างนี้ไม่พึงคุ้มครองโลก การนับถือกันว่ามารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ ภรรยาของครูไม่พึงปรากฏในโลกนี้ โลกจักถึงความสำส่อนเหมือนพวกแพะ แกะ ไก่ หมู สุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก...แต่เพราะธรรมฝ่ายขาว ๒ อย่างนี้ยังคุ้มครองโลกอยู่ ฉะนั้นการนับถือกันว่า มารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ ภรรยาของครู จึงมีปรากฏอยู่ในโลก..."
ป. ทุก. อํ.
 
คนก็ไม่สะดุ้งเมื่อฟ้าผ่า
ปัญหา อะไรบ้างที่ไม่สะดุ้งเมื่อฟ้าผ่า ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลแลสัตว์เหล่านี้ เมื่อฟ้าผ่าย่อมไม่สะดุ้งคือ  พระภิกษุขีณาสพ ๑  ช้างอาชาไนย ๑  ม้าอาชาไนย ๑ สีหมฤคราช ๑"
ทุ. ทุก. อํ.
 
สมาธิเพื่อให้เกิดญาณ
ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิแบบไหน อย่างไร จึงจะเป็นเหตุให้เกิดการเห็นแจ้งด้วยญาณ ?

พุทธดำรัสตอบ "...ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาให้เกิดความเข้าใจหมายรู้ว่ามีแสงสว่างภายในใจ (อาโลกสัญญา) พยายามสร้างความจำหมายว่าเป็นกลางวัน (ทิวาสัญญา) ให้เกิดขึ้นในใจ คิดว่า กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจสงบระงับปราศจากเครื่องผูกมัด อบรมจิตให้มีความสว่างไสวอยู่...
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้...ย่อมเป็นไปเพื่อการเกิดการเห็นแจ้งด้วยญาณ..."
สมาธิสูตร
 
สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ
ปัญหา จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาแบบไหน อย่างไรจึงจะเป็นเหตุให้สติสัมปชัญญะเจริญไพบูลย์ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้แจ้งเวทนาที่กำลังเกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่กำลังตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนาที่กำลังดับไป รู้แจ้งสัญญาที่กำลังเกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่กำลังตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่กำลังดับไป รู้แจ้งวิตกที่กำลังเกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่กำลังตั้งอยู่รู้แจ้งวิตกที่กำลังดับไป
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนาอย่างนี้ที่บุคคลเจริญพัฒนาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ"
สมาธิสูตร
 
ใช้ตัณหาปราบตัณหา
ปัญหา มีบางท่านกล่าวว่าความอยากถึงนิพพานก็จัดเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง และเป็นแรงผลักดันให้คนปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพาน เข้าทำนอง 'ใช้ตัณหาดับตัณหา' คำกล่าวเช่นนี้มีหลักฐานในพระไตรปิฏกยืนยันหรือไม่ ?

พระอานนท์ตอบ "...ดูก่อนน้องหญิง คำที่เรากล่าวว่ากายนี้เกิดด้วยตัณหา อาศัยตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสียดังนี้เรากล่าวเพราะอาศัยอะไร
"ดูก่อนน้องหญิง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เมื่อได้ข่าวว่า ภิกษุชื่ออย่างนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง ในปัจจุบันนี้ ดังนี้ เธอเกิดความปรารถนา (ตัณหา) อย่างนี้ว่า เมื่อไรหนอ เราจักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้... ในปัจจุบันชาตินี้ดังนี้ ในเวลาต่อมา เธออาศัยตัณหานั้นแล้วละตัณหาเสียได้
"ดูก่อนน้องหญิงคำที่เรากล่าวว่า กายนี้เกิดขึ้นด้วยตัณหาอาศัยตัณหาแล้วพึงละเสียดังนี้ เรากล่าวเพราะอาศัยความจริงข้อนี้..."
อินทริยวรรค
 
โทษของกาม
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงอธิบายเปรียบเทียบความสุข อันเกิดแต่กามไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนคฤหบดีเปรียบเหมือนสุนัขอันความเพลียเพราะความหิวเบียดเบียนแล้ว พึงเข้าไปยืนอยู่ใกล้เขียงของนายโคฆาต นายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด พึงโยนร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อแล้วเปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข ฉันใด...
"ดูก่อนคฤหบดีอริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบด้วยร่างกระดูกมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง

"...ดูก่อนคฤหบดีเปรียบเหมือนแร้งก็ดี นกตะกรุมก็ดี เหยี่ยวก็ดี พาชิ้นเนื้อบินไป แร้งทั้งหลายหรือนกตะกรุมทั้งหลาย หรือเหยี่ยวทั้งหลาย จะพึงโผเข้ารุมจิกแย่งชิ้นเนื้อนั้น ฉันใด...
"...ดูก่อนคฤหบดีอริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง

"...ดูก่อนคฤหบดีเปรียบเหมือนบุรุษพึงถือคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว เดินทวนลมไปฉันใด...
"...ดูก่อนคฤหบดีอริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบด้วยคบเพลิงหญ้า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง

"....ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ฉันใด...
"...ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง มีความทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง

"...ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไรฉันใด...
"...ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบด้วยความฝันมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง

"...ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ มีแก้วมณีและกุณฑลอย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไปในตลาด คนเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญบุรุษผู้มีโภคสมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลายผู้มีโภคสมบัติ ย่อมใช้สอยโภคสมบัติอย่างนี้ดังนี้ พวกเจ้าของพึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใด ๆ พึงนำเอาของตนคืนไปในที่นั้น ๆ ฉันใด...
"...ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบด้วยของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง

"...ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม้ในราวป่านั้น พึงมีรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว บุรุษผู้ต้องการผลไม้ พึงมาเที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้อันมีผลอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้นต้นไม้นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เราขึ้นต้นไม้นั้นแล้ว กินจนอิ่มและห่อพกไว้ ลำดับนั้นบุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ ถือขวานอันคมเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้เขาแวะยังราวป่านั้นแล้ว เห็นต้นไม้มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย... แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงตัดต้นไม้นี้แค่โคนต้นแล้วพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาพึงตัดต้นไม้นั้นแค่โคนต้นฉันใด...
"...ดูก่อนคฤหบดีอริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบด้วยผลไม้มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง..."
โปตลิยสูตร

(http://1.bp.blogspot.com/-ZTFS3nGBVeU/Tx6DfERHpoI/AAAAAAAAAjo/J5WWzcEIB6M/s420/si-257921_jpg_maxdim-400_resize-yes.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ คนพาลเกิดเป็นมนุษย์ได้ยาก
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 02, 2012, 04:16:20 pm


(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/39/39039/images/turtle.jpg)

พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
ตอน ๑๑

คนพาลเกิดเป็นมนุษย์ได้ยาก
คัดลอกบางส่วนจาก :พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
(ฉบับสมบูรณ์)
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

ปัญหา  ได้ทราบว่า คนเกิดเป็นมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ได้โดยง่าย ยิ่งเป็นคนพาลสันดานชั่วด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์อีกน้อย ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ  "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนทุ่นมีบ่วงตาเดียวไปในมหาสมุทร ทุ่นนั้นถูกลมตะวันออกพัดไปทางทิศตะวันตก ถูกลมตะวันตกพัดไปทางทิศตะวันออก ถูกลมเหนือพัดไปทางทิศใต้ ถูกลมใต้พัดไปทางทิศเหนือ มีเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทรนั้น ล่วงไปร้อยปีจึงจะผุดขึ้นครั้งหนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ? เต่าตาบอดตัวนั้น จะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นบ่วงตาเดียวโน้นได้บ้างไหมหนอ ?
"ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลยพระพุทธเจ้าข้า... ถ้าจะเป็นไปได้ในบางครั้งบางคราว ก็โดยล่วงระยะกาลนานแน่นอน

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้ ยังจะเร็วกว่าเรากล่าวความเป็นมนุษย์ที่คนพาลผู้ไปสู่วินิบาตคราวหนึ่งแล้วจะพึงได้ ยังยากกว่านี้ นั่นเพราะเหตุไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเพราะในตัวคนพาลนี้ ไม่มีความประพฤติธรรม ความประพฤติสงบ การทำกุศล การทำบุญ มีแต่การกินกันเอง การเบียดเบียนคนอ่อนแอ...

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแล ถ้าจะมาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราว ไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนานย่อมเกิดในสกุลต่ำ คือสกุลคนจัณฑาล หรือสกุลพรานเนื้อ หรือสกุลคนจักสาน หรือสกุลช่างรถ หรือสกุลคนเทขยะเห็นปานนั้นในบั้นปลาย..."
พาลปัณฑิตสูตร


สิ่งที่เกิดมีได้ยากในโลก
ปัญหา  อะไรบ้างเป็นสิ่งที่เกิดมีได้ยากในโลก แต่ในปัจจุบันเรามีแล้วควรพยายามฉวยเอาผลประโยชน์ให้เต็มที่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาปฐพีนี้กลายเป็นน่านน้ำเดียวกัน บุรุษพึงโยนแอกมีช่องเดียวไปในน้ำนั้น ลมในทิศตะวันออก พึงพัดเอาแอกนั้นไปทางทิศตะวันตก ลมทิศตะวันตกพัดเอาไปทางทิศตะวันออก ลมทิศเหนือพัดเอาไปทางทิศใต้ ลมทิศใต้พัดเอาไปทางทิศเหนือ เต่าตาบอดในห้วงน้ำนั้นจะโผล่ขึ้นมาหนึ่งครั้งทุก ๆ ระยะเวลาผ่านไปหนึ่งร้อยปี เธอจะเห็นข้อนั้นอย่างไร เต่าตาบอดนั้น...จะมีโอกาสสอดคอเข้าไปในแอกที่มีช่องเดียวนั้นบ้างหรือไม่"
 ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "การที่เต่าตาบอด จะมีโอกาสสอดคอเข้าไปในแอกที่มีช่องเดียวนั้น เป็นของยาก"

 "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายการได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก การที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลกที่เป็นของยาก การที่พระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลกก็เป็นของยาก

 "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ท่านได้ความเป็นมนุษย์แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว และพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วก็เจริญรุ่งเรืองอยู่ในโลก เพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายจึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้อริยมรรคมีองค์ ๘"
ฉิคคฬสูตรที่ ๒


เห็นอริยสัจจ์ทุกข์เหลือน้อย
ปัญหา ความทุกข์ของอริยสาวกผู้เห็นอริยสัจจ์ ๔ ยังเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด

พุทธดำรัสตอบ  "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนขุนเขาสิเนรุราชพึงหมดสิ้นไป นอกจากก้อนหินขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อน เธอทั้งหลายจะเห็นอย่างไร ขุนเขาสิเนรุราชที่สิ้นไป หมดไปกับก้อนหิน...เจ็ดก้อนที่ยังเหลืออยู่อย่างไหนจะมากกว่ากัน"
 ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุราชที่หมดสิ้นไปนี้แหละมากกว่า..."

 "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ผู้สมบูรณ์ด้วยความเห็น ผู้มีความเข้าใจแจ่มแจ้งที่สิ้นไปแล้วหมดไปแล้วนั่นแหละมากกว่าที่ยังเหลืออยู่มีประมาณน้อย...เมื่อเทียบกับกองทุกข์ที่มีอยู่เมื่อก่อน...จะมีการเกิดเสวยทุกข์อีกเพียงเจ็ดครั้งเท่านั้น..."
สิเนรุสูตรที่ ๒


สิ่งที่มีมากน้อยกว่ากัน ?
ปัญหา อะไรมากน้อยกว่ากัน ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนขึ้นไว้ในปลายเล็บ กับแผ่นดินใหญ่นี้ อันไหนจะมากกว่ากัน"
 ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า..."แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า..."

 "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่มาเกิดในมนุษย์มีประมาณน้อย สัตว์ที่เกิดในที่อื่นจากมนุษย์มีมากกว่า...สัตว์ที่มาเกิดในมัชฌิมชนบทมีประมาณน้อย สัตว์เกิดในปัจจันตชนบทมีมากกว่า...สัตว์ผู้ประกอบด้วยปัญญาจักษุอันประเสริฐมีประมาณน้อย สัตว์ผู้ตกไปในอวิชชา เป็นผู้งมงายมีมากกว่า...สัตว์ที่เกิดบนบกมีน้อย สัตว์ที่เกิดในน้ำมีมากกว่า...สัตว์ผู้เกื้อกูลแก่มารดา...บิดา...สมณะ...พราหมณ์ มีน้อย สัตว์ผู้ไม่เกื้อกูลแก่มารดา...บิดา...สมณะ...พราหมณ์มีมากกว่า...สัตว์ผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในครอบครัวมีน้อย สัตว์ผู้ไม่นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในครอบครัวมีมากกว่า...สัตว์ที่จุติในพวกมนุษย์แล้ว กลับมาเกิดในพวกมนุษย์มีน้อย...สัตว์ที่จุติจากมนุษย์แล้ว ไปเกิดในนรก...ในกำเนิดดิรัจฉาน...ในปิตติวิสัยมีมากกว่า..."
อัญญตรสูตร


อานิสงส์เมตตาจิต
ปัญหา การเจริญเมตตาจิต มีอานิสงส์อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุซ่องเสพเมตตาจิต...เจริญเมตตาจิต...ใส่ใจเมตตาจิตแม้ชั่วเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น  ภิกษุนี้เรากล่าวว่าอยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า จะกล่าวไปไยถึงผู้ทำเมตตาจิตให้มากเล่า ?"
บาลีแห่งเอกธรรม


โทษของความเกียจคร้าน
ปัญหา มีผู้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าสอนให้คนเกียจคร้านจริงหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้แต่อย่างเดียว ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น  หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เหมือนความเป็นผู้เกียจคร้าน ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อบุคคลเกียจคร้านแล้วอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นและกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป"
บาลีแห่งเอกธรรม


ธรรมที่มีคุณและโทษอันยิ่งใหญ่
ปัญหา ธรรมอะไรมีโทษอันยิ่งใหญ่ และธรรมอะไรมีคุณอันยิ่งใหญ่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้แต่อย่างเดียว ที่เป็นไปเพื่อความเสียหายใหญ่ เหมือนความประมาท...เหมือนความเป็นผู้เกียจคร้าน...เหมือนความเป็นผู้มักมาก...เหมือนความเป็นผู้ไม่สันโดษ...เหมือนการพิจารณาโดยไม่รอบคอบ...เหมือนความไม่รู้ตัว...เหมือนความมีมิตรชั่ว...เหมือนการประกอบอกุศลเนือง ๆ...

 "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้แต่อย่างเดียว ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่เหมือนความไม่ประมาท...เหมือนความเป็นผู้ปรารภความเพียร...เหมือนความเป็นผู้มักน้อย...เหมือนความเป็นผู้สันโดษ...เหมือนการพิจารณาโดยรอบคอบ...เหมือนความรู้ตัว...เหมือนความมีมิตรดี...เหมือนประกอบกุศลเนือง ๆ..."
บาลีแห่งเอกธรรม


ธรรมที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม
ปัญหา ธรรมอะไรเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อม ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้แต่อย่างเดียว ที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญ เพื่อความอันตรธานแห่งสัทธรรมเหมือนความประมาท...เหมือนความเป็นผู้เกียจคร้าน...เหมือนความเป็นผู้มักมาก...เหมือนความเป็นผู้ไม่สันโดษ...เหมือนการพิจารณาโดยไม่รอบคอบ...เหมือนความไม่รู้ตัว...เหมือนความมีมิตรชั่ว...เหมือนการประกอบอกุศลเนือง ๆ...การไม่ประกอบกุศลธรรม..."
บาลีแห่งเอกธรรม


ภิกษุผู้ทำลายพระพุทธศาสนา
ปัญหา ภิกษุเช่นใดเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนา ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม...สิ่งที่มิใช่วินัยว่าเป็นวินัย...แสดงคำที่พระตถาคตมิได้กล่าวไว้ตรัสไว้ว่าพระตถาคตกล่าวไว้ตรัสไว้ ...แสดงกรรมที่พระตถาคตมิได้ทรงประกอบว่าพระตถาคตประกอบ...แสดงสิ่งที่พระตถาคตมิได้ทรงบัญญัติว่าพระตถาคตทรงบัญญัติ...ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความเสียหาย มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก และย่อมยังสัทธรรมนี้ให้อันตรธาน"
บาลีแห่งเอกธรรม


ผู้เป็นหนึ่งในโลก
ปัญหา บุคคลผู้เป็นหนึ่ง ไม่มีสองในโลกคือใคร ? เกิดมาเพื่ออะไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอกเมื่อเกิดขึ้นมาในโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก...เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย...
ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เป็นเอกหาได้ยากในโลก...บุคคลเป็นเอกเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเป็นอัจฉริยมนุษย์...
การล่วงลับไปของบุคคลผู้เป็นเอกเป็นเหตุแห่งความเสียใจของคนเป็นอันมาก...

บุคคลผู้เป็นเอก...ย่อมเกิดขึ้นเป็นผู้ไม่มีที่สอง ไม่มีใครเช่นกับพระองค์ไม่มีใครเปรียบ...เป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งหลาย...
ความปรากฏแห่งบุคคลผู้เป็นเอก เป็นความปรากฏแห่งจักษุใหญ่ แห่งแสงสว่างใหญ่ แห่งความรุ่งโรจน์ใหญ่แห่งอนุตตริยะ ๖
เป็นการกระทำให้แจ้งปฏิสัทภิทา ๔ เป็นการแทงตลอดธาตุเป็นอันมากและธาตุต่าง ๆ

เป็นการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล บุคคลเป็นผู้เอกคือใคร ? คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า"
บาลีแห่งเอกธรรม


พระสาวกผู้เลิศในด้านต่าง ๆ
ปัญหา พระสาวกองค์ไหน ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ ให้เป็นเลิศในทางไหนบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
"พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นเอตทัคคะของบรรดาภิกษุสาวกผู้อาวุโส (รู้ราตรีนาน)
"พระสารีบุตร เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุสาวกผู้มีปัญญาใหญ่
"พระมหาโมคคัลลานะ เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้มีฤทธิ์
"พระมหากัสสปะ เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ทรงธุดงค์

"พระอนุรุทธะ เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้มีทิพยจักษุ
"พระภัททิยกาฬิโคธาบุตร เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ที่เกิดในตระกูลสูง
"พระลกุณฏก ภัททิยะ เป็นเลิศในบรรดาผู้มีเสียงไพเราะ
"พระปิณโฑล ภารทวาชะ เป็นเลิศในทางบันลือสีหนาท
"พระปุณณมันตานีบุตร เป็นเลิศในบรรดาพระธรรมกถึก

"พระมหากัจจานะ เป็นเลิศในบรรดาผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อ ให้พิสดาร
"พระจุลลปันถกะ เป็นเลิศในบรรดาผู้นฤมิตกายอันสำเร็จด้วยใจ และผู้ฉลาดในวัฒนาการทางจิตใจ
"พระมหาปันถกะ เป็นเลิศในบรรดาผู้ฉลาดในวิวัฒนาการทางปัญญา
"พระสุภูติ เป็นเลิศในบรรดาผู้มีปกติอยู่ด้วยไม่มีกิเลส และผู้เป็นทักขิไณยบุคคล
"พระเรวต ขทิวนิยะ เป็นเลิศในบรรดาผู้อยู่ป่าเป็นวัตร

"พระกังขาเรวตะ เป็นเลิศในบรรดาผู้ยินดีในฌาน
"พระโสณโกฬิวิสะ เป็นเลิศในบรรดาผู้ปรารภความเพียร
"พระโสณกุฎิกัณณะ เป็นเลิศในบรรดาผู้มีถ้อยคำไพเราะ
"พระสีวลี เป็นเลิศในบรรดาผู้มีลาภมาก
"พระวักกลิ เป็นเลิศในบรรดาผู้พ้นกิเลสได้ด้วยศรัทธา

"พระราหุล เป็นเลิศในบรรดาผู้ใคร่ต่อการศึกษา
"พระรัฐปาละ เป็นเลิศในบรรดาผู้บวชด้วยศรัทธา
"พระกุณฑธานะ เป็นเลิศในบรรดาผู้ได้สลากอันดับหนึ่ง
"พระวังคีสะ เป็นเลิศในบรรดาผู้มีปฏิภาณ
"พระอุปเสนวังคันตบุตร เป็นเลิศในบรรดาผู้เป็นที่น่าเลื่อมใสรอบด้าน

"พระทัพพมัลลบุตร เป็นเลิศในบรรดาผู้จัดแจงเสนาสนะ
"พระปิลินทวัจฉะ เป็นเลิศในบรรดาผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของชาวเทวดาทั้งหลาย
"พระพาหิยะ ทารุจีริยะ เป็นเลิศในบรรดาผู้ตรัสรู้ได้เร็วพลัน
"พระกุมารกัสสปะ เป็นเลิศในบรรดาผู้แสดงธรรมได้วิจิตร
"พระมหาโกฏฐิตะ เป็นเลิศในบรรดาผู้บรรลุปฏิสัมภิทา

"พระอานนท์เป็นเลิศในบรรดาผู้เป็นพหูสูต...ผู้มีสติ...ผู้มีคติ...ผู้มีความเพียร...เป็นผู้อุปัฏฐาน
"พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นเลิศในบรรดาผู้มีบริษัทมาก
"พระกาฬุทายี เป็นเลิศในบรรดาผู้ทำให้สกุลเลื่อมใส
"พระพักกุละ เป็นเลิศในบรรดาผู้มีอาพาธน้อย
"พระโสภิตะ เป็นเลิศในบรรดาผู้ระลึกชาติก่อนได้
"พระอุบาลี เป็นเลิศในบรรดาผู้ทรงพระวินัย

"พระนันทนะเป็นเลิศในบรรดาผู้สั่งสอนนางภิกษุณี
"พระนันทะ เป็นเลิศในบรรดาผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
"พระมหากัปปินะ เป็นเลิศในบรรดาผู้สั่งสอนภิกษุ
"พระคถาคตเป็นเลิศในบรรดาผู้ฉลาดในเตโชธาตุ
"พระราธะ เป็นเลิศในบรรดาผู้มีปฏิภาณแจ่มแจ้ง
"พระโมฆราชะ เป็นเลิศในบรรดาผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง


"พระมหาปชาบดีโคตมี เป็นเลิศกว่าภิกษุณีผู้อาวุโส
"พระนางเขมาภิกษุณี เป็นเลิศในบรรดาผู้มีปัญญามาก
"พระอุบลวัณณาเถรี เป็นเลิศในบรรดาผู้มีฤทธิ์
"พระปฏาจาราภิกษุณี เป็นเลิศในบรรดาผู้ทรงวินัย
"พระธัมมทินนา เป็นเลิศในบรรดาพระธรรมกถึก

"พระนันทาภิกษุณี เป็นเลิศในบรรดาผู้ยินดีในฌาน
"พระโสณาภิกษุณี เป็นเลิศในบรรดาผู้ปรารภความเพียร
"พระสกุลาภิกษุณี เป็นเลิศในบรรดาผู้มีทิพยจักษุ
"พระภัททากปิลานี เป็นเลิศในบรรดาผู้ระลึกชาติก่อนได้
"พระภัททากุณฑลเกสาเป็นเลิศในบรรดาผู้ตรัสรู้ได้เร็วพลัน

"พระภัททากัจจานา เป็นเลิศในบรรดาผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่
"พระกีสาโคตมี เป็นเลิศในบรรดาผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
"พระสคาลมาตา เป็นเลิศในบรรดาผู้พ้นกิเลสได้ด้วยศรัทธา


 "พ่อค้าชื่อตปุสสะและภัลลิกะ เป็นเลิศกว่าอุบาสก อุบาสิกา ผู้ถึงสรณะก่อน
 "สุทัตตอนาถปิณฑิกคฤหบดี เป็นเลิศในบรรดาผู้ถวายทาน
 "จิตตคฤหบดี ชาวเมืองมัจฉิกะสัณฑะเป็นเลิศในบรรดาผู้เป็นธรรมกถึก
 "หัตถถอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเป็นเลิศในบรรดาผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยปัจจัย ๔
 "เจ้ามหานามศากยะเป็นเลิศในบรรดาผู้ถวายรสอันประณีต

 "อุคคะ คฤหบดีชาวเมืองเวสาลี เป็นเลิศในบรรดาผู้ถวายโภชนะเป็นที่ชอบใจ
 "อุคคะคฤหบดี เป็นเลิศในบรรดาผู้อุปัฏฐานสงฆ์
 "สุรัมพัฏฐะเศรษฐีบุตร เป็นเลิศในบรรดาผู้เลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น
 "หมอชีวกโกมารภัจจ เป็นเลิศในบรรดาผู้ที่คนเลื่อมใสแล้ว
 "นกุลปิตาคฤหบดี เป็นเลิศในบรรดาผู้คุ้นเคย

 "นางสุชาดา ธิดาของเสนานีกุฎมพี เป็นเลิศในบรรดาผู้ถึงสรณะก่อน
 "นางวิสาขา มิคารมารดา เป็นเลิศในบรรดาผู้ถวายทาน
 "นางชุชชุตรา เป็นเลิศในบรรดาผู้เป็นพหูสูต
 "นางสามาวดี เป็นเลิศในบรรดาผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา
 "นางอุตตรา นันทมาดา เป็นเลิศในบรรดาผู้ยินดีในฌาน

 "นางสุปปวาสา โกลยธีตา เป็นเลิศในบรรดาผู้ถวายรสอันประณีต
 "นางสุปปิยา อุบาสิกา เป็นเลิศในบรรดาผู้อุปัฎฐากคนป่วย
 "นางกาติยานี เป็นเลิศในบรรดาผู้เลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น
 "นางนกุลมาตา คฤหปตานี เป็นเลิศในบรรดาผู้คุ้นเคย
 "นางกาสี อุบาสิกาชาวกุรรฆระ เป็นเลิศในบรรดาผู้เลื่อมใสเพราะได้ยินได้ฟังตามคนอื่น..."
เอตทัคคบาลี

(http://3.bp.blogspot.com/_L2iPRVDhLQY/SpMGeRFApRI/AAAAAAAAVAg/cO3OgBLvf-0/s400/verdes-campos.jpg)

Credit by : -http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-misc/bd-misc-07-11.htm
Pics by : Google
ขอบพระคุณที่มาทั้งหมดมากมาย
อนุโมทนาสาธุค่ะ

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 09, 2012, 06:46:32 pm


(http://images.worldgallery.co.uk/i/prints/rw/lg/2/4/Michael-O-Toole-Waterfall-24663.jpg)

ตอน ๑๒
สิ่งที่สูงกว่าพระเจ้าจักรพรรดิและพระพุทธเจ้า
ปัญหา พระเจ้าจักรพรรดิและพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยอะไร ในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของพระองค์ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรมเป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นเอง สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษาป้องกัน คุ้มครอง กษัตริย์ผู้ตามเสด็จ กองทัพพราหมณ์ และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท สมณะและพราหมณ์ เนื้อและนก ด้วยธรรม ย่อมทรงหมุนจักรให้เป็นไปด้วยธรรมเท่านั้น จักรที่มนุษย์ ข้าศึก หรือสัตว์ใด ๆ จะหมุนไปไม่ได้ฉันใด

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรงอาศัยพระธรรม สักการะพระธรรม เคารพพระธรรม ยำเกรงพระธรรม มีพระธรรมเป็นธง มีพระธรรมเป็นตรา มีพระธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกัน อันประกอบด้วยธรรม ไว้ในกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมแล้ว ทรงหมุนจักรคือพระธรรม ให้เป็นไปโดยธรรมจักรนั้น สมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกให้หมุนไปไม่ได้..."
จักกวัตติสูตร


หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
ปัญหา ภิกษุปฏิบัติอย่างไรบ้าง จึงจะชื่อว่าปฏิบัติถูกต้องเพื่อความพ้นทุกข์ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิดและชื่อว่าอบรมปัญญาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง ?...ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชะ ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยความเพียร ๑..."
อปัณณกสูตร


เหตุที่ทรงแสดงธรรม
ปัญหา เพราะเหตุไรพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมและทรงอนุญาตให้พระสาวกแสดงธรรมโปรดคนอื่น ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่เห็นก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว หรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความถูกต้องและความแน่นอนมั่นคงในกุศลธรรมทั้งหลาย
"บุคคลบางคนในโลกนี้ได้เห็นพระตถาคตหรือไม่เห็นก็ตาม ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว หรือไม่ได้ฟังก็ตาม ย่อมหยั่งลงสู่ความความแน่นอนและความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลายเอง
"บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ เห็นพระตถาคต...ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนและความถูกต้องมั่นคงในกุศลธรรมทั้งหลายเมื่อไม่ได้เห็น...ไม่ได้ฟัง...ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความแน่นอนและถูกต้อง...

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น เพราะเห็นแก่บุคคลผู้ได้เห็นพระตถาคต...ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอน...ถูกต้องในกุศลธรรม เมื่อไม่ได้เห็น...ไม่ได้ฟัง...ย่อมไม่หยั่งลง
...เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้และก็เพราะอาศัยบุคคลนี้ จึงควรแสดงธรรมแม้แก่บุคคลอื่น ๆ ด้วย..."
คิลานสูตร


พระธรรมวินัยแท้และของปลอม
ปัญหา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีมากมายเหลือหลาย อาจจะมีคำสอนของศาสนาอื่นหรือคนอื่นแทรกแซงอยู่บ้างเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอันไหนไม่ใช่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอุบาลี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นไป เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพานโดยส่วนเดียว เธอพึงทราบธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ส่วนธรรมเหล่าใด... เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว... นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา"
วินัยวรรค


เหตุทำให้พระศาสนาเสื่อม
ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ไม่ได้นาน ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสนา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในปฏิสันถาร ดูก่อนกิมพิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้วฯ"
กิมมิลสูตร


เหตุแห่งสังฆเภท
ปัญหา ได้ทราบว่า การทำลายสงฆ์ให้แตกกันเป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่ง อยากทราบว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้สงฆ์แตกแยกกัน ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอุบาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ว่าเป็นธรรม ๑
ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรม ว่าไม่ใช่ธรรม ๑
ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัย ว่าเป็นวินัย ๑
ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัย ว่าไม่ใช่วินัย ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ ไม่ได้บอกไว้ว่าตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ ๑
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ ว่าตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ ๑
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่เคยประพฤติมาว่า ตถาคตเคยประพฤติมา ๑

ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตเคยประพฤติมาว่าตถาคตไม่เคยประพฤติมา ๑
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตบัญญัติไว้ ๑
ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ ว่าตถาคตไม่ได้บัญญติไว้ ๑

ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกัน แยกจากกัน ทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกันด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ดูก่อนอุบาลี สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล ฯ"
อุปาลิสังฆเภทสูตร


ความเจริญ ๑๐ ประการ
ปัญหา มีหลักฐานอะไรบ้างที่แสดงว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิเสธโลกอย่างสิ้นเชิง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ และเป็นผู้ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระ...ความเจริญ ๑๐ ประการเป็นไฉน

คืออริยสาวกย่อมเจริญด้วยนาและสวน ๑
ย่อมเจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก ๑
ย่อมเจริญด้วยบุตรและภรรยา ๑
ย่อมเจริญด้วยทาส กรรมกร และ คนใช้ ๑
ย่อมเจริญด้วยสัตว์ ๔ เท้า ๑

ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ๑
ย่อมเจริญด้วยศีล ๑
ย่อมเจริญด้วยสุตะ ๑
ย่อมเจริญด้วยจาคะ ๑
ย่อมเจริญด้วยปัญญา ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการนี้ ย่อมเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ...ฯ"
วัฑฒิสูตร


พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนแบบลบจริงหรือ ?
ปัญหา ชาวยุโรปบางคนเห็นว่า พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนแบบลบ (Negative) ประกาศการไม่กระทำ (อกิริยาวาท) ไม่ส่งเสริมการสร้างสรรค์ไม่สู้กับโลก มีแต่สอนให้หนีโลก เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนพราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวการไม่กระทำดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้นมีอยู่ เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำซึ่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวการไม่กระทำ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว

"ดูก่อนพราหมณ์ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญ ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบนั้นมีอยู่ เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นคนกล่าวความขาดสูญดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบ แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งหมายกล่าว ฯ"
เวรัญชสูตร


เตือนใจพระทุศีล
ปัญหา กุลบุตรที่บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ประพฤติล่วงละเมิดพุทธบัญญัติมีธรรมอันลามก หลอกลวงชาวบ้าน จะมีโทษอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลายการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรก น่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดกล้า เป็นดังหยากเยื่อ บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาลจะดีอย่างไร

การที่บุรุษมีกำลังเอาขอเหล็กแดงไฟกำลังลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงเกี่ยวปากอ้าไว้ แล้วกรอกก้อนเหล็กแดง ไฟกำลังลุกโชติช่วงเข้าในปาก ก้อนเหล็กแดงนั้นจะพึงไหม้ริมฝีปาก ไหม้ปาก ไหม้ลิ้น ไหม้คอ ไหม้อก ไหม้เรื่อยไปถึงไส้ใหญ่ไส้น้อย แล้วออกทางทวารเบื้องต่ำ นี้ดีกว่า

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นพึงถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเป็นเหตุ แต่ผู้นั้นเมื่อตายไปไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย

"ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมลามก... เป็นดังหยากเยื่อ บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์มหาศาล... ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น และบุคคลผู้ทุศีลนั้น เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก...ฯ"
อัคคิขันธูปมสูตร


ควรบวชเมื่อหนุ่มหรือเมื่อแก่
ปัญหา การบวชในเมื่อยังหนุ่มแน่น กับบวชเมื่อแก่ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ?

พุทธดำรัสตอบ "...ภิกษุบวชเมื่อแก่เป็นคนละเอียดหาได้ยาก เป็นผู้มีมารยาทสมบูรณ์หาได้ยาก เป็นพหูสูตรหาได้ยาก เป็นธัมมกถึกหาได้ยาก เป็นวินัยธรหาได้ยาก... เป็นผู้ว่าง่ายหาได้ยากเป็นผู้คงแก่เรียนหาได้ยาก เป็นผู้รับโอวาทด้วยความเคารพหาได้ยาก..."
ทุลลภสูตร

(http://images.worldgallery.co.uk/i/prints/rw/lg/2/1/Dennis-Sheehan-Summer-Moonrise-2194.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 09, 2012, 08:42:38 pm


(http://2.bp.blogspot.com/-FIcBAK6E6vc/TvkPDuWdnWI/AAAAAAAAAcY/fYZZge9rv7Y/s1600/5374262107_8a0de78cfe.jpg)

ตอน ๑๓
วาระสุดท้ายของโลก
ปัญหา นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า โลกของเราจะมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปีแล้วก็จะแตกดับ ทางพระพุทธศาสนาแสดงเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม... ควรเบื่อหน่าย... ควรคลายกำหนัด... ควรหลุดพ้น
"ขุนเขาสิเนรุโดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร๘๔,๐๐๐ โยชน์สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีกาลบางคราวที่ฝนไม่ตกหลายปีหลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติป่าไม้ใหญ่ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้

"...โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ...แม่น้ำลำคลองทั้งหมดย่อมงวดแห้ง... ไม่มีน้ำ
"...โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรพู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ...
"...โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรพู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ

"...โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสุมทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี... ๗๐๐ โยชน์ก็ดี ย่อมงวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี... ชั่วต้นตาลเดียวก็มี แล้วยังจะเหลืออยู่ ๗ ชั่วคน ๖ ชั่วคน... เพียงเขา... เพียงในรอยเท้าโค
"...โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏแผ่นดินใหญ่นี้และเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น เปรียบเหมือนนายช่างหม้อเผาหม้อที่ปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น ฉะนั้น

"...โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ...แผ่นดินใหญ่นี้และเขาสิเนรุ ไฟจะติดทั่วลุกโชติช่วง มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน... เมื่อแผ่นดินใหญ่และเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า...
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... สังขารทั้งหลาย... เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม ควรจะเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง..."
สุริยสูตร


สิ่งที่ควรพูดและไม่ควรพูด
ปัญหา สิ่งใดก็ตามที่เราเห็นมาจริงได้ฟังมาจริง ประสบมารู้แจ้งจริง เราควรพูดสิ่งนั้นออกมาได้ทันทีโดยไม่มีโทษใด ๆ ได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนพราหมณ์ เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่าควรกล่าว และไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่าไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมด ว่าควรกล่าว(หรือ)... ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ประสบมาทั้งหมดว่าควรกล่าว (หรือ)... ไม่ควรกล่าว เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งมาทั้งหมดว่า ควรกล่าว(หรือ)... ไม่ควรกล่าว

"ดูก่อนพราหมณ์แท้จริง เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด... สิ่งที่ได้ฟังมาอันใด... สิ่งที่ได้ประสบมาอันใด... สิ่งที่ได้รู้แจ้งมาอันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็นมา... ได้ฟังมา... ได้ประสบมา... ได้รู้แจ้งมาเช่นนั้นว่า ไม่ควรกล่าว แต่เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นมา... ได้ฟังมา... ได้ประสบมา... ได้รู้แจ้งมาอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็น... ได้ฟัง... ได้ประสบ... ได้รู้แจ้งมาเช่นนั้น ว่าควรกล่าว"
โยธาชีวสูตร


กลัวผิดจนไม่ยอมพูด
ปัญหา เพราะเหตุไรตัวกินนรซึ่งพูดภาษามนุษย์ได้จึงไม่พูดภาษามนุษย์ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กินนรเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการนี้ จึงไม่พูดภาษามนุษย์ อำนาจประโยชน์ ๒ ประการคืออะไร? คือ เราอย่าได้พูดเท็จเลย ๑ เราอย่าได้กล่าวต่อผู้อื่นด้วยคำไม่จริง ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กินนรเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการนี้แล จึงไม่พูดภาษามนุษย์..."
ทุ. ทุก. อํ


ทิพยจักษุมีได้จริง
ปัญหา ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ได้ทอดทิ้งพระสมณศากยมุนีหนีไปก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นระยะทางไกลมาก พระองค์ทราบได้อย่างไรว่า พระปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และเสด็จไปถูกที่ ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... เราจึงคิดว่า เราจะแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่ใครหนอ ใครจักทราบชัดธรรมนี้ได้โดยเร็ว เราจึงคิดว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้อุปัฏฐากเราผู้กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ เป็นผู้มีอุปการะแก่เรามากนัก ถ้าไฉน เราพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่พวกเธอ เราจึงคิดว่า บัดนี้ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ เราก็รู้ได้ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีด้วยทิพยจักษุที่บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ครั้นเราอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ออกจาริกไปเมืองพาราณสี...ฯ"
ปาสราสิสูตร


พระพุทธเจ้าทรงรู้วิธีเหาะได้
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงเหาะเหินเดินอากาศได้จริงหรือไม่ ? ถ้าจริงทรงกระทำได้โดยวิธีใด ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์เราทราบอยู่ว่าเราเข้าสู่พรหมโลกด้วยกายที่สำเร็จแต่ใจ ด้วยอำนาจฤทธิ์ได้...เรารู้อยู่ว่า เราเข้าสู่พรหมโลกด้วยกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ เพราะอาศัยฤทธิ์ได้...
   "ดูก่อนอานนท์สมัยในตถาคตตั้งกายไว้ในจิตหรือรวมจิตตั้งไว้ในกายก้าวลงสู่ความเห็นว่าสุขและความเห็นว่าเบาในกาย สมัยนั้นกายของตถาคตย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ ควรแก่การงานกว่าปกติ และผุดผ่องกว่าปกติ...เปรียบเหมือนก้อนเหล็กเผาไฟอยู่ตลอดวัน ย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ...และผุดผ่องกว่าปกติ...

   "ดูก่อนอานนท์ สมัยใดตถาคตตั้งกายลงไว้ในจิตหรือรวมจิตตั้งลงในกาย...สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมออกจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย ตถาคตนั้นย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง...เปรียบเหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายซึ่งเป็นเชื้อธาตุที่เบา ย่อมลอยจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย..."
อโยคุฬสูตร


คนธรรมดากับญาณพิเศษ
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่าญาณพิเศษที่พระอรหันต์ได้บรรลุถึงนั้นเป็นสิ่งผิดหลักธรรมชาติไม่สามารถจะมีได้จริง เป็นแต่เพียงการสร้างเรื่องขึ้นด้วยจินตนาการเท่านั้น ในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างไร ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนมาณพ พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตรผู้เป็นใหญ่ในสภควัน... เป็นคนบอดไม่มีจักษุ เขาจักรู้ จักเห็น จักทำให้แจ้งชัดซึ่งญาณทัสสนะวิเศษของพระอริยะ... ได้หรือหนอ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
   "ดูก่อนมาณพเปรียบเหมือนบุรุษตาบอดแต่กำเนิด เขาไม่เห็นรูปดำ รูปขาว รูปเขียว รูปเหลือง รูปแดง รูปสีชมพู รูปที่เสมอและไม่เสมอ หมู่ดาว ดวงจันทร์และอาทิตย์ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ไม่มีรูปดำ รูปขาว ไม่มีคนเห็นรูปดำ รูปขาว ไม่มีรูปเขียว ไม่มีคนเห็นรูปเขียว... ไม่มีหมู่ดาว ไม่มีคนเห็นหมู่ดาว ไม่มีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ไม่มีคนเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ เราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นย่อมไม่มี เมื่อเขากล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบหรือ มาณพ ?

สุภมานพ "ไม่ใช่เช่นนั้นท่านพระโคดม รูปดำรูปขาวมี คนเห็นรูปดำรูปขาวก็มี รูปเขียวก็มี คนเห็นรูปเขียวก็มี... หมู่ดาวมี คนเห็นหมู่ดาวก็มี ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มี คนเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็มี ผู้ที่กล่าวว่าเราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นย่อมไม่มี ดังนี้ ไม่ชื่อว่ากล่าวชอบ ท่านพระโคดม..."
สุภสูตร


ความคิดเรื่องสสาร - พลังงานในพระพุทธศาสนา
ปัญหา ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า สสารเป็นแต่เพียงรูปหนึ่งของพลังงาน เราอาจแปลงสสารให้เป็นพลังงานได้ ทางพระพุทธศาสนาเห็นด้วยหรือไม่กับมตินี้ ?

   คำตอบของพระสารีบุตร "...ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญทางใจ เมื่อจำนงพึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นดินได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกองไม้โน้นมีปฐวีธาตุ... เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นน้ำได้... เพราะกองไม้โน้นมีอาโปธาตุ...เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นไฟได้...เพราะกองไม้กองโน้นมีเตโชธาตุ... เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นลมได้...เพราะกองไม้กองโน้นมีวาโยธาตุ...  เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นของงามได้... เพราะกองไม้กองโน้นมีสุภธาตุ... เมื่อจำนงพึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้น ให้เป็นของไม่งามได้ เพราะกองไม้โน้นมีอสุภธาตุ ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีความชำนาญทางใจ พึงอาศัยน้อมใจถึงให้เป็นของไม่งามได้ ฯ"
ทารุกขันธสูตร


ฤทธิเดชปาฏิหาริย์เป็นไปได้จริง
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงรับรองไว้จริงหรือว่า เรื่องของฤทธิเดชปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องเป็นไปได้จริง ?

   พุทธดำรัสตอบ "ภิกษุเมื่อเจริญเพิ่มพูนซึ่งอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏขึ้นมาก็ได้ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุผ่านฝาผนัง กำแพงภูเขาไปได้โดยไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงใต้แผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำ ไม่ทำให้น้ำแยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยฝ่ามือก็ได้ ให้พลังทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้...ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งอยู่ใกล้และไกล ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์อันบริสุทธิ์ เหนือโสตของมนุษย์ธรรมดา...ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น คนอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ...โทสะ...โมหะ...ก็รู้ว่าจิตมีราคะ...โทสะ...โมหะ จิตไม่มีราคะ...โทสะ...โมหะ...ก็รู้ว่าจิตไม่มีราคะ...โทสะ...โมหะ..."
ปุพพสูตร


เป็นอรหันต์แต่ไม่มีฤทธิ์
ปัญหา ภิกษุที่ได้เป็นอรหันตขีณาสพแล้วจะต้องมีฤทธิ์สามารถกระทำปาฏิหาริย์ได้ทั้งนั้นหรือ ?

   คำตอบ ไม่ได้ตามเรื่องในสุสิมสูตรว่า เมื่อพระสุสิมะได้ยิน ภิกษุหลายรูป ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์จึงเข้าไปหาแล้วก็ถามว่า ท่านเหล่านั้นแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ไหม มีหูทิพย์ตาทิพย์ไหม เมื่อภิกษุเหล่านั้นตอบว่าแสดงฤทธิ์ก็ไม่ได้ หูทิพย์ตาทิพย์ก็ไม่ได้ พระสุสิมะจึงแสดงความประหลาดใจว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ท่านเหล่านี้จึงตอบว่า ท่านหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา เป็นพระอรหันต์ประเภทสุกขวิปัสสกะ

   พระสุสิมะยังไม่หายสงสัยจึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลถามเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ควรถือว่าเป็นเราเป็นของของเรา เป็นตัวตนของเราหรือไม่ พระสุสิมะทูลว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ควรถือว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตนของเรา พระพุทธองค์ทรงสอนต่อไปว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเขา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วจะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดและหลุดพ้น เป็นพระอรหันตขีณาสพ

ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถามพระสุสิมะในเรื่องปฏิจจสมุปบาทว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา และภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ ฯลฯเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ในสายดับทุกข์พระองค์ทรงแสดงว่า เพราะชาติดับ ชรา มรณะ จึงดับ ฯลฯ เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ในที่สุดทรงถามว่า

"ดูก่อนสุสิมะ เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ... ย่อมได้ยินเสียงสองชนิด... ด้วยทิพย์โสตธาตุอันบริสุทธิ์... ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น... ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก... ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ... บ้างหรือหนอ? "
พระสุสิมะทูลตอบว่า"ไม่ใช่อย่างนั้น ก็แสดงว่า พระอรหันต์ผู้ได้บรรลุเพราะอาศัยปัญญา เกิดความรู้จริงเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ย่อมไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ใด ๆ"
นัยสุสิมสูตร

(http://4.bp.blogspot.com/-ja9gweKZh9U/TvkkoBO5-2I/AAAAAAAAAdg/RcH0kV3rep0/s320/huiougugiuiggui.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 10, 2012, 05:26:56 pm


(http://1.bp.blogspot.com/-v5Tt0vV9xhU/TvM5Y-s0WOI/AAAAAAAAAaU/ZQT2gViqbLk/s1600/4471282487_8d5e7c6d8c.jpg)

ตอน ๑๔
ไม่ใช่อรหันต์เสมอไป
ปัญหา ผู้ที่รู้เห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้งทั้งสายทุกข์ ทั้งสายดับทุกข์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน จะจัดว่าเป็นพระขีณาสพได้หรือยัง ?

พระนารทะตอบ "ท่านผู้มีอายุ ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ ท่านผู้มีอายุเปรียบเหมือนบ่อน้ำในหาทางกันดาร ที่บ่อนั้นไม่มีเชือก โพงจะตักน้ำก็ไม่มี ลำดับนั้นบุรุษถูกความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิวกระหายเดินมาเขามองดูบ่อน้ำนั้นก็รู้ว่ามีน้ำ แต่จะสัมผัสด้วยกายไม่ได้ ฉันใด ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ ฉันนั้นเหมือนกัน"
โกสัมพีสูตร


ดาราศาสตร์ในพุทธศาสนา
ปัญหา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับโลกและจักรวาลไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาส (ช่องว่าง) ที่พระจันทร์และพระอาทิตย์โคจรทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาล ก่อนในโลกพันจักรวาลนั้นมีพระจันทร์พันดวง มีพระอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสินเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอมรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทร ๔ พัน มีท้าวมหาราช ๔ พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสดีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล

โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างเล็ก ซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างกลาง มีล้านจักรวาลโลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างกลางนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล
"ดูก่อนอานนท์ ตถาคต เมื่อมุ่งหมาย พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย...ฯ"
จูฬนีสูตร


วิธีเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา
ปัญหา ได้ทราบว่าวิมุติคือความหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา เราจะปฏิบัติธรรมอะไรโดยลำดับ จึงจะบรรลุถึงวิมุตินั้นสมประสงค์ ?

พุทธดำรัสตอบ ..."โพชฌงค์ ๗ ประการแล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาแลวิมุติให้บริบูรณ์
"...สติปัฏฐาน ๔ แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ประการให้บริบูรณ์ "...สุจริต ๓ ประการแล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
"...อินทรีย์สังวรแลอันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์..."
กุณฺฑลิยสูตร


ฆราวาสก็มีหวังได้ลิ้มรสนิพพาน
ปัญหา เท่าที่ได้ฟังมานั้นการที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานรู้สึกว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากมาก จะต้องสละโลกออกบวช ไปอยู่ในป่าบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา อย่างเคร่งครัดซึ่งน้อยคนจะกระทำได้ สำหรับฆราวาสที่ยังต้องอยู่ครองเรือนมีหน้าที่ในการเลี้ยงครอบครัว จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้ลิ้มรสแห่งนิพพานสุขบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "...สาวกของพระอริยเจ้าในศาสนานี้ย่อมพิจารณาเห็นว่า เราปรารถนาชีวิตไม่คิดอยากตาย ปรารถนาแต่ความสุขความสบายเกลียดหน่ายต่อความทุกข์ บุคคลผู้ใดจะพึงปลงเราเสียจากชีวิต ข้อนั้นจะไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล ถ้าเราจะพึงปลงผู้อื่นเสียจากชีวิต ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้นั้น ธรรมอันใดที่ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเรา ธรรมอันนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่น... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากปาณาติบาต แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากปาณาติบาต แลกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากปาณาติบาต...

"บุคคลใดจะพึงถือเอาสิ่งของที่เราไม่ให้ซึ่งนับว่าเป็นขโมย ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล เราจะถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ให้ ถึงข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากอทินนาทานและชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากอทินนาทาน และกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากการอทินนาทาน...

"บุคคลใดจะประพฤติละเมิดในภรรยาของเรา ข้อนั้นไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงประพฤติละเมิดในภรรยาของผู้อื่น ถึงข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจารแลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร แลพรรณาคุณของการเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร...

"บุคคลใดจะพึงทำลายประโยชน์ของเราเสียด้วยการพูดปด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นเสียด้วยการพูดปด ถึงข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการพูดปดแลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากการพูดปด แลกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากการพูดปด...

"บุคคลใดจะพึงทำให้เราแตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลยก็แลเราจะพึงทำผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการกล่าวส่อเสียด แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าวส่อเสียด และกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากการกล่าวส่อเสียด

"บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงเรียกคนอื่นด้วยคำหยาบเล่า ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากการกล่าววาจาหยาบ และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาหยาบ และกล่าวพรรณาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาหยาบ...

"บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลจะพึงร้องเรียกผู้อื่นด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์แลพรรณาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์

"สาวกของพระอริยเจ้านั้น
ประกอบด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าไม่หวั่นไหว...
ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระธรรมไม่หวั่นไหว...
ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระสงฆ์ ไม่หวั่นไหว...

ประกอบด้วยศีลทั้งหลายอันพระอริยเจ้ารักใคร่ไม่ให้ขาด ไม่ให้เป็นท่อน ไม่ให้ด่างพร้อย เป็นไทย (ไม่เป็นทาสแห่งตัณหา) อันผู้รู้สรรเสริญ อันตัณหาแลทิฐิไม่ครอบงำ ได้เป็นไปเพื่อสมาธิ

"เมื่อใดสาวกของพระอริยเจ้า ประกอบด้วยสัทธรรมความชอบเหล่านี้แล้ว...ก็พึงพยากรณ์ได้ด้วยตนเองว่า 'เรามีนรกสิ้นแล้ว เรามีกำเนิดเดียรัจฉานเปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงต้นกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ไม่มีทางที่จะตกไปในอบายทั้งสี่อย่างแน่นอน เป็นผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า"ดังนี้
เวฬุทวารสูตร


คุณค่าของสมถะและวิปัสสนา
ปัญหา การเจริญสมถวิปัสสนา มีประโยชน์อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะย่อมไม่หลุดพ้น หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ ฯ"
พาลวรรคปฐมปัณณาสก์


ธาตุ ๔เปลี่ยนสภาพได้
ปัญหา ในทางวิทยาศาสตร์ คำว่า ธาตุ (Element) หมายถึงปรมาณูซึ่งมีจำนวนอิเล็ตรอนและโปรตอนจำกัด เช่น ธาตุไฮโดรเจนมีอิเล็กตรอนและโปรตอนอย่างละหนึ่ง ถ้าเราเปลี่ยนให้มันมีอิเล็กตรอน ๒ และ โปรตอน ๒ มันจะกลายเป็น ธาตุฮีเลียม (Helium) ไป ไม่ใช่ไฮโดรเจน ฉะนั้นธาตุในทางวิทยาศาสตร์อาจจะเปลี่ยนเป็นธาตุอื่น ๆ ได้ ธาตุในทางพระพุทธศาสนาเปลี่ยนได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์ มหาภูต ๔ (หมายถึงธาตุใหญ่ทั้ง ๔) คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน)อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ)เตโชธาตุ(ธาตุไฟ)วาโยธาตุ(ธาตุลม) พึงเป็นอย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างมั่นคงไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์ ไม่พึงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย..."
สมาทปกสูตร


คนฟังธรรม ๓ประเภท
ปัญหา คนที่ไปฟังเทศน์ ฟังธรรมอยู่ตามวัดเป็นประจำนั้น มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก... คือ บุคคลมีปัญญาคว่ำ ๑ บุคคลมีปัญญาเช่นกับตัก ๑ บุคคลมีปัญญากว้างขวาง ๑
"...บุคคลมีปัญญาคว่ำเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้นจำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของกถานั้นไม่ได้ เปรียบเหมือนหม้อคว่ำ ถึงจะเอาน้ำรดลงที่หม้อนั้นย่อมราดไปหาขังอยู่ไม่... นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญาคว่ำ

"...ก็บุคคลที่มีปัญญาเหมือนกับตักเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรม... แก่เขาเขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของกถานั้นได้ ครั้นลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของกถานั้นไม่ได้ เปรียบเหมือนบนตักของบุรุษมีของเคี้ยวนานาชนิด คือ งา ข้าวสาร ขนมต้ม พุทรา เกลื่อนกลาด เขาลุกจากอาสนะนั้น พึ่งทำเรี่ยราดเพราะเผลอสติ... ที่เรียกว่าบุคคลมีปัญญาเหมือนตัก
"...ก็บุคคลมีปัญญากว้างขวางเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ หมั่นไปวัดเพื่อฟังธรรมในสำนักของภิกษุเสมอ ภิกษุย่อมแสดงธรรม... แก่เขา เขานั่งบนอาสนะนั้น จำเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุดของกถานั้นได้ แม้ลุกจากอาสนะนั้นแล้ว ก็จำเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของกถานั้นได้ เปรียบเหมือนหม้อหงาย เอาน้ำเทใส่ไปในหม้อนั้น ย่อมขังอยู่ หาไหลไปไม่... นี้เรียกว่าบุคคลมีปัญญากว้างขวาง..."
อวกุชชิตาสูตร


โลกก็มีคุณเหมือนกัน
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า พระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้าย ประณามโลก สอนให้หนีจากโลกดังนี้ เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด โลกมีส่วนดีอยู่บ้างหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนตรัสรู้เราเป็นพระโพธิสัตว์ได้คิดว่า ในโลกนี้อะไรหนอเป็นคุณ อะไรหนอเป็นโทษ อะไรหนอเป็นอุบายเครื่องออกไป... เรานั้นได้คิดว่า สุขโสมนัสอาศัยสภาพใดเกิดขึ้นในโลก สภาพนี้เป็นคุณในโลก โลกไม่เที่ยงเป็นทุกข์ หรือความแปรปรวนเป็นธรรมดานี้เป็นโทษในโลก การปราบปรามฉันทราคะ การละฉันทะราคะในโลกได้เด็ดขาด นี้เป็นอุบายเครื่องออกไปในโลก
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่ง ซึ่งคุณของโลกโดยเป็นคุณ ซึ่งโทษของโลกโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปของโลก โดยความเป็นอุบายเครื่องออกไปตามความจริงเพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้ ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เพียงนั้น...ฯ
ปุพพสูตร

(http://farm3.static.flickr.com/2399/2129415198_0aa6645c27.jpg)

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย รอง ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ กันยายน 11, 2012, 06:57:03 pm


(https://encrypted-tbn3.google.com/images?q=tbn:ANd9GcRQLUrYGzzQ6yEi9mtQM14g75n92zVhY-MWEwbY6YV0xGUy7iFG)

ตอน ๑๕

คุณของโลก
ปัญหา มีคนกล่าวว่า พุทธศาสนาเป็นลัทธินิยม มองโลกแต่ในแง่ร้าย มองเห็นแต่ความทุกข์ความโศกของโลก มีความจริงเพียงใด ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณในโลกนี้จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงกำหนัดยินดีในโลก แต่เพราะคุณในโลกมีอยู่ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงกำหนัดยินดีในโลก
   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าโทษในโลกนี้ไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในโลก แต่เพราะโทษในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในโลก"
อัสสาทสูตร


เหตุให้เกิดภพ
ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้สัตว์เกิดในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนอานนท์ เมื่อกรรมที่อำนวยผลให้กามธาตุ... ในรูปธาตุ.. ในอรูปธาตุจักไม่มีแล้วกามภพ... รูปภพ... อรูปภพ พึงปรากฏบ้างหรือหนอ (เมื่อพระอานนท์ทูลตอบว่า ไม่พึงปรากฏเลย ได้ตรัสต่อไปว่า) ดูก่อนอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยางเหนียว วิญญาณ... เจตนา... ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างเลว... อย่างกลาง... อย่างประณีตของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดใหม่ในภพต่อไปอีก"
นวสูตร


วัฏสงสารที่ไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย
ปัญหา เราอาจจะทราบได้ไหมว่า เราเริ่มเกิดขึ้นในวัฏสงสารเมื่อใดและจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดมัดละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่านี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่าหญ้า กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไปข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพี ที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียว เพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้"
ติณกัฏฐสูตร


ผู้เสียสละนั้นดีแล้วหรือ ?
ปัญหา คนบางคนชอบสละเวลาของตนทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเดียว เพิกเฉยละเลยประโยชน์ของตน ชาวโลกสรรเสริญว่าเป็นคนเสียสละเห็นแก่ส่วนรวมควรได้รับการยกย่อง พระพุทธองค์ทรงยกย่องคนประเภทนี้อย่างไรหรือไม่ ?

   พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก คือบุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น๑
ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย ๑ ...
บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน ทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เป็นผู้เลิศ เป็นผู้วิเศษ เป็นประธาน อุดม และเป็นผู้ประเสริฐ..."
ฉลาวาตสูตร


วิธีตอบคำถาม
ปัญหา ถ้ามีคนมาถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งแก่เรา เราควรจะพิจารณาตอบอย่างไรบ้าง ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิธีตอบปัญหามีอยู่ ๔ ประการ ๔ ประการนั้นคืออะไรบ้าง คือ
ปัญหาที่พึงตอบทันที ๑ ปัญหาที่พึงแยกตอบบางประเด็น ๑ ปัญหาที่พึงย้อนถามก่อนแล้วจึงตอบ ๑ ปัญหาที่ควรงดไว้ (ไม่ตอบ) ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิธีตอบปัญหามี ๔ อย่างนี้แล...
ปัญหาสูตร


รู้มาก ๆ เพียงพอหรือยัง ?
ปัญหา ความเป็นพหูสูตร คือได้เรียนรู้มาก พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นมงคลประการหนึ่ง แต่ถ้าเราเป็นพหูสูตอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ ? มีอะไรที่จะต้องเรียนรู้อีก ?

   พุทธดำรัสตอบ "...บุคคลบางคนในโลกนี้เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เขาไม่รู้ทั่วถึงตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ บุคคลนี้เป็นดุจวลาหก (เมฆ) คำราม แต่ไม่ให้ฝนตก...
   "...การก้าวการถอยการเหลียวการแลการคู้การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวรของบุคคลบางคนในโลกนี้ ล้วนน่าเลื่อมใส แต่เขาไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ บุคคล (นี้)เป็นดุจห้วงน้ำตื้นเงาลึก... เป็นดุจหม้อเปล่าที่เขาปิดไว้... เป็นดุจมะม่วงดิบผิวสุก... เป็นดุจหนูขุดรูแต่ไม่อยู่..."
วลาหกสูตรที่ ๖


ควรศึกษาค้นคว้าอวกาศหรือไม่?
ปัญหา ในห้วงอากาศอันหาที่สุดมิได้นี้ จะมีที่แห่งใดแห่งหนึ่งหรือไม่ ซึ่งสัตว์ทั้งหลายไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ซึ่งเราควรไปถึง ควรรู้ ควรเห็น เพื่อความดับทุกข์ ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนผู้มีอายุ สัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติในที่ใด เราไม่ประกาศว่าที่นั่นเป็นที่สุดแห่งโลกที่ควรรู้ที่ควรเห็นที่ควรไปถึงได้ด้วยการเดินทางอีกทั้งเราก็ไม่ประกาศว่า จักมีการกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ โดยไม่ไปถึงที่สุดแห่งโลก
   "ผู้มีอายุ... เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และทางปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับแห่งโลก ลงที่ร่างกายอันมีความยาวประมาณหนึ่ง มีสัญญาและมีใจครองนี้เท่านั้น..."
โรหิตตัสสูตรที่ ๑


ศาสนาอื่นมีพระอริยบุคคลหรือไม่ ?
ปัญหา พระอริยบุคคลที่ได้บรรลุมรรคผล เช่น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอานาคามีและพระอรหันต์มีอยู่ในศาสนาอื่นหรือไม่ ? หรือว่ามีเฉพาะในพระพุทธศาสนา ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสมณะมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๑...สมณะที่ ๒...สมณะที่ ๓... สมณะที่ ๔... มีในธรรมวินัยนี้ที่ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาท (ประกาศ) โดยชอบอย่างนี้เถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะเป็นไฉน ?
"ภิกษุในธรรมวินัยนี้เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓ (สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาา) เป็นพระโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า นี้สมณะที่ ๑

   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๒ เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓และเพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลง เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี้สมณะที่ ๒
   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๓ เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เป็นอุปปาติกะ (เป็นพระอนาคามี) จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา นี้สมณะที่ ๓

   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๔ เป็นไฉนภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน...นี้สมณะที่ ๔
   "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑... ที่ ๒... ที่ ๓... ที่ ๔... มีในธรรมวินัยนี้ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้ง ๔ เธอทั้งหลายจงบันลือสีหนาทโดยชอบอย่างนี้เถิด"
กรรมวรรค


โทษของความโกรธ
ปัญหา ความโกรธมีโทษอย่างไรบ้าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ระงับและกำจัดเสีย ?

   พุทธดำรัสตอบ "...คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้จะอาบน้ำ ไล้ทาตัดผมโกนหนวดนุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ตาม... ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม...
   "...คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำย่ำแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าขนสัตว์ลาดด้วยผ้าขาวเนื้ออ่อนลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม.. ย่อมนอนเป็นทุกข์...

   "...คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งเป็นประโยชน์ แม้จะถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้อันคนผู้โกรธ... ถือเอาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาล

   "...คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรสั่งสมได้ด้วยกำลังแขนอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม พระราชาย่อมริบโภคะของคนขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง...
   "...คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้จะได้ยศมาเพราะความไม่ประมาท ก็เสื่อมจากยศนั้นได้...

   "...คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้วแม้เขาจะมีมิตร อมาตย์ ญาติสายโลหิต เหล่านั้นก็เว้นเขาเสียห่างไกล...
   "...คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นแล้วเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาตนรก..."
โกธนาสูตร


วิธีแก้ความอาฆาต ๑
ปัญหา ถ้าเกิดความอาฆาตขึ้นในจิตใจเรา ทำให้เราคิดมุ่งร้ายหมายแก้แค้นต่อบุคคลบางคน ซึ่งได้ล่วงเกินเราก่อน ควรจะแก้ไขอย่างไร ?

   พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงถึงการไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลคนนั้น ๑ ความอาฆาตพึงเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน

   ให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดไว้ดีก็ตามชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นดังนี้ ๑... พึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้"
อาฆาตวินัยสูตรที่ ๑


เหตุให้อายุสั้น
ปัญหา ในจูฬกัมมวิภังคสูตร พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเกิดมามีอายุสั้น เพราะในชาติก่อนเป็นผู้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตสำหรับในชาติปัจจุบันนี้เล่า มีปฏิปทาใดบ้างที่เป็นเหตุให้บุคคลมีอายุสั้น หรือตายเร็ว ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม (เหล่า) นี้เป็นเหตุให้อายุสั้น... คือ บุคคลไม่เป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๑เป็นผู้เที่ยวไปในกาลไม่สมควร ๑ไม่ประพฤติเพียงดังพรหม ๑... เป็นคนทุศีล ๑ มีมิตรเลวทราม ๑ "
อนายุสสสูตรที่ ๑ - ๒


พวกเดียวกันคบกัน
ปัญหา ตามปกติคนที่มีอะไรคล้ายกันย่อมคบหาสมาคมกัน ใช่หรือไม่ ? พระผู้มีพระภาคตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร ?

   พุทธดำรัสตอบ "...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุทีเดียว คือสัตว์จำพวกที่ไม่มีศรัทธา ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกที่ไม่มีศรัทธา สัตว์จำพวกที่ไม่หิริ ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกไม่มีหิริ สัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ สัตว์จำพวกที่มีสุตะน้อย ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกที่มีสุตะน้อย สัตว์จำพวกเกียจคร้านย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกเกียจคร้าน สัตว์จำพวกมีสติหลงลืม ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกมีสติหลงลืม สัตว์จำพวกมีปัญญาทราม ย่อมคบค้ากัน... กับสัตว์จำพวกมีปัญญาทราม แม้ในอดีตกาล... แม้ในปัจจุบันกาล..."
อสัทธมูลกสูตรที่ ๑


กรรมเก่าทั้งนั้นหรือ
ปัญหา ตามหลักกรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นเราจะถือว่า ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดีที่เราได้รับอยู่ในบัดนี้เป็นผลของกรรมเก่าที่เราได้ทำไว้แล้วในชาติก่อน ดังนี้ได้หรือไม่ ?

   พุทธดำรัสตอบ ..."เวทนาอันบุคคลเสวยในโลกนี้บางเหล่าเกิดขึ้นมีดี เป็นสมุฏฐานก็มี...บางเหล่าเกิดขึ้นมีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี บางเหล่าเกิดขึ้นมีลมเป็นสมุฏฐานก็มี มีส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นรวมกันเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดแต่ความแปรแห่งฤดูก็มี เกิดแต่การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอก็มี เกิดแต่ความพยายาม (ของตน) ก็มี เกิดแต่วิบากแห่งกรรมก็มี... ข้อนี้อันเจ้าตัวเองก็รู้เช่นนั้น อันโลกก็สมมติว่าเป็นจริง สมณพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด มักกล่าวและมีความเห็นในข้อนั้นอย่างนี้ว่า 'บุคคล... เสวยเวทนาทั้งปวง (สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำแล้วในก่อน' เขาย่อมเพิกเฉยข้อที่ตนเองก็รู้ดี ย่อมเพิกเฉยต่อข้อที่โลกสมมติว่าเป็นจริง เพราะฉะนั้นเรากล่าวว่า การกล่าวแลความเห็นอย่างนี้ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นการกล่าวผิดแลเห็นผิด" ดังนี้
สิวกสูตร


พุทธโอวาทสำหรับคนใกล้ตาย
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทแก่คนป่วยใกล้ต่อความตายไว้อย่างไรบ้าง ?

   พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนทีฆาวุ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเราจักมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์ จักประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยเจ้า... ท่านตั้งอยู่ในธรรมอันเป็นองค์ประกอบแห่งพระโสดาบัน ๔ เหล่านี้แล้ว พึงเจริญธรรมอันเป็นส่วนแห่งวิชชา ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไป... คือ...ท่านจงพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยง มีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์ มีความหมายรู้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นอนัตตา มีความหมายรู้ในการละ... ในการคลายความกำหนัดยินดี... ในความดับทุกข์ ดูก่อนทีฆาวุ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แหละ..."
ทีฆาวุสูตร


วิธีละสังโยชน์เบื้องสูง
ปัญหา ทำอย่างไรจึงจะละสังโยชน์เบื้องสูงทั้ง ๕ ได้ ?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้รอบ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ เหล่านี้แล..."
คังคาทิเปยยาลแห่งสติปัฏฐานสังยุตต์ที่ ๖

จบบริบูรณ์
ด้วยจิตกราบบูชา
จากคุณ : mayrin [ 18 ม.ค. 2545 ]

(http://t3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS0QbHRYc-vZ39_FApIb7H6rpI7yTCWMFiVYSYaTa1Zx3B37t5XVgBVpKaU)

เรียนขออนุญาต ท่านผู้คัดลอก นำมาแบ่งปันค่ะ...
:http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-misc/bd-misc-07-01.htm
sookjai.com * tairomdham.net
* Agaligo Home บ้านที่แท้จริง อกาลิโก โฮม
กุศลผลบุญใดที่พึงบังเกิดจากธรรมทานเหล่านี้ ขอจงเป็นบุญเป็นปัจจัย
แด่ท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธรรมทานเหล่านี้ ทุกๆท่าน
รวมทั้งท่านเจ้าของภาพ ทุกๆภาพ เรียนขออนุญาตใช้ภาพ
ไว้ ณ ที่นี้... นะคะ
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

หัวข้อ: Re: พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ โดย ศจ.แสง จันทร์งาม
เริ่มหัวข้อโดย: ฐิตา ที่ ธันวาคม 02, 2013, 07:55:28 pm

http://youtu.be/0Mm9doCvvE8 (http://youtu.be/0Mm9doCvvE8) ศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม
webmasterlannatoast Uploaded on Sep 23, 2010