(http://www.dhammajak.net/board/files/268_1210705972.jpg_569.jpg)
ภาพโดยคุณเนติ พิเคราะห์ คณะวิจิตรศิลป์
ม.เชียงใหม่
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 16 : ปิยวรรค
01.เรื่องบรรพชิต 3 รูป
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบรรพชิต 3 รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อโยเค ยุญฺชมตฺตานํ เป็นต้น
ครั้งหนึ่ง ที่กรุงสาวัตถี บุตรคนเดียวของครอบครัว ออกบวชเป็นภิกษุก่อน ไปอยู่ในสำนักของภิกษุ ต่อมาบิดาก็ออกบวชตามบุตร ไปอยู่ในสำนักของภิกษุเช่นเดียวกับบุตร ต่อมามารดาก็ตามสามีและบุตรไปบวชเป็นภิกษุณี
อยู่ในสำนักภิกษุณี ทั้งสามคนแม้จะบวชแล้วก็ยังไปมาหาสู่กัน วันๆหมดไปด้วยการไปพบปะสนทนากันอยู่เป็นประจำ ในสำนักของภิกษุบ้าง ในสำนักของภิกษุณีบ้าง จนเป็นที่เดือดร้อนรบกวนแก่ภิกษุและภิกษุณีอื่นๆ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลพฤติกรรมของบรรพชิตทั้งสามแด่พระศาสดา และพระศาสดาได้ตรัสเรียกบรรพชิตทั้งสามรูปนั้นมาว่ากล่าวตักเตือน แล้วตรัสว่า “ชื่อว่าการทำเช่นนี้ จำเดิมแต่กาลแห่งตนบวชแล้ว ไม่ควร เพราะว่า การเห็นสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก และการเห็นสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์โดยแท้ เหตุนั้น การทำสัตว์และสังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นที่รัก หรือไม่ให้เป็นที่รัก ย่อมไม่ควร”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สามพระคาถานี้ว่า
อโยเค ยุญชมตฺตานํ
โยคสฺมิญฺจ อโยชยํ
อตฺถํ หิตฺวา ปิยคฺคาหี
ปิเหตตฺตานุโยคินํ ฯ
(อ่านว่า)
อะโยโค ยุนชะมัดตานัง
โยคัดสะมินเจ อะโยชะยัง
อัดถัง หิดตะวา ปิยักคาฮี
ปิเหตัดตานุโยคินัง.
มา ปิเยหิ สมาคญฺฉิ
อปฺปิเยหิ กุทาจนํ
ปิยานํ อทสฺสนํ ทุกฺขํ
อปฺปิยานญฺจ ทสฺสนํ ฯ
(อ่านว่า)
มา ปิเยหิ สะมาคันฉิ
อับปิเยหิ กุทาจะนัง
ปิยานัง อะทัดสะนัง ทุกขัง
อับปิยานันจะ ทัดสะนัง.
ตสฺมา ปิยํ น กยิราถ
ปิยาปิโย หิ ปาปโก
คนฺถา เตสํ น วิชฺชนฺติ
เยสํ นตฺถิ ปิยาปิยํ ฯ
(อ่านว่า)
ตัดสะหมา ปิยัง นะ กยิราถะ
ปิยาปิโย หิ ปาปะโก
คันถา เตสัง นะ วิดชันติ
เยสัง นัดถิ ปิยาปิยัง.
(แปลว่า)
บุคคล ประกอบตนไว้ในสิ่งอันไม่ควรประกอบ
และไม่ประกอบไว้ในสิ่งอันควรประกอบ
ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์
ถือเอาอารมณ์อันเป็นที่รัก
ย่อมทะเยอทะยาน
ต่อบุคคลผู้ตามประกอบตน.
บุคคลอย่าสมาคมกับสัตว์และสังขารทั้งหลาย
อันเป็นที่รัก(และ) อันไม่เป็นที่รัก ในกาลไหนๆ
เพราะว่า การไม่เห็นสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก เป็นทุกข์.
เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงกระทำสัตว์หรือสังขาร ให้เป็นที่รัก
เพราะความพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก เป็นการต่ำทราม
กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ของเหล่าบุคคลผู้มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก ย่อมไม่มี.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดปัตติผลเป็นต้น ฝ่ายชนทั้ง 3 นั้นคิดว่า พวกเราไม่อาจอยู่พรากกันได้ ไปสึกออกไปอยู่บ้านตามเดิม.
(http://thummada.com/php_upload3/k+4s.jpg)
09.เรื่องนายนันทิยะ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในป่าอิสิปตนะ ทรงปรารภนายนันทิยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า จิรปฺปวาสึ เป็นต้น
นายนันทิยะ เป็นบุตรเศรษฐี อยู่ที่กรุงพารณสี หลังจากที่เขาได้ฟังธรรมของพระศาสดา ว่าด้วยอานิสงส์ของการสร้างวัดวาอารามถวายภิกษุสงฆ์แล้ว นายนันทิยะก็ได้ก่อสร้างวัดใหญ่แห่งหนึ่งที่ป่าอิสิปตนะ และได้สร้างสิ่งก่อสร้างในวัด เป็นศาลาจัตุรมุขหลังหนึ่ง ประกอบด้วยห้องสี่ห้อง และอุปกรณ์ใช้สอยของพระสงฆ์มีเตียงและตั้งเป็นต้น ก่อนจะมอบถวายวัดใหญ่แห่งนี้ ก็ได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข แล้วหลั่งน้ำทักขิโณทกแด่พระศาสดา ทันทีที่ได้ถวายอาวาสแห่งนี้แด่พระศาสดา พระคัมภีร์บอกว่า ก็มีปราสาททิพย์ สำเร็จด้วยรัตนะ 7 ประการ พรั่งพร้อมด้วยนางอัปสร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 โยชน์ สูง 100 โยชน์ ผุดขึ้นในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ พร้อมกับที่ได้หลั่งน้ำทักขิโณทกถวายแด่พระศาสดา
วันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ ได้ขึ้นไปที่เทวโลกชั้นดาวดึงส์ และได้เห็นปราสาททิพย์หลังนี้ เต็มไปด้วยหมู่นางเทพอัปสร ก็ได้เข้าไปสอบถามเทพบุตรทั้งหลายว่า เป็นปราสาททิพย์ของผู้ใด ก็ได้รับคำตอบจากเทพบุตรเหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญ วิมานนั่น เกิดรอรับบุตรคฤหบดี ชื่อนันทิยะ ผู้ให้สร้างวิหารถวายพระศาสดา ในป่าอิสิปตนะ” ฝ่ายหมู่นางอัปสร เห็นพระเถระนั้นแล้ว ก็ลงจากปราสาทมากล่าวว่า พวกนางเกิดในปราสาทนี้เพื่อเป็นนางบำเรอของนายนันทิยะ แต่ไม่เห็นนายนันทิยะมาเสียที ได้แต่รอแล้วรอเล่า ขอฝากบอกพระคุณเจ้าไปถึงนายนันทิยะด้วยว่า มนุษยสมบัติเปรียบเหมือนถาดดิน ส่วนทิพยสมบัตินั้นเปรียบเหมือนถาดทองคำ
เมื่อพระมหาโมคคัลลานะ ลงจากเทวโลกแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า “พระเจ้าข้า ทิพยสมบัติเกิดรอบุคคลผู้ทำความดีที่ยังอยู่ในโลกมนุษย์มีหรือไม่” พระศาสดาตรัสว่า “เธอไปเห็นปราสาททิพย์ที่ผุดรอนายนันทิยะที่ยังอยู่ในโลกมนุษย์มาแล้วมิใช่หรือ จะมาถามทำไม?” เมื่อพระเถระทูลว่า “พระเจ้าข้า” พระศาสดาตรัสว่า สภาพก็เหมือนกับคนเราในโลกมนุษย์ ยืนอยู่ที่ประตูบ้านเรือน เห็นบุตรหรือพีน้อง ที่เดินทางไปอยู่ต่างประเทศมานาน แล้วกลับมาถึงบ้านเรือนของตน ก็มีความยินดีปรีดา ร้องทักทาย ต้อนรับบุคคลผู้นั้น ข้อนี้ก็เหมือนกับเหล่าเทวดา ต่างถือเครื่องบรรณการอันเป็นทิพย์ 10 อย่าง แย่งชิงกันออกมาต้อนรับ แสดงความยินดีกับสตรีหรือบุรุษ ผู้ทำความดีไว้ในโลกมนุษย์ แล้วตายไปเกิดในปรโลก ฉันใดก็ฉันนั้น
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
จิรปฺปวาสึ ปุริสํ
ทูรโต โสตฺถิมาคตํ
ญาตี มิตฺตา สุหชฺชา จ
อภินนฺทติ อาคตํ ฯ
(อ่านว่า)
จิรับปะวาสิง ปุริสัง
ทูระโต โสดถิมาคะตัง
ยาตี มิดตา สุหัดชา จะ
อะพินันทะติ อาคะตัง.
ตเถว กตปุญฺญํปิ
อสฺมา โลกา ปรํ คตํ
ปุญญานิ ปฏิคฺคณฺหนฺติ
ปิยํ ญาตีว อาคตํ ฯ
(อ่านว่า)
ตะเถวะ กะตะปุนยังปิ
อัดสะหมา โลกา ปะรัง คะตัง
ปุนยานิ ปะติกคันหันติ
ปิยัง ยาตีวะ อาคะตัง.
(แปลว่า)
ญาติ มิตร และคนมีใจดีทั้งหลาย
เห็นบุรุษผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน
มาแล้วแต่ที่ไกลโดยสวัสดี
ย่อมยินดียิ่งว่า มาแล้ว ฉันใด
บุญทั้งหลาย ก็ย่อมต้อนรับ
แม้บุคคลผู้กระทำบุญไว้
ซึ่งไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า
ดุจพวกญาติเห็นญาติที่รักมาแล้ว
ต้อนรับอยู่ ฉะนี้แล.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/2008/11/17/entry-8