(http://www.phuket-sun.de/Bilder%20phuket-sun/05BuddhaDieUrne.jpg)
เรื่องย่อในพระธรรมบท บทที่ 19 : ธัมมัฏฐวรรค
01.เรื่องมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัย
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัย ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ เป็นต้น
ในวันหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลาย เที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้าน ใกล้ประตูด้านทิศอุดรของนครพาราณสี กลับจากบิณฑบาตแล้ว จะกลับไปที่วัดพระเชตวัน เกิดฝนตกหนัก จึงได้แวะไปพักรอฝนหยุดตก ที่ศาลยุติธรรมแห่งหนึ่ง ได้เห็นพฤติกรรมของมหาอำนาจผู้วินิจฉัยทั้งหลาย(พวกตุลาการ หรือพวกผู้พิพากษา) รับสินบน ทำให้ผู้ผิดกลายเป็นผู้ถูก จึงคิดว่า พวกมหาอำมาตย์เหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ธรรม แต่พวกเรามีความสำคัญว่าเป็นผู้ทำการวินิจฉัยคดีโดยธรรม เมื่อฝนหายตกแล้ว มาถึงวัดพระเชตวัน เข้าไปถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลสิ่งที่ได้พวกตนประสบให้พระศาสดาทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัย เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอคติมีฉันทาคติเป็นต้น ตัดสินคดีความโดยอำเภอใจ ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ส่วนพวกที่ไต่สวนความผิดแล้ว ตัดสินคดีความโดยปราศจากอคติ ตามสมควรแก่ความผิดนั่นแหละ เป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม”
จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ
เยนตฺถํ สหสา นเย
โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ
อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺฑิโต ฯ
อสาหเสน ธมฺเมน
สเมน นยตี ปเร
ธมฺมสฺส คุตฺโต เมธาวี
ธมฺมฏฺโฐติ ปวุจฺจติ ฯ
(อ่านว่า)
นะ เตนะ โหติ ทำมัดโถ
เยนัดถัง สะหะสา นะเย
โย จะ อัดถัง อะนัดถันจะ
อุโพ นิดเฉยยะ ปันดิโต.
อะสาหะเสนะ ทำเมนะ
สะเมนะ นะยะตี ปะเร
ทำมัดสะ คุดโต เมทาวี
ทำมัดโถติ ปะวุดจะติ .
(แปลว่า)
บุคคลตัดสินคดีความโดยอำเภอใจ
ผู้นั้นไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม
ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต
พิจารณาทั้งข้อถูกและข้อผิด
ถึงจะตัดสินคดีความ.
บัณฑิต ไม่ตัดสินคดีความโดยอำเภอใจ
แต่โดยสอดคล้องกับหลักกฎหมาย
เป็นผู้คุ้มครองกฎหมาย
เรากล่าวว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ชนเป็นอันมาก บรรลุอริบผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
(http://www.oknation.net/blog/home/user_data/blog_data/201207/07/812046/comment/812046_images/4_1341633571.jpg)
10. เรื่องภิกษุมากรูป
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุมากรูป ผู้ถึงพร้อมด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น สีลพฺพตมตฺเตน เป็นต้น
ในกาลครั้งหนึ่ง ในหมู่ภิกษุทั้งหลาย บางพวกมีศีลสมบูรณ์ บางพวกทรงไว้ซึ่งธุดงค์ บางพวกเป็นพหูสูต บางพวกอยู่ในเสนาสนะอันสงัด บางพวกได้ฌาน บางพวกบรรลุอนาคามิผล ภิกษุเหล่านี้ต่างคิดว่า เมื่อพวกตนมีคุณสมบัติที่ดีอย่างนี้แล้วเช่นนี้ การที่พวกตนจะบรรลุพระอรหัตตผลนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย อยู่มาวันหนึ่ง พระภิกษุเหล่านี้ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อถวายบังคมแล้ว พระศาสดาได้ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย กิจแห่งบรรพชิตของพวกเธอถึงที่สุดแล้วหรือหนอ” ภิกษุแต่ละพวกก็ได้กราบทูลรายงานถึงคุณธรรมที่พวกตนปฏิบัติหรือได้บรรลุแล้วนั้น และได้กราบทูลความมั่นใจของพวกตนด้วยว่า “เพราะฉะนั้น พวกข้าพระองค์จึงคิดว่า พวกเราสามารถเพื่อบรรลุพระอรหัตในขณะที่ปรารถนาแล้วๆ นั่นเอง”
พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าภิกษุจะเห็นว่า ทุกข์ในภพของเราน้อย ด้วยคุณสักว่าความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์เป็นต้น หรือด้วยคุณสักว่าความสุขของพระอนาคามี ไม่สมควร และยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ ไม่พึงให้ความคิดเกิดขึ้นว่า เราถึงสุขแล้ว “
จากนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระธรรมบท สองพระคาถานี้ว่า
น สีลพฺพตมตฺเตน
พาหุสจฺเจน วา ปน
อถวา สมาธิลาเภน
วิวิตฺตสยเนน วา ฯ
ผุสามิ เนกฺขมฺมสุขํ
อปุถุชฺชนเสวิตํ
ภิกฺขุ วิสฺสาสมาปาทิ
อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ ฯ
(แปลว่า)
ภิกษุ ภิกษุยังไม่ถึงอาสวักขัย
อย่าเพิ่งถึงความวางใจ
ด้วยเหตุสักว่าศีลและวัตร
ด้วยความเป็นพหูสูต
ด้วยอันได้สมาธิ
ด้วยอันนอนในที่สงัด
หรือด้วยเหตุเพียงรู้ว่า
เราถูกต้องสุขในเนกขัมมะ
ซึ่งปุถุชนเสพไม่ได้แล้ว.
เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง ภิกษุเหล่านั้น บรรลุพระอรหัตตผล พระธรรมเทศนา มีประโยชน์ แม้แก่บุคคลผู้มาประชุมกัน.
(https://encrypted-tbn3.google.com/images?q=tbn:ANd9GcTFfIN-5injxr8DM2X_FgUyAwl_bRmIsYnh-eZXHjU35xn2UXPm)
-http://www.oknation.net/blog/dhammapada/page2